การให้ข้อคิดทางวิญญาณคริสต์มาส
ความสมบูรณ์แห่งเรื่องราวคริสต์มาส


10161:50

ความสมบูรณ์แห่งเรื่องราวคริสต์มาส

คริสต์มาสสร้างความรู้สึกอ่อนโยน ปีติ และความรัก ดังที่บิดามารดาทุกคนจะยืนยันถึงความรู้สึกที่คล้ายกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีส่วนช่วยดูแลการกำเนิดทารกแรกคลอดแต่ละคน แน่นอนว่าการประสูติของพระคริสต์ไม่เหมือนทารกคนอื่นๆ รายละเอียดอันทรงคุณค่า—การเดินทางไปเยรูซาเล็ม โรงแรมเต็มทุกห้อง รางหญ้าอันต่ำต้อย ดาวดวงใหม่ และการปฏิบัติของเหล่าเทพ—ทำให้เรื่องราวการประสูติของพระองค์ยังคงน่าอัศจรรย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย กระนั้นเรื่องราวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดก็ยังเป็นสัญลักษณ์เพียงส่วนเดียวของเหตุผลที่เรารู้สึกถึงพระวิญญาณในช่วงเทศกาลคริสต์มาส คริสต์มาสไม่ได้เป็นเพียงการเฉลิมฉลองว่าพระเยซูเสด็จมายังโลกอย่างไรเท่านั้น แต่เป็นการรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นใคร—พระเจ้าของเราและพระผู้ช่วยให้รอด, พระเยซูคริสต์—และสาเหตุที่พระองค์เสด็จมาด้วย

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่า: “เพราะพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก … เรา [สามารถ] มีปีติและความสุขในชีวิตเราและมีสันติสุขในแต่ละวันตลอดปี … เพราะพระองค์เสด็จมา จึงทำให้การดำรงอยู่ในความเป็นมรรตัยของเรามีความหมาย”1

พระบุตรหัวปีของพระบิดา

ความหมายนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อเราพิจารณาความสมบูรณ์แห่งเรื่องราวคริสต์มาส ดังที่ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์อธิบาย “จะไม่มีคริสต์มาสถ้าไม่มีอีสเตอร์ พระกุมารเยซูแห่งเบธเลเฮมจะเป็นเพียงทารกคนหนึ่งโดยไม่ได้เป็นพระคริสต์ผู้ไถ่แห่งเกทเสมนีและคัลวารี และข้อเท็จจริงที่บอกชัยชนะของการฟื้นคืนชีวิต”2

การประสูติของพระเยซูในเบธเลเฮมไม่ใช่จุดเริ่มต้นของเรื่องราว และคัลวารีไม่ใช่จุดสิ้นสุด พระคัมภีร์สอนว่า “ในปฐมกาล … (พระองค์) ทรงอยู่กับพระเจ้า”3 ในสภาก่อนเกิดในสวรรค์ เราอยู่ที่นั่นด้วย ซึ่งเรารู้จักว่าพระองค์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์ พระบุตรหัวปีของพระบิดานิรันดร์ของเรา4 เราเรียนรู้ว่าพระองค์จะทรงทำบทบาทสำคัญในฐานะพระผู้สร้างและพระผู้ไถ่ของโลก เราโห่ร้องด้วยปีติขณะที่เราน้อมรับแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุขของพระบิดา5 แม้จะมีบางคนที่กบฎต่อต้านแผนของพระผู้เป็นเจ้า แต่เราอยู่ท่ามกลางผู้ที่วางศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราเต็มใจยอมรับอันตรายของความเป็นมรรตัยเพราะเรามั่นใจว่าพระเยซูจะทรงทำให้พระประสงค์ของพระบิดาบรรลุผลสำเร็จ—เราจะได้รับการช่วยให้รอดผ่านทางพระองค์

การประสูติของพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า

ที่นี่บนแผ่นดินโลก ความทรงจำของชีวิตเราก่อนหน้านี้ถูกบังไว้ด้วยม่านกั้นความทรงจำ จุดประสงค์ของเราในการมาสู่แผ่นดินโลกคือเพื่อเรียนรู้วิธี “ดำเนินโดยความเชื่อไม่ใช่โดยสิ่งที่มองเห็น”6

เพื่อเสริมสร้างศรัทธานั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งศาสดาพยากรณ์ผู้เห็นล่วงหน้าและทำนายถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ นีไฟคือหนึ่งในศาสดาพยากรณ์เหล่านี้ ท่านเห็นต้นไม้ในนิมิตว่างามล้ำและขาวยิ่ง เมื่อท่านทูลถามเพื่อให้รู้ความหมายของนิมิต ท่านเห็นเมืองนาซาเร็ธและมารีย์ หญิงพรหมจารีนางหนึ่ง สวยและงามที่สุด จากนั้น เทพที่มาหานีไฟจึงถามคำถามที่เสียดแทงใจที่สุดว่า “เจ้ารู้จักพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้าไหม ?” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ท่านเข้าใจไหมว่าเหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จมายังโลกด้วยพระองค์เอง เหตุใดจึงทรงลดพระองค์ลงมาต่ำกว่าทุกสิ่ง” คำตอบอันลังเลของนีไฟมีความว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ทรงรักลูก ๆ ของพระองค์; กระนั้นก็ตาม, ข้าพเจ้าไม่รู้ความหมายของเรื่องทั้งหมด.”

เทพจึงกล่าวว่า “หญิงพรหมจารีที่ท่านเห็นคือมารดาของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” นีไฟเห็นมารีย์อุ้มเด็กคนหนึ่งในอ้อมแขนของนางและเทพโห่ร้องด้วยปีติว่า “จงดูพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า, … แม้พระบุตรของพระบิดานิรันดร์” ทันใดนั้นความหมายของต้นไม้—และเหตุผลที่เราเฉลิมฉลองการประสูติของพระคริสต์—เริ่มชัดเจนขึ้นแก่นีไฟ เขากล่าวว่า “คือความรักของพระผู้เป็นเจ้า, ซึ่งแผ่ขยายออกมาสู่ใจลูกหลานมนุษย์; ดังนั้น, จึงเป็นที่พึงปรารถนาที่สุดเหนือสิ่งทั้งปวง.” “ใช่แล้ว” เทพกล่าวเสริม “และเป็นความปีติยินดีที่สุดแก่จิตวิญญาณ.”7

ในที่สุด เกือบ 600 ปีหลังจากนิมิตของนีไฟ การรอคอยอันยาวนาน วันที่พยากรณ์ไว้เนิ่นนานก็มาถึง พระเยซูเสด็จผ่านม่านมายังโลก เป็นทารกที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ถึงแม้จะทรงเป็นทารกที่ไม่เหมือนทารกอื่น พระบุตรหัวปีของพระผู้เป็นเจ้าทางวิญญาณกลายเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดในเนื้อหนัง พระบุตรองค์นี้ประสูติในสภาวการณ์อันต่ำต้อยที่สุด จะทรงแบกความรอดแห่งครอบครัวนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าไว้บนพระอังสา แท้จริงแล้ว “ความกลัวความหวังที่มีนานมา” ได้บรรจบกันใน “หมู่บ้านน้อยแห่งเบธเลเฮม” ในคืนนั้น8

แต่แน่นอนว่าเรื่องราวไม่ได้จบลงตรงนั้น ถึงแม้การประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นปาฏิหาริย์ แต่ปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่ากำลังจะเกิดขึ้นตามมา

กิจธุระของพระบิดา

เรารู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับพระชนม์ชีพในช่วงต้นๆ ของพระเยซูคริสต์ เรารู้ว่าพระองค์ “เจริญขึ้นในด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งหลายด้วย”9 เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 12 พรรษา พระองค์ตรัสถึงความปรารถนาว่า “ลูกต้องอยู่ในพระนิเวศ [กิจธุระ] ของพระบิดา”10 กิจธุระนั้นคือการแสดงให้โลกเห็นถึง “ความรักอันประเสริฐและน่าพิศวง” ที่พระบิดาทรงมีต่อบุตรธิดาของพระองค์11

“พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้ คือได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ … เพื่อช่วยกู้โลกให้รอดโดยพระบุตรนั้น”12

กิจธุระของพระบิดาของพระองค์คือ “[ไป] ทำคุณประโยชน์”13 นั่นคืองานแห่งความการุณย์—“รักษาคนป่วย, ทำให้คนตายลุกขึ้น, ทำให้คนง่อยเดิน, คนตาบอดได้รับสายตาของเขา, และคนหูหนวกได้ยิน”14

กิจธุระของบิดาคือเปิดตาแห่งศรัทธาของเรา เพื่อปลุกพลังทางวิญญาณและเพื่อเยียวยาความเจ็บปวด ความจองหอง ความป่วยไข้ และบาปของเรา เป็นการ “ช่วยเหลือ [เราใน] ความทุพพลภาพ [ของเรา]” เพื่อจะทำให้สิ่งนี้สำเร็จ พระเยซูเต็มพระทัยทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวด การปฏิเสธ และการล่อลวงในทุกรูปแบบ15

กิจธุระของพระบิดาคือเพื่อช่วยให้เราบรรลุจุดประสงค์ของเราบนแผ่นดินโลก—“ให้เราเนาพร้อมภูมี” เพื่อเราจะอยู่ “ในที่สูงสุดเทอญ”16 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กิจธุระของพระบิดาเคยเป็น—และเป็นการ—“ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์”17

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์

ในที่สุด ความสมบูรณ์แห่งเรื่องราวคริสต์มาสมาถึงจุดสูงสุดในสามวันสุดท้ายของพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด ในช่วงเวลาสำคัญ พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จจากสวนเกทเสมนีไปสู่กางเขนแห่งคัลวารีไปยังอุโมงค์ในสวน ดังที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอน “ผลกระทบและประสิทธิผล” ของช่วงเวลานั้นจะ “ส่งผลย้อนไป … ถึงจุดเริ่มต้นของเวลาและต่อไป … ตลอดชั่วนิจนิรันดร์”18

โดยที่โชคชะตาของจิตวิญญาณมนุษย์ทุกคนแขวนไว้กับพระเยซู พระองค์เสด็จเข้าสวนเกทเสมนีเพียงลำพัง จากนั้นตามด้วยการสอบสวน การโบยตี และในที่สุดการสิ้นพระชนม์อันเจ็บปวดยิ่งบนกางเขน ด้วยความนอบน้อมและความว่านอนสอนง่ายที่พระองค์ทรงประกาศไว้นับจากกาลเริ่มต้นว่า “ข้าพระองค์อยู่ที่นี่, ขอทรงส่งข้าพระองค์ไปเถิด”19 บัดนี้พระองค์ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์ขอฝากจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”20

แผ่นดินโลกคร่ำครวญ มิตรสหายของพระองค์โศกเศร้า และความมืดปกคลุมแผ่นดิน พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จผ่านไปสู่โลกแห่งวิญญาณซึ่ง “มีหมู่วิญญาณของคนเที่ยงธรรมนับไม่ถ้วน” —จิตวิญญาณของผู้ชอบธรรมที่สิ้นชีวิต—รอการเสด็จมาของพระองค์ ความคล้ายกันที่เห็นได้ชัดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในกาลเริ่มต้นที่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าโห่ร้องด้วยปีติและน้อมกายลงนมัสการพระผู้ทรงปลดปล่อยพวกเขา21

การฟื้นคืนพระชนม์ของความสว่างแห่งโลก

ไม่นานก็ถึงเวลาที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงรับพระวรกายของพระองค์อีกครั้งและทำให้ชัยชนะของพระองค์เหนือความตายเสร็จสมบูรณ์ เช้าตรู่วันหนึ่งของฤดูใบไม้ผลิ วันแรกของสัปดาห์ มารีย์ ชาวมักดาลาไปที่อุโมงค์ของพระองค์และพบว่าอุโมงค์ว่างเปล่า เธอเป็นคนแรกที่ได้ยินพระสุรเสียงและเห็นพระพักตร์ของพระองค์ผู้เป็นที่รัก ต่อมาพระเยซูทรงปรากฎต่ออัครสาวกของพระองค์ ทรงเชื้อเชิญให้พวกเขามองดูพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์เพื่อ “คลำ [พระองค์] และดู”22 ว่านั่นคือพระองค์จริงๆ —พระผู้ไถ่ของพวกเขาทรงพระชนม์อีกครั้งจริงๆ

สิ่งเหล่านี้คือ “ข่าวดี”23 ที่เราเฉลิมฉลองคริสต์มาส—ไม่เพียงพระคริสต์ประสูติมาเท่านั้น แต่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ท่ามกลางเราด้วย ทรงพลีพระชนม์ชีพเพื่อเรา ทรงฟื้นคืนพระชนม์ และในที่สุดทรง “เสร็จสิ้นงานที่ [พระบิดาประทานให้พระองค์] ทรงทำ”24 เราชื่นชมยินดีเพราะความสับสนวุ่นวายของโลกนี้จะถูกปัดเป่าด้วยคำสัญญาที่ทำไว้กับเรานับจากกาลเริ่มต้น—คำสัญญาที่เกิดสัมฤทธิผลจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เพราะเหตุผลนี้ เรื่องราวของคริสต์มาสจึงไม่ได้บอกเล่าอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากเรื่องราวของอีสเตอร์ การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดนั่นเองที่ทำให้คืนอันเงียบสงบในเบธเลเฮมศักดิ์สิทธิ์ สิ่งนี้คือของประทานแห่งการไถ่ที่ทำให้เราโห่ร้องด้วยปีติในโลกก่อนเกิด—ของประทานนี้ที่เยียวยาความป่วยไข้ ทำให้สายตากลับมามองเห็น และซับน้ำตาทุกหยด25

แสงสว่างที่เราชื่นชอบในช่วงคริสต์มาสฉายส่องจากแสงสว่างของโลก พระเยซูคริสต์ เรื่องราวที่เราเชิดชูในช่วงคริสต์มาสบอกถึงแผนแห่งความสุขของพระบิดาเรา ซึ่งพระคริสต์ทรงทำให้เกิดขึ้น ของขวัญที่ทำให้เทศกาลคริสต์มาสศักดิ์สิทธิ์คือพระชนม์ชีพที่พระองค์ประทานเพื่อให้เรามีชีวิตนิรันดร์ ขอให้เรารับของขวัญนี้พร้อมกับแบ่งปันความรักและพระกิตติคุณของพระองค์กับคนทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลอันยอดเยี่ยมนี้ของปี นี่คือคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ เอเมน