การให้ข้อคิดทางวิญญาณ 2020
12christofferson


2:3

การเลือกและการผูกมัดตนเอง

การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับคนหนุ่มสาวทั่วโลก

12 มกราคม 2020

ข้าพเจ้าขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับโอกาสพิเศษที่ได้อยู่กับทุกท่านค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าอยากขอบคุณภรรยาและเห็นด้วยกับคำพูดของเธอ ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคณะนักร้องประสานเสียงมหัศจรรย์คณะนี้ พวกเขาเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่พิสูจน์คุณค่าของสถาบัน ข้าพเจ้ารักสถาบัน หวังว่าทุกท่านที่มีโอกาสจะไม่เพียงลงทะเบียนเรียน แต่จะเข้าเรียนและมีส่วนร่วมในสถาบันอย่างแข็งขัน นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เราทำในศาสนจักร บทเพลงที่คณะนักร้องพึ่งร้องไปเมื่อสักครู่ บางคนอาจรู้ว่าเป็นบทเพลงที่ประพันธ์โดยประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ท่านเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง ความรู้สึกและถ้อยคำที่แสดงออกมานั้นเข้าถึงจิตใจข้าพเจ้า และข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านก็เช่นกัน ข้าพเจ้านำความรักและคำทักทายของประธานเนลสันมายังพวกท่าน และขอกล่าวขอบคุณประธานแอสทริด ทูมิเนซ พร้อมทั้งฝ่ายบริหารกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยยูทาห์แวลลีย์สำหรับความเอื้อเฟื้ออย่างยิ่งในโอกาสนี้

หลายปีก่อน เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์กับข้าพเจ้าทำงานมอบหมายร่วมกันที่นิวยอร์กซิตี้ ขณะอยู่ที่นั่นเราไปเยี่ยมธรรมศาลายิวสำคัญแห่งหนึ่งในบรูคลิน ธรรมศาลาแห่งนั้นเป็นอาคารโอ่อ่าในย่านที่เคยเป็น และอาจจะยังเป็นย่านหรูหราแห่งหนึ่งในเขตนี้ สตรีท่านหนึ่งที่เป็นรับบีของชาวยิวนิกายปฏิรูปที่นั่นทักทายเราอย่างอบอุ่นและพาเราเที่ยวชมอาคารประวัติศาสตร์แห่งนั้น ช่วงที่สภาพดีที่สุด นี่คือสิ่งปลูกสร้างที่งามสง่า แต่ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าต้องซ่อมแซมอย่างมาก รับบีบอกเราว่าโบสถ์ของเธอมีคนน้อยลง เงินทุนที่จะใช้ทำนุบำรุงธรรมศาลาและโปรแกรมต่างๆ กับโรงเรียนนั้นไม่เพียงพอ

เมื่อคุยกันมากขึ้น เธอบอกว่าโดยทั่วไปคนหนุ่มสาวยึดมั่นกับประเพณีชาวยิวของตน แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พวกเขาอิดออดที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกที่แข็งขันของธรรมศาลาแห่งนี้ แต่ถึงกระนั้น พวกเขายังคงจองใช้อาคารทำกิจกรรมทางสังคมอยู่เป็นประจำ ที่นั่นเป็นเสมือนสถานที่ชุมนุมสำหรับพวกเขา และพวกเขามักจะบริจาคเงินเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้อาคาร แต่น้อยคนที่เต็มใจมาเป็นสมาชิกของกลุ่มนมัสการที่นั่น

เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์กับข้าพเจ้าสนทนากับรับบีถึงสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น จากการสนทนากับหนุ่มสาวเหล่านี้หลายคนซึ่งส่วนใหญ่ยังโสด เธอสังเกตว่าพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับศาสนาในชีวิตเท่าใดนัก ส่วนคนอื่นๆ แค่ไม่อยากผูกมัดตนเองกับธรรมศาลาแห่งนี้หรือแห่งไหน เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์สงสัยว่านี่อาจเป็นเพราะปรากฏการณ์ที่กำลังโด่งดัง (หรืออื้อฉาว) ของ “FOMO”—โรคกลัวตกกระแส—ว่าหากผูกมัดตนเองกับสิ่งนี้ พวกเขาอาจพลาดสิ่งอื่นไป

และนี่คือหัวข้อหลักที่ข้าพเจ้าอยากจะพูดกับท่านค่ำคืนนี้—การเลือกและการผูกมัด

เรามาเริ่มด้วยการสังเกตว่า “โรคกลัวตกกระแส” มาถึงจุดหนึ่ง ค่อนข้างเป็นความรู้สึกที่มีเหตุผล ตราบเท่าที่เป็นไปได้ เราทุกคนต้องการพบสิ่งที่ดีที่สุดและขวนขวายหาทางเลือกที่ดีที่สุดในทุกด้านของชีวิต แต่การคิดว่าดีกว่าที่จะประวิงเวลาไปเรื่อยๆ ในการเลือกหรือทำข้อผูกมัดเพราะกลัวพลาดสิ่งอื่นไป เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทุกๆ การเลือกขัดขวางความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น ถ้าเลือกไปทำงานหรือไปเรียนตอนเช้า ท่านก็ดูหนัง Netflix ในเวลาเดียวกันไม่ได้ (หรือท่านทำได้?); ถ้าไปเรียนเอกวิศวกรรมโยธา ท่านจะพลาดเรียนเอกประวัติศาสตร์ หรือศิลปะ หรือชีววิทยา หรือสาขาอื่นๆ (เว้นแต่ท่านจะเรียนไปเรื่อยๆ); ถ้าเดินทางไปน้ำตกวิกตอเรียที่แอฟริกาตอนนี้ ท่านจะเดินทางไปที่อื่นในขณะเดียวกันไม่ได้ และอาจพลาดสถานที่อื่นๆ ที่อยากไป; ถ้าเลือกรับใช้งานเผยแผ่ ท่านจะทิ้งกิจกรรมสังคมมากมายสำหรับช่วงเวลานั้น; เป็นต้น แต่หากท่านไม่เลือกและผูกมัดตนเองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ชีวิตท่านจะค่อนข้างไร้จุดหมาย และในที่สุดท่านจะพลาดสิ่งที่ดีที่สุดส่วนใหญ่ไปจริงๆ

ดังที่บางครั้งภรรยาข้าพเจ้าจะพูดว่า “คุณมีทุกอย่างไม่ได้หรอก—คุณจะเก็บมันไว้ที่ไหน?” เราไม่สามารถมีทุกอย่างที่คงจะดีถ้ามี และเราไม่สามารถทำทุกอย่างที่คงจะดีหรือน่าสนใจถ้าได้ทำ ต่อให้ท่านจำกัดตัวเลือกเหลือเพียงสิ่งที่ “กล่าวขวัญกันว่าดี หรือควรค่าแก่การสรรเสริญ”1 ท่านก็ยังไม่สามารถมีหรือประสบพบเจอทุกอย่างได้ ง่ายๆ คือไม่มีเวลา ทุนทรัพย์ หรือที่ว่างมากพอในชีวิตใครก็ตามในความเป็นมรรตัย ดังนั้นเราจึงต้องผูกมัดตนเองกับการเลือกเฉพาะอย่างโดยรู้ว่าเมื่อทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้องทิ้งสิ่งอื่นๆ ไป แม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม เราพึงระลึกเสมอว่าการประวิงเวลาการเลือกนานเกินควรจะทำให้เกิดการเลือกในตัวมันเอง

การแต่งงานเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด โดยการเลือกคู่คนหนึ่ง เราละทิ้งคนอื่นๆ ทั้งหมด พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าจงรักภรรยาของเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า, และจงแนบสนิทกับนางและหาใช่ใครอื่นไม่”2 เนื่องจากการเลือกนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด บางคนจึงไม่ยอมผูกมัดกับคนที่ตนชอบมากๆ หรือคนที่ตนรักและสามารถก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างมีความสุขชั่วนิรันดร์ โดยกังวลว่าอาจจะมีเนื้อคู่ที่สมบูรณ์แบบกว่านี้ที่ไหนสักแห่งที่พวกเขาไม่อยากพลาด ข้าพเจ้าจำชายหนุ่มเช่นนั้นได้เมื่อหลายปีก่อนที่ข้าพเจ้ารู้จัก เขาปฏิเสธคนที่อาจเป็นคู่ชีวิตที่ดีมากคนหนึ่งเพราะคิดว่าเธออุดฟันมากเกินไป ปฏิกริยาของข้าพเจ้าคือคุณต้องการความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง ว่าแต่คุณเคยฉุกคิดบ้างหรือเปล่าว่าตัวคุณเองก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบเลยสักนิด?

นี่คือการชุมนุมของคนหนุ่มสาว และสำหรับท่านส่วนใหญ่ สิ่งที่เน้นคือการเป็นผู้ใหญ่ ท่านมีหรือกำลังแสวงหาความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่ ความสำเร็จแบบผู้ใหญ่ และการทำคุณประโยชน์แบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่ประวิงวัยผู้ใหญ่ออกไปและหาแต่โอกาสสังสรรค์ไม่หยุดหย่อน เมื่อสิบปีที่แล้ว นักเขียนและนักวิชาการชื่อชาร์ลส์ เมอร์เรย์พูดเกี่ยวกับความหมายของ “ชีวิตที่ดี” เขาบอกว่า “ผมกำลังพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เรามองย้อนกลับไปเมื่อเราอายุมากแล้วและให้เราตัดสินใจว่าเราสามารถภูมิใจกับคนที่เราเป็นและสิ่งที่เราทำมา”3

เมอร์เรย์เล่าให้ฟังเมื่อเขาพูดกับผู้ฟังที่ซูริคเกี่ยวกับความพอใจอันลึกซึ้งที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ดี เขาบอกว่า “หลังจากคำปราศรัยนั้น ผู้ฟังไม่กี่คนจากยี่สิบกว่าคนเข้ามาหาและบอกตรงๆ ว่าคำว่า ‘ชีวิตที่ดี’ นั้นไม่มีความหมายต่อพวกเขา พวกเขามีช่วงเวลาดีๆ กับคู่นอนคนปัจจุบัน มีรถ BMW คันใหม่ มีบ้านพักตากอากาศที่มายอร์กา และไม่เห็นว่าชีวิตพวกเขาดอะไรที่ต้องเติมให้เต็ม น่าอัศจรรย์มาก” เมอร์เรย์กล่าว “ที่ได้ยินคนพูดอย่างนั้นใส่หน้าผม แต่ไม่น่าประหลาดใจเลย … ความคิดแบบนั้นเป็นประมาณว่า มนุษย์คือสารเคมีกลุ่มหนึ่งที่ออกฤทธิ์และหลังจากช่วงเวลาหนึ่งก็หมดฤทธิ์ จุดประสงค์ของชีวิตคือการใช้เวลาตรงกลางอย่างเปล่าประโยชน์ให้สุขสมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”4

ช่วงท้ายคำปราศรัย เมอร์เรย์กล่าวคำพูดอันปราดเปรื่องว่า “ปัญญาที่มนุษย์เข้าใจกันมาแต่บรรพกาลคือชีวิตที่ดีนั้นต้องผูกพันกับคนรอบข้าง”5 ผู้ใหญ่ที่แท้จริงเข้าใจเรื่องนี้ พวกเขาสำนึกได้ว่าความสุขส่วนตัวไม่ใช่ศูนย์รวมของชีวิตและไม่เพียงพอจะเป็นจุดประสงค์ของชีวิต ความจริงนี้เป็นรากฐานของพระบัญญัติสำคัญสองข้อ นั่นคือ รัก​‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​​ด้วย​สุด​ใจ​ ​สุด​จิตวิญญาณ และ​​สุด​ความ​คิด และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง6 ดังที่พระเยซูตรัสว่า “ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้”7 พันธสัญญาแห่งกิตติคุณ8 พร้อมคำสัญญาถึงชีวิตนิรันดร์ ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสำคัญสองข้อนี้ตามลำดับความสำคัญที่ประทานไว้: ข้อแรกและข้อสอง ความภักดีต่อพระบัญญัติสำคัญสองข้อนี้กำหนดชีวิตที่ดีและความหมายของการเป็นผู้ใหญ่

สุดท้ายแล้ว ไม่มีทางสายกลางหรือเส้นทางที่ปราศจากข้อผูกมัดให้เดิน อย่างน้อยก็ในเรื่องของผลลัพธ์นิรันดร์ แอลมาชี้ประเด็นนี้เมื่อท่านสอนว่าพระคริสต์ พระเมษบาลผู้ประเสริฐ ทรงเรียกให้เราติดตามพระองค์ในเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์และความสุขว่า:

“ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ว่าพระเมษบาลผู้ประเสริฐทรงเรียกท่าน; แท้จริงแล้ว, และในพระนามของพระองค์เองพระองค์ทรงเรียกท่าน, ซึ่งคือพระนามของพระคริสต์; และหากท่านจะไม่สดับฟังเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐองค์นั้น, ตามพระนามที่ใช้เรียกท่านอยู่, ดูเถิด, ท่านก็ไม่ใช่แกะของพระเมษบาลผู้ประเสริฐองค์นั้น.

“และบัดนี้หากท่านไม่ใช่แกะของพระเมษบาลผู้ประเสริฐองค์นั้น, ท่านเป็นของคอกใดเล่า? ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ว่ามารคือเมษบาลของท่าน, และท่านเป็นของคอกเขา; และบัดนี้, ใครเล่าจะปฏิเสธเรื่องนี้ได้?”9

แอลมากำลังสอนถึงความเป็นจริงว่ามีเพียงสองทางเลือกเท่านั้น และพระคริสต์คือทางเลือกที่ดีเพียงทางเดียว ถ้าท่านไม่เลือกพระคริสต์ ท่านกำลังติดตามพระผู้เป็นเจ้าปลอมโดยอัตโนมัติ เส้นทางผิดพลาดอันนำไปสู่ความผิดหวังในที่สุดแม้ในนิรันดร์ นี่คืออย่างน้อย ดังนั้นหากท่านไม่ติดตามพระผู้ช่วยให้รอด ท่านกำลังปฏิเสธพระองค์10

เมื่อรู้เช่นนี้ เราไม่ควรรู้สึกอิดออดที่จะผูกมัดตนเองต่อพระเจ้าและพยายามเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ ดังที่พระองค์ทรงสวดอ้อนวอนที่พระกระยาหารมื้อสุดท้ายให้อัครสาวกและทุกคนที่จะเชื่อในถ้อยคำของพวกเขา “เพื่อ​พวก‍เขา​จะ​ได้​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว‍กัน ดัง‍เช่น​พระ‍องค์​ผู้​เป็น​พระ‍บิดา​สถิต​ใน​ข้า‍พระ‍องค์​และ​ข้า‍พระ‍องค์​ใน​พระ‍องค์ เพื่อ​พวก‍เขา​จะ​ได้​อยู่​ใน​พระ‍องค์​และ​ใน​ข้า‍พระ‍องค์​ด้วย”11 นี่คือจุดที่เราต้องการไปให้ถึงมิใช่หรือ? เหตุใดจึงลังเลในการผูกมัดตนเองอย่างเต็มตัวและเต็มใจ? เหตุใดจึงรีรอที่จะรับแอกของพระองค์ทั้งๆ ที่รู้ว่า “​แอก [ของพระองค์] ​ก็​พอ​เหมาะ และ​ภาระ [ของพระองค์] ​ก็​เบา”?12

กลัวความล้มเหลว

ที่จะตอบคำถามของตนเอง ข้าพเจ้าเห็นว่าแม้ด้วยหลักเหตุผลและการวิงวอนของพระวิญญาณที่พยายามกับเรา ยังมีเหตุผลสองข้อที่บางคนอาจยังรู้สึกอิดออดอยู่บ้าง หนึ่งคือความกังวลถึงความสามารถของเราที่จะทำตามข้อผูกมัดซึ่งมีผลกระทบอย่างมาก เราจะทำได้สำเร็จจริงหรือ จะดีกว่าไหมที่เราจะไม่ผูกมัดตนเองถ้าเราอาจล้มเหลว?

นี่เป็นความกังวลที่เข้าใจได้ แต่เพื่อเป็นการตอบข้าพเจ้าจะบอกว่า ท่านได้ข้ามสะพานนั้นมาแล้วในแง่ที่สำคัญมากทีเดียว เมื่ออยู่ในโลกก่อนเกิด ท่านเลือกยอมรับแผนแห่งความรอดและความสูงส่งซึ่งพระบิดาทรงเตรียมให้และพระบุตรทรงเป็นผู้สนับสนุนอันดับหนึ่ง ท่านเลือกพระคริสต์แล้ว การเกิดมามีร่างกายเป็นพยานหลักฐานถึงข้อเท็จจริงที่ว่าท่านผูกมัดตนเองแล้ว ท่านรักษา “สถานะแรก”13 ของท่านแล้ว ต่อไปนี้คำถามคือท่านจะรักษาข้อผูกมัดนั้นใน “สถานะที่สอง” นี้และ “มีรัศมีภาพเพิ่มเติมบนศีรษะ [ของท่าน] ตลอดกาลและตลอดไป” หรือไม่?14 เราไม่ควรกลัวที่จะย้ำจุดยืนข้อผูกมัดของเราในโลกก่อนเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นว่าอีกทางน่าเศร้าหมองเพียงใด

เราต้องดำเนินชีวิตโดยไม่กลัวความล้มเหลว เราไม่ได้โดดเดี่ยว เราไม่ได้ปราศจากความช่วยเหลือ ใครก็ตามที่ผูกมัดตนเองอย่างแท้จริงต่อพระคริสต์ ต่อการเป็นสานุศิษย์โดยสมบูรณ์ จะไม่มีทางล้มเหลว ถ้าเราผูกมัดกับพระองค์ผู้เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง ผู้ทรงมีชัยเหนือทุกสิ่ง และผู้ทรงมีเดชานุภาพทั้งหมดในเวลานี้ เราจะไม่มีทางล้มเหลว15 พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเราไม่ได้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ไม่สนพระทัยใคร่รู้ว่าเราจะลงเอยด้วยดีหรือไม่ ท่านคิดหรือว่าพระองค์จะทอดพระเนตรลงมาจากสวรรค์แล้วตรัสว่า “ดูแซมสิ เขาพลาดครั้งที่แล้วในสถานการณ์แบบนี้ พนันได้เลยว่าเขาจะพลาดอีกแน่นอน” หรือ “ดูสิ เพื่อนๆ ทำให้แซนดร้าตกที่นั่งลำบาก น่าสนใจว่าเธอจะหาทางออกจากสถานการณ์นี้ได้หรือไม่” แน่นอนนั่นไร้สาระ ทั้งสองพระองค์ประทานความช่วยเหลือ การนำทาง และแหล่งช่วยตลอดเวลา และคงจะประทานให้เรามากขึ้นหากเราจะยอมรับ

ข้าพเจ้าบอกไปก่อนหน้านี้ว่าเมื่อเราให้เกียรติพันธสัญญาที่ผูกมัดเรากับพระคริสต์และเดชานุภาพของพระองค์ เราจะไม่มีทางล้มเหลว นั่นเป็นความจริงในท้ายที่สุด แต่ข้าพเจ้ารับรู้ว่าบางครั้งเราทุกคนประสบความล้มเหลว—ความผิดพลาดและบาปของเราเอง และบางครั้งเราก็ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดและบาปของผู้อื่น แต่ด้วยของประทานแห่งการกลับใจและการให้อภัย ความล้มเหลวและความบกพร่องทั้งหมดนี้เป็นได้อย่างมากสุดแค่ชั่วคราว ไม่มีสิ่งใดสามารถกีดกั้นเราจากชีวิตนิรันดร์หากเราไม่ยอมแพ้ เพราะอะไร? เพราะเมื่อเราทำสุดความสามารถเพื่อฟื้นตัว เราจะมีสิทธิ์รับพระคุณของพระคริสต์เพื่อแก้ปัญหาและซ่อมแซมสิ่งที่เราทำไม่ได้ จำไว้ว่าพลังแห่งการชดใช้หรือพระคุณของพระคริสต์ไม่เพียงนำเอาความรู้สึกผิดจากบาปและความผิดพลาดออกไปเท่านั้น แต่ยังชำระเราให้บริสุทธิ์และทำให้เราเป็นสัตภาวะศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าได้เช่นกัน16

แต่ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องง่าย ท่านกับข้าพเจ้าต่างก็รู้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรนและบางอย่างที่ยากมากๆ แม้กระทั่งเหตุการณ์น่าสลดใจ และการเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์นั้นพูดง่ายกว่าทำมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับพระเยซูในการเป็นสานุศิษย์ของพระบิดาและดื่มจาก “ถ้วยอันขมขื่น”17 แต่พระองค์ทรงทำได้ และทรงรู้วิธีช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการเดินบนเส้นทางสานุศิษย์ นอกจากนั้น พระผู้ช่วยให้รอดยังทรงมีเดชานุภาพและความเต็มพระทัยที่จะช่วย พระองค์จะทรงอยู่กับเราพร้อมกับความช่วยเหลือมากเท่าที่เราต้องการจนกว่าจะสิ้นสุด พระองค์ตรัสว่า “แท้จริงแล้ว, และจะกี่ครั้งก็ตามที่ผู้คนของเรากลับใจเราจะให้อภัยพวกเขาสำหรับการล่วงละเมิดของพวกเขาที่มีต่อเรา.”18 ความกลัวการล้มเหลวไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ผูกมัดตนเองอย่างเต็มที่ทุกประการกับพระคริสต์ ขอเพียงกลับใจต่อไปและทำสุดความสามารถที่จะเป็นคนดี—ก็เพียงพอแล้ว

การเสียสละ

ข้าพเจ้านึกได้อีกเหตุผลหนึ่งที่คนจะอิดออดในการขานรับเสียงเรียกจากพระเมษบาลผู้ประเสริฐและเข้าร่วมฝูงของพระองค์ นั่นคือ ความกลัวการเสียสละที่อาจต้องทำ ท่านคงจำเรื่องชายหนุ่มผู้ถามพระเยซูอย่างจริงใจว่า “ข้าพ‌เจ้า​ยัง​ขาด​อะไร​อีก​บ้าง?” เพื่อจะมีคุณสมบัติคู่ควรกับชีวิตนิรันดร์19 มาระโกบอกเราว่า “พระ‍เยซู​ทอด‍พระ‍เนตร‍ดู​คน​นั้น ทรง​เอ็น‍ดู​เขา” [ข้าพเจ้าคิดว่านั่นมีนัยสำคัญ] “แล้ว​ตรัส​ว่า ท่าน​ ยัง​ขาด​อยู่​อย่าง​หนึ่ง จง​ไป​ขาย​บรร‌ดา​สิ่ง‍ของ​ที่​ท่าน​มี​อยู่ แจก‍จ่าย​ให้​กับ​คน​ยาก‍จน ท่าน​จึง​จะ​มี​ทรัพย์​สมบัติ​ใน​สวรรค์ แล้ว​จง​กลับ‍มา​ติด‍ตาม​เรา”20 ท่านคงจำคำตอบได้: “เมื่อ​เขา​ได้‍ยิน​อย่าง​นั้น ใบ‍หน้า​ของ​เขา​ก็​สลด แล้ว​ออก​ไป​เป็น​ทุกข์ เพราะ​เขา​มี​ทรัพย์​สิ่ง‍ของ​จำ‌นวน​มาก”21

ข้าพเจ้าหวังว่าเมื่อไตร่ตรองแล้วเศรษฐีหนุ่มคนนี้จะเปลี่ยนใจและยอมรับพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดในภายหลัง ไม่ว่ากรณีใด เราทุกคนตระหนักว่าการผูกมัดตนเองกับพระคริสต์ย่อมเกี่ยวข้องกับการเสียสละ สิ่งหนึ่งที่จะต้องเสียสละคือ “ความกลัวการตกกระแส” เพราะเรารู้ว่าที่จริงแล้วเราจะพลาดหลายอย่างแน่นอน มีหลายทางเลือกในชีวิตที่เข้ากันไม่ได้กับการเป็นสานุศิษย์ และแม้สิ่งดีๆ หลายอย่างก็อาจถูกริบไปเพราะการเป็นสานุศิษย์เรียกร้องเวลาและทรัพยากรของเราเพื่อสิ่งที่ดีกว่าหรือดีที่สุด

คนหนุ่มผู้จริงจังที่ทูลถามพระผู้ช่วยให้รอดว่า “ข้าพ‌เจ้า​ยัง​ขาด​อะไร​อีก​บ้าง?” ตายไปแล้ว ความร่ำรวยใดๆ ที่เขาเคยมีคงไม่มีจริงอีกต่อไป และไม่ว่าอย่างไรเขาก็ไม่มีหรือไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งเหล่านั้น แม้จะดูเหมือนเป็นการเสียสละอย่างมากสำหรับเขาในเวลานั้น แต่เขามีทางเลือกที่ดีกว่าการยอมรับพระดำรัสเชิญของพระอาจารย์อย่างนั้นหรือ? สิ่งที่เขามีหรืออาจได้มาจากความร่ำรวยของเขาเทียบได้กับสิ่งที่พระเจ้าทรงเสนอให้ในท้ายที่สุดได้หรือ? เราทราบว่าสิ่งใดก็ตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอจากเรา รวมถึงชีวิตเราเอง ล้วนไม่สำคัญเมื่อเทียบกับความสูงส่ง เราไม่อาจจินตนาการได้เลย: “สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึงคือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์”22

แทนที่จะกลัวการเสียสละของการเป็นสานุศิษย์ เราควรต้อนรับโอกาสที่จะเติบโตในพลังทางวิญญาณ ที่จะประสบปีติอันล้ำลึก และที่เราแต่ละคนจะพบความหมายที่แท้จริงในชีวิต การเสียสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียสละในอุดมการณ์ของพระคริสต์ แสดงถึงความจริงจังว่า—เราจะรักษาพระบัญญัติสำคัญสองข้อที่จะรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง การเสียสละหมายความว่าเราจะทำสิ่งดีๆ ในโลกนี้จริงๆ

การรักพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ด้วยจิตใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลัง ยืนยันกับจิตวิญญาณของเราว่าเราเป็นอะไรและเราเป็นใคร สิ่งนั้นให้ความปลอดภัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถหยุดสนใจแต่ตนเองและมองออกไปเพื่อให้เห็นผู้อื่นอย่างถ่องแท้—เห็นความต้องการของพวกเขาและความเป็นจริงที่พวกเขาเผชิญ ด้วยความปรารถนาที่จะเข้าใจและช่วยเหลือ ในอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี ปุโรหิตและคนเลวีเห็นคนเดินทางบาดเจ็บอยู่ข้างถนน แต่ไม่ได้ เห็น คนนั้นอย่างถ่องแท้ มีเพียงชาวสะมาเรียเท่านั้นที่เห็นคนแปลกหน้าผู้บาดเจ็บอย่างถ่องแท้ และผลก็คือเขา “​มี​ใจ​สงสาร จึง​เข้า​ไป​หา​เขา เอา​เหล้า‍องุ่น​กับ​น้ำ‍มัน​เท​ใส่​บาด‍แผล​และ​เอา​ผ้า​มา​พัน​ให้”23 คนมากมายรู้สึกโดดเดี่ยวตลอดเวลา แน่นอนว่าการเสียสละของเราสร้างความแตกต่างได้

การผูกมัดตนเอง

การผูกมัดตนเองส่วนสำคัญที่รับรองปีติที่นี่และหลังจากนี้คือการผูกมัดตนเองต่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์และพระบุตรของพระองค์ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ ในออมไนเราพบคำวิงวอนอันไพเราะนี้

“ข้าพเจ้าอยากให้ท่านมาหาพระคริสต์, ผู้ทรงเป็นพระผู้บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล, และรับส่วนความรอดของพระองค์, และพระพลานุภาพแห่งการไถ่ของพระองค์. แท้จริงแล้ว, จงมาหาพระองค์, และถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาแด่พระองค์, และอดอาหารและสวดอ้อนวอนต่อไป, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่; และพระเจ้าทรงพระชนม์ฉันใดท่านจะได้รับการช่วยให้รอดฉันนั้น”24

มีเรื่องเล่าของคุณพ่อที่พาลูกชายตัวน้อยเข้านอน พอออกจากห้องนอนเขาได้ยินเสียงดังตุ้บ เขากลับเข้าไปเห็นลูกชายอยู่บนพื้นจึงถามว่าตกจากเตียงได้อย่างไร เด็กชายตอบว่า “ผมไม่ได้ขยับเข้าไปทั้งตัวครับ” จงแน่ใจว่าในการผูกมัดตนเองต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นท่านได้ขยับเข้าไปทั้งตัว

ท่านเป็นส่วนในพระวรกายของพระคริสต์25 ท่านเป็นหนึ่งในนั้น จงเข้าไปทั้งตัว ให้และรับอย่างเต็มที่ จงเห็นคนรอบข้างอย่างถ่องแท้และให้คนอื่นเห็นท่าน เพื่อชีวิตท่านจะเป็นชีวิตที่ดี ชีวิตแห่งการปฏิบัติศาสนกิจ พร และความอิ่มเอมใจ ชีวิตที่ได้รับพรและการชำระให้บริสุทธิ์โดยพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงมีชัยเหนือทุกสิ่ง และโดยพระคุณของพระองค์ท่านจะมีชัยเหนือทุกสิ่งได้เช่นกัน

คอนเสิร์ตวันผู้บุกเบิกเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วโดยคณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิลและออร์เคสตราแอทเท็มเปิลสแควร์มีนักร้องรับเชิญมากพรสวรรค์ชาวนอร์เวย์ชื่อ ซิสเซล ผู้ชม รวมถึงข้าพเจ้าด้วย ประทับใจอย่างยิ่งกับการแสดงบทเพลงอันคารวะของเธอชื่อ “Slow Down” ซึ่งทำให้นึกถึงข้อพระคัมภีร์จากหนังสือสดุดีที่ว่า “จง​นิ่ง​เสีย และ​รู้​เถิด​ว่า เรา​คือ​พระ‍เจ้า”26

ข้าพเจ้าอยากจะเปิดวีดิทัศน์ที่ซิสเซลร้องเพลงในโอกาสนั้น เมื่อท่านฟัง ขอให้ท่านไตร่ตรองข่าวสารที่ว่าเราสามารถวางใจเต็มที่ในพระผู้เป็นเจ้า ในความรักอันมหัศจรรย์และความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะทรงอวยพรและค้ำจุนเราไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วไตร่ตรองความศักดิ์สิทธิ์ของการผูกมัดชีวิตและตัวท่านกับพระองค์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ท่ามกลางความสับสนของฉัน

ในยามที่ฉันอับจนหนทาง

เมื่อความคิดใดๆ ไร้ความกระจ่าง

พระสุรเสียงรับสั่งประโลมใจ

จงเย็นใจ เย็นใจ จงนิ่งเถิด

จงนิ่งและรอ รอคอยพระวิญญาณพระเจ้า

จงเย็นใจ สดับฟังพระสุรเสียง

และรู้ว่าพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้า

ยามชีวิตทุกข์ท้อทรมาน

เมื่อฉันรู้สึกลังเลหวั่นไหว

เผชิญสิ่งรุมเร้ารอบกาย

ยินพระสุรเสียง พิสุทธิ์ถ้อยประโลมใจ

จงเย็นใจ เย็นใจ นิ่งเสียเถิด ลูกเอ๋ย

จงนิ่งและรอ รอคอยพระวิญญาณพระเจ้า

จงเย็นใจ สดับฟังพระสุรเสียง

และรู้ว่าพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้า

และรู้ว่าพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้า27

จงช้าลงหน่อย ตกลงใจและตัดสินใจว่าท่านเลือกพระผู้เป็นเจ้า หาเวลาสงบเมื่อท่านสามารถคุกเข่าลงในที่ลับตาและทูลพระบิดาบนสวรรค์ในพระนามของพระเยซูคริสต์ว่าท่านเป็นของพระองค์ ท่านผูกมัดตนเองทั้งร่างกายและจิตวิญญาณกับพระองค์ พระบุตรของพระองค์ และเส้นทางพระกิตติคุณ จากนั้นทำตามที่พระองค์ทรงนำ เวลานี้และตลอดชีวิต อย่าลังเลหรือรีรออีกต่อไปแต่จงดำเนินต่อไปด้วยจุดประสงค์และพันธกิจของท่านในชีวิต ความเป็นมรรตัยนั้นแสนสั้น จงทำให้เวลานี้มีค่าเพื่อนิรันดรของท่านจะมีแต่ปีติ ไม่ใช่ความเสียใจ ท่านไม่รู้สึกหรือว่าพระวิญญาณทรงกำลังบอกท่านว่านี่เป็นความจริง? แล้วจงรุดหน้าต่อไปด้วยความมั่นใจ

ข้าพเจ้าสัญญาว่ารางวัลของพระเจ้าสำหรับการทุ่มเทให้ของท่านจะเป็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมีให้ “​ด้วย​แบบ​ยัด​สั่น​แน่น​พูน‍ล้น​”28 ความเป็นจริงของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงมีเดชานุภาพทั้งปวง พระองค์สามารถทำตามสิ่งที่ทรงสัญญาไว้ และทรงทำเช่นนั้นจริง พระองค์คือชีวิต พระองค์เสด็จมาเพื่อเราจะมีชีวิตและ “ได้​อย่าง​ครบ‍บริ‌บูรณ์”29 ข้าพเจ้าบอกท่านในฐานะผู้ที่รู้ว่าพระเยซูคริสต์คือพระผู้ไถ่ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวสร้างความแตกต่างทุกอย่างในโลกนี้และในนิรันดร ข้าพเจ้าขอมอบพรของพระองค์และพยานของข้าพเจ้าไว้กับท่านในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน