การเลือกและการผูกมัดตนเอง
การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับคนหนุ่มสาวทั่วโลก
12 มกราคม 2020
ข้าพเจ้าขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับโอกาสพิเศษที่ได้อยู่กับทุกท่านค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าอยากขอบคุณภรรยาและเห็นด้วยกับคำพูดของเธอ ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคณะนักร้องประสานเสียงมหัศจรรย์คณะนี้ พวกเขาเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่พิสูจน์คุณค่าของสถาบัน ข้าพเจ้ารักสถาบัน หวังว่าทุกท่านที่มีโอกาสจะไม่เพียงลงทะเบียนเรียน แต่จะเข้าเรียนและมีส่วนร่วมในสถาบันอย่างแข็งขัน นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เราทำในศาสนจักร บทเพลงที่คณะนักร้องพึ่งร้องไปเมื่อสักครู่ บางคนอาจรู้ว่าเป็นบทเพลงที่ประพันธ์โดยประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ท่านเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง ความรู้สึกและถ้อยคำที่แสดงออกมานั้นเข้าถึงจิตใจข้าพเจ้า และข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านก็เช่นกัน ข้าพเจ้านำความรักและคำทักทายของประธานเนลสันมายังพวกท่าน และขอกล่าวขอบคุณประธานแอสทริด ทูมิเนซ พร้อมทั้งฝ่ายบริหารกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยยูทาห์แวลลีย์สำหรับความเอื้อเฟื้ออย่างยิ่งในโอกาสนี้
หลายปีก่อน เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์กับข้าพเจ้าทำงานมอบหมายร่วมกันที่นิวยอร์กซิตี้ ขณะอยู่ที่นั่นเราไปเยี่ยมธรรมศาลายิวสำคัญแห่งหนึ่งในบรูคลิน ธรรมศาลาแห่งนั้นเป็นอาคารโอ่อ่าในย่านที่เคยเป็น และอาจจะยังเป็นย่านหรูหราแห่งหนึ่งในเขตนี้ สตรีท่านหนึ่งที่เป็นรับบีของชาวยิวนิกายปฏิรูปที่นั่นทักทายเราอย่างอบอุ่นและพาเราเที่ยวชมอาคารประวัติศาสตร์แห่งนั้น ช่วงที่สภาพดีที่สุด นี่คือสิ่งปลูกสร้างที่งามสง่า แต่ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าต้องซ่อมแซมอย่างมาก รับบีบอกเราว่าโบสถ์ของเธอมีคนน้อยลง เงินทุนที่จะใช้ทำนุบำรุงธรรมศาลาและโปรแกรมต่างๆ กับโรงเรียนนั้นไม่เพียงพอ
เมื่อคุยกันมากขึ้น เธอบอกว่าโดยทั่วไปคนหนุ่มสาวยึดมั่นกับประเพณีชาวยิวของตน แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พวกเขาอิดออดที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกที่แข็งขันของธรรมศาลาแห่งนี้ แต่ถึงกระนั้น พวกเขายังคงจองใช้อาคารทำกิจกรรมทางสังคมอยู่เป็นประจำ ที่นั่นเป็นเสมือนสถานที่ชุมนุมสำหรับพวกเขา และพวกเขามักจะบริจาคเงินเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้อาคาร แต่น้อยคนที่เต็มใจมาเป็นสมาชิกของกลุ่มนมัสการที่นั่น
เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์กับข้าพเจ้าสนทนากับรับบีถึงสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น จากการสนทนากับหนุ่มสาวเหล่านี้หลายคนซึ่งส่วนใหญ่ยังโสด เธอสังเกตว่าพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับศาสนาในชีวิตเท่าใดนัก ส่วนคนอื่นๆ แค่ไม่อยากผูกมัดตนเองกับธรรมศาลาแห่งนี้หรือแห่งไหน เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์สงสัยว่านี่อาจเป็นเพราะปรากฏการณ์ที่กำลังโด่งดัง (หรืออื้อฉาว) ของ “FOMO”—โรคกลัวตกกระแส—ว่าหากผูกมัดตนเองกับสิ่งนี้ พวกเขาอาจพลาดสิ่งอื่นไป
และนี่คือหัวข้อหลักที่ข้าพเจ้าอยากจะพูดกับท่านค่ำคืนนี้—การเลือกและการผูกมัด
เรามาเริ่มด้วยการสังเกตว่า “โรคกลัวตกกระแส” มาถึงจุดหนึ่ง ค่อนข้างเป็นความรู้สึกที่มีเหตุผล ตราบเท่าที่เป็นไปได้ เราทุกคนต้องการพบสิ่งที่ดีที่สุดและขวนขวายหาทางเลือกที่ดีที่สุดในทุกด้านของชีวิต แต่การคิดว่าดีกว่าที่จะประวิงเวลาไปเรื่อยๆ ในการเลือกหรือทำข้อผูกมัดเพราะกลัวพลาดสิ่งอื่นไป เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ทุกๆ การเลือกขัดขวางความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น ถ้าเลือกไปทำงานหรือไปเรียนตอนเช้า ท่านก็ดูหนัง Netflix ในเวลาเดียวกันไม่ได้ (หรือท่านทำได้?); ถ้าไปเรียนเอกวิศวกรรมโยธา ท่านจะพลาดเรียนเอกประวัติศาสตร์ หรือศิลปะ หรือชีววิทยา หรือสาขาอื่นๆ (เว้นแต่ท่านจะเรียนไปเรื่อยๆ); ถ้าเดินทางไปน้ำตกวิกตอเรียที่แอฟริกาตอนนี้ ท่านจะเดินทางไปที่อื่นในขณะเดียวกันไม่ได้ และอาจพลาดสถานที่อื่นๆ ที่อยากไป; ถ้าเลือกรับใช้งานเผยแผ่ ท่านจะทิ้งกิจกรรมสังคมมากมายสำหรับช่วงเวลานั้น; เป็นต้น แต่หากท่านไม่เลือกและผูกมัดตนเองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ชีวิตท่านจะค่อนข้างไร้จุดหมาย และในที่สุดท่านจะพลาดสิ่งที่ดีที่สุดส่วนใหญ่ไปจริงๆ
ดังที่บางครั้งภรรยาข้าพเจ้าจะพูดว่า “คุณมีทุกอย่างไม่ได้หรอก—คุณจะเก็บมันไว้ที่ไหน?” เราไม่สามารถมีทุกอย่างที่คงจะดีถ้ามี และเราไม่สามารถทำทุกอย่างที่คงจะดีหรือน่าสนใจถ้าได้ทำ ต่อให้ท่านจำกัดตัวเลือกเหลือเพียงสิ่งที่ “กล่าวขวัญกันว่าดี หรือควรค่าแก่การสรรเสริญ”1 ท่านก็ยังไม่สามารถมีหรือประสบพบเจอทุกอย่างได้ ง่ายๆ คือไม่มีเวลา ทุนทรัพย์ หรือที่ว่างมากพอในชีวิตใครก็ตามในความเป็นมรรตัย ดังนั้นเราจึงต้องผูกมัดตนเองกับการเลือกเฉพาะอย่างโดยรู้ว่าเมื่อทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้องทิ้งสิ่งอื่นๆ ไป แม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม เราพึงระลึกเสมอว่าการประวิงเวลาการเลือกนานเกินควรจะทำให้เกิดการเลือกในตัวมันเอง
การแต่งงานเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด โดยการเลือกคู่คนหนึ่ง เราละทิ้งคนอื่นๆ ทั้งหมด พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าจงรักภรรยาของเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า, และจงแนบสนิทกับนางและหาใช่ใครอื่นไม่”2 เนื่องจากการเลือกนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด บางคนจึงไม่ยอมผูกมัดกับคนที่ตนชอบมากๆ หรือคนที่ตนรักและสามารถก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างมีความสุขชั่วนิรันดร์ โดยกังวลว่าอาจจะมีเนื้อคู่ที่สมบูรณ์แบบกว่านี้ที่ไหนสักแห่งที่พวกเขาไม่อยากพลาด ข้าพเจ้าจำชายหนุ่มเช่นนั้นได้เมื่อหลายปีก่อนที่ข้าพเจ้ารู้จัก เขาปฏิเสธคนที่อาจเป็นคู่ชีวิตที่ดีมากคนหนึ่งเพราะคิดว่าเธออุดฟันมากเกินไป ปฏิกริยาของข้าพเจ้าคือคุณต้องการความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง ว่าแต่คุณเคยฉุกคิดบ้างหรือเปล่าว่าตัวคุณเองก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบเลยสักนิด?
นี่คือการชุมนุมของคนหนุ่มสาว และสำหรับท่านส่วนใหญ่ สิ่งที่เน้นคือการเป็นผู้ใหญ่ ท่านมีหรือกำลังแสวงหาความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่ ความสำเร็จแบบผู้ใหญ่ และการทำคุณประโยชน์แบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่ประวิงวัยผู้ใหญ่ออกไปและหาแต่โอกาสสังสรรค์ไม่หยุดหย่อน เมื่อสิบปีที่แล้ว นักเขียนและนักวิชาการชื่อชาร์ลส์ เมอร์เรย์พูดเกี่ยวกับความหมายของ “ชีวิตที่ดี” เขาบอกว่า “ผมกำลังพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เรามองย้อนกลับไปเมื่อเราอายุมากแล้วและให้เราตัดสินใจว่าเราสามารถภูมิใจกับคนที่เราเป็นและสิ่งที่เราทำมา”3
เมอร์เรย์เล่าให้ฟังเมื่อเขาพูดกับผู้ฟังที่ซูริคเกี่ยวกับความพอใจอันลึกซึ้งที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ดี เขาบอกว่า “หลังจากคำปราศรัยนั้น ผู้ฟังไม่กี่คนจากยี่สิบกว่าคนเข้ามาหาและบอกตรงๆ ว่าคำว่า ‘ชีวิตที่ดี’ นั้นไม่มีความหมายต่อพวกเขา พวกเขามีช่วงเวลาดีๆ กับคู่นอนคนปัจจุบัน มีรถ BMW คันใหม่ มีบ้านพักตากอากาศที่มายอร์กา และไม่เห็นว่าชีวิตพวกเขาดอะไรที่ต้องเติมให้เต็ม น่าอัศจรรย์มาก” เมอร์เรย์กล่าว “ที่ได้ยินคนพูดอย่างนั้นใส่หน้าผม แต่ไม่น่าประหลาดใจเลย … ความคิดแบบนั้นเป็นประมาณว่า มนุษย์คือสารเคมีกลุ่มหนึ่งที่ออกฤทธิ์และหลังจากช่วงเวลาหนึ่งก็หมดฤทธิ์ จุดประสงค์ของชีวิตคือการใช้เวลาตรงกลางอย่างเปล่าประโยชน์ให้สุขสมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”4
ช่วงท้ายคำปราศรัย เมอร์เรย์กล่าวคำพูดอันปราดเปรื่องว่า “ปัญญาที่มนุษย์เข้าใจกันมาแต่บรรพกาลคือชีวิตที่ดีนั้นต้องผูกพันกับคนรอบข้าง”5 ผู้ใหญ่ที่แท้จริงเข้าใจเรื่องนี้ พวกเขาสำนึกได้ว่าความสุขส่วนตัวไม่ใช่ศูนย์รวมของชีวิตและไม่เพียงพอจะเป็นจุดประสงค์ของชีวิต ความจริงนี้เป็นรากฐานของพระบัญญัติสำคัญสองข้อ นั่นคือ รักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดใจ สุดจิตวิญญาณ และสุดความคิด และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง6 ดังที่พระเยซูตรัสว่า “ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้”7 พันธสัญญาแห่งกิตติคุณ8 พร้อมคำสัญญาถึงชีวิตนิรันดร์ ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสำคัญสองข้อนี้ตามลำดับความสำคัญที่ประทานไว้: ข้อแรกและข้อสอง ความภักดีต่อพระบัญญัติสำคัญสองข้อนี้กำหนดชีวิตที่ดีและความหมายของการเป็นผู้ใหญ่
สุดท้ายแล้ว ไม่มีทางสายกลางหรือเส้นทางที่ปราศจากข้อผูกมัดให้เดิน อย่างน้อยก็ในเรื่องของผลลัพธ์นิรันดร์ แอลมาชี้ประเด็นนี้เมื่อท่านสอนว่าพระคริสต์ พระเมษบาลผู้ประเสริฐ ทรงเรียกให้เราติดตามพระองค์ในเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์และความสุขว่า:
“ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ว่าพระเมษบาลผู้ประเสริฐทรงเรียกท่าน; แท้จริงแล้ว, และในพระนามของพระองค์เองพระองค์ทรงเรียกท่าน, ซึ่งคือพระนามของพระคริสต์; และหากท่านจะไม่สดับฟังเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐองค์นั้น, ตามพระนามที่ใช้เรียกท่านอยู่, ดูเถิด, ท่านก็ไม่ใช่แกะของพระเมษบาลผู้ประเสริฐองค์นั้น.
“และบัดนี้หากท่านไม่ใช่แกะของพระเมษบาลผู้ประเสริฐองค์นั้น, ท่านเป็นของคอกใดเล่า? ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ว่ามารคือเมษบาลของท่าน, และท่านเป็นของคอกเขา; และบัดนี้, ใครเล่าจะปฏิเสธเรื่องนี้ได้?”9
แอลมากำลังสอนถึงความเป็นจริงว่ามีเพียงสองทางเลือกเท่านั้น และพระคริสต์คือทางเลือกที่ดีเพียงทางเดียว ถ้าท่านไม่เลือกพระคริสต์ ท่านกำลังติดตามพระผู้เป็นเจ้าปลอมโดยอัตโนมัติ เส้นทางผิดพลาดอันนำไปสู่ความผิดหวังในที่สุดแม้ในนิรันดร์ นี่คืออย่างน้อย ดังนั้นหากท่านไม่ติดตามพระผู้ช่วยให้รอด ท่านกำลังปฏิเสธพระองค์10
เมื่อรู้เช่นนี้ เราไม่ควรรู้สึกอิดออดที่จะผูกมัดตนเองต่อพระเจ้าและพยายามเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ ดังที่พระองค์ทรงสวดอ้อนวอนที่พระกระยาหารมื้อสุดท้ายให้อัครสาวกและทุกคนที่จะเชื่อในถ้อยคำของพวกเขา “เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย”11 นี่คือจุดที่เราต้องการไปให้ถึงมิใช่หรือ? เหตุใดจึงลังเลในการผูกมัดตนเองอย่างเต็มตัวและเต็มใจ? เหตุใดจึงรีรอที่จะรับแอกของพระองค์ทั้งๆ ที่รู้ว่า “แอก [ของพระองค์] ก็พอเหมาะ และภาระ [ของพระองค์] ก็เบา”?12
กลัวความล้มเหลว
ที่จะตอบคำถามของตนเอง ข้าพเจ้าเห็นว่าแม้ด้วยหลักเหตุผลและการวิงวอนของพระวิญญาณที่พยายามกับเรา ยังมีเหตุผลสองข้อที่บางคนอาจยังรู้สึกอิดออดอยู่บ้าง หนึ่งคือความกังวลถึงความสามารถของเราที่จะทำตามข้อผูกมัดซึ่งมีผลกระทบอย่างมาก เราจะทำได้สำเร็จจริงหรือ จะดีกว่าไหมที่เราจะไม่ผูกมัดตนเองถ้าเราอาจล้มเหลว?
นี่เป็นความกังวลที่เข้าใจได้ แต่เพื่อเป็นการตอบข้าพเจ้าจะบอกว่า ท่านได้ข้ามสะพานนั้นมาแล้วในแง่ที่สำคัญมากทีเดียว เมื่ออยู่ในโลกก่อนเกิด ท่านเลือกยอมรับแผนแห่งความรอดและความสูงส่งซึ่งพระบิดาทรงเตรียมให้และพระบุตรทรงเป็นผู้สนับสนุนอันดับหนึ่ง ท่านเลือกพระคริสต์แล้ว การเกิดมามีร่างกายเป็นพยานหลักฐานถึงข้อเท็จจริงที่ว่าท่านผูกมัดตนเองแล้ว ท่านรักษา “สถานะแรก”13 ของท่านแล้ว ต่อไปนี้คำถามคือท่านจะรักษาข้อผูกมัดนั้นใน “สถานะที่สอง” นี้และ “มีรัศมีภาพเพิ่มเติมบนศีรษะ [ของท่าน] ตลอดกาลและตลอดไป” หรือไม่?14 เราไม่ควรกลัวที่จะย้ำจุดยืนข้อผูกมัดของเราในโลกก่อนเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นว่าอีกทางน่าเศร้าหมองเพียงใด
เราต้องดำเนินชีวิตโดยไม่กลัวความล้มเหลว เราไม่ได้โดดเดี่ยว เราไม่ได้ปราศจากความช่วยเหลือ ใครก็ตามที่ผูกมัดตนเองอย่างแท้จริงต่อพระคริสต์ ต่อการเป็นสานุศิษย์โดยสมบูรณ์ จะไม่มีทางล้มเหลว ถ้าเราผูกมัดกับพระองค์ผู้เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง ผู้ทรงมีชัยเหนือทุกสิ่ง และผู้ทรงมีเดชานุภาพทั้งหมดในเวลานี้ เราจะไม่มีทางล้มเหลว15 พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดของเราไม่ได้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ไม่สนพระทัยใคร่รู้ว่าเราจะลงเอยด้วยดีหรือไม่ ท่านคิดหรือว่าพระองค์จะทอดพระเนตรลงมาจากสวรรค์แล้วตรัสว่า “ดูแซมสิ เขาพลาดครั้งที่แล้วในสถานการณ์แบบนี้ พนันได้เลยว่าเขาจะพลาดอีกแน่นอน” หรือ “ดูสิ เพื่อนๆ ทำให้แซนดร้าตกที่นั่งลำบาก น่าสนใจว่าเธอจะหาทางออกจากสถานการณ์นี้ได้หรือไม่” แน่นอนนั่นไร้สาระ ทั้งสองพระองค์ประทานความช่วยเหลือ การนำทาง และแหล่งช่วยตลอดเวลา และคงจะประทานให้เรามากขึ้นหากเราจะยอมรับ
ข้าพเจ้าบอกไปก่อนหน้านี้ว่าเมื่อเราให้เกียรติพันธสัญญาที่ผูกมัดเรากับพระคริสต์และเดชานุภาพของพระองค์ เราจะไม่มีทางล้มเหลว นั่นเป็นความจริงในท้ายที่สุด แต่ข้าพเจ้ารับรู้ว่าบางครั้งเราทุกคนประสบความล้มเหลว—ความผิดพลาดและบาปของเราเอง และบางครั้งเราก็ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดและบาปของผู้อื่น แต่ด้วยของประทานแห่งการกลับใจและการให้อภัย ความล้มเหลวและความบกพร่องทั้งหมดนี้เป็นได้อย่างมากสุดแค่ชั่วคราว ไม่มีสิ่งใดสามารถกีดกั้นเราจากชีวิตนิรันดร์หากเราไม่ยอมแพ้ เพราะอะไร? เพราะเมื่อเราทำสุดความสามารถเพื่อฟื้นตัว เราจะมีสิทธิ์รับพระคุณของพระคริสต์เพื่อแก้ปัญหาและซ่อมแซมสิ่งที่เราทำไม่ได้ จำไว้ว่าพลังแห่งการชดใช้หรือพระคุณของพระคริสต์ไม่เพียงนำเอาความรู้สึกผิดจากบาปและความผิดพลาดออกไปเท่านั้น แต่ยังชำระเราให้บริสุทธิ์และทำให้เราเป็นสัตภาวะศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าได้เช่นกัน16
แต่ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องง่าย ท่านกับข้าพเจ้าต่างก็รู้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรนและบางอย่างที่ยากมากๆ แม้กระทั่งเหตุการณ์น่าสลดใจ และการเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์นั้นพูดง่ายกว่าทำมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับพระเยซูในการเป็นสานุศิษย์ของพระบิดาและดื่มจาก “ถ้วยอันขมขื่น”17 แต่พระองค์ทรงทำได้ และทรงรู้วิธีช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการเดินบนเส้นทางสานุศิษย์ นอกจากนั้น พระผู้ช่วยให้รอดยังทรงมีเดชานุภาพและความเต็มพระทัยที่จะช่วย พระองค์จะทรงอยู่กับเราพร้อมกับความช่วยเหลือมากเท่าที่เราต้องการจนกว่าจะสิ้นสุด พระองค์ตรัสว่า “แท้จริงแล้ว, และจะกี่ครั้งก็ตามที่ผู้คนของเรากลับใจเราจะให้อภัยพวกเขาสำหรับการล่วงละเมิดของพวกเขาที่มีต่อเรา.”18 ความกลัวการล้มเหลวไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ผูกมัดตนเองอย่างเต็มที่ทุกประการกับพระคริสต์ ขอเพียงกลับใจต่อไปและทำสุดความสามารถที่จะเป็นคนดี—ก็เพียงพอแล้ว
การเสียสละ
ข้าพเจ้านึกได้อีกเหตุผลหนึ่งที่คนจะอิดออดในการขานรับเสียงเรียกจากพระเมษบาลผู้ประเสริฐและเข้าร่วมฝูงของพระองค์ นั่นคือ ความกลัวการเสียสละที่อาจต้องทำ ท่านคงจำเรื่องชายหนุ่มผู้ถามพระเยซูอย่างจริงใจว่า “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง?” เพื่อจะมีคุณสมบัติคู่ควรกับชีวิตนิรันดร์19 มาระโกบอกเราว่า “พระเยซูทอดพระเนตรดูคนนั้น ทรงเอ็นดูเขา” [ข้าพเจ้าคิดว่านั่นมีนัยสำคัญ] “แล้วตรัสว่า ท่าน ยังขาดอยู่อย่างหนึ่ง จงไปขายบรรดาสิ่งของที่ท่านมีอยู่ แจกจ่ายให้กับคนยากจน ท่านจึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ แล้วจงกลับมาติดตามเรา”20 ท่านคงจำคำตอบได้: “เมื่อเขาได้ยินอย่างนั้น ใบหน้าของเขาก็สลด แล้วออกไปเป็นทุกข์ เพราะเขามีทรัพย์สิ่งของจำนวนมาก”21
ข้าพเจ้าหวังว่าเมื่อไตร่ตรองแล้วเศรษฐีหนุ่มคนนี้จะเปลี่ยนใจและยอมรับพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดในภายหลัง ไม่ว่ากรณีใด เราทุกคนตระหนักว่าการผูกมัดตนเองกับพระคริสต์ย่อมเกี่ยวข้องกับการเสียสละ สิ่งหนึ่งที่จะต้องเสียสละคือ “ความกลัวการตกกระแส” เพราะเรารู้ว่าที่จริงแล้วเราจะพลาดหลายอย่างแน่นอน มีหลายทางเลือกในชีวิตที่เข้ากันไม่ได้กับการเป็นสานุศิษย์ และแม้สิ่งดีๆ หลายอย่างก็อาจถูกริบไปเพราะการเป็นสานุศิษย์เรียกร้องเวลาและทรัพยากรของเราเพื่อสิ่งที่ดีกว่าหรือดีที่สุด
คนหนุ่มผู้จริงจังที่ทูลถามพระผู้ช่วยให้รอดว่า “ข้าพเจ้ายังขาดอะไรอีกบ้าง?” ตายไปแล้ว ความร่ำรวยใดๆ ที่เขาเคยมีคงไม่มีจริงอีกต่อไป และไม่ว่าอย่างไรเขาก็ไม่มีหรือไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งเหล่านั้น แม้จะดูเหมือนเป็นการเสียสละอย่างมากสำหรับเขาในเวลานั้น แต่เขามีทางเลือกที่ดีกว่าการยอมรับพระดำรัสเชิญของพระอาจารย์อย่างนั้นหรือ? สิ่งที่เขามีหรืออาจได้มาจากความร่ำรวยของเขาเทียบได้กับสิ่งที่พระเจ้าทรงเสนอให้ในท้ายที่สุดได้หรือ? เราทราบว่าสิ่งใดก็ตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอจากเรา รวมถึงชีวิตเราเอง ล้วนไม่สำคัญเมื่อเทียบกับความสูงส่ง เราไม่อาจจินตนาการได้เลย: “สิ่งที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน และสิ่งที่ใจมนุษย์คิดไม่ถึงคือสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนทั้งหลายที่รักพระองค์”22
แทนที่จะกลัวการเสียสละของการเป็นสานุศิษย์ เราควรต้อนรับโอกาสที่จะเติบโตในพลังทางวิญญาณ ที่จะประสบปีติอันล้ำลึก และที่เราแต่ละคนจะพบความหมายที่แท้จริงในชีวิต การเสียสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียสละในอุดมการณ์ของพระคริสต์ แสดงถึงความจริงจังว่า—เราจะรักษาพระบัญญัติสำคัญสองข้อที่จะรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง การเสียสละหมายความว่าเราจะทำสิ่งดีๆ ในโลกนี้จริงๆ
การรักพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ด้วยจิตใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลัง ยืนยันกับจิตวิญญาณของเราว่าเราเป็นอะไรและเราเป็นใคร สิ่งนั้นให้ความปลอดภัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถหยุดสนใจแต่ตนเองและมองออกไปเพื่อให้เห็นผู้อื่นอย่างถ่องแท้—เห็นความต้องการของพวกเขาและความเป็นจริงที่พวกเขาเผชิญ ด้วยความปรารถนาที่จะเข้าใจและช่วยเหลือ ในอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี ปุโรหิตและคนเลวีเห็นคนเดินทางบาดเจ็บอยู่ข้างถนน แต่ไม่ได้ เห็น คนนั้นอย่างถ่องแท้ มีเพียงชาวสะมาเรียเท่านั้นที่เห็นคนแปลกหน้าผู้บาดเจ็บอย่างถ่องแท้ และผลก็คือเขา “มีใจสงสาร จึงเข้าไปหาเขา เอาเหล้าองุ่นกับน้ำมันเทใส่บาดแผลและเอาผ้ามาพันให้”23 คนมากมายรู้สึกโดดเดี่ยวตลอดเวลา แน่นอนว่าการเสียสละของเราสร้างความแตกต่างได้
การผูกมัดตนเอง
การผูกมัดตนเองส่วนสำคัญที่รับรองปีติที่นี่และหลังจากนี้คือการผูกมัดตนเองต่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์และพระบุตรของพระองค์ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ ในออมไนเราพบคำวิงวอนอันไพเราะนี้
“ข้าพเจ้าอยากให้ท่านมาหาพระคริสต์, ผู้ทรงเป็นพระผู้บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล, และรับส่วนความรอดของพระองค์, และพระพลานุภาพแห่งการไถ่ของพระองค์. แท้จริงแล้ว, จงมาหาพระองค์, และถวายทั้งจิตวิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาแด่พระองค์, และอดอาหารและสวดอ้อนวอนต่อไป, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่; และพระเจ้าทรงพระชนม์ฉันใดท่านจะได้รับการช่วยให้รอดฉันนั้น”24
มีเรื่องเล่าของคุณพ่อที่พาลูกชายตัวน้อยเข้านอน พอออกจากห้องนอนเขาได้ยินเสียงดังตุ้บ เขากลับเข้าไปเห็นลูกชายอยู่บนพื้นจึงถามว่าตกจากเตียงได้อย่างไร เด็กชายตอบว่า “ผมไม่ได้ขยับเข้าไปทั้งตัวครับ” จงแน่ใจว่าในการผูกมัดตนเองต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นท่านได้ขยับเข้าไปทั้งตัว
ท่านเป็นส่วนในพระวรกายของพระคริสต์25 ท่านเป็นหนึ่งในนั้น จงเข้าไปทั้งตัว ให้และรับอย่างเต็มที่ จงเห็นคนรอบข้างอย่างถ่องแท้และให้คนอื่นเห็นท่าน เพื่อชีวิตท่านจะเป็นชีวิตที่ดี ชีวิตแห่งการปฏิบัติศาสนกิจ พร และความอิ่มเอมใจ ชีวิตที่ได้รับพรและการชำระให้บริสุทธิ์โดยพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงมีชัยเหนือทุกสิ่ง และโดยพระคุณของพระองค์ท่านจะมีชัยเหนือทุกสิ่งได้เช่นกัน
คอนเสิร์ตวันผู้บุกเบิกเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วโดยคณะนักร้องประสานเสียงแทเบอร์นาเคิลและออร์เคสตราแอทเท็มเปิลสแควร์มีนักร้องรับเชิญมากพรสวรรค์ชาวนอร์เวย์ชื่อ ซิสเซล ผู้ชม รวมถึงข้าพเจ้าด้วย ประทับใจอย่างยิ่งกับการแสดงบทเพลงอันคารวะของเธอชื่อ “Slow Down” ซึ่งทำให้นึกถึงข้อพระคัมภีร์จากหนังสือสดุดีที่ว่า “จงนิ่งเสีย และรู้เถิดว่า เราคือพระเจ้า”26
ข้าพเจ้าอยากจะเปิดวีดิทัศน์ที่ซิสเซลร้องเพลงในโอกาสนั้น เมื่อท่านฟัง ขอให้ท่านไตร่ตรองข่าวสารที่ว่าเราสามารถวางใจเต็มที่ในพระผู้เป็นเจ้า ในความรักอันมหัศจรรย์และความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะทรงอวยพรและค้ำจุนเราไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วไตร่ตรองความศักดิ์สิทธิ์ของการผูกมัดชีวิตและตัวท่านกับพระองค์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
จงช้าลงหน่อย ตกลงใจและตัดสินใจว่าท่านเลือกพระผู้เป็นเจ้า หาเวลาสงบเมื่อท่านสามารถคุกเข่าลงในที่ลับตาและทูลพระบิดาบนสวรรค์ในพระนามของพระเยซูคริสต์ว่าท่านเป็นของพระองค์ ท่านผูกมัดตนเองทั้งร่างกายและจิตวิญญาณกับพระองค์ พระบุตรของพระองค์ และเส้นทางพระกิตติคุณ จากนั้นทำตามที่พระองค์ทรงนำ เวลานี้และตลอดชีวิต อย่าลังเลหรือรีรออีกต่อไปแต่จงดำเนินต่อไปด้วยจุดประสงค์และพันธกิจของท่านในชีวิต ความเป็นมรรตัยนั้นแสนสั้น จงทำให้เวลานี้มีค่าเพื่อนิรันดรของท่านจะมีแต่ปีติ ไม่ใช่ความเสียใจ ท่านไม่รู้สึกหรือว่าพระวิญญาณทรงกำลังบอกท่านว่านี่เป็นความจริง? แล้วจงรุดหน้าต่อไปด้วยความมั่นใจ
ข้าพเจ้าสัญญาว่ารางวัลของพระเจ้าสำหรับการทุ่มเทให้ของท่านจะเป็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมีให้ “ด้วยแบบยัดสั่นแน่นพูนล้น”28 ความเป็นจริงของการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงมีเดชานุภาพทั้งปวง พระองค์สามารถทำตามสิ่งที่ทรงสัญญาไว้ และทรงทำเช่นนั้นจริง พระองค์คือชีวิต พระองค์เสด็จมาเพื่อเราจะมีชีวิตและ “ได้อย่างครบบริบูรณ์”29 ข้าพเจ้าบอกท่านในฐานะผู้ที่รู้ว่าพระเยซูคริสต์คือพระผู้ไถ่ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวสร้างความแตกต่างทุกอย่างในโลกนี้และในนิรันดร ข้าพเจ้าขอมอบพรของพระองค์และพยานของข้าพเจ้าไว้กับท่านในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน