2023
อันหนึ่งอันเดียวในพระคริสต์
พฤษภาคม 2023


13:21

อันหนึ่งอันเดียวในพระคริสต์

เฉพาะในความภักดีและผ่านความภักดีและความรักของเราต่อพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เราสามารถหวังที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

ดังที่ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์กล่าว วันนี้เป็นวันอาทิตย์ใบลาน วันเริ่มต้นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ที่จารึกการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตของพระเจ้า การทนทุกข์ในเกทเสมนีและการสิ้นพระชนม์บนกางเขนในไม่กี่วันต่อมา ตลอดจนการฟื้นคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์ในวันอาทิตย์อีสเตอร์ ขอให้เราตั้งใจมั่นว่าจะไม่ลืมสิ่งที่พระคริสต์ทรงอดทนเพื่อไถ่เรา1 ขอให้เราอย่าสูญเสียปีติอันท่วมท้นที่เราจะรู้สึกอีกครั้งในวันอีสเตอร์เมื่อเราตรึกตรองชัยชนะเหนือหลุมศพของพระองค์และของประทานแห่งการฟื้นคืนชีวิตแก่คนทั้งโลก

ยามค่ำก่อนการไต่สวนและการตรึงกางเขนที่รอพระองค์อยู่ พระเยซูทรงร่วมเสวยมื้อปัสกากับบรรดาอัครสาวก ตอนท้ายของพระกระยาหารมื้อสุดท้ายนี้ ในคำสวดวิงวอนแทนอันศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูทรงร้องทูลพระบิดาแทนเราว่า: “ข้า‍แต่พระ‍บิดาผู้‍บริ‌สุทธิ์ ขอพระ‍องค์ทรงพิ‌ทักษ์‍รักษาบรร‌ดา [อัครสาวก] ที่พระ‍องค์ประ‌ทานแก่ข้า‍พระ‍องค์ไว้โดยพระ‍นามของพระ‍องค์ เพื่อเขาจะเป็นอันหนึ่งอันเดียว‍กันเหมือนอย่างข้า‍พระ‍องค์กับพระ‍องค์”2

จากนั้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงวิงวอนด้วยความอ่อนโยนเผื่อแผ่ไปยังผู้เชื่อทุกคนว่า:

“ข้าพระองค์ไม่ได้อธิษฐานเพื่อคนเหล่านี้พวกเดียว แต่เพื่อทุกคนที่วางใจในข้าพระองค์เพราะถ้อยคำของพวกเขา

“เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย”3

การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นสาระสำคัญที่เกิดขึ้นหลายครั้งในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และในการปฏิบัติของพระผู้เป็นเจ้าต่อลูกๆ ของพระองค์ เกี่ยวกับนครไซอันในสมัยของเอโนค กล่าวกันว่า “พวกเขามีจิตใจเดียวและความคิดเดียว”4 เกี่ยวกับวิสุทธิชนยุคแรกในศาสนจักรดั้งเดิมของพระเยซูคริสต์ พันธสัญญาใหม่บันทึกว่า “คนทั้งหลายที่เชื่อนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”5

ในสมัยการประทานของเรา พระเจ้าทรงตักเตือนว่า “เรากล่าวแก่เจ้า, จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน; และหากเจ้าไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเจ้าก็มิใช่ของเรา”6 หนึ่งในเหตุผลที่พระเจ้าประทานให้ว่าทำไมวิสุทธิชนยุคแรกในมิสซูรีจึงไม่สามารถสถาปนาสถานที่แห่งไซอันได้ คือพวกเขา “ไม่พร้อมใจกันตามเอกภาพซึ่งกฎของอาณาจักรซีเลสเชียลเรียกร้อง”7

เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในหัวใจและจิตใจของทุกคน ผู้คนถูกบรรยายว่าเป็น “หนึ่งเดียว, เป็นลูกของพระคริสต์”8

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดที่ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อผู้คนในสมัยโบราณยุคพระคัมภีร์มอรมอน พระองค์ไม่พอพระทัยเมื่อทราบว่าเคยมีการโต้เถียงกันในหมู่คนเกี่ยวกับบัพติศมาและเรื่องอื่นๆ พระองค์ทรงบัญชาว่า:

“จะไม่มีการโต้เถียงในบรรดาพวกเจ้า, ดังที่เคยมีมาก่อน; ทั้งจะไม่มีการโต้เถียงในบรรดาพวกเจ้าเกี่ยวกับประเด็นของหลักคำสอนเรา, ดังที่เคยมีมาก่อน.

“เพราะตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง”9

ในโลกเราที่มีความขัดแย้งรุนแรง เราจะบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนจักรที่เราต้องมี “พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ความเชื่อเดียว บัพติศมาเดียว”?10 เปาโลให้คำเฉลย:

“เพราะว่าพวก‍ท่านทุกคนที่ได้รับบัพ‌ติศ‌มาเข้าในพระ‍คริสต์แล้ว

“จะไม่เป็นยิวหรือกรีก จะไม่เป็นทาสหรือไท จะไม่เป็นชายหรือหญิง เพราะว่าท่าน‍ทั้ง‍หลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว‍กันในพระ‍เยซู‍คริสต์”11

เราแตกต่างหลากหลายกันมากเกินไป และบางครั้งไม่ลงรอยกันมากเกินกว่าจะมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้บนพื้นฐานอื่นหรือภายใต้ชื่ออื่น เฉพาะในพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้จริง

การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระคริสต์เกิดขึ้นเป็นรายบุคคล—ต่างคนต่างเริ่มจากตนเอง เรามีการดำรงอยู่สองส่วนคือเนื้อหนังและวิญญาณ บางครั้งเราทำสงครามภายในตัวเราเอง เหมือนที่เปาโลกล่าว:

“เพราะ‍ว่าส่วน‍ลึกในใจของข้าพ‌เจ้านั้นก็ชื่น‍ชมในธรรม‍บัญญัติของพระ‍เจ้า

“แต่ข้าพ‌เจ้าเห็นมีกฎอีกอย่างหนึ่งอยู่ในอวัยวะของ [ร่างกาย] ข้าพ‌เจ้า ซึ่งต่อ‍สู้กับกฎแห่งจิต‍ใจของข้าพ‌เจ้า และชัก‍นำให้อยู่ใต้บัง‍คับกฎแห่งบาปซึ่งอยู่ในอวัยวะของข้าพ‌เจ้า”12

พระเยซูทรงเคยดำรงอยู่โดยมีเนื้อหนังและวิญญาณเช่นกัน พระองค์ทรงเคยถูกทดสอบ จึงทรงเข้าพระทัย และทรงสามารถช่วยให้เราบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวในตนเอง13 ด้วยเหตุนี้ โดยอาศัยความสว่างและพระคุณของพระคริสต์ เราจึงเพียรพยายามให้วิญญาณของเรา—และพระวิญญาณบริสุทธิ์—มีอำนาจเหนือร่างกาย เมื่อเราทำผิดพลาด พระคริสต์ได้มอบของประทานแห่งการกลับใจและโอกาสให้พยายามอีกครั้งโดยการชดใช้ของพระองค์

ถ้าเราแต่ละคน “เข้าในพระคริสต์” ด้วยกันแล้ว เราสามารถหวังที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามที่เปาโลกล่าว คือ เป็น “กายของพระคริสต์”14 การ “เข้าในพระคริสต์” รวมถึงการทำให้ “พระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก”15เป็นคำมั่นข้อสำคัญที่สุดอันดับแรกของเราด้วย และถ้าเรารักพระผู้เป็นเจ้า เราจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์16

ความเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องชายหญิงในกายของพระคริสต์เติบโตขึ้นเมื่อเราเอาใจใส่พระบัญญัติข้อสอง—ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อแรกอย่างแยกไม่ออก—คือการรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง17 และข้าพเจ้าคิดว่าความเป็นหนึ่งเดียวที่สมบูรณ์แบบกว่านั้นจะเกิดขึ้นในพวกเรา ถ้าเราทำตามวิธีที่สูงกว่าและศักดิ์สิทธิ์กว่าของพระผู้ช่วยให้รอดในการรักษาพระบัญญัติข้อสองนี้—คือไม่เพียงรักกันเหมือนที่เรารักตนเองเท่านั้น แต่เหมือนที่ พระองค์ ทรงรักเราด้วย18 สรุปคือ “มนุษย์ทุกคนหมายมั่นประโยชน์สุขของเพื่อนบ้านตน, และทำสิ่งทั้งปวงด้วยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว”19

ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์ อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวขณะอธิบายถึงวิธีได้มาซึ่งสันติสุขและความเป็นหนึ่งเดียวกันในแบบที่ยั่งยืนว่า:

“ถ้าคนคนเดียวมีแต่งานของเนื้อหนังโดยยอมอ่อนข้อให้ซาตาน เขาย่อมทำสงครามภายในตนเอง ถ้าสองคนยอม ต่างคนต่างทำสงครามภายในตนเองและต่อสู้กันเอง ถ้าหลายคนยอม สังคมย่อม [เก็บเกี่ยว] ความเครียดและความขัดแย้งมากมาย ถ้าผู้ปกครองประเทศยอม ย่อมมีความขัดแย้งไปทั่วโลก”

ประธานรอมนีย์กล่าวต่อว่า: “งานของเนื้อหนังมีผลต่อทุกคนฉันใด พระกิตติคุณแห่งสันติย่อมมีผลต่อทุกคนฉันนั้น ถ้าหนึ่งคนดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณนี้ เขาย่อมมีสันติภายในตนเอง ถ้าสองคนดำเนินชีวิตตาม ทั้งสองคนต่างมีสันติในตนเองและมีสันติต่อกัน ถ้าพลเมืองดำเนินชีวิตตาม ประเทศชาติย่อมมีสันติในชาติ เมื่อมีประเทศชาติได้รับผลของพระวิญญาณมากพอที่จะควบคุมสถานการณ์โลก เมื่อนั้นความปรารถนาจะก่อสงครามคงไม่มีอีกต่อไป และธงแห่งสงครามจะถูกม้วนเก็บไว้ … (ดู Alfred Lord Tennyson, “Locksley Hall,” The Complete Poetical Works of Tennyson, ed. W. J. Rolfe, Boston: Houghton-Mifflin Co., 1898, น. 93, บรรทัด 27–28.)”20

เมื่อเรา “เข้าในพระคริสต์” ความแตกต่าง ความไม่ลงรอย และการโต้เถียงย่อมมีข้อยุติและทิ้งไปก่อนได้ ตัวอย่างที่ค่อนข้างน่าทึ่งของการเอาชนะการแบ่งแยกมีอยู่ในประวัติศาสนจักร เอ็ลเดอร์บริกแฮม เฮนรีย์ โรเบิร์ตส์ (รู้จักกันทั่วไปว่า บี. เอช. โรเบิร์ตส์) เกิดในอังกฤษปี 1857 รับใช้เป็นสมาชิกในสภาที่หนึ่งแห่งสาวกเจ็ดสิบ—ที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบ เอ็ลเดอร์โรเบิร์ตส์เป็นคนที่สามารถปกป้องพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูและศาสนจักรในช่วงยากที่สุดบางช่วงอย่างไม่เหนื่อยหน่าย

บี. เอช. โรเบิร์ตส์วัยหนุ่ม

แต่ในปี 1895 การรับใช้ในศาสนจักรของเอ็ลเดอร์โรเบิร์ตส์อยู่ในภาวะล่อแหลมเพราะความขัดแย้ง บี. เอช. ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมที่ร่างรัฐธรรมนูญสำหรับยูทาห์ตอนที่กลายเป็นรัฐ หลังจากนั้นเขาตัดสินใจสมัครรับเลือกตั้งเข้ารัฐสภาสหรัฐโดยไม่แจ้งหรือขออนุญาตจากฝ่ายประธานสูงสุด ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดตำหนิ บี. เอช. สำหรับความล้มเหลวครั้งนั้นในการประชุมฐานะปุโรหิตสามัญ เอ็ลเดอร์โรเบิร์ตส์แพ้เลือกตั้งและรู้สึกว่าความพ่ายแพ้ของเขาส่วนใหญ่เป็นเพราะคำพูดของประธานสมิธ เขาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนจักรในบางสุนทรพจน์ทางการเมืองและบางสัมภาษณ์ เขาถอนตัวจากการรับใช้ที่มีอยู่ในศาสนจักร ในการประชุมที่ยาวนานในพระวิหารซอลท์เลคกับสมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดและสภาอัครสาวกสิบสอง บี. เอช. ยังคงยืนกรานแก้ต่างให้ตนเอง ต่อมา “ประธาน [วิลฟอร์ด] วูดรัฟฟ์ให้เวลา [เอ็ลเดอร์โรเบิร์ตส์] พิจารณาจุดยืนตนเองสามสัปดาห์ ถ้าเขายังไม่กลับใจ พวกท่านจะปลดเขาจากสาวกเจ็ดสิบ”21

ในการประชุมส่วนตัวที่ตามมากับอัครสาวกฮีเบอร์ เจ. แกรนท์และฟรานซิส ไลย์แมน ตอนแรก บี. เอช. ไม่ยอม แต่ความรักและพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มีชัยในที่สุด เขาน้ำตาคลอ อัครสาวกทั้งสองคนสามารถแก้ไขสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นการปรามาสและความบาดหมางบางอย่างที่รบกวนใจ บี. เอช. และขอร้องเขาจากใจให้กลับมาปรองดองกัน เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากสวดอ้อนวอนเป็นเวลานาน เอ็ลเดอร์โรเบิร์ตส์ส่งข้อความถึงเอ็ลเดอร์แกรนท์กับเอ็ลเดอร์ไลย์แมนว่าเขาพร้อมกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องอีกครั้ง22

ต่อมาเมื่อพบกับฝ่ายประธานสูงสุด เอ็ลเดอร์โรเบิร์ตส์พูดว่า “ผมไปหาพระเจ้าและได้รับความสว่างและการสอนผ่านพระวิญญาณให้ยอมต่อผู้มีสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า”23 โดยมีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นแรงจูงใจ บี. เอช. โรเบิร์ตส์ยังคงเป็นผู้นำที่สามารถและซื่อสัตย์ของศาสนจักรต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต24

เอ็ลเดอร์บี. เอช. โรเบิร์ตส์

เราเห็นได้ในตัวอย่างนี้เช่นกันว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ได้หมายถึงการตกลงกันว่าทุกคนควรทำสิ่งที่ตนเองต้องการหรือไปตามทางของตน เราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้เว้นแต่เราทุกคนจะหันมาทุ่มความพยายามเพื่ออุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งในคำพูดของบี. เอช. โรเบิร์ตส์ หมายถึงการยอมต่อผู้มีสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เราเป็นอวัยวะคนละส่วนในกายของพระคริสต์ ที่ทำคนละหน้าที่ในคนละช่วงเวลา—ไม่ว่าจะหู ตา ศีรษะ มือ เท้า—แต่ทุกอวัยวะเป็นของร่างกายเดียวกัน25 ด้วยเหตุนี้เป้าหมายของเราคือ “เพื่อไม่‍ให้มีการแตก‍แยกกันในร่าง‍กาย แต่ให้อวัยวะต่างๆ มีความห่วง‍ใยแบบเดียว‍กันต่อกันและกัน”26

ความเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ได้เรียกร้องความเหมือนกัน แต่เรียกร้องความสามัคคีปรองดอง เราสามารถมีใจผูกพันกันด้วยความรัก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในศรัทธาและหลักคำสอน และยังคงเชียร์ทีมที่แตกต่างกัน เห็นต่างในหลายเรื่องการเมือง ถกเถียงกันเรื่องเป้าหมายและวิธีบรรลุเป้าหมายที่ถูกต้อง และอีกหลายๆ เรื่องเช่นนั้น แต่เราจะไม่เห็นต่างหรือขัดแย้งกันด้วยความโกรธหรือหมิ่นประมาทต่อกันโดยเด็ดขาด พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า:

“เพราะตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง, และเขายั่วยุใจมนุษย์ให้ขัดแย้งด้วยความโกรธ, ต่อกัน.

“ดูเถิด, นี่ไม่ใช่หลักคำสอนของเรา, ที่จะยั่วยุใจมนุษย์ให้มีความโกรธกัน; แต่นี่เป็นหลักคำสอนของเรา, ว่าเรื่องเช่นนั้นจะหมดไป”27

หนึ่งปีก่อน ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันขอร้องเราดังนี้: “เราไม่สามารถควบคุมประชาชาติหรือการกระทำของผู้อื่น หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเราเอง แต่เราควบคุมตัวเราเองได้ ข้อเรียกร้องของข้าพเจ้าวันนี้ พี่น้องที่รัก คือให้ยุติความขัดแย้งที่กำลังลุกลามในใจ ท่าน ในบ้าน ท่าน และในชีวิต ท่าน ฝังความรู้สึกทั้งหมดที่อยากทำร้ายผู้อื่น—ไม่ว่าความรู้สึกเหล่านั้นจะเป็นอารมณ์โกรธ วาจาเชือดเฉือน หรือความเคืองแค้นต่อคนที่ทำร้ายท่าน พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้เราหันแก้มให้อีกข้าง [ดู 3 นีไฟ 12:39] รักศัตรูของเรา และสวดอ้อนวอนให้คนที่ใช้เราอย่างดูหมิ่น [ดู 3 นีไฟ 12:44]”28

ข้าพเจ้ากล่าวอีกครั้งว่าเฉพาะในความภักดีและผ่านความภักดีและความรักของเราต่อพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เราสามารถหวังที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้—อันหนึ่งอันเดียวกันภายในตนเอง ที่บ้าน ในศาสนจักร ท้ายที่สุดในไซอัน และเหนือสิ่งอื่นใด อันหนึ่งอันเดียวกันกับพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์

ข้าพเจ้าขอกลับมาที่เหตุการณ์สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์และชัยชนะสูงสุดของพระผู้ไถ่ของเรา การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์และว่าพระองค์ทรงชนะทุกสิ่ง การฟื้นคืนพระชนม์เป็นพยานว่าเราก็สามารถชนะทุกสิ่งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หากเราผูกมัดกับพระองค์โดยพันธสัญญา การฟื้นคืนพระชนม์เป็นพยานว่าโดยผ่านพระองค์ ความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์เป็นความจริง

เช้านี้ ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์จริงของพระองค์และทุกเรื่องโดยนัยนี้ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน