“บ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป,” เลียโฮนา, ต.ค. 2023.
“บ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป”
ต่อไปนี้เป็นแนวคิดสําคัญหกข้อที่พึงจดจําเมื่อเราพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ในการพยายามเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์
คําเทศนาที่ยิ่งใหญ่และน่าอัศจรรย์ใจที่สุดที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานคือพระชนม์ชีพที่ปราศจากบาปของพระองค์—คําเทศนาแห่งพระชนม์ชีพ พร้อมพระดำรัสเชิญที่สร้างแรงบันดาลใจนี้: “เจ้าควรเป็นคนอย่างไรเล่า? ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, แม้ดังที่เราเป็น” (3 นีไฟ 27:27)
“เจ้าต้องบ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:33)
คุณธรรมคือ “ความสุจริตและความดีเลิศทางศีลธรรม”1 การบ่มเพาะคุณธรรมเสมอไปเรียกร้องความพยายามอย่างต่อเนื่องพร้อมด้วยรายการที่ต้องทําซึ่งได้รับการดลใจ คํากริยา เป็น และ ทํา เป็นหลักคําสอนคู่กัน เป็น โดยไม่ ทํา—เหมือนศรัทธาที่ไร้การปฏิบัติหรือจิตกุศลโดยไม่ปฏิบัติศาสนกิจ—“ก็เป็นสิ่งที่ตายแล้ว” (ยากอบ 2:17) ในทํานองเดียวกัน ทํา โดยไม่ เป็น คนที่ “ให้เกียรติเราแต่ปากใจของพวกเขาห่างไกลจากเรา” (มาระโก 7:6) พระผู้ช่วยให้รอดทรงกล่าวโทษว่า ทํา โดยไม่ เป็น คือคนหน้าซื่อใจคด (ดู มัทธิว 23:23; มาระโก 7:6)
บ่อยครั้งผู้คนต้องทํารายการที่ต้องทําและทําเครื่องหมายให้ตนเองหลังจากทําอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จสมบูรณ์ แต่ท่านไม่สามารถมีเครื่องหมาย เป็น ได้ ตัวอย่างเช่น ท่านจะทําเครื่องหมายว่าการเป็นบิดามารดาเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อใด? ท่านไม่มีวันเสร็จสิ้น การเป็น มารดาหรือบิดา ซึ่งเป็นความพยายามชั่วชีวิต
เราบ่มเพาะ คุณธรรม แต่ละอย่าง (เป็น) ผ่านรายการที่ต้องทําซึ่งได้รับการดลใจจากการกระทําที่สอดคล้องกัน ถ้าฉันต้องการมีความรักมากขึ้น วันนี้ฉันจะปฏิบัติศาสนกิจอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ฉันมีความรักมากขึ้น? ถ้าฉันต้องการมีความอดทนมากขึ้น วันนี้ฉันจะทําอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุง?
เมื่อเราอยู่ตรงทางแยกของศีลธรรมในชีวิต เรามักจะถามตนเองว่า พระเยซูจะทรงทําอย่างไร? เมื่อเราทําสิ่งที่พระองค์จะทรงทํา เรากําลังบ่มเพาะคุณธรรมและ กำลังเป็น เหมือนพระองค์ ถ้าเราไป “ทําคุณประโยชน์” (กิจการของอัครทูต 10:38) ดังที่พระองค์ทรงทํา เราเติบโตในความรักและความเห็นอกเห็นใจ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติวิสัยของเรา
ผลกระทบของหิ่งห้อย
ความน่าอัศจรรย์ของหิ่งห้อยมักเห็นได้เฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น สิ่งอัศจรรย์เล็กๆ น้อยๆ ของธรรมชาตินี้ไม่มีใครมองเห็นได้ในเวลากลางวัน และต้องมีฉากหลังสีเข้มเพื่อให้มองเห็นแสงไฟของหิ่งห้อย เป็นสิ่งตรงกันข้ามที่เผยให้เห็นแสงของมัน
หิ่งห้อยและดวงดาวเป็นตัวอย่างตามธรรมชาติว่าจำเป็นต้องมีความมืดเพื่อจะเห็นแสงสว่างที่ซ่อนอยู่ในมุมมองที่มองเห็นได้ง่าย เพราะความสว่างของพระคริสต์มีอยู่ตลอดเวลา สมาชิกของศาสนจักรหลายคนจึงไม่รับรู้ถึงการสำแดงเดชานุภาพรายวันที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา บ่มเพาะคุณธรรม
ประจักษ์พยานเกี่ยวกับคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ส่วนใหญ่ได้มาจากการเปรียบเทียบกับสิ่งตรงกันข้าม หรือ “ลิ้มรสความขมขื่น, เพื่อ [เรา] จะรู้จักให้คุณค่าแก่ความดี” (โมเสส 6:55) ถ้าอาดัมกับเอวาไม่ตก พวกเขาจะ “ไม่มีปีติ, เพราะพวกเขาไม่รู้จักความเศร้าหมอง” (2 นีไฟ 2:23) ประธานบริคัม ยังก์สอนว่า “ข้อเท็จจริงทุกประการได้รับการพิสูจน์และแสดงให้ประจักษ์โดยสิ่งตรงกันข้าม”2
เด็กเรียนรู้โดยเปรียบเทียบกับสิ่งตรงกันข้าม: ใช่/ไม่ใช่, ขึ้น/ลง, เหนือ/ใต้, ใหญ่/เล็ก, ร้อน/เย็น, เร็ว/ช้า, และอื่นๆ การเปรียบเทียบทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น ในทํานองเดียวกัน การเข้าใจคุณธรรมเรียกร้องให้ศึกษาสิ่งตรงกันข้าม
ตัวอย่างเช่น เราทุกคนต้องการ มี สุขภาพดีแต่ความสํานึกคุณต่อสุขภาพและความปรารถนาจะดูแลสุขภาพมักเกิดขึ้นหลังจากคนๆ หนึ่งทนทุกข์กับสิ่งตรงกันข้ามของสุขภาพที่ดี เช่น ความเจ็บป่วย โรคภัย การบาดเจ็บ แม้แต่พระผู้ช่วยให้รอดก็ทรง “เรียนรู้ที่จะเชื่อฟังโดยการทนทุกข์ต่างๆ” (ฮีบรู 5:8)
บางครั้งคุณธรรมอธิบายได้ดีที่สุดในแง่ของสิ่งตรงกันข้ามเช่น “ปราศจากความหน้าซื่อใจคด” และ “ปราศจากมารยา” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:42) “ไม่ขุ่นเคืองง่าย” (โมโรไน 7:45) เป็นต้น
การบ่มเพาะคุณธรรมไม่เพียงเป็นความพยายามชั่วชีวิตในการพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เท่านั้น แต่ยังเป็นความพยายามในการ “[ปฏิเสธตนเองจาก] ความอธรรมและโลกียตัณหา” ด้วย (ทิตัส 2:12; ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 16:26 ด้วย; โมโรไน 10:32) เมื่อเราพยายามพัฒนาคุณธรรมเหมือนพระคริสต์ คุณธรรมจะเติบโตเมื่อเราขจัดสิ่งตรงกันข้าม: เรา “ทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชน” เมื่อเรา “[กลายเป็น] วิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์” (โมไซยาห์ 3:19)
การประยุกต์ใช้ผลกระทบของหิ่งห้อยกับตัวอย่างคุณลักษณะเผยให้เห็นความจริง พลัง และ ประจักษ์พยาน ของแต่ละคุณลักษณะ:
-
รักตรงข้ามกับเกลียดชัง เป็นศัตรู ไม่เป็นมิตร
-
ความซื่อสัตย์ตรงข้ามกับความไม่ซื่อสัตย์ หลอกลวง หน้าซื่อใจคด
-
การให้อภัยตรงข้ามกับการแก้แค้น ขุ่นเคือง ขมขื่น
-
ใจดีตรงข้ามกับใจร้าย โกรธ โหดร้าย
-
อดทนตรงข้ามกับอารมณ์ร้อน หัวร้อน ไม่อดกลั้น
-
อ่อนน้อมตรงข้ามกับหยิ่งยโส อวดดี จองหอง
-
ผู้สร้างสันติตรงข้ามกับชอบทะเลาะวิวาท แบ่งแยก ยุแหย่
การเปรียบเทียบช่วยให้เราเห็นความเข้มแข็งของประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับคุณธรรมแต่ละข้อและประสบการณ์ทางวิญญาณที่เรามีในแต่ละวันด้วยมโนธรรมของเรา การเปรียบเทียบดังกล่าวเผยให้เห็นความสว่างของพระคริสต์ในมุมมองที่เรามองเห็นได้ง่าย
คุณธรรม ทุก ข้อที่มากไปจะกลายเป็นจุดอ่อน
ความอยากจะเสื่อมโทรมเมื่อมากไปและต้อง “[ควบคุม] ด้วยการพิจารณา, มิให้มากไป” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 59:20) ความลุ่มหลงจะกลายเป็นการบีบบังคับ ฉะนั้น “[จง] หักห้ามความลุ่มหลงทั้งปวงของลูก” (แอลมา 38:12) ความปรารถนาจะกลายเป็นเรื่องเร้าใจและน่าคลั่งไคล้ ดังนั้น “[จง] ยับยั้งตนในทุกสิ่ง” (1 โครินธ์ 9:25; แอลมา 7:23; 38:10; หลักคําสอนและพันธสัญญา 12:8)
เพื่ออธิบายเพิ่มเติม ต่อไปนี้เป็นคุณธรรมบางข้อที่นําไปสู่ความสุดโต่ง:
-
ความองอาจที่มากไปจะกลายเป็นการวางเขื่อง (ดู แอลมา 38:12)
-
ความขยันหมั่นเพียรจะกลายเป็นความเหนื่อยหน่ายหรือการวิ่งไปเร็วเกินกําลังของท่าน (ดู โมไซยาห์ 4:27)
-
ความซื่อสัตย์ที่มากไปจะกลายเป็นความโง่เง่าและไร้ไหวพริบ สิ่งนี้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับเด็กได้ แต่ไม่ใช่กับผู้ใหญ่ที่ขาดคุณธรรมของการมีน้ำใจ เมตตา และเห็นอกเห็นใจ
-
ความประหยัดที่มากไปจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว ตระหนี่ โลภ
-
ความอดกลั้นที่มากไปจะกลายเป็นความยินยอม หละหลวม ปล่อยให้ทำไป
-
ความรักที่มากไปจะกลายเป็นการผ่อนปรน ดื้อรั้น ไม่ให้อิสระ และใจง่าย
คุณธรรมทุกข้อต้องมีคุณธรรมหรือคุณธรรมเสริม การตรวจสอบและความสมดุลจากเบื้องบนเพื่อไม่ให้มากไป ตาชั่งแห่งความยุติธรรมเป็นสัญลักษณ์ของความสมดุลระหว่างความยุติธรรมกับความเมตตาฉันใด คุณธรรมทั้งปวงต้องมีดุลยภาพอันชาญฉลาดพร้อมกับคุณธรรมที่เสริมกันฉันนั้น
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) แบ่งปันข้อคิดนี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด “ในชีวิตท่าน ท่านดําเนินชีวิตด้วยคุณธรรมทั้งปวงและรักษาให้สมดุลอย่างสมบูรณ์”3
เมื่อผู้คนรู้สึกว่าชีวิตตนขาดความสมดุลหรือมีพฤติกรรมคลั่งไคล้หรือสุดโต่ง คงจะดีถ้าพิจารณาว่าคุณธรรมใดที่ขาดหายไปและจําเป็นต่อการฟื้นฟูความสมดุลในชีวิต ไม่เช่นนั้นคุณธรรมอาจเสื่อมลงและความเข้มแข็ง “จะกลายเป็นความหายนะของเราได้” ดังที่ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนไว้4
คุณธรรมโดยปราศจากคุณธรรมเสริมกันคือความจริงเพียงครึ่งเดียว
ความจริงเพียงครึ่งเดียวชักนําให้เข้าใจผิดเพราะเป็นความจริงเพียงบางส่วนหรืออาจเป็นจริงทั้งหมดแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจริงทั้งหมด ตัวอย่างบางข้อของความจริงเพียงครึ่งเดียวกับคุณธรรม:
-
สิทธิ์เสรีที่ปราศจากความรับผิดชอบ คือสิ่งที่คอริฮอร์สอน: “ว่ามนุษย์ทุกคนมีชัยชนะตามกําลังของตน; และอะไรก็ตามที่มนุษย์ทําไปย่อมไม่เป็นความผิด” (แอลมา 30:17)
-
ศรัทธาที่ปราศจากงาน และ ความเมตตาที่ปราศจากความยุติธรรม เป็นแบบอย่างของสิ่งที่นีฮอร์สอน: “ว่ามนุษยชาติทั้งปวงจะได้รับการช่วยให้รอด … ; เพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทั้งปวง, และทรงไถ่คนทั้งปวงด้วย; และในที่สุดมนุษย์ทั้งปวงจะมีชีวิตนิรันดร์” (แอลมา 1:4)
-
ความยุติธรรมที่ปราศจากความเมตตา บรรยายไว้ในผลงานชิ้นเอกของวิกตอร์ อูว์โก เล มีเซราบล์ ในตัวละครชื่อชาแวร์ ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมก็ต่อเมื่อได้รับการกลั่นกรองด้วยความเมตตา มิฉะนั้นจะกลายเป็นความอยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้าม
-
ความรักและความเมตตาที่ปราศจากการพึ่งพาตนเอง มีให้เห็นในชีวิตของเฮเลน เคลเลอร์5 บิดามารดาของเธอมีความคาดหวังเพียงน้อยนิดจากลูกสาวที่ตาบอดและหูหนวก แอนน์ ซัลลิแวนครูสอนคนตาบอดและคนหูหนวกผู้แนะนําคุณธรรมเสริมของการพึ่งพาตนเองและช่วยให้เฮเลนเพิ่มพูนศักยภาพที่แท้จริงของเธอ
-
ความอดกลั้นที่ปราศจากความจริง และ ความรักที่ปราศจากกฎ ลดคุณค่า ประนีประนอม ทําให้มาตรฐานของพระเจ้าเสื่อมลงและส่งผลให้เกิดการละทิ้งความเชื่อโดยการหลอกลวงตนเอง (ดู 4 นีไฟ 1:27)
-
ในทางตรงกันข้าม กฎที่ปราศจากความรัก และ ความจริงที่ปราศจากความอดกลั้น เป็นแบบอย่างที่ชัดเจนจากพวกฟาริสีและส่งผลให้เกิดการละทิ้งความเชื่อเนื่องด้วยความจองหอง
-
การเป็นคนชอบธรรมโดยไม่กีดกัน (ดู ลูกา 15:1–7) จะนําไปสู่การยกยอความชอบธรรมของตนเอง อคติ และความหน้าซื่อใจคด
-
ศรัทธาและความหวังที่ปราศจากความอดทน (พระเจ้า “ย่อมประทานพรให้ท่านโดยทันที” [โมไซยาห์ 2:24] ทว่า “พระองค์ทรงทดลองความอดทนของพวกเขา” [โมไซยาห์ 23:21]) จะนําไปสู่ความสงสัยตนเองและการสูญเสียศรัทธาได้
คุณธรรมทุกอย่างเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวเว้นแต่จะถูกหักล้างด้วยคุณธรรมเสริมกันซึ่งจําเป็นต่อการเกื้อหนุนหลักคําสอน
พลังและความสำคัญของ และ
ในฐานะ “บิดาแห่งความขัดแย้ง” (3 นีไฟ 11:29) ซาตานใช้เล่ห์เพทุบายยั่วยุให้โกรธโดยทำให้คุณธรรมขัดแย้งกันด้วยความคิดแบบ “ตรงข้ามกับ” เช่น ความยุติธรรมตรงข้ามกับความเมตตา แต่พระเจ้าทรง “ให้คำปรึกษา … ด้วยความยุติธรรม, และ ด้วยพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้” (เจคอบ 4:10; เน้นตัวเอน) คุณธรรมสองข้อนี้ไม่ใช่สิ่งตรงกันข้ามแต่เสริมกัน เพื่อให้ได้ ความสมดุลที่สมบูรณ์ หลักคําสอนจึงถูกต้องและฉลาดกว่าที่จะกล่าวว่า:
-
ความยุติธรรม และ ความเมตตา (ตรงข้ามกับความยุติธรรมกับความอยุติธรรม)
-
สิทธิ์เสรี และ ความรับผิดชอบ
-
ศรัทธา และ งาน
-
การรักษาพันธสัญญา/ทางศาสนา (ภายนอก) และ การเป็นสานุศิษย์/ทางวิญญาณ (ภายใน)
-
ความเหมือนกัน และ ความยืดหยุ่น
-
ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และ ความหลากหลาย
-
ตัวบทกฎหมาย และ เจตนารมณ์ของกฎหมาย
-
ความคารวะ/ความเคร่งขรึม และ ปีติ/การเข้าสังคม
-
ความองอาจ และ ความอ่อนโยน
-
ความกล้าหาญ และ ดุลพินิจ
-
วินัย และ ความรักความเมตตา
-
ความยุติธรรมสําหรับคนทั้งปวง และ การไม่ประนีประนอม
-
ความสุภาพอ่อนน้อม และ ความหนักแน่น
-
“จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง” (มัทธิว 5:16) และ ไม่ “แสวงหาเกียรติจากมนุษย์” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:35)
-
และอื่นๆ
จิตกุศล—คุณธรรมสากล
หัวใจของพระบัญญัติข้อสําคัญสองข้อ—รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของเรา—เป็นคุณธรรมแห่งจิตกุศล พระเยซูตรัสว่า “ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” (มัทธิว 22:40) เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ (1862–1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเรียกจิตกุศลว่า “พระบัญญัติข้อใหญ่และข้อต้นและครอบคลุมทุกสิ่ง” และตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพระบัญญัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด “บนพื้นฐานของความจริงอันเรียบง่ายทางคณิตศาสตร์ว่าทั้งหมดยิ่งใหญ่กว่าส่วนใด”6
“ทั้งพระบัญญัติอื่นๆ ก็รวมอยู่ในข้อนี้คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ความรักไม่ทำอันตรายต่อเพื่อนบ้านเลย เพราะฉะนั้นความรักจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ธรรมบัญญัติสำเร็จอย่างครบถ้วน” (โรม 13:9–10) ความรักคือคุณธรรมที่ผลักดันมนุษยชาติจากกฎของโมเสสไปสู่กฎของพระกิตติคุณ
เพราะลักษณะทั่วไปของจิตกุศลที่ครอบคลุมคุณธรรมอื่นทั้งหมดจึงอาจกล่าวได้ว่าคุณธรรมเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบของจิตกุศล เพราะจิตกุศล “อดทนนาน” “มีใจปรานี” “ไม่อิจฉา” และ “ไม่หยิ่งผยอง” (ดู 1 โครินธ์ 13:4–8; โมโรไน 7:45)
พิจารณาตัวอย่างนี้: เมื่อมารดาให้ช้อนกับลูกน้อยของเธอ นี่เป็นกรณีศึกษาที่ลึกซึ้งเรื่องจิตกุศลหรือความรักเหมือนพระคริสต์ ลองนึกถึงคุณธรรมมากมายในสถานการณ์สมมตินี้: ความไว้วางใจ ความรัก ความหวัง การพึ่งพาตนเอง ความอดกลั้น (สำหรับความยุ่งเหยิงและการต่อต้าน) ความสุภาพอ่อนน้อม ความเมตตา ความอดทน ความสงบ ความหนักแน่น การโน้มน้าวใจ และอื่นๆ มารดา “ไม่ขุ่นเคืองง่าย, … ทนทุกสิ่ง, เชื่อทุกสิ่ง, หวังทุกสิ่ง, อดทนทุกสิ่ง ความรัก [ของเธอ] ไม่มีวันเสื่อมสูญ” (1 โครินธ์ 13:5, 7–8)
เราสํานึกคุณอย่างยิ่งต่อพระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงรักเรา ผู้ทรงมีจิตกุศลที่อดทนและอดกลั้นกับความยุ่งเหยิงที่เราทำในชีวิต!
ดังนั้น น่าแปลกใจหรือไม่ว่าเหตุใดพระคัมภีร์จึงระบุว่าจิตกุศลเป็น “ใหญ่ที่สุด” (1 โครินธ์ 13:13; โมโรไน 7:46) เป็น “ที่ยิ่งใหญ่กว่า” (1 โครินธ์ 12:31) และ “เหนือสิ่งอื่นใด” (1 เปโตร 4:8) โดยแท้แล้ว คําเชื้อเชิญให้ “สวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจ, เพื่อท่านจะเปี่ยมด้วยความรักนี้” (โมโรไน 7:48) เป็นคําเชื้อเชิญให้สวดอ้อนวอนขอคุณธรรมทั้งปวงและพยายามให้มี ความสมดุลที่สมบูรณ์ ในบรรดาคุณธรรมเหล่านี้ ถ้าปราศจากความสมดุล แม้จิตกุศลก็สามารถทําให้สุดโต่งได้ เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่มีความรักแต่ยินยอมพร้อมใจของเฮเลน เคลเลอร์
คุณธรรมเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณ
ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา บทที่ 6 “ฉันจะพัฒนาคุณลักษณะเหมือนอย่างพระคริสต์อย่างไร?” ผู้สอนศาสนาเรียนรู้ว่า “คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า เกิดขึ้นเมื่อท่านใช้สิทธิ์เสรีอย่างชอบธรรม ทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงอวยพรท่านด้วยคุณลักษณะเหล่านี้เพราะท่านจะพัฒนาไม่ได้หากปราศจากความช่วยเหลือของพระองค์”7
การบ่มเพาะคุณธรรมให้สำเร็จต้องสร้างสมดุลระหว่างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การสวดอ้อนวอน และ “ทําสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอํานาจของเราอย่างรื่นเริง” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 123:17)
โมโรไนสอนเราว่าความหวังของเราในการเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มีศูนย์กลางอยู่ในพระองค์: “จงมาหาพระคริสต์, และได้รับการทําให้ดีพร้อมในพระองค์, และปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง; และหากท่านจะ … รักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกําลังของท่าน, เมื่อนั้นพระคุณของพระองค์จึงเพียงพอสําหรับท่าน, เพื่อโดยพระคุณของพระองค์ท่านจะดีพร้อมในพระคริสต์” (โมโรไน 10:32)
ขอให้ คําเทศนาแห่งพระชนม์ชีพ ของพระเจ้าเป็นการสวดอ้อนวอนและภารกิจของเรา เมื่อเรา “บ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:33; เน้นตัวเอน) “คุณธรรม [จะ] ประดับความนึกคิด [ของเรา] ไม่เสื่อมคลาย; เมื่อนั้นความมั่นใจของท่านจะแข็งแกร่งขึ้นในการประทับอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า; และหลักคําสอนแห่งฐานะปุโรหิตจะกลั่นลงมาบนจิตวิญญาณท่านดังหยาดน้ำค้างจากฟ้าสวรรค์” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:45; เน้นตัวเอน)