2023
จงรักกันและกัน: พันธสัญญาใหม่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว
ตุลาคม 2023


พันธสัญญาใหม่ในบริบท

จงรักกันและกัน: พันธสัญญาใหม่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว

การเข้าใจครัวเรือนในพันธสัญญาใหม่สามารถช่วยเราเสริมสร้าง “ครัวเรือนของพระผู้เป็นเจ้า” ในปัจจุบัน

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทรงสอน

Hear Ye Him, โดย ไซมอน ดิวอีย์

ครอบครัวเป็นฉากหลังสําคัญของพันธสัญญาใหม่ การนมัสการแบบชาวคริสต์เกิดขึ้นในครัวเรือน (กรีก oikos or oikia “บ้าน” หรือ “ครัวเรือน” หมายถึงทั้งโครงสร้างทางกายภาพและผู้อาศัยอยู่ในนั้น)1 ชาวคริสต์ใช้จินตภาพครอบครัวและคําศัพท์เฉพาะทางเพื่อพูดถึงตนเอง—ผู้เชื่อคือ “พี่น้องชาย” และ “พี่น้องหญิง” และศาสนจักรเป็นครัวเรือนของพระผู้เป็นเจ้า (oikos theou) หรือครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 1 ทิโมธี 3:15; 5:1–2)

กิจกรรมมากมายของศาสนจักรยุคแรกและคําสอนของพันธสัญญาใหม่มีศูนย์รวมอยู่ที่ครัวเรือน การเข้าใจชีวิตครอบครัวในพันธสัญญาใหม่สามารถช่วยเราเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละบุคคล คู่สามีภรรยา และครอบครัว และส่งเสริมการรวมกลุ่มสมาชิกที่หลากหลายทั้งหมดใน “ครัวเรือนของพระผู้เป็นเจ้า” ในยุคสุดท้าย

ครัวเรือนในพันธสัญญาใหม่

โดยปกติครัวเรือนในเมดิเตอร์เรเนียนสมัยโบราณไม่เพียงประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเท่านั้นแต่มีเครือญาติด้วย เช่น ลูกพี่ลูกน้อง ญาติผู้ใหญ่ หรือพี่น้องผู้ใหญ่ของพ่อแม่และคู่สมรสของพวกเขาด้วย ครอบครัวในหมู่บ้านกาลิลีมีญาติเหล่านี้อยู่ด้วยกันและทํางานด้วยกัน (ดู มาระโก 10:29) ครัวเรือนที่ร่ำรวยทั่วโลกโรมันจะรวมผู้พึ่งพาอาศัยคนอื่นๆ ด้วย เช่น ลูกจ้าง ทาส ทาสอิสระ และลูกค้า

การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ครัวเรือนทั่วไปของชาวคริสต์

หนังสือพันธสัญญาใหม่หลายบทมีคําแนะนําให้กับสมาชิกในครัวเรือนชาวคริสต์ยุคแรก (ดู โคโลสี 3:18–4:1, 1 เปโตร 2:13–3:12; เอเฟซัส 5:21–6:9; 1 ทิโมธี 2:8–15; 5:1–22; 6:1–10; ทิตัส 2:1–10) “กฎเกณฑ์ครัวเรือน” เหล่านี้ ตามที่นักวิชาการเรียก จะคล้ายกับข้อความในวรรณกรรมกรีกและเฮลเลนิสติคยิวที่ส่งเสริมเสถียรภาพทางสังคมโดยยกย่องบ้านที่มีระเบียบและบริหารจัดการดีซึ่งสมาชิกครอบครัวทำบทบาทตามที่วัฒนธรรมกำหนดในความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อกัน

ข้อพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่เหล่านี้สอนคุณค่าตามประเพณีในสมัยที่เชิดชูโครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่เดิม ตามคําแนะนําให้อยู่ใต้อาณัติของผู้ปกครอง หลีกเลี่ยงการโต้เถียง และมีมารยาทต่อทุกคน (ดู 1 เปโตร 2:17; 1 ทิโมธี 2:1–2; ทิตัส 3:1–2)

อย่างไรก็ดี กฎเกณฑ์ครัวเรือนในพันธสัญญาใหม่ให้การปรับเปลี่ยนที่สําคัญบางอย่างเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กฎเกณฑ์เน้นความเคารพกันและปรับความสัมพันธ์ใหม่ให้รวมพระผู้เป็นเจ้าไว้ด้วย:

  • บุตรธิดาต้องเชื่อฟังบิดามารดาของพวกเขาในพระเจ้า (ดู เอเฟซัส 6:1–3; โคโลสี 3:20)

  • บิดาต้องไม่ยั่วยุบุตรของตนให้โกรธเคือง แต่อบรมสั่งสอนบุตรธิดาให้มีวินัยและทำตามคําแนะนําจากพระเจ้า (ดู เอเฟซัส 6:4; โคโลสี 3:21)

  • สามีต้องไม่ปฏิบัติต่อภรรยาด้วยความรุนแรงแต่เกรงใจเธอ ให้เกียรติเธอ และรักเธอดังที่พระคริสต์ทรงรักศาสนจักรและสละพระองค์เองเพื่อศาสนจักร (ดู เอเฟซัส 5:25–33; โคโลสี 3:19; 1 เปโตร 3:7)

  • คําแนะนําใน เอเฟซัส 5:22 ให้ภรรยายอมเชื่อฟังสามีของตนเหมือนยอมเชื่อฟังพระเจ้าปรากฏหลังจากข้อความเกริ่นนำใน เอเฟซัส 5:21 ว่าสมาชิก ทุกคน ในครัวเรือน—สามีและภรรยาก็เหมือนกัน—ควร “ยอมเชื่อฟังกันและกันเนื่องด้วยความยำเกรงพระคริสต์” (เอเฟซัส 5:21, ฉบับมาตรฐานที่แก้ไขใหม่)2 ดังที่เปาโลแนะนํา “จงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัวด้วยใจถ่อม” (ฟีลิปปี 2:3 ฉบับมาตรฐานที่แก้ไขใหม่)

เราเห็นการปรับเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่งของชาวคริสต์ในวิธีกล่าวถึงคนในปกครองของแต่ละคู่ก่อน—ภรรยา บุตรธิดา และทาส3—ว่า “เป็นผู้มีศักดิ์ศรีตามสิทธิ์ของตน” โดยแสดงให้เห็นว่าพวกเขา “มีบทบาทสําคัญเช่นกัน”4

คําแนะนําสำหรับภรรยาใน 1 เปโตร 3:1–6 สวนทางกับธรรมเนียมโบราณที่ว่าภรรยาควรเกรงกลัวสามีและยอมนมัสการพระเจ้าของเขา ในทางกลับกันศรัทธาของสตรีที่เชื่ออาจจะชนะสามีที่ไม่เชื่อของเธอก็ได้

แม้ว่าครัวเรือนในสมัยโบราณจะมีการปกครองแบบปิตาธิปไตยและมีลำดับชั้นตามประเพณีในสมัยนั้น แต่การปรับเปลี่ยนเหล่านี้ส่งเสริมให้ครัวเรือนชาวคริสต์มีความเท่าเทียมและความเคารพมากขึ้นต่อแต่ละบุคคลที่เตือนให้พวกเขา “รักกันและกัน” (ยอห์น 13:34) ดังพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือน

มองไปที่พระเยซูคริสต์

คําแนะนําในพันธสัญญาใหม่สำหรับครอบครัวสอนหลักธรรมที่เป็นพรแก่ทุกครอบครัวหรือทุกคนบุคคลใดที่พยายามเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ในโลกสมัยใหม่ บทเรียนหลักสมัยนั้นและสมัยนี้คือมองไปที่พระเยซูคริสต์และทําตามแบบอย่างการรับใช้ด้วยความเอื้อเฟื้อและไม่คำนึงถึงตนเองของพระองค์ในความสัมพันธ์ทั้งหมดของเรา (ดู ฟีลิปปี 2:3–11) ดังที่เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ.อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเตือนเราว่า “ความรักเป็นคุณสมบัติสำคัญของสานุศิษย์พระคริสต์”5

อ้างอิง

  1. บทความนี้ดึงมาจากMark D. Ellison, “Family, Marriage, and Celibacy in the New Testament” ใน New Testament History, Culture, and Society: A Background to the Texts of the New Testament, ed. Lincoln Blumell (2019), 532–554.

  2. คํากริยาที่แปลว่า “ยอมเชื่อฟัง” หรือ “อาณัติ” ไม่ปรากฏใน ข้อ 22 แต่ยืมมาจาก ข้อ 21 ความหมายของสองข้อนี้คือ “[21] ยอมเชื่อฟังกันและกัน [ 22] ภรรยาจงยอมเชื่อฟังสามีของตน” และอื่นๆ ทั่วครัวเรือน พร้อมด้วยคําแนะนําระบุวิธีให้สมาชิกแต่ละคนแสดงให้ประจักษ์ว่าตนยอมเชื่อฟัง กัน

  3. การเป็นทาสเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปในสังคมสมัยโบราณและไม่ได้เกี่ยวกับเชื้อชาติหรือสัญชาติ ในจักรวรรดิโรมันช่วงสมัยพันธสัญญาใหม่ หลายครัวเรือนมีทาส รวมถึงครัวเรือนชาวคริสต์ การเป็นทาสไม่ได้เป็นตลอดชีวิตเสมอไป ในสมัยการประทานของเรา พระเจ้าทรงประกาศว่า “ไม่ถูกต้องที่มนุษย์คนใดจะอยู่ในความเป็นทาสแก่กัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:79)

  4. Carolyn Osiek, “Family Matters,” in Christian Origins: A People’s History of Christianity, vol. 1, ed. Richard A. Horsley (2005), 216.

  5. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ความรักของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 27; ดู ยอห์น 13:35 ด้วย.

พิมพ์