พลังเยียวยาของพระผู้ช่วยให้รอดบนเกาะในทะเล
โดยผ่านพรพระวิหาร พระผู้ช่วยให้รอดทรงเยียวยาบุคคล ครอบครัว และประชาชาติ
ในทศวรรษ 1960 คุณพ่อข้าพเจ้าสอนที่วิทยาลัยของศาสนจักรในฮาวายเมืองลาอีเอ ซึ่งข้าพเจ้าเกิดที่นั่น พี่สาวทั้งเจ็ดของข้าพเจ้ายืนกรานให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งชื่อข้าพเจ้าว่า “คิโม” ซึ่งเป็นชื่อภาษาฮาวาย เราอาศัยอยู่ใกล้พระวิหารลาอีเอ ฮาวาย สมัยที่พระวิหารรับใช้สมาชิกส่วนใหญ่ของศาสนจักรในภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งญี่ปุ่น1 เวลานั้นวิสุทธิชนชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเริ่มมาฮาวายเพื่อรับพรของพระวิหาร
หนึ่งในสมาชิกเหล่านี้คือซิสเตอร์ท่านหนึ่งจากเกาะโอะกินะวะอันสวยงาม เรื่องราวการเดินทางของเธอมาพระวิหารฮาวายนั้นพิเศษมาก สองทศวรรษก่อนหน้า เธอแต่งงานในการแต่งงานแบบคลุมถุงชนของชาวพุทธ ไม่กี่เดือนต่อมา ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฮาวาย ส่งผลให้สหรัฐเข้าสู่ความขัดแย้งกับญี่ปุ่น หลังจากการสู้รบเช่นที่มิดเวย์และอิโวะจิมะ กระแสสงครามได้ผลักดันกองกำลังญี่ปุ่นให้กลับไปชายฝั่งของเกาะโอะกินะวะบ้านเกิดของเธอ ซึ่งเป็นแนวป้องกันสุดท้ายที่ยืนหยัดต่อสู้กับกองกำลังพันธมิตรก่อนถึงดินแดนส่วนกลางของญี่ปุ่น
ยุทธการโอะกินะวะดุเดือดทรมานเป็นเวลาสามเดือนในปี 1945 กองเรือรบอเมริกัน 1,300 ลำปิดล้อมและทิ้งระเบิดบนเกาะ ทหารและพลเรือนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน อนุสรณ์สถานในโอะกินะวะมีรายชื่อผู้เสียชีวิตในสงครามมากกว่า 240,000 ราย2
ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อหลบหนีการโจมตี ผู้หญิงชาวโอะกินะวะคนนี้ สามีเธอ กับลูกเล็กๆ สองคนจึงหาที่หลบภัยในถ้ำภูเขา พวกเขาอดทนต่อความทุกข์ยากแสนเข็ญหลายสัปดาห์และหลายเดือนหลังจากนั้น
คืนหนึ่งอันสิ้นหวังท่ามกลางการสู้รบ ครอบครัวเธอใกล้อดตายและสามีก็หมดสติ เธอคิดจะยุติความทุกข์ทรมานของพวกเขาด้วยระเบิดมือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มอบให้เธอและคนอื่นไว้เพื่อจุดประสงค์นั้น แต่ขณะเตรียมทำเช่นนั้น ประสบการณ์ทางวิญญาณอันลึกซึ้งค่อยๆ เกิดขึ้นจนทำให้เธอรู้สึกชัดเจนถึงการดำรงอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้าและความรักที่ทรงมีต่อเธอ ซึ่งทำให้เธอมีพลังอยู่ต่อ ในวันต่อๆ มา เธอทำให้สามีฟื้นและเลี้ยงครอบครัวด้วยวัชพืช น้ำผึ้งจากผึ้งป่า และสัตว์ที่จับได้ในลำธารแถวนั้น น่าทึ่งที่พวกเขาอดทนอยู่ในถ้ำถึงหกเดือน จนกระทั่งชาวบ้านแจ้งพวกเขาว่าการสู้รบสิ้นสุดแล้ว
เมื่อครอบครัวนี้กลับบ้านและเริ่มสร้างชีวิตใหม่ หญิงชาวญี่ปุ่นคนนี้เริ่มค้นหาคำตอบเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เธอค่อยๆ จุดประกายความเชื่อในพระเยซูคริสต์และต้องการรับบัพติศมา แต่เธอเป็นห่วงคนที่เธอรักซึ่งเสียชีวิตไปโดยไม่มีความรู้เรื่องพระเยซูคริสต์และไม่ได้รับบัพติศมา รวมถึงคุณแม่ที่เสียชีวิตตอนคลอดเธอด้วย
ลองจินตนาการปีติของเธอเมื่อซิสเตอร์ผู้สอนศาสนาสองคนจากศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมาที่บ้านของเธอวันหนึ่ง และสอนเธอว่าผู้คนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในโลกวิญญาณ เธอประทับใจคำสอนที่ว่าพ่อแม่เธอสามารถเลือกติดตามพระเยซูคริสต์หลังความตายและยอมรับพิธีบัพติศมาที่ทำแทนพวกเขาในสถานศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าพระวิหาร เธอและครอบครัวเปลี่ยนใจมาเลื่อมใสพระผู้ช่วยให้รอดและรับบัพติศมา
ครอบครัวเธอทำงานหนักและเริ่มรุ่งเรือง มีลูกเพิ่มอีกสามคน พวกเขาซื่อสัตย์และแข็งขันในศาสนจักร จากนั้นสามีเธอเส้นเลือดในสมองแตกและเสียชีวิตกะทันหัน เธอจึงต้องทำงานยาวนานหลายชั่วโมงหลายๆ งานเป็นเวลาหลายปีเพื่อเลี้ยงดูลูกทั้งห้าคน
บางคนในครอบครัวและคนแถวบ้านวิจารณ์เธอ โทษว่าที่เธอมีปัญหาเพราะตัดสินใจเข้าร่วมศาสนาคริสต์ โดยไม่หวั่นไหวไปกับเรื่องเศร้าสลดและการวิจารณ์ที่รุนแรง เธอยึดมั่นศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ตั้งใจมุ่งหน้าต่อไป โดยวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักเธอและมีวันที่สดใสกว่ารออยู่ข้างหน้า3
ไม่กี่ปีหลังจากสามีเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ประธานคณะเผยแผ่ญี่ปุ่นได้รับการดลใจให้กระตุ้นสมาชิกชาวญี่ปุ่นไปเข้าพระวิหารให้ได้ ประธานคณะเผยแผ่เคยเป็นทหารผ่านศึกชาวอเมริกันในยุทธการโอะกินะวะ เหตุการณ์ซึ่งทำให้ซิสเตอร์ชาวโอะกินะวะกับครอบครัวเธอทุกข์ทรมานมาก4 ทว่าซิสเตอร์ที่ถ่อมตนคนนี้พูดถึงเขาว่า “ตอนนั้นเขาเป็นศัตรูคนหนึ่งที่เราเกลียดชัง แต่ตอนนี้เขาอยู่ที่นี่กับพระกิตติคุณแห่งความรักและสันติสุข นี่คือปาฏิหาริย์สำหรับดิฉัน”5
เมื่อได้ฟังข่าวสารของประธานคณะเผยแผ่ สตรีม่ายคนนี้ปรารถนาจะผนึกกับครอบครัวเธอในพระวิหารสักวันหนึ่ง แต่เธอทำไม่ได้ เพราะข้อจำกัดทางการเงินและภาษา
จากนั้นก็มีทางออกใหม่หลายทางเกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายจะลดลงครึ่งหนึ่งหากสมาชิกในญี่ปุ่นเช่าเหมาลำเพื่อบินไปฮาวายในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว6 นอกจากนี้ สมาชิกยังอัดเสียงและขายแผ่นเสียงชื่อ Japanese Saints Sing ด้วย สมาชิกบางคนถึงกับขายบ้าน หลายคนลาออกจากงานเพื่อการเดินทางครั้งนี้7
ความท้าทายอื่นสำหรับสมาชิกคือการนำเสนอในพระวิหารไม่มีในภาษาญี่ปุ่น ผู้นำศาสนจักรเรียกบราเดอร์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งให้เดินทางไปพระวิหารฮาวายเพื่อแปลพิธีเอ็นดาวเม้นท์8 เขาเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวญี่ปุ่นคนแรกหลังสงคราม ซึ่งได้รับการสอนและบัพติศมาโดยทหารอเมริกันผู้ซื่อสัตย์9
เมื่อสมาชิกชาวญี่ปุ่นที่รับเอ็นดาวเม้นท์แล้วและอาศัยอยู่ในฮาวายได้ยินคำแปลครั้งแรก พวกเขาร้องไห้ สมาชิกคนหนึ่งบันทึกว่า “เราไปพระวิหารมาแล้วหลายครั้ง เราได้ยินพิธีเป็นภาษาอังกฤษ [แต่] เราไม่เคยรู้สึกถึงวิญญาณของ … งานพระวิหารเท่ากับที่เรารู้สึกตอน [ได้ยิน] ในภาษาบ้านเกิดของเราเอง”10
ต่อมาในปีเดียวกัน ผู้ใหญ่และเด็ก 161 คนออกเดินทางจากโตเกียวไปพระวิหารฮาวาย บราเดอร์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งพูดถึงการเดินทางครั้งนั้นว่า “ขณะมองออกจากเครื่องบินเห็นเพิร์ลฮาร์เบอร์ และนึกถึงสิ่งที่ประเทศของเราทำกับคนเหล่านี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ผมนึกกลัวอยู่ในใจ พวกเขาจะยอมรับเราหรือเปล่า? แต่ผมประหลาดใจที่พวกเขาแสดงความรักและความเมตตามากกว่าที่ผมเคยเห็นในชีวิต”11
เมื่อวิสุทธิชนชาวญี่ปุ่นมาถึง สมาชิกชาวฮาวายต้อนรับด้วยพวงมาลัยดอกไม้นับไม่ถ้วนขณะแลกกอดและหอมแก้มกันซึ่งเป็นธรรมเนียมต่างจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น หลังจากใช้เวลา 10 วันแห่งการเปลี่ยนแปลงในฮาวาย วิสุทธิชนชาวญี่ปุ่นกล่าวอำลาด้วยเพลง “Aloha Oe” ที่ร้องโดยวิสุทธิชนชาวฮาวาย12
การเดินทางไปพระวิหารครั้งที่สองที่จัดให้สมาชิกชาวญี่ปุ่นมีสตรีม่ายชาวโอะกินะวะคนนั้นไปด้วย เธอเดินทาง 10,000 ไมล์ (16,000 กม.) ได้เพราะของขวัญจากน้ำใจอันกว้างขวางของผู้สอนศาสนาที่เคยรับใช้ในสาขาของเธอและเคยร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับเธอหลายมื้อ ขณะอยู่ในพระวิหาร เธอร้องไห้ด้วยปีติเมื่อเธอรับบัพติศมาแทนคุณแม่และผนึกกับสามีที่เสียชีวิต
การเดินทางจากญี่ปุ่นไปพระวิหารที่ฮาวายเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำจนกระทั่งมีการอุทิศพระวิหารโตเกียว ญี่ปุ่นในปี 1980 กลายเป็นพระวิหารแห่งที่ 18 ที่เปิดดำเนินการ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้จะมีการอุทิศพระวิหารแห่งที่ 186 ในโอะกินะวะ ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากถ้ำในโอะกินะวะตอนกลางที่ผู้หญิงคนนี้และครอบครัวเธอหลบภัย13
แม้ข้าพเจ้าไม่เคยพบสตรีที่ยอดเยี่ยมคนนี้จากโอะกินะวะ แต่มรดกของเธออยู่มาถึงลูกหลานที่ซื่อสัตย์ของเธอ หลายคนข้าพเจ้ารู้จักและรัก14
คุณพ่อข้าพเจ้า ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่สองแห่งแปซิฟิก ตื่นเต้นเมื่อข้าพเจ้าได้รับเรียกให้รับใช้ในญี่ปุ่นสมัยเป็นผู้สอนศาสนาวัยหนุ่ม ข้าพเจ้ามาถึงญี่ปุ่นไม่นานหลังจากพระวิหารโตเกียวได้รับการอุทิศและเห็นกับตาถึงความรักที่พวกเขามีต่อพระวิหาร
พันธสัญญาพระวิหารเป็นของขวัญที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบให้ผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ของพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงผูกมัดบุคคลและครอบครัวไว้ด้วยกันและไว้กับพระผู้ช่วยให้รอดผ่านพระวิหาร
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า:
“แต่ละคนที่ทำพันธสัญญาในอ่างบัพติศมาและในพระวิหาร—และรักษาพันธสัญญา—มีสิทธิ์เข้าถึงเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์มากขึ้น …
“รางวัลสำหรับการรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าคือพลังอำนาจสวรรค์—พลังอำนาจที่เพิ่มพลังให้เราต้านทานความยากลำบาก การล่อลวง และความปวดร้าวใจได้ดีขึ้น พลังอำนาจนี้ทำให้ทางของเราง่ายขึ้น”15
โดยผ่านพรพระวิหาร พระผู้ช่วยให้รอดทรงเยียวยาบุคคล ครอบครัว และประชาชาติ—แม้กระทั่งคนที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาต พระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงประกาศแก่สังคมที่ดำเนินด้วยความขัดแย้งในพระคัมภีร์มอรมอนว่า แก่บรรดาผู้ถวายเกียรติแด่ “นามของเรา, พระบุตรแห่งความชอบธรรมจะทรงลุกขึ้นด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย”16
ข้าพเจ้าสำนึกคุณที่ได้เห็นสัมฤทธิผลต่อเนื่องของสัญญาพระเจ้าที่ว่า “เวลาจะมาถึงเมื่อความรู้เรื่องพระผู้ช่วยให้รอดจะแผ่ไปทั่วทุกประชาชาติ, ตระกูล, ภาษา, และผู้คน”17 รวมถึงคนที่อยู่ “บนเกาะในทะเล”18
ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ ถึงศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์ในยุคสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานอย่างจริงจังถึงพลังอำนาจสวรรค์ที่จะผูกมัดสิ่งที่ถูกผูกมัดบนโลกไว้ในสวรรค์
นี่คืองานของพระผู้ช่วยให้รอด และพระวิหารเป็นพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
ด้วยความมุ่งมั่นไม่สั่นคลอน ข้าพเจ้าประกาศความจริงเหล่านี้ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน