เลียโฮนา
“เราเยียวยาความสัมพันธ์ของเราได้หรือไม่?” การรับมือกับการกระทําทารุณกรรมทางวาจาและทางอารมณ์
ตุลาคม 2024


“‘เราเยียวยาความสัมพันธ์ของเราได้หรือไม่?’ การรับมือกับการกระทําทารุณกรรมทางวาจาและทางอารมณ์,” เลียโฮนา, ต.ค. 2024.

“เราเยียวยาความสัมพันธ์ของเราได้หรือไม่?” การรับมือกับการกระทําทารุณกรรมทางวาจาและทางอารมณ์

หากท่านกําลังเผชิญกับการกระทําทารุณกรรมทางวาจาหรือทางอารมณ์ เราขอให้ท่านขอความช่วยเหลือ เพื่อน ครอบครัว ผู้นําศาสนจักร และคนอื่นๆ สามารถนําท่านไปยังแหล่งช่วยที่จะช่วยให้ท่านรู้สึกปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้ท่านได้รับการเยียวยาและตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง

ศีรษะคนที่มีตัวอักษรต่างๆ ออกมาจากปาก

เจเน็ต (นามสมมติ) แต่งงานใหม่เมื่ออายุ 71 ปี สามีใหม่ของเธอไม่พอใจเธอในช่วงฮันนีมูนของพวกเขา เจเน็ตเล่าว่า “ไม่เคยมีใครพูดแบบนั้นกับฉันมาก่อน” เธอวิตกกังวลและหวาดกลัว

เมื่อเวลาผ่านไป ความโกรธของสามีเธอก็รุนแรงยิ่งขึ้น จากเสียงตะคอกกลายเป็นการสบถ ตั้งฉายาในเชิงลบ และโจมตีตัวตนของเจเน็ต เขาอ้างว่าเธอให้ความสําคัญกับเพื่อนและครอบครัวมากกว่าเขา

“ไม่จริงเลยค่ะ” เธอกล่าว “แต่เพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะกัน ฉันจึงตีตัวออกห่างจากเพื่อนและครอบครัว ฉันเริ่มยกเลิกนัดกับเพื่อน โดยบอกว่าฉันไม่ค่อยสบาย”

“ไม่ว่าฉันจะทําอะไร เขายังไม่พอใจอยู่ดี” เธอกล่าว “ฉันเริ่มโทษตัวเองที่ทําให้เขาโกรธและคิดในใจ ‘ถ้าฉันไม่ทําแบบนั้นก็คงจะดี’ ฉันเริ่มสงสัยว่าตนเป็นคนไม่ดีอย่างที่เขาพูดหรือเปล่า”

เธอถามตัวเองทํานองนี้ “ถ้าฉันมีค่า แล้วทําไมฉันถึงเลือกคนๆ นี้? ทําไมฉันถึงปล่อยให้เขาพูดกับฉันแบบนั้น? ฉันควรจะเห็นสัญญาณบ้างไม่ใช่หรือ?” เขาเคยใจดี เอาใจใส่ และเปี่ยมไปด้วยความรักในตอนที่ทั้งคู่เดทกัน

“ฉันรู้สึกหดหู่ใจมาก” เธอจําได้ เธอเริ่มคิดว่าคงจะดีถ้าเธอป่วยตาย เธอจะได้ไม่ต้องหย่ากับเขา เธอเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่งและไม่สามารถเผชิญกับการแต่งงานที่ล้มเหลวอีกครั้ง

“คงจะดีถ้าฉันได้คุยกับใครสักคน” เธอกล่าว “แต่ฉันรู้สึกละอายใจมาก และฉันรู้ว่าพวกเขาก็คงจะบอกให้ฉันทิ้งเขาไป ฉันไม่อยากให้การแต่งงานจบลงและไม่อยากกลับมาอยู่คนเดียวอีกต่อไป ดังนั้นฉันจึงหวังว่าสิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนไป และฉันก็พยายามหาเหตุผลให้กับพฤติกรรมของเขาอยู่เรื่อยๆ”

การกระทําทารุณกรรมเป็นบาปร้ายแรง

บางครั้งผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออดทนต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพราะพวกเขาไม่ทราบว่านั่นเป็นการกระทําทารุณกรรม การกระทําทารุณกรรมทางอารมณ์เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งพยายามทําร้าย ควบคุม หรือบงการผู้อื่นด้วยวาจา ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง กล่าวโทษ กีดกัน บงการ ข่มขู่ ตั้งฉายาในเชิงลบ หรือปฏิเสธที่จะแสดงความรัก และเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ: ในมิตรภาพ ในความสัมพันธ์ตอนออกเดท สามีภรรยาหรือบิดามารดาและบุตร และแม้แต่ระหว่างผู้ร่วมงาน

“การทารุณกรรมแสดงถึงอิทธิพลของปฏิปักษ์” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอน “เป็นบาปร้ายแรงอย่างยิ่ง ในฐานะประธานศาสนจักร ข้าพเจ้ายืนยันคำสอนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอพูดอย่างชัดเจนที่สุดว่า: การทารุณกรรมรูปแบบ ใดก็ตาม ต่อสตรี เด็ก หรือใครก็ตามเป็นความน่าชิงชังต่อพระเจ้า พระองค์เสียพระทัยและ ข้าพเจ้าเสียใจ เมื่อใดที่มี ใครก็ตาม ถูกทำร้าย พระองค์ทรงโศกเศร้า และ เราทุกคนโศกเศร้า กับทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรมทุกรูปแบบ คนที่กระทําเรื่องชั่วร้ายอันน่ารังเกียจนี้ไม่เพียงต้องรับโทษตามกฎหมายของมนุษย์แต่ต้องเผชิญกับพระพิโรธของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพด้วย …

“… พระผู้ช่วยให้รอดจะไม่ทรงยอมรับการทารุณกรรม เราผู้เป็นสานุศิษย์ก็เช่นกัน”

เราทุกคนเป็นบุตรและธิดาของพระผู้เป็นเจ้า มีธรรมชาติและจุดหมายอันสูงส่ง พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สอนให้เรารักกัน (ดู ยอห์น 13:34) และปฏิบัติต่อผู้อื่นดังที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา (ดู มัทธิว 7:12)

ผู้ที่เป็นเหยื่อมักจะรู้สึกผิด

คนเหล่านี้อาจรู้สึกหวาดกลัว อับอาย สิ้นหวัง หมดหนทาง และรู้สึกว่าคุณค่าในตนเองลดลง

การแต่งงานระยะเวลาสองปีของดิเอโกกับผู้หญิงที่ชอบกระทําทารุณกรรมทําให้เขาแตกสลายและเหมือนตายทั้งเป็น เมื่อมองย้อนกลับไป เขาหวังว่าตนควรใส่ใจต่อสัญญาณเตือนต่างๆ ภรรยาของเขามีการแต่งงานและความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ช่วงที่คบหากันหกเดือนของทั้งคู่ดูราบรื่นดี และเขาตกหลุมรัก

หลังจากที่ทั้งสองแต่งงานกัน พฤติกรรมของเธอทําให้เขาประหลาดใจและสับสน เธอจะวิจารณ์รูปร่างหน้าตาของเขา และเมื่อเขาถามว่าทําไมเธอถึงพูดแบบนั้น เธอก็จะบอกเขาว่าเธอล้อเล่นและเขาเองไม่มีอารมณ์ขันเลย “มีการกระทําทารุณกรรมทางวาจาและการล้างสมองหลายต่อหลายครั้ง” เขากล่าว

ตลอดจนมีการกระทําทารุณกรรมทางร่างกายอยู่บ่อยๆ เช่น ถ่มนํ้าลายใส่หน้าเขา เตะ และข่วน เช่นเดียวกับผู้เป็นเหยื่อหลายๆ คน ดิเอโกพยายามหาข้อแก้ต่างให้กับพฤติกรรมของภรรยา เขาบอกตัวเองว่าเธอคงมีวันที่แย่ เขาพยายามอย่างมากที่จะทําสิ่งต่างๆ โดยหวังว่าจะทําให้เธอมีความสุข

“ผมทําความสะอาดห้องนํ้าและทําอาหารเย็น” เขาจําได้ “แต่เธอไม่เคยพอใจเลย การกระทําทารุณกรรมทางร่างกายน่าจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดสําหรับผมในฐานะผู้ชาย ผมรู้สึกอ่อนแอและไร้เรี่ยวแรง บางครั้งผมหาที่ซ่อนที่ทํางานแล้วร้องไห้ ผมเป็นเหยื่อ แต่เธอทําให้ผมรู้สึกว่าความเลวร้ายทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของผมเอง ผมรู้สึกผิด เธอเป็นฝ่ายถูกหรือ? ความเศร้านั้นเกินบรรยายจริงๆ”

เขาเล่าว่า: “ผมอยากให้ชีวิตแต่งงานของเราดําเนินไปด้วยดี ผมสวดอ้อนวอนอย่างหนัก ไปพระวิหาร อดอาหาร อ่านพระคัมภีร์ และพยายามเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นในทุกวิถีทาง ความหวังทําให้ผมเอาชนะสิ่งเลวร้ายได้ ผมเชื่อเสมอว่าถ้าผมเชื่อฟัง สิ่งต่างๆ จะเข้าที่เข้าทางของมันเอง”

สองมือเอื้อมเข้าหากัน

แสวงหาความช่วยเหลือ

แสวงหาความเข้มแข็งทางวิญญาณ: ผู้เป็นเหยื่อสามารถแสวงหาการดลใจและความเข้มแข็งทางวิญญาณผ่านการสวดอ้อนวอน อดอาหาร ศึกษาพระคัมภีร์ พรฐานะปุโรหิต ตลอดจนเข้าโบสถ์และพระวิหาร พวกเขาสามารถขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากเพื่อนที่ไว้ใจ ผู้นําศาสนจักร หรือที่ปรึกษามืออาชีพ สิ่งสําคัญที่สุดคือ พวกเขาสามารถมีศรัทธาในพระเจ้า แสวงหาการนําทางจากพระองค์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน และวางใจว่าพระองค์จะทรง “อุทิศความทุกข์ของลูกให้เป็นพรของลูก” (2 นีไฟ 2:2)

กําหนดขอบเขต: ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการกําหนดและรักษาขอบเขตเป็นสิ่งสําคัญ เหยื่ออาจพูดว่า “ฉันรู้สึกว่าตอนนี้คุณไม่ให้เกียรติฉัน ฉันอยากคุยกับคุณ แต่จะไม่คุยเว้นแต่คุณปฏิบัติต่อฉันด้วยการให้เกียรติและอ่อนโยนมากกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม บางคนไม่เคารพขอบเขตเหล่านั้น ดิเอโกพยายามกําหนดขอบเขต แต่ภรรยาของเขายังคงชวนทะเลาะต่อไป “คุณไม่สามารถให้เหตุผลกับคนที่เป็นฝ่ายกระทําทารุณกรรมได้เสมอไป” เขาอธิบาย “และเป็นเรื่องยากมากที่จะสงบสติอารมณ์เมื่อมีคนโจมตีคุณด้วยวาจา พระคริสต์คงจะเสด็จจากไปหรือตรัสเบาๆ แต่ผมไม่ได้ดีพร้อมแบบนั้น ผมควรจะทําได้ดีกว่านี้ ผมคิดว่าต้องมีคนกลาง—ผู้นําศาสนจักรหรือนักบําบัด—จึงจะมีการพูดคุยที่มีเหตุผลได้”

การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในสถานการณ์เช่นนี้อาจเป็นประโยชน์ ที่ปรึกษาที่มีความรู้เกี่ยวกับการกระทําทารุณกรรมทางอารมณ์สามารถแนะนําวิธีจัดการกับอารมณ์ที่ผันผวน

จัดการกับข้อกังวล: บางครั้งคนที่พูดจาทําร้ายจิตใจไม่รู้ว่าตนกําลังทําร้ายความสัมพันธ์มากเพียงใด พวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนได้ถ้าพวกเขายอมขอความช่วยเหลือ เมื่ออารมณ์เย็นลง คนที่เป็นเหยื่ออาจพูดประมาณนี้ “ฉันรู้สึกเจ็บปวด [หรือไม่ได้รับความรัก หรือไม่ได้รับความเคารพ] เมื่อคุณพูดแบบนั้น ฉันจะขอบคุณมากถ้าคุณ …” การแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นให้บุคคลนั้นทราบสามารถช่วยให้ผู้ทําผิดรู้ว่าตนกําลังทําอะไรอยู่ และเปิดโอกาสให้ปรับปรุงตัว

หากบุคคลนั้นเต็มใจที่จะฟัง ทั้งสองฝ่ายสามารถขอความช่วยเหลือได้ พวกเขาสามารถขอคําปรึกษาร่วมกันและพูดคุยกันว่าพฤติกรรมใดที่ทําร้ายความสัมพันธ์และพฤติกรรมใดที่ช่วยเยียวยาความสัมพันธ์ พวกเขาสามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม หากบุคคลนั้นไม่เต็มใจที่จะฟังและยังคงแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อไป ผู้เป็นเหยื่อไม่จําเป็นต้องอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทําร้ายกัน สําหรับคู่สามีภรรยา สิ่งที่ควรทําอาจไม่ได้หมายถึงการหย่าร้างเสมอไป แต่อาจหมายถึงการห่างกันจนกว่าอีกฝ่ายจะสังเกตเห็นขอบเขตที่มั่นคงสําหรับความสัมพันธ์ที่ดี

พยายามอย่าทําให้แบบแผนที่ไม่ดีนั้นยืดเยื้อต่อไป: ซิสเตอร์คริสติน เอ็ม. ยี ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า:

“บนเส้นทางแห่งการให้อภัยและการเยียวยามีทางเลือกที่จะไม่สานต่อแบบแผนหรือความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในครอบครัวเราหรือที่อื่นๆ สําหรับทุกคนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเรา เราสามารถมอบความเมตตาสนองความโหดร้าย ความรักสนองความเกลียดชัง ความอ่อนโยนสนองการเสียดสี ความปลอดภัยสนองความทุกข์ใจ และสันติสุขสนองความขัดแย้ง

“การให้สิ่งที่ท่านไม่ได้รับเป็นส่วนที่ทรงพลังของการเยียวยาอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเกิดขึ้นได้ผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์”

การเยียวยาด้วยความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า

ดิเอโกพูดคุยกับที่ปรึกษาด้านการแต่งงานและพบกับอธิการของเขาเป็นประจํา “ผมไม่แน่ใจว่าจะผ่านประสบการณ์นี้ไปได้อย่างไรหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอธิการ ผู้เปี่ยมไปด้วยความรักมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา และพระวิหารเป็นสถานที่ปลอบโยนของผม”

ดิเอโกประสบปัญหาในการได้รับการเยียวยาหลังจากการหย่าร้าง แต่กล่าวว่า “ผมเรียนรู้มากมายจากความสัมพันธ์นี้และเติบโตขึ้นในทุกด้าน ซึ่งทําให้ผมเป็นผู้ชาย บิดา บุคคล ผู้ดํารงฐานะปุโรหิต บุตร เพื่อน และคู่ที่ดีขึ้น ผมทําทุกอย่างเท่าที่ทําได้เพื่อให้ชีวิตแต่งงานดําเนินไปด้วยดี แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เธอมีสิทธิ์เสรีและตัดสินใจเลือก”

หลังจากพยายามประคับประคองการแต่งงานมาสามปี เจเน็ตยื่นฟ้องหย่าและย้ายไปอยู่กับลูกคนหนึ่งชั่วคราว “ช่วงสองสามวันแรกและสัปดาห์ถัดๆ ไปนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด” เธอจําได้ เธอทุ่มเทใจในการสวดอ้อนวอนและทุ่มเทให้กับการอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทุกวัน รวมถึงคําปราศรัยที่ปลอบโยนจากการประชุมใหญ่

เธอยังคงไปโบสถ์เป็นประจํา พบนักบําบัดมืออาชีพ และได้รับคําแนะนําทางวิญญาณที่เป็นประโยชน์จากอธิการ “นักบําบัดช่วยเหลือได้มาก และฉันรู้สึกดีขึ้นมากหลังจากที่พูดคุยกับอธิการ” เธอกล่าว

เพื่อนคนหนึ่งแนะนําให้เธอท่องข้อพระคัมภีร์ที่เธอชื่นชอบและประกาศสิ่งดีๆ ทั้งหมดที่เธออยากให้เกิดขึ้นในชีวิต เจเน็ตทําสิ่งเหล่านั้นอย่างซื่อสัตย์โดยท่องจําพระคัมภีร์ที่ดลใจเธอ ข้อพระคัมภีร์ที่เธอชื่นชอบมีสองข้อคือ:

“จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด อย่าครั่นคร้ามหรือตกใจเลย เพราะว่าพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าสถิตกับเจ้าทุกแห่งที่เจ้าไป” (โยชูวา 1:9)

“อย่า​กลัว​เลย เพราะ​เรา​อยู่​กับ​เจ้า อย่า​ขยาด เพราะ​เรา​เป็น​พระ‍เจ้า​ของ​เจ้า เรา​จะ​เสริม​กําลัง​เจ้า เรา​จะ​ช่วย​เจ้าเรา​จะ​ชู​เจ้า​ด้วย​มือ​ขวา​อัน​ชอบ‍ธรรม​ของ​เรา” (อิสยาห์ 41:10)

เธอพบความเข้มแข็งเมื่อรู้ว่าพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดคือ “รักษาใจที่ชอกช้ำ ประกาศอิสรภาพแก่พวกเชลย … ปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ” (ลูกา 4:18; เน้นตัวเอน)

ในการเป็นพยานถึงพระพันธกิจการรักษาของพระผู้ช่วยให้รอด เอ็ลเดอร์แพทริก เคียรอน แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองรับรองกับผู้ตกเป็นเหยื่อของการกระทําทารุณกรรมว่า:

“จากความรุนแรงของการทนทุกข์เพื่อการชดใช้ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดประทานความหวังที่ท่านเคยคิดว่าสูญหายไปแล้วตลอดกาล พละกําลังที่ท่านเคยเชื่อว่าท่านจะไม่มีวันครอบครอง และการเยียวยาที่ท่านไม่เคยนึกฝันว่าเป็นไปได้ …

“… พระผู้ช่วยให้รอดทรงเอื้อมพระพาหุออกมาเพื่อมอบของประทานแห่งการรักษาแก่ท่าน ด้วยความกล้าหาญ ความอดทน และการจดจ่อแน่วแน่ที่พระองค์ อีกไม่นานท่านจะรับของประทานนี้ได้อย่างเต็มที่”