ดิจิทัลเท่านั้น
หลักธรรม 3 ข้อสําหรับการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในวอร์ดหรือสาขาของท่าน
พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร?
ท่านเคยมองไปรอบๆ วอร์ดหรือสาขาของท่านและสังเกตเห็นพรสวรรค์ ภูมิหลัง และความสนใจที่หลากหลายหรือไม่? เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าที่ประชุมในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากขึ้นอยู่กับภูมิศาสตร์ ท่านกล่าวว่า: “เราไม่เลือกที่ประชุมตามคนที่เราชอบหรือต้องการอยู่ด้วย วอร์ดถูกเลือกไว้ให้เรา … และเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้คน รับใช้ และรักผู้คนที่อาจมีพื้นเพ ความชอบ และความคิดเห็นที่แตกต่างกัน” ความแตกต่างเหล่านี้มักทําให้เราเข้มแข็งขึ้น
พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้เรา “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 38:27) แม้เราทั้งหมดจะแตกต่างกัน ดังนั้นมาดูว่าการ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ในวอร์ดและสาขาของเราเป็นอย่างไร? หลักธรรมสามข้อต่อไปนี้จะช่วยให้เรามุ่งทํางานจนบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ผ่านพันธสัญญา
หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ พวกเขาอยู่กันอย่างสงบสุขและปรองดองเป็นเวลา 200 ปี ไม่มีอาชญากรรม ผู้คนทําปาฏิหาริย์ และ “ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้” (4 นีไฟ 1:16) ทุกคนจะบรรลุถึงสังคมที่ปรองดองเช่นนั้นได้อย่างไร? พระคัมภีร์กล่าวว่า “ไม่มีความขัดแย้งในแผ่นดิน, เพราะความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในใจผู้คน” (4 นีไฟ 1:15)
ถ้าท่านกําลังพยายามเป็นหนึ่งเดียวกับคนรอบข้างมากขึ้น จุดเริ่มต้นที่ดีคือการประเมินความสัมพันธ์ของท่านกับพระผู้เป็นเจ้า เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล.คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนําว่า: “เราเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความรักและศรัทธาในพระเยซูคริสต์และในฐานะบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก แก่นแท้ของการเป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริงคือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระคริสต์”
เราจะมีความเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร? เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เราเชื่อมโยงต่อพระผู้ช่วยให้รอดและกับพระผู้ช่วยให้รอดอย่างแน่นแฟ้นเมื่อเรารับศาสนพิธีและเข้าสู่พันธสัญญาอย่างมีค่าควร ระลึกถึงและให้เกียรติคำมั่นสัญญาศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นอย่างซื่อสัตย์ และทำสุดความสามารถในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับพันธะที่เรายอมรับ” การทําและรักษาพันธสัญญาเป็นหนึ่งในขั้นตอนแรกๆ ของการเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้านของเรา
มุ่งเน้นอัตลักษณ์นิรันดร์
ในพระคัมภีร์มอรมอน คนกลุ่มต่างๆ มีชื่อต่างกัน เช่น ชาวนีไฟ ชาวเลมัน ชาวโซรัม ชาวอิชมาเอล ชาวแอมัน และอื่นๆ แต่หลังจากพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้คนก็ “ไม่มี … ชาวใด ๆ; แต่คนทั้งหลายอยู่กันเป็นหนึ่งเดียว, เป็นลูกของพระคริสต์” (4 นีไฟ 1:17)
เราควรระวังอย่าสร้างฉายาหรือการแบ่งแยกในหมู่เราเอง ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแนะนําเราว่าอย่าลืมอัตลักษณ์ที่สําคัญที่สุดของเรา: “ข้าพเจ้าไม่ได้บอกว่าคำเรียกขานอื่นและคำระบุตัวตนอื่นไม่สำคัญ ข้าพเจ้าเพียงแต่บอกว่าไม่ควรมีคำระบุตัวตนใดมา ย้ายที่ แทนที่ หรือ สำคัญกว่า คำเรียกขานถาวรสามคำนี้: ‘ลูกของพระผู้เป็นเจ้า’ ‘ลูกแห่งพันธสัญญา’ และ ‘สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์’”
พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างของการมองข้ามฉายาหรือการแบ่งแยกทางโลกเมื่อทรงสอนหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ พระองค์ทรงเป็นพยานต่อเธอถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ และเธอสามารถสอนผู้อื่นเกี่ยวกับพระองค์ (ดู ยอห์น 4:9–29) เมื่อเราพยายามมองตัวเราเองและเพื่อนบ้านของเราเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเดียวกัน ความแตกต่างจะหลีกทางให้ความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกัน
น้อมรับบทบาทเฉพาะตัวของท่าน
การเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่นสามารถหยุดเราจากการเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา ข่าวดีสําหรับเราทุกคนคือพระผู้เป็นเจ้าทรงใช้พรสวรรค์และบุคลิกภาพทุกประเภทเพื่อสร้างอาณาจักรของพระองค์
เมื่อเปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนในเมืองโครินธ์ เขาเปรียบศาสนจักรของพระคริสต์กับร่างกาย (ดู 1 โครินธ์ 12:12–17) เขาบอกพวกเขาว่าอวัยวะแต่ละส่วนมีบทบาทสําคัญยิ่งที่ทําให้ร่างกายทํางานได้อย่างถูกต้อง ถึงแม้แต่ละส่วนจะไม่เหมือนกัน เขาถามว่า “ถ้าร่างกายทั้งหมดเป็นตา การได้ยินจะอยู่ที่ไหน?” 1 โครินธ์ 12:17
ในทํานองเดียวกัน เราแต่ละคนมีบทบาทสําคัญ—บทบาทที่น่าจะแตกต่างจากเพื่อนบ้านของเรา เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า: “ท่านอาจรู้สึกว่ามีคนอื่นซึ่งมีความสามารถหรือมีประสบการณ์มากกว่าที่ทำการเรียกและงานมอบหมายได้ดีกว่าที่ท่านทำ แต่พระเจ้าประทานความรับผิดชอบให้ท่านเพราะทรงมีเหตุผล อาจจะมีผู้คนและจิตใจซึ่งท่านเท่านั้นสามารถเอื้อมออกไปสัมผัสได้” เมื่อเราแต่ละคนน้อมรับและทําบทบาทเฉพาะตัวของเราให้เกิดสัมฤทธิผล วอร์ด สาขา และครอบครัวของเราจะเป็นหนึ่งเดียวกันและทําหน้าที่เหมือนร่างกายที่แข็งแรง
ชุมชนไซอัน
เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู.กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า: “ศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้าจะเป็นเครื่องฟักไข่สำหรับชุมชนไซอัน เมื่อเรานมัสการ รับใช้ มีความสุข และเรียนรู้ความรักของพระองค์ด้วยกัน เรายึดเหนี่ยวกันในพระกิตติคุณ” พระเจ้าจะประทานพรท่านเมื่อท่านพยายามรักษาพระบัญญัติของพระองค์และเป็นหนึ่งเดียวกันในพระองค์—และท่านอาจจะพบว่าท่านมีสิ่งที่เหมือนกับสมาชิกวอร์ดหรือสาขามากกว่าที่ท่านคิด!