แสวงหาพระองค์ด้วยสุดใจของท่าน
หากพระเยซูคริสต์ทรงแสวงหาเวลาเงียบสงบเพื่อสนทนากับพระผู้เป็นเจ้า และได้รับความเข้มแข็งจากพระองค์ เราก็ควรทำตามเช่นกัน
หลายปีก่อน ข้าพเจ้ากับภรรยารับใช้เป็นผู้นำคณะเผยแผ่ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันในสมัยนั้นมาเยี่ยมคณะเผยแผ่ของเรา ผู้สอนศาสนาคนหนึ่งถามท่านว่าควรตอบอย่างไรดีเมื่อมีคนบอกว่ายุ่งมากจนฟังข่าวสารไม่ได้ เอ็ลเดอร์เนลสันตอบโดยแทบไม่ลังเลว่า “ผมจะถามพวกเขาว่าวันนั้นยุ่งมากจนไม่มีเวลากินข้าวกลางวันหรือเปล่า แล้วสอนว่าพวกเขามีทั้งร่างกายและวิญญาณ และร่างกายจะตายหากไม่ได้รับการบำรุงเลี้ยงฉันใด วิญญาณก็จะตายหากไม่ได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วยพระวจนะอันประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้าฉันนั้น”
น่าสนใจที่คำว่า “ยุ่ง” ในภาษาญี่ปุ่นคือ isogashii (อิโซกาชิ) ซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรที่มีสัญลักษณ์สองตัว (忙) ตัวอักษรทางซ้ายหมายถึง “ใจ” หรือ “วิญญาณ” และตัวอักษรทางขวาหมายถึง “ความตาย”—ซึ่งบางทีอาจสื่อตามที่ประธานเนลสันสอนว่าการยุ่งจนไม่มีเวลาบำรุงเลี้ยงวิญญาณอาจนำไปสู่ความตายทางวิญญาณได้
พระเจ้าทรงทราบว่า—ในโลกอันเร่งรีบเต็มไปด้วยสิ่งรบกวนและความโกลาหล—การจัดสรรเวลาที่มีคุณภาพให้พระองค์เป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญในยุคสมัยเรา พระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ ประทานคำแนะนำและคำตักเตือนต่อไปนี้ที่สามารถเปรียบได้กับยุคสับสนวุ่นวายที่เราอาศัยอยู่:
“ใน การหันกลับ และ หยุดนิ่ง เจ้าทั้งหลายจะรอด การเงียบสงบ และ การไว้วางใจ จะเป็นกำลังของเจ้า แต่เจ้าก็ไม่ยอมทำตาม
“และเจ้าทั้งหลายว่า ‘ไม่เอา เราจะขี่ม้าหนีไป’ เพราะฉะนั้น พวกเจ้าก็จะหนีไป และว่า ‘เราจะขี่ม้าเร็วจัด’ เพราะฉะนั้น ผู้ไล่ตามเจ้าจะเร็วจัด”
กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้ความรอดของเราจะขึ้นอยู่กับ การหันกลับ มาหาพระองค์บ่อยๆ และ หยุดนิ่ง จากความกังวลทางโลก แต่เรากลับไม่ทำเช่นนั้น และแม้ ความเชื่อมั่น ของเราจะมาจากความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา เงียบสงบ ที่ได้นั่งกับพระผู้เป็นเจ้าในการทำสมาธิและใคร่ครวญ แต่เรากลับไม่ทำ เพราะเหตุใด? เพราะเราบอกว่า “ไม่ เรายุ่งกับเรื่องอื่นอยู่”—ถ้าจะพูดก็คือขี่ม้าหนีไปนั่นเอง ดังนั้นเราจึงยิ่งออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ เราจะยืนกรานที่จะไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเราไปเร็วเท่าใด ซาตานจะยิ่งไล่ตามเราเร็วขึ้นเท่านั้น
บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลที่ประธานเนลสันวิงวอนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้จัดสรรเวลาให้พระเจ้าในชีวิตของเรา—“ทุกๆ วัน” ท่านย้ำเตือนเราว่า “ช่วงเวลาเงียบสงบคือเวลาศักดิ์สิทธิ์—เวลาที่จะก่อให้เกิดการเปิดเผยส่วนตัวและปลูกฝังสันติสุข” แต่เพื่อให้ได้ยินสุรเสียงสงบนี้ของพระเจ้า ประธานเนลสันแนะนำว่า “ท่านต้องสงบนิ่งด้วย”
อย่างไรก็ตาม การสงบนิ่งเรียกร้องมากกว่าแค่การจัดสรรเวลาให้พระเจ้า—แต่เรียกร้องให้ทิ้งความคิดที่สงสัยและหวาดกลัวแล้วมุ่งจิตใจและความนึกคิดของเราไปที่พระองค์ด้วย เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า “พระดำรัสเตือนของพระเจ้าที่ว่า ‘จงนิ่งเถิด’ มีความหมายมากกว่าแค่การไม่พูดหรือไม่เคลื่อนไหว” ท่านแนะนำว่าการนิ่ง “อาจเป็นวิธีเตือนเราให้มุ่งเน้นที่พระผู้ช่วยให้รอดอยู่เสมอ”
การสงบนิ่งเป็นการกระทำแห่งศรัทธาและต้องใช้ความพยายาม Lectures on Faith กล่าวว่า “เมื่อมนุษย์ทำงานโดยศรัทธา เขาทำงานโดยออกแรงทางจิตใจ” ประธานเนลสันประกาศว่า: “เราต้องมุ่งไปที่พระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ ต้องใช้ความพยายามทางจิตใจอย่างมากที่จะมองดูพระองค์ในความนึกคิด ทุกอย่าง แต่เมื่อเราทำเช่นนั้น ความสงสัยและความกลัวจะหายไป” เมื่อพูดถึงความจำเป็นนี้ในการมุ่งจิตใจของเรา ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าเราให้ความสนใจน้อยมากกับคุณค่าของการทำสมาธิ ซึ่งเป็นหลักธรรมหนึ่งของการอุทิศตน … การทำสมาธิเป็นหนึ่งใน … ประตูศักดิ์สิทธิ์ที่สุดบานหนึ่งซึ่งเราผ่านเข้าสู่ที่ประทับของพระเจ้า”
มีคำหนึ่งในภาษาญี่ปุ่นคือ mui (มูอิ) สำหรับข้าพเจ้า คำนี้สื่อความหมายของการสงบนิ่งโดยให้ความรู้สึกในเชิงเปี่ยมศรัทธาและใคร่ครวญมากกว่า คำนี้ประกอบด้วยตัวอักษร 2 ตัว (無為) ตัวซ้ายหมายถึง “ไม่มีอะไร” หรือ “ความว่างเปล่า” และตัวขวาหมายถึง “ทำ” เมื่อรวมกันแล้วหมายถึง “ไม่มีการทำ” หากตีความตามตัวอักษร คำดังกล่าวอาจถูกตีความผิดว่าหมายถึง “ไม่ทำอะไรเลย” เช่นเดียวกับคำว่า “จงนิ่งเถิด” ที่อาจถูกตีความผิดๆ ว่า “ไม่พูดหรือไม่เคลื่อนไหว” อย่างไรก็ตาม เหมือนกับคำว่า “จงนิ่งเถิด” คำนี้มีความหมายที่สูงกว่านั้น สำหรับข้าพเจ้าแล้ว คำนี้เป็นการย้ำเตือนให้ช้าลงและใช้ชีวิตด้วยความตื่นตัวทางวิญญาณมากขึ้น
ระหว่างรับใช้ในฝ่ายประธานภาคเอเชียเหนือร่วมกับเอ็ลเดอร์ทากาชิ วาดะ ข้าพเจ้าทราบว่าซิสเตอร์นาโอมิ วาดะ ภรรยาของท่าน เป็นนักเขียนอักษรวิจิตรภาษาญี่ปุ่นที่เก่งมาก ข้าพเจ้าขอให้ซิสเตอร์วาดะเขียนอักษรภาษาญี่ปุ่นคำว่า mui ให้ ข้าพเจ้าต้องการจะแขวนอักษรวิจิตรนั้นไว้บนผนังเพื่อเตือนใจให้สงบนิ่งและมุ่งไปที่พระผู้ช่วยให้รอด ข้าพเจ้าแปลกใจเมื่อเธอไม่ยอมตกลงทำตามคำขอที่ดูง่ายเช่นนี้ในทันที
วันรุ่งขึ้น เมื่อทราบว่าข้าพเจ้าดูเหมือนจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับความลังเลใจของเธอ เอ็ลเดอร์วาดะจึงอธิบายว่าการเขียนตัวอักษรเหล่านั้นต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เธอจะต้องคิดไตร่ตรองและทำสมาธิเกี่ยวกับแนวคิดและตัวอักษรจนกระทั่งเข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้งในจิตวิญญาณ แล้วจึงจะสามารถ ถ่ายทอด ความรู้สึก จากใจจริงเหล่านี้ออกมาได้ทุกครั้งที่ตวัดฝีแปรง ข้าพเจ้ารู้สึกอายที่ขอเธอไปง่ายๆ แบบนั้นให้ทำสิ่งที่ต้องพยายามมากขนาดนี้ ข้าพเจ้าฝากเอ็ลเดอร์วาดะไปขอโทษเธอสำหรับความไม่รู้ของข้าพเจ้า และแจ้งให้เธอทราบว่าข้าพเจ้าขอถอนคำขอนั้น
ท่านคงนึกภาพออกว่าข้าพเจ้าประหลาดใจและสำนึกคุณมากเพียงใดเมื่อจู่ๆ ซิสเตอร์วาดะก็มอบของขวัญเป็นงานเขียนอักษรวิจิตรภาษาญี่ปุ่นคำว่า mui ชิ้นนี้ให้ตอนที่ข้าพเจ้าจะกลับจากญี่ปุ่น ปัจจุบันภาพนี้แขวนไว้อย่างโดดเด่นบนผนังห้องทำงานข้าพเจ้าเพื่อย้ำเตือนให้สงบนิ่งและแสวงหาพระเจ้าทุกวันด้วยสุดใจ พลัง ความนึกคิด และพละกำลัง เธอถ่ายทอดความหมายของคำว่า mui หรือความสงบนิ่งได้ดีกว่าคำพูดใดๆ ด้วยการกระทำที่ไม่คำนึงถึงตนเองเช่นนี้ แทนที่จะเขียนตัวอักษรแบบไม่คิดอะไรหรือทำไปตามหน้าที่ เธอกลับเขียนด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยมและด้วยเจตนาแท้จริง
พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้เราใช้เวลากับพระองค์ด้วยความอุทิศตนจากใจจริงแบบนั้นเช่นเดียวกัน เมื่อเราทำเช่นนั้น การนมัสการจะเป็นการแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์
พระองค์ทรงปรารถนาให้เราสนทนากับพระองค์ ครั้งหนึ่งหลังจากข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนเปิดในการประชุมกับฝ่ายประธานสูงสุด ประธานเนลสันหันมาหาข้าพเจ้าและพูดว่า “ขณะที่คุณสวดอ้อนวอน ผมคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงชื่นชมเรามากขนาดไหนเมื่อเราจัดสรรเวลาจากตารางงานที่ยุ่งวุ่นวายเพื่อขอบคุณพระองค์” นี่เป็นคำเตือนใจที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังว่าการที่เราหยุดพักเพื่อสนทนากับพระบิดาบนสวรรค์นั้นมีความหมายต่อพระองค์มากเพียงใด
แม้จะทรงต้องการความสนใจจากเรามาก แต่พระองค์จะไม่ทรงบังคับให้เรามาหาพระองค์ พระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ตรัสกับชาวนีไฟว่า “กี่ครั้งกี่หนเล่าที่ เราอาจ รวมพวกเจ้าดังแม่ไก่รวมลูกของมัน, และ เจ้า หายอมไม่” พระองค์ตรัสต่อด้วยคำเชื้อเชิญอันเปี่ยมด้วยความหวังซึ่งใช้ได้กับเราในปัจจุบันด้วย: “กี่ครั้งกี่หนเล่าที่เรา จะ รวมเจ้าดังแม่ไก่รวมลูกเจี๊ยบมาไว้ใต้ปีกของมัน, หากเจ้าจะกลับใจและกลับมาหาเราด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว”
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เปิดโอกาสให้เรากลับไปหาพระองค์บ่อยๆ โอกาสเหล่านี้ ได้แก่ การสวดอ้อนวอนประจำวัน การศึกษาพระคัมภีร์ ศาสนพิธีศีลระลึก วันสะบาโต และการนมัสการในพระวิหาร จะเป็นอย่างไรถ้าเรานำโอกาสศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ออกจากรายการสิ่งที่ต้องทำไปใส่ไว้ในรายการสิ่งที่ “ไม่มีการทำ”—หมายถึงให้ใช้โอกาสเหล่านี้ด้วยความมีสติและความจดจ่อเช่นเดียวกับที่ซิสเตอร์วาดะใช้ในการเขียนอักษรวิจิตร?
ท่านอาจคิดว่า “ฉันไม่มีเวลาสำหรับเรื่องนั้น” ข้าพเจ้าเคยรู้สึกแบบนี้บ่อยครั้ง แต่ขอแนะนำว่าสิ่งที่จำเป็นอาจไม่ใช่เวลาที่มากขึ้นเสมอไป แต่เป็นการตระหนักรู้และจดจ่อไปที่พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นในช่วงเวลาที่เรากำหนดไว้ให้พระองค์
ตัวอย่างเช่น เมื่อสวดอ้อนวอน จะเป็นอย่างไรถ้าเราใช้เวลาน้อยลงในการพูด และใช้เวลามากขึ้นในการอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อเราพูด เราจะแสดงความสำนึกคุณและความรักจากใจจริงและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น?
ประธานเนลสันแนะนำว่าเราไม่เพียงแต่อ่านพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ควรลิ้มรสพระคัมภีร์ด้วย จะเกิดความแตกต่างอย่างไรหากเราอ่านน้อยลงแต่ลิ้มรสมากขึ้น?
จะเป็นอย่างไรถ้าเราเตรียมจิตใจให้พร้อมรับส่วนศีลระลึกและใคร่ครวญด้วยความยินดีถึงพรแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ระหว่างศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้?
ในวันสะบาโต ซึ่งในภาษาฮีบรูแปลว่า “พักผ่อน” จะเป็นอย่างไรถ้าเราพักผ่อนจากความกังวลอื่นๆ และใช้เวลาอย่างเงียบสงบกับพระเจ้าเพื่อแสดงความจงรักต่อพระองค์?
จะเป็นอย่างไรถ้าระหว่างการนมัสการในพระวิหาร เราพยายามตั้งใจฟังมากขึ้นหรือใช้เวลาอยู่ในห้องซีเลสเชียลเพื่อไตร่ตรองเงียบๆ นานขึ้นสักนิด?
เมื่อเรามุ่งเน้นน้อยลงที่การทำและมุ่งเน้นมากขึ้นที่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางพันธสัญญาของเรากับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แต่ละช่วงจะมีคุณค่ามากขึ้น และเราจะได้รับการชี้นำที่จำเป็นในชีวิตส่วนตัว เช่นเดียวกับมาร์ธาในเรื่องราวของลูกา เรามักจะ “กระวนกระวายและร้อนใจหลายอย่างเหลือเกิน” แต่เมื่อเราสนทนากับพระเจ้าในแต่ละวัน พระองค์จะทรงช่วยให้เราทราบถึงสิ่งจำเป็นที่สุด
แม้แต่พระผู้ช่วยให้รอดยังทรงสละเวลาจากการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสงบนิ่ง พระคัมภีร์เต็มไปด้วยตัวอย่างที่พระเจ้าเสด็จไปยังสถานที่โดดเดี่ยว—บนภูเขา ถิ่นทุรกันดาร สถานที่ไร้ผู้คน หรือเสด็จ “ไปห่าง”—เพื่อสวดอ้อนวอนต่อพระบิดา หากพระเยซูคริสต์ทรงแสวงหาเวลาเงียบสงบเพื่อสนทนากับพระผู้เป็นเจ้า และได้รับความเข้มแข็งจากพระองค์ เราก็ควรทำตามเช่นกัน
เมื่อเราทำให้ใจและความนึกคิดมุ่งไปที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ และฟังสุรเสียงอันสงบแผ่วเบาของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะมองเห็นชัดเจนมากขึ้นถึงสิ่งจำเป็นที่สุด มีความเห็นอกเห็นใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น และพบสันติและความเข้มแข็งในพระองค์ ความย้อนแย้งก็คือ การช่วยพระผู้เป็นเจ้าเร่งงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระองค์อาจเรียกร้องให้เราต้องช้าลง การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาอาจเพิ่มความโกลาหลให้กับชีวิตเรา และทำให้เราสูญเสียสันติสุขที่เราแสวงหา
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าเมื่อเรากลับมาหาพระเจ้าบ่อยๆ ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว เราจะรู้จักพระองค์ด้วย ความเงียบสงบ และ ความเชื่อมั่น และสัมผัสถึงความรักเชิงพันธสัญญาอันไม่มีขอบเขตที่ทรงมีต่อเรา
พระเจ้าทรงสัญญาว่า:
“จงเข้ามาอยู่ใกล้เราและเราจะเข้ามาอยู่ใกล้เจ้า; จงแสวงหาเราอย่างขยันหมั่นเพียรและเจ้าจะได้พบเรา”
“เจ้าจะแสวงหาเราและพบเราเมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสิ้นสุดใจของเจ้า”
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าสัญญานี้เป็นความจริง ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน