“ขั้นตอนที่ 2: เชื่อว่าเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าสามารถฟื้นฟูสุขภาพทางวิญญาณของเราให้สมบูรณ์ได้,” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)
“ขั้นตอนที่ 2,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด
ขั้นตอนที่ 2: เชื่อว่าเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าสามารถฟื้นฟูสุขภาพทางวิญญาณของเราให้สมบูรณ์ได้
หลักธรรมสําคัญ: ความหวัง
เมื่อเราสำนึกว่าเราไร้พลังเหนือการเสพติดของเรา พวกเราส่วนใหญ่รู้สึกหมดสิ้นความหวัง เราพยายามเลิกมาหลายครั้งแล้ว บางคนสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้านับครั้งไม่ถ้วน เราขอโทษสําหรับพฤติกรรมของเราและได้สัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เราเริ่มคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงผิดหวังในตัวเราและคงไม่ทรงช่วยเหลือเรา พวกเราที่เติบโตมาโดยไม่เชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า มั่นใจเหลือเกินว่าเราได้ลองหาทางช่วยเหลือทุกทางแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ขั้นตอนที่ 2 นําเสนอคําตอบที่เรามองข้ามหรือไม่เคยพิจารณาเลยนั่นคือ—การค้นหาความหวังในพระเยซูคริสต์และเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระองค์
ในที่สุดเราขอความช่วยเหลือด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยแสงแห่งความหวังอันริบหรี่ นำทางให้เราเริ่มต้นเข้าร่วมการประชุมบำบัด และพบปะกับผู้อุปถัมภ์ เมื่อมาการประชุมครั้งแรก เราเต็มไปด้วยความสงสัยและความกลัว เรากลัว เหนื่อย และอาจถึงกับเหยียดหยามแต่อย่างน้อยเราก็มา
ในการประชุมบําบัด ผู้คนบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่าชีวิตพวกเขาเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลง และการดำเนินชีวิตในช่วงการบำบัดเป็นอย่างไร เราพบว่าหลายคนที่เราได้พบเจอในที่ประชุมเหล่านี้เคยรู้สึกหมดหวังเหมือนที่เรารู้สึก แต่เมื่อเราไปเข้าร่วมการประชุมอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นหลายคนหัวเราะอย่างจริงใจ พูดคุย ยิ้มแย้ม และรู้สึกมองโลกในแง่ดีถึงอนาคต เราเห็นหลายคนประสบการเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังในชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาเช่นกัน
หลักธรรมที่พวกเขาแบ่งปันและปฏิบัติเริ่มได้ผลกับเราทีละน้อย เมื่อเราเข้าร่วมการประชุมบ่อยๆ เราเริ่มรู้สึกถึงบางสิ่งที่ไม่ได้รู้สึกมาหลายปี—นั่นคือความหวัง หากผู้อื่นที่เคยตกต่ำจนเกือบพังพินาศยังมีความหวังได้ บางทีเราคงมีโอกาสเช่นเดียวกัน เราเริ่มเชื่อว่าหากเราหันไปหาพระเยซูคริสต์ “จะไม่มีนิสัยใด ไม่มีการเสพติดใด ไม่มีการขัดขืนใด ไม่มีการล่วงละเมิดใด และไม่มีความผิดใดที่เราจะได้รับการให้อภัยอย่างสมบูรณ์ไม่ได้” (Boyd K. Packer, “The Brilliant Morning of Forgiveness,” Ensign, Nov. 1995, 19)
ในบรรยากาศแห่งศรัทธาและประจักษ์พยานนี้ เราพบความหวังที่เริ่มปลุกเราให้ตื่นสู่พระเมตตาและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า เราเริ่มเชื่อว่าพระองค์ทรงสามารถปลดปล่อยเราจากพันธนาการของการเสพติดได้ เราทําตามแบบอย่างของเพื่อนที่กำลังบำบัด เราเริ่มปฏิบัติตามขั้นตอน ได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น—รวมถึงผู้อุปถัมภ์ของเรา—และเข้าร่วมการประชุมบำบัด เมื่อเราสวดอ้อนวอน ไตร่ตรอง และประยุกต์ใช้พระคัมภีร์ เราเริ่มกลับมามีส่วนร่วมในศาสนจักร ปาฏิหาริย์ของเราเริ่มเกิดขึ้น และเราพบว่าตัวเราได้รับพรด้วยพระคุณของพระเยซูคริสต์ที่ช่วยให้เราสามารถละเลิกได้ในแต่ละวัน
เมื่อเราปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 2 เราเต็มใจแทนที่ความเชื่อมั่นในตัวเองและสิ่งที่เราเสพติดอยู่ด้วยศรัทธาในความรักและเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ เราปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ในความคิดและในใจเราด้วยการสนับสนุนจากผู้อื่น และเราเรียนรู้ว่ารากฐานของการบําบัดจากการเสพติดต้องเป็นรากฐานทางจิตวิญญาณ จากนั้นเมื่อเรามุ่งหน้าและปฏิบัติแต่ละขั้นตอนที่แนะนําในคู่มือเล่มนี้ ลักษณะทางวิญญาณของการบำบัดจะค่อยๆ เป็นจริงต่อเรา
โปรแกรมนี้เป็นเรื่องทางวิญญาณ และเป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ สำหรับพวกเราและอีกมากมาย การบำบัดนับเป็นความพยายามที่คุ้มค่าทุกประการ เมื่อเราประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้และให้มีผลในชีวิตเรา เราจะกลับคืนสู่จิตใจที่มั่นคงและสุขภาพทางวิญญาณที่สมบูรณ์ เราพบความสัมพันธ์ที่จริงใจกับตัวเราเอง กับผู้อื่น และกับพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์
สำหรับบางคน ปาฏิหาริย์แห่งการบำบัดดูเหมือนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับคนอื่นๆ การบำบัดอาจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด สิ่งสําคัญคือเรายังคง ฝึก เชื่อและวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทําเพื่อเราในสิ่งที่เราทําด้วยตนเองไม่ได้ ในที่สุดเราสามารถพูดได้ว่าด้วย “ความแน่วแน่ในพระคริสต์” เราจึงได้รับการช่วยเหลือจากการเสพติดและมี “ความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง” (2 นีไฟ 31:20)
พระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเรา และพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ ทรงอยู่กับเราทุกขั้นตอนของการบำบัด พระองค์ทรงช่วยบํารุงเลี้ยงและทำให้เรามีความหวังมากขึ้นในพระคริสต์ ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนว่า
“สำหรับท่านที่ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดชนิดใดก็ตาม มีความหวังเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงรักบุตรธิดาทุกคนของพระองค์และเพราะการชดใช้ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์จึงทำให้ทุกสิ่งอยู่ในวิสัยที่ทำได้
“ข้าพเจ้าเห็นพรอันน่าอัศจรรย์ของการบำบัดที่ทำให้คนๆ หนึ่งเป็นอิสระจากโซ่ตรวนของการเสพติดมาแล้ว พระเจ้าทรงเป็นพระเมษบาลของเราและเราจะไม่ขัดสนเมื่อเราวางใจในอำนาจแห่งการชดใช้ [ของพระองค์] ข้าพเจ้ารู้ว่าพระเจ้าทรงสามารถและจะทรงปลดปล่อยให้ผู้เสพเป็นอิสระจากพันธนาการ เพราะดังที่อัครสาวกเปาโลประกาศ ‘ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า’ (ฟีลิปปี 4:13)” (“โอ้แผนการอันแยบยลของมารร้ายนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 140)
หากเรากลับมาเสพซ้ำ เราจะพบคุณค่าอย่างยิ่งในการหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าและพูดคุยกับผู้อุปถัมภ์ของเรา เราอาจถูกล่อลวงให้ละทิ้งความหวังทั้งหมด แต่การกลับมาเสพซ้ำไม่ได้ทําลายความก้าวหน้าที่เราทํา และไม่จําเป็นต้องทําลายความหวังของเรา อาการกลับไปเสพซ้ำเป็นเครื่องเตือนสติที่ทรงพลังให้เราเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องยังคงเข้าร่วมการประชุมบำบัด หาความช่วยเหลือจากผู้อุปถัมภ์และผู้อื่น ยอมต่อพระผู้เป็นเจ้า และดำเนินตามขั้นตอนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเรามุ่งหน้าต่อไป เราเริ่มรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ในชีวิตเรา เราสามารถงดเว้นได้ดีขึ้น และความหวังของเราก็เพิ่มพูนขึ้น
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า “เราอาจคิดผิดๆ ว่าพรและของประทานเช่นนั้นสงวนไว้ให้คนอื่นที่ดูเหมือนมีความชอบธรรมมากกว่า หรือรับใช้ในการเรียกของศาสนจักรที่เห็นได้ชัดเจน ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้ามีให้ทุกคนและพระผู้ไถ่แห่งอิสราเอลทรงหมายมั่นจะมอบของประทานนั้นให้เรา” (“พระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 125) พระเยซูคริสต์จะประทานพระเมตตาอันละเอียดอ่อนมากมายแก่เราในการเดินทางสู่การบําบัด หนึ่งในพระเมตตาที่สําคัญที่สุดคือความหวังว่าเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าจะฟื้นฟูเราให้มีสุขภาพทางวิญญาณที่สมบูรณ์
ขั้นตอนการปฏิบัติ
นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่า “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา
พัฒนาความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระผู้เป็นเจ้า
ความละอายใจของเรามักจะขัดขวางความเข้าใจพระอุปนิสัยและความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา ความเจ็บปวดและการเสพติดทําให้เรามืดบอด และมักมองว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่เคียดแค้น ผิดหวัง หรือพิโรธเรา จุดประสงค์ของขั้นตอนปฏิบัตินี้คือเพื่อตัดความคิดที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าออกไปและพัฒนาความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความรัก ความเมตตา ความเต็มพระทัย และความปรารถนาของพระองค์ที่จะประทานพรเรา
อันดับแรก สิ่งสำคัญคือการเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตอยู่แม้เราจะไม่รู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระองค์ก็ตาม การทําความรู้จักพระผู้เป็นเจ้าต้องใช้ความพยายามอย่างมากและจำเป็นต้องอดทน อาจเป็นเรื่องยากเมื่อเราเคยชินกับความพึงพอใจในทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะสามารถเริ่มมองเห็นและสัมผัสได้ถึงพระคุณลักษณะอันสูงส่งของพระองค์ เราจะรู้จักพระผู้เป็นเจ้าดีขึ้น
เราสามารถทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้เราเข้าใจพระคุณลักษณะของพระองค์มากขึ้น เราสามารถมองหาความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเราและเห็นว่าพระองค์ทรงทำมากมายเพียงใดเพื่อเรา เราสามารถศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับพระเมตตาและพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอด และจากนั้นพูดคุยเกี่ยวกับพระคัมภีร์เหล่านี้กับผู้อุปถัมภ์และผู้อื่นที่ช่วยเหลือเรา
เมื่อเราเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความรักและพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เราจะเริ่มมีความมั่นใจและมีความหวังมากขึ้นในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่จะปลดปล่อยเรา ประธานเจ. รูเบน คลาร์ก จูเนียร์เป็นพยานถึงพระเมตตาของพระบิดาบนสวรรค์โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการช่วยบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ให้รอด … ข้าพเจ้าเชื่อว่าในความยุติธรรมและพระเมตตาของพระองค์ พระองค์จะประทานรางวัลสูงสุดสําหรับการกระทําของเรา ประทานทุกอย่างเท่าที่พระองค์จะประทานให้ได้ และในทางกลับกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์จะทรงกําหนดโทษให้เราต่ำสุดเท่าที่พระองค์จะทรงกําหนดได้” (ใน Conference Report, Oct. 1953, 84)
สวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดกล่าวว่า “ถ้าผู้เสพปรารถนาจะเอาชนะ ย่อมมีวิธีสู่เสรีภาพทางวิญญาณ—วิธีหนีจากพันธนาการ—วิธีที่พิสูจน์แล้ว เริ่มด้วยการสวดอ้อนวอน—การสื่อสารที่จริงใจ จริงจัง และสม่ำเสมอกับพระผู้สร้างวิญญาณและร่างกายของเรา พระบิดาบนสวรรค์ของเรา” (“โอ้ แผนการอันแยบยลของมารร้ายนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 139)
เมื่อเราละทิ้งความจองหองและพยายามทำให้ดีที่สุดในแต่ละวัน เราย่อมปรารถนาที่จะสวดอ้อนวอนเพื่อขอการชี้ทางและการนำทางจากพระบิดาบนสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยความรัก บางคนไม่เคยสวดอ้อนวอนหรือพิจารณาพระคัมภีร์จริงๆ บางคนถูกล่อลวงให้เลิกสวดอ้อนวอนหรือเลิกศึกษา เราเข้าใจผิดคิดว่าความพยายามเหล่านี้ไม่ได้ผล เพราะเราไม่รู้สึกใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าหรือเพราะเรายังคงต่อสู้กับการเสพติด
เราพบว่าหนึ่งในกุญแจสู่ความสําเร็จคือการใช้เครื่องมือทางวิญญาณเหล่านี้ต่อไป การสวดอ้อนวอนออกเสียง การสวดอ้อนวอนด้วยความสํานึกคุณที่เรียบง่ายตลอดทั้งวัน และการสวดอ้อนวอนให้ผู้อื่นเป็นแนวทางปฏิบัติใหม่ที่มีประสิทธิภาพสําหรับพวกเราหลายคน วิธีหนึ่งในการเพิ่มพลังของการสวดอ้อนวอนคือการแสดงความกังวลของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น แม้เราสารภาพต่อพระบิดาบนสวรรค์ถึงความไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงของเรา แต่ความเต็มใจของเรากลับแข็งแกร่งขึ้น เรายังสัมผัสกับการกระตุ้นเบาๆ และเรียบง่ายจากพระวิญญาณบริสุทธิ์บ่อยขึ้น เราเริ่มทูลถามพระผู้เป็นเจ้าว่าเราจะทําตามขั้นตอนเล็กๆ อะไรบ้างในแต่ละวัน แทนที่จะขอเพียงแค่ให้พระองค์ทรงขจัดความท้าทายและการเสพติดของเราออกไปทันที
ในที่สุดความปรารถนาจะสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้านําเราให้ศึกษาถ้อยคําของศาสดาพยากรณ์สมัยปัจจุบันและสมัยโบราณ การศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน การแสวงหาคำตอบสำหรับคำถามของเรา และการบันทึกการกระตุ้นจากพระวิญญาณ ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามีความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถและจะทรงช่วยเหลือเรา
จุดเริ่มต้นที่ดีในการศึกษาพระวจนะของพระเจ้าคือพระคัมภีร์และข้อความอ้างอิงที่ปรากฏอยู่ท้ายบทในคู่มือเล่มนี้ พระคัมภีร์และข้อความอ้างอิงแต่ละข้อได้รับการคัดสรรโดยคํานึงถึงการบำบัด และคําถามแต่ละข้อนั้นถามด้วยความหวังว่าจะช่วยเราประยุกต์ใช้พระคัมภีร์และข้อความอ้างอิงกับชีวิตเรา เราพบว่าการใช้เวลาแม้ไม่กี่นาทีทุกวันเพื่อแสวงหาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาจะสื่อสารกับเรานั้นให้ผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ เราเป็นพยานถึงความจริงนี้ “แท้จริงแล้ว, เราจึงเห็นว่าผู้ใดก็ตามที่ปรารถนาก็อาจยึดมั่นในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า, ซึ่งมีชีวิตและทรงพลัง, ซึ่งจะแยกกลโกงและบ่วงและกลอุบายของมารทั้งหมดออกจากกัน” (ฮีลามัน 3:29)
ศึกษาและทำความเข้าใจ
พระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรสามารถช่วยเราในการบําบัดการเสพติด เราสามารถใช้ในการไตร่ตรอง การศึกษา และการจดบันทึก เราต้องจําไว้ว่าต้องซื่อสัตย์และเฉพาะเจาะจงในการจดบันทึกเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากบันทึกนั้น
จงเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า
“จงเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า; จงเชื่อว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่, และว่าพระองค์ทรงสร้างสิ่งทั้งปวง, ทั้งในฟ้าสวรรค์และในแผ่นดินโลก; จงเชื่อว่าพระองค์ทรงมีปรีชาญาณทั้งหมด, และเดชานุภาพทั้งหมด, ทั้งในฟ้าสวรรค์และในแผ่นดินโลก; จงเชื่อว่ามนุษย์ไม่เข้าใจทุกสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงเข้าพระทัยได้” (โมไซยาห์ 4:9)
-
พยานหลายคนในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกเป็นพยานถึงการดํารงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ฉันเคยประสบพบเจอหลักฐานใดบ้างที่แสดงถึงพระผู้เป็นเจ้าและความรักของพระองค์?
เพิ่มพูนศรัทธาในพระเยซูคริสต์
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “จงเริ่มเพิ่มพูนศรัทธาของท่านตั้งแต่วันนี้ โดยผ่านศรัทธาของท่าน พระเยซูคริสต์จะทรงเพิ่มความสามารถให้ท่านเคลื่อนภูเขาในชีวิตได้” (“พระคริสต์ทรงฟื้น: ศรัทธาในพระองค์จะเคลื่อนภูเขา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 101)
หลายคนพยายามบําบัดจากการเสพติดด้วยความตั้งใจจริงหรือการมีศรัทธาในเพื่อนหรือนักบําบัด ไม่นานเราจะพบว่าศรัทธาในตัวเราเองหรือผู้อื่นไม่ได้ทําให้เราเอาชนะการเสพติดได้อย่างเต็มที่ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการเยียวยาเราเป็นรากฐานในการบำบัดของเรา
-
วันนี้ฉันรู้สึกอย่างไรกับการหันไปพึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอดในกระบวนการบำบัดของฉัน?
-
สิ่งใดช่วยให้ฉันมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์?
-
ผู้อุปถัมภ์ ผู้นำศาสนจักร และคนอื่นๆ แนะนำให้ฉันทำอะไรบ้างเพื่อช่วยเสริมสร้างศรัทธาของฉัน?
พลังและแรงแห่งความหวัง
เมื่อเรามีความหวังในใจและความคิด เราจะมุ่งมั่นอย่างแจ่มใสไปยังการกระทำในอนาคต ความหวังนํามาซึ่งความเข้มแข็งและความมั่นใจที่มั่นคงซึ่งไม่ใช่การมองโลกในแง่ดีชั่วครู่ชั่วยาม ความหวังยังเป็นแหล่งของสันติสุข ความสงบ และความมั่นคงทางอารมณ์ในขณะที่เราก้าวหน้าผ่านการบําบัดการเสพติด
เกี่ยวกับหลักธรรมนี้ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “ความหวังยิ่งใหญ่กว่าความปรารถนาอันเปี่ยมด้วยความปรารถนา ความหวังที่เสริมด้วยศรัทธาและจิตกุศลหล่อหลอมพลังที่แข็งแกร่งดั่งเหล็กกล้า ความหวังเป็นสมอยึดจิตวิญญาณ … หากเราจะยึดสมอแห่งความหวัง สมอนั้นจะเป็นเครื่องป้องกันเรา ตลอดไป” (“A More Excellent Hope” [คำปราศรัยการให้ข้อคิดทางวิญญาณมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 8 ม.ค., 1995], 3, speeches.byu.edu)
-
ครั้งใดที่ฉันรู้สึกมีพลังและความมั่นใจเพราะความหวังในพระคริสต์?
-
ช่วงเวลานั้นฉันปฏิบัติกิจกรรมทางวิญญาณและลงมือทำอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน?
-
การมีความหวังส่งผลต่อความคิด อารมณ์ และวิญญาณของฉันอย่างไร? การมีความหวังส่งผลต่อเป้าหมายและแผนในอนาคตของฉันอย่างไร?
-
การมีความหวังส่งผลต่อความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ของฉันกับคนที่รักและห่วงใยฉันอย่างไร?
รายการความสํานึกคุณ
วิธีหนึ่งที่จะมองเห็นพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตของเราคือการไตร่ตรองและเขียนบันทึกเกี่ยวกับพรอันประเสริฐของเราอย่างสม่ำเสมอ เราจะเข้าใจความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อเราได้ดีขึ้นโดยมองหาหลักฐานความรักและเดชานุภาพของพระองค์ในชีวิตเรา
-
ฉันสํานึกคุณต่อสิ่งใด?
-
มีสิ่งดีๆ อะไรบ้างที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของฉัน?
-
ฉันเคยเห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตฉันอย่างไร?
ยึดมั่นในความหวังแม้จะกลับไปเสพซ้ำ
เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนว่า “‘วิสุทธิชนคือคนบาปที่พยายามต่อไป’ … พระผู้เป็นเจ้าทรงห่วงใยว่าเราเป็นใครและเราจะเป็นใคร มากกว่าที่เราเคยเป็นใครมาก่อน พระองค์ทรงใส่ใจว่าเรายังคงพยายามต่อไป” (“วิสุทธิชนยุคสุดท้ายพยายามต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 56) ทุกคนย่อมเคยรู้สึกหมดหวังบ้างในบางครั้ง เมื่อเราพยายามบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรากลับไปเสพซ้ำ แต่ความหวังและการบำบัดของเรามีพื้นฐานมาจากความก้าวหน้ามากกว่าความสมบูรณ์แบบ การกลับมาเสพซ้ำไม่ได้เป็นการลบล้างความพยายามหรือแรงผลักดันก่อนหน้านี้ของเราในการหันไปหาพระเยซูคริสต์ เราสามารถเรียนรู้ที่จะรักษาความหวังของเราในพระคริสต์แม้เมื่อเรากลับไปเสพซ้ำ
-
ฉันพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นและก้าวหน้าไปในด้านใดบ้าง?
-
เมื่อเร็วๆ นี้ฉันได้รับชัยชนะหรือความสําเร็จอะไรบ้างในชีวิต?
-
ผู้อุปถัมภ์ ผู้นําศาสนจักร สมาชิกครอบครัว และเพื่อนๆ พูดถึงความพยายามและความก้าวหน้าของฉันอย่างไร?
พระองค์ทรงสามารถปลดปล่อยเราให้พ้นจากพันธนาการ
“แต่หากท่านจะหันมาสู่พระเจ้าด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว, และมอบความไว้วางใจในพระองค์, และรับใช้พระองค์ด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถแห่งจิตใจ, หากท่านทำเช่นนี้, พระองค์จะทรง, ปลดปล่อยท่านให้พ้นจากความเป็นทาส, ตามพระประสงค์และความพอพระทัยของพระองค์” (โมไซยาห์ 7:33)
-
สิ่งใดช่วยให้ฉันมีศรัทธามากขึ้นในคําสัญญาที่ว่าพระเยซูคริสต์จะทรงปลดปล่อยฉัน?
-
ฉันจะหันมาหาพระเยซูคริสต์ วางใจพระองค์ และรับใช้พระองค์ด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถได้อย่างไร? ฉันสามารถปรับปรุงสิ่งใดเป็นพิเศษได้บ้าง?
-
การรอคอยพระเยซูคริสต์ให้ทรงปลดปล่อยฉัน “ตามพระประสงค์และความพอพระทัยของพระองค์เอง” หมายความว่าอย่างไร?