“ขั้นตอนที่ 9: ชดเชยให้โดยตรง เท่าที่จะเอื้ออำนวยได้ แก่บุคคลทั้งหมดที่เราเคยกระทำผิดไว้” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)
“ขั้นตอนที่ 9,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด
ขั้นตอนที่ 9: ชดเชยให้โดยตรง เท่าที่จะเอื้ออำนวยได้ แก่บุคคลทั้งหมดที่เราเคยกระทำผิดไว้
หลักธรรมสําคัญ: การชดใช้
เมื่อเราก้าวต่อไปสู่ขั้นตอนที่ 9 เราพร้อมที่จะแสวงหาการให้อภัย เช่นเดียวกับพวกบุตรของโมไซยาห์ที่กลับใจผู้ “ขวนขวายอย่างจริงจังที่จะแก้ความเสียหายทั้งหมดที่พวกเขาได้ทำไว้” (โมไซยาห์ 27:35) เราเองก็ปรารถนาจะชดใช้เช่นกัน แต่เมื่อเราเผชิญกับขั้นตอนที่ 9 เรารู้ว่าเราไม่สามารถทําตามความปรารถนาของเราได้เว้นแต่พระผู้เป็นเจ้าจะประทานพระวิญญาณของพระองค์แก่เรา เราต้องอาศัยความกล้าหาญ วิจารณญาณที่ดี ความละเอียดอ่อน ความสุขุม และจังหวะเวลาที่เหมาะสม พวกเราส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ในเวลานั้น เราตระหนักว่าขั้นตอนที่ 9 จะทดสอบความเต็มใจของเราอีกครั้งที่จะนอบน้อมถ่อมตนและแสวงหาความช่วยเหลือและพระคุณของพระเจ้า
เนื่องจากประสบการณ์ของเราในกระบวนการที่ท้าทายนี้ เราจึงมีข้อเสนอแนะบางประการ สําคัญมากที่เราต้องไม่หุนหันพลันแล่นหรือประมาทเลินเล่อขณะพยายามชดใช้ สำคัญไม่แพ้กันที่เราต้องไม่ผัดวันประกันพรุ่ง หลายคนที่อยู่ในช่วงการบำบัดกลับไปเสพซ้ำอีกครั้งเมื่อปล่อยให้ความกลัวทำให้พวกเขาไม่ยอมชดใช้ เราต้องสวดอ้อนวอนขอการนําทางจากพระเจ้าว่าจะชดใช้เมื่อใดและอย่างไร นอกจากนี้ การพูดคุยกับผู้อุปถัมภ์ ผู้นําศาสนจักร หรือคนที่เราไว้วางใจก็เป็นประโยชน์เช่นกัน
บางครั้งเราอาจถูกล่อลวงให้หลีกเลี่ยงการพบปะกับบุคคลในรายชื่อของเรา อย่างไรก็ดี เราขอแนะนําให้ท่านต้านทานการล่อลวงนี้ เว้นแต่ข้อจํากัดทางกฎหมายจะขัดขวางท่านจากการพบปะพูดคุยกับใครสักคน เมื่อเรานอบน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ และพยายามพบหน้ากันตามสมควร เราจะสามารถแก้ไขความสัมพันธ์ที่เสียหายได้ เราแจ้งให้ผู้คนทราบว่าเรากําลังติดต่อพวกเขาเพื่อทําการชดใช้ เราเคารพความต้องการของพวกเขาหากพวกเขาบอกว่าไม่ต้องการพูดคุยเรื่องนี้ ถ้าพวกเขาให้โอกาสเราขอโทษ เราจะพูดกระชับและเจาะจงเกี่ยวกับสถานการณ์ เราระมัดระวังที่จะไม่แก้ตัวหรือบงการคนที่เราเข้าไปหา จุดประสงค์ของการชดใช้ไม่ใช่เพื่อแก้ต่างให้พฤติกรรมของเราหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น แต่จุดประสงค์คือยอมรับความผิดของเรา ขอโทษ และชดใช้เมื่ออยู่ในวิสัยที่ทําได้ เราไม่โต้เถียงกับใคร แม้ว่าการตอบสนองของพวกเขาจะไม่เป็นที่พอใจหรือยอมรับได้ก็ตาม เราเข้าหาแต่ละคนอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและเสนอการคืนดี ไม่ใช่การแก้ตัว
อาจเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งที่จะขอโทษสําหรับการกระทําบางอย่าง ตัวอย่างเช่น เราอาจต้องจัดการกับเรื่องที่อาจส่งผลทางกฎหมาย เช่น การขโมยหรือการกระทําทารุณกรรม เราอาจถูกล่อลวงให้ตอบสนองเกินเหตุ หาข้ออ้าง หรือหลีกเลี่ยงการชดใช้ เราสวดอ้อนวอนขอคำแนะนำจากผู้นำทางศาสนาหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจัง ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ในกรณีที่ร้ายแรงเหล่านี้
ในกรณีอื่นๆ เราอาจไม่สามารถชดใช้โดยตรงได้ บุคคลนั้นอาจเสียชีวิตแล้ว หรือเราอาจไม่รู้ว่าเขาอาศัยอยู่ที่ใด ในกรณีเช่นนี้เรายังสามารถชดใช้ทางอ้อมได้ เราสามารถเขียนจดหมายแสดงความเสียใจและความปรารถนาที่จะคืนดีแม้ว่าจะไม่สามารถส่งจดหมายได้ก็ตาม เราสามารถหาคนที่ทำให้เราคิดถึงบุคคลนั้นและทำบางสิ่งเพื่อช่วยเหลือเขาหรือเราสามารถทำบางสิ่งโดยไม่เปิดเผยชื่อเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลนั้น
ในบางกรณี เราอาจทําสิ่งที่ร้ายแรงเกินกว่าจะแก้ได้ เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นสอนว่า:
“มีความผิดมากมายที่คนที่ทําร้ายหรือทําให้ขุ่นเคืองไม่สามารถแก้ไขได้ดี และมีความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ แต่อย่าเพิกเฉยต่อการชดใช้ด้วยความเอื้อเฟื้อที่ท่านทําได้ ความทุกข์ที่ท่านบรรเทาลงได้ แม้ว่าความรัก ความบริสุทธิ์ คุณธรรม ความไว้วางใจ และความเคารพอาจนํากลับคืนมาไม่ได้หากปราศจากการแทรกแซงของพระเจ้า … สําหรับบาปบางอย่าง วิธีเดียวที่จะชดใช้คืนได้มาจากการเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่นและเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าในการนําคุณงามความดีและพระคุณของพระองค์ไปสู่ผู้อื่น” (The Divine Gift of Forgiveness [2019], 218, 221)
นับจากวินาทีที่เราตัดสินใจนําหลักธรรมที่แท้จริงเหล่านี้มาใช้กับวิถีชีวิตใหม่ของเรา เราก็เริ่มแก้ไขการดําเนินชีวิต เราปรับเปลี่ยนวิธีดําเนินชีวิต และเมื่อเราดําเนินชีวิตในการบําบัด ก็จะเป็นพรแก่ทุกคนรอบข้างเรา
อาจมีสถานการณ์ที่การเข้าหาบุคคลอื่นเพื่อชดใช้จะทําให้บุคคลนั้นเจ็บปวดหรืออาจเป็นอันตรายได้ หากท่านคิดว่าอาจเป็นกรณีนี้ ให้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์กับผู้อุปถัมภ์หรือที่ปรึกษาที่ท่านไว้วางใจ ขั้นตอนการบำบัดนี้ไม่ควรทำให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวดหรือทุกข์ใจเพิ่มขึ้น
หลังจากชดใช้กับการกระทำในอดีตส่วนใหญ่แล้ว อาจยังมีคนหนึ่งหรือสองคนที่เรารู้สึกว่าไม่สามารถเผชิญหน้าได้ หลายคนในกลุ่มเราประสบกับความจริงนี้ เราขอแนะนําให้ท่านหันไปหาพระเจ้าในการสวดอ้อนวอนอย่างซื่อสัตย์ ถ้าท่านยังมีความกลัวหรือโกรธบางคน ท่านควรเลื่อนการพบปะกับเขาออกไป เราเอาชนะความรู้สึกด้านลบได้โดยสวดอ้อนวอนขอจิตกุศลเพื่อจะมองบุคคลนั้นดังที่พระเจ้าทรงมองเขา เราสามารถมองหาเหตุผลเชิงบวกว่าทำไมการชดใช้และการคืนดีจึงช่วยได้ ถ้าเราทําสิ่งเหล่านี้และอดทน พระเจ้าสามารถและจะประทานโอกาสอันน่าอัศจรรย์แก่เราในการขออภัยจากทุกคนในรายชื่อของเรา—ในวิธีและเวลาของพระองค์เอง
ในบางกรณี บุคคลนั้นจะไม่ให้อภัยหรือไม่สามารถให้อภัยเราได้ คนอื่นอาจให้อภัยเราแต่ไม่ต้องการคืนดีหรือมีความสัมพันธ์กับเรา แม้ว่าสิ่งนี้อาจทำให้เราท้อแท้หรือเจ็บปวด แต่สิ่งสําคัญคือต้องเคารพความรู้สึกของพวกเขาและให้เกียรติสิทธิ์เสรีของพวกเขา ขั้นตอนที่ 9 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทําส่วนของเราเพื่อชดใช้ ขั้นตอนนี้ไม่จําเป็นต้องให้อีกฝ่ายให้อภัยหรือคืนดีกับเรา ขณะที่เราทําส่วนของเราในความพยายามอย่างซื่อสัตย์ที่จะชดใช้ เราจะปฏิบัติขั้นตอนที่ 9 และมุ่งหน้าในการเดินทางแห่งการบำบัดของเรา
ขั้นตอนการปฏิบัติ
นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่า “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา
เข้าหาผู้อื่น
ในขั้นตอนที่ 8 เราทํารายชื่อและพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าจะเข้าไปหาคนในรายชื่อเมื่อใดและอย่างไร เราพูดคุยแผนการของเรากับผู้อุปถัมภ์หรือที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ จากนั้นเราก็พร้อมสำหรับขั้นตอนที่ 9—ซึ่งคือการติดต่อผู้คนที่อยู่ในรายชื่อของเรา (ถ้าเป็นไปได้และเหมาะสม) เมื่อเราติดต่อผู้คนเพื่อทําการชดใช้ เราไม่ต้องลงรายละเอียดมากเกี่ยวกับการเสพติดของเรา แต่เราควรบอกรายละเอียดมากพอจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจดีขึ้นว่าเหตุใดเราจึงต้องพูดกับพวกเขา
เราสารภาพผิดและถามว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ พวกเขาจะให้อภัยเราหรือไม่ขึ้นอยู่กับพวกเขา คนที่เราเข้าหาอาจมีคำถามที่เหมาะสมให้เราตอบ อย่าลืมตอบคําถามของพวกเขาในลักษณะที่จะไม่ทําลายความสัมพันธ์ไปมากกว่านี้ หากท่านมีข้อสงสัยใดๆ ให้บอกพวกเขาไปว่าท่านอยากคิดเรื่องนี้เพิ่มเติมและจะติดต่อกลับไป จากนั้นท่านสามารถพูดคุยกับผู้อุปถัมภ์หรือที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ว่าจะตอบคําถามเหล่านี้อย่างไรและเมื่อใด
บางครั้งเราอาจมีอารมณ์ระหว่างกระบวนการนี้ เราสวดอ้อนวอนและทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าให้สงบนิ่งและจดจ่อกับจุดประสงค์ของการเยี่ยม เราอาจอยากหาเหตุผลให้ตัวเราเองหรืออธิบายการกระทำของเราโดยพูดถึงหรือเน้นสิ่งที่คนอื่นทำ แต่เราควรต้านทานความคิดนี้ เราต้องมุ่งเน้นการชดใช้สำหรับการกระทํา ของเรา
เราสนทนากันว่าเราจะทําอะไรได้บ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายให้กับผู้ที่เราทําผิด ตัวอย่างเช่น หากเราจําเป็นต้องชดใช้โดยจ่ายเงินคืน บุคคลนั้นอาจยกหนี้ ขอเงินต้น หรือขอดอกเบี้ย เราอาจไม่จำเป็นต้องตอบสนองความคาดหวังของพวกเขา แต่สิ่งสำคัญคือการเข้าใจว่าคนๆ นั้นรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรเพื่อชดใช้ และเราควรพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอน
หลังจากชดใช้แล้ว เราจะกรอกข้อมูลในสองคอลัมน์สุดท้ายของแผนผังที่เราสร้างขึ้นในขั้นตอนที่ 4 (ดูตัวอย่างแผนผังได้ในภาคผนวก) เราใส่วันที่ของการติดต่อแต่ละครั้ง การชดใช้ที่เราทํา และผลลัพธ์ จากนั้นเราจะหารือเกี่ยวกับผลลัพธ์กับผู้อุปถัมภ์ของเรา เราตระหนักว่าเราพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติกับผู้คนที่อยู่ในรายชื่อของเรา เราทําสุดความสามารถแล้วเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง และเราสามารถวางใจพระเจ้าให้ทรงเยียวยาสิ่งที่เราเยียวยาไม่ได้ สันติสุขเกิดจากความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า คนอื่นๆ มีสิทธิ์เสรีที่จะตอบรับตามที่พวกเขาต้องการ
ตระหนักถึงพรของการบำบัด
ขณะที่เรารวบรวมความกล้าหาญเพื่อชดใช้ การสำรวจพรที่เราได้รับจากการปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ จนถึงจุดนี้เป็นสิ่งที่สร้างกำลังใจให้เรา เราเริ่มตระหนักว่าพรของการบำบัดนั้นเกินความคาดหวังของเรามาก เราขอแนะนําให้ท่านเริ่มทํารายการการเปลี่ยนแปลงในชีวิตท่าน นี่คือการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เราสังเกตเห็นในตัวเราเมื่อเรามาถึงจุดนี้ในการบำบัดของเรา:
-
เรารู้สึกถึงความรักที่สมบูรณ์แบบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา
-
เรารู้สึกถึงปีติ ความสุข และอิสรภาพใหม่ในชีวิตเรา
-
เราเข้าใจผู้คน ความสัมพันธ์ และสถานการณ์ด้วยมุมมองที่ลึกซึ้งขึ้นและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น
-
เรามีทิศทางและจุดประสงค์ใหม่สําหรับชีวิตเรา
-
เรารู้สึกถึงการยอมรับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและรักตนเองและผู้อื่น
-
เราคิดถึงตนเองน้อยลงและจดจ่อมากขึ้นกับการรับใช้คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา
-
เราสัมผัสถึงการชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระเยซูคริสต์ได้อย่างลึกซึ้ง และเป็นส่วนตัวมากขึ้น
-
เรามีความหวังและศรัทธามากขึ้นสําหรับอนาคตนิรันดร์ของเรา
-
เรามีความกลัวน้อยลงเกี่ยวกับชีวิตและสถานการณ์ทางการเงิน
-
เรารู้สึกว่าได้รับการให้อภัยและเราสามารถให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายขึ้น
-
เราเชื่อว่าด้วยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถทำสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง
ศึกษาและทำความเข้าใจ
พระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรสามารถช่วยเราในการบําบัดการเสพติด เราสามารถใช้ในการไตร่ตรอง การศึกษา และการจดบันทึก เราต้องจําไว้ว่าต้องซื่อสัตย์และแน่วแน่ในงานเขียนของเราเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานเขียนนั้น
เป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่น
“พระวิญญาณของพระเจ้าตรัสกับพ่อ: จงสั่งลูกๆ ของเจ้าให้ทำความดี, เกลือกพวกเขาจะชักนำใจผู้คนเป็นอันมากไปสู่ความพินาศ; ฉะนั้นพ่อสั่งเจ้า, ลูกพ่อ, ด้วยความเกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้า, ให้ลูกละเว้นจากความชั่วช้าสามานย์ของลูก;
“ให้ลูกหันไปหาพระเจ้าด้วยสุดความนึกคิด, พลัง, และพละกำลังทั้งหมดของลูก; มิให้ลูกชักนำใจผู้ใดให้ประพฤติชั่วร้าย; แต่ตรงกันข้ามจงกลับไปหาพวกเขา, และยอมรับความผิดพลาดของลูกและความผิดนั้นที่ลูกทำไป” (แอลมา 39:12–13)
ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งของพฤติกรรมการเสพติดของเรา คือเราอาจมีส่วนทำให้ผู้อื่นเสพติดตามไปด้วย
-
ใครบ้างในชีวิตของฉันที่ฉันส่งอิทธิพลแบบนี้?
-
ตามคําสอนของแอลมาในข้อเหล่านี้ ฉันจะพบความกล้าหาญที่จะชดใช้คนเหล่านี้ได้จากที่ใด?
ถูกโน้มน้าวใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ
“ผู้ใดก็ตามที่ประสงค์จะมาย่อมมาได้และรับส่วนแบ่งในสายน้ำแห่งชีวิตได้โดยเสรี; และผู้ใดก็ตามที่ไม่ประสงค์จะมาผู้เดียวกันนั้นจะไม่ถูกบีบบังคับให้มา; แต่ในวันสุดท้ายจะนำกลับคืนมาให้เขาตามการกระทำของเขา” (แอลมา 42:27)
มีเหตุผลอันทรงพลังมากมายในการปฏิบัติขั้นตอนที่ 9 แต่เราต้องไม่จมอยู่กับการหาเหตุผลเข้าข้างตนเองหรือโกหกว่าเราไม่มีทางเลือก โปรแกรมบําบัดการเสพติดเป็นโปรแกรมของการโน้มน้าวใจ ไม่ใช่การบังคับ
-
ฉันรู้สึกถูกโน้มน้าวหรือถูกบีบบังคับให้ชดใช้หรือไม่?
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ มีเหตุผลอะไรบ้างที่อาจโน้มน้าวใจฉัน?
เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า
“ข้าพเจ้าอยากให้ท่านออกมาและไม่ทำใจท่านแข็งกระด้างอีกต่อไป; เพราะดูเถิด, บัดนี้คือเวลาและวันแห่งความรอดของท่าน; และฉะนั้น, หากท่านจะกลับใจและไม่ทำใจท่านแข็งกระด้าง, พระองค์จะทรงนำแผนอันสำคัญยิ่งแห่งการไถ่มาสู่ท่านโดยทันที
“เพราะดูเถิด ชีวิตนี้เป็นเวลาสำหรับมนุษย์ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า แท้จริงแล้ว ดูเถิดวันแห่งชีวิตนี้เป็นวันสำหรับมนุษย์ที่จะทำงานของพวกเขา” (แอลมา 34:31–32)
-
ฉันจะได้รับอะไรเมื่อฉันใจอ่อนและชดใช้ในสิ่งที่ทำ?
-
เมื่อฉันตระหนักว่ากำลังเตรียมพบพระเจ้า ความเต็มใจของฉันในการชดใช้ความผิดพลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างไร?
กิจกรรมในศาสนจักร
“และ [แอลมาผู้บุตรและบุตรของโมไซยาห์] เดินทางไปตลอดแผ่นดิน, ขวนขวายอย่างจริงจังที่จะแก้ความเสียหายทั้งหมดที่พวกท่านได้ทำไว้กับศาสนจักร, สารภาพบาปทั้งหมดของท่าน, และประกาศเรื่องทั้งหมดที่ท่านเห็นมา, และอธิบายคำพยากรณ์และพระคัมภีร์แก่คนทั้งหลายที่ปรารถนาจะฟัง” (โมไซยาห์ 27:35)
หลายคนเลิกไปโบสถ์เพราะการเสพติด บางคนอ้างความผิดของผู้อื่นเป็นข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมในศาสนจักร
-
ฉันมีประสบการณ์อะไรบ้างกับกิจกรรมในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย?
-
การเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นผ่านการบําบัดช่วยให้ฉันรู้สึกกลับมาอยู่กับศาสนจักรของพระองค์อีกครั้งอย่างไร?
-
การเข้าร่วมกิจกรรมของศาสนจักรช่วยให้ฉันชดใช้และบำบัดมากขึ้นได้อย่างไร?
การเต็มใจชดใช้
“ท่านต้องคืนทั้งหมดที่ท่านขโมยมา ทำให้เสียหาย หรือทำให้มัวหมองมากเท่าที่อยู่ในวิสัยจะทำได้ การเต็มใจชดใช้เป็นหลักฐานอันเป็นรูปธรรมต่อพระเจ้าว่าท่านตั้งใจจะทําทั้งหมดที่ทําได้เพื่อกลับใจ” Richard G. Scott, “Finding Forgiveness,” Ensign, May 1995, 76)
-
การชดใช้แสดงให้พระเจ้าและตัวฉันเองเห็นว่าฉันมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตอย่างนอบน้อมถ่อมตนและซื่อสัตย์ได้อย่างไร?
เจตนาของใจ
“คนที่กลับใจและทำตามบัญญัติของพระเจ้าจะได้รับการให้อภัย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:32)
ในการชดใช้ เราอาจเผชิญหน้ากับคนที่ไม่ยอมให้อภัยเรา บางทีใจพวกเขาอาจจะยังแข็งกระด้างต่อเรา หรือบางทีพวกเขาอาจไม่วางใจความตั้งใจของเรา
-
การรู้ว่าพระเจ้าเข้าพระทัยเจตนาแท้จริงในใจเรา และพระองค์จะทรงรับการกลับใจและการชดใช้ของเรา แม้คนอื่นอาจไม่รับนั้น ช่วยเราอย่างไร?
สิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทําเพื่อเราได้
“มนุษย์ไม่สามารถให้อภัยบาปของตนเองได้ พวกเขาจะชําระตนเองให้สะอาดจากผลของบาปไม่ได้ มนุษย์สามารถหยุดทําบาปและทําสิ่งที่ถูกต้องได้ในอนาคต การกระทําของพวกเขาเป็นที่ยอมรับต่อพระพักตร์พระเจ้าและมีค่าควรแก่การพิจารณา แต่ใครเล่าจะแก้ไขความผิดที่พวกเขาทํากับตนเองและผู้อื่นซึ่งดูเหมือนเป็นไปไม่ได้สําหรับพวกเขาที่จะแก้ไขตนเอง โดยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ บาปของผู้กลับใจจะถูกล้างออกไป ถึงมันจะเป็นสีแดงเข้มก็จะขาวดังขนแกะ นี่คือสัญญาที่ให้ไว้กับท่าน” (Joseph F. Smith, in Conference Report, Oct. 1899, 41)
ขณะที่ท่านชดใช้ อย่าท้อใจกับความคิดเช่น “นี่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางที่ฉันจะชดใช้ความผิดที่ฉันทํากับคนนี้ได้อย่างเพียงพอ” แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ให้พิจารณาเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์ในการซ่อมแซมสิ่งที่ท่านซ่อมแซมไม่ได้ เราต้องวางใจว่าพระเยซูคริสต์จะทรงทําสิ่งที่เราทําไม่ได้
-
ฉันจะแสดงให้พระเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าฉันวางใจพระองค์? ฉันจะเพิ่มความวางใจของฉันได้อย่างไร?