การเสพติด
ขั้นตอนที่ 10: สำรวจตนเองอยู่เสมอและยอมรับทันทีเมื่อเราผิด


“ขั้นตอนที่ 10: สำรวจตนเองอยู่เสมอและยอมรับทันทีเมื่อเราผิด,” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)

“ขั้นตอนที่ 10,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด

ผู้หญิงพูดกับกลุ่ม

ขั้นตอนที่ 10: สำรวจตนเองอยู่เสมอและยอมรับทันทีเมื่อเราผิด

4:45

หลักธรรมสําคัญ: ความรับผิดชอบประจําวัน

ขั้นตอนที่ 10 ช่วยให้เราก้าวหน้าในวิถีชีวิตใหม่ที่เอาใจใส่พระวิญญาณ เป็นเรื่องของการรับผิดชอบตนเองทุกวันผ่านการประเมินตนเอง ยอมรับสิ่งที่เราค้นพบ และกลับใจทันที เราไม่สมบูรณ์แบบ และจะยังคงทำผิดพลาดทั้งในชีวิตและการบำบัดของเรา บางคนอาจกังวลว่าเราไม่สามารถก้าวหน้าในการบำบัดได้หากเราไม่สามารถปฏิบัติทุกขั้นตอนให้สมบูรณ์แบบหรือใช้ชีวิตโดยปราศจากความผิดพลาด ขั้นตอนที่ 10 ปกป้องเราจากแรงกดดันในการดําเนินชีวิตให้สมบูรณ์แบบ เราได้รับการย้ำเตือนว่าเราจำเป็นต้องพึ่งพาพระเจ้าอย่างต่อเนื่องในขณะที่เราก้าวหน้าในการบําบัดของเรา

ในพระคัมภีร์มอรมอน แอลมาสอนว่าการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจต้องใช้ศรัทธาในการไถ่และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์ (ดู แอลมา 5:14–15) แอลมาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมาเพื่อเปิดใจรับพลังแห่งการไถ่บาปของพระคริสต์ โดยใช้สถานการณ์วันพิพากษาและยกตัวอย่างคำถามที่เราสามารถถามตัวเองได้หลายข้อเป็นตัวอย่าง เราสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ได้โดยถามคําถามค้นหาแบบที่แอลมาแนะนําเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด แรงจูงใจ และความประพฤติของเรา การประเมินตนเองทุกวันและความช่วยเหลือจากการไถ่ของพระเจ้าสามารถหยุดยั้งเราไม่ให้หลงไปสู่การปฏิเสธ ความพึงพอใจ และการกลับไปเสพซ้ำ

กระบวนการบำบัดอันน่าทึ่งคือการเปิดใจให้พระเจ้าเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก และหัวใจของเรา ผลที่ตามมาคือพฤติกรรมของเราจะเปลี่ยนแปลง ผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อนกระตุ้นให้เราระวังความจองหองทุกรูปแบบและนําความอ่อนแอของเราไปทูลต่อพระบิดาบนสวรรค์อย่างนอบน้อมถ่อมตน ความรับผิดชอบประจำวันช่วยให้เราตระหนักได้ว่าเมื่อใดที่เราต้องการความช่วยเหลือ และป้องกันไม่ให้เรากลับไปสู่นิสัยแบบเดิม

เป็นเรื่องปกติที่จะมีความคิดและความรู้สึกในแง่ลบ เมื่อเรากังวลหรือรู้สึกสงสารตนเอง วิตกกังวล ขุ่นเคือง ตัณหาราคะ หรือกลัว เราสามารถหันไปหาพระบิดาทันทีและทูลขอให้พระองค์ประทานพรเราด้วยสันติสุขและมุมมอง เราอาจค้นพบเช่นกันว่าเรายังคงยึดติดในความเชื่อที่ไม่ดี เราสามารถทูลขอพระบิดาในสวรรค์ให้ทรงช่วยเราพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างจริงใจ ในขั้นตอนที่ 10 เราไม่รู้สึกว่าต้องแก้ต่าง หาเหตุผลเข้าข้างตนเอง หรือโทษผู้อื่นอีกต่อไป เป้าหมายของเราคือเปิดใจรับ และให้ความคิดเราจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระคุณของพระองค์

เราปฏิบัติขั้นตอนที่ 10 โดยการสำรวจตนเองทุกวัน ขณะที่เราวางแผนประจำวัน เราพิจารณาการกระทำและแรงจูงใจของเราร่วมกับการสวดอ้อนวอน: ว่าเราทํามากเกินไปหรือน้อยไป? เราดูแลความต้องการพื้นฐานทางวิญญาณ อารมณ์ และร่างกายของเราหรือไม่? เรารับใช้ผู้อื่นหรือไม่? มีสถานการณ์ใดในวันนี้ที่ยากลำบากหรือเครียดบ้างไหม? เราต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อรับมือกับเรื่องยากๆ เหล่านี้หรือไม่? เราเห็นพฤติกรรมหรือรูปแบบความคิดแบบเดิมๆ หรือไม่? คําถามประเภทนี้ช่วยให้เราดําเนินชีวิตอย่างตั้งใจ เสริมสร้างการบำบัดของเรา และทําให้เราใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้น

เราสามารถประเมินตนเองได้ตลอดเวลาโดยใช้เวลาคิด ไตร่ตรอง และประยุกต์ใช้ขั้นตอนที่เราเรียนรู้ เมื่อเราพบว่าตนเองอยู่ในช่วงเวลาวิกฤต เราสามารถถามตัวเราเองและพระเจ้าว่า “ความอ่อนแอของอุปนิสัยใดในตัวฉันที่กําลังถูกกระตุ้น? ฉันทำอะไรบ้างที่ทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้น? มีอะไรที่ฉันสามารถพูดหรือทําโดยไม่เสแสร้งที่จะนําไปสู่การแก้ปัญหาด้วยความเคารพต่อฉันและบุคคลอื่นหรือไม่?” เราสามารถเตือนตนเองได้ว่า “พระเจ้าทรงมีเดชานุภาพทั้งปวง ฉันจะมอบสิ่งนี้แด่พระองค์และวางใจพระองค์”

เมื่อใดก็ตามที่เราพบว่าตนเองทำสิ่งไม่ดีต่อผู้อื่น เราสามารถชดใช้โดยเร็วที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องทิ้งความจองหองของเราและระลึกว่าการพูดอย่างจริงใจว่า “ฉันผิด” มักมีความสําคัญในการรักษาความสัมพันธ์พอๆ กับการพูดว่า “ฉันรักคุณ”

เมื่อสิ้นสุดวัน เราประเมินผลว่าเป็นอย่างไร เราทำได้ดีเพียงใด? เรายังต้องปรึกษาพระเจ้าเกี่ยวกับพฤติกรรม ความคิด หรือความรู้สึกในแง่ลบหรือไม่? เราสามารถพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อน ผู้อุปถัมภ์ หรือผู้ให้คําปรึกษาที่ไว้ใจได้เพื่อช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าเราจะยังคงทําผิดพลาดจะพยายามสุดความสามารถแล้วก็ตาม แต่ความรับผิดชอบประจําวันคือคํามั่นสัญญาว่าจะยอมรับความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดเหล่านี้ เมื่อเราสํารวจความนึกคิดและการกระทําของเราทุกวัน แก้ไข และกลับใจผ่านพระผู้ช่วยให้รอด ความคิด และความรู้สึกที่ไม่ดีจะจางหายไป

“ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ มีเกียรติ หรือสำคัญต่อความก้าวหน้าของเรามากไปกว่าการมุ่งเน้นที่การกลับใจทุกวันอย่างสม่ำเสมอ การกลับใจไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นกระบวนการ เป็นกุญแจสู่ความสุขและจิตใจที่สงบ เมื่อร่วมกับศรัทธา การกลับใจจะเปิดประตูสู่พลังแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ [ดู 2 นีไฟ 9:23]” (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “เราสามารถทำได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น‌,” เลียโฮนา‌, พ.ค. 2019, 67)

ความรับผิดชอบประจําวัน หรือการกลับใจทุกวัน ช่วยให้เราประสบปีติและเสรีภาพที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบให้เรา เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวจากพระเจ้าหรือคนอื่นๆ อีกต่อไป เรามีความเข้มแข็งและมีศรัทธาที่จะเผชิญความท้าทายและเอาชนะ เราสามารถชื่นชมยินดีในความก้าวหน้าของเราและวางใจว่าการฝึกฝนและความอดทนจะช่วยให้บำบัดอย่างต่อเนื่อง

ขั้นตอนการปฏิบัติ

นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่า “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา

การเตรียมทางวิญญาณในแต่ละวัน

ส่วนสำคัญของความรับผิดชอบตนเองทุกวันคือการวางแผนประจำวัน ทำตามแผน และประเมินผลว่าเป็นอย่างไรเมื่อสิ้นสุดวัน เมื่อเราทำสิ่งนี้โดยตั้งใจ เราจะได้รับการปกป้องไม่ให้กลับไปสู่นิสัยเดิม

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แนะนําให้เราเตรียมพร้อมประจำวันกับพระเจ้าในตอนเช้า: “การสวดอ้อนวอนในตอนเช้าอย่างมีความหมายเป็นสิ่งสําคัญในการสร้างทางวิญญาณในแต่ละวัน—และเกิดขึ้นก่อนการสร้างทางโลกหรือการกระทำที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละวัน” (“สวดอ้อนวอนเสมอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 51)

เราสวดอ้อนวอนในใจตลอดทั้งวันเพื่อขอความช่วยเหลือและการนำทางตลอดเวลา บางครั้งสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ เราต้องยืดหยุ่นและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ตลอดเวลา

เอ็ลเดอร์เบดนาร์แนะนำเราเพิ่มเติมว่า “เมื่อสิ้นสุดวัน เราคุกเข่าอีกครั้งและรายงานพระบิดาของเรา เราทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น” (“สวดอ้อนวอนเสมอ,” 52) ขณะที่เราติดตามผลกับพระเจ้าและทบทวนวันของเรา เราสามารถฉลองความสําเร็จของเราและตระหนักได้ว่าเราทําผิดพลาดตรงไหน เราปรึกษาพระเจ้าเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทําเพื่อกลับใจหรือชดใช้และวิธีที่เราจะทําให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

การกลับใจทุกวัน

“ทีละวัน” เป็นวลีที่คุ้นเคยซึ่งหมายถึงการดําเนินชีวิตทีละขณะ การคํานึงถึงความคิด ความรู้สึก และความประพฤติของเราอย่างต่อเนื่องทําให้เรามีโอกาสที่จะกลับใจและเข้าใกล้พระบิดาในสวรรค์ของเรามากขึ้น เมื่อเรากลับใจ เราค้นพบความจริงว่าการกลับใจไม่ใช่ความเจ็บปวดอันน่าเศร้าและจํากัดแต่กลับเป็นประสบการณ์อันเปี่ยมปีติและปลดปล่อยที่เราตั้งตารอรับ

เมื่อเรากลับใจทุกวัน เราอาจค้นพบข้อบกพร่องเพิ่มเติมหรือจดจําการกระทําในอดีตที่ต้องเอาใจใส่ และในบางกรณีต้องชดเชย การมุ่งเน้นขั้นตอนก่อนหน้านี้ที่มีไว้เพื่อขจัดข้อบกพร่องของเราหรือชดใช้ความเสียหายอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของการกลับใจประจําวันของเรา การทบทวนสิ่งที่เราเรียนรู้จากความพยายามกลับใจประจำวันกับผู้อุปถัมภ์สามารถทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าเราอาจต้องทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อกลับใจอย่างสมบูรณ์ เราอาจต้องสารภาพต่อผู้ดำรงสิทธิอํานาจฐานะปุโรหิตที่เหมาะสมเช่นกัน

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกระตุ้นให้เรา “ประสบพลังความเข้มแข็งของการกลับใจทุกวัน—โดยการทําดีและเป็นคนดีขึ้นทีละน้อยในแต่ละวัน” (“เราสามารถทําได้ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 67) เมื่อเรานอบน้อมถ่อมตนและพยายามซื่อสัตย์ทุกวัน เราจะเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “ถ้าใครต้องการจะติดตามเรา ให้คนนั้นปฏิเสธตนเอง รับกางเขนของตนแบกและตามเรามา” (ลูกา 9:23) การกลับใจและแบกกางเขนของเราเพื่อติดตามพระผู้ช่วยให้รอดในแต่ละวันเตรียมเราให้พร้อมสําหรับขั้นตอนที่ 11

ศึกษาและทำความเข้าใจ

พระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรสามารถช่วยเราในการบําบัดการเสพติด เราสามารถใช้ในการไตร่ตรอง การศึกษา และการจดบันทึก เราต้องจําไว้ว่าต้องซื่อสัตย์และแน่วแน่ในงานเขียนของเราเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานเขียนนั้น

จงระวังความนึกคิด คำพูด และการกระทำของเรา

“หากท่านไม่ระวังตน, และความนึกคิดของท่าน, และคำพูดของท่าน, และการกระทำของท่าน, และไม่ยึดถือพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า, และไม่ดำเนินต่อไปด้วยความเชื่อในสิ่งที่ท่านได้ยินเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเจ้าของเรา, แม้จนถึงที่สุดแห่งชีวิตของท่านแล้ว, ท่านจะต้องพินาศ และบัดนี้, โอ้มนุษย์, จงจำไว้, และอย่าพินาศเลย” (โมไซยาห์ 4:30)

อาจเป็นอันตรายหรือเสียชีวิตได้หากเราไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เราทำขณะขับรถ เขียนเกี่ยวกับการตระหนักรู้ตนเอง

  • การประเมินตนเองช่วยฉันหลีกเลี่ยงการกลับไปเสพติดซ้ำ (และเสียชีวิต) ได้อย่างไร?

ความนอบน้อมถ่อมตนและการควบคุมตนเอง

‌“ความสุขเกิดแก่พวกเขาผู้ซึ่งนอบน้อมถ่อมตนโดยปราศจากการถูกบีบบังคับให้ถ่อมตน” (แอลมา 32:16)

การเต็มใจกำจัดความคิดเชิงลบก่อนที่จะกลายเป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายผู้อื่น เป็นวิธีหนึ่งในการทำให้ตนเองนอบน้อมถ่อมตนโดยไม่ต้องถูกบังคับ เขียนเกี่ยวกับความเต็มใจของท่านที่จะนอบน้อมถ่อมตน ทดลองหนึ่งวันโดยขจัดความคิดในแง่ลบ

  • มีพรอะไรบ้างที่ฉันได้รับ?

มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน

“ยิ่งบุคคลมีความกระจ่างมากเท่าใด เขาก็ยิ่งแสวงหาของประทานแห่งการกลับใจมากเท่านั้น และเขายิ่งพยายามปลดปล่อยตนเองจากบาปบ่อยขึ้นเท่าใด เขาขาดพระประสงค์ของพระเจ้ามากเท่านั้น … บาปของผู้เกรงกลัวพระเจ้าและคนชอบธรรมจะได้รับการปลดบาปอย่างต่อเนื่องเพราะพวกเขากลับใจและแสวงหาพระเจ้าใหม่ทุกวันและทุกชั่วโมง” (Bruce R. McConkie, Doctrinal New Testament Commentary [1973], 3:342–43)

ผลประโยชน์สูงสุดที่ได้รับ—ทางจิตใจ อารมณ์ และวิญญาณ—จากการดําเนินชีวิตตามหลักธรรมที่อธิบายไว้ในขั้นตอนเหล่านี้คือเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน

  • ขั้นตอนที่ 10 ช่วยฉันจัดการกับชีวิตทีละชั่วโมงเมื่อจําเป็นได้อย่างไร?

  • การรู้ว่าฉันต้องดําเนินชีวิตตามหลักธรรมเหล่านี้เพียงทีละวันช่วยฉันอย่างไร?

กลับใจและให้อภัยอย่างต่อเนื่อง

“บ่อยเท่าที่พวกเขากลับใจและแสวงหาการให้อภัย, ด้วยเจตนาอันแท้จริง, พวกเขาได้รับการให้อภัย” (โมโรไน 6:8)

การรู้ว่าพระเจ้าเต็มพระทัยให้อภัยเราบ่อยเท่าที่เรากลับใจด้วยเจตนาแท้จริงจะทําให้เรากล้าพยายามใหม่ทุกครั้งที่เราล้มเหลว

  • การกลับใจและแสวงหาการให้อภัยด้วยเจตนาแท้จริงหมายความว่าอย่างไรสำหรับฉัน?

อดทน

“ข้าพเจ้าอยากให้ท่านถ่อมตน, และว่าง่ายและอ่อนโยน รับฟังคำวิงวอนจากผู้อื่น; เปี่ยมด้วยความอดทนและความอดกลั้น; ยับยั้งตนในทุกสิ่ง” (แอลมา 7:23)

ใครก็ตามที่บัญญัติคํากล่าวโบราณที่ว่า “การฝึกฝนทําให้สมบูรณ์แบบ” ไม่ได้พูดถึงว่าต้องใช้ความอดทนมากเพียงใดในการฝึกฝนต่อไป เมื่อเรามีความอดทนและยังคงแก้ไขความผิดพลาดและสำรวจตนเองทุกวัน เราจะก้าวหน้าบนเส้นทางสู่การบำบัด

  • การประเมินตนเองและการแก้ไขความผิดพลาดทุกวันช่วยให้แน่ใจได้อย่างไรว่าฉันจะยังคงมีความนอบน้อมถ่อมตนและพัฒนาทางวิญญาณต่อไป?

  • การสำรวจตนเองในตอนท้ายของแต่ละวันช่วยฉันเอาชนะนิสัยที่จะยึดติดในความโกรธหรืออารมณ์ที่ทําร้ายผู้อื่นได้อย่างไร?

การปรับปรุงตลอดชีวิต

“ข้าพเจ้ายังคงรู้สึกว่าต้องกระตุ้นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายถึงความจําเป็นของการประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณอย่างใกล้ชิดในชีวิต ความประพฤติ คําพูด และทุกสิ่งที่เราทํา สิ่งนี้เรียกร้องให้ทั้งมนุษย์ทั้งชีวิตทุ่มเทปรับปรุงตนเองเพื่อให้ได้ความรู้ถึงความจริงดังที่เป็นอยู่ในพระเยซูคริสต์” (Discourses of Brigham Young, sel. sel. John A. Widtsoe 1954, 11)

การปฏิบัติขั้นตอนเหล่านี้สามารถอธิบายได้ว่าเป็น “การประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณอย่างใกล้ชิด”

  • การเต็มใจประเมินตนเองทุกวันในทุกระดับ (การกระทํา คําพูด ความคิด ความรู้สึก และความเชื่อ) ช่วยให้ฉันอุทิศตนเพื่อการพัฒนาตนเองตลอดชีวิตได้อย่างไร?