การเสพติด
ขั้นตอนที่ 12: เมื่อมีการตื่นตัวทางวิญญาณ‌‌ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์อันเป็นผลมาจากการทําตามขั้นตอนเหล่านี้ พึงแบ่งปันข่าวสารนี้กับผู้อื่น‌‌รวมทั้งปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้ในทุกสิ่งที่เราทำ


“ขั้นตอนที่ 12: เมื่อมีการตื่นตัวทางวิญญาณ‌‌ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์อันเป็นผลมาจากการทําตามขั้นตอนเหล่านี้ พึงแบ่งปันข่าวสารนี้กับผู้อื่น‌‌รวมทั้งปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้ในทุกสิ่งที่เราทำ” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)

“ขั้นตอนที่ 12,” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด

ผู้สอนศาสนาพบผู้หญิงคนหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 12: เมื่อมีการตื่นตัวทางวิญญาณ‌‌ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์อันเป็นผลมาจากการทําตามขั้นตอนเหล่านี้ พึงแบ่งปันข่าวสารนี้กับผู้อื่น‌‌รวมทั้งปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้ในทุกสิ่งที่เราทำ

3:35

หลักธรรมสําคัญ: การรับใช้

เมื่อเรามาสู่ขั้นตอนที่ 12 เรารับรู้ว่านี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเดินทางของเรา จากการปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ เราจึงมีชีวิตที่ฟื้นตัวโดยผ่านพระคุณและพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า เราเป็นพยานว่าการปฏิบัติขั้นตอนเหล่านี้เพียงครั้งเดียวไม่เพียงพอ เราพบว่าการปฏิบัติขั้นตอนเหล่านี้ต่อไป ปฏิบัติหลักธรรมเหล่านี้ในชีวิตทุกด้าน และนําข่าวสารแห่งความหวังไปให้ผู้อื่นเป็นเรื่องสําคัญ

เรามีข่าวสารแห่งความหวังสําหรับคนที่ต่อสู้กับการเสพติดและสําหรับทุกคนที่เผชิญความท้าทายของความเป็นมรรตัย พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์ ดังที่พระองค์ทรงเป็นเสมอมา (ดู มอรมอน 9:11, 16–19) ชีวิตเราพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้น เราแต่ละคนเป็นคนใหม่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราสามารถแบ่งปันข่าวสารนี้ได้ดีที่สุดโดยการรับใช้ผู้อื่น การแบ่งปันประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับพระเมตตาและพระคุณของพระองค์อาจเป็นการรับใช้ที่สําคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เรามอบให้ได้ ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า “สิ่งสําคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เราทําได้คือแสดงประจักษ์พยานของเราผ่านการรับใช้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเติบโตทางวิญญาณ ให้คํามั่นสัญญามากขึ้น และรักษาพระบัญญัติได้มากขึ้น” (คําสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006],87)

การแบกภาระของกันและกันผ่านการกระทําด้วยความเมตตาและการรับใช้โดยไม่คํานึงถึงตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใหม่ของเราในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์ (ดู โมไซยาห์ 18:8) ความปรารถนาจะช่วยผู้อื่นเป็นผลตามธรรมชาติของการตื่นตัวทางวิญญาณ เฉกเช่นพวกบุตรของโมไซยาห์ปรารถนาจะแบ่งปันพระกิตติคุณให้ชาวเลมันหลังจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขา เราก็อาจปรารถนาจะแบ่งปันความหวังและการเยียวยาที่เราประสบผ่านการชดใช้ของพระคริสต์เช่นกัน (ดู โมไซยาห์ 28:1–4) เราอาจปรารถนาที่จะเป็นพร ช่วยเหลือ และหนุนใจคนรอบข้าง เราตระหนักถึงความจริงที่กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่า “เมื่อท่านอยู่ในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ของท่าน ท่านก็อยู่ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าของท่านนั่นเอง” (โมไซยาห์ 2:17)

วิธีที่เป็นธรรมชาติในการรับใช้ผู้อื่นคือการเป็นผู้อุปถัมภ์หรือให้คําปรึกษาแก่ผู้อื่นที่ยังใหม่ต่อกระบวนการบำบัด (โปรดทบทวนเอกสาร “การเลือกผู้อุปถัมภ์” เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม) เราแจ้งผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ จากกลุ่มบำบัดที่เราเข้าร่วมหรือผู้นําศาสนจักรในท้องที่ว่าเราต้องการช่วยในฐานะผู้อุปถัมภ์หรือครูพี่เลี้ยง เมื่อเราทราบว่ามีคนต่อสู้กับการเสพติด เราจะแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมบําบัดการเสพติด เราบอกพวกเขาเกี่ยวกับความหวังในการบำบัดผ่านพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ และเราเชื้อเชิญให้พวกเขาเข้าร่วมการประชุมกับเรา

นอกจากจะช่วยคนที่ต่อสู้กับการเสพติดแล้ว เรายังรับใช้สมาชิกครอบครัวและคนที่พวกเขารักด้วย บ่อยครั้งที่ผู้คนรายล้อมคนที่กําลังต่อสู้กับการเสพติดและละเลยที่จะดูแลคนที่พวกเขารัก เราสามารถยืนยันและรับทราบถึงความยากลําบากที่พวกเขาเผชิญ เราสามารถแบ่งปันความหวังว่าพวกเขาสามารถหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด พบสันติสุขและการเยียวยา โดยไม่คํานึงว่าคนที่พวกเขารักจะเลือกการบําบัดหรือไม่ก็ตาม เราสามารถแบ่งปัน คู่มือการสนับสนุน: ความช่วยเหลือสำหรับคู่สมรสและครอบครัวของผู้รับการบำบัด และเชิญพวกเขาเข้าร่วมการประชุมกลุ่มคู่สมรสและครอบครัว

เมื่อเรารับใช้ผู้อื่นโดยช่วยเหลือพวกเขาในการบําบัด เราต้องระวังอย่ายอมให้ผู้อื่นพึ่งพาเรามากเกินไป ความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้อุปถัมภ์คือกระตุ้นให้ผู้อื่นหันไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อขอการนําทางและพลังอํานาจ นอกจากนี้ เราควรกระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นด้วย พรอันยิ่งใหญ่นั้นมาจากพระเจ้าผ่านผู้นําศาสนจักร ผู้อุปถัมภ์ สมาชิกครอบครัว มิตรสหาย และคนอื่นๆ เราสามารถแบ่งปันเอกสาร “การสนับสนุนในการบำบัด” กับพวกเขาซึ่งพบได้ในภาคผนวกของคู่มือนี้

เมื่อเราพยายามช่วยเหลือผู้อื่น พวกเขาอาจไม่พร้อมปฏิบัติขั้นตอนเหล่านี้ เมื่อเราแบ่งปันข่าวสารเรื่องการบำบัดและความหวังผ่านพระผู้ช่วยให้รอด เราต้องอดทนและอ่อนโยน ไม่มีที่ว่างสำหรับอัตตาหรือความรู้สึกเหนือกว่าใดๆ ในชีวิตใหม่ของเรา การระลึกถึงความเป็นเชลยของเราเองและวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เราผ่านพระเมตตาและพระคุณของพระองค์จะเป็นประโยชน์ (ดู โมไซยาห์ 29:20)

ด้วยความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เราจึงพยายามรักษาสมดุลระหว่างการแบ่งปันข่าวสารกับการนําขั้นตอนเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตเราต่อไป เป้าหมายหลักของเราต้องอยู่ที่การนําหลักการบำบัดเหล่านี้มาใช้กับตัวเราเองอย่างต่อเนื่อง ความพยายามของเราในการแบ่งปันแนวคิดเหล่านี้กับผู้อื่นจะเกิดประสิทธิผลได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถบำบัดตนเองได้เท่านั้น

หากเราเต็มใจ เราจะพบโอกาสมากมายในการแบ่งปันหลักธรรมทางวิญญาณที่เราเรียนรู้ในโปรแกรมนี้ เมื่อเราเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่น ชีวิตเราจะได้รับพร เราได้สัมผัสหลักธรรมที่ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า: “ชายและหญิงที่ถวายชีวิตแด่พระผู้เป็นเจ้าจะพบว่าพระองค์ทรงสามารถรังสรรค์จากชีวิตพวกเขาได้มากยิ่งกว่าที่พวกเขาทำได้เอง พระองค์จะทรงทำให้ปีติของพวกเขาลึกซึ้ง ขยายวิสัยทัศน์ของพวกเขา ทำให้ความคิดของพวกเขาฉับไว เสริมกำลังกล้ามเนื้อของพวกเขา ยกระดับวิญญาณของพวกเขา ทวีพรของพวกเขา เพิ่มโอกาสของพวกเขา ปลอบโยนจิตวิญญาณของพวกเขา เพิ่มมิตรสหาย และหลั่งเทสันติสุข ใครก็ตามที่ยอมเสียชีวิตของเขาในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าจะพบชีวิตนิรันดร์” (คําสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน [2014], 42–43)

ขั้นตอนการปฏิบัติ

นี่เป็นโปรแกรมแห่งการปฏิบัติ ความก้าวหน้าของเราขึ้นอยู่กับการนําขั้นตอนต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจําวันของเราอย่างสม่ำเสมอ นี่เรียกว่า “การปฏิบัติตามขั้นตอน” การปฏิบัติต่อไปนี้ช่วยให้เรามาหาพระคริสต์และได้รับการนําทางและพลังที่จําเป็นต่อการก้าวต่อไปในการบําบัดของเรา

รับใช้ผู้อื่น

ความปรารถนาจะรับใช้เป็นผลที่ตามมาของกระบวนการเยียวยาเราผ่านพระเจ้า โดยผ่านการบําบัดของเรา เราประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งของใจต่อตัวเราเองและผู้อื่น (ดู แอลมา 5:14) ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “[เรา]หมายมั่นดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติข้อสำคัญข้อแรกและข้อสองอย่างแท้จริง เมื่อเรารัก พระผู้เป็นเจ้า‌ สุดใจของเรา พระองค์จะทรงหันใจเราไปหาความผาสุกของ ‌ผู้อื่น‌ ในวัฏจักรคุณธรรมที่ดีงาม” (“พระบัญญัติข้อสำคัญข้อสอง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 97)

แต่การรับใช้ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป แม้ว่าเราอาจต้องการ แต่เราไม่สามารถรับใช้ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ เราจะยังคงต้องการการนําทางและพลังอํานาจจากพระเจ้าเพื่อรับใช้ผู้อื่น เราสามารถสวดอ้อนวอนทูลขอความช่วยเหลือในการสังเกตและระบุวิธีที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เรารับใช้ เราสามารถถามคนรอบข้างเกี่ยวกับโอกาสและความต้องการ เราอาจแปลกใจกับโอกาสมากมายที่มีให้เรา การรับใช้ผู้อื่นอาจเรียบง่ายเพียงแค่การยิ้ม หรืออาจมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น โครงการใหญ่ เราควรใช้วิจารณญาณอันชาญฉลาดในการรับใช้ของเราเพื่อหลีกเลี่ยงการไปไกลเกินกําลังหรือความสามารถของเรา

วิธีดีที่สุดวิธีหนึ่งที่เราสามารถรับใช้ได้คือการแบ่งปันเรื่องราวการบําบัดของเรา เราสามารถเข้าร่วมการประชุมบำบัดและเป็นพยานถึงพระคุณและเดชานุภาพการเยียวยาของพระเยซูคริสต์ต่อไปได้ เมื่อเราเป็นผู้มาใหม่ เราได้รับความหวังจากผู้ที่ปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ และหายเป็นปกติก่อนหน้าเรา เวลานี้เรามีโอกาสแบ่งปันข่าวสารเรื่องการบําบัดโดยเล่าเรื่องของเรา เราแบ่งปันประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกันเมื่อเราอยู่ที่โบสถ์และกับครอบครัวและเพื่อนๆ ของเรา

มีส่วนร่วมในงานพระวิหารและประวัติครอบครัว

วิธีที่มีความหมายและมีพลังวิธีหนึ่งที่เราสามารถรับใช้ได้คือผ่านงานพระวิหารและประวัติครอบครัว การรับใช้นี้ไม่เพียงเป็นพรแก่ผู้วายชนม์เท่านั้น แต่เป็นพรแก่เราด้วย ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันย้ำเตือนเราว่า “แม้งานพระวิหารและประวัติครอบครัวจะมีพลังเป็นพรแก่ผู้อยู่หลังม่าน แต่ก็มีพลังเป็นพรแก่คนเป็นเช่นเดียวกัน และมีอิทธิพลขัดเกลาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” (“เชื่อมโยงคนหลายรุ่นด้วยความรักเลียโฮนา, พ.ค. 2010, 114) สําหรับหลายคน งานพระวิหารและประวัติครอบครัวเป็นส่วนสําคัญของการบำบัด

พวกเราบางคนอาจรู้สึกไม่พร้อมรับใช้ในพระวิหาร เราอาจรู้สึกไม่มีแรงจูงใจหรือไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนกับงานประวัติครอบครัว แต่เราตัดสินใจได้ว่าจะเริ่ม เราสามารถพูดคุยกับอธิการหรือประธานสาขาของเราเกี่ยวกับความปรารถนาที่จะรับใช้ ความปรารถนาของเราที่จะทําตามพระประสงค์ของพระเจ้าและดําเนินต่อไปในการบำบัดของเราสามารถผลักดันเรา เราอาจต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตเพื่อเข้าพระวิหาร เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทํางานประวัติครอบครัวอย่างไร แต่เราสามารถขอความช่วยเหลือได้ ประธานสมาคมสงเคราะห์และประธานโควรัมเอ็ลเดอร์สามารถช่วยให้เรารู้ได้ว่าจะเริ่มตรงไหน นอกจากนี้ยังมีแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่จะช่วยเราที่ FamilySearch.org และ ChurchofJesusChrist.org

งานพระวิหารและประวัติครอบครัวให้พลังและความเข้มแข็งสําหรับการบำบัดของเรา “ท่านจะพบไม่เพียงความคุ้มครองจากการล่อลวงและความชั่วร้ายของโลกเท่านั้น แต่ท่านจะพบพลังส่วนตัวเช่นกัน—พลังที่จะเปลี่ยน พลังที่จะกลับใจ พลังที่จะเรียนรู้ พลังที่จะรับการชำระให้บริสุทธิ์ และพลังที่จะหันใจสมาชิกครอบครัวของท่านเข้าหากันและเยียวยาสิ่งที่ต้องเยียวยา” (เดล จี. เรนลันด์, “ประวัติครอบครัวและพรพระวิหาร,” เลียโฮนา, ก.พ. 2017, 39) หลักธรรมในคู่มือเล่มนี้นําเราให้ติดตามพระผู้ช่วยให้รอดและได้รับพรทั้งหมดที่พระองค์ทรงมีให้เรา โดยเฉพาะพรที่อยู่ในพระวิหาร

ศึกษาและทำความเข้าใจ

พระคัมภีร์และคํากล่าวต่อไปนี้จากผู้นําศาสนจักรสามารถช่วยเราในการบําบัดการเสพติด เราสามารถใช้ในการไตร่ตรอง การศึกษา และการจดบันทึก เราต้องจําไว้ว่าต้องซื่อสัตย์และแน่วแน่ในงานเขียนของเราเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานเขียนนั้น

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการบำบัด

“การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงเป็นมากกว่าการมีความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณเท่านั้น และหมายถึงต้องมีมากกว่าแค่การมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับหลักธรรมเหล่านั้น … การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างแท้จริงหมายความว่าเรากําลังปฏิบัติตามสิ่งที่เราเชื่อและยอมให้สิ่งนั้นสร้าง ‘การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในเรา, หรือในใจเรา’ [โมไซยาห์ 5:2] … [การเปลี่ยนใจเลื่อมใส] ต้องใช้เวลา ความพยายาม และการทํางาน” (บอนนี่ แอล. ออสคาร์สัน, “จงเปลี่ยนใจเลื่อมใส,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 76–77)

เมื่อพระเจ้าทรงเปลี่ยนใจเราผ่านการเปลี่ยนใจเลื่อมใสและการบําบัด เราจะกลายเป็นแหล่งพลังให้คนที่เพิ่งเริ่มต้นบนเส้นทางนี้ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับเปโตรว่า “เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว จงชูกำลังพี่น้องทั้งหลายของท่าน” (ลูกา 22:32)

  • นิยามการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของซิสเตอร์ออสคาร์สันนำมาประยุกต์ใช้กับประสบการณ์การบําบัดของฉันอย่างไร?

  • ฉันรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้อื่นขณะที่พวกเขาบำบัดจากพฤติกรรมเสพติด?

ความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่มาจากความก้าวหน้าเล็กๆ

“อย่าเบื่อหน่ายในการทำดี เพราะเจ้ากำลังวางรากฐานของงานอันสำคัญยิ่ง และจากสิ่งเล็กน้อย บังเกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:33)

  • ฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อนึกถึงการดําเนินชีวิตตามหลักธรรมเหล่านี้ในทุกด้านของชีวิต?

  • สิ่งนี้ช่วยให้ฉันตระหนักได้อย่างไรว่างานใหญ่ทําสำเร็จด้วยขั้นตอนเล็กๆ

แบ่งปันประจักษ์พยานของเราและปลอบโยนผู้อื่น

“นี่คือความปลาบปลื้มของข้าพเจ้า, ว่าข้าพเจ้าอาจจะเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าที่จะนำจิตวิญญาณสักดวงมาสู่การกลับใจ; และนี่คือปีติของข้าพเจ้า

“‌และดูเถิด, เมื่อข้าพเจ้าเห็นพี่น้องข้าพเจ้าเป็นอันมากสำนึกผิดโดยแท้จริง, และมาหาพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา, เมื่อนั้นจิตวิญญาณข้าพเจ้าจะเปี่ยมด้วยปีติ; เมื่อนั้นข้าพเจ้าจดจำได้ว่าพระเจ้าทรงทำสิ่งใดบ้างเพื่อข้าพเจ้า, แท้จริงแล้ว, แม้ที่พระองค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้า; แท้จริงแล้ว, เวลานั้นข้าพเจ้าจดจำถึงพระพาหุอันเมตตาของพระองค์ซึ่งทรงยื่นมาให้ข้าพเจ้า” (แอลมา 29:9–10)

เราได้เรียนรู้ว่าการเต็มใจแบ่งปันประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับหลักธรรมเหล่านี้สําคัญอย่างยิ่งต่อการบำบัด

  • การแบ่งปันประสบการณ์จะช่วยให้ฉันยังคงเข้มแข็งในการบําบัดได้อย่างไร?

‌“แท้จริงแล้ว, และเต็มใจที่จะโศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; แท้จริงแล้ว, และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน, และยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่งที่ท่านอยู่, แม้จนถึงความตาย, เพื่อท่านจะได้รับการไถ่จากพระผู้เป็นเจ้า, และนับอยู่กับบรรดาคนของการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก, เพื่อท่านจะมีชีวิตนิรันดร์—

‌“บัดนี้ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, หากนี่เป็นความปรารถนาของใจท่านแล้ว, ท่านมีอะไรขัดข้องเล่าที่จะรับบัพติศมาในพระนามของพระเจ้า, เพื่อเป็นพยานต่อพระพักตร์พระองค์ว่าท่านเข้ามาในพันธสัญญากับพระองค์, ว่าท่านจะรับใช้พระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์, เพื่อพระองค์จะเทพระวิญญาณของพระองค์ลงมาให้ท่านให้มากมายยิ่งขึ้น?” (โมไซยาห์ 18:9–10)

ประสบการณ์ของท่านเกี่ยวกับการเสพติดช่วยให้ท่านเห็นอกเห็นใจผู้ที่ต่อสู้กับการเสพติด ประสบการณ์การบําบัดของท่านช่วยให้ท่านปลอบโยนพวกเขา

  • ความปรารถนาจะยืนเป็นพยานของพระผู้เป็นเจ้าเพิ่มขึ้นอย่างไรตั้งแต่ฉันทําตามขั้นตอนการบําบัด?

รับใช้แม้ไม่ดีพร้อม

“ยกเว้นในกรณีของพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ คนไม่ดีพร้อมคือคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องทำงานด้วย” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 94)

“ไม่มีใครมีชีวิตหรือครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ดิฉันแน่นอน เมื่อเราพยายามเห็นอกเห็นใจคนอื่นที่ประสบเรื่องท้าทายและความบกพร่อง เช่นเดียวกับเรา นั่นจะช่วยให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวในการต่อสู้ดิ้นรน ของตนเอง ทุกคน จําเป็นต้องรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่ง จริงๆ และ เป็น ที่ต้องการในพระวรกายของพระคริสต์” (เจ. อาเนตต์ เดนนิส, “แอกของพระองค์ก็พอเหมาะและภาระของพระองค์ก็เบา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 81)

บางครั้งเราสงสัยว่าเราพร้อมแบ่งปันการบำบัดกับผู้อื่นหรือไม่เพราะเรายังปฏิบัติหลักธรรมเหล่านี้ไม่ครบถ้วน

  • การรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทํางานผ่านผู้ที่ไม่ดีพร้อม ช่วยให้ฉันยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์การบำบัดของฉันมากขึ้นได้อย่างไร?

เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอันส่งผลสู่ความรอด

“ข้าพเจ้าไม่มีความละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ เพราะว่าข่าวประเสริฐนั้นเป็นฤทธานุภาพของพระเจ้า เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด” (โรม 1:16)

  • ฉันมีความคิดและความรู้สึกอย่างไรเมื่อมองย้อนกลับไปที่การเปลี่ยนแปลงทางวิญญาณของฉันตลอดกระบวนการบำบัด?

  • ฉันลังเลที่จะแบ่งปันประสบการณ์ในการบําบัดหรือไม่? หากใช่ เพราะเหตุใด?

“จงไปตามทางของเจ้าที่ใดก็ตามที่เราประสงค์, และพระผู้ปลอบโยนจะประทานแก่เจ้าว่าเจ้าจะทำอะไรและเจ้าจะไปที่ใด

“จงสวดอ้อนวอนเสมอ, เกลือกเจ้าจะเข้าไปสู่การล่อลวงและสูญเสียรางวัลของเจ้า

“จงซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่, และดูสิ, เราอยู่กับเจ้า ถ้อยคำเหล่านี้มิใช่ของมนุษย์หรือของนรชาติ, แต่เป็นของเรา, แม้พระเยซูคริสต์, พระผู้ไถ่ของเจ้า, โดยพระประสงค์ของพระบิดา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:11–13)

พระคัมภีร์เต็มไปด้วยการนําทางที่จะช่วยเรารักษาวิถีชีวิตทางวิญญาณที่จะนําเรากลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า

  • ฉันพบการนำทางที่พิเศษอะไรบ้างในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?