การเสพติด
‌ภาคผนวก: หลักการเขียนรายการสำรวจตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ


“ภาคผนวก: หลักการเขียนรายการสำรวจตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ,” การเยียวยาผ่านพระผู้ช่วยให้รอด: คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด (2023)

“‌หลักการเขียนรายการสำรวจตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ” คู่มือการบำบัด 12 ขั้นตอนของโปรแกรมบําบัดการเสพติด

หลักการเขียนรายการสำรวจตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อเริ่มขั้นตอนที่ 4 สิ่งสําคัญคือต้องรู้ว่าไม่มีวิธีที่ถูกต้องเพียงวิธีเดียวในการทํารายการสำรวจตนเองนี้ รายการสำรวจตนเองเป็นกระบวนการที่เป็นส่วนตัวมาก หลายคนรู้สึกท้อแท้หรือหงุดหงิดเมื่อพยายามคิดหาวิธีสร้างรายการสำรวจตนเอง แต่เราแนะนำให้ท่านเริ่มต้นอย่างง่ายๆ แม้ว่าจะหมายถึงเพียงแค่การเขียนรายการเหตุการณ์ลงไปก็ตาม

เราต้องแสวงหาการนำทางจากพระเจ้า พระองค์จะทรงช่วยให้เราซื่อสัตย์และเปี่ยมด้วยความรักเมื่อเรารื้อฟื้นและแยกแยะความทรงจําตลอดจนความรู้สึกของเราออกมาและตรวจสอบตนเองอย่างซื่อสัตย์ เราอาจปรึกษากับผู้อุปถัมภ์ของเราหรือคนอื่นๆ ที่เคยทํารายการสำรวจตนเองแล้ว พวกเขาจะช่วยให้เรารู้ว่าจะดําเนินการอย่างไรให้ดีที่สุด

วัตถุประสงค์ของรายการสำรวจตนเองคือช่วยเราทําสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องกับพระผู้เป็นเจ้า ตัวเรา และผู้อื่น รายการสำรวจตนเองเปิดโอกาสให้เราถอยออกมาและมองชีวิตของเรา เมื่อเราทําเช่นนั้น เราเห็นรูปแบบวิธีที่เราตอบสนองต่อประสบการณ์ชีวิต โดยระบุทั้งข้อบกพร่องและคุณธรรมของอุปนิสัย ต่อไปนี้เป็นหลักการง่ายๆ ที่จะช่วยเราเริ่มต้นทำรายการสำรวจตนเอง

ก. เตรียมทํารายการสำรวจตนเอง

เมื่อเราเริ่มต้นทำรายการสำรวจตนเอง สิ่งสําคัญคือต้องทํางานร่วมกับผู้อุปถัมภ์ของเราต่อเนื่อง ผู้อุปถัมภ์ช่วยให้เราปฏิบัติในขั้นตอนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งคําแนะนําเบื้องต้นที่ผู้อุปถัมภ์ให้ คือการเริ่มต้นสำรวจตนเองทุกแง่มุม ด้วยการสวดอ้อนวอนและทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงนําเราไปสู่ความจริง เราสามารถวางใจการกระตุ้นเตือนและความคิดที่มาถึงเรา

การสวดอ้อนวอนจะช่วยให้เรายังคงมีความหวังตลอดกระบวนการ เราทุกคนล้วนประสบกับงานที่หนักหน่วง พร้อมทั้งต่อสู้กับความซื่อสัตย์อย่างจริงจังเช่นเดียวกัน เราเป็นพยานว่ากระบวนการนี้เป็นเส้นทางที่แน่นอนซึ่งนําเรากลับเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่จริงใจและเปี่ยมปีติกับตนเอง ผู้อื่น และพระผู้เป็นเจ้า

ข. เขียนรายการสำรวจตนเอง

รายการสำรวจตนเองในชีวิตเราจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดหากเราเขียนมันลงไป เราสามารถถือรายการที่เขียนไว้ในมือ ทบทวน และอ้างอิงได้เมื่อจำเป็น ความคิดที่ไม่ได้เขียนไว้อาจถูกหลงลืมได้ง่าย เมื่อเราเขียนรายการสำรวจตนเอง เราจะสามารถคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิตของเราได้อย่างชัดเจนขึ้น และจดจ่อกับเหตุการณ์เหล่านั้นโดยไม่วอกแวกมากนัก

บางคนรู้สึกไม่อยากเขียนรายการสำรวจตนเองเพราะรู้สึกเขินอายหรือกลัวความสามารถในการเขียนของตัวเอง หรือกลัวว่าคนอื่นจะอ่านสิ่งที่ตนเขียน แต่เราไม่ปล่อยให้ความกลัวเหล่านี้หยุดเรา ทักษะการสะกดคํา ไวยากรณ์ ลายมือ และทักษะการพิมพ์ของเราไม่ใช่เรื่องสําคัญ

ค. ระบุเหตุการณ์สําคัญ

เราเขียนเกี่ยวกับช่วงเวลาสําคัญในชีวิตเราที่ส่งผลต่อเรา ขณะที่เราทํารายการสำรวจตนเอง ให้เรามองข้ามเหตุการณ์เหล่านั้นไปและตรวจสอบความคิด ความรู้สึก และความเชื่อของเรา แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้คือต้นตอของพฤติกรรมเสพติดของเรา เราพบว่าหากจะเยียวยาและหายเป็นปกติ เราต้องสํารวจความกลัว ความจองหอง ความไม่พอใจ ความโกรธ ความเอาแต่ใจ และความเวทนาตนเองของเรา

บางครั้งเรารู้สึกหนักใจเมื่อพยายามตัดสินใจว่าจะเขียนอะไรก่อน บางคนจัดกลุ่มชีวิตตามช่วงวัย ปีที่เรียน สถานที่อาศัย หรือความสัมพันธ์ ส่วนคนอื่นๆ เริ่มจากการระดมความคิด เราอาจจําทุกอย่างพร้อมกันไม่ได้ เราต้องสวดอ้อนวอนต่อไปและยอมให้พระเจ้าทรงนําเรื่องต่างๆ มาสู่ความทรงจําของเรา เราปล่อยให้กระบวนการนี้เปิดกว้าง และเพิ่มรายละเอียดลงในรายการเมื่อเรานึกถึงประสบการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ได้

เราทราบดีว่าความทรงจําบางอย่างอาจถูกบิดเบือนและไม่ถูกต้อง เนื่องจากการหลอกลวงตนเองและความบอบช้ำทางใจอาจมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความทรงจําของเรา ความทรงจําบางอย่างเจ็บปวดและน่าอับอายจนเราอาจลังเลที่จะยอมรับและเขียนลงไป พระวิญญาณจะทรงนําทางเราเมื่อเราสวดอ้อนวอนและขอคำแนะนำจากผู้อุปถัมภ์อย่างสม่ำเสมอ แหล่งสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยให้เรารับรู้ความจริง

ง. จงซื่อสัตย์อย่างกล้าหาญในการตรวจสอบตนเอง

ขั้นตอนสําคัญต่อไปในรายการสำรวจตนเองคือการเข้าใจอดีตของเราให้ดีขึ้น การอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ความรู้สึกของเรา เหตุผลที่เกิดขึ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นกระบวนการค้นพบตนเอง ด้วยการสำรวจตนเองอย่างกล้าหาญและตรงไปตรงมา เราได้ยอมรับความจริงของอดีตและผลที่จะเกิดในอนาคต การเป็นคนซื่อสัตย์ในการตรวจสอบตัวเราเองช่วยให้เรากลับใจ แสวงหาการให้อภัย และเยียวยาได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นี่อาจเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดของกระบวนการทำรายการสำรวจตนเอง ซึ่งเจ็บปวดที่จะเห็นบทบาทของเราในความสัมพันธ์ที่ผิดพลาดและประสบการณ์ด้านลบ แต่ผู้อุปถัมภ์ของเราสามารถสนับสนุนเราและช่วยให้เรามีสมาธิและซื่อสัตย์ได้ เราสามารถยืนหยัดและยอมรับว่ากระบวนการค้นพบตัวเองนี้จําเป็นต่อการบำบัดของเรา ดังที่เอ็ลเดอร์บรูซ ดี. พอร์เตอร์กล่าวว่า “การค้นพบตัวตนเป็นประสบการณ์ทางวิญญาณอันลึกซึ้ง ประสบการณ์ที่เป็นไปได้สําหรับทุกคนที่เต็มใจเรียนรู้ … หากติดตามเป้าหมายอย่างซื่อสัตย์ [เรา] จะพบสมบัติเมื่อสิ้นสุดการเดินทาง” (“Searching Inward,” Ensign, Nov. 1971, 63, 65)

โปรดดูหมวดที่ชื่อว่า “ตัวอย่าง 1—รูปแบบคําถาม” เพื่อหาตัวอย่างคําถามที่จะช่วยนําทางท่านในการตรวจสอบตนเองอย่างซื่อสัตย์

จ. ฉลองให้กับความพยายามของเรา

เราตระหนักดีว่ารายการสำรวจตนเองที่เขียนอย่างซื่อสัตย์เป็นกระบวนการต่อเนื่องในการบำบัด เราพบว่าเราต้องทบทวนรายการสำรวจตนเองและเขียนเพิ่มลงไป กระบวนการนี้ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความสามารถของเราในการบำบัดและช่วยเราพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ที่ดีและแน่นแฟ้นขึ้น

ขั้นตอนที่ 4 เป็นกระบวนการ เราสามารถฉลองให้กับความพยายามทั้งหมดของเราในการเขียนรายการสำรวจตนเอง ภาพสะท้อนของตัวเราที่เราจะเห็นขณะทำขั้นตอนนี้ สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เราเปลี่ยนแปลงทิศทางชีวิตได้ หากเราเปิดใจรับ เพราะความรักและพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอด เราจึงไม่ต้องเป็นอย่างที่เราเคยเป็น เมื่อเราเรียกหาพระเจ้าเพื่อขอการนําทางขณะสํารวจชีวิตเรา เราจะรับรู้ว่าประสบการณ์ของเราเป็นโอกาสในการเรียนรู้

กระบวนการสํารวจตนเองช่วยให้เรามีพลังที่จะยอมรับความอ่อนแอของเราอย่างนอบน้อมถ่อมตนและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเปลี่ยนความอ่อนแอเป็นความเข้มแข็ง “และหากมนุษย์มาหาเรา เราจะแสดงให้พวกเขาเห็นความอ่อนแอของพวกเขา. เราให้ความอ่อนแอแก่มนุษย์เพื่อพวกเขาจะนอบน้อม; และพระคุณของเราเพียงพอสำหรับคนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา; เพราะหากพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา, และมีศรัทธาในเรา, เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา” (อีเธอร์ 12:27)

ฉ. เราอาจต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

เราอาจเคยประสบกับประสบการณ์ที่ยากลำบาก หรือมีสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา สิ่งเหล่านี้อาจรวมถึงประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การกระทําทารุณกรรม ความรุนแรง หรือความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างรุนแรง ขณะที่เราเขียนรายการสำรวจตนเอง การระลึกถึงประสบการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ อาจนําความเจ็บปวด ความกลัว และอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านี้กลับมา การหวนนึกถึงประสบการณ์และอารมณ์ที่เจ็บปวดเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเรามากขึ้น หากไม่ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือที่เหมาะสม เราควรพิจารณาขอความช่วยเหลือจากนักจิตบำบัด นักปรึกษา หรือแพทย์ เพื่อจัดการกับเหตุการณ์เหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยเราจัดการกับความบอบช้ำได้อย่างปลอดภัยในจังหวะที่เหมาะสม หากท่านไม่แน่ใจว่าต้องการความช่วยเหลือนี้หรือไม่ โปรดปรึกษาเรื่องนี้กับบุคคลที่ท่านไว้ใจ ท่านอาจพบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อทําการประเมิน และพิจารณาข้อเสนอแนะของพวกเขาได้เช่นกัน

ตัวอย่างการเขียนรายการสำรวจตนเองในขั้นตอนที่ 4

มีรูปแบบที่ประสบความสําเร็จมากมายสําหรับการสร้างรายการสำรวจตนเองในขั้นตอนที่ 4 อย่างไรก็ตาม เราได้เรียนรู้ว่าองค์ประกอบต่อไปนี้ ทําให้รายการสำรวจตนเองมีประสิทธิภาพสูงสุดในการบำบัด

  1. พระผู้เป็นเจ้า—การทํารายการสำรวจตนเองเป็นงานที่ยาก และเราไม่สามารถทําสําเร็จได้เพียงลําพัง เราต้องการความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า การสวดอ้อนวอนเป็นส่วนสําคัญของความพยายามอันสําคัญยิ่งนี้ เมื่อเราหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอน พระองค์จะทรงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เราและช่วยเราทํางานสำคัญนี้

  2. ความซื่อสัตย์—รายการสำรวจตนเอง คือการทบทวนชีวิตของเราอย่างละเอียด และควรรวมถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ และความสัมพันธ์ที่เรานึกถึงด้วยความไม่สบายใจหรือวิตกกังวล เราต้องซื่อสัตย์และละเอียดถี่ถ้วนที่สุดเท่าที่จะทําได้ เราพบว่ายิ่งเราเต็มใจค้นหาจิตวิญญาณเราลึกซึ้งเพียงใด ขั้นตอนที่ 4 ก็จะยิ่งได้ผลมากขึ้นเท่านั้น

  3. การเขียน—ขั้นตอนการเขียนให้ข้อคิด มุมมอง และความชัดเจนมากขึ้น สถานการณ์บางอย่างของเราทําให้การเขียนรายการสำรวจตนเองเป็นเรื่องยาก แม้เรามีความสามารถและแนวโน้มต่างกัน แต่พระเจ้าจะทรงอวยพรความพยายามของเราทุกครั้งในการนำประสบการณ์ที่ยากลำบากที่สุดมาทูลพระองค์เป็นลายลักษณ์อักษร หากท่านมีปัญหาในการเขียน ให้ขอผู้อุปถัมภ์หรือคนอื่นช่วย

  4. ผู้อุปถัมภ์—ผู้อุปถัมภ์ควรเป็นคนที่ปฏิบัติมาแล้วทั้ง 12 ขั้นตอนและทํารายการสำรวจตนเองของตนจนเสร็จ ผู้อุปถัมภ์สามารถช่วยเหลือเราตลอดกระบวนการนี้และมองชีวิตในมุมมองใหม่ได้เป็นอย่างดี หากท่านยังไม่ได้เริ่มทำ เราขอแนะนำอย่างยิ่งให้เริ่มทำงานร่วมกับผู้อุปถัมภ์

หลังจากเขียนรายการสำรวจตนเองแล้ว เราจะเก็บไว้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสําหรับขั้นตอนต่อไปในการบำบัด รายการสำรวจตนเองช่วยเราระบุความอ่อนแอและความเข้มแข็งของอุปนิสัยในขั้นตอนที่ 6 และ 7 ซึ่งบุคคลหรือสถาบันที่เรากล่าวถึงในรายการสำรวจตนเองจะเป็นคนที่เราต้องให้อภัยหรือชดใช้ในขั้นตอนที่ 8 และ 9 เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราสามารถทําลายรายการบางส่วนของเราที่มีคําพูดเชิงลบหรืออารมณ์โกรธ เรื่องราวการล่วงละเมิดส่วนตัว และเรื่องละเอียดอ่อนอื่นๆ ที่เราไม่ควรเล่าให้ผู้อื่นฟัง การทําลายงานเขียนเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการกลับใจและเป็นวิธีอันทรงพลังในการปล่อยวางอดีตของเรา

ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การเขียนรายการสำรวจตนเองนั้นมีหลายวิธี ด้านล่างเป็นสามตัวอย่าง มีอีกหลายวิธีในการเขียนรายการสำรวจตนเองที่ไม่ได้ระบุไว้ที่นี่ ตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยให้เราเริ่มต้น ไม่ว่าเราจะใช้แนวทางใดหรือผสมผสานกัน สิ่งสำคัญคือการเปิดใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงมองเราและสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร เมื่อเราทําเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะประทานความเข้มแข็งและความหวังแก่เรามากขึ้นในกระบวนการนี้

เราจะเริ่มต้นอย่างไร? บางคนเขียนรายการสำรวจตนเองตามลําดับชีวิตโดยเรียงตามอายุ ปีการศึกษา สถานที่อาศัย หรือความสัมพันธ์ ส่วนคนอื่นๆ เริ่มจากการระดมความคิด เราจะจำทุกอย่างพร้อมกันไม่ได้ ดังนั้นเราจึงสวดอ้อนวอนและเปิดใจให้พระเจ้าทรงนำสิ่งต่างๆ มาสู่ความทรงจำของเรา เราสามารถเพิ่มรายการสำรวจตนเองได้ตลอดเวลาเมื่อเราจดจําสถานการณ์และประสบการณ์

  • ตัวอย่างที่ 1—รูปแบบคําถาม วิธีนี้ใช้คําถามเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ชีวิตที่ยากลําบาก ช่วยให้เราเจาะลึกลงไปในแต่ละสถานการณ์

  • ตัวอย่างที่ 2—รูปแบบแผ่นงาน วิธีการนี้ช่วยให้เราจัดทำแผนผังและจัดระเบียบบุคคลหรือสถาบันที่เราเคยกระทำผิด ช่วยให้เราทราบความอ่อนแอของอุปนิสัยและให้ข้อมูลที่มีค่าสําหรับขั้นตอนต่อๆ ไป

  • ตัวอย่างที่ 3—รูปแบบบันทึก วิธีจดบันทึกสามารถให้ความกระจ่างแก่ชีวิตเราได้ เปิดโอกาสให้เราไตร่ตรองและประมวลผลรายละเอียดของชีวิตเรา

ตัวอย่างที่ 1—รูปแบบคําถาม

เมื่อเราทบทวนชีวิตตนเอง ความท้าทายแรกคือการระบุสถานการณ์ในอดีตและปัจจุบันที่ทําให้เรารู้สึกไม่สบายใจ เป้าหมายสูงสุดของเราคือการมองเห็นความอ่อนแอของตัวเราเอง และระบุบุคคลที่เราต้องให้อภัยหรือชดใช้ ตัวอย่างต่อไปนี้ใช้คำถามเพื่อช่วยให้เราสำรวจตนเองอย่างกล้าหาญและถี่ถ้วน คําถามเหล่านี้ช่วยให้เราระบุบุคคล สถานการณ์ หลักธรรม สถาบัน หรือเหตุการณ์สําคัญๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยเราอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น เรารู้สึกอย่างไร เหตุใดจึงเกิดขึ้น และส่งผลต่อใคร เราอุทิศหนึ่งหน้าให้กับแต่ละคนหรือแต่ละสถานการณ์ ในแต่ละหน้า เราเขียนคําตอบของคําถามเหล่านั้น เราพยายามให้คำตอบไม่เกิน 15 คำ—ประโยคสั้นๆ ก็เพียงพอแล้ว

ตัวอย่างต่อไปนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์เดียวคือการเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุของพี่สาว

คําถามเบื้องต้น

  1. เกิดอะไรขึ้น? ให้คําอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับสถานการณ์นั้น

    พี่สาวของฉันเสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์

  2. เหตุใดเหตุการณ์นี้จึงรบกวนใจฉัน?

    นั่นเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับฉัน

  3. เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อฉันและความสัมพันธ์ของฉันอย่างไร (ทางการเงิน ทางอารมณ์ ทางร่างกาย)? เหตุการณ์นี้ทําให้ฉันเจ็บปวดอย่างไร?

    ฉันแยกตัวจากผู้อื่น ฉันยังคงไม่มั่นคง ฉันเริ่มใช้แอลกอฮอล์เพื่อทําให้ความเจ็บปวดด้านชา และน้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้น ฉันหมดความต้องการที่จะศึกษาต่อ ฉันไม่อยากใกล้ชิดกับใครทั้งนั้น ฉันกลัวที่จะมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง

  4. ตอนที่เกิดเรื่องครั้งแรกฉันรู้สึกอย่างไร? ฉันยังรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นี้บ้าง?

    ฉันรู้สึกตกใจและเจ็บปวดเมื่อมันเกิดขึ้น ฉันรู้สึกโกรธพระผู้เป็นเจ้า ฉันยังคงเจ็บปวด

  5. เมื่อมองย้อนกลับไป ความอ่อนแอของอุปนิสัยของฉันมีอะไรบ้างที่มีส่วนทําให้เกิดสถานการณ์นี้? (เราต้องสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้เรามีความนอบน้อมและเผชิญความจริง แม้ว่าอาจจะเจ็บปวดมากก็ตาม)

    • ฉันไม่ซื่อสัตย์หรือไม่? ฉันโกหกใคร?

      ส่วนใหญ่ฉันโกหกตัวเอง ฉันโทษพระผู้เป็นเจ้าและครอบครัวที่ฉันไม่สามารถมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์

    • ฉันหวาดกลัวหรือไม่?

      ใช่ ฉันไม่เข้าใจว่าทําไมพระบิดาบนสวรรค์ไม่ทรงคุ้มครองเธอ ถ้าสิ่งเลวร้ายแบบนั้นเกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่ง มันก็อาจจะเกิดขึ้นอีก

    • ฉันโกรธแค้นหรือไม่?

      ใช่ ส่วนใหญ่โกรธพระผู้เป็นเจ้า แต่ก็โกรธสามีของเธอและคนขับรถที่ชนเธอด้วย ฉันคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่เธอเสียชีวิต

    • ฉันเห็นหลักฐานอะไรบ้างเกี่ยวกับความจองหองในชีวิตของฉัน? ฉันเห็นสัญญาณของการหลอกตัวเอง การเข้าข้างตัวเอง หรือความสงสารตัวเอง ในเจตคติและการกระทำของฉันหรือไม่?

      ฉันคาดหวังให้ชีวิตมีความสุขเสมอ ฉันไม่คิดว่าเรื่องร้ายๆ ควรเกิดกับฉันหรือครอบครัว แน่นอนว่าฉันรู้สึกสงสารตัวเอง

  6. การกระทําของฉันทําร้ายหรือส่งผลเสียต่อผู้อื่นหรือไม่? หากใช่ ส่งผลถึงใคร?

    การกระทําของฉันทําร้ายผู้อื่นในครอบครัว เช่น พี่เขยของฉัน ฉันอารมณ์แปรปรวนและระบายความโกรธใส่ครอบครัว ฉันไม่ให้อภัยคนขับรถ ความโกรธที่ฉันมีต่อพระผู้เป็นเจ้าทําร้ายฉัน

  7. ฉันทําอะไรเพื่อควบคุมสถานการณ์? ฉันทําหรือละเว้นสิ่งใดเพื่อให้ได้สิ่งที่ฉันต้องการ?

    ฉันเก็บตัวหรือระเบิดอารมณ์ใส่คนอื่น ฉันแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ฉันไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นความจริง ฉันอยากย้อนเวลากลับไป ฉันต้องการให้พระผู้เป็นเจ้าทําให้เธอฟื้นคืนชีพ ฉันถึงกับขอให้คุณพ่อคุณแม่สวดอ้อนวอนให้เธอกลับมา ความคิดของฉันสับสนมาก!

  8. ฉันทําตัวเหมือนตกเป็นเหยื่อเพื่อบงการผู้อื่นอย่างไร (เช่น ต้องการความสนใจ ความเห็นใจ เป็นต้น)? ฉันยืนกรานว่าถูกต้องหรือเปล่า? ฉันรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจหรือไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่?

    ฉันมีอารมณ์ฉุนเฉียว ปลีกตัว และไม่ยอมพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาในเรื่องความโศกเศร้า ฉันเห็นแต่ความรู้สึกและความเจ็บปวดของฉันเอง ฉันแค่ต้องการให้คนอื่นทําให้ทุกอย่างดีขึ้นเพื่อฉัน

  9. นี่เป็นเรื่องของฉันหรือไม่? ฉันเพิกเฉยต่อความรู้สึกของใครด้วยการนึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว?

    นี่เป็นเรื่องของฉัน เธอเป็นพี่สาวของฉัน และฉันรู้สึกเจ็บปวดมาก แต่ฉันไม่เคยหยุดนึกถึงความเจ็บปวดที่คนอื่นรู้สึก—พ่อแม่ พี่น้องชายหญิง เพื่อนของเรา และสามีของเธอ

  10. ฉันต่อต้านความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นหรือไม่?

    ใช่ ฉันโกรธพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นฉันจึงไม่ยอมสวดอ้อนวอน ฉันไม่ยอมพูดคุยกับใครหรือปล่อยให้ตนเองได้รับการปลอบโยน

ตัวอย่างที่ 2—รูปแบบแผ่นงาน

อีกวิธีหนึ่งในการทํารายการสำรวจตนเองคือการเติมแผนผังด้านล่าง ขั้นแรก กรอกคอลัมน์แรกทางด้านซ้าย จากนั้นกรอกคอลัมน์ที่สอง สาม สี่ และอื่นๆ การกรอกแผนผังนี้จะเผยให้เห็นรูปแบบที่เราต้องมองหาในรายการสำรวจตนเอง เราพิจารณาคุณสมบัติเชิงบวกที่เราต้องพัฒนาหรือมีอยู่แล้ว โดยระลึกไว้เสมอว่าพระเจ้าทรงสามารถเปลี่ยนความอ่อนแอของเราเป็นความเข้มแข็งได้ (ดู อีเธอร์ 12:27) เราใช้เวลาอ่านและไตร่ตรองคําแนะนําของพระเจ้า

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรมที่ฉันมีความรู้สึกเชิงลบ

เกิดอะไรขึ้นและฉันทําอะไร? ให้คําอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ลองทำรายการสิ่งต่างๆ ในชีวิตของฉันตามลำดับเวลา โดยอาจเพิ่มขึ้นทีละ 5 ถึง 10 ปี

ผล

เหตุใดบุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรมนี้จึงรบกวนจิตใจฉัน? สิ่งนั้นส่งผลต่อความมั่นคงทางอารมณ์ ร่างกาย หรือการเงินของฉันหรือไม่? ส่งผลต่อความสัมพันธ์ สํานึกในคุณค่าของตนเอง หรือความทะเยอทะยานในอนาคตหรือไม่?

ความรู้สึก

ความรู้สึกของฉันในเวลานั้นคืออะไร? ฉันยังรู้สึกอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้าง? ฉันรู้สึกเสียใจที่ฉันมีส่วนในปัญหา หรือไม่พอใจต่อบุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรมหรือไม่?

ความอ่อนแอของอุปนิสัย

ฉันเห็นหลักฐานอะไรบ้างของความจองหองในชีวิตฉัน? ฉันเห็นสัญญาณของการหลอกตัวเอง การเข้าข้างตัวเอง ความสงสารตัวเอง หรือการถือทิฐิของตนเองในเจตคติและการกระทำของฉันหรือไม่? ความกลัวที่เห็นแก่ตัวของฉันคืออะไรบ้าง ที่ทำให้เกิดสถานการณ์หรือเหตุการณ์นี้ หรือทำให้ฉันรู้สึกเช่นนี้กับบุคคล สถาบัน หรือหลักธรรมนี้?

ให้อภัยและชดใช้

ฉันต้องให้อภัยใคร? ฉันต้องชดใช้ให้ใคร? อย่าลืมเพิ่มชื่อของฉันเองลงในคอลัมน์นี้

คุณสมบัติเชิงบวก

เมื่อทํารายการสำรวจตนเอง ฉันอาจจดจ่อกับแง่มุมที่ยากลําบากในชีวิตของฉัน อย่างไรก็ตาม ฉันควรคิดถึงข้อดีและคุณลักษณะที่ดีของฉันด้วย ข้อดีของอุปนิสัยฉันคืออะไร? ข้อดีของอุปนิสัยใดที่ฉันต้องพัฒนาเพิ่มเติม? การจดจ่ออยู่กับข้อดีด้านบวกสามารถเตือนให้ฉันนึกถึงคุณค่าอันสูงส่งที่ไม่สิ้นสุดและไม่อาจทําลายได้

0 ถึง 10 ปี

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

แซม เด็กที่โรงเรียนชอบแกล้งและล้อเลียนชื่อฉัน

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

สิ่งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกของฉันที่มีต่อตนเองและความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ฉันอยากจะกล้าหาญ แต่ทําไม่ได้

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ฉันกลัว และรู้สึกละอายใจด้วยว่าฉันกลัวมาก ฉันอยากจะทำร้ายเขา

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ความสงสารตนเอง การเข้าข้างตนเอง

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

ฉันต้องการให้อภัยแซม ในอนาคต ฉันอยากเป็นคนใจดีและยังซื่อสัตย์ด้วย

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันเป็นคนดี ฉันมักจะเห็นความดีในผู้อื่น

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

การให้อภัย ความกล้าหาญ

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

ฉันทําขนมที่กิจกรรมปฐมวัย ฉันอยากเอากลับบ้านไปให้คุณพ่อคุณแม่ดู แต่ฉันก็ค่อยๆ กินไปเรื่อยๆ ระหว่างทาง ในที่สุดฉันก็กินส่วนที่เหลือจนหมด

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

สิ่งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกนับถือตนเองของฉัน ฉันต้องการแบ่งปันความสําเร็จของตนเองกับคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ล้มเหลว

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ฉันเสียใจตลอดทางกลับบ้านในสิ่งที่ทําลงไป ฉันรู้สึกอับอาย อ้วน และอ่อนแอ ฉันรู้สึกว่าตนเองเป็นคนล้มเหลว

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ความจองหอง ความสงสารตนเอง ความตะกละ การขาดการควบคุมตนเอง

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

ฉัน

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันอยากทำสิ่งที่ถูกต้อง ฉันคิดว่าตนเองมีจิตใจดี

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

ความนอบน้อมถ่อมตน ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การควบคุมตนเองด้วยอาหาร

10 ถึง 20 ปี

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความนอบน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

ฉันค้นพบการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองเมื่อเด็กๆ ที่โรงเรียนล้อเล่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อฉันถามคุณแม่เรื่องนี้ ท่านโมโหและบอกฉันว่าอย่าทําและอย่าพูดเรื่องนี้อีก

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

ฉันขัดแย้งในใจเพราะรู้สึกดีแต่ทําให้ฉันรู้สึกกังวล เมื่ออยู่กับเพื่อนๆ ที่โบสถ์ ฉันรู้สึกเหมือนเป็นคนเดียวที่กําลังมีปัญหาเรื่องนี้เพราะไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ฉันรู้สึกอับอาย ถูกแม่ตัดขาด อยู่คนเดียว ไม่ซื่อสัตย์ และสกปรก

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

การเอาแต่ใจ ความไม่ซื่อสัตย์ ความไม่สะอาด ขาดการควบคุมตนเอง

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

ฉัน คุณแม่ของฉัน

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความนอบน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันคิดว่าฉันมีมโนธรรมที่ดี ฉันต้องการเป็นคนดี

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

ความเต็มใจที่จะเปิดรับผู้อื่น ความซื่อสัตย์ ความบริสุทธิ์ทางเพศ การกลับใจ

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

เป็นเวลาประมาณ 14 เดือนที่ฉันขโมยเงินสดจากลิ้นชักเงิน หรือใช้สินค้าโดยไม่จ่ายเงินที่สถานที่ทำงานเป็นประจำ

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

ฉันรู้สึกประหม่าเสมอเมื่ออยู่ใกล้ผู้จัดการของฉัน ตอนนี้ฉันรู้สึกผิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เพราะร้านนั้นปิดกิจการไปแล้ว

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ความกลัว ความละโมบ การเอาแต่ใจตนเอง

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ความไม่ซื่อสัตย์ การเอาแต่ใจตนเอง การหลอกลวงตนเอง

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

ที่ทํางาน ผู้จัดการของฉัน

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความนอบน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันเป็นคนขยัน

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ

20 ถึง 30 ปี

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่น ๆ)

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่น ๆ)

ฉันเมาในงานปาร์ตี้และตื่นขึ้นมาพร้อมกับคนที่ฉันแทบไม่รู้จัก

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

สิ่งนี้ส่งผลต่อความรู้สึกมั่นคง ความปลอดภัย และคุณค่าในตนเองของฉัน ฉันอยากแต่งงานในพระวิหาร แต่ดูเหมือนการแต่งงานแบบนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ฉันรู้สึกสกปรก สิ้นหวัง และเศร้าหมอง ฉันเสียใจมากที่ไปงานปาร์ตี้นั้น

เหตุใดเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นกับฉัน?

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ไม่ไว้ใจ ดูหมิ่นตัวเองและคนที่เรียกว่าเพื่อน สงสารตัวเอง

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

ฉัน เพื่อนของฉัน

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันเป็นคนใจดี ฉันต้องการผ่านสิ่งนี้ไปให้ได้ ฉันทํางานหนักเพื่อพัฒนาพรสวรรค์ของฉัน

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

ความมีสติ ความรับผิดชอบ การเชื่อฟัง การให้พระผู้เป็นเจ้ามาก่อน ความบริสุทธิ์ทางเพศ

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่น ๆ)

พี่สาวของฉันเสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ ฉันรู้สึกสนิทสนมกับสามีและลูกๆ ของเธอ แต่เขาตัดขาดตัวเองจากครอบครัวเรา

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

นี่เป็นปมปัญหาใหญ่ในชีวิตของฉัน ฉันรู้สึกไม่มั่นคงทางร่างกายและทางอารมณ์ ความสัมพันธ์ของฉันกับพี่สาวและครอบครัวของเธอจบลง

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ฉันรู้สึกเศร้าใจบ่อยมาก ฉันรู้ว่าเหล้าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ทำให้มันหายไปได้ชั่วขณะ

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ความวิตกกังวล ความกลัว ความไม่พอใจ ความสงสารตนเอง

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

พระผู้เป็นเจ้า ฉัน สามีของพี่สาวฉัน ผู้คนที่ฉันทําร้ายจากการดื่มของฉัน

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันเป็นนักศึกษาที่ดีและขยัน ฉันรักผู้คนและเข้ากับคนอื่นในที่ทํางานได้ดี

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ความหวัง ความมีสติ

30 ถึง 60 ปี

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

ฉันไม่ชอบใจลูกเขย เขามักต้องการเงินเสมอ แต่รักษาหน้าที่การงานไม่ได้ เขาสะเพร่า ฉันเกรงว่าเขาจะทําให้ลูกสาวของฉันไม่มีความสุข

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

ฉันกังวลเรื่องการเงิน เมื่อฉันรู้สึกไม่ดีกับเขา สิ่งนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของฉันกับลูกสาว

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ฉันรู้สึกคับข้องใจ ฉันรู้สึกขุ่นเคือง และโกรธตัวเองที่รู้สึกไม่พอใจ ฉันรู้สึกติดกับและคิดหาทางออกดีๆ ไม่ได้

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตัวเอง ความหยิ่งจองหอง ความไม่พอใจ

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

ลูกเขยของฉัน ลูกสาวของฉัน คู่สมรสของฉัน

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ปกติฉันเป็นคนใจกว้างมาก ฉันทํางานหนักที่บ้านและในศาสนจักร

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

จิตกุศล การให้อภัย การรับการเปิดเผยส่วนตัว

บุคคล สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักธรรม (เกิดอะไรขึ้น ใครเสียหาย และอื่นๆ)

คู่สมรสของฉันกําลังพูดถึงการแยกทางหรือการหย่าร้าง ฉันรู้ว่าฉันไม่ใช่คนดีที่สุด แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากฉันเสมอไป

ผลกระทบ (ความมั่นคงทางอารมณ์ ทางร่างกาย หรือทางการเงิน ความสัมพันธ์ คุณค่าในตนเอง หรือความทะเยอทะยาน)

ความสัมพันธ์ของฉันแย่มาก ความนับถือตนเองของฉันถูกกระทบ รวมถึงความมั่นคงทางการเงินและอารมณ์

ความรู้สึก (ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว ความเสียใจ ความเจ็บปวด และอื่นๆ)

ฉันรู้สึกกลัวมาก จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันไม่ได้เจอลูกๆ ? ฉันไม่รู้ว่าจะผ่านการหย่าร้างไปได้อย่างไร

ความอ่อนแอของอุปนิสัย (การเอาแต่ใจตนเอง ความจองหอง ความไม่ซื่อสัตย์ การเข้าข้างตนเอง ความสงสารตนเอง การหลอกตนเอง และอื่นๆ)

ความกลัว ความสงสารตนเอง ความขุ่นเคือง ความวิตกกังวล

ให้อภัยและชดใช้ (ฉันต้องให้อภัยหรือชดใช้ให้ใคร?)

ฉัน คู่ครอง และลูกๆ ของฉัน

คุณลักษณะที่ดี (จิตกุศล ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ และอื่นๆ)

ฉันพยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนแปลง ฉันทำแม้กระทั่งไปขอคําปรึกษา

ฉันต้องพัฒนาคุณลักษณะใดเพิ่มเติม?

จิตกุศล ความรัก สันติสุข และความวางใจในพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

ตัวอย่างที่ 3—รูปแบบบันทึก

การเขียน สามารถเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการทําความเข้าใจและเยียวยา การเขียนบันทึกร่วมกับการสวดอ้อนวอน ก่อนหรือหลังจากการทำรายการสำรวจตนเองสามารถเป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อเราทบทวนชีวิตของเรา เราเพียงเริ่มเขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เราค้นพบและความรู้สึกของเรา รูปแบบนี้ไม่มีระบบ เราแค่หยิบปากกาขึ้นมา กล่าวคําสวดอ้อนวอน และเริ่มเขียน ให้ความคิดหลั่งไหลออกมา! เมื่อเราคิดทบทวนชีวิตผ่านการเขียนบันทึก เราจะมองหาคน สถาบัน สถานการณ์ เหตุการณ์ หรือหลักการที่เรามีความรู้สึกเชิงลบ เราเขียนเกี่ยวกับผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรา และพยายามทำความเข้าใจความอ่อนแอของอุปนิสัยและพัฒนาความเข้มแข็งที่เราต้องการพัฒนา เราสวดอ้อนวอนขอให้รู้ว่าเราต้องให้อภัยใคร และเราต้องขออภัยใคร นี่คือตัวอย่างการเขียนบันทึกบางส่วน:

  • ช่วงนี้ฉันคิดถึงประสบการณ์ในวัยเด็ก ฉันจําเด็กคนนั้นได้—ฉันจําชื่อเขาไม่ได้—แต่เขาตัวใหญ่กว่าฉัน และเขาใจร้ายมาก เขาเรียกฉันว่าไอ้น้องและชื่อที่แย่กว่านั้น ฉันต้องวิ่งกลับบ้านจากโรงเรียนโดยเร็วที่สุดทุกวัน ฉันสงสัยว่าตอนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ฉันรู้สึกว่าไม่มีเพื่อนเลยและไม่สามารถมีเพื่อนได้ด้วยซ้ำ ฉันรู้สึกเกลียดเมื่อฉันหนีจากปัญหา ฉันเกลียดความกลัว แต่ก็รู้สึกไม่ยุติธรรมที่บางคนตัวใหญ่และใจร้ายกว่า ฉันพยายามเป็นมิตรอยู่เสมอ ฉันคิดว่าฉันรู้สึกสงสารตัวเอง ฉันไม่เข้าใจว่าทําไมคนอื่นถึงไม่ดีกับฉัน ฉันเป็นคนที่ดี

  • ฉันค่อนข้างเป็นเด็กอ้วน ฉันน้ำหนักเกินเล็กน้อย แต่ฉันหยุดกินของที่ชอบไม่ได้ แม้เมื่ออยู่ในปฐมวัย ฉันก็ไม่เคยเอาขนมกลับบ้านไปแบ่งกับครอบครัวได้เลย มันทําให้ฉันรู้สึกเหมือนล้มเหลว ฉันละอายอยู่เสมอเกี่ยวกับการกินและน้ำหนักของฉัน บางคนสามารถกินอะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการและไม่ส่งผลต่อน้ำหนักของพวกเขา นั่นทําให้ฉันนึกฉุนมาก!

  • ฉันมีปัญหาเรื่องตัณหาทางเพศ มันไม่ใช่ความผิดของฉันจริงๆ ที่ฉันมีช่วงเวลาที่ยากลําบากกับสิ่งนั้น ฉันค้นพบการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองเมื่อเด็กๆ ที่โรงเรียนล้อเล่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อฉันถามคุณแม่เรื่องนี้ ท่านโมโหและบอกฉันว่าอย่าทําและอย่าพูดเรื่องนี้อีก แต่ถ้าอธิการสัมภาษณ์ฉันทีหลังล่ะ? ฉันควรบอกเขาหรือไม่?

  • ฉันรู้สึกอับอายมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อกับแม่ในบ้าน จนสิ่งเดียวที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นคือการสูบบุหรี่ ฉันเจอบุหรี่และมันทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้น ราคาที่แลกด้วยการบรรเทาความทุกข์ใจที่ฉันรู้สึก ฉันมีชีวิตลับของตัวเองเวลาที่ฉันตื่นนอนตอนกลางคืนและนอนไม่หลับ ฉันคิดว่าฉันจะเลิกได้ทุกเมื่อ แต่ฉันเลิกไม่ได้จริงๆ แล้วบุหรี่ที่ฉันเจอก็หมด ฉันเลยต้องขโมยเพื่อเอาเงินไปซื้อเพิ่ม ฉันขโมยของจากที่ทํางาน ฉันกลัวมากว่าจะถูกจับได้ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือแย่กว่านั้นคือตำรวจ ฉันเกลียดความไม่ซื่อสัตย์ แต่ฉันต้องการเวลาสูบบุหรี่อยู่คนเดียว—เวลาที่เป็นของฉันเอง ฉันคิดว่าฉันรู้สึกสงสารตัวเอง

  • อีกความทรงจำที่ไม่ดีเกิดขึ้นตอนที่ฉันเรียนมหาวิทยาลัย ฉันอยากเป็นเหมือนเพื่อนร่วมห้องของฉัน แต่ฉันไม่ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงมากมาย ฉันจําคืนนั้นได้ ที่ในที่สุดฉันก็ได้ไปงานปาร์ตี้ที่มีคนดื่มเหล้าเยอะมาก “จะเป็นอะไรไป” ฉันคิด ฉันอยากได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ฉันอยากสนุกสักครั้ง ฉันจําไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น แต่เมื่อฉันตื่นนอน ฉันอยู่กับคนที่ฉันไม่รู้จักจริงๆ สถานการณ์เปลี่ยนจากแย่เป็นแย่ลง ทําไมฉันถึงไม่มีโอกาสดีๆ เลย? ไม่มีอะไรเป็นใจให้ฉัน

  • เหมือนโลกทั้งใบพังทลายลง เมื่อฉันได้ยินข่าวว่าพี่สาวเสียชีวิต เธอเดินอยู่ริมถนนแล้วรถคันหนึ่งก็ชนเธอ ครอบครัวฉันเสียใจมาก และพวกเราบางคนแสดงออกมากกว่าแต่ก่อน สามีเธอโกรธมากจนเขาบอกว่าเขาจะไม่ยอมให้ลูกๆ คุยกับเราอีก เขาบอกว่าครอบครัวของฉันสร้างปัญหาในชีวิตพวกเขา

  • ดูเหมือนลูกๆ ของฉันจะสานต่อประเพณีของครอบครัว ลูกสาวของฉันแต่งงานกับคนที่ไม่เอาไหน พวกเขาไม่เคยมีเงินเพียงพอ และบอกตามตรงว่าฉันก็ไม่สามารถที่จะสนับสนุนพวกเขาได้อีกแล้ว ทำไมเขาไม่หางานทำและรักษามันไว้ให้ได้? ฉันรู้สึกคับข้องใจมาก ฉันต้องการเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกสาว แต่ปัญหาเรื่องเงินอย่างต่อเนื่องทําให้เกิดปัญหาระหว่างเรา ฉันหวังว่าฉันจะยอมรับสามีของเธอได้ แต่ฉันทําไม่ได้ ฉันเสียใจ

  • วันอาทิตย์ควรจะเป็นวันครอบครัวที่ดีใช่ไหม? ฉันไม่เคยคิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น คู่สมรสบอกฉันเมื่อคืนว่าเราต้องเว้นพื้นที่ให้กันบ้าง เหมือนกับการแยกกันอยู่ อะไรนะ? ฉันไม่อยากจะเชื่อเลย แน่นอนว่าฉันไม่ดีพร้อม แต่ก็ไม่มีใครดีพร้อมเช่นกัน ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์จะทําอะไรได้บ้าง?

  • ฉันคุยกับผู้อุปถัมภ์เกี่ยวกับแนวคิดในการใช้รายการสำรวจตนเองในชีวิตของฉัน ผู้อุปถัมภ์ของฉันชี้ให้เห็นว่ามีรูปแบบบางอย่างในความรู้สึกที่ฉันมี และมีบางอย่างที่ฉันต้องคุยกับอธิการ เมื่อฉันย้อนกลับไปอ่านบันทึกประจำวันช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉันเห็นว่าฉันมักจะรู้สึกสงสารตัวเอง แน่นอนว่ามีเรื่องเลวร้ายบางอย่างเกิดขึ้นกับฉัน แต่ฉันเริ่มเห็นว่าเมื่อฉันหันมาหาพระเจ้า พระองค์ทรงสามารถนำความเจ็บปวดบางอย่างของฉันไปได้ ฉันไม่จําเป็นต้องใช้การเสพติดของฉันอีกต่อไป ฉันไม่มีพลังที่จะเลิกมันได้ แต่พระเจ้าทรงมีเดชานุภาพนั้น

  • ตอนนี้ฉันเริ่มเข้าใจพระคัมภีร์และถ้อยคําของศาสดาพยากรณ์มากขึ้น ฉันกําลังดูว่าจะประยุกต์ใช้กับชีวิตของฉันอย่างไร ตอนนี้ฉันรู้ตัวมากขึ้นเกี่ยวกับความอ่อนแอของตนเองที่ไม่เคยมองเห็น บางทีฉันก็สงสัยว่าที่มันแย่ลงเพราะฉันมองเห็นมันชัดเจนขึ้นหรือเปล่า ฉันรู้ว่าฉันต้องทําตามขั้นตอนต่อไปเพื่อที่ฉันจะได้บำบัดจริงๆ