บทที่ 20
1 นีไฟ 19
คำนำ
ในบทนี้ นีไฟอธิบายว่าบางคนจะไม่เคารพพระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอล พระเยซูคริสต์ เปรียบได้ว่าพวกเขาจะเหยียบย่ำพระเยซูคริสต์ไว้ใต้ฝ่าเท้าของพวกเขาโดยเห็นพระองค์ไร้ค่าและไม่ยอมสดับฟังคำแนะนำของพระองค์ นีไฟบรรยายคำสอนของศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณเช่นกันผู้บอกล่วงหน้าว่าคนที่รับผิดชอบเรื่องการโบยและตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอด และผู้สืบตระกูลของพวกเขา จะกระจัดกระจายและเป็นทุกข์จนกว่าพวกเขาจะหันใจมาหาพระเจ้า เวลานั้นพระเจ้าจะทรง “ระลึกถึงพันธสัญญาซึ่งพระองค์ทรงทำไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขา” (ดู 1 นีไฟ 19:15) นีไฟอธิบายว่าเขาเขียนเรื่องเหล่านี้เพื่อชักชวนผู้คนให้ระลึกถึงพระเจ้าและเชื่อในพระองค์ เขาสอนผู้คนของเขาให้เปรียบพระคัมภีร์กับตนเองด้วยเพื่อช่วยให้คนเหล่านั้นเชื่อในพระเจ้า
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
1 นีไฟ 19:1–19
นีไฟบันทึกคำพยากรณ์ถึงพระเยซูคริสต์เพื่อช่วยให้ผู้คนระลึกถึงพระผู้ไถ่ของพวกเขา
ชูพระคัมภีร์มอรมอน สรุป 1 นีไฟ 19:1–4 โดยอธิบายว่านีไฟได้รับบัญชาให้ทำแผ่นจารึกสองชุด—ชุดหนึ่งบันทึกประวัติ (ศาสนา) อันศักดิ์สิทธิ์ และอีกชุดสำหรับประวัติทางโลกของผู้คนของเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 19:3, 5–6 ขอให้นักเรียนที่เหลือมองหาสิ่งที่นีไฟพูดเกี่ยวกับเรื่อง “ศักดิ์สิทธิ์”
-
นีไฟให้เหตุผลอะไรสำหรับการจดบันทึกเรื่องศักดิ์สิทธิ์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 19:7 ก่อนนักเรียนอ่านให้อธิบายว่าในข้อนี้ วลี “พระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอล” หมายถึงพระเยซูคริสต์ ข้อดังกล่าวมีคำว่า ไร้ค่า ซึ่งหมายถึง “ไม่สลักสำคัญ” การถือว่าคนหนึ่งไร้ค่าคือการปฏิบัติต่อบุคคลนั้นประหนึ่งเขาหรือเธอไม่มีค่าอะไรเลย
-
หลังจากบอกว่าเขาจะเขียนเฉพาะเรื่องศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น นีไฟเริ่มเขียนเกี่ยวกับอะไร
-
ตามที่กล่าวไว้ใน 1 นีไฟ 19:7 บางคนเหยียบย่ำพระผู้ช่วยให้รอดไว้ใต้ฝ่าเท้าของพวกเขา หรือ “ถือว่าไร้ค่า” อย่างไร
-
การไม่ยอมสดับฟังคำแนะนำของพระเจ้าเปรียบเสมือนกับถือว่าพระองค์ไร้ค่าหรือเหยียบย่ำพระองค์ไว้ใต้ฝ่าเท้าอย่างไร
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 19:8–10 ขอให้ชั้นเรียนมองหาวิธีที่ผู้คนจะปฏิบัติต่อพระผู้ช่วยให้รอดเหมือนเป็นสิ่งไร้ค่าในระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระองค์ทรงเป็นมรรตัย (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีที่พวกเขาพบ)
-
ผู้คนปฏิบัติต่อพระผู้ช่วยให้รอดเหมือนเป็นสิ่งไร้ค่าในด้านใดในระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระองค์ทรงเป็นมรรตัย
-
รายละเอียดอะไรในข้อเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงถือว่าเราเป็น “สิ่งไร้ค่า” (นักเรียนควรเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ทั้งหมด “เพราะความการุณย์รักของพระองค์และความอดลั้นของพระองค์ต่อลูกหลานมนุษย์”)
-
ขณะที่ท่านใคร่ครวญข้อเหล่านี้ ท่านรู้สึกอย่างไรต่อพระผู้ช่วยให้รอด
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน 1 นีไฟ 19:13–14 และให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์ซีนัสกล่าวไว้ว่าจะเป็นเหตุให้คนที่ตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอด (และผู้สืบตระกูลของพวกเขา) “ถูกโบยโดยคนทั้งปวง”
-
ซีนัสให้เหตุผลอะไรอันเป็นสาเหตุให้คนตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอด (และผู้สืบตระกูลของพวกเขา “ถูกโบยโดยคนทั้งปวง”
เขียนคำกล่าวต่อไปนี้บนกระดาน: พวกเขาเอาใจออกห่าง
-
ท่านคิดว่าเอาใจออกห่างจากพระเจ้าหมายความว่าอะไร
หลังจากนักเรียนตอบ บอกชั้นเรียนว่าท่านอยากให้นักเรียนหลายๆ คนช่วยยกตัวอย่างว่าวลีนี้ประยุกต์ใช้กับเราในทุกวันนี้ได้อย่างไร เชิญนักเรียนหลายๆ คนมาที่กระดาน ขอให้พวกเขาเขียนตัวอย่างการกระทำที่อาจบ่งบอกว่าคนๆ นั้นเอาใจออกห่างจากพระเจ้า จากนั้นขอให้พวกเขาอธิบายว่าเกิดผลลัพธ์อะไรบ้างสำหรับการเอาใจออกห่างตามที่พวกเขาเขียนไว้ (ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งอาจจะเขียนว่า เลิกศึกษาพระคัมภีร์ และจากนั้นให้อธิบายผลอย่างหนึ่งของการกระทำนี้ นั่นคือ สามารถรับการเปิดเผยได้น้อยลง)
หลังจากนักเรียนหลายคนอธิบายตัวอย่างของพวกเขาแล้ว บอกชั้นเรียนว่าไม่ว่าพวกเขาจะเอาใจออกห่างพระเจ้าด้วยเหตุผลใด เราสามารถเลือกหันใจเรากลับมาหาพระองค์ได้ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 19:14–17 ในใจ โดยมองหาคำสัญญาจากพระเจ้าต่อคนที่หันใจพวกเขากลับมาหาพระองค์
-
พระเจ้าทรงทำให้อิสราเอลกระจัดกระจายเมื่อใด (เมื่อพวกเขาเอาใจออกห่างจากพระองค์)
-
พระเจ้าทรงรวมอิสราเอลเมื่อใด (เมื่อพวกเขาหันใจมาหาพระองค์)
-
พระเจ้าตรัสว่าพระองค์จะทรงทำอะไรเพื่อคนที่ไม่หันใจต่อต้านพระองค์อีก
-
ท่านคิดว่าพระเจ้าจะทรงระลึกถึงคนเหล่านี้และพันธสัญญาที่ทรงทำไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขาหมายความว่าอย่างไร
ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระเจ้าไม่ทรงลืมคนเหล่านี้ พวกเขาดำเนินชีวิตจนพระองค์ไม่ทรงสามารถให้พรทั้งหมดของพระกิตติคุณแก่พวกเขาได้ เมื่อผู้สืบตระกูลของพวกเขาหันใจมาหาพระองค์ พระเจ้าทรงสัญญาจะระลึกถึงพวกเขา รวมพวกเขาเข้ามาในศาสนจักรของพระองค์ และประทานพรทั้งหมดของพระกิตติคุณแก่พวกเขา
-
ท่านคิดว่าคำสัญญาในข้อ 15–17 มีหมายความต่อเราอย่างไร (แนวคิดหนึ่งที่ควรมาจากการสนทนาครั้งนี้คือ เมื่อเราหันใจมาหาพระเจ้า พระองค์จะทรงให้เกียรติพันธสัญญาที่เราทำกับพระองค์)
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้และเขียนคำตอบในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาหรือสมุดจดในชั้นเรียน (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามไว้บนกระดาน)
-
การกระทำแบบใดแสดงให้เห็นว่าท่านและครอบครัวหันใจมาหาพระเจ้า
-
การกระทำเช่นนั้นช่วยให้ท่านหรือครอบครัวท่านได้รับพรของพระเจ้าเมื่อใด
ท่านอาจเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน เตือนพวกเขาว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป
อธิบายโดยสังเขปว่านีไฟตั้งใจเขียนบันทึกของเขาให้สมาชิกทุกคนของเชื้อสายแห่งอิสราเอล—รวมถึงเรา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน 1 นีไฟ 19:18–19 และขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่นีไฟต้องการชักชวนเราให้ทำ เป็นพยานว่าเมื่อเราระลึกถึงพระเจ้าและหันใจเรามาหาพระองค์ พระองค์ย่อมประทานพรของพระกิตติคุณแก่เรา
1 นีไฟ 19:20–24
นีไฟอธิบายว่าเหตุใดเขาจึงใช้พระคัมภีร์สมัยโบราณสอนผู้คนของเขา
แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด ดัดแปลงจากคำปราศรัยกับนักการศึกษาระบบการศึกษาของศาสนจักร
“ข้าพเจ้าจะทำสัญญานี้กับท่านเกี่ยวกับการอ่านพระคัมภีร์มอรมอน ท่านจะถูกดึงเข้าหาพระคัมภีร์มอรมอนเมื่อท่านเข้าใจว่าพระเจ้าทรงฝังข่าวสารที่จะมอบให้ท่านไว้ในนั้น นีไฟ มอรมอน โมโรไนทราบเช่นกัน และคนที่รวบรวมไว้ได้รวบรวมข่าวสารไว้ให้ท่าน ข้าพเจ้าหวังให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่าพระคัมภีร์เล่มนี้เขียนไว้ให้นักเรียนของท่าน มีข่าวสารที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาสำหรับพวกเขาซึ่งจะบอกพวกเขาว่าจะเปลี่ยนอย่างไร นั่นคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์เล่มนี้ นี่คือประจักษ์พยานถึงพระเจ้าพระเยซูคริสต์และการชดใช้ และวิธีทำให้เกิดผลในชีวิตพวกเขา ท่านจะมีประสบการณ์ปีนี้ขณะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเดชานุภาพแห่งการชดใช้อันเนื่องจากศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน” (“The Book of Mormon Will Change Your Life,” Ensign, Feb. 2004, 11)
-
ขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน การทราบว่านีไฟ มอรมอน และโมโรไนรวมข่าวสารไว้ให้ท่านในนั้นมีประโยชน์อย่างไร
แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน
“พระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้เพื่อเราในปัจจุบัน พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นบันทึกของผู้คนที่ตกแล้ว รวมรวบโดยชายผู้ได้รับการดลใจให้เป็นพรแก่เรา คนเหล่านั้นไม่เคยมีพระคัมภีร์ดังกล่าว—พระคัมภีร์มีไว้เพื่อเรา มอรมอนศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณผู้ซึ่งหนังสือเล่มนี้ตั้งชื่อตามท่าน เป็นผู้ย่อบันทึกหลายร้อยศตวรรษ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงทราบจุดสิ้นสุดจากจุดเริ่มต้น รับสั่งกับมอรมอนว่าจะรวมอะไรไว้ในการย่อของเขาซึ่งเราจำเป็นต้องใช้ในสมัยของเรา” (“The Book of Mormon Is the Word of God,” Ensign, Jan. 1988, 3)
“หากท่านเหล่านั้นเห็นยุคของเราและเลือกสิ่งที่จะมีคุณค่าที่สุดต่อเรา นั่นมิใช่หรือที่เราควรศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน เราพึงถามตนเองเสมอว่า “เหตุใดพระเจ้าจึงทรงดลใจมอรมอน (หรือโมโรไนหรือแอ-ลมา) ให้บันทึกเรื่องนั้นลงในบันทึกของท่าน ฉันจะเรียนรู้บทเรียนใดจากเรื่องนั้นเพื่อช่วยฉันดำเนินชีวิตในยุคสมัยนี้” (“The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,” Ensign, Nov. 1986, 6)
เชื้อเชิญชั้นเรียนให้อ่าน 1 นีไฟ 19:22–23 ในใจโดยมองหาคำพรรณนาของนีไฟว่าเขาช่วยพี่น้องของเขาให้พบข่าวสารสำหรับพวกเขาในพระคัมภีร์อย่างไร
-
นีไฟคาดหวังผลอะไรจากการเปรียบพระคัมภีร์กับตัวเขาและผู้คนของเขา
-
คำว่า ประโยชน์ หมายความว่าอะไร (ผลประโยชน์ ข้อได้เปรียบ ผลกำไร)
เตรียมแผนผังต่อไปนี้เป็นเอกสารแจกหรือติดไว้บนกระดานและให้นักเรียนลอกลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
เปรียบพระคัมภีร์กับตัวเรา |
ประยุกต์ใช้ความจริงในพระคัมภีร์ | ||
---|---|---|---|
ในข้อความพระคัมภีร์พูดถึงสถานการณ์หรือสภาวการณ์ใด |
นี่เหมือนสถานการณ์ในชีวิตฉันหรือในโลกรอบตัวอย่างไร |
ในข้อความพระคัมภีร์สอนความจริงหรือข่าวสารอะไร |
ฉันจะปฏิบัติตามความจริงหรือข่าวสารนี้ในสถานการณ์ของฉันได้อย่างไร |
แนะนำแผนภูมิโดยอธิบายว่า เปรียบ หมายถึงเปรียบเทียบ การเปรียบพระคัมภีร์กับตัวเราหมายความว่าเราเปรียบเทียบสภาวการณ์ในพระคัมภีร์กับสถานการณ์ในชีวิตเราหรือในโลกรอบข้างเรา การรับรู้ความคล้ายคลึงระหว่างสภาวการณ์ในพระคัมภีร์กับสถานการณ์ในชีวิตเราเองจะเตรียมเราให้พร้อมหาและประยุกต์ใช้ความจริงในพระคัมภีร์ ความจริงเดียวกันกับที่ประยุกต์ใช้กับผู้คนที่เราอ่านในพระคัมภีร์สามารถประยุกต์ใช้กับเราได้เมื่อเราอยู่ในสภาวการณ์คล้ายกัน
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการเปรียบนำไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างไร จงเชื้อเชิญพวกเขาให้เติมแผนภูมิให้สมบูรณ์ขณะทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญข้อแรกของพระคัมภีร์มอรมอน 1 นีไฟ 3:7 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 นีไฟ 3:7
-
นีไฟกำลังตอบสนองสภาวการณ์ใดบ้างเมื่อเขากล่าวถ้อยคำเหล่านี้ (ศาสดาพยากรณ์—ลีไฮบิดาของเขา—ขอให้กลับไปเอาแผ่นจารึกทองเหลืองที่เยรูซาเล็ม พี่ๆ ของเขาบ่นว่างานนี้ยาก)
-
สภาวการณ์ของนีไฟเหมือนสถานการณ์ในชีวิตท่านอย่างไร พระเจ้าทรงคาดหวังให้ท่านทำเรื่องยากบางเรื่องเมื่อใด
-
ความจริงใดช่วยนีไฟในสถานการณ์ของเขา (นีไฟรู้ว่าเมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าประทานพระบัญญัติให้ลูกๆ ของพระองค์ พระองค์ย่อมทรงจัดเตรียมทางให้พวกเขาบรรลุผลสำเร็จ)
-
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปฏิบัติตามความจริงนี้ในสถานการณ์ของท่าน
เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขาเปรียบ 1 นีไฟ 3:7 กับตนเองอย่างไรและพวกเขาจะประยุกต์ใช้ข้อนี้ในชีวิตพวกเขาอย่างไร (เตือนพวกเขาว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องบอกข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)
เพื่อสรุปบทเรียน ให้ชูพระคัมภีร์มอรมอนอีกครั้ง เตือนนักเรียนว่านีไฟถือว่างานเขียนของเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเป็นงานศักดิ์สิทธิ์และมีค่ายิ่งต่อตัวเขาและคนอื่นๆ กระตุ้นนักเรียนให้ศึกษาพระคัมภีร์และมองหาข่าวสารที่พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ใส่ไว้ในนั้นให้พวกเรา เป็นพยานว่า เมื่อเราเปรียบพระคัมภีร์กับตัวเรา เราจะเรียนรู้และได้ประโยชน์จากพระคัมภีร์
กระตุ้นนักเรียนให้ศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเองและหาข้อความที่สามารถเปรียบกับพวกเขาได้ พวกเขาอาจจะลองใส่ชื่อในบางข้อและอ่านข้อนั้นประหนึ่งพระเจ้าหรือศาสดาพยากรณ์กำลังกล่าวกับพวกเขาโดยตรง ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะอ่านส่วนแรกของ 2 นีไฟ 31:20 ทำนองนี้ “ฉะนั้น, ท่าน [ใส่ชื่อ] ต้องมุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์.”
ท่านอาจต้องการจัดเตรียมแผนผังเปล่าให้นักเรียนนำไปใช้ที่บ้าน เชื้อเชิญพวกเขาให้มาชั้นเรียนคราวหน้าโดยพร้อมแบ่งปันว่าพวกเขาได้เปรียบพระคัมภีร์กับตัวพวกเขาอย่างไร พวกเขาเรียนรู้และได้ประโยชน์อย่างไรจากประสบการณ์นั้น