คลังค้นคว้า
บทที่ 32: 2 นีไฟ 12–15


บทที่ 32

2 นีไฟ 12–15

คำนำ

อิสยาห์ประณามความชั่วร้ายของผู้คนในสมัยของท่านเช่นเดียวกับความชั่วร้ายของคนมากมายในวันเวลาสุดท้าย ท่านเตือนเรื่องการเรียกความชั่วว่าความดีและเรียกความดีว่าความชั่ว ท่านเน้นเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณในวันเวลาสุดท้ายด้วย รวมถึงความสำคัญของพระวิหารและความสะอาดจากบาปของโลก ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอิสยาห์ได้จากบทที่ 21 ในคู่มือเล่มนี้

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 12–15

อิสยาห์แยกแยะอิสราเอลที่ชั่วร้ายจากอิสราเอลที่ชอบธรรม

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของบทเรียนวันนี้ ให้เริ่มชั้นเรียนโดยเตือนพวกเขาว่าในบทก่อนพวกเขาเรียนเกี่ยวกับการเรียกอิสยาห์เป็นศาสดาพยากรณ์ วันนี้พวกเขาจะเรียนเกี่ยวกับคนที่อิสยาห์สอน

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเมื่ออิสยาห์พูดถึงการกระทำของผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าในสมัยของเขา เขาพูดถึงคนบางคนในสมัยของเราด้วย เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “หนังสืออิสยาห์บรรจุคำพยากรณ์มากมายที่ดูเหมือนจะมีสัมฤทธิผลหลายประการ … ข้อเท็จจริงที่ว่าคำพยากรณ์มากมายเหล่านี้มีความหมายหลากหลายเน้นย้ำความสำคัญของการแสวงหาการเปิดเผยจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยเราแปลความหมายของคำพยากรณ์เหล่านั้น” (“Scripture Reading and Revelation,” Ensign, Jan. 1995, 8)

ก่อนชั้นเรียน ให้ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดานหรือเตรียมเป็นเอกสารแจก เว้นช่องว่างให้มากพอที่นักเรียนจะเขียนในแต่ละคอลัมน์ได้

2 นีไฟ 12:5–12, 17–19; 13:8–9

2 นีไฟ 13:16–26

เจตคติและการปฏิบัติใดสะท้อนให้เห็นบาปของคนเหล่านี้

จะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านี้อันเป็นผลสืบเนื่องจากบาปของพวกเขา

อธิบายว่าแผนภูมินี้จะช่วยชั้นเรียนสำรวจผลสืบเนื่องจากการกระทำของคนที่ดำเนินชีวิตตรงข้ามกับพันธสัญญาของพวกเขา

แบ่งนักเรียนครึ่งห้อง ขอให้นักเรียนครึ่งหนึ่งศึกษา 2 นีไฟ 12:5–12, 17–19; 13:8–9 ขอให้อีกครึ่งศึกษา 2 นีไฟ 13:16–26 เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านข้อที่กำหนดและระบุคำตอบของคำถามสองข้อในคอลัมน์ด้านซ้ายของแผนภูมิ ถ้าแสดงแผนภูมิบนกระดาน ให้เชิญนักเรียนจากแต่ละกลุ่มเขียนคำตอบให้ตรงคอลัมน์ ถ้าแจกแผนภูมิเป็นกระดาษ ให้นักเรียนบันทึกคำตอบลงในเอกสารแจก

อธิบายให้กลุ่มสองฟังว่าอิสยาห์เห็นผลของการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหรูหราและการกระทำของหญิงชาวโลกในสมัยของท่านและในอนาคต 2 นีไฟ 13:16–26 พรรณนาสิ่งที่ท่านเห็น ถึงแม้อิสยาห์จะกล่าวเจาะจงถึง “ธิดาของไซอัน” แต่ถ้อยคำของท่านประยุกต์ใช้กับผู้ชายเช่นกัน (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าคำพยากรณ์ใน 2 นีไฟ 14:1 ไม่เกี่ยวกับการแต่งภรรยาหลายคน แต่เกี่ยวกับผู้ชายที่ตายในสงครามดังพรรณนาไว้ใน 2 นีไฟ 13:25–26 ปล่อยให้ผู้หญิงจำนวนมากเป็นม่าย)

หลังจากนักเรียนมีเวลาตอบคำถามในแผนภูมิแล้ว ให้ถามว่า

  • คนเหล่านี้ทำบาปอะไรบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ ความจองหอง การนับถือรูปเคารพ ความฝักใฝ่ทางโลก และความเหลวไหล) ข้อความใดบ่งบอกว่าผู้คนทำบาปเหล่านี้ อะไรคือผลสืบเนื่องจากบาปเหล่านี้

  • อิสยาห์พูดถึงแผ่นดินที่ “เต็มไปด้วยรูปเคารพ” (2 นีไฟ 12:8) ปัจจุบันมีการนับถือรูปเคารพแบบใดบ้าง

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ ให้อ่านคำแนะนำต่อไปนี้จากประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“รูปเคารพหรือพระผู้เป็นเจ้าปลอมในปัจจุบันมีหลายแบบเช่น เสื้อผ้า บ้าน ธุรกิจ เครื่องจักร รถยนต์ เรือสำราญ และสิ่งของอีกมากมายที่ทำให้เราหันเหจากเส้นทางสู่ความเป็นพระผู้เป็นเจ้า … เยาวชนชายจำนวนมากตัดสินใจเข้าเรียนวิทยาลัยทั้งที่พวกเขาควรทำงานเผยแผ่ก่อน ปริญญา ความมั่งคั่งและความมั่นคงซึ่งผ่านมาทางนั้น ดูน่าพึงปรารถนาจนงานเผยแผ่อยู่อันดับรอง … คนจำนวนมากบูชาการล่าสัตว์ การเดินทางไปตกปลา ช่วงลาพักร้อน ปิกนิกและกิจกรรมนอกบ้านสุดสัปดาห์ หลายคนมีรูปเคารพเป็นเกมกีฬา เบสบอล ฟุตบอล การสู้วัว หรือกอล์ฟ … ยังมีรูปเคารพอีกอย่างหนึ่งที่มนุษย์บูชา นั่นคืออำนาจและเกียรติยศชื่อเสียง” (The Miracle of Forgiveness [1969], 40–41)

  • อิสยาห์พยากรณ์ถึงคนที่จะแสดงความจองหองและความฝักใฝ่ทางโลกโดยลักษณะการแต่งกายของพวกเขา เราจะป้องกันเจตคติและความโน้มเอียงทางโลกได้อย่างไร

เขียนคำว่า วิบัติ บนกระดาน อธิบายว่าคำว่า วิบัติ หมายถึงโทมนัสและทุกขเวทนา บางครั้งศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณใช้คำนี้เพื่อเน้นผลของบาป (นักเรียนอาจจำได้ว่าเคยเห็นคำนี้หลายครั้งใน 2 นีไฟ 9:27–38) เชื้อเชิญนักเรียนให้ฟังขณะที่ท่านอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 15:18–23 (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายคำว่า วิบัติ และข้อความที่พรรณนาการกระทำและเจตคติอันจะทำให้เกิดโทมนัสและทุกขเวทนา ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาเขียนนิยามของคำว่า วิบัติ ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าของข้อเหล่านี้เช่นกัน)

  • 2 นีไฟ 15:20 มีความหมายอะไรต่อท่าน

  • ท่านเคยเห็นผู้คนเรียก “ความชั่วว่าดี, และความดีว่าชั่ว” ในสมัยของเราในด้านใด

บอกนักเรียนว่าตอนนี้พวกเขาจะอ่านเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่รักษาพันธสัญญาของพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 14:2–4 ให้นักเรียนที่เหลือหาคำพรรณนาของอิสยาห์เกี่ยวกับคนกลุ่มนี้

  • คำหรือข้อความใดบ่งบอกว่าคนกลุ่มนี้ต่างจากกลุ่มอื่นที่เราสำรวจมา (ท่านอาจจะเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

ขอให้นักเรียนอ่าน 2 นีไฟ 14:5–6 ในใจ โดยมองหาสามแห่งที่อิสยาห์กล่าวว่าจะให้ความคุ้มครองทางวิญญาณ นักเรียนพึงระบุและเข้าใจคำว่า ที่พำนัก (บ้าน), ที่ชุมนุม (สถานที่ชุมนุม เช่น สาขา วอร์ด หรือสเตค) และ พลับพลา (พระวิหาร) อธิบายว่า “เมฆและควันตอนกลางวันและแสงของเปลวไฟตอนกลางคืน” หมายถึงความคุ้มครองและการนำทางที่โมเสสและผู้คนของเขาได้รับจากพระเจ้าในแดนทุรกันดาร (ดู อพยพ 13:21–22) คำเหล่านี้เตือนเราให้นึกถึงความคุ้มครองและการนำทางที่เราจะได้รับจากพระเจ้า ชี้ให้เห็นด้วยว่าอิสยาห์เปรียบพระวิหารกับที่หลบร้อนและ “สิ่งปกคลุม” หรือที่หลบภัยจากพายุและฝน

  • ท่านรู้สึกถึงความคุ้มครองหรือการนำทางของพระเจ้าในบ้านท่านหรือที่โบสถ์เมื่อใด

  • ท่านพบความผ่อนคลายหรือความคุ้มครองทางวิญญาณในพระวิหารเมื่อใด

  • คนแบบใดจะอยู่ในบ้านและนมัสการในโบสถ์และพระวิหารดังพรรณนาไว้ใน ข้อ 5–6

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้บ้านและสาขาหรือวอร์ดของเราเป็นสถานที่ป้องกันโลก

สรุปบทที่ 12–15 โดยอธิบายว่าในบทเหล่านี้เราเรียนรู้ว่า การรักษาพันธสัญญาของเรานำมาซึ่งพรแห่งความคุ้มครองทางวิญญาณ ส่วนการฝ่าฝืนพันธสัญญาทิ้งเราให้ปราศจากความคุ้มครองของพระเจ้า รับรองกับนักเรียนว่าพวกเขาสามารถสร้างสภาพแวดล้อมในชีวิตตนดังพรรณนาไว้ใน 2 นีไฟ 14:5–6

2 นีไฟ 12:1–5; 15:26

อิสยาห์พยากรณ์เรื่องการสถาปนาพระวิหารและศาสนจักรของพระเจ้าในวันเวลาสุดท้าย

วาดแผนภาพภูเขาและพระวิหารบนกระดานดังนี้

ภูเขาและพระวิหาร
  • มีความคล้ายคลึงอะไรบ้างระหว่างภูเขากับพระวิหาร (คำตอบอาจได้แก่ทั้งสองสูงส่งน่าเกรงขามและดลใจให้เราแหงนมองสวรรค์)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 12:2–5 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญาจะสถาปนาในวันเวลาสุดท้าย และนั่นจะเป็นพรแก่ชีวิตผู้คนอย่างไร

  • คำว่า “ศิขรินแห่งพระเจ้า” หมายถึงอะไร (มีการอ้างถึงพระวิหารซอลท์เลคโดยเฉพาะ แต่หมายถึงพระวิหารอื่นที่พระเจ้าทรงสถาปนาในวันเวลาสุดท้ายได้เช่นกัน)

  • พรใดมาจาก “พระนิเวศน์ของพระเจ้า” ในวันเวลาสุดท้าย (หลักธรรมหนึ่งที่นักเรียนอาจระบุคือ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างพระวิหารเพื่อสอนเราให้รู้ทางของพระองค์และช่วยให้เราเดินในวิถีของพระองค์ [ดู 2 นีไฟ 12:3].)

  • พระวิหารช่วยให้เราเดินในวิถีของพระเจ้าอย่างไร

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ซึ่งประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์พูดถึงความสำคัญของพระวิหาร

“อาคารอันเป็นเอกลักษณ์วิเศษยิ่งเหล่านี้ และศาสนพิธีที่ประกอบในนั้น ถือเป็นการนมัสการขั้นสูงสุดของเรา ศาสนพิธีเหล่านี้เป็นวิธีแสดงออกอย่างลึกซึ้งที่สุดตามความเชื่อทางศาสนาของเรา ข้าพเจ้าขอกระตุ้นผู้คนของเราทุกแห่งหน ด้วยการชักชวนทั้งหมดที่ข้าพเจ้าสามารถทำได้ ให้ดำเนินชีวิตคู่ควรแก่การถือใบรับรองพระวิหาร รักษาไว้อย่างดี และถือเป็นทรัพย์สินมีค่ายิ่ง เพียรพยายามมากขึ้นเพื่อไปพระนิเวศน์ของพระเจ้าและรับส่วนวิญญาณและพรที่มีอยู่ในนั้น” (ดู “งานสอนศาสนา พระวิหาร และการเป็นผู้พิทักษ์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, หน้า 66)

  • พระวิหารจะช่วยเราหลีกเลี่ยงผลของความชั่วร้ายดังบรรยายไว้ใน 2 นีไฟ 12–15 ได้อย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ การทำและรักษาพันธสัญญาพระวิหารทำให้เราและครอบครัวมีพลังต้านความชั่วร้าย การนมัสการในพระวิหารเป็นประจำเตือนเราให้นึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ และพันธสัญญาที่เราทำไว้ เมื่อเราดำเนินชีวิตคู่ควรแก่การถือใบรับรองพระวิหาร เราย่อมมีความหวังสำหรับพรแห่งชีวิตนิรันดร์ ความหวังนั้นผลักดันเราให้ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมต่อไป)

  • พระวิหารสร้างแรงบันดาลใจและเป็นพรแก่ท่านอย่างไร

ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 15:26 ขอให้ชั้นเรียนระบุข้อความซึ่งบ่งบอกสิ่งที่พระเจ้าจะทรง “ยกขึ้น” เพื่อรวบรวบผู้คนในวันเวลาสุดท้าย อธิบายว่าคำว่า ธงสัญญาณ หมายถึงมาตรฐาน ธง หรือป้ายที่ใช้เป็นจุดรวมพลหรือเป็นสัญญาณระดมพลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงคราม

  • อะไรคือ “ธงสัญญาณให้ประชาชาติ” ที่อิสยาห์พยากรณ์ไว้

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“ธงสัญญาณดังกล่าว [คือ] ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีวันถูกทำลายหรือยกให้ใครอีกเลย นี่เป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยเห็นนับแต่วันที่พระผู้ไถ่ทรงถูกยกขึ้นบนกางเขนและทรงทำการชดใช้อันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ มีความหมายต่อมนุษยชาติมากกว่าเหตุการณ์ใดที่เคยเกิดขึ้นนับแต่วันนั้น” (Doctrines of Salvation, 3 vols. [1954–56], 3:254–55)

  • ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็น “ธงสัญญาณให้ประชาชาติ” ในด้านใด

  • พรใดเกิดขึ้นในชีวิตท่านเพราะการเป็นสมาชิกในศาสนจักร

  • ลองนึกถึงพรทั้งหมดที่ท่านได้รับและความจริงที่ท่านได้เรียนรู้ในฐานะสมาชิกศาสนจักร อะไรคือความจริงประการหนึ่งที่ท่านสามารถแบ่งปันกับคนอื่นได้ซึ่งอาจจะช่วยให้พวกเขามารวมกันยัง “ธงสัญญาณให้ประชาชาติ”

เป็นพยานว่าพระเจ้าทรงอวยพรเราด้วยการช่วยให้เราดำเนินชีวิตอย่างประสบความสำเร็จในวันเวลาสุดท้าย พระองค์จะทรงอวยพรและชำระคนที่เลือกมาหาพระองค์ให้บริสุทธิ์ เมื่อเราทำและให้เกียรติพันธสัญญากับพระองค์ พระองค์จะทรงช่วยให้เราเดินในทางของพระองค์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 12:2–5 “ศิขรินแห่งพระนิเวศของพระเจ้า”

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์อธิบายว่า 2 นีไฟ 12:2–5 หมายถึงพระวิหารซอลท์เลค

“นับตั้งแต่อุทิศพระวิหารซอลท์เลค เราแปลความหมายพระคัมภีร์ข้อนั้นจากอิสยาห์ … ว่าเป็นพระนิเวศน์ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ของพระเจ้า และตั้งแต่วันอุทิศพระวิหารดังกล่าว นับวันคนมากมายจากทั่วโลกก็ยิ่งพูดถึงสถานที่แห่งนี้ว่า ‘มาเถิด ให้เราขึ้นไปยังภูเขาของพระยาห์เวห์ และยังพระนิเวศแห่งพระเจ้าของยาโคบ แล้วพระองค์จะทรงสอนวิถีของพระองค์แก่เรา และเพื่อเราจะเดินในพระมรรคาของพระองค์’” (ดู “ธงสัญญาณต่อประชาชาติ ความสว่างต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 99)

2 นีไฟ 13:16–24 “ธิดาแห่งไซอัน”

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายว่าคำเตือนของอิสยาห์ต่อ “ธิดาแห่งไซอัน” ประยุกต์ใช้กับผู้ชายได้เช่นเดียวกับผู้หญิง

“มาตรฐานที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศาสนจักรกล่าวไว้คือผู้หญิง เช่นเดียวกับผู้ชาย ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย พวกเขาได้รับการสอนให้วางตัวเหมาะสมและสุภาพเรียบร้อยตลอดเวลา ในความเห็นของข้าพเจ้า ภาพสะท้อนอันน่าเศร้าเกี่ยวกับ ‘ธิดาแห่งไซอัน’ คือเมื่อพวกเขาแต่งกายไม่สุภาพ ยิ่งกว่านั้น คำกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับผู้ชายเช่นเดียวกับผู้หญิง พระเจ้าประทานพระบัญญัติแก่อิสราเอลสมัยโบราณทั้งชายและหญิงว่าพวกเขาควรปกปิดร่างกายและรักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศตลอดเวลา” (Answers to Gospel Questions, comp. Joseph Fielding Smith Jr., 5 vols. [1957–66], 5:174)

สังเกตว่าคำพยากรณ์นี้เป็นตัวอย่างของทวินิยม ปรับใช้กับคนในสมัยของอิสยาห์ได้เช่นกับผู้คนในปัจจุบัน