คลังค้นคว้า
บทที่ 33: 2 นีไฟ 17–20


บทที่ 33

2 นีไฟ 17–20

คำนำ

ใน 2 นีไฟ 17–20 นีไฟบันทึกเรื่องราวที่อิสยาห์พยายามชักชวนกษัตริย์แห่งยูดาห์และผู้คนของเขาให้วางใจพระเจ้าแทนที่จะวางใจพันธมิตรทางโลก อิสยาห์ใช้รูปแบบและรูปลักษณ์พยากรณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในสมัยของเขา การประสูติของพระเยซูคริสต์ และความพินาศของคนชั่วร้าย ณ การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 17–18; 19:1–7

ผู้คนแห่งอาณาจักรของยูดาห์ไม่วางใจในพระเยซูคริสต์

เริ่มชั้นเรียนโดยขอให้นักเรียนเขียนชื่อเรียกหลายๆ ชื่อของพระเยซูคริสต์เท่าที่พวกเขาจะเขียนได้ เขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน จากนั้นเชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน 2 นีไฟ 17:14 เติมชื่อเรียก อิมมานูเอล เข้าไปในรายชื่อบนกระดาน หรือวงกลมคำนั้นถ้ามีอยู่แล้ว เชื้อเชิญนักเรียนให้หาความหมายของชื่อนี้ใน มัทธิว 1:23 หรือใน Bible Dictionary

  • อะไรคือความหมายของชื่อเรียก อิมมานูเอล (“พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับเรา”)

ชี้ให้เห็นว่าความสำคัญสูงสุดของคำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับอิมมานูเอลอยู่ใน มัทธิว 1:18–25 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความนี้

  • คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับอิมมานูเอลเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร

  • ท่านเห็นความเป็นจริงที่พระเจ้าทรงเป็นอิมมานูเอล หรือ “พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับเรา” ในชีวิตท่านเมื่อใด

อธิบายว่า 2 นีไฟ 19:6–7 เป็นคำพยากรณ์ซึ่งเป็นที่ทราบดีที่สุดประการหนึ่งเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด อ่านออกเสียงข้อความนี้ ชี้ให้เห็นว่าข้อความนี้มีชื่อเรียกพระเยซูคริสต์หลายชื่อ (ถ้ายังไม่มีชื่อเรียกเหล่านี้บนกระดาน ให้เติมเข้าไปในรายการ)

  • ชื่อเรียกใดบอกได้ดีที่สุดว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เพราะเหตุใด

ก่อนสอนส่วนที่เหลือของบทนี้ ให้เล่าภูมิหลังทางประวัติศาสตร์คร่าวๆ สำหรับ 2 นีไฟ 17–18 อธิบายว่าบทเหล่านี้มักพูดถึงประเทศเล็กๆ สามประเทศได้แก่—ยูดาห์ อิสราเอล ซีเรีย—และกษัตริย์ของพวกเขา นอกจากนี้ยังพูดถึงจักรวรรดิอัสซีเรีย ซึ่งหมายจะปราบสามประเทศนี้ที่เล็กกว่า ถ้านักเรียนมีพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าให้พวกเขาเปิดดูแผนที่ 1, 3 และ 5 ซึ่งแสดงพื้นที่ภูมิศาสตร์ตามที่อ้างอิงไว้ในบทเหล่านี้ ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนเข้าใจเหตุการณ์แวดล้อมของบทเหล่านี้โดยให้ดูแผนภูมิต่อไปนี้ (ดัดแปลงจากวิคเตอร์ แอล. ลัดโลว์ Isaiah: Prophet, Seer, and Poet [1982], 140) อ้างแผนภูมิตลอดบทเรียนตามความจำเป็น

ประเทศ

ยูดาห์

ซีเรีย

อิสราเอล

เมืองหลวง

เยรูซาเล็ม

ดามัสกัส

สะมาเรีย

ดินแดนหรือเผ่าหลัก

ยูดาห์

อาราม

เอฟราอิม

ผู้นำ

อาหัส (กษัตริย์) จากเชื้อสายของดาวิด

เรซีน (กษัตริย์)

เพคาห์ (กษัตริย์) บุตรของเรมาลิยาห์

เขียนบนกระดานว่า พันธมิตร

  • พันธมิตรคืออะไร (คำตอบที่เป็นไปได้รวมถึงความร่วมมือกัน เอกภาพ สนธิสัญญา หรือข้อสัญญา)

  • มีเหตุผลอะไรบ้างที่ประเทศหนึ่งจะแสวงหาพันธมิตรกับประเทศอื่นๆ

อธิบายว่าในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ในอาณาจักรแห่งยูดาห์ เหล่ากษัตริย์ของอิสราเอลและซีเรียต้องการให้กษัตริย์อาหัสแห่งยูดาห์ร่วมเป็นพันธมิตรกับพวกเขาต่อต้านจักรวรรดิอันเรืองอำนาจของอัสซีเรีย เมื่อกษัตริย์อาหัสปฏิเสธ อิสราเอลกับซีเรียจึงโจมตียูดาห์เพื่อพยายามบีบบังคับให้เป็นพันธมิตรและให้ผู้ปกครองอีกคนหนึ่งนั่งบัลลังก์ของยูดาห์ (ดู 2 นีไฟ 17:1, 6) 2 นีไฟ 17–18 พรรณนาคำแนะนำที่ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ให้กษัตริย์อาหัสขณะกษัตริย์พยายามหาวิธีป้องกันยูดาห์จากการข่มขู่ของอิสราเอล ซีเรีย และอัสซีเรีย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน 2 นีไฟ 17:1–2

  • ท่านคิดว่า “ใจ [ของอาหัส] หวั่นไหว, และใจผู้คนของท่าน, ดังต้นไม้ในป่าโยกด้วยลม” หมายความว่าอย่างไร (อาหัสกับผู้คนของเขากลัวมากและไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรหลังจากอิสราเอลกับซีเรียโจมตีพวกเขา)

อธิบายว่าเพราะอาหัสกลัวอิสราเอลและซีเรีย เขาจึงคิดจะสร้างพันธมิตรกับอัสซีเรียเพื่อป้องกันอาณาจักรของตน (ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 16:7) อิสยาห์บอกอาหัสว่าถ้าเขา (อาหัส) จะมีศรัทธในพระเจ้าแทนที่จะสร้างพันธมิตรทางการเมือง พระเจ้าจะทรงคุ้มครองอาณาจักรแห่งยูดาห์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 17:3–8 (ถ้ามีพระคัมภีร์ไบเบิลคิงเจมส์ฉบับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อิสยาห์ 7:4, เชิงอรรถ a ถ้าไม่มีให้อธิบายว่าวลี ปลายคบควันกรุ่น หมายถึงคบไฟจวนมอด พระเจ้ากำลังตรัสเป็นหลักว่า “อย่าหวาดกลัวการโจมตี กษัตริย์สององค์นั้นมีไฟเหลือน้อยเต็มที” อิสราเอลและซีเรียใช้พละกำลังของพวกเขา ไม่นานก็ถูกอัสซีเรียบดขยี้และจะไม่ข่มขู่ยูดาห์อีกต่อไป)

ให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 2 นีไฟ 17:9, 17–25 ขณะที่พวกเขาอ่าน ให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าจะเกิดแก่ผู้คนแห่งยูดาห์ถ้าพวกเขาพึ่งพันธมิตรทางการเมืองแทนที่จะวางใจพระเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอาหัสไม่ยอมวางใจพระเจ้า (ยูดาห์จะถูกทำลาย)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 17:10–12 (ท่านอาจต้องอธิบายว่าเมื่ออิสยาห์แนะนำอาหัสให้ขอเครื่องหมาย เขากำลังเตือนอาหัสให้แสวงหาคำแนะนำจากพระเจ้าเกี่ยวกับปัญหาของเขา เมื่ออาหัสปฏิเสธ เขากำลังบอกว่าเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าและเขาตั้งใจจะพึ่งวิจารณญาณของตน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน 2 นีไฟ 17:13–14 นำนักเรียนให้สังเกตคำว่า อิมมานูเอล ใน 2 นีไฟ 17:14 และความหมายของคำนั้น “พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับเรา” อีกครั้ง

  • เหตุใดจึงสำคัญที่อาหัสจะต้องให้พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับเขาในช่วงวิกฤติของประชาชาติ

  • เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะหันไปหาพระเจ้าแทนที่จะพึ่งพาปัญญาของเราเท่านั้น

อ่านออกเสียง 2 นีไฟ 18:5–8 ให้นักเรียนฟัง เมื่อท่านอ่านข้อ 6 อธิบายว่าคำว่า ชิโลอห์ บางครั้งหมายถึงพระเยซูคริสต์ เมื่อท่านอ่านข้อ 8 อธิบายว่าวลี “ท่วมถึงแม้คอ” โดยชี้ให้เห็นว่าศีรษะหรือเมืองหลวงของยูดาห์คือเยรูซาเล็ม อิสยาห์พยากรณ์ว่าชาวอัสซีเรียจะบุกมาถึงกำแพงเมืองเยรูซาเล็ม—อีกนัยหนึ่งคือคอของเมือง คำพยากรณ์นี้เกิดสัมฤทธิผลเมื่อทหารอัสซีเรีย 185,000 นายมาโจมตีเยรูซาเล็ม โดยหยุดอยู่ที่กำแพงเมือง พระเจ้าทรงปกป้องผู้คนของพระองค์โดยทรงส่งเทพองค์หนึ่งมาทำลายกองทัพที่กำลังโจมตี (ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 19:32–35.)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 18:9–10 ในใจโดยมองหาพระดำรัสเตือนของพระเจ้าถึงคนที่จะผนึกกำลังกันต่อสู้กับยูดาห์

  • จะเกิดผลอะไรกับคนที่จะต่อสู้กับยูดาห์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 18:10 เหตุใดประเทศเหล่านี้จึงถูกทำลาย

เตือนนักเรียนว่ากษัตริย์อาหัสกลัวการข่มขู่ของอิสราเอลและซีเรีย และเขากำลังคิดจะรวมกำลังกับอัสซีเรีย เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 18:11–13 ในใจ

  • พระเจ้าตรัสอะไรในเรื่องที่ว่ายูดาห์ควรสร้างพันธมิตร (สมทบกับอัสซีเรีย) หรือไม่

  • อิสยาห์บอกผู้คนให้วางใจใคร

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้บทเหล่านี้ในชีวิตพวกเขา ให้ถามว่า

  • อะไรคืออันตรายของการวางใจในอำนาจและอิทธิพลทางโลกแทนที่จะวางใจพระเจ้า (กระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงสถานการณ์ที่อาจล่อลวงพวกเขาให้ตัดสินใจจากพื้นฐานของความกลัว)

  • ท่านหันไปขอพลังจากพระเจ้าเมื่อท่านถูกล่อลวงให้หันไปหาแหล่งอื่นเมื่อใด พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่านอย่างไร ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นั้น

เป็นพยานว่า พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอยู่กับเราเมื่อเราวางใจพระองค์ แม้ในช่วงเวลาของความยุ่งยากและความกลัว (ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

2 นีไฟ 19:8–21; 20:1–22

อิสยาห์พรรณนาความพินาศของคนชั่วร้าย ณ การเสด็จมาครั้งที่สอง

สรุปบริบททางประวัติศาสตร์ของ 2 นีไฟ 19–20 โดยอธิบายว่าอาหัสไม่ยอมรับคำแนะนำของอิสยาห์และเลือกเป็นพันธมิตรกับอัสซีเรีย (ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 16:7–20) ยูดาห์กลายเป็นประเทศราช ต้องส่งบรรณาการแก่อัสซีเรียเพื่อป้องกันการข่มขู่ของซีเรียกับอิสราเอล ตามที่อิสยาห์พยากรณ์ ในที่สุดอัสซีเรียก็ปราบอาณาจักรเล็กกว่าเหล่านี้—ดามัสกัส (ซีเรียใน 732 ปี ก่อนคริสตกาล และสะมาเรีย (อิสราเอล) ใน 722 ปี ก่อนคริสตกาล อัสซีเรียพิชิตยูดาห์ทั้งหมดด้วย ยกเว้นเยรูซาเล็ม ราว 701 ปี ก่อนคริสตกาล

อธิบายว่าเมื่ออัสซีเรียปราบซีเรียกับอิสราเอลและเข้ายึดเยรูซาเล็มเมืองหลวงของยูดาห์ อาหัสไม่ได้เป็นกษัตริย์แห่งยูดาห์อีก เฮเซคียาห์กษัตริย์ที่ชอบธรรมนั่งบัลลังก์แทน เพราะเฮเซคียาห์วางใจพระเจ้า พระเจ้าจึงทรงป้องกันเมืองเยรูซาเล็มจากการยึดครองของกองทัพอัสซีเรีย ตอนกลางคืนเทพของพระเจ้าตีค่ายของชาวอัสซีเรียจนย่อยยับ รุ่งเช้าพบว่าทหารในกองทัพของอัสซีเรียตายไป 185,000 นาย (ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 19:34–35; 2 พงศาวดาร 32:21; อิสยาห์ 37:36)

คำพยากรณ์ของอิสยาห์ใน 2 นีไฟ 19–20 มุ่งเน้นการลงโทษอันจะเกิดแก่อิสราเอลและยูดาห์ด้วยน้ำมือของอัสซีเรีย อิสยาห์เตือนอิสราเอลว่าความพินาศและการเป็นเชลยจะเกิดแก่พวกเขาในไม่ช้า และท่านบอกล่วงหน้าถึงการโจมตียูดาห์ในเวลาต่อมา คำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ของ 2 นีไฟ 17–18 มีเพิ่มเติมใน 2 นีไฟ 19–20 คำพยากรณ์เกี่ยวกับอิมมานูเอลขยายความใน 2 นีไฟ 19 เมื่ออิส-ยาห์สัญญาเรื่องไฟดวงใหม่และผู้นำคนใหม่ ตามประวัติศาสตร์คือเฮเซคียาห์ และตามคำพยากรณ์คือพระเมสสิยาห์ นี่คือตัวอย่างคำพยากรณ์ที่เกิดสัมฤทธิผลคู่กัน อีกทั้งเป็นตัวอย่างของรูปแบบ นั่นหมายความว่าเหตุการณ์หนึ่งเป็นการพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ในอนาคต คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับความพินาศของอัสซีเรียใน 2 นีไฟ 20 เป็นรูปแบบความพินาศของคนชั่วร้าย ณ การเสด็จมาครั้งที่สอง

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน: 2 นีไฟ 19:12, 17, 21; 20:4. ให้นักเรียนระบุข้อความที่กล่าวซ้ำในข้อเหล่านี้ เขียนข้อความนั้นบนกระดาน (“เพราะทั้งหมดนี้ความกริ้วของพระองค์ยังไม่คลาย, แต่พระหัตถ์ของพระองค์ยังคงยื่นออกมา”) อธิบายว่าข้อเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลอันเกิดแก่คนที่กบฏต่อพระเจ้าและไม่ยอมกลับใจ แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าไม่พอพระทัยคนที่ยังอยู่ในบาป

อธิบายว่าในพระคัมภีร์ข้ออื่นใช้คำคล้ายๆ กันกล่าวถึงพระเมตตาของพระเจ้าต่อคนที่จะกลับใจ ถึงแม้พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งความยุติธรรม แต่พระองค์ทรงมีพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ต่อคนที่จะมาหาพระองค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 28:32 จากนั้นให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“ถึงทุกท่านผู้คิดว่าท่านสูญเสียหรือไม่มีความหวัง หรือผู้ที่คิดว่าท่านทำผิดมากมายเหลือเกินและทำมานานเหลือเกิน ถึงทุกท่านผู้วิตกว่าท่านติดอยู่บนทุ่งราบหนาวเย็นของชีวิตและรถลากของท่านพังระหว่างทาง การประชุมใหญ่ครั้งนี้กล่าวย้ำข่าวสารที่พระเยโฮวาห์ตรัสหลายครั้งหลายคราว่า ‘พระหัตถ์ของพระองค์ก็ยังเหยียดออกอยู่’ [ดู อิสยาห์ 5:25; 9:17, 21] ‘เราจะยื่นแขนของเราออกไปให้เขา’ พระองค์ตรัส ‘[แม้เขาจะ] ปฏิเสธเรา … กระนั้นเราก็จะเมตตาเขา หากเขาจะกลับใจและมาหาเรา เพราะแขนของเรายื่นออกไปตลอดวัน พระผู้เป็นเจ้าจอมโยธาตรัส’ [2 นีไฟ 28:32] พระเมตตาของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิจและพระหัตถ์ของพระองค์ยังคงเหยียดออก ความรักของพระองค์คือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ จิตกุศลที่ไม่มีวันสูญสิ้น และความการุณย์ยังยั่งยืนแม้เมื่อความเข้มแข็งของผู้อื่นจะสูญสิ้น [ดู โมโรไน 7:46–47]” (ดู “มีศาสดามาในแผ่นดินอีก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, หน้า 134–)

เชื้อเชิญนักเรียนให้กล่าวความจริงที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง (นักเรียนพึงเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งการพิพากษาและความเมตตา พระเมตตาของพระองค์เผื่อแผ่ไปถึงคนที่กลับใจและรักษาพระบัญญัติของพระองค์

  • ท่านจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตท่านอย่างไร

อิสยาห์เห็นล่วงหน้าว่าในวันเวลาสุดท้ายผู้คนของพระเจ้าจะกลับไปหาพระองค์และหยุดพึ่งพาสมาคมอาธรรม์เพื่อความมั่นคงปลอดภัยและสันติสุข หากนักเรียนมีพระคัมภีร์ไบเบิลคิงเจมส์ฉบับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน อิสยาห์ 10:20, เชิงอรรถ c และอธิบายความหมายของคำว่า พักพิง ท่านอาจต้องการอธิบายว่า ในบริบทนี้ คำว่า พักพิง หมายถึงพึ่งพิง พึ่งพา หรือไว้วางใจในบางสิ่งหรือบางคน รับรองกับนักเรียนว่าเมื่อเราไว้วางใจพระเจ้า เราไม่จำเป็นต้องกลัวการพิพากษาที่จะมาสู่ผู้คนของแผ่นดินโลกก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 19:6–7 “การปกครองจะอยู่บนบ่าของท่าน”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนว่าถึงแม้เรามักจะเชื่อมโยงคำพยากรณ์ของอิสยาห์ใน 2 นีไฟ 19:6–7 กับการประสูติของพระคริสต์ แต่จะเกิดสัมฤทธิผล ณ เวลาของมิลเลเนียมด้วย

“ข้อเท็จจริงที่ว่าสุดท้ายแล้วการปกครองจะอยู่บนบ่าของท่านประกาศยืนยันว่าสักวันหนึ่งทุกคนในโลกจะยอมรับ—ว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลายและกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายและวันหนึ่งจะทรงปกครองแผ่นดินโลกและศาสนจักรด้วยพระองค์เอง” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 80)

เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์อธิบายนัยสำคัญของชื่อเรียกต่างๆ ที่ใช้กับพระเจ้าพระเยซูคริสต์ในข้อเหล่านี้เช่นกัน

“ในฐานะ ‘ที่ปรึกษามหัศจรรย์’ พระองค์จะทรงเป็นสื่อกลาง ผู้วิงวอนแทนเรา โดยทรงแก้ต่างให้เราในศาลแห่งสวรรค์ …

“แน่นอนว่า ตามที่อิสยาห์ตั้งข้อสังเกต พระคริสต์มิได้ทรงเป็นเพียงสื่อกลางเท่านั้นแต่ทรงเป็นผู้พิพากษาด้วย [ดู โมไซยาห์ 3:10; โมโรไน 10:34; โมเสส 6:57] ในบทบาทของผู้พิพากษาเราจะพบความหมายมากขึ้นในการกล่าวซ้ำของอบินาไดว่า ‘พระผู้เป็นเจ้าเอง’ จะเสด็จลงมาไถ่ผู้คนของพระองค์ [โมไซยาห์ 13:28; ดู โมไซยาห์ 13:34; 15:1; แอลมา 42:15 ด้วย] ราวกับว่าในห้องพิจารณาคดีห้องใหญ่นั้นผู้พิพากษาผู้ไม่ทรงยอมให้ใครแบกภาระของคนผิดที่กำลังยืนอยู่ในคอกพยานนอกจากพระองค์ โดยทรงถอดเสื้อคลุมผู้พิพากษาลงมาบนแผ่นดินโลกเพื่อรับการโบยด้วยพระองค์เอง พระคริสต์ในฐานะผู้พิพากษาที่เปี่ยมด้วยเมตตาถือเป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยมสวยงามเกี่ยวกับพระคริสต์ในฐานะที่ปรึกษา สื่อกลาง และผู้แก้ต่าง

“‘พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงอานุภาพ’ สื่อบางสิ่งถึงพระเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า พระพลานุภาพของพระองค์ มหิทธิฤทธิ์ และอิทธิพลที่เอาชนะไม่ได้ อิสยาห์เห็นพระองค์ว่าทรงสามารถเอาชนะผลของบาปและการล่วงละเมิดในผู้คนของพระองค์อยู่เสมอ ทรงมีชัยชนะตลอดกาลเหนือใครก็ตามที่ต้องการกดขี่ลูกหลานของอิสราเอล

“‘พระบิดาผู้ทรงเป็นนิจ’ เน้นหลักคำสอนพื้นฐานที่ว่าพระคริสต์ทรงเป็นพระบิดา—พระผู้สร้างโลกสุดคณานับ พระบิดาของชีวิตของร่างกายที่ฟื้นฟูผ่านการฟื้นคืนชีวิต พระบิดาของชีวิตนิรันดร์สำหรับบุตรธิดาผู้ถือกำเนิดทางวิญญาณ และพระผู้กระทำแทนพระบิดา (เอโลฮิม) ผ่านการมอบอำนาจจากสวรรค์ คนทั้งปวงควรหมายมั่นที่จะเกิดจากพระองค์และเป็นบุตรธิดาของพระองค์ [ดู โมไซยาห์ 5:7]

“สุดท้าย กับวลี ‘เจ้าชายแห่งสันติ’ เราชื่นชมยินดีเมื่อองค์กษัตริย์จะเสด็จมา จะไม่มีสงครามในใจมนุษย์หรือในบรรดาประชาชาติต่างๆ ของโลกอีก นี่คือกษัตริย์แห่งสันติภาพ กษัตริย์แห่งเมืองซาเล็ม เมืองที่ต่อมากลายเป็นเมืองเยรูซาเล็ม พระคริสต์จะทรงนำสันติสุขมาสู่คนที่ยอมรับพระองค์ในความเป็นมรรตัยในทุกยุคที่พวกเขาอยู่ และพระองค์จะทรงนำสันติสุขมาสู่ทุกคนในอาณาจักรมิลเลเนียมและหลังมิลเลนียมแห่งรัศมีภาพ” (Christ and the New Covenant, 80–82).

พิมพ์