คลังค้นคว้า
บทที่ 40: 2 นีไฟ 31


บทที่ 40

2 นีไฟ 31

คำนำ

หลายปีก่อนพระเยซูคริสต์ประสูติ นีไฟได้รับการเปิดเผยเกี่ยวกับบัพติศมาของพระผู้ช่วยให้รอด ขณะที่นีไฟบอกผู้คนของเขาเกี่ยวกับการเปิดเผยนี้ เขาสอนสิ่งที่เขาเรียกว่า “หลักคำสอนของพระคริสต์”—ว่าเพื่อให้ได้รับชีวิตนิรันดร์ เราต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจจากบาป รับบัพติศมา รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 31:1–13

นีไฟสอนว่าเมื่อเรารับบัพติศมา เราทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด

เริ่มชั้นเรียนโดยถามนักเรียนดังนี้

  • ท่านจำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับบัพติศมาของท่าน ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านรับบัพติศมา

อธิบายว่าเมื่อนักเรียนรับบัพติศมา พวกเขากำลังทำตามแบบฉบับอันเป็นส่วนหนึ่งในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เสมอมา นีไฟใช้ข้อความหนึ่งพูดถึงแบบฉบับนี้ เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นหาข้อความที่อยู่ใน 2 นีไฟ 31:2 และ 2 นีไฟ 31:21 หลังจากพวกเขาระบุข้อความ “หลักคำสอนของพระคริสต์” แล้ว ให้ถามว่า

  • คำหรือข้อความใดใน 2 นีไฟ 31:2, 21 บ่งบอกความสำคัญของ “หลักคำสอนของพระคริสต์” (คำตอบอาจได้แก่ “ข้าพเจ้าต้องพูดเกี่ยวกับ” “ไม่มีทางอื่น” และ “หลักคำสอนเดียวและแท้จริง”)

ให้ดูภาพยอห์นผู้ถวายบัพติศมากำลังถวายบัพติศมาพระเยซู (62133; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 35) เชื้อเชิญนักเรียนให้ศึกษา 2 นีไฟ 31:5–9 ในใจ โดยมองหาข้อความที่บอกว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมา (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายข้อความเหล่านี้) หลังจากผ่านไปสองสามนาที ขอให้นักเรียนอ่านข้อความที่พวกเขาพบ

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมากำลังถวายบัพติศมาพระเยซู
  • ท่านคิดว่า “ทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดสมบูรณ์” หมายความว่าอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการอธิบายว่านี่หมายถึงการรักษาพระบัญญัติ ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธกล่าวว่า “การทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดสมบูรณ์” คือ “การทำให้กฎสมบูรณ์” [ใน Conference Report, Apr. 1912, 9])

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 31:10–12

  • ข้อเหล่านี้อธิบายความสำคัญของบัพติศมาอย่างไร (นีไฟสอนว่าบัพติศมาเป็นพระบัญญัติจากพระบิดาบนสวรรค์ซึ่งกำหนดไว้เพื่อให้ได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และจำเป็นต่อความพยายามทำตามพระเยซูคริสต์)

ขอให้นักเรียนสรุปหลักคำสอนและหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้จาก 2 นีไฟ 31:5–12 ขณะพวกเขาแบ่งปันแนวคิด พวกเขาพึงเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างสมบูรณ์พร้อมของการเชื่อฟังที่เราพึงทำตาม

เราต้องทำตามพระเยซูคริสต์ รับบัพติศมา และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์

พระเยซูคริสต์ แม้ปราศจากบาป แต่ทรงรับบัพติศมาเพื่อทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดสมบูรณ์

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 31:13 ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่วลี “ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว” “ไม่ทำการหน้าซื่อใจคดและการหลอกลวงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า” และ “ด้วยเจตนาแท้จริง” ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้

  • วลีเหล่านี้มีความหมายอะไรต่อท่าน (ท่านอาจต้องชี้ให้เห็นว่าวลีทั้งสามหมายถึงความจำเป็นของการเป็นคนจริงใจขณะพยายามใช้ศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด กลับใจจากบาปของเรา และทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับวิธีทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในสถานการณ์ต่างๆ จงถามคำถามต่อไปนี้

  • วลีเหล่านี้ประยุกต์ใช้ได้อย่างไรกับกิจกรรมต่างๆ เช่นการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันและเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่าง “กล่าวคำสวดอ้อนวอน” และสวดอ้อนวอน “ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว”

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างกินขนมปังศีลระลึกกับรับส่วนขนมปังศีลระลึก “ด้วยเจตนาแท้จริง”

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างการกล่าวว่าท่านเสียใจกับสิ่งที่ท่านทำกับการกลับใจ “ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว”

2 นีไฟ 31:14–21

นีไฟสอนว่าหลังจากบัพติศมา เราต้องรับพระวิญญาณบริสุทธิ์และทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดต่อไป

อธิบายว่านีไฟพูดถึงการเปิดประตูให้ทาง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 31:17–18 เมื่อนักเรียนอ่านจบแล้ว ให้วาดภาพประกอบง่ายๆ บนกระดานเหมือนตัวอย่าง

ประตูและทาง
  • จาก 2 นีไฟ 31:17 อะไรคือประตู (การกลับใจและบัพติศมา เขียน การกลับใจและบัพติศมา ใต้ประตู) การกลับใจและรับบัพติศมาเหมือนประตูอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 31:18 ทางนั้นนำไปสู่อะไร (ชีวิตนิรันดร์ เขียน ชีวิตนิรันดร์ ตรงปลายทาง ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “ชีวิตนิรันดร์” หมายถึงความสูงส่งในอาณาจักรซีเลสเชียล)

  • นีไฟสอนว่าหลังจากบัพติศมา เราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู 2 นีไฟ 31:13–14) ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 31:17–18 พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำอะไรเพื่อเรา (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระบิดาและพระบุตรและทรงทำให้เกิดการปลดบาป)

  • เหตุใดจึงจำเป็นที่เราจะได้รับประจักษ์พยานในพระบิดาและพระบุตรผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการปลดบาป ท่านอาจต้องอธิบายวลี “บัพติศมาด้วยไฟและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (2 นีไฟ 31:13–14; ดู ข้อ 17 ด้วย) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าการบัพติศมาด้วยไฟและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์หมายความว่าอย่างไร

“ประตูแห่งบัพติศมานำไปสู่ทางคับแคบและแคบ …

เราได้รับพระบัญชาและคำแนะนำให้ดำเนินชีวิตเพื่อเปลี่ยนธรรมชาติแห่งการตกของเราผ่านอำนาจในการชำระให้บริสุทธิ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ประธานมาเรียน จี. รอมนีย์สอนว่าการบัพติศมาด้วยไฟโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ‘เปลี่ยน [เรา] จากตัณหาราคะสู่ความเข้มแข็งทางวิญญาณ สิ่งนี้ทำความสะอาด เยียวยา และชำระจิตวิญญาณ … ศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ การกลับใจ และน้ำแห่งบัพติศมา คือสิ่งแรกและสิ่งที่เราต้องทำก่อนการ [บัพติศมาด้วยไฟ] เป็นการทำให้สมบูรณ์ การรับ [บัพติศมาด้วยไฟนี้] คือการทำอาภรณ์ของคนให้สะอาดในพระโลหิตแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์’ (Learning for the Eternities, comp. George J. Romney [1977], 133; ดู 3 นีไฟ 27:19–20 ด้วย)

“ดังนั้น เมื่อเราเกิดใหม่และพยายามจะมีพระวิญญาณของพระองค์สถิตอยู่กับเราเสมอ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงชำระและหล่อหลอมจิตวิญญาณของเราประหนึ่งด้วยไฟ (ดู 2 นีไฟ 31:13–14, 17) ในที่สุด เราจะยืนอย่างไม่มีมลทินต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า” (ดู “มือสะอาดและใจบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, หน้า 103)

  • เอ็ลเดอร์เบดนาร์และประธานรอมนีย์พูดว่า “บัพติศมาด้วยไฟ” ทำอะไรให้ท่าน

  • เราจะได้รับพรเพิ่มเติมอะไรบ้างผ่านอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • ท่านทำอย่างไรเมื่อท่าน “พยายามจะมีพระวิญญาณของพระองค์” สถิตอยู่กับท่านเสมอ

  • ท่านรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระทำในชีวิตท่านเมื่อใด

อธิบายว่าใน 2 นีไฟ 31:18 คำว่า คับแคบ หมายถึงแคบ เข้มงวด พิถีพิถัน และไม่ยอมหันเห นีไฟใช้คำนี้บรรยายเส้นทางที่เราต้องเดินหลังจากบัพติศมาเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์ ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ

  • เราต้องทำอะไรหลังจากบัพติศมาเพื่อจะอยู่ในเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์

ขณะที่นักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ เชื้อเชิญพวกเขาให้มองหาคำตอบใน 2 นีไฟ 31:15–16, 19–21 ท่านอาจจะเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายตรงคำพูดหรือข้อความที่อธิบายว่าเราต้องทำจึงจะได้รับชีวิตนิรันดร์ หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำเครื่องหมาย ขณะพวกเขาตอบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน ภาพประกอบของท่านควรออกมาทำนองนี้

Eternal Life Steps

นักเรียนพึงเข้าใจว่า หากเราดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระคริสต์ เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์

สรุปบทเรียนโดยขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 31:20 ชี้ให้เห็นว่า 2 นีไฟ 31:19–20 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจจะกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนจนพวกเขาหาเจอได้โดยง่าย เชื้อเชิญพวกเขาให้ตอบคำถามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา

  • จากการที่ท่านศึกษาบทนี้ มีสิ่งใดที่ให้ความหวังว่าท่านจะได้รับชีวิตนิรันดร์

  • พันธสัญญาที่ท่านทำเมื่อครั้งบัพติศมามีอิทธิพลต่อชีวิตท่านอย่างไร

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—2 นีไฟ 31:19–20

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“พลังยิ่งใหญ่อาจมาจากการท่องจำพระคัมภีร์ การท่องจำพระคัมภีร์เป็นการสร้างมิตรภาพใหม่ เปรียบเสมือนการค้นพบบุคคลอีกคนหนึ่งที่สามารถช่วยเราได้ยามจำเป็น ให้การดลใจและการปลอบโยนตลอดจนเป็นบ่อเกิดของแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น” (ดู “พลังแห่งพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, หน้า 7)

เขียนบนโปสเตอร์ (หรือในแผ่นกระดาษ) ว่า ฉันได้ท่องจำ 2 นีไฟ 31:19–20 ติดโปสเตอร์ไว้ตรงที่ซึ่งนักเรียนจะมองเห็น ท้าทายนักเรียนให้ท่องจำข้อความนี้ด้วยตนเองหรือกับครอบครัว เชื้อเชิญพวกเขาให้ทำเครื่องหมายโปสเตอร์ในวันต่อๆ มาเมื่อพวกเขาท่องจำพระคัมภีร์ข้อนั้น หากพวกเขาท่องจำกับครอบครัว พวกเขาอาจจะเขียนชื่อสมาชิกครอบครัวไว้บนโปสเตอร์ด้วย จำไว้ว่าต้องปรับคำท้าทายนี้ให้เหมาะกับความสามารถและสภาวการณ์ของแต่ละบุคคลเพื่อนักเรียนแต่ละคนจะประสบผลสำเร็จได้

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับคุณค่าของการท่องจำพระคัมภีร์ เช่น 2 นีไฟ 31:19–20 ซึ่งมีถ้อยคำแห่งความหวัง

หมายเหตุ: เพราะลักษณะและความยาวของบทเรียนวันนี้ ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมนี้ในอีกวันหนึ่งเมื่อท่านมีเวลามากขึ้น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 31:2, 21 หลักคำสอนของพระคริสต์

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า

“‘หลักคำสอนของพระคริสต์’ ตามที่นีไฟสอนไว้ในคำปราศรัยสรุปครั้งใหญ่ของท่านมุ่งเน้นศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัว รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ การประกาศครั้งนี้ไม่ได้พยายามครอบคลุมแผนแห่งความรอดทั้งหมด คุณธรรมทั้งหมดของชีวิตชาวคริสต์ หรือรางวัลที่รอเราอยู่ในระดับต่างๆ ของรัศมีภาพสวรรค์ การประกาศครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งฐานะปุโรหิต ศาสนพิธีของพระวิหาร หรือหลักคำสอนแท้จริงอีกหลายเรื่อง ทั้งหมดนี้สำคัญ แต่ตามที่ใช้ในพระคัมภีร์มอรมอน ‘หลักคำสอนของพระคริสต์’ เรียบง่ายและตรงไปตรงมา มุ่งเน้นหลักธรรมเบื้องต้นของพระกิตติคุณอย่างเดียว รวมถึงคำพูดกระตุ้นให้อดทน ยืดหยัด รุดหน้า โดยแท้แล้ว ความชัดเจนและความเรียบง่ายของ ‘หลักคำสอนของพระคริสต์’ นี่เองที่มีผลกระทบ นีไฟรู้ว่าจะเป็นเช่นนั้น ท่านเขียนว่า ‘ข้าพเจ้าจะพูดกับท่านอย่างแจ้งชัด, ตามความแจ้งชัดของการพยากรณ์ของข้าพเจ้า’ [2 นีไฟ 31:2]” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 49–50)

2 นีไฟ 31:13 “ไม่ทำการหน้าซื่อใจคด”

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงการไม่ทำการหน้าซื่อใจคดไว้ดังนี้

“โดยแท้แล้ว เราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณจริงหรือไม่ หรือเราเพียงแค่ แสดง เปลือกนอกของความชอบธรรมเพื่อให้คนรอบข้างเรา สันนิษฐาน ว่าเราซื่อสัตย์ทั้งที่ความจริงแล้วใจเราและการกระทำที่มองไม่เห็น ไม่ ตรงกับคำสอนของพระเจ้า

“เรารับเอาเฉพาะ ‘รูปแบบของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า’ แต่ปฏิเสธ ‘อำนาจในนั้น’ หรือไม่ [โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:19]

“เราชอบธรรมจริงหรือ หรือว่าเราแสร้งทำเป็นเชื่อฟังเฉพาะเมื่อมีคนมองเราอยู่

“พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะใช้เปลือกนอกหลอกพระองค์ไม่ได้ พระองค์ทรงเตือนเราว่าอย่าหลอกลวงพระองค์หรือผู้อื่น พระองค์ทรงตักเตือนเราให้ระวังคนหน้าไหว้หลังหลอก คนที่ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง’ (“True to the Truth,Ensign, May 1997, 15–16)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำสมาชิกให้ทำด้วยเจตนาแท้จริงและไม่เพียงเสแสร้างแกล้งทำเท่านั้น โดยกล่าวว่า

“ขณะทำตามคำสอนพื้นฐานที่สุดเหล่านี้ ความสัมพันธ์อันงดงามกับพระคริสต์ย่อมเปิดรับเราในหลากหลายวิธี นั่นคือ การสวดอ้อนวอน การอดอาหาร และการพินิจไตร่ตรองจุดประสงค์ของพระองค์ การหมั่นศึกษาพระคัมภีร์ การรับใช้ผู้อื่น ‘ช่วยเหลือคนอ่อนแอ, ยกมือที่อ่อนแรง, … ให้กำลังใจเข่าที่อ่อนล้า’ [คพ. 81:5] เหนือสิ่งอื่นใดคือการรักด้วย “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์’ ของประทานที่ ‘ไม่มีวันสูญสิ้น’ ของประทานที่ ‘ทนทุกสิ่ง, เชื่อทุกสิ่ง, หวังทุกสิ่ง, [และ] อดทนทุกสิ่ง’ [ดู โมโรไน 7:45–47] ในไม่ช้า ด้วยความรักแบบนี้ เรารับรู้ว่าวันเวลาของเรามีทางสัญจรมากมายนำไปหาพระอาจารย์และทุกครั้งที่เราเอื้อมไปหาพระองค์ ไม่ว่าจะอ่อนแรงเพียงใด เราค้นพบว่าพระองค์ทรงพยายามอย่างยิ่งเพื่อเอื้อมมาหาเรา …

“ความปรารถนาของข้าพเจ้าในวันนี้คืออยากให้เรา ทุกคน … มีประสบการณ์ตรงด้วยตนเองมากขึ้นกับแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด บางครั้งเราแสวงหาสวรรค์ในทางอ้อมเกินไป โดยมุ่งเน้นโปรแกรมหรือประวัติหรือประสบการณ์ของผู้อื่น สิ่งเหล่านั้นสำคัญแต่ไม่สำคัญเท่าประสบการณ์ส่วนตัว การเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริง และพลังที่มาจากการมีประสบการณ์ในอานุภาพจากการสัมผัสของพระองค์โดยตรง” (ดู “แตกสลายแต่ซ่อมได้,” เลียโฮนา,พ.ค. 2006, 85)

2 นีไฟ 31:13, 17–18 “ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนดังนี้

“ศาสนพิธีของการยืนยันสมาชิกใหม่ของศาสนจักรและการมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์นั้นทั้งเรียบง่ายและมีความลึกซึ้ง ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่มีค่าควรวางมือบนศีรษะของบุคคลนั้นและเอ่ยชื่อเขา จากนั้นโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์และในพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด บุคคลนี้ได้รับการยืนยันเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายและพูดประโยคสำคัญนี้ ‘จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์’

“ความเรียบง่ายของศาสนพิธีนี้อาจทำให้เรามองข้ามความหมายสำคัญ ถ้อยคำที่ว่า—‘จงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์’—ไม่ใช่การออกเสียงไปอย่างนั้น แต่ถ้อยคำนี้ประกอบด้วยคำสั่งฐานะปุโรหิต—เป็นการตักเตือนด้วยสิทธิอำนาจให้กระทำและมิถูกกระทำ (ดู 2 นีไฟ 2:26) พระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้มีอิทธิพลในชีวิตเราเพียงเพราะมือที่วางบนศีรษะและการกล่าวถ้อยคำสำคัญเหล่านั้น เมื่อเรารับศาสนพิธีนี้ เราทุกคนยอมรับความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์และต่อเนื่องที่จะปรารถนา แสวงหา ทำงาน และดำเนินชีวิตมีค่าควรในแบบที่พวกเรา ‘รับพระวิญญาณบริสุทธิ์’ และของประทานทางวิญญาณที่ควบคู่มากับสิ่งนี้อย่างแท้จริง …

“การสวดอ้อนวอน การศึกษา การรวบรวม การนมัสการ การรับใช้ และการเชื่อฟังไม่ได้เป็นรายการอิสระหรือแยกจากกันในรายการพระกิตติคุณที่ต้องทำ ในทางกลับกันการกระทำที่ชอบธรรมดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการค้นหาสูงสุดทางวิญญาณเพื่อทำให้ข้อบังคับในการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์เกิดสัมฤทธิผล เราเชื่อฟังพระบัญญัติจากพระผู้เป็นเจ้าและเราทำตามคำแนะนำที่ได้รับการดลใจจากผู้นำศาสนจักรที่มุ่งเน้นการมีพระวิญญาณเป็นเพื่อน โดยพื้นฐานแล้วคำสอนของพระกิตติคุณและกิจกรรมทั้งหมดมีศูนย์กลางอยู่ที่การมาหาพระคริสต์โดยการได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตเรา” (“ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 120, 122)

ข้อความต่อไปนี้ระบุพรบางอย่างที่เราจะได้รับเมื่อเราคู่ควรกับความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

“[พระวิญญาณบริสุทธิ์] จะทรงนำทางท่านในการตัดสินใจและคุ้มครองท่านจากอันตรายทางร่างกายและวิญญาณ …

“พระองค์ทรงเป็นองค์ผู้ช่วย (ยอห์น 14:26) … สุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณก็สามารถระงับความกลัว คลายความวิตกกังวลของชีวิต และปลอบโยนท่านยามเศร้าโศกได้ฉันนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงทำให้ท่านเปี่ยมไป ‘ด้วยความหวังและความรักอันบริบูรณ์’ และ ‘สอนเจ้าถึงสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุข’ (โมโรไน 8:26; คพ. 36:2) …

“สิทธิประโยชน์โดยสมบูรณ์ที่ได้จากของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ครอบคลุมถึงการได้รับการเปิดเผยและความสบายใจ การรับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่นผ่านของประทานฝ่ายวิญญาณ และการชำระให้บริสุทธิ์จากบาปและทำให้ท่านคู่ควรต่อความสูงส่งในอาณาจักรชั้นสูง” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 197–198)

2 นีไฟ 31:15–16 “อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

ข้อความที่ว่า “อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่” ใช้กันบ่อยครั้งเพื่อบ่งบอกว่าเราต้องทนรับความยากลำบากตลอดชีวิตเรา เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินอธิบายว่าการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่หมายถึงการดำเนินต่อไปในความซื่อสัตย์ต่อพระคริสต์

“การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่คือหลักคำสอนของการดำเนินต่อไปบนเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์หลังจากเข้าสู่เส้นทางนั้นแล้วโดยผ่านศรัทธา การกลับใจ บัพติศมา และการรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่เรียกร้องใจที่เต็มใจ หรือดังที่ศาสดาพยากรณ์อแมลิไคในพระคัมภีร์มอรมอนสอน เราต้อง ‘มาหาพระองค์, และถวายทั้งจิตวิญญาณ [ของเรา] เป็นเครื่องบูชาแด่พระองค์, และอดอาหารและสวดอ้อนวอนต่อไป, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่; และพระเจ้าทรงพระชนม์ฉันใด [เรา]จะได้รับการช่วยให้รอดฉันนั้น’ [ออมไน 1:26]

“การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่หมายความว่าเราได้วางชีวิตอย่างมั่นคงบนดินพระกิตติคุณ อยู่ในกระแสหลักของศาสนจักร รับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ดำเนินชีวิตเยี่ยงพระคริสต์และรักษาพันธสัญญาของเรา คนที่อดทนจะหนักแน่น เสมอต้นเสมอปลาย อ่อนน้อมถ่อมตน ปรับปรุงตนเองตลอดเวลา และไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ประจักษ์พยานของเขามิได้ขึ้นอยู่กับเหตุผลทางโลก—แต่ขึ้นอยู่กับความจริง ความรู้ ประสบการณ์ และพระวิญญาณ” (“จงมุ่งหน้าต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 125)

2 นีไฟ 31–33 พระวิญญาณบริสุทธิ์

คำสอนสุดท้ายของนีไฟในพระคัมภีร์มอรมอนครอบคลุมความจริงมากมายเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ตัวอย่างเช่น

  1. พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถทำให้ท่านพูดได้ด้วย “ลิ้นของเทพ” (ดู 2 นีไฟ 31:13)

  2. การปลดบาปมาโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู 2 นีไฟ 31:17)

  3. พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระบิดาและพระบุตร (ดู 2 นีไฟ 31:18)

  4. พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงแสดงแก่ท่านถึงสิ่งทั้งปวงที่ท่านควรทำ (ดู 2 นีไฟ 32:5)

  5. พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนผู้คนให้สวดอ้อนวอน (ดู 2 นีไฟ 32:8)

  6. เมื่อบุคคลหนึ่งพูดโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ย่อมนำข่าวสารไปสู่ใจผู้อื่น (ดู 2 นีไฟ 33:1)