คลังค้นคว้า
บทที่ 41: 2 นีไฟ 32


บทที่ 41

2 นีไฟ 32

คำนำ

หลังจากสอนเรื่อง “ทางคับแคบและแคบนี้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์” (2 นีไฟ 31:18) นีไฟรับรู้ว่าผู้คนของเขาสงสัยว่าควรทำอะไรหลังจากเริ่มต้นบนทางนั้น เขาตอบคำถามของคนเหล่านั้นโดยกระตุ้นให้ “ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์” และ “สวดอ้อนวอนเสมอ” (2 นีไฟ 32:3, 9) เขารับรองกับคนเหล่านั้นว่าหากพวกเขาจะทำสิ่งเหล่านี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้พวกเขารู้ว่าต้องทำอะไร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 นีไฟ 32:1–7

นีไฟแนะนำเราให้แสวงหาการนำทางจากสวรรค์ผ่านพระวจนะของพระเยซูคริสต์และการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงเวลาที่พวกเขาอธิบายเส้นทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ขอให้พวกเขาอธิบายว่าเหตุใดการบอกทางจึงเป็นเรื่องง่ายหรือไม่ก็เรื่องยาก

เตือนนักเรียนว่าในบทก่อน พวกเขาศึกษาคำแนะนำที่นีไฟให้ผู้คนของเขา หลังจากแบ่งปันคำแนะนำเหล่านี้แล้วนีไฟกล่าวว่า “นี่คือทางนั้น” (2 นีไฟ 31:21) เพื่อช่วยนักเรียนทบทวนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ให้ถามดังนี้

  • หากเราทำตามคำแนะนำของนีไฟ คำแนะนำนั้นจะนำเราไปที่ใด (ชีวิตนิรันดร์; ดู 2 นีไฟ 31:20)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 31:17–18 เราเริ่มต้นบนทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์อย่างไร

อธิบายว่า 2 นีไฟ 32 เป็นความต่อเนื่องในคำสอนของนีไฟใน 2 นีไฟ 31 ขอให้นักเรียนดูใน 2 นีไฟ 32:1 เพื่อหาคำถามที่ผู้คนของนีไฟถามเกี่ยวกับสิ่งที่เขาสอน เชิญนักเรียนสองสามคนบอกคำถามนี้ด้วยคำพูดของพวกเขา (นักเรียนพึงเข้าใจว่าผู้คนสงสัยว่าพวกเขาควรทำอะไรหลังจากเริ่มต้นบนทางสู่ชีวิตนิรันดร์)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 32:2–3 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำตอบของนีไฟต่อคำถามของผู้คน ชี้ให้เห็นว่า 2 นีไฟ 32:3 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายคำถามดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะหาเจอได้โดยง่าย

  • คำใดใน 2 นีไฟ 32:3 บอกว่าเราควรรับพระวจนะของพระคริสต์อย่างไร การดื่มด่ำ (กินอาหารเลิศรสอย่างสบายใจ) ต่างจากการกินอาหารเบาๆ อย่างรีบร้อนอย่างไร

  • ท่านคิดว่าดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร

  • นีไฟกล่าวว่าจะเกิดผลอะไรเมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์

  • เราจะพบพระวจนะของพระคริสต์ที่ใดบ้าง (คำตอบอาจรวมถึง พระคัมภีร์ ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน และการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์)

นักเรียนพึงเข้าใจว่า เมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ พระวจนะของพระคริสต์จะบอกเราทุกสิ่งที่เราควรทำ

เพื่อช่วยให้นักเรียนตรึกตรองว่าพวกเขาดื่มด่ำพระวจนะของพระเยซูคริสต์ดีเพียงใด ให้อ่านรายการต่อไปนี้ โดยหยุดครู่หนึ่งหลังจากอ่านแต่ละข้อ ขอให้นักเรียนเขียนรายการดังกล่าวไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขาหรือบนแผ่นกระดาษ

  1. การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

  2. การประชุมศีลระลึก

  3. การประชุมใหญ่สามัญ

  4. การศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัว

  5. เซมินารี

  6. การสังสรรค์ในครอบครัว

  7. การประชุมโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือชั้นเรียนเยาวชนหญิง

  8. การสวดอ้อนวอนเป็นส่วนตัว

เชื้อเชิญนักเรียนให้ตรึกตรองว่าพวกเขาแสวงหาพระวจนะของพระเยซูคริสต์ในสภาพแวดล้อมแต่ละอย่างนี้ดีเพียงใด ให้พวกเขาเขียนแต่ละข้อว่าเป็น กินอาหารรสเลิศอย่างสบายใจ กินอาหารเบาๆ อย่างรีบร้อน หรือ อดอยาก ตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจกินอาหารรสเลิศอย่างสบายใจในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว แต่กินอาหารเบาๆ อย่างรีบร้อนในการประชุมใหญ่สามัญ นักเรียนที่ไม่เอาใจใส่การประชุมศีลระลึกอาจจะเขียนคำว่า อดอยาก ต่อจากข้อนั้น

ขอให้นักเรียนเลือกกิจกรรมหนึ่งอย่างซึ่งพวกเขากำลัง “กินอาหารเบาๆ อย่างรีบร้อน” หรือ “อดอยาก” และเชื้อเชิญพวกเขาให้ตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยให้ตนเอง “ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์” มากขึ้นในสภาพแวดล้อมนั้น (ท่านอาจกระตุ้นพวกเขาให้นึกถึงเป้าหมายหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้าหรือความก้าวหน้าส่วนบุคคลอันเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายเหล่านี้)

เพื่อเสริมความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องความรับผิดชอบที่พวกเขามีต่อการแสวงหาการนำทางส่วนตัวจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้พวกเขาอ่าน 2 นีไฟ 32:4–7 ในใจ จากนั้นขอให้พวกเขาสนทนาคำถามต่อไปนี้กับคู่ (ท่านอาจต้องการจัดเตรียมคำถามเหล่านี้เป็นเอกสารแจกหรือเขียนบนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม)

  • ใน ข้อ 4 ท่านคิดว่า “ทูลถาม” หรือ “เคาะ” หมายความว่าอย่างไร นีไฟกล่าวว่าอะไรคือผลอันเกิดแก่ผู้จะไม่ทูลถามหรือเคาะ

  • นีไฟสัญญาว่าเราจะมีพรอะไรบ้างเมื่อเรารับพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เหตุใดนีไฟจึงเศร้าโศกเพราะผู้คนของเขา

แสดงความเชื่อมั่นของท่านว่าเมื่อนักเรียนดื่มด่ำพระวจนะของพระเยซูคริสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยพวกเขาให้เดินตามเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์

2 นีไฟ 32:8–9

นีไฟแนะนำเราให้สวดอ้อนวอนเสมอ

อธิบายว่านีไฟมุ่งเน้นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้เพื่อรับพระวจนะของพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 2 นีไฟ 32:8 ในใจโดยมองหาสิ่งที่นีไฟกล่าวว่าเราควรทำ หลังจากพวกเขาระบุคำตอบแล้ว จงถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาไตร่ตรองความสำคัญของการสวดอ้อนวอน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงทรงต้องการให้เราสวดอ้อนวอน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดซาตานไม่ต้องการให้เราสวดอ้อนวอน ซาตานพยายามโน้มน้าวเราไม่ให้สวดอ้อนวอนด้วยวิธีใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 32:9 ชี้ให้เห็นว่า 2 นีไฟ 32:8–9 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะหาเจอได้โดยง่าย

  • เราควรสวดอ้อนวอนบ่อยเพียงใด ท่านคิดว่า “สวดอ้อนวอนเสมอ” หมายความว่าอย่างไร

แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง (หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ท่านจะถ่ายเอกสารข้อความอ้างอิงนี้ให้นักเรียนได้อ่านตามและจดจ่ออยู่ที่ถ้อยคำของเอ็ล-เดอร์เบดนาร์ หากท่านถ่ายเอกสารท่านจะเห็นว่ายังมีข้ออ้างอิงท้ายบทหลังจากการสนทนาพอสังเขป ให้รวมส่วนนั้นไว้ในคำกล่าวด้วย) เชื้อเชิญนักเรียนให้ฟังคำแนะนำของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ดเกี่ยวกับการ “สวดอ้อนวอนเสมอ”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“เราอาจมีหลายอย่างในบุคลิกลักษณะ พฤติกรรม หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการเติบโตทางวิญญาณของเราซึ่งเราต้องการปรึกษากับพระบิดาบนสวรรค์ในการสวดอ้อนวอนตอนเช้า …

“ตลอดทั้งวัน เราสวดอ้อนวอนในใจเพื่อขอความช่วยเหลือและการนำทางตลอดเวลา …

“เราสังเกตว่าระหว่างวันที่ทำแบบนี้จะมีเหตุการณ์ซึ่งโดยปกติเรามีแนวโน้มจะใช้คำพูดรุนแรงแต่เราไม่ทำ หรือเรามีแนวโน้มที่จะโกรธแต่เราไม่โกรธ เราเห็นถึงความช่วยเหลือและพลังจากสวรรค์พร้อมทั้งน้อมรับคำตอบจากการสวดอ้อนวอนของเรา แม้ในยามที่ยอมรับเราก็สวดอ้อนวอนขอบพระทัยในใจ” (ดู “สวดอ้อนวอนเสมอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, หน้า –52)

เพื่อช่วยนักเรียนไตร่ตรองคำแนะนำนี้ ให้ถามว่า

  • ท่านนึกออกหรือไม่ว่ามีช่วงใดในวันนี้หรือไม่นานมานี้ที่ท่านได้ทำตามคำแนะนำดังกล่าวจากเอ็ล-เดอร์เบดนาร์ (ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ในใจแทนที่จะตอบออกเสียง)

อ่านคำแนะนำของเอ็ลเดอร์เบดนาร์ต่อไป

“เมื่อสิ้นสุดวัน เราคุกเข่าอีกครั้งและรายงานพระบิดาของเรา เราทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นและขอบพระทัยอย่างจริงใจสำหรับพรและความช่วยเหลือที่เราได้รับ เรากลับใจและด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้าเราหาวิธีที่เราสามารถทำได้ดีกว่าเดิม และเป็นคนดีกว่าเดิมในวันรุ่งขึ้น ดังนั้นการสวดอ้อนวอนในตอนเย็นของเราจึงเสริมสร้างและสืบเนื่องมาจากการสวดอ้อนวอนในตอนเช้าของเรา การสวดอ้อนวอนในตอนเย็นของเราเป็นการเตรียมสำหรับการสวดอ้อนวอนในตอนเช้าอย่างมีความหมาย

“การสวดอ้อนวอนในตอนเช้าและตอนกลางคืนและการสวดอ้อนวอนระหว่างนั้นทั้งหมดใช่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ตรงกันข้ามเหตุการณ์เหล่านี้เชื่อมโยงกันในแต่ละวัน เชื่อมโยงกันเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน และเป็นปี นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะทำให้คำกล่าวเตือนในพระคัมภีร์ให้ ‘สวดอ้อนวอนเสมอ’ (ลูกา 21:36; 3 นีไฟ 18:15, 18; คพ. 31:12) เกิดสัมฤทธิผล การสวดอ้อนวอนที่มีความหมายเช่นนี้เป็นเครื่องมือในการได้รับพรสูงสุดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีไว้สำหรับบุตรธิดาผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์” (ดู “สวดอ้อนวอนเสมอ,” หน้า 52)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจส่วนสุดท้ายของ 2 นีไฟ 32:9 อธิบายว่าคำว่า อุทิศถวาย หมายถึง “การอุทิศ การทำให้ศักดิ์สิทธิ์ หรือการมาเป็นคนชอบธรรม” (คู่มือพระคัมภีร์ “อุทิศถวาย, กฎแห่งการอุทิศถวาย,” scriptures.lds.org)

  • เหตุใดเราจึงควรสวดอ้อนวอทุกครั้งที่เรา “ทำสิ่งใดถวายพระเจ้า”

  • ท่านคิดว่าการอุทิศถวายสิ่งที่เราทำเพื่อความผาสุกของจิตวิญญาณเรามีความหมายต่อพระเจ้าอย่างไร

  • คำแนะนำของเอ็ลเดอร์เบดนาร์สามารถช่วยให้เราดำเนินชีวิตด้วยการอุทิศถวายมากขึ้นได้อย่างไร

เป็นพยานว่า เมื่อเราสวดอ้อนวอนเสมอ เราย่อมสามารถทำได้ทุกอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทำเพื่อความผาสุกของจิตวิญญาณเรา

เอ็ลเดอร์สเป็นเซอร์ เจ. คอนดี

เพื่อสรุปสิ่งที่นักเรียนสนทนาในบทนี้ ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์สเป็นเซอร์ เจ. คอนดีแห่งสาวกเจ็ดสิบ

“ท่านอาจจะกำลังเผชิญการตัดสินใจเกี่ยวกับงานเผยแผ่ อาชีพในอนาคต และสุดท้ายการแต่งงาน เมื่อท่านอ่านพระคัมภีร์และสวดอ้อนวอนขอการนำทาง ท่านอาจจะไม่เห็นคำตอบในรูปแบบถ้อยคำที่พิมพ์บนกระดาษ แต่เมื่อท่านอ่าน ท่านจะได้รับความรู้สึกที่ชัดเจนและการกระตุ้นเตือน ดังที่สัญญาไว้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ ‘จะทรงแสดงแก่ท่านถึงสิ่งทั้งปวงที่ท่านควรทำ.’ [2 นีไฟ 32:5]” (ดู “กลับเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, หน้า 56)

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—2 นีไฟ 32:3

ถามนักเรียนว่าพวกเขาคิดว่าจะใช้เวลาท่อง 2 นีไฟ 32:3 นานเท่าใดถ้าพวกเขาท่องทุกครั้งที่กินอาหาร ท้าทายพวกเขาให้ทบทวนพระคัมภีร์ข้อนี้—ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ทุกครั้งที่กินอาหารเป็นเวลาสองสามวันติดต่อกัน หลังจากจำข้อนี้ได้แล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้รายงานว่าใช้เวลาอาหารกี่มื้อ

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—2 นีไฟ 32:8–9

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยพายามสวดอ้อนวอนในใจตลอดวันหรือตลอดสัปดาห์หรือไม่ เชื้อเชิญพวกเขาให้เล่าประสบการณ์ เชิญชวนชั้นเรียนให้หาวิธีที่พวกเขาจะสามารถ “สวดอ้อนวอนเสมอ” เป็นเวลา 24 ชั่วโมงติดต่อกัน ท้าทายพวกเขาให้ทำเช่นนั้นและรายงานประสบการณ์ของพวกเขาตอนเริ่มชั้นเรียนคราวหน้า

หมายเหตุ: หากท่านไม่มีเวลาใช้แนวคิดการสอนเหล่านี้ในบทนี้ ท่านอาจจะใช้ทบทวนในบทเรียนครั้งต่อๆ ไป

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

2 นีไฟ 32:2 พูดด้วยลิ้นของเทพหมายความว่าอย่างไร

บางคนอาจสงสัยว่า “พูดด้วยลิ้นของเทพ” หมายความว่าอย่างไร ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์สอนว่าการพูดด้วยลิ้นของเทพ “หมายความเพียงว่าท่านสามารถพูดได้ด้วยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (“The Gift of the Holy Ghost: What Every Member Should Know,Ensign, Aug. 2006, 50)

2 นีไฟ 32:3 ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “การดื่มด่ำ มีความหมายมากกว่าชิมรส ดื่มด่ำหมายถึงลิ้มรสด้วยความอร่อย เราลิ้มรสพระคัมภีร์ด้วยความอร่อยโดยศึกษาพระคัมภีร์ด้วยเจตนาจะค้นพบอย่างเบิกบานใจและเชื่อฟังอย่างซื่อสัตย์ เมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ พระวจนะย่อมถูกฝังลง “ในแผ่นดวงใจมนุษย์’ [2 โครินธ์ 3:3] พระวจนะกลายเป็นส่วนสำคัญของธรรมชาติวิสัยของเรา” (ดู “ให้พระคัมภีร์นำทางชีวิตท่าน,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 23)

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำเราเช่นกันว่า “หากท่านและข้าพเจ้าอยากดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ เราต้องศึกษาพระคัมภีร์และซึมซับพระวจนะของพระองค์ผ่านการไตร่ตรองและทำให้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดและการกระทำทุกอย่าง” (ดู “การบำบัดรักษาจิตวิญญาณและร่างกาย,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 15)