คลังค้นคว้า
บทเรียน 120: 3 นีไฟ 11:1–17


บทที่ 120

3 นีไฟ 11:1–17

คำนำ

หลังจากความพินาศและสามวันแห่งความมืดอันเป็นสัญญาณบ่งบอกการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด ชาย หญิง และเด็กชาวนีไฟประมาณ 2,500 คนมารวมกันรอบพระวิหารในแผ่นดินแห่งอุดมมั่งคั่ง (ดู 3 นีไฟ 17:25) ขณะที่พวกเขาพูดคุยกัน พวกเขาได้ยินสุรเสียงของพระบิดาบนสวรรค์ทรงแนะนำพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ผู้ทรงปรากฏหลังจากนั้น พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญผู้คนให้รับรู้ด้วยตนเองว่าพระองค์ทรงถูกสังหารเพื่อบาปของโลก พวกเขาเดินมาหาพระองค์ทีละคนและสัมผัสรอยแผลในพระปรัศว์และรอยตะปูในพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 11:1–7

ชาวนีไฟได้ยินสุรเสียงของพระบิดาประกาศการปรากฏของพระบุตรพระองค์

ขณะที่นักเรียนเข้าห้องเรียน ให้เปิดเทปเพลงศักดิ์สิทธิ์หรือการประชุมใหญ่สามัญเบาๆ—ดังพอให้ได้ยิน หยุดเทปเมื่อได้เวลาสวดอ้อนวอนเปิดและให้ข้อคิดทางวิญญาณ หลังจากสวดอ้อนวอน ถามนักเรียนว่าพวกเขาได้ยินเทปบันทึกเสียงหรือไม่ (ถ้าท่านไม่มีอุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมนี้ ท่านอาจจะให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน 3 นีไฟ 11 เบาๆ ขณะที่นักเรียนคนอื่นๆ เดินเข้ามาในห้อง ถ้าท่านเลือกทำเช่นนี้ จะได้ผลดีที่สุดถ้าท่านมอบหมายหนึ่งวันล่วงหน้า เพื่อให้นักเรียนคนนั้นมาก่อนเวลา)

  • คนๆ หนึ่งต้องทำอะไรจึงจะได้ยินและเข้าใจเสียงเบาๆ

  • อะไรคือข่าวสารของเพลง (หรือคำปราศรัยการประชุมใหญ่หรือข้อพระคัมภีร์) ที่เปิดให้ฟังขณะท่านเดินเข้ามาในห้องเรียนวันนี้

  • การได้ยินและเข้าใจคำพูดขณะทุกคนกำลังเข้ามาในห้องทำได้ง่ายหรือยาก เพราะเหตุใด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่ชาวนีไฟเข้าใจได้ยาก

  • เสียงที่บรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 11:3? เป็นอย่างไร (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำอธิบายของเสียงนั้นในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • เสียงนั้นมีผลอย่างไรต่อคนที่ได้ยิน

ขอให้นักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 11:4–7 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่ชาวนีไฟทำต่างจากเดิมเพื่อให้เข้าใจเสียงครั้งที่สามที่พวกเขาได้ยิน

  • ชาวนีไฟทำอะไรต่างจากเดิมเมื่อได้ยินเสียงครั้งที่สาม

  • จากสิ่งที่ท่านอ่านใน 3 นีไฟ 11:7 ผู้คนได้ยินเสียงของใคร (พวกเขาได้ยินสุรเสียงของพระบิดาบนสวรรค์ทรงแนะนำพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์)

ท่านอาจจะขอให้นักเรียนอ่าน ฮีลามัน 5:30 โดยมองหาคำอธิบายอีกคำหนึ่งเกี่ยวกับสุรเสียงของพระเจ้า

  • เสียงที่ชาวนีไฟได้ยินคล้ายกับการกระตุ้นเตือนที่เราได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: พระวิญญาณบริสุทธิ์มักตรัสกับเราผ่านความรู้สึกของเรา)

  • เหตุใดการเอาใจใส่การดลใจที่เราได้รับจากพระเจ้าผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพวกเขารู้สึกว่าการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในความคิดหรือใจพวกเขา ขอให้พวกเขาบรรยายว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองด้วย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อฟังและเข้าใจสุรเสียงของพระเจ้าผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“พระวิญญาณไม่ทรงดึงความสนใจของเราโดยการตะโกน ทั้งไม่ใช้มือเขย่าตัวเราแรงๆ พระวิญญาณทรงกระซิบ พระองค์ทรงโอบกอดเราอย่างนุ่มนวลจนถ้าเรากังวลอยู่กับเรื่องหนึ่ง เราจะรู้สึกไม่ได้เลย

“บางครั้งพระวิญญาณจะทรงจับเราแน่นหรือบ่อยพอจนเราสนใจ แต่จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า ส่วนใหญ่แล้วถ้าเราไม่เอาใจใส่ความรู้สึกที่อ่อนโยน ถ้าเราไม่ฟังความรู้สึกเหล่านั้น พระวิญญาณจะทรงถอนตัวและรอจนกว่าเราจะมาแสวงหาและฟังในรูปแบบของเราและวิธีของเรา” (“How Does the Spirit Speak to Us?” New Era, Feb. 2010, 3)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก 3 นีไฟ 11:1–7 และจากประธานแพคเกอร์ (นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย แต่พวกเขาพึงระบุความจริงต่อไปนี้: เมื่อเราเรียนรู้วิธีฟังสุรเสียงของพระเจ้าผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะสามารถเข้าใจการสื่อสารที่พระองค์ประทานแก่เราได้)

  • อะไรช่วยท่านเตรียมความคิดและใจให้พร้อมได้ยินและเข้าใจสุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณบริสุทธิ์

3 นีไฟ 11:8–17

พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อชาวนีไฟและทรงเชื้อเชิญพวกเขาทีละคนให้ออกมาสัมผัสรอยแผลในพระหัตถ์ พระบาท และพระปรัศว์ของพระองค์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:8–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและนึกภาพว่าการอยู่ท่ามกลางชาวนีไฟ ณ เวลานี้จะเป็นอย่างไร ให้ดูภาพพระเยซูทรงสอนในซีกโลกตะวันตก (62380; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 82) และถามว่า

พระเยซูทรงสอนในซีกโลกตะวันตก
  • ท่านคิดว่าท่านจะมีความคิดและความรู้สึกอย่างไรถ้าท่านอยู่ท่ามกลางชาวนีไฟเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนพวกเขา

เตือนความจำนักเรียนเรื่องความมืดและความพินาศที่ชาวนีไฟประสบก่อนพระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเกี่ยวกับความสำคัญของการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“การปรากฏครั้งนั้นและการประกาศครั้งนั้นถือเป็นจุดศูนย์รวม ช่วงเวลาสำคัญที่สุด ในประวัติศาสตร์ทั้งหมดของพระคัมภีร์มอรมอน การแสดงให้ประจักษ์และประกาศิตครั้งนั้นได้แจ้งและดลใจศาสดาพยากรณ์ชาวนีไฟทุกท่านเป็นเวลาหกร้อยปีก่อน ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงบรรพบุรุษชาวอิสราเอลและชาวเจเร็ดของพวกเขาเมื่อหลายพันปีก่อนหน้านั้น

“ทุกคนพูดถึงพระองค์ ร้องเพลงเกี่ยวกับพระองค์ ฝันถึงพระองค์ และสวดอ้อนวอนขอให้พระองค์ทรงปรากฏ—แต่ที่นี่พระองค์ทรงปรากฏจริงๆ วันสำคัญที่สุด! พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเปลี่ยนคืนเดือนมืดทั้งหมดให้เป็นแสงอรุณรุ่งได้มาถึงแล้ว” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 250–51)

อธิบายให้ชั้นเรียนฟังว่าบทเรียนช่วงต่อไปออกแบบให้พวกเขาได้ไตร่ตรองการเสด็จเยือนของพระผู้ช่วยให้รอดด้วยตนเอง ก่อนชั้นเรียนให้เตรียมคำแนะนำและคำถามต่อไปนี้ไว้ในเอกสารแจกสำหรับนักเรียนแต่ละคน (หรือเขียนไว้บนกระดานหรือในโปสเตอร์) ให้เวลานักเรียนอ่าน 3 นีไฟ 11:11–17 และทำตามคำแนะนำในเอกสารแจก กระตุ้นพวกเขาให้ไตร่ตรองข่าวสารของข้อเหล่านี้อย่างถี่ถ้วนขณะศึกษา

  1. อ่าน 3 นีไฟ 11:11–12 ในใจ มองหาสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ผู้คนรู้เกี่ยวกับพระองค์และสิ่งที่พระองค์ทรงทำในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

    • พระดำรัสใดของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 11:11 มีความหมายต่อท่านมากที่สุด เพราะเหตุใด

    • พระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราดื่มแล้วจากถ้วยอันขมขื่นซึ่งพระบิดาประทานให้เรา” เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงยอมทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์เสมอ

  2. อ่าน 3 นีไฟ 11:13–15, และไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

    • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญชาวนีไฟให้ทำอะไร พระองค์ทรงต้องการให้พวกเขารู้อะไรอันเนื่องจากประสบการณ์นี้

    • ผู้คนไปหาพระผู้ช่วยให้รอด “ทีละคนจนพวกเขาทั้งหมดได้ออกไป” (3 นีไฟ 11:15) มีประมาณ 2,000 คนในฝูงชน (ดู 3 นีไฟ 17:25) เรื่องนี้สอนอะไรท่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกอย่างไรต่อเราแต่ละคน

  3. ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

    • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้ผู้คนเห็นและสัมผัสพระองค์ “ทีละคน”

    • ท่านคิดว่านั่นจะส่งผลให้ท่านสามารถสัมผัสรอยแผลที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงได้รับขณะทรงชดใช้บาปของท่านอย่างไร

  4. ท่านอาจจะเขียนความจริงต่อไปนี้ตรงช่องว่างริมหน้าในพระคัมภีร์ของท่านใกล้ 3 นีไฟ 11:11–15 พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญฉันให้มารับประจักษ์พยานส่วนตัวว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

    • ประสบการณ์ใดนำท่านให้ได้รับประจักษ์พยานของท่านเองว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของท่าน

    • ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้ท่านทำอะไรเพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านในพระองค์

    • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักท่านและประทานพรท่านเป็นส่วนตัว

หลังจากให้เวลานักเรียนทำกิจกรรมนี้มากพอแล้ว เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 11:16–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่ผู้คนทำหลังจากพวกเขามีประสบการณ์ส่วนตัวกับพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจต้องการอธิบายว่า โฮซันนา เป็นคำฮีบรู หมายถึง “ช่วยให้รอดด้วยเถิด” หรือ “โปรดช่วยเราให้รอดเถิด” และใช้ตลอดพระคัมภีร์เพื่อแซ่ซ้องสรรเสริญและวิงวอน (ดู Bible Dictionary, “Hosanna”; คู่มือพระคัมภีร์, “โฮซันนา,” scriptures.lds.org)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดผู้คนจึงร้อง “โฮซันนา” หลังจากประสบการณ์ของพวกเขากับพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนให้พิจารณา 3 นีไฟ 11:15 ถี่ถ้วนกว่าเดิม ขอให้พวกเขาระบุสิ่งที่ผู้คนทำหลังจากได้เห็นและสัมผัสรอยแผลของพระผู้ช่วยให้รอด (ผู้คนกล่าวคำพยานหรือเป็นพยานว่าพระองค์คือพระเยซูคริสต์)

  • เราจำเป็นต้องได้เห็นและสัมผัสพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์หรือไม่ (ดู โมโรไน 10:5) เราจะ “เป็นพยาน” ถึงพระเยซูคริสต์

  • เราจะเปรียบ 3 นีไฟ 11:15 กับตัวเราได้อย่างไร เราแต่ละคนควรทำอะไรหลังจากเราได้รับประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์ (เมื่อเราได้รับประจักษ์พยานส่วนตัวในพระเยซูคริสต์ ความรับผิดชอบของเราคือเป็นพยานถึงพระองค์)

สรุปชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญนักเรียนให้เล่าเกี่ยวกับช่วงเวลาที่พวกเขาแบ่งปันประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์กับผู้อื่น เมื่อเวลาเอื้ออำนวยให้เชิญทุกคนที่ประสงค์จะทำเช่นนั้นแบ่งปันประจักษ์พยานสั้นๆ เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด และอาจจะบอกสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อให้ได้รับประจักษ์พยาน หากเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจเชิญพวกเขาแบ่งปันบางสิ่งที่จดไว้หรือรู้สึกในระหว่างศึกษา 3 นีไฟ 11 วันนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

3 นีไฟ 11:3 “เสียงเบา”

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าสุรเสียงของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำงานอย่างไรกับความคิดและใจเรา

“สุรเสียงของพระวิญญาณมาในลักษณะของ ความรู้สึก ไม่ใช่เสียง ท่านจะเรียนรู้เช่นเดียวกับข้าพเจ้าที่จะคอย ‘ฟัง’ เสียงที่ท่าน รู้สึก ไม่ใช่เสียงที่ท่าน ได้ยิน

“ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำทางและปกป้องท่าน แม้กระทั่งแก้ไขการกระทำของท่าน หากท่านยอมให้ทำเช่นนั้น เสียงทางวิญญาณนั่นเองที่เข้ามาสู่จิตใจในลักษณะของความคิดหรือความรู้สึกที่ใส่ไว้ในใจเรา …

“ไม่มีใครคาดหวังว่าท่านจะดำเนินชีวิตโดยปราศจากข้อผิดพลาด แต่ท่านจะไม่ทำข้อผิดพลาดใหญ่ๆ โดยไม่ได้รับการกระตุ้นเตือนล่วงหน้าจากพระวิญญาณ” (“คำแนะนำสำหรับเยาวชน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 21)