คลังค้นคว้า
บทที่ 122: 3 นีไฟ 12


บทที่ 122

3 นีไฟ 12

คำนำ

พระเยซูคริสต์ทรงสอนชาวนีไฟให้รู้วิธีได้รับพรของพระกิตติคุณและทรงสั่งสอนพวกเขาให้เป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่น พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงทำให้กฎของโมเสสสมบูรณ์แล้ว และประทานกฎที่สูงกว่าให้ผู้คนเตรียมเป็นเหมือนพระองค์และพระบิดาในสวรรค์ของเรา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

3 นีไฟ 12:1–12

พระเยซูคริสต์ทรงสอนฝูงชนเกี่ยวกับพรที่เราได้รับเมื่อเราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนบนกระดานดังนี้

พระบิดาบนสวรรค์ทรงคาดหวังให้เราดีพร้อมหรือไม่

เราจำเป็นต้องดีพร้อมในชีวิตนี้เพื่อเข้าอาณาจักรซีเลสเชียลหรือไม่

เราจะดีพร้อมได้หรือไม่

ตอนเริ่มบทเรียน เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้ ขอให้พวกเขาพิจารณาคำถามตลอดบทเรียน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 12:48 ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะหาเจอได้โดยง่าย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเกี่ยวกับพระบัญชาให้ดีพร้อม

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“เราไม่จำเป็นต้องกลัวหากความพยายามไปสู่ความดีพร้อมของเราในเวลานี้เป็นความพยายามที่มีมานะบากบั่นและไม่สิ้นสุด ความดีพร้อมเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จะสมบูรณ์พร้อมได้ก็ด่อเมื่อหลังจากการฟื้นคืนชีวิตและโดยทางพระเจ้าเท่านั้น ความดีพร้อมรอคอยทุกคนที่รักพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (ดู “ความดีพร้อมเป็นกระบวนการต่อเนื่อง,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, หน้า 97)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความดีพร้อมเกิดขึ้นได้ “โดยผ่านพระเจ้าเท่านั้น”

ทบทวนคำถามสามข้อตอนเริ่มบทเรียน ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเปลี่ยนคำตอบของคำถามเหล่านั้นหลังจากอ่าน 3 นีไฟ 12:48 และได้ยินคำอธิบายของเอ็ลเดอร์เนลสันหรือไม่ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์ไม่ทรงคาดหวังให้เราดีพร้อมในช่วงชีวิตมรรตัยของเราแต่ขณะที่เราพยายามรักษาพระบัญญัติอย่างขยันหมั่นเพียรและพึ่งพาการชดใช้ พระองค์ทรงสามารถทำให้เราดีพร้อมได้ในท้ายที่สุด

เขียนบนกระดานว่า เป็นสุข เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 12:1–12 ในใจ โดยมองหาคุณลักษณะที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอร้องเราให้พัฒนาและพรที่พระองค์ทรงสัญญาเนื่องด้วยการพัฒนานั้น

  • พรใดมาสู่ชีวิตท่านเนื่องด้วยการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ใน 3 นีไฟ 12:1–12

ชี้ให้เห็นว่าคำว่า เป็นสุข ปรากฏบ่อยเพียงใดในข้อเหล่านี้ แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าท่านได้รับพรอย่างไรเมื่อท่านดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด

ขอให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับพรที่พวกเขาปรารถนาซึ่งบรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 12:1–12 ให้พวกเขาจดคุณลักษณะที่พวกเขาต้องพัฒนาเพื่อให้ได้รับพรนั้น จากนั้นให้พวกเขาเขียนสิ่งที่อยากทำเพื่อพัฒนาคุณลักษณะดังกล่าว เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียนและเหตุผล

3 นีไฟ 12:13–16

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำฝูงชนให้เป็นแบบอย่างอันชอบธรรมต่อโลก

ให้ดูภาชนะใส่เกลือ ขอให้ชั้นเรียนระบุประโยชน์ของเกลือ ขณะที่นักเรียนตอบ จงแน่ใจว่าเกลือเพิ่มรสชาติอาหารและใช้ถนอมเนื้อกันเน่าเสีย ท่านอาจต้องการอธิบายด้วยว่าภายใต้กฎของโมเสส ปุโรหิตได้รับบัญชาให้ถวายเกลือพร้อมเครื่องถวายบูชาของพวกเขา (ดู เลวีนิติ 2:13) ด้วยเหตุนี้เกลือจึงเป็นสัญลักษณ์ของพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับผู้คนของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน 3 นีไฟ 12:13 ในใจและระบุว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเปรียบเทียบเกลือกับใคร ขณะที่นักเรียนตอบ ให้อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดมิเพียงตรัสถึงฝูงชนที่พระวิหารในวันนั้นเท่านั้นแต่กับทุกคนที่รับบัพติศมาเข้ามาในศาสนจักรของพระองค์และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณเช่นกัน

  • ในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ เราสามารถเป็นเหมือนเกลือในด้านใดได้บ้าง (เราต้องช่วยถนอมหรือช่วยผู้คนให้รอดและทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นโดยเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่น)

  • ท่านคิดว่าเกลือหมดรสหมายความว่าอย่างไร

ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ ท่านอาจต้องการอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์คาร์ลอส อี. อเซย์แห่งสาวกเจ็ดสิบ

“เกลือจะไม่หมดรสตามอายุ เกลือหมดรสผ่านการผสมและการปนเปื้อน … คนๆ หนึ่งสูญเสียรสชาติและคุณภาพเมื่อเขาทำให้ความนึกคิดของตนปนเปื้อนความคิดที่ไม่สะอาด ทำให้ปากเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์โดยพูดน้อยกว่าความจริง และใช้พละกำลังไปกับการทำชั่ว” (“Salt of the Earth: Savor of Men and Saviors of Men,” Ensign, May 1980, 42)

  • เหตุใดเราจึงต้องบริสุทธิ์เพื่อจะเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่น

อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งสอนว่าสมาชิกแห่งพันธสัญญาในศาสนจักรของพระองค์ควรเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่นอย่างไร เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 12:14–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้แสงสว่างสอนเกี่ยวกับบทบาทของผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ในโลกอย่างไร ก่อนนักเรียนอ่าน ท่านอาจต้องการอธิบายว่าถังคือตะกร้า

  • สมาชิกศาสนจักรเป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่นอย่างไร ท่านคิดว่าให้แสงสว่างของเราส่องหมายความว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบคำถามนี้ จงช่วยให้พวกเขาเห็นว่าแบบอย่างการดำเนินชีวิตที่ชอบธรรมของพวกเขาสามารถช่วยคนอื่นๆ ได้อย่างไร)

  • สมาชิกศาสนจักรบางคนอาจครอบแสงสว่างของตนในด้านใด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 12:16 เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงต้องการให้เราส่องแสงสว่างของเรา (เมื่อเราเป็นแบบอย่างอันชอบธรรม เราสามารถช่วยให้คนอื่นๆ สรรเสริญพระบิดาบนสวรรค์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเองไว้ในพระคัมภีร์)

  • แบบอย่างอันชอบธรรมของใครช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นและเพิ่มพลังความปรารถนาของท่านในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองแบบอย่างที่พวกเขาวางไว้สำหรับคนรอบข้าง กระตุ้นพวกเขาให้คิดว่าพวกเขาจะช่วยให้ผู้อื่นมีความรักต่อพระบิดาบนสวรรค์และความปรารถนาจะทำตามพระองค์ลึกซึ้งมากขึ้นได้อย่างไร

3 นีไฟ 12:17–48

พระเยซูคริสต์ทรงสอนฝูงชนให้รู้กฎที่สูงกว่าเพื่อจะช่วยให้พวกเขาเป็นเหมือนพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์

อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดยังคงสอนชาวนีไฟให้รู้วิธีมาหาพระองค์และเข้าในอาณาจักรแห่งสวรรค์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 12:19–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำที่ปรากฏหลายครั้งในข้อเหล่านี้

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้คำสำคัญคำใดถึงสามครั้งในพระดำรัสเชื้อเชิญให้มาหาพระองค์ครั้งนี้ (พระบัญญัติ)

อธิบายว่า 3 นีไฟ 12:21–47 มีพระบัญญัติเฉพาะเจาะจงบางข้อที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่เราเพื่อจะช่วยให้เรามาหาพระองค์และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น เมื่อพระองค์ทรงสอนพระบัญญัติเหล่านี้ให้ชาวนีไฟ พระองค์ทางอ้างกฎเกณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งในกฎของโมเสส จากนั้นพระองค์ทรงสอนกฎที่สูงกว่า พระองค์ทางอ้างความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับกฎของโมเสสเมื่อทรงใช้วลีเช่น “เจ้าได้ยินแล้วว่าคนในสมัยโบราณกล่าวไว้” และ “มีเขียนไว้” เมื่อพระองค์ตรัสว่า “แต่เรากล่าวแก่เจ้า” พระองค์ทรงแนะนำวิธีที่ทรงปรารถนาให้เรารักษาพระบัญญัติข้อนั้นในปัจจุบัน

เพื่อช่วยนักเรียนศึกษาข้อเหล่านี้ ให้ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดาน แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสี่กลุ่ม มอบหมายให้กลุ่มละหนึ่งแถวในแผนภูมิและเชื้อเชิญพวกเขาให้อ่านข้อที่ให้มาและตอบคำถาม

อะไรคือความเข้าใจเดิมในกฎของโมเสส

พระผู้ช่วยทรงแนะนำเราให้ดำเนินชีวิตอย่างไร

เยาวชนชายหรือเยาวชนหญิงจะทำอะไรเพื่อประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด

3 นีไฟ 12:21

3 นีไฟ 12:22–26

3 นีไฟ 12:27

3 นีไฟ 12:28–30

3 นีไฟ 12:38

3 นีไฟ 12:39–42

3 นีไฟ 12:43

3 นีไฟ 12:44–46

เพื่อประโยชน์ในการอ่าน 3 นีไฟ 12:22 ของนักเรียน ท่านอาจต้องการอธิบายว่า เจ้าทึ่ม เป็นคำดูถูกหรือเย้ยหยันที่แสดงการดูหมิ่นหรือเยาะเย้ย () ท่านอาจต้องการอธิบายด้วยว่าเอ็ลเดอร์เดวิด อี. ซอ-เรนเซนแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า วลี “จงปรองดองกับปฏิปักษ์ของเจ้าโดยเร็ว” (3 นีไฟ 12:25) หมายถึง “แก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ เกลือกอารมณ์ชั่ววูบจะทวีขึ้นจนกลายเป็นความโหดร้ายทางร่างกายหรือทางอารมณ์ และเราจะตกเป็นทาสความโกรธ” (“การให้อภัยจะเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” หรือ เลียโฮนา, พ.ค. 2003, หน้า 13)

เมื่อนักเรียนศึกษาข้อที่มอบหมายจบแล้ว ให้เชิญแต่ละกลุ่มรายงานคำตอบของตน ท่านอาจต้องการให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้ในแผนภูมิบนกระดาน

  • อะไรดูเหมือนจะเปลี่ยนไประหว่างกฎของโมเสสกับกฎสูงกว่าที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน

ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่ากฎที่สูงกว่ามุ่งเน้นความปรารถนา ความคิด และแรงจูงใจของเรามากกว่าการแสดงออกภายนอกของเรา

  • ขณะที่เราพยายามทำตนให้ดีพร้อม เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นความปรารถนา ความคิด และแรงจูงใจของเรา

เชื้อเชิญนักเรียนให้เลือกคำสอนเรื่องหนึ่งของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 12 และเขียนหนึ่งย่อหน้าว่าพวกเขาจะทำความก้าวหน้าในด้านนั้นอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 3 นีไฟ 12:19–20 ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าโดยกลับใจและเพียรพยายามรักษาพระบัญญัติที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน เราจะสามารถดีพร้อมได้โดยผ่านการชดใช้ และ “เข้าในอาณาจักรแห่งสวรรค์” (3 นีไฟ 12:20)

หลังจากนักเรียนทำกิจกรรมเหล่านี้เสร็จแล้ว ให้เชิญพวกเขาแบ่งปันสิ่งที่มีความหมายต่อพวกเขามากที่สุด สรุปบทนี้โดยเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เมื่อเรามาหาพระคริสต์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เราจะสามารถเป็นเหมือนพระองค์และพระบิดาในสวรรค์ของเราผู้ทรงดีพร้อมได้มากขึ้น เตือนความจำนักเรียนว่าเพื่อให้บรรลุความดีพร้อมระดับหนึ่ง เราต้องพึ่งพาการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนหนึ่งหรือสองวิธีที่พวกเขาประสงค์จะประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้ สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—3 นีไฟ 12:48

เชื้อเชิญนักเรียนให้เปิดพระคัมภีร์ใน 3 นีไฟ 12:48 ขอให้พวกเขาอ่านออกเสียงข้อนั้นพร้อมกัน ให้เวลานักเรียนศึกษาข้อนี้ จากนั้นขอให้พวกเขาปิดพระคัมภีร์และท่องให้ครบถ้วนอีกครั้งเท่าที่จะทำได้ ให้พวกเขาทำซ้ำขั้นตอนเดิมโดยดูข้อนั้น ปิดพระคัมภีร์ แล้วท่องจากความทรงจำ

  • ท่านพยายามปรับปรุงอย่างไร

  • กิจกรรมนี้ช่วยให้ท่านเข้าใจการเดินทางสู่ความดีพร้อมของท่านอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าความพยายามของเราในชีวิตสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ดี เตือนความจำนักเรียนว่าพระเจ้าไม่ทรงคาดหวังให้เราดีพร้อมในทุกเรื่องระหว่างชีวิตมรรตัยของเรา โดยผ่านการชดใช้และความเพียรพยายามของเราเพื่อทำตามพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์จะทรงทำให้เราดีพร้อมได้ในท้ายที่สุด เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงวิธีหนึ่งที่พวกเขาจะพยายามทำตามพระผู้ช่วยให้รอด

หมายเหตุ: เพราะความยาวของบทนี้ ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมนี้อีกวันหนึ่งเมื่อท่านมีเวลามากขึ้น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

3 นีไฟ 12:28–30 บาปเรื่องตัณหาราคะ

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า

“เหตุใดตัณหาราคะจึงเป็นบาปหนัก นอกเหนือจากผลกระทบร้ายแรงต่อจิตวิญญาณเราในการขับไล่พระวิญญาณออกไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นบาปเพราะสิ่งนี้แปดเปื้อนสัมพันธภาพสูงสุดและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เราในความเป็นมรรตัย นั่นคือ ความรักที่ชายและหญิงมีให้กันและความปรารถนาที่คู่สามีภรรยานั้นจะนำลูกๆ มาสู่ครอบครัวที่เจตนาให้เป็นนิรันดร์ … ความรักทำให้เราเอื้อมไปหาพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นโดยสัญชาตญาณ ตัณหาไม่ได้เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าแต่กลับเชิดชูการหมกมุ่นกับตนเอง ความรักทำให้เราเปิดใจและอ้าแขนรักผู้คน แต่ตัณหาราคะทำให้เรามีแต่ความหิวกระหาย” (“ไม่มีที่แก่ศัตรูของจิตวิญญาณข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 55)

3 นีไฟ 12:43–44 “จงรักเพื่อนบ้านของเจ้า” และ “จงรักศัตรูของเจ้า”

คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่บอกให้ชาวนีไฟรักกันและรักศัตรูเป็นคำสอนที่ทันสมัยและตรงประเด็น หลังจากเกิดสงครามหลายศตวรรษระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน และหลายปีของความขัดแย้งภายใน น่าจะมีประเพณีของความเกลียดชังเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มที่ต่อสู้กัน ตัวอย่างเช่น โมไซยาห์ 10:17 กล่าวว่าชาวเลมัน “สอนลูกหลานตนให้เกลียดชัง [ชาวนีไฟ], และกระทำฆาตกรรมคนพวกนั้น, และให้ขโมยและปล้นสะดม, และทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อทำลายคนพวกนั้น” หากผู้คนยังคงดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 12:43–44 พวกเขาคงจะอยู่อย่างสงบสุขและยุติประเพณีเท็จของการสอนลูกหลานให้เกลียดศัตรูได้อย่างถาวร อย่างไรก็ดี หลายปีของความสงบสุขที่ตามมาด้วยการเสด็จเยือนของพระผู้ช่วยให้รอดถูกทำลายสิ้นเพราะบางคนเลือก “จงใจกบฏต่อพระกิตติคุณของพระคริสต์; และพวกเขาสอนลูกๆ ของตนไม่ให้เชื่อ” พวกเขาเลือกใช้ “ความชั่วร้ายและความน่าชิงชังของบรรพบุรุษพวกเขา, แม้ดังที่เป็นมานับแต่ต้น และพวกเขาถูกสอนให้เกลียดลูกๆ ของพระผู้เป็นเจ้า, แม้ดังที่ชาวเลมันถูกสอนให้เกลียดลูกหลานของชาวนีไฟมานับแต่ต้น” (4 นีไฟ 1:38–39)