คลังค้นคว้า
บทที่ 69: แอลมา 1–2


บทที่ 69

แอลมา 1–2

คำนำ

ไม่นานหลังจากแอลมาได้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษา ชายคนหนึ่งชื่อนีฮอร์ตั้งตนเป็นผู้สั่งสอนในบรรดาผู้คน เขาพูดต่อต้านศาสนจักรและหลักคำสอนของศาสนจักร เขาเกลี้ยกล่อมคนจำนวนมากให้เชื่อเขาและให้เงินเขา เมื่อนีฮอร์ฆ่ากิเดียนผู้เป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักร เขาถูกนำมาอยู่ต่อหน้าแอลมา เมื่อพบว่านีฮอร์มีความผิดฐานฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตและพยายามให้มีการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตด้วยดาบ แอลมาจึงตัดสินประหารชีวิตนีฮอร์ ศาสนจักรรุ่งเรือง นำโดยปุโรหิตที่ขยันหมั่นเพียรและอ่อนน้อมถ่อมตน แต่การฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตดำเนินต่อไป แอมลิไซคนหลี่ยมจัดตามระเบียบของนีฮอร์รวบรวมผู้สนับสนุนในหมู่คนมากมายและพยายามเป็นกษัตริย์ของชาวนีไฟแต่ไม่สำเร็จ เขากับผู้ติดตามเขาก่อกบฏ มาสู้รบกับชาวนีไฟ และในที่สุดก็รวมกำลังกับกองทัพชาวเลมัน พระเจ้าทรงเสริมกำลังชาวนีไฟขณะประสบการสูญเสียมากมายแต่ก็เอาชนะการโจมตีของกองทัพเหล่านี้

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 1

ทั้งที่การฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตและการข่มเหงแพร่ไปทั่ว แต่คนจำนวนมากยังคงยืนหยัดในศรัทธา

เขียนบนกระดานว่า นับหน้าถือตา

  • อันตรายของการแสวงหาความนับหน้าถือตามีอะไรบ้าง อันตรายของการทำตามคนอื่นเพียงเพราะพวกเขาเป็นที่นับหน้าถือตามีอะไรบ้าง

อธิบายว่าชายชื่อนีฮอร์กลายเป็นที่นับหน้าถือตาสำหรับคนบางคนในเซราเฮ็มลา เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 1:2–6 ในใจโดยมองหาสิ่งที่นีฮอร์สอนและผู้คนตอบสนองอย่างไร หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามคำถามทำนองนี้

  • เหตุใดคำสอนของนีฮอร์ใน แอลมา 1:4 จึงเป็นอันตราย (ถ้านักเรียนตอบคำถามนี้ไม่ได้ ชี้ให้เห็นว่านีฮอร์สอนว่า “มนุษย์ทั้งปวง [จะ] มีชีวิตนิรันดร์” ไม่ว่าพวกเขาทำอะไรก็ตาม คำสอนนี้ละเลยความจำเป็นของการกลับใจ ศาสนพิธี และการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ดู แอลมา 15:15 ด้วย)

  • จะเกิดผลอะไรบ้างกับคนที่เชื่อหลักคำสอนนี้

  • ความสำเร็จของนีฮอร์มีผลต่อเขาอย่างไร (ดู แอลมา 1:6)

สรุป แอลมา 1:7–15 โดยอธิบายว่าวันหนึ่งนีฮอร์กำลังจะไปสั่งสอนผู้ติดตามเขากลุ่มหนึ่ง เขาพบกิ-เดียนผู้ได้ช่วยปลดปล่อยผู้คนของลิมไฮออกจากความเป็นทาสและปัจจุบันรับใช้เป็นผู้สอนในศาสน-จักร นีฮอร์ “เริ่มโต้แย้งอย่างรุนแรงกับ [กิเดียน], เพื่อเขาจะได้ชักนำผู้คนของศาสนจักรไป; แต่ [กิเดียน] ทัดทานเขา, โดยตักเตือนเขาด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 1:7) นีฮอร์เกิดโทสะ ชักดาบออกมาฆ่ากิเดียน ผู้คนของศาสนจักรจับนีฮอร์ไปให้แอลมาผู้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาเพื่อรับการพิพากษาโทษของเขา แอลมาตัดสินโทษประหารชีวิต และนีฮอร์ “รับความตายอันน่าอับอาย” (แอลมา 1:15) ท่านอาจต้องอธิบายว่า น่าอับอาย หมายถึงน่าอัปยศอดสู น่าขายหน้า หรือไร้ศักดิ์ศรี

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า แอลมา 1:12 สองสามบรรทัดแรกเพื่อหาคำที่แอลมาใช้บรรยายสิ่งที่นีฮอร์แนะนำคนพวกนี้ให้รู้จักเป็นครั้งแรก เชื้อเชิญนักเรียนให้ดูเชิงอรรถ 12 ให้พวกเขาเปิดดูอ้างอิงแรกที่เขียนว่า 2 นีไฟ 26:29 ขอให้นักเรียนอ่านข้อนี้ในใจ

  • อธิบายด้วยคำพูดของท่านเองว่าการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตคืออะไร ท่านคิดว่า “ตั้งตนเป็นความสว่างแก่โลก” หมายถึงอะไร เหตุใดสิ่งนี้จึงเป็นอันตราย

  • การสั่งสอนของนีฮอร์เป็นตัวอย่างของการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตอย่างไร

  • ตามที่แอลมากล่าว จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนถ้าบังคับใช้การฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตในบรรดาพวกเขา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการสอนเพื่อให้คนอื่นสรรเสริญจึงเป็นเรื่องล่อใจสำหรับบางคน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านออกเสียง แอลมา 1:16 ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตยังคงแพร่ออกไปอย่างไรและเพราะเหตุใดแม้หลังจากนีฮอร์เสียชีวิตแล้ว หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามดังนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 1:16 อะไรคือเป้าหมายของคนที่กระทำการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิต (พวกเขาทำ “เพื่อเห็นแก่ความมั่งคั่งและเกียรติยศ”—อีกนัยหนึ่งคือ เพื่อให้ได้เงินตราและความนับหน้าถือตา)

อธิบายว่าการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตและผลของมันระบาดในบรรดาชาวนีไฟนานหลายปี (ดู แอลมา 2; 15:15; 24:28) ชี้ให้เห็นว่าในสมัยของเรา เราต้องระวังการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิต ภายในศาสนจักรเช่นเดียวกับนอกศาสนจักร เราไม่ควรยอมให้ตัวเราถูกคนที่ปฏิบัติการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตหลอก เราควรป้องกันเจตคติและการกระทำของการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตขณะพยายามสอนพระกิตติคุณ

  • ท่านมีโอกาสใดบ้างในการสอนพระกิตติคุณ (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าพวกเขามีโอกาสมากมายให้สอนพระกิตติคุณ พวกเขาสอนกันและกันเมื่อพวกเขามีส่วนร่วมในเซมินารีและในโควรัมตลอดจนชั้นเรียนของพวกเขา พวกเขาสามารถสอนครอบครัวที่การสังสรรค์ในครอบครัว เยาวชนชายรับใช้เป็นผู้สอนประจำบ้าน ผู้นำอาจจะขอให้เยาวชนชายและเยาวชนหญิงพูดในการประชุมศีลระลึก เวลานี้พวกเขาสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนอื่นได้ และพวกเขาอาจจะกำลังเตรียมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“สิ่งใดก็ตามที่ท่านหรือข้าพเจ้าทำในฐานะผู้สอนเพื่อจงใจและตั้งใจดึงความสนใจมาที่ตัวในข่าวสารที่เรานำเสนอ ในวิธีที่เราใช้ หรือในความประพฤติส่วนตัวของเราเป็นรูปแบบหนึ่งของการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตที่สกัดกั้นประสิทธิผลในการสอนของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (“แสวงหาเรียนรู้ด้วยพระวิญญาณ,” เลียโฮนา, ก.ย. 2007 หน้า 22–)

เน้นว่าถ้าเราจงใจดึงความสนใจมาที่ตัวเราขณะพยายามสอนพระกิตติคุณ เราย่อมสกัดกั้นประสิทธิผลการสอนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

อ่านแรงจูงใจต่อไปนี้ที่ผู้คนอาจมีเมื่อพวกเขาสอน เชื้อเชิญนักเรียนให้สนทนาว่าแรงจูงใจแบบใดน่าจะเป็นตัวอย่างของการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตและเพราะเหตุใด

นำผู้อื่นไปหาพระผู้ช่วยให้รอด

แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นคนสนุกสนานเพียงใด

ช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกถึงพระวิญญาณ

อวดความฉลาดของตน

ช่วยผู้อื่นประยุกต์ใช้ความจริงพระกิตติคุณในชีวิตพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 1:26–27 ขอให้ชั้นเรียนระบุด้านต่างๆ ที่ปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าปฏิบัติต่างจากนีฮอร์

  • แบบอย่างของปุโรหิตชาวนีไฟสามารถช่วยเราหลีกเลี่ยงการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตได้อย่างไร

  • ปุโรหิตเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาปวารณาตนต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

อธิบายว่าการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตนำไปสู่ความขัดแย้งและการข่มเหงในบรรดาชาวนีไฟ เพื่อช่วยนักเรียนเตรียมศึกษา แอลมา 1:19–33 ให้ถามดังนี้

  • ท่านเคยเห็นคนล้อเลียน หัวเราะเยาะ หรือข่มเหงคนที่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด

  • ท่านเคยรู้สึกถูกล้อเลียน ถูกหัวเราะเยาะ หรือถูกข่มเหงเพราะรักษาพระบัญญัติหรือไม่ หากเคย ท่านตอบสนองอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 1:19–20 ในใจ โดยมองหาแบบอย่างของสมาชิกศาสนจักรที่ถูกข่มเหง หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ให้เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดานและเชื้อเชิญนักเรียนให้ลอกคำถามลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ให้เวลาพวกเขาอ่านข้อความพระคัมภีร์ในใจและตอบคำถามด้วยตนเอง

ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 1:21–24 สมาชิกบางคนตอบสนองการข่มเหงอย่างไร อะไรเป็นผลจากการกระทำของพวกเขา

ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 1:25–31 สมาชิกคนอื่นๆ ของศาสนาจักรดำเนินชีวิตอย่างไรทั้งที่มีการข่มเหง พวกเขาได้รับพรอะไรบ้าง

เมื่อนักเรียนมีเวลาศึกษาข้อเหล่านี้มากพอแล้ว ถามพวกเขาว่าเราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้ นักเรียนอาจจะระบุหลักธรรมต่อไปนี้บางข้อหรือทั้งหมด

แม้เมื่อคนรอบข้างเราไม่เชื่อฟัง เราสามารถแน่วแน่และไม่หวั่นไหวในการรักษาพระบัญญัติได้

เมื่อเราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เราสามารถมีสันติสุขในชีวิตเราได้แม้ว่าเราถูกข่มเหง

  • ท่านเคยเห็นหลักธรรมเหล่านี้เป็นจริงเมื่อใด

แอลมา 2

แอมลิไซและคนอื่นๆ กบฏและในที่สุดก็สมทบกับชาวเลมันเพื่อสู้รบกับชาวนีไฟ

อธิบายว่าราวสี่ปีหลังจากนีฮอร์เสียชีวิต ชาวนีไฟเผชิญคนชั่วร้ายอีกคนที่สามารถได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ ให้นักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่อ่าน แอลมา 2:1–7 ขณะที่นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน แอลมา 2:8–18 แนะนำนักเรียนให้เตรียมพาดหัวข่าวสำหรับบทความข่าวตามข้อที่ให้อ่าน โดยบอกว่าคนชอบธรรมทำอะไรเพื่อยืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย หลังจากผ่านไปสี่หรือห้านาที เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันพาดหัวข่าวของพวกเขากับคู่ ท่านอาจขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันพาดหัวข่าวของพวกเขากับชั้นเรียน

ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าใจข้อที่พวกเขาศึกษา

  • แอมลิไซต้องการทำอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 2:18 เหตุใดชาวนีไฟจึงสามารถหยุดยั้งความพยายามเป็นกษัตริย์ของแอมลิไซ (“พระเจ้ายังประทานพละกำลังแก่มือชาวนีไฟ” ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อความนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

ขอให้ชั้นเรียนเขียนตัวอย่างความชั่วร้ายที่เยาวชนเผชิญอยู่ทุกวันนี้ พวกเขาอาจพูดถึงการล่อลวง และการทดลองที่พวกเขาเผชิญเนื่องจากความชั่วร้ายของผู้อื่น ขณะพวกเขายังคงศึกษา แอลมา 2 เชื้อเชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองด้านต่างๆ ที่พวกเขาสามารถรับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อเอาชนะการล่อลวงและการท้าทายที่พวกเขาเผชิญอยู่

อธิบายว่านักรบชาวนีไฟทำให้ชาวแอมลิไซจำนวนมากพ่ายแพ้ แต่พวกเขาประหลาดใจเมื่อเห็นว่าชาวแอมลิไซที่เหลือไปสมทบกับกองทัพของชาวเลมัน (ดู แอลมา 2:19–25) ก่อนกองทัพชาวนีไฟจะได้กลับไปเมืองเซราเฮ็มลา กองทัพผสมก็โจมตีพวกเขา ขอให้นักเรียนค้นคว้า แอลมา 2:27 เพื่อหาข้อความที่บอกขนาดของกองทัพผสมระหว่างชาวเลมันกับชาวแอมลิไซ

เชื้อเชิญนักเรียนให้หยุดครู่หนึ่งและจินตนาการว่าพวกเขาจะคิดอย่างไรและจะรู้สึกอย่างไรถ้าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพชาวนีไฟ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 2:28–31, 36 และขอให้ชั้นเรียนมองหาวิธีทำให้การสู้รบยุติ หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำว่า ประทานกำลัง และ ได้รับกำลัง ในข้อเหล่านี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 2:28 เหตุใดพระเจ้าประทานกำลังให้ชาวนีไฟ (นักเรียนอาจบอกคำตอบของคำถามนี้ต่างกัน ช่วยพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าให้ทรงช่วยเรายืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย พระองค์จะประทานกำลังให้เรา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องได้รับพละกำลังจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อยืนหยัดต่อต้านความชั่วร้ายแทนที่จะให้นำอิทธิพลชั่วออกไปจากชีวิตเราจนหมดสิ้น

  • ท่านสามารถทำตามแบบอย่างของแอลมาได้อย่างไรเมื่อท่านยืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามหนึ่งข้อต่อไปนี้

  • พระเจ้าประทานกำลังให้ท่านอย่างไรเมื่อท่านเผชิญความชั่วร้าย

  • วิธีหนึ่งที่ท่านจะสามารถยืนหยัดต่อต้านความชั่วร้ายในเวลานี้ได้คืออะไร

เมื่อให้เวลานักเรียนเขียนแล้ว เชิญสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา ท่านอาจต้องการแบ่งปันคำตอบของท่านเช่นกัน กระตุ้นนักเรียนให้ทำตามแบบอย่างของชาวนีไฟ—สวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าและมีค่าควรแก่การรับพละกำลังจากพระผู้เป็นเจ้าในความพยายามของพวกเขา สรุปโดยเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าจะประทานกำลังให้เราเมื่อเรายืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 1:3–4 กล้าเลือกสิ่งถูกต้อง

นีฮอร์ใช้คำป้อยอดึงดูดผู้ติดตาม และเขาใช้หลักคำสอนเท็จโจมตีศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า คำสอนของเขาเป็นที่นิยมเพราะแก้ต่างให้บาปในนามของศาสนา เขาส่งเสริมความชั่วโดยบอกว่า “ในที่สุด, มนุษย์ทั้งปวงจะมีชีวิตนิรันดร์” ไม่ว่าพวกเขาจะประพฤติอย่างไรก็ตาม (แอลมา 1:4)

เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกระตุ้นเราให้กล้าปฏิเสธนีฮอร์สมัยใหม่และข่าวสารของพวกเขา

“ถ้อยคำของนีฮอร์ดึงดูดใจคน แต่หลักคำสอนของเขาไม่ถูกต้องแม้จะเป็นที่นิยมชมชอบของคนมากมาย ขณะที่เราพบเจอการตัดสินใจมากมายในชีวิต ข่าวสารง่ายๆ ที่โลกนิยมชมชอบมักไม่สมควรให้เราเลือก และเราต้องกล้าหาญมากเพื่อเลือกสิ่งถูกต้อง” (“Choose the Right,Ensign, Nov. 1993, 67)

แอลมา 1:17–18 โทษประหาร

ขณะที่นักเรียนอ่านเรื่องแอลมาตัดสินประหารชีวิตนีฮอร์ พวกเขาอาจจะมีคำถามเกี่ยวกับทัศนะของศาสนจักรเกี่ยวกับโทษประหาร คำกล่าวต่อไปนี้อาจช่วยตอบคำถามของพวกเขา

พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อโนอาห์ว่า “ใครทำให้มนุษย์โลหิตไหล มนุษย์จะทำให้โลหิตผู้นั้นไหลเหมือนกัน” (ปฐมกาล 9:6)

คริสต์ศักราช 1889 ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองจัดพิมพ์ข้อประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโทษประหารดังนี้

“เราตั้งใจเขียนถ้อยแถลงดังต่อไปนี้ นั่นคือ:

“ศาสนจักรนี้มองการทำให้เลือดมนุษย์หลั่งนองด้วยความชิงชังที่สุด เราถือว่าการฆ่ามนุษย์ ยกเว้นตามกฎหมายบ้านเมือง เป็นโทษอุกฉกรรจ์ซึ่งควรถูกลงโทษโดยทำให้เลือดอาชญากรหลั่งนอง หลังจากสอบสวนโดยประชาชนก่อนขึ้นศาลของแผ่นดินตามกฎหมาย …

“… ผู้ล่วงเกินชีวิตและทรัพย์สิน [ควร] ถูกส่งตัวไปสอบสวนตามกฎหมายของแผ่นดิน” (“Official Declaration,Millennial Star, Jan. 20, 1890, 33–34)

เมื่อเร็วๆ นี้ศาสนจักรจัดพิมพ์ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตดังนี้ “ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายถือเอาคำถามว่ารัฐควรกำหนดโทษประหารชีวิตหรือไม่และในสภาวการณ์ใดเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระบวนการที่กฎหมายบ้านเมืองกำหนดไว้เท่านั้น เราไม่ส่งเสริมทั้งไม่คัดค้านโทษประหารชีวิต” (newsroom.lds.org/official-statement/capital-punishment; accessed July 23, 2012)

แอลมา 1:19–20:25 อดทนต่อการข่มเหง

ประธานฮาโรลด์ บี. ลีกล่าวว่าเราควรสนับสนุนความถูกต้องแม้มีการข่มเหง

“การถูกข่มเหงเพื่อเห็นแก่ความชอบธรรมในอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ที่ความจริง คุณธรรม และเกียรติหมิ่นเหม่มากถือว่าอยู่ในสภาพเหมือนพระผู้เป็นเจ้า … ภัยร้ายที่อาจเกิดจากการข่มเหงไม่ได้มาจากการข่มเหง แต่มาจากผลกระทบที่อาจเกิดแก่ผู้ถูกข่มเหงอันเป็นเหตุให้พวกเขาถูกสกัดกั้นความกระตือรือร้นเพื่อเห็นแก่ความชอบธรรมในอุดมการณ์ของพวกเขา การข่มเหงส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความเข้าใจ เพราะมนุษย์มักต่อต้านสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ บ้างก็มาจากคนที่มีเจตนาร้าย แต่ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม โดยทั่วไปดูเหมือนการข่มเหงจะเกิดกับคนที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์อันชอบธรรม …

“… หากท่านยืนหยัดเพื่อความถูกต้องโดยไม่คำนึงถึงเสียงหัวเราะเยาะของผู้คนหรือแม้การใช้กำลัง ท่านจะได้รับพรแห่งความปีติยินดีนิรันดร์ ใครจะรู้ว่าในยุคสมัยของเรา วิสุทธิชนบางคนหรือแม้แต่อัครสาวกบางคนอาจถูกเรียกร้องให้สละชีวิตเพื่อปกป้องความจริงเช่นในอดีต หากเวลานั้นมาถึง พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงยอมให้พวกเขาผิดหวัง” (Decisions for Successful Living [1973], 61–62)

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าการข่มเหงสามารถผลักดันเราให้กล้าหาญมากขึ้นได้

“อุปสรรครออยู่ข้างหน้า การเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ในอนาคตไม่ง่ายหรือไม่เป็นที่ชื่นชอบมากนัก เราแต่ละคนจะได้รับการทดสอบ อัครสาวกเปาโลเตือนว่าในยุคสุดท้ายผู้พากเพียรทำตามพระเจ้า ‘จะถูกข่มเหง’ [2 ทิโมธี 3:12] การข่มเหงเช่นนั้นสามารถเบียดท่านเข้าไปในความอ่อนแอแบบเงียบๆ หรือกระตุ้นท่านให้เป็นแบบอย่างและกล้าหาญมากขึ้นในชีวิตประจำวัน” (“เผชิญอนาคตด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 44)