คลังค้นคว้า
บทที่ 70: แอลมา 3–4


บทที่ 70

แอลมา 3–4

คำนำ

หลังจากสมทบกับกองทัพชาวเลมัน ชาวแอมลิไซทำให้ตนเองแตกต่างจากชาวนีไฟโดยทำเครื่องหมายสีแดงบนหน้าผาก ชาวแอมลิไซและชาวเลมันสู้รบกับชาวนีไฟ และ “คนหลายพันคนหลายหมื่นคน” ตายในการสู้รบ (ดู แอลมา 3:26) หลังการสู้รบครั้งนี้ทำให้ชาวนีไฟจำนวนมากถ่อมตนและ “ปลุกพวกเขาให้นึกถึงหน้าที่ตน” (แอลมา 4:3) ผู้คนประมาณ 3,500 คนรับบัพติศมาและเข้าร่วมศาสนจักร อย่างไรก็ดี ในปีถัดมา สมาชิกศาสนจักรจำนวนมากกลับจองหองและเริ่มข่มเหงผู้อื่น โดยที่กังวลกับความชั่วร้ายดังกล่าว แอลมาจึงลาออกจากหน้าที่หัวหน้าผู้พิพากษาแต่ยังรับใช้เป็นมหาปุโรหิตดูแลศาสนจักรต่อไป ในงานนี้เขาวางแผนเดินทางไปทั่วแคว้น โดยแสดงประจักษ์พยานบริสุทธิ์และเรียกผู้คนมาสู่การกลับใจ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 3:1–19

ชาวนีไฟขัดแย้งกับชาวแอมลิไซและชาวเลมัน

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ แจกกระดาษที่มีคำต่อไปนี้เขียนไว้ในนั้นให้กลุ่มละหนึ่งแผ่น: เสื้อผ้า ทรงผม ต่างหูและเครื่องประดับ รอยสัก ขอให้กลุ่มต่างๆ สนทนาว่าผู้คนใช้สิ่งเหล่านี้ส่งข่าวสารอะไร ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ

เตือนความจำของนักเรียนว่าชาวแอมลิไซแยกตัวจากชาวนีไฟไปสมทบกับกองทัพชาวเลมัน (ดู แอลมา 2) เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 3:4 และระบุว่าชาวแอมลิไซเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตนอย่างไร

  • ชาวแอมลิไซต้องการให้ตน “แตกต่างจาก” ใคร

  • บางคนในทุกวันนี้อาจจะทำให้ตนแตกต่างจากคนชอบธรรมผ่านรูปลักษณ์ภายนอกของพวกเขาอย่างไร (ขณะที่นักเรียนตอบ พึงให้ความกระจ่างว่าคนบางคนจงใจเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตนเพื่อแยกตนเองจากคนชอบธรรมหรือเพื่อต่อต้านมาตรฐานของศาสนจักร หลายคนทำตามแนวโน้มของโลกโดยไม่รู้ตัวว่าพวกเขากำลังส่งข่าวสารเกี่ยวกับตนเอง)

อธิบายว่าเมื่อชาวแอมลิไซทำเครื่องหมายที่หน้าผากเพื่อให้ตนแตกต่างจากชาวนีไฟ พวกเขาแสดงให้เห็นว่าได้นำเอาคำสาปแช่งของชาวเลมันมาไว้กับตนเอง เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 3:14–19 ช่วยชั้นเรียนวิเคราะห์ข้อเหล่านี้โดยถามคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทั้งหมด

  • วลีใดใน แอลมา 3:18 พูดถึงการกระทำและเจตคติที่ชาวแอมลิไซมีต่อพระผู้เป็นเจ้า (“กบฏต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างเปิดเผย”)

  • ชาวแอมลิไซนำเอาการสาปแช่ง “มาไว้กับตนเอง” อย่างไร (แอลมา 3:19).

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากข้อเหล่านี้ (คำตอบอาจได้แก่ คนที่ออกมากบฏต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างเปิดเผยนำเอาผลลบมาไว้กับตนเอง และ ถ้าเราถูกแยกจากพระผู้เป็นเจ้า นั่นเป็นเพราะเราแยกตนเองจากพระองค์)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของการทำให้ตนเองแตกต่างอย่างชอบธรรม ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • มีวิธีใดบ้างที่เราจะสามารถแสดงให้เห็นผ่านการแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอกของเราได้ว่าเราเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ (ถ้านักเรียนตอบคำถามนี้ไม่ได้ ท่านอาจให้พวกเขาอ่านข้อความเกี่ยวกับ “การแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอก” ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [2011], หน้า 6–8 เน้นว่าประจักษ์พยานภายในใจเราเกี่ยวกับพระกิตติคุณควรมีอิทธิพลต่อการแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอกของเรา)

กระตุ้นนักเรียนให้แสดงว่าพวกเขาติดตามพระเจ้าขณะพวกเขาทำการเลือกในแต่ละวัน รวมถึงการเลือกเกี่ยวกับการแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอก เน้นว่า โดยผ่านการแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอกของเรา เราสามารถทำให้ตนเองแตกต่างได้ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

แอลมา 3:20–27

ผู้คนหลายพันคนเสียชีวิตในการสู้รบระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมันและชาวแอมลิไซ

สรุป แอลมา 3:20–25 โดยกล่าวว่าชาวนีไฟไล่ชาวเลมันกลับไป แต่ทั้งสองฝ่ายมีผู้คนล้มตายหลายพันคน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 3:26–27 ขอให้ชั้นเรียนฟังบทเรียนที่มอรมอนต้องการให้เราเข้าใจ

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ รางวัลใดมาถึงคนที่เชื่อฟังพระเจ้า

  • ผลลัพธ์ใดเกิดแก่คนที่ไม่ทำตามพระเจ้า

เพื่อสรุปท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เราได้รับความสุขหรือความเศร้าหมองขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกเชื่อฟังใคร

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงพรที่มาจากการเลือกทำตามพระเจ้า

  • ท่านเคยได้รับพรใดบ้างจากพระเจ้าเมื่อท่านเลือกทำตามพระองค์

แอลมา 4:1–14

หลังจากการเติบโตช่วงหนึ่งในศาสนจักร สมาชิกของศาสนจักรเริ่มจองหองและขัดแย้งกัน

เขียนคำว่า ถ่อมตน และ จองหอง บนกระดาน

  • ถ่อมตนหมายความว่าอะไร (ถ่อมตนคือสอนได้หรือสำนึกด้วยความกตัญญูว่าเราต้องพึ่งพาพระเจ้า—เข้าใจว่าเราต้องการให้พระองค์ทรงสนับสนุนเราเสมอ)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 4:1–5 ขอให้ชั้นเรียนมองหาหลักฐานยืนยันว่าชาวนีไฟถ่อมตน ขณะนักเรียนอธิบายสิ่งที่พวกเขาพบ อาจจะช่วยได้ถ้าชี้ให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องอดทนรับเรื่องสลดใจจึงจะถ่อมตน—เราสามารถเลือกที่จะเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนได้

ชี้ให้เห็นว่าคำพรรณนาถึงชาวนีไฟใน แอลมา 4:6 แตกต่างมากจากคำพรรณนาใน แอลมา 4:3–5 ชี้ให้ดูคำว่า จองหอง บนกระดาน

  • จองหองหมายความว่าอะไร (ความจองหองตรงข้ามกับความอ่อนน้อมถ่อมตน คนจองหองต่อต้านกันเองและต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า พวกเขายกตนข่มท่านและทำตามความปรารถนาของตนแทนที่จะทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า)

เชื้อเชิญนักเรียนครึ่งห้องให้อ่าน แอลมา 4:6–8 ในใจและอีกครึ่งห้องให้อ่าน แอลมา 4:9–12 ในใจ ขอให้ทั้งสองกลุ่มระบุการกระทำแบบคนจองหองของชาวนีไฟบางคนและการกระทำเหล่านั้นส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ให้ทั้งสองกลุ่มบอกสิ่งที่พวกเขาพบ

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรในเรื่องที่ว่าความจองหองมีอิทธิพลอย่างไรต่อวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น

  • ท่านเห็นคำเตือนอะไรใน แอลมา 4:10 (นักเรียนพึงเข้าใจว่า ถ้าเราเป็นแบบอย่างที่ไม่ชอบธรรม การกระทำของเราจะขัดขวางผู้อื่นไม่ให้ยอมรับพระกิตติคุณ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 4:13–14 ขอให้ชั้นเรียนมองหาตัวอย่างที่ชาวนีไฟบางคนถ่อมตนแม้เมื่อคนอื่นๆ จองหอง

  • ข้อเหล่านี้สอนอะไรในเรื่องที่ว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนมีอิทธิพลอย่างไรต่อวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น

เน้นว่า การตัดสินใจถ่อมตนหรือจองหองของเรามีผลต่อเราและผู้อื่น หากเวลาเอื้ออำนวย เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีซึ่งแสดงให้เห็นความจริงของคำกล่าวนี้

แอลมา 4:15–20

แอลมาลาออกจากการเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาเพื่อจะสามารถอุทิศเวลาให้แก่การเรียกผู้คนมาสู่การกลับใจ

เชื้อเชิญนักเรียนให้สมมติว่าพวกเขาเป็นแอลมา พวกเขาเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา และคนมากมายเริ่มจองหองและกำลังข่มเหงคนที่ยังคงอ่อนน้อมถ่อมตน

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อช่วยให้คนเปลี่ยน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 4:15–19 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่แอลมาเลือกทำ

  • แอลมาตัดสินใจทำอะไร (เขาตัดสินใจสละตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาเพื่อเขาจะสามารถอุทิศเวลาให้แก่การสอนผู้คนได้)

  • วลี “กดดันด้วยประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” (แอลมา 4:19) บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่แอลมาจะสอน

  • ท่านเคยได้ยินคนแสดง “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” เมื่อใด ประสบการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลต่อท่านอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากแบบอย่างของแอลมาใน แอลมา 4:19

คำตอบของนักเรียนสำหรับคำถามข้อนี้อาจได้แก่

การทำหน้าที่ทางวิญญาณของเราให้เกิดสัมฤทธิผลเรียกร้องการเสียสละ

การแสดงประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์ช่วยให้ผู้อื่นใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

กระตุ้นนักเรียนให้มองหาประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์ของแอลมาขณะที่พวกเขาอ่าน แอลมา 5–16 ในการศึกษาส่วนตัวและขณะพวกเขาสนทนาบทเหล่านี้ในบทเรียนที่จะมาถึง กระตุ้นพวกเขาให้เอาใจใส่ผลจากประจักษ์พยานของแอลมาที่มีต่อผู้คน

การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

แนะนำนักเรียนให้รู้จักข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อใหม่สองสามข้อ หรือทบทวนสองสามข้อที่พวกเขารู้อยู่แล้ว เตรียมคำถามที่จะช่วยให้พวกเขาค้นพบหลักธรรมในข้อเหล่านั้น เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนเป้าหมายข้อหนึ่งในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อดำเนินชีวิตตามหลักธรรมข้อใดข้อหนึ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น กำหนดเวลาให้พวกเขาทำเป้าหมายจนสำเร็จ และขอให้พวกเขาเตรียมรายงานต่อสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งหรือทั้งชั้นเมื่อพวกเขาทำเป้าหมายสำเร็จ

หมายเหตุ: หากท่านไม่มีเวลาทำกิจกรรมนี้ในบทเรียนนี้ ท่านอาจจะใช้ในวันอื่น ดูกิจกรรมทบทวนอื่นๆ ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 3:4 รอยสักและเจาะตามร่างกาย

ชาวแอมลิไซทำเครื่องหมายให้ตนเองเพื่อพวกเขาจะ “แตกต่างจากชาวนีไฟ” (แอลมา 3:4) ในสมัยของเรา ศาสดาพยากรณ์ได้เตือนเยาวชนชายหญิงว่าจงรักษาร่างกายให้ศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ทำเครื่องหมายให้ตนเองด้วยรอยสักหรือการเจาะตามตัว ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวดังนี้

“ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าทำไมเยาวชนชายหญิงบางคน——จึงอยากทำให้ตนเองได้รับความเจ็บปวดด้วยการทำให้ผิวหนังมีลวดลายหลากสีของคน สัตว์ และสัญลักษณ์ต่างๆ รอยสักจะอยู่ถาวร เว้นแต่ว่าจะยอมเจ็บอีกครั้งและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อลบมันออก บิดาทั้งหลาย จงเตือนลูกชายของท่านว่าอย่าทำรอยสักบนร่างกาย เขาอาจไม่เชื่อท่านตอนนี้ แต่วันหนึ่งเขาจะขอบคุณท่าน รอยสักจะเป็นรอยแกะสลักบนวิหารของร่างกาย ทำนองเดียวกับการทิ่มแทงร่างกายเพื่อใส่ห่วงมากมายที่หู จมูก แม้ที่ลิ้น

“เขาคิดหรือว่านั่นเป็นสิ่งสวยงาม? … ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองประกาศว่า เราห้ามการสักลาย และ ‘การทิ่มแทงร่างกายที่ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์’ อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ต่อต้าน ‘การเจาะหูของสตรีเพื่อใส่ตุ้มหูหนึ่งคู่’—หนึ่งคู่” (“สันติของลูกหลานของเจ้าจะใหญ่ยิ่ง,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 78)

แอลมา 3:5 การทำตามแฟชั่นนิยม

ชาวแอมลิไซเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูเหมือนชาวเลมันมากขึ้น วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมากมายทุกวันนี้รู้สึกถูกกดดันให้ทำตามแฟชั่นนิยมเพื่อพวกเขาจะได้ดูเหมือนคนที่โลกนิยมชมชอบมากขึ้น แต่แนวโน้มบางอย่างชักนำผู้คน “ไม่ให้เชื่อฟังศาสดาพยากรณ์แต่ทำตามความนิยมของโลก” (“Questions and Answers,New Era, Mar. 2006, 14; ดู เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [2011], 6–8 ด้วย)

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนเยาวชนชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตว่าแฟชั่นนิยมบางอย่างลดความสามารถในการยึดมั่นความจริงของพวกเขา

“มีคนกลุ่มหนึ่งแยกตัวออกจากสังคมโดยสิ้นเชิง คนพวกนี้ยกย่องพวกมิจฉาชีพและการทำผิดกฎหมายของคนเหล่านั้นรวมทั้งดนตรี เครื่องแต่งกาย ภาษา เจตคติ และพฤติกรรมของพวกเขา พวกท่านจำนวนมากเคยเห็นเพื่อนๆ ที่ชอบตามกระแสสังคมอ้าแขนรับรูปแบบและบางสิ่งบางอย่างที่ ‘ทันสมัย’ และ ‘เท่’ เพียงเพื่อให้ถูกลากลงไปอยู่กับคนกลุ่มนั้น …

“… ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าท่านจะสามารถยึดมั่นความจริงและความถูกต้องได้ขณะสวมใส่สิ่งไม่เหมาะกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า” (ดู “ยืนหยัดเพื่อความจริงและความถูกต้อง,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 47–48)

แอลมา 3:6–17 เครื่องหมายและการสาปแช่ง

ขณะที่นักเรียนศึกษา แอลมา 3 พวกเขาอาจมีคำถามเกี่ยวกับเครื่องหมายและการสาปแช่งอันเกิดแก่ชาวเลมัน ท่านอาจต้องการอธิบายว่ามีความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายกับการสาปแช่ง เครื่องหมายที่อยู่บนชาวเลมันคือผิวคล้ำ (ดู แอลมา 3:6) จุดประสงค์ของเครื่องหมายนี้คือเพื่อให้ชาวเลมันแตกต่างและแยกจากชาวนีไฟ (ดู แอลมา 3:8) การสาปแช่ง ซึ่งรุนแรงกว่า คือสภาพของการ “ถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระเจ้า” (2 นีไฟ 5:20) ชาวเลมันและชาวแอมลิไซนำเอาการสาปแช่งมาไว้กับตนเองเนื่องด้วยการกบฏต่อพระผู้เป็นเจ้า (ดู 2 นีไฟ 5:20; แอลมา 3:18–19) ถึงแม้ผิวคล้ำที่ใช้ในกรณีนี้คือเครื่องหมายของการสาปแช่งอันเกิดแก่ชาวเลมัน แต่พระคัมภีร์มอรมอนสอนว่า พระเจ้า “ไม่ทรงปฏิเสธผู้ใดที่มาหาพระองค์เลย, ไม่ว่าดำและขาว, ทาสและไท, ชายและหญิง; … ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” (2 นีไฟ 26:33) พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีไว้สำหรับทุกคน ศาสนจักรประณามการเหยียดเชื้อชาติอย่างไม่ต้องสงสัย รวมถึงการเหยียดเชื้อชาติในอดีตทั้งหมดโดยบุคคลต่างๆ ทั้งในและนอกศาสนจักร ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ประกาศว่า

“ใครก็ตามที่พูดจาเหยียดหยามชนชาติอื่นจะนับว่าตนเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระคริสต์ หรือถือว่าตนประพฤติสอดคล้องกับคำสอนของศาสนจักรของพระคริสต์ไม่ได้ …

“ขอให้เราตระหนักว่าเราต่างก็เป็นบุตรหรือธิดาของพระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงรักลูกๆ ทุกคนของพระองค์” ( “ต้องการความเมตตามากขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 71) ดูความช่วยเหลือเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทที่ 27

แอลมา 4:9–12 “สิ่งกีดขวางอันใหญ่หลวง”

ขณะที่สมาชิกศาสนจักรชาวนีไฟบางคนจองหอง แบบอย่างที่ไม่ดีของพวกเขากลายเป็นสิ่งกีดขวางคนที่ไม่ได้เป็นของศาสนจักร (ดู แอลมา 4:9–12; ดู แอลมา 39:11 ด้วย) ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เล่าเรื่องต่อไปนี้ซึ่งอธิบายผลของแบบอย่างที่ไม่ดีและแบบอย่างที่ดี

“เขาไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักร เขากับบิดามารดาแข็งขันในอีกศาสนาหนึ่ง

“เขานึกถึงช่วงที่เขาเติบใหญ่ เพื่อนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนเหยียดหยามเขา ทำให้เขารู้สึกแปลกแยกและล้อเลียนเขา

“เขาเกลียดศาสนจักรและคนของศาสนจักรนี้มาก เขาไม่เห็นความดีในคนเหล่านั้น

“แต่แล้วคุณพ่อของเขาก็ตกงานและต้องย้าย เขาอายุ 17 ปีเมื่อไปอยู่ที่ใหม่และลงทะเบียนเรียนในวิทยาลัย นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขารู้สึกถึงความเป็นกันเองของเพื่อนๆ เพื่อนคนหนึ่งชื่อริชาร์ดชวนเขาสมัครเข้าสโมสรที่ตนเป็นประธาน เขาเขียนว่า ‘เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีคนชวนผม ผมไม่รู้ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไร แต่ผมก็สมัครด้วยความขอบคุณ … นั่นเป็นความรู้สึกที่ผมชอบ ความรู้สึกว่ามีเพื่อน ผมสวดอ้อนวอนขอเพื่อนมาตลอดชีวิต และหลังจากรอคอยมา 17 ปี พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนนั้น’

“เมื่ออายุ 19 ปีเขาได้นอนเต็นท์เดียวกับริชาร์ดในระหว่างทำงานช่วงฤดูร้อน เขาสังเกตเห็นริชาร์ดอ่านหนังสือเล่มหนึ่งทุกคืน เขาถามว่ากำลังอ่านอะไร ริชาร์ดบอกว่ากำลังอ่านพระคัมภีร์มอรมอน เขาเพิ่มเติมว่า ‘ผมเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็วและเข้านอน จะว่าไปแล้ว นั่นคือหนังสือที่ทำลายวัยเด็กของผม ผมพยายามลืมเรื่องนั้นแต่หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปและผมนอนไม่หลับ ทำไมเขาอ่านทุกคืน ไม่นานผมก็ทนไม่ไหว ผมจะต้องหาคำตอบให้ได้ ด้วยเหตุนี้คืนหนึ่งผมจึงถามเขาว่ามีอะไรสำคัญนักหนาในหนังสือเล่มนั้น อะไรอยู่ในนั้น … เขาเริ่มอ่านตรงที่อ่านค้างไว้ เขาอ่านเกี่ยวกับพระเยซู เกี่ยวกับการปรากฏในอเมริกา ผมตกใจ ผมไม่คิดว่าชาวมอรมอนจะเชื่อในพระเยซู’ …

“ครั้งต่อมา ชายหนุ่มคนนี้กับเพื่อนของเขาเดินทางด้วยกัน ริชาร์ดยื่นพระคัมภีร์มอรมอนให้เขาและขอให้เขาอ่านออกเสียง เขาทำตามและรู้สึกถึงการดลใจของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ทันที

“เวลาผ่านไป ศรัทธาของเขาเพิ่มขึ้น เขายอมรับบัพติศมา …

“เรื่องนี้จบลงแล้ว แต่มีบทเรียนสำคัญในเรื่องดังกล่าว หนึ่ง ท่าทีน่าละอายที่เพื่อนเยาวชนมอรมอนปฏิบัติต่อเขา

“อันดับต่อมา ท่าทีที่ริชาร์ดเพื่อนใหม่ของเขาปฏิบัติต่อเขา ซึ่งตรงข้ามโดยสิ้นเชิงจากประสบการณ์ที่เขาเคยมี ท่าทีที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและบัพติศมา แม้ไม่น่าจะเป็นไปได้” (ดู “ต้องการความเมตตามากขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 72–73)

โมไซยาห์ 4:19 “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์”

เมื่อแอลมาเห็นว่าเขาต้องนำผู้คนกลับคืนมาโดย “กดดันด้วยประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์เพื่อปรามพวกเขา” (แอลมา 4:19) เขาจึงเรียกผู้คนมาสู่การกลับใจ อย่างไรก็ดี ในการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยานของเรา ประจักษ์พยานของเราควรเป็นการประกาศศรัทธาที่เรียบง่าย ไม่ใช่การให้คำแนะนำ ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า

“อย่าบอกผู้อื่นว่าต้องดำเนินชีวิตอย่างไร แค่บอกพวกเขาว่าท่านรู้สึกอย่างไรในใจ นั่นคือประจักษ์พยาน ทันทีที่ท่านเริ่มสั่งสอนผู้อื่น ประจักษ์ของท่านก็จบ” (The Teachings of Spencer W. Kimball, ed. Edward L. Kimball [1982], 138)

พิมพ์