คลังค้นคว้า
บทที่ 71: แอลมา 5: 1–36


บทที่ 71

แอลมา 5:1–36

คำนำ

เมื่อศาสนจักรถูกคุกคามจากความขัดแย้งและความชั่วร้ายภายใน (ดู แอลมา 4:9–11) แอลมายอมสละบัลลังก์พิพากษาเพื่อจะได้มุ่งทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ศาสนจักร เขาเริ่มงานเผยแผ่เพื่อนำผู้คนของนีไฟกลับคืนมาโดย “กดดันด้วยประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์เพื่อปรามพวกเขา” (แอลมา 4:19) แอลมาเริ่มงานเผยแผ่โดยเตือนผู้คนของเซราเฮ็มลาว่าพระเจ้าทรงปลดปล่อยบรรพชนของพวกเขาจากการเป็นทาสทางกายและทางวิญญาณ เขากระตุ้นคนเหล่านั้นให้เตรียมรับวันพิพากษาครั้งสุดท้ายโดยเชื่อในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและประเมินสภาพทางวิญญาณของใจตน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 5:1–14

แอลมาเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของบิดาและคนที่ติดตามเขา

เขียนคำว่า การเปลี่ยนแปลง บนกระดาน ขอให้นักเรียนยกตัวอย่างวิธีที่ผู้คนอาจจะเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกหรือพฤติกรรมของพวกเขา เชื้อเชิญพวกเขาให้อธิบายว่าอะไรจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเหล่านี้ในผู้คน

เตือนความจำของนักเรียนว่าแอลมากังวลกับความชั่วร้ายที่เริ่มเกิดขึ้นในหมู่ชาวนีไฟ เขาอาจจะเห็นว่าถ้าคนเหล่านั้นไม่เปลี่ยน พวกเขาจะสูญเสียพรที่สัญญาไว้ในพันธสัญญาที่พวกเขาทำ เขาสละบัลลังก์พิพากษาและอุทิศตนปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้คนและเรียกคนเหล่านั้นสู่การกลับใจ เขาเริ่มโดยสอนผู้คนของเซราเฮ็มลา

เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 5:3–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุการณ์ที่แอลมาเน้นขณะเริ่มสอนผู้คน

  • การได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นทาส การปลดปล่อย การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของบิดาแอลมาและคนที่ติดตามเขาอาจจะช่วยผู้คนของแอลมาได้อย่างไร

  • ดู แอลมา 5:7 ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ การเปลี่ยนแปลงแบบใดเกิดขึ้นในชีวิตของบิดาแอลมาและผู้คนของเขา

เพิ่มคำว่า ในใจ ต่อจาก การเปลี่ยนแปลง บนกระดาน ด้วยเหตุนี้จึงอ่านได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในใจ

  • ท่านคิดว่าประสบกับ “การเปลี่ยนแปลงในใจ” หมายความว่าอย่างไร (เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจจะบอกพวกเขาว่าเอ็ลเดอร์เจอรัลด์ เอ็น. ลันด์แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่าในพระคัมภีร์ คำว่า ใจ มักหมายถึง “ภายในใจบุคคลนั้นจริงๆ” [“Understanding Scriptural Symbols,” Ensign, Oct. 1986, 25])

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนแปลงในใจกับการเปลี่ยนแปลงในแบบที่เราพูดถึงตอนต้นบทเรียน

อธิบายว่าใน แอลมา 5:7–9, 14 แอลมาใช้วลีหลากหลายเพื่อบอกว่าการเปลี่ยนแปลงในใจเปรียบเสมือนอะไร เพิ่มวลีบนกระดานเพื่อให้อ่านได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในใจเปรียบเสมือน

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 5:7–9, 14 ในใจโดยมองหาคำอธิบายของแอลมาว่าการเปลี่ยนแปลงในใจเปรียบเสมือนอะไร เชื้อเชิญพวกเขาให้รายงานสิ่งที่พบ ขณะที่นักเรียนรายงาน ให้เพิ่มวลีบนกระดาน (รายการของท่านอาจออกมาในลักษณะนี้: การเปลี่ยนแปลงในใจเปรียบเสมือน … การตื่นจากการหลับสนิท เต็มไปด้วยแสงสว่าง ได้รับการปลดโซ่ จิตวิญญาณขยาย ร้องเพลงเกี่ยวกับความรักที่ไถ่ เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า ได้รับรูปลักษณ์ของพระองค์ไว้ในสีหน้าของท่าน)

  • การเปลี่ยนแปลงในใจเปรียบเสมือนคำอธิบายที่เขียนไว้บนกระดานอย่างไร

  • เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในใจในการกระทำของคนๆ หนึ่งได้อย่างไร การเปลี่ยนแปลงในใจบางครั้งสังเกตเห็นได้ในสีหน้าของคนๆ หนึ่งอย่างไร (ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนอธิบายรูปลักษณ์ภายนอกหรือความประพฤติของคนรู้จักที่พวกเขารู้สึกว่า “ได้รับรูปลักษณ์ [ของพระเจ้า] ไว้ในสีหน้า [ของเขา]”)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 5:10 และขอให้ชั้นเรียนระบุคำถามสามข้อที่แอลมาถามผู้คน (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำถามเหล่านี้) การอ่านคำถามเหล่านี้จะช่วยนักเรียนระบุเหตุการณ์ในข้อต่อๆ มาที่นำแอลมาและผู้คนของเขาให้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 5:11–13 และขอให้ชั้นเรียนระบุสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจบิดาของแอลมาและผู้ติดตามเขา (ความเชื่อของพวกเขาในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ตามด้วยศรัทธาและความวางใจที่พวกเขามีต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นอิทธิพลแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าดังที่กล่าวไว้ใน แอลมา 5:5, 7 ด้วย)

  • ท่านเห็นความเชื่อมโยงอะไรระหว่างการเชื่อในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับการประสบการเปลี่ยนแปลงในใจ (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราเชื่อในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราสามารถประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ เน้นว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าตามที่อบินาไดและแอลมาสอนมุ่งเน้นการไถ่ที่ผ่านมาทางพระเยซูคริสต์ [ดู โมไซยาห์ 16:4–9; 18:1–2])

อธิบายว่าอีกวิธีหนึ่งที่จะบอกว่าคนบางคนมีการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจคือการพูดว่าพวกเขาเกิดใหม่แล้ว ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการ “เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า” หรือ “เกิดใหม่” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่บุคคลประสบเมื่อพวกเขายอมรับพระเยซูคริสต์และเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ หรือการเกิดใหม่ ส่วนใหญ่มักเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นช้าๆ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริส-ทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“ท่านอาจถามว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งนี้ไม่เกิดขึ้นกับฉันเร็วกว่านี้ … สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และใช้เวลา การเกิดใหม่ … เป็นกระบวนการมากกว่าเป็นเหตุการณ์ และการเข้าร่วมกระบวนการนั้นคือจุดประสงค์สำคัญของความเป็นมรรตัย” (ดู “การเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, หน้า 95)

  • ท่านเคยรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในใจท่านขณะพยายามดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด

  • ท่านจะบรรยายความรู้สึกและการกระทำที่ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงในใจว่าอย่างไร

  • ใจท่านเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อท่านศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนในเซมินารีปีนี้

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเขียนในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับหนึ่งหรือสองอย่างที่พวกเขาจะทำเพื่อดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น

แอลมา 5:15–36

แอลมาสอนว่าการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจจำเป็นต่อการเข้าอาณาจักรแห่งสวรรค์

จัดเตรียมเอกสารแจกที่มีแผนภูมิต่อไปนี้ให้นักเรียนแต่ละคน หรือติดแผนภูมิบนกระดานให้นักเรียนคัดลอก

ภาพ
Cardiogram

อธิบายว่ากราฟแสดงการเต้นของหัวใจเป็นแผนภูมิที่บางครั้งแพทย์ใช้ประเมินหรือตรวจสอบการทำงานของหัวใจเรา นั่นช่วยให้พวกเขาทราบปัญหาหรืออาการที่ต้องรักษา

บอกนักเรียนว่าหลังจากแอลมาสอนว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้ทำให้บิดาเขาและคนอื่นๆ ประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจ เขาถามคำถามที่จะช่วยผู้คนประเมินสภาพของใจตนเอง เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 5:14 ในใจ โดยมองหาคำถามสามข้อที่แอลมาถาม (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำถามเหล่านี้)

อธิบายว่าแอลมาได้ถามคำถามอีกหลายข้อเพื่อช่วยให้ผู้คนของเขาพิจารณาสภาพของใจตน เชื้อเชิญนักเรียนให้ใช้เวลาสองสามนาทีศึกษาและไตร่ตรองข้อพระคัมภีร์ที่เขียนไว้ด้านบนสุดของกราฟแสดงการเต้นของหัวใจทางวิญญาณ กระตุ้นพวกเขาให้ทำเครื่องหมายในแผนภูมิตรงช่องที่บอกได้ดีที่สุดว่าพวกเขารู้สึกว่าพวกเขาเป็นอย่างไรเกี่ยวกับคำถามในแต่ละข้อ (สังเกตว่าบางข้อมีคำถามมากกว่าหนึ่งคำถาม) เนื่องด้วยความเป็นส่วนตัวของกิจกรรมนี้ท่านจึงไม่ควรขอให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน

เมื่อนักเรียนทำกราฟแสดงการเต้นของหัวใจเสร็จแล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน แอลมา 5:29–31 ในใจโดยมองหาคำถามอีกสองสามข้อที่แอลมาถามเพื่อช่วยผู้คนของเขาประเมินใจตน (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้เรียบเรียงคำถามใหม่เพื่อประยุกต์ใช้กับตนเอง อาทิ “ฉันถอดความริษยาออกแล้วหรือ” “ฉันล้อเลียนคนอื่นหรือไม่” “ฉันข่มเหงคนอื่นหรือไม่”)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 5:17–18, 20–25 ขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลว่าทำไมใจเราต้องเปลี่ยนเพื่อเตรียมรับวันแห่งการพิพากษา ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า โดยประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจ เราเตรียมตนเองให้พร้อมรับสถานที่ในอาณาจักรแห่งสวรรค์:

  • แอลมาใช้คำและวลีใดบรรยายสภาพที่ท่านน่าจะเป็นเมื่อท่านยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา (ขณะที่นักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจต้องการดึงความสนใจของพวกเขามาที่ แอลมา 5:16, 19)

  • การประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจเวลานี้จะช่วยเตรียมท่านให้พร้อมรับสถานที่หนึ่งในอาณาจักรแห่งสวรรค์อย่างไร

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน (ท่านอาจต้องการเขียนไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม)

พระเจ้าทรงกำลังเชื้อเชิญเราให้ทำอะไร

อะไรคือผลของการยอมรับหรือปฏิเสธการเชื้อเชิญนี้

ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 5:33–36 ส่วนคนที่เหลือมองหาคำตอบของคำถามบนกระดาน เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันคำตอบที่พวกเขาพบ

สรุปโดยให้เวลานักเรียนเขียนสองสามนาที ขอให้พวกเขาเลือกข้อหนึ่งหรือวลีหนึ่งจาก แอลมา 5:1–36 เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนว่าข้อนั้นหรือวลีนั้นมีความหมายอะไรต่อพวกเขาและพวกเขาจะทำสิ่งที่แนะนำอย่างไรขณะพยายามทำให้ใจตนเปลี่ยนแปลงผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เป็นพยานว่าถ้าเราประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจอย่างต่อเนื่องและนำงานแห่งความชอบธรรมออกมา เราย่อมพร้อมเข้าสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 5:14, 26 “ท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจท่านแล้วหรือ?”

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันอธิบายว่าการประสบกับ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ” ส่วนใหญ่มักเป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไป

“การเป็นเหมือนพระคริสต์เป็นการพยายามเสาะแสวงหาชั่วชีวิตและมักเกี่ยวข้องกับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ จนแทบมองไม่เห็น พระคัมภีร์บันทึกเรื่องราวอันน่าทึ่งของคนที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงในชั่วพริบตา ในทันที อย่างเช่น แอลมาผู้บุตร เปาโลบนถนนสู่ดามัสกัส อีนัสที่สวดอ้อนวอนจนถึงกลางคืน และกษัตริย์ลาโมไน แบบอย่างอันน่าประหลาดใจเช่นนั้นของพลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งคนที่จมปลักในบาปได้ให้ความมั่นใจว่าการชดใช้สามารถมีผลแม้แต่คนที่จมอยู่ในห้วงลึกสุดของความสิ้นหวัง

“แต่เราต้องระวังเมื่อพูดถึงตัวอย่างอันน่าทึ่งเหล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องจริงและเปี่ยมด้วยพลัง แต่เป็นข้อยกเว้นมากกว่าข้อบังคับ สำหรับเปาโลทุกคน สำหรับอีนัสทุกคน และสำหรับกษัตริย์ลาโมไนทุกคน มีหลายร้อยหลายพันคนที่พบว่ากระบวนการกลับใจละเอียดอ่อนกว่ามากและสังเกตเห็นยากกว่ามาก พวกเขาเขยิบเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นทุกวัน โดยไม่รู้ตัวว่าพวกเขากำลังสร้างชีวิตเหมือนพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างเงียบๆ ด้วยการประกอบคุณงามความดี รับใช้ และปวารณาตน พวกเขาเป็นเหมือนชาวเลมันผู้ที่พระเจ้าตรัสว่า ‘รับบัพติศมาด้วยไฟและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์, และพวกเขาหารู้ไม่’ (3 นีไฟ 9:20; เน้นตัวเอน)” (“A Mighty Change of Heart,Ensign, Oct. 1989, 5)

แอลมา 5:21–24, 27 “ไม่มีมนุษย์คนใดได้รับการช่วยให้รอดได้เลยเว้นแต่จะซักอาภรณ์ของเขาให้ขาว”

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบอกว่าท่านเข้าใจความสำคัญของการเป็นคนสะอาดทางวิญญาณได้อย่างไร

“เมื่อกว่าห้าสิบปีมาแล้วในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าพเจ้ามีประสบการณ์เรื่องหนึ่ง นักทิ้งระเบิดของเราได้รับการฝึกฝนที่แลงเลย์ฟิลด์ รัฐเวอร์จิเนีย ให้ใช้สิ่งประดิษฐ์ล่าสุด นั่นคือ—เรดาร์ เราได้รับคำสั่งให้ไปยังฝั่งทะเลตะวันตกของสหรัฐ และจากนั้นก็มุ่งไปสู่หมู่เกาะแปซิฟิก

“เราถูกลำเลียงไปกับขบวนรถสินค้าในตู้ขบวนประกอบด้วยเตียงนอนแคบๆ ซึ่งสามารถดึงลงมาจากผนังรถในตอนกลางคืนได้ ไม่มีตู้เสบียง แต่มีครัวชั่วคราวติดตั้งอยู่ในรถตู้ที่มีพื้นสกปรก

“เราแต่งตัวด้วยเครื่องแบบสีอ่อนๆ สำหรับฤดูร้อน ตู้สัมภาระถูกแยกไปอีกทางหนึ่ง ดังนั้นเราจึงไม่มีเสื้อผ้าเปลี่ยนตลอดระยะเวลาเดินทางหกวัน อากาศร้อนมากเมื่อข้ามรัฐเท็กซัสและแอริโซนา ควันและถ่านที่ปลิวมาจากเครื่องจักรทำให้อึดอัดจนบอกไม่ถูก ไม่มีทางที่จะได้อาบน้ำหรือซักเครื่องแบบของเราได้เลย ขบวนรถแล่นเข้าสู่ลอสแอนเจลิสในตอนเช้าวันหนึ่ง—กองทหารที่แสนจะสกปรกมอมแมม—และเราได้รับคำสั่งให้กลับมายังรถไฟในตอนเย็นวันนั้น

“เราคิดถึงอาหารเป็นอันดับแรก พวกเราสิบคนนำเงินออกมารวมกันและมุ่งหน้าไปยังร้านอาหารที่ดีที่สุดที่เราจะหาได้

“ร้านนั้นแน่นมาก เราก็ต้องเข้าคิวอันยาวเหยียดเพื่อรอที่ว่าง ข้าพเจ้าเป็นคนแรกที่อยู่ถัดจากสตรีที่แต่งกายดีหลายคน แม้ว่าจะไม่ได้หันมาดูแต่สตรีผู้แต่งตัวภูมิฐานคนหนึ่งที่อยู่ข้างหน้าข้าพเจ้าก็รู้สึกได้ว่าพวกเราอยู่ตรงนั้น

“เธอหันมามองดูพวกเรา แล้วเธอก็หันมาอีก สำรวจดูข้าพเจ้าตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่นั่นในเครื่องแบบที่ชื้นไปด้วยเหงื่อ คราบสกปรกมีรอยเขม่าและยับยู่ยี่ เธอพูดด้วยน้ำเสียงแสดงความขยะแขยงว่า ‘ตายละ ทำไมถึงสกปรกอย่างนี้!” สายตาทุกคู่จึงหันมาที่เราพร้อมกัน

“เห็นได้ชัดว่าเธอไม่อยากให้เรายืนอยู่ตรงนั้นเลย ข้าพเจ้าก็เห็นด้วยกับเธอ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองสกปรก อึดอัด และน่าขายหน้า

“ต่อมา เมื่อข้าพเจ้าเริ่มศึกษาพระคัมภีร์อย่างจริงจัง ข้าพเจ้าได้พบกับข้อความที่เกี่ยวกับความสะอาดทางจิตวิญญาณ มีข้อหนึ่งกล่าวว่า ‘ท่านจะเศร้าหมองที่จะพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม, ภายใต้ความสำนึกในความแปดเปื้อนของท่านต่อพระพักตร์พระองค์, ยิ่งกว่าท่านจะพำนักอยู่กับจิตวิญญาณที่อัปมงคลในนรก.’ [มอรมอน 9:4]

“ข้าพเจ้าเข้าใจสิ่งนั้น ข้าพเจ้าจำได้ว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรในวันนั้นที่ลอสแอนเจลิส ข้าพเจ้าเข้าใจว่าความไม่สะอาดทางวิญญาณจะนำมาซึ่งความอับอาย ความต่ำต้อยอย่างมากจนไม่อาจประมาณ มันจะมากเสียยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าเคยรู้สึกในครั้งนั้น ข้าพเจ้าพบข้อความซึ่ง—มีทั้งหมดแปดข้อความ—กล่าวว่าไม่มีสิ่งใดที่ไม่สะอาดจะสามารถเข้าไปสู่ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าได้ [ดู 1 นีไฟ 10:21; 15:34; แอลมา 7:21; 11:37; 40:26; 3 นีไฟ 27:19; คพ. 94:9; โมเสส 6:57] ขณะที่ข้าพเจ้าตระหนักว่าข้ออ้างอิงดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเสื้อผ้าสกปรกหรือมือที่เขรอะไปด้วยคราบไคล ข้าพเจ้าตัดสินใจว่าข้าพเจ้าอยากจะมีความสะอาดทางวิญญาณเสมอ” (ดู “ถูกล้างสะอาดแล้ว,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 10)

พิมพ์