คลังค้นคว้า
บทที่ 72: แอลมา 5: 37–62


บทที่ 72

แอลมา 5:37–62

คำนำ

ขณะแอลมายังคงสั่งสอนในเซราเฮ็มลา เขาเตือนผู้คนว่าการตัดสินใจทำตามหรือปฏิเสธถ้อยคำของเขามีผลจริงจัง แอลมาเปรียบเทียบพระเยซูคริสต์กับพระเมษบาลผู้ประเสริฐที่ทรงเรียกหาพวกเขาและปรารถนาจะนำพวกเขากลับเข้าคอกของพระองค์ พระองค์ทรงกระตุ้นผู้คนให้กลับใจและหลีกเลี่ยงสิ่งไม่สะอาดของโลกเพื่อพวกเขาจะได้รับอาณาจักรแห่งสวรรค์เป็นมรดก

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 5:37–42, 53–62

แอลมาเตือนคนชั่วและเชื้อเชิญคนทั้งปวงให้สดับฟังสุรเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ

ภาพ
พระเยซูทรงอุ้มลูกแกะที่หลงทาง

ให้ดูภาพพระเยซูทรงอุ้มลูกแกะที่หลงทาง (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 64)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพระเมษบาลผู้ประเสริฐในด้านใดบ้าง

หลังจากนักเรียนสองสามคนตอบ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“ในสมัยของพระเยซู คนเลี้ยงแกะชาวปาเลสไตน์มีชื่อเสียงเรื่องปกป้องคุ้มครองแกะของตน ไม่เหมือนคนเลี้ยงแกะสมัยนี้ คนเลี้ยงแกะสมัยนั้นเดินนำหน้าฝูงแกะของตนเสมอ คนเลี้ยงแกะรู้จักแกะแต่ละตัวและมักมีชื่อให้ทุกตัว แกะรู้จักเสียงของเขา วางใจเขา และจะไม่เดินตามคนแปลกหน้า ดังนั้นเมื่อเขาเรียก แกะจะมาหาเขา (ดู ยอห์น 10:14, 16) …

“พระเยซูทรงใช้ตัวอย่างนี้ที่เห็นได้ทั่วไปในสมัยของพระองค์ประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมษบาลผู้ประเสริฐ พระเมษบาลที่แท้จริง เนื่องด้วยความรักที่ทรงมีต่อพี่น้องชายหญิงของพระองค์ พระองค์จึงทรงพลีพระชนม์ชีพเพื่อพวกเขาด้วยความเต็มใจและความสมัครใจ” (“A Call to the Priesthood: ‘Feed My Sheep,’” Ensign, May 1983, 43; see also John R. Lasater, “Shepherds of Israel,” Ensign, May 1988, 74–75)

ช่วยให้นักเรียนจำบริบทของ แอลมา 5 ได้โดยอธิบายว่าแอลมาไปสั่งสอนผู้คนของเซราเฮ็มลาผู้เปรียบเสมือน “แกะที่ไม่มีเมษบาล” (แอลมา 5:37) ขอให้นักเรียนนึกถึงการท้าทายที่ผู้คนของเซราเฮ็มลาพบเจอและสิ่งที่แอลมากระตุ้นให้พวกเขาทำ ท่านอาจจะทบทวนข้อสำคัญหลายๆ ข้อพอสังเขปจากบทก่อน เช่น แอลมา 5:14–20 เพื่อช่วยให้นักเรียนจำภูมิหลังบางอย่างได้ นักเรียนพึงเข้าใจว่าผู้คนของเซราเฮ็มลาอยู่ในสถานการณ์อันน่าพรั่นพรึงเนื่องด้วยความชั่วร้ายของพวกเขา (ดู แอลมา 7:3)

เชิญนักเรียนสองหรือสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 5:37–42 ขอให้ชั้นเรียนมองหาวิธีที่คนๆ หนึ่งจะบอกได้ว่าเขาเป็นแกะของพระผู้ช่วยให้รอดหรือไม่ หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ผู้คนเปรียบเหมือนแกะที่ต้องการเมษบาลอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 5:37–38 พระเมษบาลผู้ประเสริฐทรงแสดงความรักและความห่วงใยแกะอย่างไร (พระองค์ยังทรงเรียกหาพวกเขาในพระนามของพระองค์)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 5:41 เราจะบอกได้อย่างไรว่าเรากำลังสดับฟังสุรเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐอยู่หรือไม่

  • งานใดบ้างที่อาจจะบ่งบอกว่าคนๆ นั้นกำลังติดตามพระเมษบาลผู้ประเสริฐ

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันผู้พูดถึงชายหญิงที่มุ่งมั่นติดตามพระเยซูคริสต์ (ท่านอาจต้องการเตรียมสำเนาของคำกล่าวนี้ให้นักเรียนแต่ละคน)

“เมื่อท่านเลือกติดตามพระคริสต์ ท่านเลือกรับการเปลี่ยนแปลง …

“ชาย [และหญิง] ที่เปลี่ยนเพราะพระคริสต์จะมีพระคริสต์เป็นหัวหน้า …

“จุดประสงค์ของพวกเขาถูกกลืนเข้าไปในพระประสงค์ของพระองค์ (ดู ยอห์น 5:30)

“พวกเขามักทำสิ่งเหล่านั้นที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย (ดู ยอห์น 8:29)

“พวกเขาไม่เพียงเสียชีวิตเพื่อพระเจ้า แต่สำคัญกว่านั้นพวกเขาต้องการมีชีวิตเพื่อพระองค์

“เข้าไปในบ้านของพวกเขา และรูปภาพบนฝาผนัง หนังสือบนหิ้ง เสียงเพลงในอากาศ คำพูดและการกระทำของพวกเขาเผยให้เห็นว่าพวกเขาเป็นชาวคริสต์

“พวกเขายืนเป็นพยานของพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา และในทุกสิ่ง และในทุกแห่ง (ดู โมไซยาห์ 18:9)

“พวกเขามีพระคริสต์ในความคิดขณะพวกเขาดูที่พระองค์ในความนึกคิดทุกอย่าง (ดู คพ. 6:36)

“พวกเขามีพระคริสต์ในใจขณะที่ความรักของพวกเขามอบไว้แด่พระองค์ตลอดกาล (ดู แอลมา 37:36)

“แทบทุกสัปดาห์พวกเขารับส่วนศีลระลึกและเป็นพยานอีกครั้งต่อพระบิดานิรันดร์ว่าพวกเขาเต็มใจรับพระนามของพระบุตรพระองค์ ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ (ดู โมโรไน 4:3)” (“Born of God,” Ensign, Nov. 1985, 5, 6–7)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 5:53–56 ในใจโดยค้นหาเจตคติและการกระทำที่ทำให้คนบางคนยากจะสดับฟังสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด หลังจากนั้นสองสามนาทีให้เชิญนักเรียนสองสามคนเขียนสิ่งที่พวกเขาพบไว้บนกระดาน ให้พวกเขาเขียนคำตอบของพวกเขาให้เต็มกระดานมากที่สุด ขอให้พวกเขาเพิ่มเจตคติหรือการกระทำอื่นที่พวกเขาเห็นอยู่รอบข้างซึ่งทำให้ยากจะสดับฟังสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด (คำตอบของนักเรียนอาจได้แก่ การเพิกเฉย [ไม่สนใจ] คำสอนของพระผู้เป็นเจ้า ความจองหอง ความไร้สาระ การมีใจหมกมุ่นกับความร่ำรวยและสิ่งของทางโลก การคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น ข่มเหงคนชอบธรรม หรือหันหลังให้คนยากจนและคนขัดสน ท่านอาจต้องการให้นักเรียนหันมาสนใจคำว่า ขืน ที่แอลมาใช้ซ้ำหลายครั้งโดยเน้นว่า ผู้คนของเซราเฮ็มลายังขืนมีพฤติกรรมและเจตคติที่เป็นบาปต่อไป

เว้นช่องให้เขียนตรงกลางกระดานโดยลบคำตอบส่วนหนึ่งของนักเรียน ในช่องว่างนั้นให้เขียนว่า ทำตามสุรเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 5:57 ขอให้ชั้นเรียนระบุวลีที่สอนว่าเราควรตอบสนองอย่างไรต่ออิทธิพลชั่ว (“จงออกมาจากคนชั่วร้าย” “จงแยกออกมา” และ “อย่าแตะต้องสิ่งที่ไม่สะอาดของพวกเขา”) ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา ชี้ให้เห็นว่าวลีเหล่านี้เน้นความจำเป็นของการหลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เราเสื่อมเสียหรือแปดเปื้อนทางวิญญาณ เพื่อช่วยนักเรียนสนทนาว่าพวกเขาจะปิดสิ่งรบกวน หลีกเลี่ยงอิทธิพลชั่ว และทำตามสุรเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐได้อย่างไร ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • เยาวชนวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะทำอะไรได้บ้างเพื่ออยู่แยกจากคนชั่วร้าย (เพื่อเสริมคำตอบของนักเรียนท่านอาจจะยกตัวอย่างในแง่บวกที่ท่านเคยเห็นนักเรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนของท่าน ท่านอาจจะเชื้อเชิญนักเรียนให้ยกตัวอย่างดีๆ ที่พวกเขาเคยเห็นในกันด้วยก็ได้)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 5:56–57 อะไรคือผลของการขืนอยู่ในความชั่วร้าย (ถ้าเราขืนอยู่ในความชั่วร้าย เราจะไม่สามารถได้ยินสุรเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐและจะนับเราอยู่ในบรรดาคนชอบธรรมไม่ได้)

ถ้ามีเวลา ให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้สองสามนาที ท่านอาจต้องการให้พวกเขาตอบคำถามลงในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

  • พระเจ้าทรงประสงค์ให้ท่านทำอะไรเพื่อจะยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญให้มาหาพระองค์ได้ดีขึ้น (ท่านอาจแนะนำว่าคำตอบอาจจะเป็นบางอย่างที่พวกเขารู้สึกว่าต้องทำให้ดีขึ้น หรืออาจจะเป็นบางอย่างที่พวกเขาต้องเลิกทำ)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 5:58–62 ในใจ โดยมองหาพรที่สัญญาไว้กับผู้มารวมกับพระเจ้าและผู้คนของพระองค์ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายพรเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ท่านจะสรุปคำสัญญาของพระเจ้ากับคนที่สดับฟังสุรเสียงของพระองค์อย่างไร (แม้นักเรียนอาจจะเสนอหลักธรรมต่างกัน แต่พวกเขาพึงเข้าใจว่า ถ้าเราทำตามสุรเสียงของพระเจ้า [พระเมษบาลผู้ประเสริฐ] พระองค์จะทรงรวมเราไว้ในอาณาจักรของพระองค์ ท่านอาจต้องการเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านได้พัฒนานิสัยอะไรบ้างที่ช่วยให้ท่านสดับฟังสุรเสียงของพระเมษบาลผู้ประเสริฐ

  • นิสัยเหล่านี้ได้ช่วยให้ท่านเพิกเฉยต่ออิทธิพลชั่วร้ายบางอย่างที่เขียนไว้บนกระดานอย่างไร

เป็นพยานว่าเมื่อเราสดับฟังพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอด เราจะอยู่ในบรรดาคนชอบธรรมผู้ที่พระเจ้าทรงรวมเข้ามาในอาณาจักรของพระองค์

แอลมา 5:43–52

แอลมาปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบในการสั่งสอนการกลับใจ

ขอให้นักเรียนเขียนประสาทสัมผัสทางกายทั้งห้า (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ท่านอาจจะนำของบางอย่างมาให้นักเรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้

  • ท่านได้เรียนรู้อะไรบ้างจากประสาทสัมผัสทั้งห้าของท่าน

  • มีวิธีรู้หรือเรียนรู้บางสิ่งโดยไม่ใช้ปราสาทสัมผัสทั้งห้าของท่านหรือไม่

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 5:44–48 ขอให้ชั้นเรียนดูว่าแอลมากล่าวว่าเขารู้อะไรและเขากล่าวว่าเขารู้อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 5:48 แอลมารู้อะไร

  • แอลมากล่าวว่าอะไรคือแหล่งประจักษ์พยานของเขา

  • แอลมาทำอะไรเพื่อให้ได้รับพยานนี้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • การสวดอ้อนวอนและการอดอาหารสามารถช่วยให้เราได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานในพระกิตติคุณอย่างไร

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าประจักษ์พยานของท่านเข้มแข็งขึ้นผ่านการสวดอ้อนวอนหรือการอดอาหาร

เป็นพยานว่า เราสามารถรู้ได้ด้วยตัวเราเองผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ เพื่อเน้นความสำคัญของการแสวงหาและได้รับประจักษ์พยานส่วนตัวว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ประจักษ์พยานส่วนตัวของแต่ละบุคคลในความจริงของพระกิตติคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระชนม์ชีพและพระพันธกิจอันสูงส่งของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ จำเป็นต่อชีวิตนิรัน-ดร์ของเรา … อีกนัยหนึ่ง ชีวิตนิรันดร์ขึ้นอยู่กับความรู้ส่วนตัวของเราแต่ละคนเกี่ยวกับพระบิดาในสวรรค์ของเราและพระบุตรศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ การเพียงแต่รู้จักพระองค์เท่านั้นไม่พอ เราต้องมีประสบการณส่วนตัวทางวิญญาณเพื่อยึดเหนี่ยวเรา ประสบการณ์เหล่านี้มาจากการแสวงหาพระองค์อย่างจริงจังและมุ่งมั่นแบบเดียวกับที่คนหิวแสวงหาอาหาร”(ดู “งานเลี้ยงที่โต๊ะเสวยของพระเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, หน้า 100)

ให้เวลานักเรียนเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ อีกทั้งกระตุ้นพวกเขาให้จดสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อให้ได้รับหรือเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ กระตุ้นพวกเขาให้ทำเป้าหมายจนสำเร็จแม้ต้องใช้เวลา “หลายวัน” (แอลมา 5:46)

  • ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของโลก

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 5:49–52 ในใจโดยมองหาสิ่งที่แอลมาบอกผู้คนว่าพวกเขาต้องทำเพื่อเตรียมรับอาณาจักรแห่งสวรรค์เป็นมรดก

  • เหตุใดการกลับใจจึงจำเป็นต่อการเข้าในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้คำสอนของแอลมาเกี่ยวกับการเตรียมเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“สมมุติว่าพระองค์เสด็จมาพรุ่งนี้ ถ้าเรารู้ว่าเราจะพบกับพระเจ้าพรุ่งนี้—โดยการที่เราตายก่อนเวลาอันควรหรือโดยการเสด็จมาอย่างไม่คาดฝัน—วันนี้เราจะทำอะไร เราจะสารภาพอะไร เราจะเลิกทำสิ่งใด เราจะสะสางเรื่องใด เราจะให้อภัยใคร เราจะแสดงประจักษ์พยานถึงเรื่องใด

“ถ้าเราทำสิ่งต่างๆ นั้นในเวลานั้น ทำไมเราไม่ทำเสียตอนนี้ ทำไมเราไม่ค้นหาสันติสุขในเวลาที่สามารถได้รับสันติสุข” (ดู “การเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาครั้งที่สอง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, หน้า 10)

สรุปโดยให้เวลานักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะต้องทำอะไรเพื่อเปลี่ยนชีวิตตนเองให้พร้อมพบพระผู้ช่วยให้รอดและเข้าในอาณาจักรของพระองค์ เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนความคิดและความรู้สึกเพื่อพวกเขาจะสามารถอ่านทวนได้ในภายหลังและเตือนพวกเขาให้ทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับ

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 5:46–47 “พระวิญญาณแห่งการเปิดเผย”

แอลมาเคยเห็นเทพ แต่เขาเป็นพยานใน แอลมา 5:46–47 ว่าประจักษ์พยานของเขาเกี่ยวกับพระพันธกิจการไถ่ของพระเยซูคริสต์เข้มแข็งขึ้นผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ หลังจากอดอาหารและสวดอ้อนวอนมามาก ประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์กล่าวว่า “คนจำนวนมากกล่าวว่า: ‘ถ้าฉันจะเพียงได้เห็นเทพ ถ้าฉันจะเพียงได้ยินเทพประกาศบางอย่าง นั่นคงจะทำให้ฉันซื่อสัตย์ตลอดวันเวลาของชีวิตฉัน!’ นั่นไม่มีผลต่อคนเหล่านี้ [เลมันและเลมิวเอล] ที่ไม่รับใช้พระเจ้า และคงจะไม่มีผลวันนี้” (ใน Conference Report, Apr. 1924, 159)

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายว่าเหตุใดพยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงมีพลังมากกว่าการเยือนจากเทพ

“พระคริสต์ … ทรงประกาศว่าการแสดงให้ประจักษ์ที่เราอาจจะได้ … จากการเยือนของเทพ สัตภาวะฟื้นคืนชีวิตที่มีตัวตน จะไม่ฝากความประทับใจ … ซึ่งเราได้รับผ่านการแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ การเยือนส่วนตัวอาจเลือนรางตามกาลเวลา แต่การนำทางนี้ของพระวิญญาณบริสุทธิ์มีอยู่อย่างต่อเนื่อง วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ถ้าเราดำเนินชีวิตคู่ควรแก่การนำทางนั้น” (Doctrines of Salvation, ed. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 1:44)

ข้อความต่อไปนี้จาก แน่วแน่ต่อศรัทธา อธิบายว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงเกิดขึ้นได้อย่างไร

“การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เหตุการณ์ ท่านเปลี่ยนใจเลื่อมใสด้วยสาเหตุจากความพยายามอันชอบธรรมของท่านที่จะทำตามพระผู้ช่วยให้รอด ความพยายามเหล่านี้รวมถึงการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจจากบาป รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ด้วยศรัทธา

“แม้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสจะเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตและน่าอัศจรรย์ แต่ก็เป็นความอัศจรรย์ที่เงียบสงบ การเยือนของเทพและเหตุการณ์อันตื่นตาตื่นใจมิได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนใจเลื่อมใส แม้แต่แอลมาผู้เห็นเทพก็ยังเปลี่ยนใจเลื่อมใสหลังจาก ‘อดอาหารและสวดอ้อนวอนมาหลายวัน’ เพื่อรับพยานของความจริง (แอลมา 5:46) และเปาโลซึ่งเห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์สอนว่า ‘ไม่มีใครสามารถพูดว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า นอกจากจะพูดโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์’ (1 โครินธ์ 12:3)” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 43)

แอลมา 5:57 “ท่านจงออกมาจากคนชั่วร้าย, และท่านจงแยกออกมา”

เอ็ลเดอร์เดวิด อาร์. สโตนแห่งสาวกเจ็ดสิบบอกว่าเทคนิคที่ใช้ในการสร้างพระวิหารแมนฮัตตัน นิวยอร์คให้ตัวอย่างของการนำตนเองออกจากอิทธิพลของโลก

“ผู้คนในโลกจำนวนมากทำตามอย่างบาบิโลนในสมัยโบราณโดยเดินไปตามทางของพวกเขา และทำตามเทพเจ้า ‘ซึ่งลักษณะนั้นเป็นเหมือนกับลักษณะของโลก’ [คพ. 1:16]

“การท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่เราต้องเผชิญคือการที่เราจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกโดยที่ไม่เป็นของโลก เราต้องสร้างไซอันท่ามกลางบาบิโลน …

“การที่ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมในการสร้างพระวิหารแมนฮัตตันทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสอยู่ในพระวิหารบ่อยครั้งก่อนการอุทิศพระวิหาร เป็นสิ่งที่วิเศษมากที่ได้นั่งในห้องซีเลสเชียล และอยู่ที่นั่นในความเงียบสงบโดยไม่ได้ยินเสียงใดๆ จากท้องถนนอันวุ่นวายของนิวยอร์ก เป็นไปได้อย่างไรที่พระวิหารจะเป็นที่สงบสงัดอันควรแก่ความคารวะ ขณะที่ความอึงอลและอลหม่านของนครใหญ่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตร

“คำตอบอยู่ในการสร้างพระวิหาร พระวิหารสร้างภายในกำแพงของตัวอาคารที่มีอยู่แล้วและผนังภายในของพระวิหารเชื่อมกับผนังด้านนอกเพียงไม่กี่จุด นั่นคือวิธีที่พระวิหาร (ไซอัน) จำกัดผลกระทบจากบาบิโลน หรือโลกภายนอก

“นี่อาจจะเป็นบทเรียนสำหรับเรา เราสามารถสร้างไซอันที่แท้จริงท่ามกลางพวกเราได้โดยการกำหนดขอบเขตซึ่งบาบิโลนจะมีอิทธิพลต่อชีวิตเรา …

“ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ในเมืองใด เราสามารถสร้างไซอันของเราเองได้ตามหลักธรรมแห่งอาณาจักรซีเลสเชียลและพยายามเป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ …

“เราไม่ต้องเป็นหุ่นกระบอกในมือวัฒนธรรมของสภาพแวดล้อมและยุคสมัย เราสามารถเป็นคนกล้าและเดินอยู่ในวิถีของพระเจ้าและดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์ได้” (ดู “ไซอันท่ามกลางบาบิโลน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 112–114)

พิมพ์