คลังค้นคว้า
บทที่ 73: แอลมา 6–7


บทที่ 73

แอลมา 6–7

คำนำ

หลังจากวางระเบียบศาสนจักรในเซราเฮ็มลาแล้ว แอลมาก็ไปเมืองแห่งกิเดียน เขาพบว่าคนที่นั่นซื่อสัตย์มากกว่าคนในเซราเฮ็มลา ด้วยเหตุนี้ข่าวสารของเขาในกิเดียนจึงแตกต่างจากข่าวสารของเขาในเซ-ราเฮ็มลา เขากระตุ้นผู้คนให้พึ่งพาพระเจ้าอย่างต่อเนื่องและพยายามประยุกต์ใช้การชดใช้ของพระองค์ในชีวิตพวกเขา เขาเป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงรับเอาความตายและบาปของเรามาไว้กับพระองค์และพระองค์จะทรงรับเอาความเจ็บปวด ความทุกข์ ความป่วยไข้ และความทุพพลภาพมาไว้กับพระองค์เช่นกัน เพื่อพระองค์จะทรงทราบว่าจะช่วยเราอย่างไร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 6

แอลมาวางระเบียบศาสนจักรในเซราเฮ็มลาและไปสั่งสอนในกิเดียน

ก่อนบทเรียน ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งเตรียมแบ่งปันกับชั้นเรียนพอสังเขปเกี่ยวกับบางด้านที่เขารู้สึกได้รับพรเพราะพยายามมาโบสถ์ เริ่มบทเรียนโดยขอให้นักเรียนคนนี้ออกมาหน้าชั้นและแบ่งปันความคิดที่เขาเตรียมไว้ ท่านอาจจะแบ่งปันเช่นกันว่าท่านได้รับพรอย่างไรผ่านการเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร

แนะนำ แอลมา 6 โดยอธิบายว่าบทนี้สอนว่าแอลมาและผู้นำฐานะปุโรหิตคนอื่นๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ศาสนจักรในเซราเฮ็มลาอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 6:4–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่สมาชิกของศาสนจักรในเซราเฮ็มลาทำเพื่อคนที่ไม่รู้จักพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญนักเรียนให้รายงานสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ศาสนจักรได้รับการสถาปนาเพื่อความผาสุกของคนทั้งปวง เพื่อช่วยนักเรียนตรึกตรองว่าความจริงนี้สามารถมีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร ให้ถามว่า

  • ท่านคิดว่าศาสนจักรทุกวันนี้สามารถเป็นพรแก่คนที่ไม่รู้จักศาสนจักรอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงคนที่จำเป็นต้องรู้จักพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น บุคคลนี้อาจจะเป็นสมาชิกของศาสนจักรหรือสมาชิกของศาสนาอื่น เป็นพยานถึงพรที่เราได้รับเพราะเราเป็นสมาชิกของศาสนจักรและกระตุ้นนักเรียนให้เชื้อเชิญผู้อื่นมีส่วนในพรเหล่านั้น

แอลมา 7:1–13

แอลมาพยากรณ์เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่สนทนาคำตอบของคำถามต่อไปนี้

  • ท่านตื่นเต้นกับเหตุการณ์ใดบ้างในอนาคต

หลังจากแต่ละคู่มีเวลาสนทนาคำตอบของคำถามนี้แล้ว ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียนทั้งชั้น จากนั้นให้อธิบายว่าหลังจากแอลมาวางระเบียบศาสนจักรในเซราเฮ็มลาแล้ว เขาไปยังเมืองแห่งกิเดียน และบอกผู้คนที่นั่นว่าในบรรดาสิ่งทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งหนึ่ง “สำคัญกว่าสิ่งทั้งปวง” (แอลมา 7:7) เขาสอนหลักธรรมที่จะช่วยผู้คนเตรียมรับพรอันจะเกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุการณ์ในอนาคตครั้งนี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 7:3–6 ขอให้ชั้นเรียนมองหาความหวังที่แอลมามีเกี่ยวกับผู้คนในกิเดียน จากนั้นให้เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 7:18–19 ขอให้นักเรียนอธิบายสิ่งที่แอลมาเรียนรู้โดยการดลใจเกี่ยวกับผู้คนของกิเดียน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 7:7, 9–10 ในใจโดยมองหาเหตุการณ์ที่แอลมารู้สึกว่าสำคัญที่สุดที่ผู้คนต้องรู้

  • ตามที่แอลมากล่าว อะไรคือ “สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญกว่า” สิ่งอื่นใดที่จะเกิดขึ้น ท่านคิดว่าเหตุใดการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอดจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดของเวลาทั้งหมด

  • ท่านคิดว่าเหตุใดแอลมาจึงบอกคนที่เชื่อและมีศรัทธาอยู่แล้วว่าพวกเขาต้องกลับใจ

อธิบายว่าแอลมาสอนต่อจากนั้นว่าเหตุใดการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจากแอลมา 7:11–13 เชื้อเชิญนักเรียนคนอื่นๆ ในชั้นให้ดูตามและระบุว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรับอะไรไว้กับพระองค์ (ท่านอาจจะต้องอธิบายว่า ช่วย หมายถึงให้การบรรเทาทุกข์หรือไปให้ความช่วยเหลือคนบางคน)

ชี้ให้เห็นว่า แอลมา 7:11–13 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจจะกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะหาเจอได้โดยง่าย

เขียนคำตอบของนักเรียนให้เป็นหัวข้อไล่จากบนสุดของกระดานลงมา คำตอบอาจได้แก่ ความเจ็บปวด ความทุกข์ การล่อลวง ความป่วยไข้ ความตาย ความทุพพลภาพ (ความอ่อนแอหรือความพิการ) และ บาป

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ทุกอย่าง” ใน แอลมา 7:11 ขอให้พวกเขายกตัวอย่างของสภาพแต่ละอย่างที่เขียนไว้บนกระดาน ขณะที่นักเรียนยกตัวอย่าง ให้พวกเขาขีดเส้นใต้หัวข้อที่สอดคล้องกัน (ตัวอย่างเช่น มะเร็ง อาจเขียนไว้ใต้ ความป่วยไข้ และ ร่างกายพิการ อาจจะเขียนไว้ใต้หัวข้อ ความทุพพลภาพ)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ ซี. ฮาเฟนแห่งสาวกเจ็ดสิบ

“การชดใช้ไม่ใช่สำหรับคนบาปเท่านั้น” (“Beauty for Ashes: The Atonement of Jesus Christ,” Ensign, Apr. 1990, 7) ท่านอาจต้องการเขียนข้อความนี้ไว้บนกระดานและเสนอแนะให้นักเรียนเขียนลงในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ แอลมา 7:11–13

  • จากที่เราอ่านใน แอลมา 7:11–13 ท่านคิดว่าเอ็ลเดอร์ฮาเฟนหมายถึงอะไรเมื่อเขากล่าวว่า “การชดใช้ไม่ใช่สำหรับคนบาปเท่านั้น”

เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อช่วยให้เรารอดจากบาปและความตาย และเพื่อช่วยให้เราผ่านพ้นการท้าทายของความเป็นมรรตัย

เพื่อให้ช่วยให้นักเรียนเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าพวกเขาจะพึ่งพาการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ท่านกำลังสู้รบกับปีศาจร้ายแห่งการเสพติดหรือเปล่า—บุหรี่หรือยาเสพติดหรือการพนัน หรือภัยพิบัติร้ายแรงร่วมสมัยของสื่อลามกอนาจาร… ท่านสับสนทางเพศหรือแสวงหาศักดิ์ศรีในตนเองหรือเปล่า ท่าน—หรือคนที่ท่านรัก—เผชิญโรคร้ายหรือความซึมเศร้าหรือความตายหรือเปล่า ไม่ว่าท่านจะต้องใช้กระบวนการอื่นใดก็ตามเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ก่อนอื่น จงมาสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ วางใจในคำสัญญาจากสวรรค์ …

“การพึ่งพาพระลักษณะอันเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ที่ใจกลางพระกิตติคุณซึ่งพระคริสต์ทรงสอน ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงยกภาระของบาปไปจากเรา แต่ภาระของความผิดหวังและโทมนัสของเราด้วย ความปวดร้าวและความสิ้นหวังของเรา [ดู แอลมา 7:11–12] นับแต่กาลเริ่มต้น ความวางใจในความช่วยเหลือเช่นนี้มีไว้เพื่อให้ทั้งเหตุผลและหนทางแก่เราเพื่อปรับปรุง เป็นแรงจูงใจที่จะวางภาระของเราและรับความรอดของเรา” (“แตกสลายแต่ซ่อมได้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, หน้า 85)

  • การเข้าใจ แอลมา 7:11–13 สามารถช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเราเผชิญการท้าทาย

เพื่อแสดงตัวอย่างบางด้านที่เราสามารถรับความช่วยเหลือและพลังผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ให้อ่านสถานการณ์ต่อไปนี้ หลังจากอ่านสถานการณ์แต่ละอย่าง ขอให้นักเรียนอธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงสามารถช่วยบุคคลที่กำลังเผชิญการท้าทายนั้นได้อย่างไรโดยผ่านการชดใช้ของพระองค์

  1. เยาวชนหญิงคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้ขาของเธอเป็นอัมพาต

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งละอายใจกับการเลือกไม่ดีบางอย่าง เขารู้สึกหดหู่สิ้นหวังและไร้ค่า

  3. คุณพ่อของเยาวชนชายคนหนึ่งเพิ่งสิ้นชีวิต เขาย้ายไปอยู่อีกเมืองหนึ่งกับคุณแม่ เขารู้สึกเศร้า เหงา และเขามองไม่เห็นว่าทุกอย่างจะดีเหมือนเดิมได้

แสดงประจักษ์พยานของท่านถึงเดชานุภาพแห่งการชดใช้และขอบเขตที่ไปถึง จากนั้นให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อตอบคำถามหนึ่งข้อต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน เตรียมเอกสารแจกที่มีคำถาม หรืออ่านคำถามช้าๆ เพื่อให้นักเรียนเขียนตาม)

  • การชดใช้เคยช่วยท่านหรือคนที่ท่านรู้จักในด้านใดด้านหนึ่งดังที่กล่าวไว้ใน แอลมา 7:11–13 เมื่อใด

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อพึ่งพาการชดใช้เมื่อท่านเผชิญการท้าทาย

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่เขียนไว้กับชั้นเรียน (เตือนพวกเขาว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแบ่งปันเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

แอลมา 7:14–27

แอลมากระตุ้นผู้คนให้เดินตามทางสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าต่อไป

เพื่อเตือนความจำของนักเรียนว่าแอลมาบรรยายสภาพทางวิญญาณของผู้คนในกิเดียนอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 7:19 เน้นว่าผู้คนอยู่ “ในทางซึ่งนำไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” อธิบายว่าแอลมาต้องการช่วยให้พวกเขาอยู่บนทางนั้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่า โดยดำเนินชีวิตตามหลักธรรมแห่งพระกิตติคุณ เรากำลังเดินตามทางสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ให้วาดเส้นถนนตามแนวขวางของกระดาน ตรงต้นทางให้เขียนว่า ความเป็นมรรตัย ตรงปลายทางเขียนว่า อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่ม เชิญกลุ่มหนึ่งศึกษา แอลมา 7:14–16 และอีกกลุ่มหนึ่งศึกษา แอลมา 7:22–24 ขอให้ทั้งสองกลุ่มมองหาสิ่งที่เราต้อง ทำ และสิ่งที่เราต้อง เป็น เพื่อเดินไปตามทางสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านมากพอแล้ว ให้เชิญสองสามคนมาที่กระดาน ขอให้พวกเขาเขียนการกระทำและคุณลักษณะตามทางนั้นที่พวกเขาพบว่านำไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะถามนักเรียนว่าการกระทำหรือคุณลักษณะบางอย่างตามทางมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร ท่านอาจขอให้พวกเขาตรึกตรองว่าพวกเขาจะเดินตามทางนี้ในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร เป็นพยานว่าเมื่อเราดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ เราย่อมอยู่ “ในทางซึ่งนำไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 7:19)

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—แอลมา 7:11–13

เพราะ แอลมา 7:11–13 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ยาว นักเรียนจึงอาจท่องจำได้ยาก แต่ภาษาของแอลมามีคำเฉพาะที่สามารถช่วยให้นักเรียนจำได้ตลอดชีวิตถึงพลังและขอบเขตอันกว้างขวางของการชดใช้ เพื่อช่วยพวกเขาท่องจำคำสำคัญเหล่านี้ ให้เขียนข้อความของ แอลมา 7:11–13 ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน โดยเว้นช่องว่างตรงคำสำคัญต่อไปนี้ทุกครั้งที่ปรากฏ: ความเจ็บปวด ความทุกข์ การล่อลวง ความป่วยไข้ ความตาย ความทุพพลภาพ บาป การล่วงละเมิด (ตัวอย่างเช่น การเขียน แอลมา 7:11 จะเริ่มในลักษณะนี้: “และพระองค์จะเสด็จออกไป, ทรงทน … และ … และ … ทุกอย่าง”)

ขณะที่ท่านอ่านออกเสียง แอลมา 7:11–13 ในชั้นเรียน ให้นักเรียนหาคำที่หายไป หลังจากหาแล้วสองสามนาที ถามนักเรียนว่าพวกเขาสามารถเขียนคำบ่งบอกสิ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงรับไว้กับพระองค์ลงในกระดาษแต่ละแผ่นได้หรือไม่ เชื้อเชิญนักเรียนให้จำไว้เสมอว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อพวกเขา ทั้งนี้เมื่อพวกเขาประสบการท้าทาย พวกเขาจะมีศรัทธาเพิ่มขึ้นใน “พระพลานุภาพแห่งการปลดปล่อย”

หมายเหตุ: ท่านอาจต้องการใช้เวลาสองสามนาทีตอนเริ่มชั้นเรียนครั้งต่อไปเพื่อดูว่านักเรียนยังจำคำสำคัญเหล่านี้ได้หรือไม่เกี่ยวกับขอบเขตอันไม่สิ้นสุดของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 6:6 การอดอาหารและการสวดอ้อนวอนเพื่อ “คนที่หารู้จักพระผู้เป็นเจ้าไม่”

เพื่อเน้นว่าพรของการเป็นสมาชิกศาสนจักรมีไว้ให้ลูกทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจต้องการอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ทุกท่าน สวดอ้อนวอนให้ผู้สอนศาสนา ขอให้ทำเช่นนั้นตลอดไป ด้วยเจตนาเดียวกันนี้ เราควรสวดอ้อนวอนให้กับคนที่กำลังพบ (หรือต้องการ) พบผู้สอนศาสนา ในเซราเฮ็มลา สมาชิกได้รับบัญชาให้ ‘ร่วมอดอาหารและสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลัง’ [แอลมา 6:6] ให้แก่คนที่ยังไม่ได้เข้ามาในศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถทำได้เช่นกัน

“เราจะต้องสวดอ้อนวอนทุกวันสำหรับประสบการณ์ส่วนตัวของเราในงานสอนศาสนา จงสวดอ้อนวอนภายใต้การนำทางของพระองค์ในเรื่องดังกล่าว ขอให้พระองค์ทรงเตรียมจิตใจของคนที่โหยหาและค้นหาสิ่งที่ท่านมีสำหรับโอกาสงานสอนศาสนาที่ท่านต้องการ ‘ยังมีอยู่หลายคนบนแผ่นดินโลก … ที่ถูกกันไว้จากความจริงเพราะพวกเขาหารู้ไม่ว่าจะพบได้จากที่ใด’ [คพ. 123:12] จงสวดอ้อนวอนขอให้เขาได้พบท่าน! และจงตื่นตัวเพราะมีคนมากมายในโลกที่รู้สึกอดอยากในชีวิต” (“เป็นพยานฝ่ายเรา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 19)

แอลมา 7:1–5 ผู้คนในแผ่นดินแห่งกิเดียน

แอลมา 7 ประกอบด้วยคำสอนของแอลมาต่อผู้คนที่อยู่ในเมืองกิเดียนซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขากิเดียน “โดยเรียกตามชายคนที่ถูกมือของนีฮอร์สังหารด้วยดาบ” (แอลมา 6:7) กิเดียนเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในการปลดปล่อยผู้คนของลิมไฮออกจากการเป็นทาส เขาทัดทานหลักคำสอนของนีฮอร์ด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจนถึงแก่ความตาย (ดู โมไซยาห์ 22:3–9; แอลมา 1:7–9) คนที่อยู่ในแผ่นดินซึ่งตั้งชื่อตามชื่อของชายซื่อสัตย์คนนี้เป็นคนซื่อสัตย์เช่นกัน (ดู แอลมา 7:17–20, 26) แอลมาสามารถพูดถ้อยคำแห่งความบริสุทธิ์กับพวกเขาด้วยปีติ โดยรู้ว่าพวกเขาเชื่อและได้เลือกนมัสการพระผู้เป็นเจ้าองค์จริงและทรงพระชนม์อยู่ (ดู แอลมา 7:6) ความซื่อสัตย์ของพวกเขาได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมรับบทเรียนอันทรงพลังของแอลมาเกี่ยวกับการชดใช้—ว่าพระเยซูคริสต์จะทรง “รับความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์” ว่าพระองค์จะทรง “ช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขา” และว่าพระองค์จะทรง “รับเอาบาปของผู้คนของพระองค์” (แอลมา 7:11–13)

แอลมา 7:10 พระเยซูประสูติ “ที่เยรูซาเล็ม”

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายสถานที่ประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดตามที่แอลมาประกาศ

“ในพระคัมภีร์มอรมอนไม่มีข้อขัดแย้งหรือข้อแตกต่างกับความจริงใดๆ ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล ถ้าตั้งใจอ่านสิ่งที่แอลมากล่าวจะเห็นว่าเขาไม่มีเจตนาจะประกาศว่าพระเยซูจะประสูติ ใน เยรูซาเล็ม แอลมาทราบดีกว่านั้น โจเซฟ สมิธและคนที่ร่วมงานกับท่านในการนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมาต่างก็ทราบเช่นกัน ถ้าแอลมากล่าวว่า ‘เกิด ใน เยรูซาเล็ม เมือง ของบรรพบุรุษเรา’ นั่นคงทำให้ทุกอย่างในโลกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ต่อจากนั้นเราคงพูดว่าเขาทำผิดพลาด แอลมาไม่ได้ทำผิดพลาด และสิ่งที่เขากล่าวเป็นความจริง

“ดร. ฮิวจ์ นิบลีย์ ในหลักสูตรการศึกษาสำหรับฐานะปุโรหิตสำหรับปี 1957 An Approach to the Book of Mormon (แนวทางศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน) ในบทที่ 8 หน้า 85 มีการกล่าวถึงประเด็นนี้:

“‘… ประเด็นหนึ่งที่คนชอบโจมตีพระคัมภีร์มอรมอนคือข้อความใน แอลมา 7:10 ที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะประสูติ “ที่เยรูซาเล็มซึ่งเป็น แผ่นดิน ของบรรพบุรุษเรา” เยรูซาเล็มในที่นี้ไม่ใช่เมือง “ ใน แผ่นดินของบรรพบุรุษเรา” แต่ คือ แผ่นดิน พระคริสต์ประสูติในหมู่บ้านห่างจากเมืองเยรูซาเล็มราวหกไมล์ ไม่ใช่ในเมือง แต่อยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคนสมัยก่อนเรียกว่า “แผ่นดินแห่งเยรูซาเล็ม”’” (Answers to Gospel Questions, comp. Joseph Fielding Smith Jr., 5 vols. [1957–66], 1:174)

แอลมา 7:11–13 “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง”

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเสนอข้อคิดต่อไปนี้เกี่ยวกับการปลอบโยนที่เราได้รับเนื่องจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

“นั่นจะทำให้เราสบายใจเมื่อเราต้องรอการบรรเทาทุกข์จากพระผู้ช่วยให้รอดด้วยความทุกข์ใจ พระองค์ทรงรู้จากประสบการณ์ว่าจะเยียวยาและช่วยเราอย่างไร พระคัมภีร์มอรมอนให้การยืนยันแน่ชัดถึงพลังการปลอบโยนของพระองค์ และศรัทธาในพลังดังกล่าวจะช่วยให้เราอดทนได้ขณะสวดอ้อนวอน ลงมือทำ และรอความช่วยเหลือ พระองค์ทรงทราบได้โดยการเปิดเผยว่าจะช่วยเราอย่างไร แต่พระองค์ทรงเลือกเรียนรู้โดยทรงรับประสบการณ์ด้วยพระองค์เอง” (“ความลำบาก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 28)

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเราเรื่องการท้าทายทุกอย่างที่เราอาจเผชิญ

“บางคนแบกภาระหนัก บางคนสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักให้แก่ความตายหรือต้องดูแลคนที่ทุพพลภาพ บางคนเจ็บปวดจากการหย่าร้าง บางคนปรารถนาการแต่งงานนิรันดร์ บางคนตกเป็นทาสพฤติกรรมหรือสารเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด หรือสื่อลามก บางคนมีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ บางคนต่อสู้กับความรู้สึกชอบเพศเดียวกัน บางคนมีความรู้สึกซึมเศร้าหรือความพร่องทางจิตใจอย่างรุนแรง …

“อำนาจการรักษาของพระเจ้าพระเยซูคริสต์—ไม่ว่าจะขจัดภาระของเราหรือทำให้เราเข้มแข็งเพื่ออดทนและอยู่กับมัน … —มีให้กับความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตบนโลกนี้” (“พระองค์ทรงรักษาผู้ที่แบกภาระหนัก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 6, 8)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระคริสต์ในการเข้าพระทัยและช่วยเหลือเราดังนี้

“พระคริสต์ทรงดำเนินบนเส้นทางที่มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เดินทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงรู้วิธีช่วยเหลือและเสริมกำลังเราในยามยากที่สุดของเรา พระองค์ทรงรู้จักภาระลึกซึ้งที่สุดและเป็นส่วนตัวที่สุดที่เราแบก พระองค์ทรงรู้จักความเจ็บปวดที่รู้กันมากที่สุดและรุนแรงที่สุดที่เราแบกรับ พระองค์เสด็จลงต่ำกว่าความเศร้าโศกทั้งปวงเพื่อพระองค์จะทรงยกเราขึ้นเหนือความเศร้าโศกนั้น ไม่มีความปวดร้าวหรือโทมนัสหรือความเสียใจใดในชีวิตที่พระองค์ไม่เคยทนทุกข์เพื่อเราและทรงแบกไว้บนบ่าที่องอาจกล้าหาญและเปี่ยมด้วยพระกรุณาของพระองค์” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 223–24)