คลังค้นคว้า
บทที่ 76: แอลมา 11


บทที่ 76

แอลมา 11

คำนำ

ขณะที่แอลมาและอมิวเล็คยังคงสอนผู้คนในแอมันไนฮาห์ ทนายคนหนึ่งชื่อซีเอสรอมเสนอเงินให้อมิวเล็คปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ซีเอสรอมพยายามบิดเบือนคำพูดของอมิวเล็คและทำลายความน่าเชื่อถือในคำสอนของเขาเกี่ยวกับพระยูคริสต์ ขณะที่อมิวเล็คป้องกันตนเองไม่ให้ถูกซีเอสรอมพยายามล่อให้ติดกับ เขาเป็นพยานว่าการช่วยให้รอดจากบาปผ่านมาทางพระเยซูคริสต์เท่านั้น อมิวเล็คเป็นพยานเช่นกันว่ามนุษยชาติทั้งปวงจะฟื้นคืนชีวิตและจะถูกนำมา “พิจารณาต่อหน้าบัลลังก์พิพากษาของพระคริสต์พระบุตร และพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา และพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” ในวันแห่งการพิพากษา (แอลมา 11:44)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 11:1–25

อมิวเล็คไม่ยอมรับการล่อลวงของซีเอสรอมให้ปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า

ขอให้นักเรียนนึกถึงของบางอย่างที่พวกเขาครอบครองซึ่งมีค่าต่อพวกเขามากจนพวกเขาจะไม่มีวันยอมขาย เชิญนักเรียนสองสามคนบอกว่าพวกเขานึกถึงอะไรและเหตุใดของเหล่านั้นจึงมีค่าต่อพวกเขามาก

อธิบายว่า แอลมา 11 ยังคงเล่าเรื่องของแอลมาและอมิวเล็คสอนผู้คนในแอมันไนฮาห์ ขณะที่อมิวเล็คสอน เขาเผชิญหน้ากับทนายชื่อซีเอสรอมผู้เสนอเงินแลกเปลี่ยนกับบางอย่างที่มีค่าต่ออมิวเล็คมาก

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า แอลมา 11:21–22 เพื่อดูว่าซีเอสรอมเสนอเงินให้อมิวเล็คเท่าใดและด้วยเหตุผลใด ให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ชี้ให้เห็นว่าคำอธิบายของมอรมอนเกี่ยวกับระบบเงินตราของชาวนีไฟใน แอลมา 11:4–19 ช่วยให้เราเข้าใจจำนวนสินบนของซีเอสรอม ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า ออนไท คือเงินชิ้นหนึ่งที่มีค่ามากสุด (ดู แอลมา 11:6, 11–13) หนึ่งออนไทมีค่าเท่ากับค่าตอบแทนประมาณหนึ่งสัปดาห์ของผู้พิพากษา (ดู แอลมา 11:3, 11–13) ซึ่งหมายความว่าหกออนไทมีค่าเท่ากับค่าตอบแทนประมาณหกสัปดาห์ของผู้พิพากษา

  • เหตุใดข้อเสนอของซีเอสรอมจึงล่อใจคนบางคน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 11:23–25

  • คำตอบของอมิวเล็คบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 11:25 ซีเอสรอมวางแผนทำอะไรถ้าอมิวเล็คยอมรับข้อเสนอ นี่คล้ายกับสิ่งที่ซาตานทำเมื่อผู้คนยอมต่อการล่อลวงของเขาอย่างไร

เพื่อช่วยนักเรียนระบุว่าอมิวเล็คสามารถต้านข้อเสนอของซีเอสรอมได้อย่างไร ให้เขียนบนกระดานดังนี้: ฉันจะไม่ … สิ่งใดที่ตรงกันข้ามกับพระวิญญาณของพระเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน แอลมา 11:22 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำที่อมิวเล็คใช้เพื่อเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วน

  • เราจะเติมคำอะไรลงในช่องว่างซึ่งจะช่วยให้เราวางใจพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อต่อต้านการล่อลวง (“ทำ” “คิด” หรือ “ดู”)

ขอให้นักเรียนบอกหลักธรรมดังอ้างอิงใน แอลมา 11:22 ที่สามารถช่วยให้พวกเขาจดจำว่าพวกเขาจะสามารถเอาชนะการล่อลวงได้อย่างไร แม้คำตอบของนักเรียนอาจต่างกัน แต่ควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราวางใจพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราย่อมสามารถเอาชนะการล่อลวงได้ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ แอลมา 11:22)

  • ท่านคิดว่าความรู้สึกไวต่อการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถช่วยให้เราเอาชนะการล่อลวงได้อย่างไร

อ่านคำแนะนำต่อไปนี้จากประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง:

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“หากท่านเผลอมีส่วนในพฤติกรรมที่ไม่ควรหรือหากท่านกำลังคบหาคนที่ดึงท่านออกไปในทางที่ผิด นั่นเป็นเวลาให้ท่านประกาศอิสรภาพและสิทธิ์เสรีของท่าน จงฟังสุรเสียงของพระวิญญาณ และท่านจะไม่ถูกชักนำให้ออกนอกทาง

“… ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า ข้าพเจ้าสัญญาว่าท่านจะได้รับความคุ้มครองและการปกป้องให้พ้นจากการโจมตีของปฏิปักษ์ หาก ท่านจะเอาใจใส่การกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” (คำแนะนำสำหรับเยาวชน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, หน้า 22)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและรู้สึกถึงความสำคัญของการทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ในสถานการณ์ใดบ้างที่เยาวชนอาจถูกล่อลวงให้ทำตรงกันข้ามกับประจักษ์พยานของพวกเขา

  • ท่านทำอะไรเพื่อวางใจพระวิญญาณบริสุทธิ์ นั่นช่วยท่านอย่างไร

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้ท่านเอาชนะการล่อลวงเมื่อใด

กระตุ้นนักเรียนให้ประยุกต์ใช้ สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้โดยนึกถึงแบบอย่างของอมิวเล็คเมื่อพวกเขาถูกล่อลวงครั้งต่อไปให้ผ่อนปรนความเชื่อของตน เป็นพยานว่าเมื่อพวกเขาดำเนินชีวิตคู่ควรกับความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกเขาย่อมมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการยืนหยัดเพื่อความจริงและเอาชนะการล่อลวง

แอลมา 11:26–40

อมิวเล็คเป็นพยานถึงพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและเอาชนะความพยายามของซีเอสรอมในการทำให้คำพูดของเขาหมดความน่าเชื่อถือ

ถามนักเรียนว่าใครเคยพยายามตั้งคำถามหรือคัดค้านความเชื่อของพวกเขาผ่านการโต้เถียงหรือการหลอกลวงบ้าง เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

อธิบายว่าหลังจากซีเอสรอมล้มเหลวในการทำให้อมิวเล็คปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า เขาเปลี่ยนยุทธวิธีและเริ่มโจมตีศรัทธาของอมิวเล็คในพระเยซูคริสต์

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 11:26–35 ขอให้ชั้นเรียนมองหาวิธีที่ซี-เอสรอมพยายามบิดเบือนคำพูดของอมิวเล็ค ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 11:36–37 ขอให้ชั้นเรียนสังเกตว่าอมิวเล็คแก้ไขความเท็จที่ซีเอสรอมสอนอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนให้ดู เชิงอรรถ 34 (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายเชิงอรรถ 34 ในพระคัมภีร์ของพวกเขา) ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฮีลามัน 5:10–11

  • เหตุใดเราจึงรับการช่วยให้รอดในบาปของเราไม่ได้ อะไรคือความแตกต่างระหว่างรับการช่วยให้รอดในบาปกับรับการช่วยให้รอดจากบาป

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 11:40 อธิบายว่าข้อนี้มีหลักธรรมหนึ่งที่เราต้องทำตามเพื่อรับการช่วยให้รอดจากบาปของเรา เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเราเชื่อในพระเยซูคริสต์ เราสามารถรับการไถ่จากบาปของเราได้

  • การเชื่อในพระเยซูคริสต์มีความหมายต่อท่านอย่างไร

  • เหตุใดเราจึงต้องเชื่อในพระเยซูคริสต์จึงจะได้รับการช่วยให้รอดจากบาปของเรา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าศรัทธาในพระเยซูคริสต์นำไปสู่การไถ่ผ่านการกลับใจอย่างไร ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“เราต้องมีศรัทธาอันมั่นคงในพระคริสต์เพื่อที่เราจะกลับใจได้ ศรัทธาของเรารวมถึง ‘แนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระลักษณะนิสัย ความดีพร้อม และพระคุณลักษณะของ [ของพระผู้เป็นเจ้า]’ (Lectures on Faith [1985], 38) ถ้าเราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้ทุกสิ่ง ทรงเปี่ยมด้วยความรัก และทรงมีเมตตา เราจะสามารถวางใจพระองค์เพื่อความรอดของเราโดยปราศจากความลังเล ศรัทธาในพระคริสต์จะเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของเราที่ไม่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า” (“จุดกลับที่ปลอดภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, หน้า 125)

จัดนักเรียนเป็นคู่ๆ ขอให้แต่ละคู่ผลัดกันอธิบายให้กันฟังว่าพวกเขาจะตอบอย่างไรถ้าคนอายุน้อยกว่าถามพวกเขาดังนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดฉันจึงต้องเชื่อในพระเยซูคริสต์เพื่อจะกลับใจและได้รับการช่วยให้รอดจากบาปของฉัน

  • การมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ช่วยให้ท่านกลับใจอย่างไร

เป็นพยานว่าโดยมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราสามารถกลับใจ ได้รับการช่วยให้รอดจากบาปของเรา และได้รับชีวิตนิรันดร์

แอลมา 11:41–46

อมิวเล็คสอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิตและการพิพากษามนุษยชาติทั้งปวง

เพื่อช่วยนักเรียนพิจารณาว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องรู้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะฟื้นคืนชีวิตและได้รับการพิพากษา ให้ถามนักเรียนดังนี้

  • คนบางคนจะดำเนินชีวิตต่างออกไปอย่างไรถ้าพวกเขาเชื่อว่าไม่มีชีวิตหลังความตาย

เขียนคำว่า การฟื้นคืนชีวิต และ การพิพากษา ไว้บนกระดาน เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้าแอลมา 11:41–45 ในใจโดยหาข้อมูลให้มากเท่าที่จะมากได้เกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตและการพิพากษา ขณะที่นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน จงแน่ใจว่าข้อความหนึ่งบนกระดานถ่ายทอดความจริงที่ว่าทุกคนที่มีชีวิตบนโลกนี้สุดท้ายแล้วจะฟื้นคืนชีวิต ชี้ให้เห็นนิยามที่เรียบง่ายของการฟื้นคืนชีวิตใน แอลมา 11:45: “พวกเขาจะไม่ตายอีกต่อไป; วิญญาณของพวกเขารวมอยู่กับร่างกายพวกเขา, จะไม่แยกออกจากกันเลย” (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้ทำเครื่องหมายข้อความนี้) หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้แล้ว ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนสุดในหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขา: โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตและได้รับการพิพากษาตามงานของพวกเขา

  • ความจริงใดบนกระดานจูงใจท่านให้เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า

  • เหตุใดความจริงเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตจึงนำสันติสุขและความหวังมาสู่คนชอบธรรม

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 11:46 ในใจโดยมองหาผลจากการที่อมิวเล็คสอนซีเอสรอม

  • ท่านคิดว่าเหตุใดบางคนจึงอาจจะมีปฏิกิริยาเช่นนี้ต่อคำสอนของอมิวเล็ค

  • ท่านคิดว่าคำสอนใดใน แอลมา 11:41–45 อาจทำให้ซีเอสรอมยุ่งยากใจ เพราะเหตุใด

เป็นพยานว่าเนื่องด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ทุกคน จะฟื้นคืนชีวิตและยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษาตามงานของพวกเขา” (แอลมา 11:44) ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้และนั่นเกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร จากนั้นให้พวกเขาเขียนคำตอบของคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านนึกถึงการฟื้นคืนชีวิตและการพิพากษา

  • ท่านต้องทำอะไรเพื่อเตรียมยืนอยู่ต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า

  • ความเชื่อของท่านที่ว่าท่านจะฟื้นคืนชีวิตและได้รับการพิพากษาส่งผลอย่างไรต่อวิธีที่ท่านเลือกดำเนินชีวิตในแต่ละวัน

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 11:28 มีพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าองค์หนึ่งหรือ?

หลักคำสอนของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ (ว่าพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระอติรูปสามพระองค์แยกจากกันผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในจุดประสงค์และหลักคำสอน) ถูกโจมตีในโลกคริสต์ศาสนาสมัยใหม่ ชาวคริสต์ผู้สืบสาวแนวคิดเรื่องพระผู้เป็นเจ้าในข้อบัญญัติทางศาสนาของศตวรรษที่สี่และห้าที่ประกาศหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ (พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้เป็นองค์สัตภาวะแยกกัน) มักสอบถามสมาชิกของศาสนจักรเกี่ยวกับแนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์ของเราเรื่องพระผู้เป็นเจ้า คำถามที่หยิบยกขึ้นมาพร้อมคำตอบใน แอลมา 11:28–33 ทำให้คนมากมายสงสัยหลักคำสอนเรื่องพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ดังสรุปไว้ในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู รอย ดับเบิลยู. ด๊อกซี เจ้าหน้าที่ในสำนักงานสภาอัครสาวกสิบสองและคณบดีเกียรติคุณของคณะการสอนศาสนา มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์อธิบายเหตุผลที่เป็นไปได้สำหรับคำตอบของอมิวเล็คว่ามีพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว ดังนี้

มีพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าองค์หนึ่งหรือ? คำถามที่คนมักหยิบยกมาถามมีคำตอบอยู่ในแอลมาบทที่ 11 ซึ่งนักวิจารณ์อย่างซีเอสรอมกำลังโต้เถียงกับผู้สอนศาสนาชื่ออมิวเล็ค …

“เพื่อให้เข้าใจคำกล่าวของอมิวเล็ค [ว่ามีพระผู้เป็นเจ้าองค์จริงและทรงพระชนม์อยู่] เราต้องดูบริบททั้งหมด ตลอดประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของพวกเขา ชาวอิสราเอลจำนวนมาก (บรรพบุรุษของชาวนีไฟ) ต้องการยอมรับพระนอกศาสนามากมายของชาวอียิปต์และชาวคานาอัน ถึงแม้พระคัมภีร์มอรมอนไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องการละทิ้งความเชื่อที่ผู้คนในเมืองแอมันไนฮาห์ของซีเอสรอมมี แต่เห็นชัดว่าชาวนีไฟที่ละทิ้งความเชื่อบางคนในสมัยของแอลมาเป็นพวกนับถือรูปเคารพ—เช่นเดียวกับบรรพบุรุษชาวอิสราเอลบางคนของพวกเขา เมื่อแอลมา คู่ผู้สอนศาสนาของอมิวเล็ค เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาและมหาปุโรหิตดูแลศาสนจักร เขาช่วยตั้งกลุ่มสมาชิกศาสนจักรที่เข้มแข็งและซื่อสัตย์ กระนั้นก็ดี ‘คนที่ไม่ได้เป็นของศาสนจักรของพวกเขาปล่อยตนฝักใฝ่อยู่กับเวทมนตร์ และในการนับถือรูปเคารพ’ (แอลมา 1:32) การละทิ้งความเชื่อเป็นปัญหาจนแอลมาต้องสละบัลลังก์พิพากษา ‘เพื่อตัวท่านจะได้ออกไปในบรรดาผู้คนของท่าน, หรือในบรรดาผู้คนของนีไฟ, เพื่อท่านจะได้สั่งสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าแก่พวกเขา’ (แอลมา 4:19)

“ในฐานะผู้สอนศาสนา แอลมาพบว่าคนจำนวนมากจมปลักอยู่กับการนับถือรูปเคารพ ตัวอย่างเช่น เขาค้นพบว่าผู้คนในเมืองแห่งโซรัม ‘กำลังบิดเบือนทางของพระเจ้า, และว่าโซรัม, ซึ่งเป็นผู้นำของพวกเขา, กำลังชักนำใจผู้คนให้กราบไหว้รูปเคารพที่พูดไม่ได้’ (แอลมา 31:1)

“นี่คือบริบทของการสนทนาระหว่างแอลมากับอมิวเล็คและซีเอสรอม ถ้ามองในบริบทนี้ คำตอบของอมิวเล็คสามารถเข้าใจได้ครบถ้วนและถูกต้อง แน่นอนว่า มี ‘พระผู้เป็นเจ้าองค์จริงและทรงพระชนม์อยู่’องค์เดียว—ผู้ไม่ทรงแบ่งความเป็นพระผู้เป็นเจ้าให้กับพระเทียมเท็จจำนวนมากที่มนุษย์สร้างขึ้น” (“I Have a Question,Ensign, Aug. 1985, 11)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์อธิบายว่าความเชื่อของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์แตกต่างอย่างไรจากความเชื่อของศาสนาคริสต์ดั้งเดิมในเรื่องตรีเอกานุภาพและเพราะเหตุใด

“หลักแห่งความเชื่อข้อแรกและสำคัญที่สุดในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือ ‘เราเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า, พระบิดานิรันดร์, และในพระบุตรของพระองค์, พระเยซูคริสต์, และในพระวิญญาณบริสุทธิ์’ [หลักแห่งความเชื่อ 1:1] เราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามองค์ที่ประกอบเป็นพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันในจุดประสงค์ ในวิธีการ ในประจักษ์พยาน ในพระพันธกิจ เราเชื่อว่าทั้งสามพระองค์ทรงเปี่ยมด้วยความรู้สึกเดียวกันตามวิธีของพระผู้เป็นเจ้า ความรู้สึกของความเมตตาและความรัก ความยุติธรรมและพระคุณ ความอดทน การให้อภัย และการไถ่ ข้าพเจ้าคิดว่าถูกต้องแล้วที่จะกล่าวว่าเราเชื่อว่าทั้งสามพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกแง่มุมสำคัญและเป็นนิรันดร์ที่พอจะนึกคิดออกมาได้ ยกเว้น การเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุคคลสามพระองค์ที่รวมกันเป็นองค์เดียว แนวความคิดเรื่องตรีเอกานุภาพไม่เคยอธิบายไว้ในพระคัมภีร์เพราะไม่เป็นความจริง

“ในปี ค.ศ. 325 คอนสแตนตินจักรพรรดิโรมันเรียกประชุมสภาไนเซียเพื่อพูดถึง—เรื่องหนึ่งในบรรดาเรื่องอื่นๆ—ประเด็นที่ขยายวงกว้างเกี่ยวกับ ‘ตรีเอกานุภาพในความเป็นหนึ่งเดียว’ ของพระผู้เป็นเจ้าที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่ได้จากการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนของศาสนิกชน นักปรัชญา และผู้นำทางศาสนาคือ ข้อบัญญัติทางศาสนาของไนเซีย (หลังจาก 125 ปีผ่านไป และจัดสภาใหญ่อีกสามครั้ง) [คอนสแนติโนเปิล ค.ศ. 381; เอเฟซัส ค.ศ. 431; แคลซีโดน ค.ศ. 451] ต่อมามีการบัญญัติใหม่อีกหลายครั้ง อาทิ ข้อบัญญัติทางศาสนาของอะทาเนเซียน วิวัฒนาการและรูปแบบต่างๆ ของข้อบัญญัติทางศาสนาเหล่านี้—และข้ออื่นๆ ที่เกิดขึ้นตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา—ประกาศว่าพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นนามธรรม ทรงอานุภาพสูงสุด ดำรงอยู่เหนือกาลเวลาและจักรวาล ดำรงอยู่ตลอดเวลาทุกแห่งหน ดำรงอยู่ในแก่นสารเดียวแต่ต่างรูป แต่ละองค์ทรงเป็นนิรันดร์ และไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีพระวรกาย หรือส่วนต่างๆ ของพระวรกาย หรืออารมณ์ความรู้สึก ในข้อบัญญัติทางศาสนาเหล่านั้นทั้งสามพระองค์ทรงเป็นพระบุคคลแยกจากกัน แต่เป็นพระสัตภาวะเดียว ‘ความลี้ลับของตรีเอกานุภาพ’ที่มักถูกพูดถึงบ่อยครั้ง พระองค์ทรงแยกกันเป็นสามพระบุคคลชัดเจน ทว่าไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์แต่เป็นองค์เดียว พระบุคคลทั้งสามไม่สามารถเข้าใจได้ ทว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวที่ไม่สามารถเข้าใจได้

“เราเห็นด้วยกับนักวิจารณ์ของเราอย่างน้อยในประเด็นนั้น—ว่าการบัญญัติความเป็นพระผู้เป็นเจ้าไม่สามารถเข้าใจได้เลย …

“เราประกาศว่าพระคัมภีร์ประจักษ์ชัดในตัวมันเองว่าพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพระบุคคลแยกกัน พระสัตภาวะสามพระองค์ โดยสังเกตได้จากตัวอย่างต่างๆ ที่เห็นชัดเจนเช่น การสวดวิงวอนแทนครั้งใหญ่ของพระผู้ช่วยให้รอด … การบัพติศมาของพระองค์โดยมือของยอห์น ประสบการณ์บนภูเขาแห่งการจำแลงพระกาย และมรณสักขีของสเทนเฟน—นี่เป็นเพียงสี่ตัวอย่าง” (ดู “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 49–50)

แอลมา 11:38–39 พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบิดานิรันดร์อย่างไร

ถ้านักเรียนต้องการให้ช่วยเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นทั้งพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระบิดานิรันดร์อย่างไร ท่านอาจจะสอนหรือทบทวนแนวคิดการสอนเพิ่มเติมสำหรับ โมไซยาห์ 15:1–9 ในบทที่ 60

พิมพ์