คลังค้นคว้า
บทที่ 78: แอลมา 13


บทที่ 78

แอลมา 13

คำนำ

เมื่อแอลมาสอนคนดื้อรั้นในแอมันไนฮาห์ครั้งแรก พวกเขาโต้เถียงกับแอลมาโดยถามว่า “ท่านเป็นใคร?” และสงสัยในสิทธิอำนาจของเขา (ดู แอลมา 9:1–6) พวกเขาอยู่ในสภาพของการละทิ้งความเชื่อ ยอมรับระเบียบของนีฮอร์—การฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิต โดยมีเป้าหมายให้ตนได้ประโยชน์ (ดู แอลมา 1:2–15; 15:15; 16:11) ตรงข้ามกับคำสอนของนีฮอร์ แอลมาสอนพวกเขาเกี่ยวกับ “ฐานะปุโรหิตระดับสูงแห่งระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า” โดยมีเป้าหมายจะช่วยให้พวกเขากลับใจและเข้าในสถานพักผ่อนของพระเจ้า (ดู แอลมา 13:6) เขายกตัวอย่างของเมลคีเซเดคผู้สั่งสอนเรื่องศรัทธาและการกลับใจ และช่วยให้ผู้คนดำเนินชีวิตในความสงบสุข แอลมาสอนเช่นกันเกี่ยวกับการดำรงอยู่ก่อนเกิดและการแต่งตั้งล่วงหน้า เขาสรุปโอวาทโดยเชื้อเชิญให้ผู้คนสดับฟังถ้อยคำของเขาทั้งนี้เพื่อคนเหล่านั้นจะได้เตรียมเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 13:1–12

แอลมาสอนผู้คนในแอมันไนฮาห์เกี่ยวกับการเรียกของมหาปุโรหิต

อธิบายว่า แอลมา 13 มีคำสอนของแอลมาเกี่ยวกับคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นประโยชน์มากต่อศาสนจักร อันที่จริง สมาชิกทุกคนของศาสนจักรได้รับพรผ่านการรับใช้ของคนเหล่านี้

บอกนักเรียนว่าพวกเขารู้จักคนที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้ จากนั้นขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 13:1 ในใจเพื่อดูว่าคนเหล่านี้คือใคร หลังจากพวกเขามีเวลาอ่านข้อนี้แล้ว จงเสนอแนะให้พวกเขาอ่าน แอลมา 13:10, 14 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1–3 ด้วย ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียนอ้างอิงเหล่านี้ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าใกล้กับ แอลมา 13:1

ชี้ให้เห็นว่าแอลมาพูดถึงเหล่าปุโรหิตตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งคือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค อีกนัยหนึ่งคือเขาพูดถึงชายผู้ดำรงตำแหน่งมหาปุโรหิตในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซ-เดค เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

“ชาวนีไฟเหล่านี้ ผู้ซื่อสัตย์และแน่วแน่ในการรักษากฎของโมเสส มีฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณเช่นกัน … ข้อมูลที่ดีที่สุดของเราเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมีบางส่วนอยู่ใน แอลมา 13” (The Promised Messiah [1978], 421)

  • พรใดเข้ามาในชีวิตท่านผ่านฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (นักเรียนอาจพูดถึงของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ปิตุพร พรฐานะปุโรหิตอื่นๆ การเป็นผู้นำของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ การเป็นผู้นำของผู้นำในท้องที่เช่น อธิการหรือประธานสาขา และพรที่พวกเขาได้รับผ่านพันธสัญญาที่บิดามารดาทำไว้ในพระวิหาร พวกเขาอาจพูดถึงบัพติศมาและศีลระลึกด้วยเช่นกัน ซึ่งประกอบโดยผู้มีสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนแต่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค)

ติดคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานหรือรวมไว้ในเอกสารแจก ให้เวลานักเรียนอ่าน แอลมา 13:2–10 และหาคำตอบของคำถาม

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคได้รับการเรียกและการเตรียมครั้งแรกเมื่อใด (ดู แอลมา 13:3–5)

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคทุกคนมีหน้าที่อะไร (ดู แอลมา 13:6)

วลีใดใน แอลมา 13:7 พูดถึงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

การจะได้รับแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง (ดู แอลมา 13:10)

เมื่อนักเรียนมีเวลาหาคำตอบให้แก่คำถามเหล่านี้แล้ว ขอให้พวกเขารายงานคำตอบ ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดาน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นและสนทนาสิ่งที่พวกเขาอ่าน ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้

  • การรับใช้ของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตช่วยให้เรารู้วิธีตั้งตารอพระเยซูคริสต์เพื่อการไถ่ในด้านใด (ดู แอล-มา 13:2, 8, 16 โดยผ่านแบบอย่างและคำสอนของพวกเขาและโดยผ่านศาสนพิธีที่พวกเขาปฏิบัติ พวกเขาชี้ให้เราดูพระผู้ช่วยให้รอด)

  • แอลมาหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขากล่าวว่ามหาปุโรหิต “ได้รับเรียกและเตรียมไว้นับจากการวางรากฐานของโลก” (แอลมา 13:3) (เขาหมายความว่าชายบางคนได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าให้ได้รับตำแหน่งฐานะปุโรหิตที่แน่นอน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องการแต่งตั้งล่วงหน้าและวิธีประยุกต์ใช้ในชีวิตพวกเขา ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนอ่านคำกล่าวต่อไปนี้

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “มนุษย์ทุกคนผู้มีการเรียกให้ปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อยู่อาศัยของโลกล้วนได้รับแต่งตั้งสู่จุดประสงค์นั้นในสภาใหญ่ของสวรรค์ก่อนโลกเป็นมา ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งนี้ในสภาใหญ่ดังกล่าว” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 511)

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า “ในโลกก่อนที่เราจะมาที่นี่ สตรีผู้ซื่อสัตย์ได้รับงานมอบหมายบางอย่างส่วนชายผู้ซื่อสัตย์ได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าให้ทำงานฐานะปุโรหิตบางอย่าง แม้เวลานี้เราจะจำรายละเอียดปลีกย่อยไม่ได้ แต่ก็ไม่เปลี่ยนความเป็นจริงอันน่ายินดีของสิ่งที่เราเคยเห็นด้วย” (คำสอนของประธานศาสนจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 215–216)

  • แอลมา 13:3 สอนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้พันธกิจที่เราได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าเกิดสัมฤทธิผล

  • เมื่อชายคนหนึ่งได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งหนึ่งในฐานะปุโรหิต การแต่งตั้งนั้นควรมีความหมายต่อเขาอย่างไร (ดู แอลมา 13:8 สังเกตว่าเยาวชนหญิงสามารถตอบคำถามนี้ได้เช่นเดียวกับเยาวชนชาย เยาวชนชายอาจได้ประโยชน์จากการได้ฟังคำตอบของเยาวชนหญิง)

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 13:11–12 ในใจโดยมองหาด้านต่างๆ ที่การชดใช้ของพระเยซูคริสต์เปลี่ยนผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคตามที่แอลมาพูดถึง

  • ท่านคิดว่า “อาภรณ์ [ของคนบางคนได้รับการ] ชำระล้างให้ขาวแล้วโดยพระโลหิตของพระเมษ-โปดก” หมายความว่าอย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคจึงต้องได้รับการเปลี่ยนโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราสามารถทำตามแบบอย่างของพวกเขาในด้านใดบ้าง

เตือนความจำของนักเรียนว่าแอลมาสอนความจริงเหล่านี้กับผู้คนในแอมันไนฮาห์ พวกนี้หลายคน “อยู่ในความเชื่อเดียวกับนีฮอร์” (แอลมา 14:18; 15:15) หมายความว่าพวกเขาน้อมรับคำสอนของนีฮอร์ นีฮอร์คือคนที่วางระเบียบเทียมเท็จที่แอลมาเรียกว่า “การฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิต” (ดู แอลมา 1:12–15)

  • ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่ซื่อสัตย์ต่างจากคนเหล่านั้นผู้ทำตามคำสอนของนีฮอร์อย่างไร (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน แอลมา 1:2–6 โดยมองหาข้อแตกต่างระหว่างการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตของนีฮอร์กับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค)

  • ผู้คนในแอมันไนฮาห์เคยได้รับการสอนมาก่อนเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและได้รับพรผ่านฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (ดู แอลมา 9:21; 13:1) ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้คนในแอมันไนฮาห์ต้องได้รับการเตือนให้นึกถึงสิ่งที่พวกเขาเคยเรียนรู้เกี่ยวกับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเค

  • ท่านเคยเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตจนถึงเดี๋ยวนี้ในบทเรียนนี้ (แม้นักเรียนจะพูดถึงความจริงจำนวนหนึ่ง แต่คำตอบของพวกเขาควรแสดงให้เห็นว่า ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตและการรับใช้ของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตช่วยให้เรารู้วิธีตั้งตารอพระเยซูคริสต์เพื่อการไถ่

ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้และหลักธรรมอื่นที่พวกเขาระบุลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ หากเวลาเอื้ออำนวย ขอให้พวกเขาเขียนว่าหลักธรรมเหล่านี้สามารถมีอิทธิพลอย่างไรต่อวิธีที่พวกเขามองพลังอำนาจและพรของฐานะปุโรหิต

แอลมา 13:13–20

แอลมาสอนเกี่ยวกับเมลคีเซเดค มหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่ผู้สถาปนาสันติภาพในบรรดาผู้คนของเขา

เขียนคำและวลีต่อไปนี้บนกระดาน: มหาปุโรหิต กษัตริย์ ใช้ศรัทธาอันแรงกล้า สั่งสอนการกลับใจ สถาปนาสันติ ประมุขแห่งสันติ ปกครองภายใต้บิดาท่าน หยุดครุ่หนึ่งหลังจากเขียนแต่ละคำหรือแต่ละวลีเพื่อให้นักเรียนทายโดยไม่ดูในพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าแอลมาใช้คำและวลีเหล่านี้พูดถึงใคร (เขาพูดถึงเมลคีเซเดค) หากนักเรียนทายไม่ถูกเมื่อท่านเขียนคำและวลีทั้งหมดบนกระดานแล้ว ให้พวกเขาอ่าน แอลมา 13:14

หากนักเรียนบางคนทายว่าแอลมากำลังพูดถึงพระเยซูคริสต์ ถามพวกเขาว่าเหตุใดคำบรรยายถึงมหาปุโรหิตที่ชอบธรรมคนหนึ่งจึงเตือนพวกเขาให้นึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเป็น “ตามระเบียบของพระบุตร, พระองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา” (แอลมา 13:9; ดู คพ. 107:2–4 ด้วย) ชี้ให้เห็นว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคควรพยายามทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ในการรับใช้และการสอนของพวกเขา เตือนความจำของนักเรียนด้วยว่าศาสนพิธีที่ประกอบโดยผู้มีสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคช่วยให้เราใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 13:14–19 กระตุ้นชั้นเรียนให้ตรึกตรองว่าคนชั่วในแอมันไนฮาห์น่าจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้เกี่ยวกับเมลคีเซเดคอย่างไร

  • ใน แอลมา 13:17 คำใดพูดถึงผู้คนของเมลคีเซเดค คนเหล่านี้คล้ายคลึงกับผู้คนของแอมันไนฮาห์อย่างไร (ดู แอลมา 8:9; 9:8)

  • เมลคีเซเดคทำอะไรในฐานะผู้นำของคนเหล่านี้ การนำของเขามีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างไร อิทธิพลนี้ต่างจากอิทธิพลของคนในแอมันไนฮาห์ผู้ทำตามคำสอนของนีฮอร์อย่างไร (ดู แอลมา 8:17; 10:27, 32)

เชื้อเชิญนักเรียนให้สรุป แอลมา 13:16–18 โดยพูดถึงความจริงที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้นำฐานะปุโรหิต ขณะที่พวกเขาสรุป พวกเขาพึงแสดงให้เห็นว่า ผู้นำฐานะปุโรหิตช่วยให้เราตั้งตารอพระเยซูคริสต์ กลับใจ และดำเนินชีวิตในความสงบสุข (ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียนสรุปของพวกเขาไว้ในพระคัมภีร์ติดกับ แอลมา 13:16–18) ชี้ให้เห็นว่าผู้นำคนอื่นๆ ของศาสนจักร อาทิ ผู้นำสมาคมสงเคราะห์และผู้นำเยาวชนหญิง เป็นผู้มีส่วนสำคัญในงานนี้ พวกเธอช่วยนำทางแต่ละบุคคลและครอบครัวให้มาหาพระคริสต์โดยรับใช้กับผู้นำฐานะปุโรหิต

  • ท่านเคยได้รับพรอย่างไรผ่านการรับใช้ของผู้นำศาสนจักร

แอลมา 13:21–31

แอลมาเชื้อเชิญผู้คนให้สดับฟังสุรเสียงของพระเจ้าและเข้าในสถานพักผ่อนของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนให้มองหาแนวคิดที่กล่าวซ้ำใน แอลมา 13:12, 13, 16, 29 พวกเขาควรพบคำว่า สถานพักผ่อน และวลี “สถานพักผ่อนของพระเจ้า” ท่านอาจต้องการกระตุ้นพวกเขาให้ทำเครื่องหมายแนวคิดนี้ในแต่ละข้อ เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการเข้าในสถานพักผ่อนของพระเจ้าในชีวิตนี้และหลังจากเราตายหมายความว่าอย่างไร ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้

“ศาสดาพยากรณ์ในสมัยโบราณพูดถึงการ ‘เข้ามาในสถานพักผ่อนของเรา’ [ดู แอลมา 12:34; คพ. 84:23–24]; สิ่งนี้หมายถึงอะไร? ในความคิดของข้าพเจ้านั่นหมายถึงการเข้ามาในความรู้และความรักของพระผู้เป็นเจ้า การมีศรัทธาในจุดประสงค์และแผนของพระองค์ จนถึงระดับที่เรารู้ว่าเราถูกต้องและเราไม่แสวงหาสิ่งใดอีก” (ดู โจเซฟ เอฟ. สมิธ, คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ เอฟ. สมิธ [1998], 56)

“วิสุทธิชนที่แท้จริงเข้ามาใน สถานพักผ่อนของพระเจ้า ขณะอยู่ในชีวิตนี้ และโดยปฏิบัติตามความจริง พวกเขายังคงอยู่ในสภาพที่ได้รับพรจนกว่าพวกเขาพักผ่อนกับพระเจ้าในสวรรค์ … สถานพักผ่อนของพระเจ้า ในนิรันดร คือการรับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก ได้รับความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระเจ้า” (บรูซ อาร์. แมคคองกี, Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 633)

อธิบายว่าแอลมาชักชวนผู้คนในแอมันไนฮาห์ให้กลับใจและเตรียมรับการเสด็จมาของพระคริสต์ (ดู แอลมา 13:21–26) ต่อจากนั้นเขาแบ่งปันหลักธรรมที่คนเหล่านั้นจำเป็นต้องทำตามเพื่อเข้าในสถานพักผ่อนของพระเจ้า

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 13:27 ในใจ

  • คำใดใน แอลมา 13:27 แสดงให้เห็นว่าแอลมารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับผู้คนและเกี่ยวกับข่าวสารของเขา

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 13:27–29 ขอให้ชั้นเรียนมองหาหลักธรรมที่แอลมาหวังให้ผู้คนทำตาม จากนั้นขอให้นักเรียนเขียนหลักธรรมที่พวกเขาพบ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจกล่าวว่า เมื่อเราตอบรับคำเชื้อเชิญให้กลับใจด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน พระวิญญาณจะทรงนำเราเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนเป้าหมายว่าพวกเขาจะทำตามคำแนะนำใน แอลมา 13:27–29 อย่างไร เป็นพยานว่าเราสามารถเข้าในสถานพักผ่อนของพระเจ้าในชีวิตนี้และในชีวิตหน้าได้เมื่อเราทำตามหลักธรรมที่แอลมาสอน

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 13:1 “ข้าพเจ้าอยากให้ท่านนึกถึง”

นักเรียนอาจสงสัยว่าเหตุใดแอลมาจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าอยากให้ท่านนึกถึง” ต่อจากนั้นจึงพูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว (ดู แอลมา 13:1) เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ถ้าจำไว้ว่า แอลมา 13 เป็นความต่อเนื่องของคำปราศรัยที่อยู่ใน แอลมา 11 และ 12 ด้วย ตอนจบของ แอลมา 12 มีคำพูดของแอลมาเกี่ยวกับการตกของอาดัมและเอวา (ดู แอลมา 12:22–23, 30–32) ตอนต้นของ แอลมา 13 แอลมาดำเนินเรื่องราวของเขาต่อไปโดยขอให้ผู้คน “นึกถึง” เวลาหลังจากการตกเมื่อพระเจ้าทรงแต่งตั้งปุโรหิตให้สอนพระบัญญัติของพระองค์

แอลมา 13:3 สิทธิ์เสรีในโลกก่อนเกิด

ขณะพูดเกี่ยวกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตและการแต่งตั้งล่วงหน้าก่อนพวกเขาเกิด แอลมาสอนว่า “ในตอนแรกพระองค์ทรงปล่อยให้ [พวกเขา] เลือกความดีหรือความชั่ว” (แอลมา 13:3) ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอรรถาธิบายความจริงนี้

“พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิ์เสรีให้ลูกๆ ของพระองค์แม้ในโลกวิญญาณ [ก่อนเกิด] ซึ่งวิญญาณแต่ละดวงมีสิทธิ์พิเศษ เฉกเช่นมนุษย์มีที่นี่ ในการเลือกความดีและปฏิเสธความชั่ว หรือมีส่วนในความชั่วเพื่อรับผลจากบาปของพวกเขา เพราะเหตุนี้จึงมีบางคนซื่อสัตย์กว่าคนอื่นๆ ในการรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า …

“วิญญาณของมนุษย์มีสิทธิ์เสรี … วิญญาณของมนุษย์ไม่เท่ากัน พวกเขามีการเริ่มต้นเท่ากัน และเรารู้ว่าทุกคนไร้เดียงสาในตอนเริ่มต้น แต่สิทธิแห่งสิทธิ์เสรีซึ่งประทานให้พวกเขาทำให้บางคนล้ำหน้าคนอื่นๆ และด้วยเหตุนี้ตลอดช่วงนิรันดรของการดำรงอยู่อมตะพวกเขาจึงรู้แจ้งมากกว่า ซื่อสัตย์มากกว่า เพราะพวกเขามีอิสระที่จะกระทำด้วยตนเอง คิดด้วยตนเอง รับความจริงหรือต่อต้านความจริง” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 1:58–59)

แอลมา 13:3–5 ชีวิตก่อนเกิดและการแต่งตั้งล่วงหน้า

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“ไม่มีความจริงใดถ่ายทอดให้เราในการฟื้นฟูลึกซึ้งกว่าความรู้เรื่องการดำรงอยู่ก่อนเกิดของเรา ไม่มีศาสนจักรใดรู้หรือสอนความจริงนี้ หลักคำสอนดังกล่าวประทานให้เฉพาะในแบบสรุปย่อ แต่ข้อเท็จจริงที่โดดเด่นได้รับการกล่าวย้ำบ่อยพอในการเปิดเผยเพื่อให้เราเชื่อมั่นในความจริงพื้นฐานบางอย่าง

“… ข้อเท็จจริงสำคัญมากบางประการที่เรารู้เกี่ยวกับสถานะของเราในชีวิตก่อนเกิดมีดังนี้ ‘ในกาลเริ่มต้นมนุษย์ดำรงอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า.’ (คพ. 93:29) เราอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ของเรา เราเป็นลูกของพระองค์ ความรู้แจ้ง หรือวิญญาณ จัดระบบเป็นร่างวิญญาณก่อนโลกเป็นมา (ดู อับราฮัม 3:22) เราแต่คนได้รับประสาทพรด้วยสิทธิ์เสรี พระองค์ทรงมอบสิทธิอำนาจและทรงเลือกผู้นำ (แอลมา 13:1–4)” (Our Father’s Plan [1984], 14)

แน่วแน่ต่อศรัทธา มีคำอธิบายเกี่ยวกับการแต่งตั้งล่วงหน้าดังนี้

“ในโลกแห่งวิญญาณก่อนการเป็นมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งวิญญาณบางดวงให้ปฏิบัติภารกิจที่เฉพาะเจาะจงในระหว่างชีวิตมนุษย์ของเขา นี่เรียกว่าการแต่งตั้งล่วงหน้า

“การแต่งตั้งล่วงหน้ามิได้รับประกันว่าบุคคลเหล่านี้จะได้รับการเรียกหรือความรับผิดชอบตามที่กำหนด โอกาสเช่นนั้นเกิดขึ้นในชีวิตนี้เนื่องจากการใช้สิทธิ์เสรีอย่างชอบธรรม เฉกเช่นการแต่งตั้งล่วงหน้าเกิดขึ้นเนื่องจากความชอบธรรมในการดำรงอยู่ก่อนเกิด …

“หลักคำสอนเรื่องการแต่งตั้งล่วงหน้าประยุกต์ใช้ได้กับสมาชิกทุกคนของศาสนจักร ไม่เฉพาะพระผู้ช่วยให้รอดและศาสดาพยากรณ์เท่านั้น ก่อนสร้างโลก สตรีที่ซื่อสัตย์ได้รับความรับผิดชอบบางอย่างและชายที่ซื่อสัตย์ได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าให้ทำหน้าที่บางอย่างของฐานะปุโรหิต แม้ท่านจะจำเวลานั้นไม่ได้ แต่ท่านรับปากแล้วว่าจะทำงานสำคัญในการรับใช้พระบิดาของท่าน ขณะที่ท่านพิสูจน์ความมีค่าควรของตนเอง ท่านมีโอกาสทำงานมอบหมายที่ท่านได้รับในคราวนั้น” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 30–31)

เอ็ลเดอร์ นีลเอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“การดำรงอยู่ก่อนเกิดไม่ใช่หลักคำสอนแบบผ่อนคลาย สำหรับเราแต่ละคนมีการเลือกให้ทำ มีงานยากให้ทำไม่หยุดหย่อน มีการเย้ยหยันและความทุกข์ยากให้ประสบ มีเวลาที่ต้องใช้ให้ดี มีพรสวรรค์และของประทานที่ต้องใช้ให้ดี เพียงเพราะเราได้รับเลือก ‘ที่นั่นและเวลานั้น’ จึงมิได้หมายความว่าเราสามารถเมินเฉย ‘ที่นี่และเวลานี้’ ได้ ไม่ว่าการแต่งตั้งล่วงหน้าสำหรับผู้ชาย หรือการกำหนดล่วงหน้าสำหรับผู้หญิง ผู้ได้รับเรียกและเตรียมไว้แล้วต้องพิสูจน์เช่นกันว่า ‘ได้รับเรียกและซื่อสัตย์’ (ดู วิวรณ์ 17:14; คพ. 121:34–36)” (“Premortality, a Glorious Reality,Ensign, Nov. 1985, 17)