คลังค้นคว้า
บทที่ 79: แอลมา 14


บทที่ 79

แอลมา 14

คำนำ

หลังจากได้ฟังแอลมาและอมิวเล็คสั่งสอน บางคนในแอมันไนฮาห์เชื่อและกลับใจ คนส่วนใหญ่โกรธและหมายมั่นจะทำลายแอลมา อมิวเล็ค และคนที่เชื่อในถ้อยคำของพวกเขา แอลมากับอมิวเล็คถูกจับมาสอบสวนและถูกคุมขังในท้ายที่สุด คนชั่วในแอมันไนฮาห์ขับไล่พวกผู้ชายที่เชื่อ เผาภรรยา ลูกๆ และพระคัมภีร์ของพวกเขาขณะที่แอลมากับอมิวเล็คถูกบังคับให้มองดู หลายวันหลังจากนั้นพระเจ้าทรงปลดปล่อยแอลมากับอมิวเล็คออกจากเรือนจำและทำลายผู้นำที่ชั่วร้ายในแอมันไนฮาห์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 14:1–13

แอลมากับอมิวเล็คถูกคุมขัง และชาวแอมันไนฮาห์ที่เชื่อถูกขับไล่หรือไม่ก็ถูกเผา

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงการท้าทายที่พวกเขาเคยพบเจอหรือพบเจออยู่เวลานี้ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้

“ความทุกข์ยากมีสาเหตุแตกต่างกัน บางครั้งท่านอาจเผชิญความยากลำบากเนื่องด้วยความจองหองและการไม่เชื่อฟังของท่านเอง ท่านหลีกเลี่ยงความยากลำบากเหล่านี้ได้ด้วยการดำเนินชีวิตที่ชอบธรรม ความยากลำบากอื่นๆ เป็นเรื่องปรกติวิสัยของชีวิต และอาจเกิดขึ้นบ้างเมื่อท่านดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ตัวอย่างเช่น ท่านอาจประสบความยากลำบากในยามเจ็บป่วย ในความผันผวนของชีวิต หรือความตายของบุคคลที่ท่านรัก บางครั้งความทุกข์ยากอาจเกิดขึ้นเพราะการเลือกที่ส่งผลร้ายของผู้อื่น ตลอดจนคำพูดและการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด

“ความสำเร็จและความสุขของท่าน ทั้งเวลานี้และในนิรันดร ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการตอบสนองของท่านต่อความยุ่งยากของชีวิต” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], หน้า 108–)

อธิบายว่าในบทเรียนวันนี้นักเรียนจะสนทนาเรื่องราวของผู้คนที่ประสบการทดลองสาหัส การทดลองส่วนใหญ่นี้เกิดขึ้นเพราะผู้อื่น กระตุ้นนักเรียนให้พิจารณาว่าความจริงที่พวกเขาจะสนทนาในบทเรียนนี้เกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร ไม่ว่าความยากลำบากที่พวกเขาอาจพบเจอจะเป็นอะไร

เขียนบนกระดานดังนี้:

แอลมาและอมิวเล็ค

ซีเอสรอม

ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่เป็นชาย

ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่เป็นหญิงและเด็ก

เชิญนักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 14:1–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาตัวอย่างความทุกข์ยากที่ผู้มีชื่อบนกระดานประสบ

  • คนเหล่านี้ทนทุกข์กับอะไร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

ชี้ให้เห็นว่าเมื่ออมิวเล็คเห็นความทุกข์ทรมานของสตรีและเด็ก เขาต้องการใช้พลังของฐานะปุโรหิตช่วยคนเหล่านั้นให้รอด เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 14:11 และขอให้ชั้นเรียนมองหาคำตอบของแอลมาต่อคำขอร้องของอมิวเล็ค

  • เหตุใดพระเจ้าทรงยอมให้สตรีและเด็กเหล่านี้ถูกเผา (ท่านอาจต้องอธิบายว่าในข้อนี้ วลี “พระองค์ทรงยอม” หมายถึง “พระองค์ทรงยินยอม” พระเจ้าทรงยินยอมให้ผู้คนทนทุกข์เพื่อให้ความตายของพวกเขาเป็นพยานฟ้องคนที่ฆ่าพวกเขา ดู แอลมา 60:13 ด้วย)

  • ตามที่แอลมากล่าว สตรีและเด็กจะได้รับพรอย่างไรเพราะพวกเขาวางใจในพระเจ้า

ท่านอาจต้องเน้นว่าในตัวอย่างนี้ นั่นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงยอมให้ผู้คนทนทุกข์ แต่ไม่ได้เป็นแบบนี้เสมอไป รับรองกับนักเรียนว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขาและทรงต้องการให้พวกเขามีความสุขและมีสันติในชีวิต หากพวกเขากำลังถูกทำร้ายหรือถูกกระทำทารุณกรรมในด้านใด พวกเขาควรขอความช่วยเหลือจากบิดามารดาหรือผู้นำศาสนจักรเพื่อพวกเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้

  • พระเจ้าจะทรงยอมให้เราทนทุกข์ด้วยเหตุผลใดอีกบ้าง (คำตอบอาจได้แก่ พระองค์ทรงต้องการให้เราเข้าใจผลของการตัดสินใจอย่างไม่ฉลาด พระองค์ทรงต้องการให้เราพัฒนาความอดทน พระองค์ทรงต้องการให้เราพัฒนาความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ทนทุกข์ และพระองค์ทรงต้องการให้เราเข้าใจว่าเราต้องวางใจพระองค์)

เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เมื่อเราวางใจในพระเจ้า พระองค์ย่อมทรงทำให้เราเข้มแข็งในช่วงการทดลองของเรา จากนั้นขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 14:12–13

  • ถ้อยคำของแอลมาแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาวางใจในพระเจ้า

ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก๊อตต์

“ตัวอย่างของแอลมาและอมิวเล็คให้คติสอนใจ ขณะพยายามทำความดีท่ามกลางผู้คนในแอมันไนฮาห์ พวกเขากลับถูกจับเป็นเชลย อมิวเล็ควางใจแอลมาเพื่อนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าเขา ผู้นำเขาให้เชื่อมั่นมากขึ้นในพระเจ้า โดยถูกบังคับให้มองดูเหล่าสตรีและเด็กถูกเพลิงเผาผลาญ อมิวเล็คกล่าวว่า ‘บางทีพวกเขาจะเผาเราด้วย’ แอลมาตอบว่า: ‘ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า’—หลักธรรมสำคัญยิ่ง ‘แต่ … งานของเรายังไม่เสร็จ; ดังนั้นพวกเขาจะไม่เผาเรา’ [แอลมา 14:12–13; เน้นตัวเอน]” (“To Be Healed,” Ensign, May 1994, 8)

“ชีวิตนี้เป็นประสบการณ์ในการวางใจอย่างเต็มที่—วางใจในพระเยซูคริสต์ … การวางใจหมายความว่าเชื่ออย่างเต็มใจโดยไม่จำเป็นต้องรู้ผลในบั้นปลาย (ดู สุภาษิต 3:5–7) เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีบังเกิดขึ้น ความไว้วางใจในพระเจ้าของท่านจะต้องมีพลังและทนนานกว่าความเชื่อมั่นในความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวท่านเอง” (ดู “จงวางใจในพระเจ้า,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, หน้า 16)

อธิบายว่าใน แอลมา 14:14–29 นักเรียนจะเห็นตัวอย่างการวางใจในพระเจ้าของแอลมาและอมิวเล็คเพิ่มมากขึ้น พวกเขาจะเห็นเช่นกันว่าพระเจ้าทรงเพิ่มพละกำลังให้คนทั้งสองทำงานของพระองค์อย่างไร

แอลมา 14:14–29

พระผู้เป็นเจ้าทรงปลดปล่อยแอลมาและอมิวเล็คจากเรือนจำและทรงทำลายผู้นำที่ชั่วร้ายจำนวนมากในแอมันไนฮาห์

แบ่งนักเรียนครึ่งห้อง ให้ครึ่งห้องค้นคว้า แอลมา 14:14–19 ส่วนอีกครึ่งห้องค้นคว้า แอลมา 14:20–25 ขอให้ทั้งสองกลุ่มมองหาสิ่งที่แอลมาและอมิวเล็คทนทุกข์ด้วยน้ำมือของผู้นำที่ชั่วร้ายในแอมันไนฮาห์ เมื่อนักเรียนมีเวลาอ่านมากพอแล้ว ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้ “แอลมาและอมิวเล็ค”

  • การทดลองใดในการทดลองเหล่านี้จะยากที่สุดสำหรับท่าน เพราะเหตุใด

  • ท่านเคยเห็นคนทนทุกข์กับการทดลองต่างๆ เมื่อใดทั้งที่พวกเขาพยายามเป็นคนชอบธรรม

เชื้อเชิญนักเรียนให้ผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 14:25–29 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อปลดปล่อยแอลมาและอมิวเล็คจากเรือนจำ เพื่อช่วยนักเรียนระบุและเข้าใจหลักธรรมในข้อเหล่านี้ ให้ถามคำถามต่อไปนี้บางข้อหรือทั้งหมด

  • เหตุใดแอลมาและอมิวเล็คจึงสามารถรับพลังความสามารถและพละกำลังจากพระเจ้าได้ (ดู แอลมา 14:26, 28)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของแอลมาและอมิวเล็คในเรือนจำ (คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาควรสะท้อนความจริงว่า หากเราร้องทูลพระเจ้าด้วยศรัทธา พระองค์จะทรงเพิ่มพละกำลังให้เราในความทุกข์และทรงปลดปล่อยเราในวิธีและเวลาของพระองค์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีต่างๆ ใน แอลมา 14:26, 28 ที่เน้นหลักธรรมนี้)

  • ผู้คนสามารถใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ในยามยากลำบากด้วยวิธีใดบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเมื่อพวกเขาเห็นพละกำลังเกิดขึ้นได้ในชีวิตเราเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และรอคอยพระองค์ด้วยความนอบน้อม พวกเขาอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ ของตนเองหรือประสบการณ์ของชีวิตคนที่พวกเขารู้จัก ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตท่านหรือชีวิตคนที่ท่านรู้จักเช่นกัน

สรุปโดยเป็นพยานถึงเดชานุภาพของพระเจ้าในการประทานพละกำลังและทรงปลดปล่อยเราจากการทดลองในวิธีและเวลาของพระองค์เอง รับรองกับนักเรียนว่าเมื่อเราวางใจในพระประสงค์ของพระเจ้า พระองค์จะทรงเพิ่มพละกำลังและพลังความสามารถให้เราอดทนต่อความยุ่งยากทั้งหลายได้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 14:7–11 “พระเจ้าทรงรับคนเหล่านั้นขึ้นไปสู่พระองค์แล้ว”

แม้เราเศร้าโศกกับการเสียชีวิตของคนชอบธรรม แต่เราชื่นชมยินดีเมื่อรู้เรื่องรางวัลของพวกเขาในโลกวิญญาณ (ดู แอลมา 40:12)และสภาพสุดท้ายของพวกเขาในอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู คพ. 76:50–70) พระเจ้าตรัสว่า “คนเหล่านั้นที่ตายในเราจะไม่ลิ้มรสแห่งความตาย, เพราะมันจะหวานสำหรับพวกเขา” (คพ. 42:46) ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธอธิบายว่า

“เป็นความจริงที่ว่าข้าพเจ้าอ่อนแอมากพอจะร่ำไห้เมื่อญาติสนิทมิตรสหายเสียชีวิต ข้าพเจ้าอาจหลั่งน้ำตาเมื่อเห็นความเศร้าโศกของผู้อื่น ข้าพเจ้ามีความเห็นอกเห็นใจในจิตวิญญาณของข้าพเจ้าต่อลูกหลานมนุษย์ ข้าพเจ้าสามารถร่ำไห้กับคนที่ร่ำไห้ ข้าพเจ้าสามารถชื่นชมยินดีเมื่อพวกเขาชื่นชมยินดี แต่ข้าพเจ้าไม่มีเหตุให้คร่ำครวญ หรือเสียใจเพราะความตายเข้ามาในโลก … ความกลัวในเรื่องความตายนี้ได้นำไปจากวิสุทธิชนหมดแล้ว พวกเขาไม่หวาดกลัวความตายทางโลก เพราะพวกเขารู้ว่าความตายเกิดกับพวกเขาโดยการล่วงละเมิดของอาดัมฉันใด ชีวิตจะเกิดกับพวกเขาโดยความชอบธรรมของพระเยซูคริสต์ฉันนั้น และแม้พวกเขาตายพวกเขาจะมีชีวิตอีก การครอบครองความรู้นี้ทำให้พวกเขามีปีติแม้ในความตายเพราะรู้ว่าพวกเขาจะลุกขึ้นอีกครั้งและจะพบกันอีกหลังความตาย” (ใน Conference Report, Oct. 1899, 70)

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“บางครั้งผู้คนของพระเจ้าถูกไล่ล่าและถูกข่มเหง บางครั้งพระองค์ทรงเจตนาปล่อยให้วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ใกล้ตายและทนทุกข์ ทั้งในร่างกายและวิญญาณ เพื่อพิสูจน์ตนในทุกสิ่ง และเพื่อดูว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามพันธสัญญาของพระองค์ แม้ต้องถึงแก่ความตาย เพื่อจะพบว่าพวกเขาคู่ควรรับชีวิตนิรันดร์หรือไม่ หากนั่นเกิดแก่พวกเราจำนวนมาก แสดงว่าเป็นเช่นนั้น” (“The Dead Who Die in the Lord,Ensign, Nov. 1976, 108)