คลังค้นคว้า
บทที่ 80: แอลมา 15–16


บทที่ 80

แอลมา 15–16

คำนำ

หลังจากพระเจ้าทรงปลดปล่อยแอลมาและอมิวเล็คออกจากเรือนจำ พวกเขาไปสั่งสอนผู้คนในเมืองแห่งไซดม ที่นั่นพวกเขาพบผู้เชื่อที่เคยถูกขับไล่ออกจากแอมันไนฮาห์ รวมทั้งซีเอสรอมผู้กำลังทนทุกข์ทางร่างกายและทางวิญญาณเพราะบาปของเขา เมื่อซีเอสรอมประกาศศรัทธาที่เขามีต่อพระเยซูคริสต์ แอลมาจึงรักษาและให้บัพติศมาเขา แอลมาสถาปนาศาสนจักรในไซดม จากนั้นก็กลับไปเซราเฮ็มลาพร้อมอมิวเล็ค ในสัมฤทธิผลตามคำพยากรณ์ของแอลมา ชาวเลมันทำลายเมืองแห่งแอมันไนฮาห์ในวันเดียว นอกจากนี้ชาวเลมันยังได้จับชาวนีไฟบางคนจากแผ่นดินโดยรอบไปเป็นเชลยด้วย โดยเลือกทำตามการนำทางของศาสดาพยากรณ์แอลมา กองทัพชาวนีไฟจึงได้เชลยคืนและขับไล่ชาวเลมันออกจากแผ่นดิน ในช่วงเวลาของความสงบสุข แอลมา อมิวเล็ค และคนอีกจำนวนมากเสริมสร้างศาสนจักรทั่วแผ่นดินของชาวนีไฟ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 15

แอลมารักษาซีเอสรอม สถาปนาศาสนจักรในไซดม และกลับไปเซราเฮ็มลาพร้อมอมิวเล็ค

เพื่อช่วยให้นักเรียนจำบุคคลสำคัญและเหตุการณ์หลักๆ ที่เล่าใน แอลมา 11–14 ได้ ให้เขียนคำต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

ซีเอสรอม

ออนไท

ไฟ

แอลมา

อมิวเล็ค

แอมันไนฮาห์

ให้เวลานักเรียนหนึ่งนาทีเพื่อพยายามใช้ชื่อและคำทั้งหมดบนกระดานสรุปเหตุการณ์ที่เล่าไว้ในแอลมา 11–14 (ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาดูความช่วยเหลือจากสรุปบท) หลังจากนักเรียนสองสามคนตอบ ให้ลบคำทั้งหมดยกเว้น ซีเอสรอม

อธิบายว่าภายหลังออกจากแอมันไนฮาห์ แอลมากับอมิวเล็คมาถึงไซดม ที่นั่นพวกเขาพบผู้เชื่อที่เคยถูกขับไล่ออกจากแอมันไนฮาห์ รวมทั้งซีเอสรอม เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 15:3–5 ในใจโดยมองหาคำและวลีที่พูดถึงสภาพของซีเอสรอม ขณะนักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้บนกระดานใต้ชื่อของซีเอสรอม

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความรู้สึกผิดของซีเอสรอมจึงทำให้เขาทนทุกข์ทั้งทางวิญญาณและร่างกาย ผู้คนในสภาพนี้ต้องทำอะไรเพื่อให้สภาพของพวกเขาเปลี่ยนไป

  • ซีเอสรอมแสวงหาความช่วยเหลือจากใคร (ดู แอลมา 15:4) ท่านคิดว่าเหตุใดเขาจึงส่งคนไปหาแอลมาและอมิวเล็ค (คำตอบอาจได้แก่ เขาวางใจคนทั้งสอง เขารู้ว่าทั้งสองเป็นคนของพระผู้เป็นเจ้าและมีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต)

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 15:6–10 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำที่แอลมาพูดเพื่อช่วยให้ซีเอสรอมใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดซีเอสรอมจึงต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ก่อนจึงจะได้รับการรักษาให้หาย

ขอให้นักเรียนอ่าน แอลมา 15:11–12 ในใจเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับซีเอสรอม เมื่อพวกเขามีเวลาอ่านมากพอแล้ว ให้ลบคำและวลีทั้งหมดบนกระดานใต้ชื่อของซีเอสรอม

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรยืนยันว่าซีเอสรอมกลับใจและได้รับพระเมตตาของพระเจ้า (เขาได้รับการรักษาผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เขารับบัพติศมา และเริ่มสั่งสอนพระกิตติคุณ)

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: โดยผ่านศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์เราสามารถได้รับการรักษาและพละกำลัง

ชี้ให้เห็นว่าแอลมาซึ่งเป็นผู้นำฐานะปุโรหิตไม่ได้ดึงความสนใจมาที่ตัว จุดประสงค์ของเขาในการสนทนากับซีเอสรอมครั้งนี้คือเพื่อช่วยให้ซีเอสรอมใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และได้รับพระเมตตาผ่านการชดใช้ เพื่อยกตัวอย่างวิธีหนึ่งที่ผู้นำฐานะปุโรหิตของเราช่วยให้เราได้รับพรแห่งการชดใช้ ให้อ่านประสบการณ์ต่อไปนี้ที่เล่าโดยเอ็ลเดอร์เจย์ อี. เจนเซ็นแห่งสาวกเจ็ดสิบ

“ขณะรับใช้เป็นอธิการ ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพรแห่งการชดใช้ในชีวิตของสมาชิกศาสนจักรผู้ทำการล่วงละเมิดอันร้ายแรง …

“หนุ่มโสดในวอร์ดของเราคนหนึ่งออกเดทกับหญิงสาวคนหนึ่ง พวกเขาปล่อยให้ความรักเกินขอบเขต เขามาขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากข้าพเจ้า โดยขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาสารภาพและความรู้สึกถึงพระวิญญาณที่ข้าพเจ้ามี ผนวกกับสิ่งอื่นๆ เขาไม่ได้รับอนุญาตให้รับศีลระลึกระยะหนึ่ง เราพบกันเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่ามีการกลับใจและหลังจากเวลาที่เหมาะสม ข้าพเจ้าอนุญาตให้เขารับศีลระลึกอีกครั้ง

“ขณะข้าพเจ้านั่งอยู่บนยกพื้นในการประชุมศีลระลึกข้าพเจ้ามองเขาซึ่งเวลานี้เขารับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงแขนแห่งความเมตตา ความรัก และความปลอดภัยที่โอบเขาไว้ขณะที่การเยียวยาอันเนื่องมาจากการชดใช้ทำให้จิตวิญญาณอบอุ่นและยกภาระของเขา ส่งผลให้เกิดการให้อภัย สันติ และความสุขดังที่สัญญาไว้” (ดู “แขนแห่งความปลอดภัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, หน้า 61-62)

เป็นพยานว่าอธิการและผู้นำฐานะปุโรหิตคนอื่นๆ สามารถช่วยให้เราได้รับความเมตตาและพลังที่เราต้องการผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าผู้นำศาสนจักรรับใช้กลุ่มคนและบุคคลต่างๆ ให้พวกเขาศึกษา แอลมา 15:13–18 มอบหมายให้พวกเขาทำงานเป็นคู่ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่ค้นคว้า แอลมา 15:13–15, 17 โดยมองหาด้านต่างๆ ที่ผู้คนในไซดมได้รับพรผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของแอลมา ขอให้นักเรียนอีกคนในแต่ละคู่ค้นคว้า แอลมา 15:16, 18 โดยมองหาด้านต่างๆ ที่อมิวเล็คได้รับพรผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของแอลมา หลังจากพวกเขามีเวลามากพอแล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้อธิบายสิ่งที่พบให้อีกฝ่ายหนึ่งฟัง

เชิญแต่ละคู่ให้นึกถึงด้านต่างๆ สามถึงห้าด้านที่ผู้นำศาสนจักรในปัจจุบันสามารถช่วยกลุ่มคนและแต่ละบุคคล กระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงความรับผิดชอบของตนในฐานะผู้นำในโควรัมฐานะปุโรหิตและชั้นเรียนเยาวชนหญิง ขอให้แต่ละคู่แบ่งปันแนวคิดประการหนึ่งของพวกเขากับชั้นเรียน

แอลมา 16:1–12

ชาวเลมันทำลายแอมันไนฮาห์แต่ไม่สามารถเอาชนะชาวนีไฟผู้ทำตามคำแนะนำของแอลมาได้

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกประหลาดใจหรือตกใจในฉับพลัน ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันประสบการณ์ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 16:1–3 ในใจโดยดูว่าชาวนีไฟในแอมันไนฮาห์ประหลาดใจอย่างไรและเหตุใดบางคนจึงตกใจ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ (หากจำเป็น จงช่วยให้พวกเขาเห็นว่าชาวเลมันโจมตีเมืองแห่งแอมันไนฮาห์ทันทีและทำลายผู้อยู่อาศัยในนั้นก่อนที่ชาวนีไฟจะสามารถยกทัพไปต่อสู้กับพวกเขา)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 16:4–6 และขอให้ชั้นเรียนระบุว่าชาวนีไฟที่ชอบธรรมมองหาการนำทางที่ใด ขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 16:7–8 ขณะนักเรียนที่เหลือมองหาผลของความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับ

  • การนำทางของศาสดาพยากรณ์แอลมาช่วยชาวนีไฟอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างจากเรื่องนี้ (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมหลากหลาย พวกเขาพึงเข้าใจว่า เมื่อเราแสวงหาและทำตามการนำทางจากศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า พระเจ้าทรงเพิ่มพละกำลังและคุ้มครองเรา เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • เยาวชนได้รับพรอย่างไรเมื่อพวกเขาทำตามการนำทางของศาสดาพยากรณ์ (เพื่อช่วยให้นักเรียนตอบคำถามนี้ ท่านอาจจะให้พวกเขาเปิดดูสองสามหัวข้อในจุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน เชื้อเชิญพวกเขาให้ตอบคำถามนี้เกี่ยวกับแต่ละหัวข้อที่พวกเขาเลือก)

ขอให้นักเรียนนึกถึงประสบการณ์เมื่อการนำทางของศาสดาพยากรณ์ได้ช่วยให้พวกเขาเลือกอย่างถูกต้องในสถานการณ์ยากๆ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์กับชั้นเรียน (พวกเขาพึงเข้าใจว่าพวกเขาต้องไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้เล่าประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป) ท่านอาจจะแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเช่นกัน เพื่อเสริมความจริงที่ว่าถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เกิดสัมฤทธิผลเสมอ ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่า แอลมา 16:9–11 แสดงสัมฤทธิผลตามคำพยากรณ์ของแอลมาเกี่ยวกับผู้คนในแอมันไนฮาห์ (ดู แอลมา 9:12)

แอลมา 16:13–21

แอลมา อมิวเล็ค และคนอื่นๆ เสริมสร้างศาสนจักรในบรรดาชาวนีไฟ

เมื่อนักเรียนศึกษา แอลมา 16 จบแล้ว กระตุ้นพวกเขาให้มองหาตัวอย่างของหลักธรรมสองข้อที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน สรุป แอลมา 16:13–15 โดยอธิบายว่าแอลมาและอมิวเล็คยังคงสั่งสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทั่วแผ่นดินต่อไป โดยอาศัยความช่วยเหลือของคนอื่นๆ “ที่ได้รับเลือกเพื่องานนี้” (แอลมา 16:15) เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 16:16–21 ในใจโดยมองหาผลของความพยายามเหล่านี้ หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ขอให้นักเรียนบอกสิ่งที่พวกเขาพบ ถามพวกเขาว่าตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นหลักธรรมหนึ่งข้อหรือทั้งสองข้อบนกระดาน

สรุปบทเรียนโดยกระตุ้นนักเรียนให้ลอกหลักธรรมหนึ่งในสองข้อนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้วันนี้เกี่ยวกับหลักธรรมดังกล่าว ขอให้พวกเขาเขียนเช่นกันว่าพวกเขาวางแผนจะประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้อย่างไร

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

บทเรียนนี้ถือเป็นจุดกึ่งกลางในหลักสูตรนี้ เพื่อช่วยนักเรียนเสริมความรู้ในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจจะแจกแบบสอบถามหรือแบบทดสอบเพื่อประเมินว่าพวกเขารู้จักข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ท่านสอนในชั้นเรียนดีเพียงใด ท่านอาจจะเตรียมแบบทดสอบด้วยวาจาหรือเขียน เช่นแจกคำไขจากที่คั่นหนังสือของเซมินารีและให้นักเรียนเขียนข้ออ้างอิงที่ถูกต้อง หรือท่านอาจจะดำเนินการทบทวนบางข้อที่นักเรียนท่องไว้แล้ว ท่านอาจต้องการบอกนักเรียนเรื่องแบบสอบถามหรือแบบทดสอบล่วงหน้าเพื่อพวกเขาจะได้เตรียมตัว

หมายเหตุ: หากท่านไม่มีเวลาทำกิจกรรมนี้ในบทเรียนนี้ ท่านอาจจะใช้ในวันอื่น ดูกิจกรรมทบทวนอื่นๆ ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 15:3–5 ความทุกข์ทรมานทางกายเกิดจากความผิดปกติทางวิญญาณ

ขณะที่ซีเอสรอมกลับใจ บาปของเขา “ทรมานจิตใจเขาจนกลายเป็นความเจ็บปวดยิ่ง” (แอลมา 15:3) ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงความเป็นจริงของความทุกข์ทรมานทางกายอันเกิดจากความผิดปกติทางกายดังนี้

“ข้าพเจ้า [เคย] ถามแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวว่าเขาทุ่มเทเวลาให้การแก้ไขความผิดปกติทางกายมากเท่าใด เขามีคนไข้มารักษาเป็นจำนวนมาก และหลังจากคิดพิจารณาแล้ว เขาตอบว่า ‘ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ เวลาที่เหลือดูเหมือนผมจะทำงานกับปัญหาที่ส่งผลอย่างมากต่อความผาสุกทางกายของผู้ป่วยแต่ไม่ได้เกิดในร่างกาย’

“‘ความผิดปกติทางกายเหล่านี้’ แพทย์สรุป ‘เป็นเพียงอาการของความกังวลใจบางอย่าง’

ในยุคหลังๆ นี้เราควบคุมหรือรักษาโรคหลักๆ ได้หลายโรค แต่มีโรคหลักๆ บางโรคยังอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะสามารถทำบางอย่างกับโรคส่วนใหญ่ได้

“มีอีกส่วนหนึ่งของเรา จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริงเท่าๆ กับร่างกายของเรา ส่วนที่จับต้องไม่ได้นี้ของเราเรียกว่าจิตใจ อารมณ์ สติปัญญา นิสัยใจคอ และอีกหลายอย่าง เราไม่ค่อยเรียกว่าวิญญาณ

“แต่มี วิญญาณ ในมนุษย์ การละเลยวิญญาณคือการละเลยความเป็นจริง มีความผิดปกติทางวิญญาณด้วย และโรคทางวิญญาณที่สามารถก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแสนสาหัส

“ร่างกายและวิญญาณของมนุษย์ผูกพันกัน” (“The Balm of Gilead,Ensign, Nov. 1977, 59)