คลังค้นคว้า
บทที่ 98: แอลมา 41


บทที่ 98

แอลมา 41

คำนำ

แอลมายังคงให้คำแนะนำโคริแอนทอนบุตรชายต่อไปโดยสอนว่าแผนแห่งการนำกลับคืนไม่รวมเฉพาะการฟื้นคืนชีวิตทางกายเท่านั้นแต่รวมการนำกลับคืนทางวิญญาณด้วยซึ่งสภาพนิรันดร์ของเราสะท้อนการกระทำและความปรารถนาในความเป็นมรรตัยของเรา แอลมาเน้นว่าความชั่วร้ายจะนำไปสู่ความสุขไม่ได้เลย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 41

แอลมาสอนโคริแอนทอนเรื่องแผนแห่งการนำกลับคืน

ขอให้ชั้นเรียนพิจารณาว่าการกระทำของบุคคลหนึ่งจะได้รับอิทธิพลอย่างไรถ้าพวกเขาเชื่อคำกล่าวต่อไปนี้ (หยุดครู่หนึ่งหลังจากอ่านแต่ละข้อเพื่อให้นักเรียนได้ไตร่ตรอง)

ไม่มีชีวิตหลังความตาย

หลังจากเราตาย เราจะได้รับการทำให้ดีพร้อมโดยไม่คำนึงถึงงานของเราบนแผ่นดินโลก

ในการพิพากษาครั้งสุดท้าย เราจะได้รับรางวัลตอบแทนการทำดีของเราและถูกลงโทษตอบแทนการทำไม่ดีของเรา

  • เหตุใดการมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราหลังจากเราตายจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เตือนความจำของนักเรียนว่าใน แอลมา 40 พวกเขาเรียนรู้คำสอนของแอลมาที่ให้แก่โคริแอนทอนเกี่ยวกับโลกวิญญาณ การฟื้นคืนชีวิต และการพิพากษา อธิบายว่าใน แอลมา 41 เราเรียนรู้ว่าโคริแอนทอนสับสนเพราะสิ่งที่คนบางคนสอนเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต หยิบยกวลี “หลงไปไกล” ใน แอลมา 41:1 และเชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านข้อนี้โดยหาดูว่าอะไรกำลังทำให้บางคนหลงไป

  • เหตุใดบางคนจึงหลงไป (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าการบิดเบือนพระคัมภีร์คือการทำให้เบี่ยงเบน ผิดไป หรือเปลี่ยนความหมายของพระคัมภีร์)

  • แอลมาบอกว่าเขาจะอธิบายอะไรให้โคริแอนทอนฟัง

เมื่อนักเรียนระบุคำว่า การนำกลับคืน ท่านอาจต้องการเขียนคำนั้นไว้บนกระดาน อธิบายว่า การนำกลับคืน หมายถึงการนำกลับหรือกลับคืนสู่สภาพเดิม

อธิบายว่าแอลมาต้องการให้โคริแอนทอนเข้าใจว่ามีแง่มุมทางกายและแง่มุมทางวิญญาณของสิ่งที่เขาเรียกว่า “แผนแห่งการนำกลับคืน” (แอลมา 41:2) เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า แอลมา 41:2–5 ในใจโดยมองหาสิ่งที่เราจะได้กลับคืนทางกายหลังจากความตายและสิ่งที่เราจะได้กลับคืนทางวิญญาณ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ

  • อะไรคือแง่มุมทางกายของแผนแห่งการนำกลับคืนดังที่กล่าวไว้ใน แอลมา 41:2 (ในการฟื้นคืนชีวิต วิญญาณจะกลับคืนสู่ร่างกาย และทุกส่วนของร่างกายจะกลับคืนสู่ร่างกายนั้น)

  • อะไรคือแง่มุมทางวิญญาณของแผนแห่งการนำกลับคืนดังที่บรรยายไว้ใน แอลมา 41:3–5 (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: เราจะถูกนำกลับคืนสู่ความสุขหรือไม่ก็ความเศร้าหมองตามงานและความปรารถนาของเราในความเป็นมรรตัย)

เชื้อเชิญนักเรียนให้สมมติว่าพวกเขากำลังสอนข้อเหล่านี้ในชั้นเรียนปฐมวัย

  • ท่านจะอธิบายหลักคำสอนเรื่องการนำกลับคืนทางวิญญาณให้เด็กๆ เข้าใจได้อย่างไร

เตือนความจำของนักเรียนว่าโคริแอนทอนฝ่าฝืนกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศและละทิ้งหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นผู้สอนศาสนาของเขา (ดู แอลมา 39:2–4)

  • ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องการนำกลับคืนทางวิญญาณช่วยให้โคริแอนทอนทำการเลือกได้ดีขึ้นอย่างไร การเข้าใจหลักคำสอนเรื่องนี้สามารถมีอิทธิพลต่อการกระทำและความปรารถนาของเราได้อย่างไร

เป็นพยานถึงความจริงของหลักคำสอนนี้ และแบ่งปันความคิดของท่านเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าในการนำเราแต่ละคนกลับคืนสู่ความดีหรือความชั่วตามความปรารถนาและการกระทำของเรา

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน: จะเป็นอย่างไรถ้าฉันทำบาป

  • ตามแผนแห่งการนำกลับคืน เราได้รับอะไรถ้าเราทำบาป

  • มีวิธีให้ความดีและความสุขกลับคืนสู่เราหรือไม่เมื่อเราทำบาป

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 41:6–9 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้ความดีและความสุขกลับคืนสู่เราแม้เมื่อเราทำบาป (เราต้องกลับใจและปรารถนาความชอบธรรมตลอดชีวิตเรา)

  • คำหรือวลีใดใน แอลมา 41:6–7 บอกว่าเราต้องรับผิดชอบสิ่งที่เราได้รับในการฟื้นคืนชีวิต เราเป็นผู้พิพากษาตัวเราในความหมายใด (การเลือกของเราในความเป็นมรรตัยกำหนดรูปแบบการพิพากษาที่เราได้รับเมื่อเรายืนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า)

ชี้ให้เห็นว่าบางคนคิดว่าพวกเขาสามารถกลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของตน พวกเขามักพูดว่าการเลือกทำบาปเป็นเรื่องสนุก บางครั้งคนที่ทำบาปอาจจะดูเหมือนมีความสุข

เชื้อเชิญนักเรียนให้ยืนอ่านออกเสียง แอลมา 41:10 พร้อมกัน ชี้ให้เห็นว่า แอลมา 41:10 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อนี้ให้ชัดเจนเพื่อพวกเขาจะหาเจอได้โดยง่าย (เนื่องจากเป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ด้วยเหตุนี้ท่านอาจจะให้พวกเขาท่องพร้อมกันมากกว่าหนึ่งครั้ง ท่านอาจถามว่าใครในชั้นสามารถท่องจากความทรงจำได้) เมื่อท่องจบแล้ว ขอให้ชั้นเรียนนั่งลง เขียนบนกระดานว่า “ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย”

  • เหตุใด “ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย” จึงเป็นความจริง

  • อะไรคือตัวอย่างวิธีที่ซาตานอยากให้เราฝ่าฝืนพระบัญญัติและเชื่อว่าเรายังประสบความสุขได้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นค่าความแตกต่างระหว่างความพึงพอใจทางโลกเพียงชั่วประเดี๋ยวกับความสุขที่พระเจ้าทรงมอบให้ ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เกลนน์ แอล. เพซแห่งสาวกเจ็ดสิบ

“กิจกรรมที่พระเจ้าทรงห้ามมาตลอดและสังคมไม่สนับสนุนมาหลายปีเวลานี้กลับเป็นที่ยอมรับและส่งเสริมโดยสังคมเดียวกันนั้น สื่อจัดหากิจกรรมเหล่านี้ไว้ในรูปแบบที่ทำให้ดูเหมือนเป็นที่ต้องการอย่างมาก …

“… อย่าหลงผิดคิดว่าความพึงพอใจของทีเลสเชียลเป็นความสุขและปีติของซีเลสเชียล อย่าหลงผิดคิดว่าการไม่ควบคุมตนเองเป็นอิสรภาพ อิสรภาพที่สมบูรณ์โดยไม่มีการยับยั้งชั่งใจอย่างเหมาะสมทำให้เราตกเป็นทาสความอยากของเรา อย่าอิจฉาชีวิตที่น้อยกว่าและต่ำกว่า …

“… พระบัญญัติที่ท่านถือปฏิบัติไม่ได้ประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้าที่ไร้อารมรณ์เพื่อกีดกันเราจากความสนุกสนาน แต่ประทานโดยพระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงรักเราและทรงต้องการให้เรามีความสุขขณะอยู่บนโลกนี้และในชีวิตหลังจากนี้” (“They’re Not Really Happy,” Ensign, Nov. 1987, 39–40)

เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ แอลมา 41:10 (ข้อความที่พบใน “To ‘the Rising Generation,’” New Era, June 1986, 5)

“ท่านไม่สามารถทำผิดแล้วรู้สึกถูก เป็นไปไม่ได้!” (ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน)

บอกนักเรียนว่า แอลมา 41:11 อธิบายว่าเหตุใดจึงมีความสุขจริงๆ ไม่ได้เมื่อเลือกผิด ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดาน (ท่านอาจต้องการทำเช่นนั้นก่อนชั้นเรียนเริ่ม) หรือเตรียมเป็นเอกสารแจกให้นักเรียนแต่ละคน จัดนักเรียนเป็นคู่ๆ และแนะนำพวกเขาให้จับคู่แต่ละวลีจาก แอลมา 41:11 กับความหมายของวลีนั้น เชื้อเชิญพวกเขาให้สนทนาคำถามที่ให้มา

วลีต่างๆ ใน แอลมา 41:11 ที่พูดถึงการอยู่ใน “สภาพแห่งธรรมชาติ”

ความหมาย

  1. “ในสภาพทางเนื้อหนัง”

  1. ถูกจำกัดและเป็นทุกข์เพราะบาปของเรา

  1. “ในดีแห่งความขมขื่นและพันธนาการแห่งความชั่วช้าสามานย์”

  1. การขาดพรและการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้า การสูญเสียความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  1. “ในโลกโดยไม่มีพระผู้เป็นเจ้า”

  1. ถูกความประสงค์ของเนื้อหนังควบคุม

ในข้อนี้เราเห็นว่า “ธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้า” คือ “ธรรมชาติของความสุข” สิ่งนี้บอกอะไรท่านว่าเหตุใดความผิดบาปจึงตรงข้ามกับธรรมชาติของความสุข

มีตัวอย่างเฉพาะเจาะจงอะไรบ้างของสาเหตุที่ผู้คนอาจจะรู้สึกตัวว่าอยู่ในสภาพของความทุกข์

(คำตอบ: 1-ค, 2-ก, 3-ข)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าการดึงดันอยู่ใน “สภาพแห่งธรรมชาติ” เกี่ยวข้องอย่างไรกับหลักคำสอนเรื่องการนำกลับคืน ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน แอลมา 41:12 หลังจากอ่านข้อนี้แล้ว ขอให้นักเรียนตอบคำถามของแอลมา จากนั้นให้นักเรียนอ่านคำตอบของแอลมาสำหรับคำถามของเขาเองใน แอลมา 41:13 (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายสิ่งที่แอลมาบอกว่าจะกลับคืนมาสู่ตัวเราอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนแห่งการนำกลับคืน)

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขามีเพื่อนคนหนึ่งกำลังเลือกกระทำตรงกันข้ามกับพระบัญญัติของพระเจ้าแต่ต้องการให้นำกลับคืนสู่ความชอบธรรม เชื้อเชิญนักเรียนให้อธิบายหลักคำสอนเรื่องการนำกลับคืนกับคู่ เสมือนหนึ่งพวกเขาเป็นเพื่อนคนนั้น โดยใช้ แอลมา 41:12–13 (นักเรียนอาจจะใช้คำพูดของตนเองหรือใช้ข้อความที่เขียนไว้บนกระดาน: “เราจะถูกนำกลับคืนสู่ความสุขหรือความเศร้าหมองตามงานและความปรารถนาของเราในความเป็นมรรตัย”)

ให้นักเรียนดูบูเมอแรงหรือวาดรูปบูเมอแรงบนกระดาน

ถามนักเรียนว่าบูเมอแรงทำอะไรเมื่อขว้างอย่างถูกต้อง (มันจะกลับมายังจุดที่ขว้างออกไป) ขอให้พวกเขาอ่าน แอลมา 41:14–15 ในใจ โดยมองหาวิธีใช้บูเมอแรงแทนความจริงที่สอนในข้อเหล่านี้ (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อเหล่านี้) เชื้อเชิญนักเรียนให้อธิบายสิ่งที่พบ

  • ท่านหวังจะได้รับสิ่งใดบ้างจากผู้อื่น และจากพระเจ้าในชีวิตนี้และในชีวิตหน้า (คำตอบอาจได้แก่ ความกรุณา ความเมตตา ความรัก ท่านอาจเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • ท่านให้คุณความดี ความเมตตา หรือความกรุณาต่อผู้อื่นและได้รับตอบแทนในภายหลังเมื่อใด

กระตุ้นนักเรียนให้ตั้งเป้าหมายที่จะกระทำในด้านต่างๆ และพัฒนาเจตคติที่สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาหวังให้อะไรกลับคืนสู่ตนเองในชีวิตนี้และในชีวิตหน้า เป็นพยานถึงความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อเรากระทำด้วยความชอบธรรม

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—แอลมา 41:10

หมายเหตุ: เนื่องด้วยลักษณะและความยาวของบทนี้ ท่านอาจต้องการใช้กิจกรรมนี้ในวันอื่นเมื่อท่านมีเวลาเพิ่ม

เขียนบนกระดานดังนี้: … เป็นความสุข

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงคำพูดกลับกันของหลักคำสอนที่สอนใน แอลมา 41:10 (คำตอบหนึ่งได้แก่ “ความชอบธรรมเป็นความสุข”) จากนั้นให้นักเรียนเขียนการกระทำอันชอบธรรมบางอย่างที่พวกเขารู้สึกว่าเหมาะจะเติมในช่องว่าง (ตัวอย่างเช่น “การรับใช้ผู้อื่นเป็นความสุข”) ถามนักเรียนว่าพวกเขาสามารถเป็นพยานได้หรือไม่ว่าการกระทำอันชอบธรรมเหล่านี้ การกระทำใดนำไปสู่ความสุข หลังจากนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์และประจักษ์พยานแล้ว ให้เชิญชั้นเรียนเขียนการกระทำอันชอบธรรมหนึ่งหรือสองประการลงในบัตรแข็งหรือแผ่นกระดาษพกติดกระเป๋าที่พวกเขาสามารถทำได้ในระหว่างสัปดาห์เพื่อเพิ่มความสุขของตน กระตุ้นพวกเขาให้พกกระดาษไปด้วยเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและรายงานความพยายามของพวกเขาในวันหน้า

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

แอลมา 41:10 ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย

ข้อความต่อไปนี้จาก แน่วแน่ต่อศรัทธา เสริมแนวคิดที่ว่านักเรียนสามารถมีความสนุกสนานและพบความสุขได้ในความชอบธรรม

“คนเป็นอันมากพยายามหาความสุขและสัมฤทธิผลในกิจกรรมที่ตรงข้ามกับพระบัญญัติของพระเจ้า เขาปฏิเสธแหล่งเดียวของความสุขที่แท้จริงโดยไม่แยแสแผนของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงวางไว้เพื่อเขา เขาก้มหัวให้มารผู้ ‘แสวงหาเพื่อจะให้มนุษย์ทั้งปวงเศร้าหมองเหมือนตัวเขา’ (2 นีไฟ 2:27) สุดท้ายพวกเขาเรียนรู้ความจริงที่แอลมาเตือนโคริแอนทอนบุตรชายว่า ‘ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย’ (แอลมา 41:10) …

“ขณะที่ท่านแสวงหาความสุข พึงจำไว้ว่าวิธีเดียวที่จะให้ความสุขแท้จริงคือ ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ท่านจะพบความสงบสุขนิรันดร์เมื่อท่านพยายามรักษาพระบัญญัติ สวดอ้อนวอนขอความเข้มแข็ง กลับใจจากบาป มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ดีงาม และให้การรับใช้ที่มีความหมาย ท่านจะรู้ว่ามีความสนุกสนานภายในขอบเขตที่พระบิดาที่รักในสวรรค์ทรงกำหนดไว้เท่านั้น” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 123–124)

แอลมา 41:10–11 มนุษย์ทั้งปวงอยู่ใน “สภาพแห่งธรรมชาติ”

ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์สอนว่าเรามีธรรมชาติสองส่วนและมีความสามารถในการเลือกความสุขผ่านการเป็นนายตนเอง

การดำเนินชีวิตตามความจริงและความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมนำมาซึ่งปีติและความสุข ขณะที่การฝ่าฝืนกฎทางศีลธรรมและทางสังคมรังแต่จะก่อให้เกิดความไม่พอใจ ความเศร้าโศกเสียใจ และก่อให้เกิดความเสื่อมทรามเมื่อถึงขีดสุด

“มนุษย์มีธรรมชาติสองส่วน—ส่วนหนึ่ง เกี่ยวข้องกับชีวิตทางโลกหรือชีวิตสัตว์ และอีกส่วนหนึ่ง ชีวิตทางวิญญาณ เกี่ยวเนื่องกับความเป็นพระผู้เป็นเจ้า ร่างกายมนุษย์เป็นเพียงร่างให้วิญญาณเขาอยู่ คนมากมายเหลือเกิน คนมากมายยิ่งนัก มักถือว่าร่างกายเป็นมนุษย์ และด้วยเหตุนี้จึงมุ่งพยายามสนองความพึงพอใจ ความอยาก ความปรารถนา และความลุ่มหลงของร่างกาย คนน้อยนักตระหนักว่ามนุษย์จริงๆ คือวิญญาณอมตะ ซึ่ง ‘ความรู้แจ้งหรือความสว่างของความจริง’ มีตัวตนอยู่จริงก่อนร่างกายถือกำเนิดขึ้นมา ตัวตนทางวิญญาณนี้ พร้อมด้วยลักษณะที่โดดเด่นทั้งหมดทางวิญญาณ จะยังคงอยู่ต่อไปหลังจากร่างกายหยุดตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางโลก

“ไม่ว่ามนุษย์จะยังคงพึงพอใจในสิ่งที่เรากำหนดให้โลกของสัตว์ พึงพอใจกับสิ่งที่โลกของสัตว์จะให้เขา โดยยอมอย่างง่ายดายต่อความเพ้อฝันอันเนื่องจากความอยากและกิเลสตัณหาของตน ถลำลึกมากขึ้นทุกขณะสู่โลกของความหลงระเริง หรือไม่ว่าจะขึ้นสู่ความสุขเกษมทางปัญญา ทางศีลธรรม และทางวิญญาณโดยผ่านการควบคุมตนเอง ทั้งหมดนี้ล้วนขึ้นอยู่กับการเลือกที่เขาทำทุกวัน ไม่เพียงเท่านี้ แต่ทุกชั่วโมงของชีวิตเขา” (ใน Conference Report, Apr. 1967, 6–7)

แอลมา 41:11 “ตรงกันข้ามกับธรรมชาติของความสุข”

เอ็ลเดอร์เอฟ. เอนซิโอ บุสเชแห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่าการทุ่มเทศึกษาถ้อยคำของผู้รับใช้ที่ได้รับการเจิมของพระเจ้าจะช่วยให้เรารับรู้ว่าเมื่อใดเรากำลังถลำเข้าไปสู่สภาพตรงข้ามกับธรรมชาติของความสุข

“เราทุกคนมีแนวโน้มจะอยู่ในสภาพตรงข้ามกับธรรมชาติของความสุขเป็นครั้งคราว และไม่ใช่เพราะเราทำความชั่วร้ายหรือความชั่วช้าสามานย์เต็มพิกัด แต่ตราบใดที่เราอยู่ในสภาพการทดลองในโลกนี้ ปฏิปักษ์ย่อมสามารถมีอิทธิพลต่อเราได้ เราอาจจะประมาทไปหน่อย เราอาจจะละเลยความสัมพันธ์ของเรากับคนใกล้ชิดเราที่สุด … บางทีเราอาจจะยอมให้นิสัยไม่ดีหรือเจตคติไม่ดีเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาในชีวิตเรา หรือบางทีเราอาจถึงขั้นสูญเสียความเข้าใจบางส่วนในเรื่องความสำคัญของการรักษาพันธสัญญาอย่างเคร่งครัด หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่าเราอยู่ในสภาพอันตราย เราต้องระวัง เราไม่สามารถนิ่งเฉยกับสถานการณ์นั้นได้ เราอาจจะสังเกตว่าบางครั้งเราไม่มีความสุขเลย เราต้องฝืนยิ้มตลอดเวลา หรือบางทีเราอาจจะอยู่ในสภาพใกล้เคียงกับภาวะซึมเศร้า … แม้เราจะหลอกผู้อื่นได้ แต่เราไม่สามารถหลอกตนเอง และเราไม่สามารถหลอกพระเจ้าได้ …

“ผู้รับใช้ที่ได้รับการเจิมจากพระเจ้าสั่งสอนพระกิตติคุณอันสมบูรณ์ทั่วโลกเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้สภาพของตน เพื่อจะใกล้ชิดกับถ้อยคำของผู้ได้รับการเจิมจากพระเจ้า เราจำเป็นต้องอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ด้วยความตั้งใจมั่นและทุ่มเท …

“… พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้เรารับรู้สภาพความไม่สลักสำคัญและความเศร้าหมองของเรา (ดู โมไซยาห์ 4:11; แอลมา 26:12; ฮีลามัน 12:7; โมเสส 1:10) เฉพาะในวันแห่งการพิพากษาเท่านั้น เดี๋ยวนี้และทุกๆ วันในชีวิตมรรตัยของเรา พระองค์ทรงต้องการให้เราปรับปรุงการรับรู้ของเรา เพื่อเราจะเป็นผู้พิพากษาตัวเราเอง ขณะพระองค์ทรงเรียกเรามาสู่กระบวนการต่อเนื่องของการกลับใจ” (“University for Eternal Life,Ensign, May 1989, 72)

แอลมา 41:11 เราสามารถเปลี่ยนธรรมชาติของเราผ่านพระคุณของพระคริสต์

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“เนื้อแท้ของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นพื้นฐานและถาวรของนิสัยเราซึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่เราวางใจใน ‘ความดีงาม, และพระเมตตา และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์’ (2 นีไฟ 2:8) เมื่อเราเลือกทำตามพระอาจารย์ เราเลือกรับการเปลี่ยน—เกิดใหม่ทางวิญญาณ” (“ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 25)