บทเรียนการศึกษาที่บ้าน
โมไซยาห์ 26–แอลมา 4 (หน่วย 14)
คำนำ
บทนี้ให้นักเรียนได้ทบทวนหลักธรรมเรื่องการกลับใจและไตร่ตรองว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์—เช่นเดียวกับแอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของโมไซยาห์ จงสวดอ้อนวอนขอการนำทางเพื่อให้รู้ว่าท่านจะช่วยนักเรียนแสวงหาการเปลี่ยนแปลงนี้ในชีวิตพวกเขาได้ดีที่สุดอย่างไร
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
โมไซยาห์ 26
แอลมาได้รับการดลใจเกี่ยวกับวิธีพิพากษาคนที่ทำบาปร้ายแรง
เพื่อเริ่มบทนี้ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านสรุปบทตอนต้น โมไซยาห์ 26 อ่านสถานการณ์ต่อไปนี้ให้ชั้นเรียนฟัง ขอให้นักเรียนคิดว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อช่วยบุคคลในแต่ละสถานการณ์
-
เยาวชนหญิงคนหนึ่งทำบาปร้ายแรง แต่เธอกลัวไม่กล้าพูดกับอธิการ
-
เยาวชนชายคนหนึ่งมีความปรารถนาจะกลับใจ แต่เขาไม่รู้จะทำอย่างไร
-
เยาวชนหญิงคนหนึ่งทำบาปที่เคยทำซ้ำอีกครั้ง และเธอกังวลว่าพระเจ้าจะไม่ทรงให้อภัยเธออีก
-
เยาวชนชายคนหนึ่งตัดสินใจกลับใจ แต่เขาไม่ยอมให้อภัยคนที่ล่วงเกินเขา
เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: โมไซยาห์ 26:21–23, 29–31 อธิบายให้นักเรียนฟังว่าข้อเหล่านี้บันทึกการเปิดเผยของพระเจ้าต่อแอลมาเกี่ยวกับคนที่ทำบาปร้ายแรง เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านข้อเหล่านี้และระบุหลักธรรมอย่างน้อยหนึ่งข้อที่อาจจะช่วยคนใดคนหนึ่งในรายการข้างต้น ขอให้นักเรียนหลายคนแบ่งปันคำตอบกับชั้นเรียน ท่านอาจต้องการแบ่งปันคำตอบและประจักษ์พยานของท่านเช่นกันเกี่ยวกับหลักธรรมเรื่องการกลับใจที่พบใน โมไซยาห์ 26
เตือนความจำของนักเรียนว่าพวกเขาได้วางแผนประยุกต์ใช้หลักธรรมหนึ่งข้อที่พวกเขาเรียนรู้จาก โมไซยาห์ 26 ในการพยายามกลับใจ กระตุ้นพวกเขาให้ทำตามแผนต่อไป
โมไซยาห์ 27–28
แอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของโมไซยาห์กลับใจและเกิดใหม่
เพื่อยกตัวอย่างของคนที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงประสบการณ์ต่อไปนี้ที่เล่าโดยเอ็ลเดอร์คีธ เค. ฮิลบิกแห่งสาวกเจ็ดสิบ
“[เอ็ลเดอร์วัยหนุ่มคนหนึ่งที่รับใช้ในยุโรปตะวันออก] กับคู่ของเขาพบและสอนชายวัยกลางคนคนหนึ่งชื่ออีวาน … ผู้สนใจของพวกเขามาจากสภาพภูมิหลังที่ไม่สู้ดี ดูได้จากเสื้อผ้าเก่าคร่ำคร่า หนวดเครารุงรัง และท่าทางลังเล ชีวิตทารุณและโหดร้ายต่อเขา
“โดยที่ไม่เคยได้รับการอบรมทางศาสนามาก่อน อีวานจึงต้องเอาชนะหลายอย่าง เขาต้องละทิ้งการปฏิบัติซึ่งไม่สอดคล้องกับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ต้องยอมรับหลักธรรมใหม่ๆ และนำมาปฏิบัติ อีวานต้องการเรียนรู้ เขาเตรียมตัวอย่างดีเพื่อบัพติศมาและการยืนยันของเขา เสื้อผ้าของเขายังคงขาดวิ่นและหนวดเครารุงรัง แต่เขาผ่านก้าวแรกมาแล้ว ไม่นานหลังจากอีวานรับบัพติศมา ผู้สอนศาสนาย้าย เขาหวังว่าจะได้พบอีวานอีก
“หกเดือนต่อมา ประธานคณะเผยแผ่ส่งเอ็ลเดอร์วัยหนุ่มคนดังกล่าวกลับไปที่สาขาเดิมของเขา เขาแปลกใจมากแต่ก็อยากกลับไป เขากับคู่คนใหม่มาการประชุมศีลระลึกแต่เช้าในวันอาทิตย์แรกที่กลับมาสาขานี้ …
“เอ็ลเดอร์จำเกือบทุกคนในสาขาเล็กๆ นี้ได้ แต่เขาไม่เห็นคนที่เขากับคู่เคยสอนและให้บัพติศมาเมื่อหกเดือนก่อน เขารู้สึกผิดหวังและเสียใจ …
“ความกลัวและห้วงคำนึงของเอ็ลเดอร์ถูกขัดจังหวะเมื่อชายที่ไม่คุ้นหน้าคุ้นตาเดินรี่เข้ามาสวมกอดเขา ชายหน้าตาเกลี้ยงเกลาคนนั้นมีรอยยิ้ม มั่นใจ และความดีงามฉายออกมาจากสีหน้าของเขา เขาสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว ผูกเน็กไทเรียบร้อย และกำลังเตรียมศีลระลึกให้ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มเล็กๆ ในเช้าวันสะบาโตนั้น เมื่อชายคนดังกล่าวเริ่มพูด เอ็ลเดอร์จึงจำได้ เขาเป็นอีวานคนใหม่ ไม่ใช่อีวานคนเก่าที่พวกเขาเคยสอนและให้บัพติศ-มา! เอ็ลเดอร์เห็นปาฏิหาริย์แห่งศรัทธา การกลับใจ และการให้อภัยในตัวเพื่อนของเขา เขาเห็นความเป็นจริงของการชดใช้
“… [อีวาน] ประสบ ‘การเปลี่ยนแปลงในใจ’ (แอลมา 5:26) มากพอที่จะรับบัพติศมาและมุ่งหน้าในกระบวนการต่อเนื่องของการเปลี่ยนใจเลื่อมใส” (ดู “ประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจ,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2008, หน้า 39–41)
ถาม: หลักฐานใดในเรื่องแสดงให้เห็นว่าอีวานเปลี่ยนแล้ว (พึงให้ความกระจ่างว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอกของอีวานเป็นตัวบ่งบอกการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในตัวเขา)
เตือนความจำของนักเรียนว่า โมไซยาห์ 27 พูดถึงอีกประสบการณ์หนึ่งของการเปลี่ยนแปลงผ่านการชดใช้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมายืนหน้าชั้นและสรุป โมไซยาห์ 27 นักเรียนอาจจะให้ดูภาพการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาผู้บุตร ถ้ามี (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 77) ขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน โมไซยาห์ 27:24–26 แล้วขอให้ชั้นเรียนระบุว่าใครต้องเปลี่ยนผ่านการชดใช้ หรือ “เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า” ขณะที่นักเรียนตอบ พวกเขาควรแสดงความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงนี้: เราแต่ละคนต้องเกิดใหม่ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
ถาม: ท่านเคยเห็นบางคนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์อย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองคำถามที่ผู้สอนศาสนาในเรื่องถามตนเองหลังจากกลับมาพบอีวานอีกครั้ง: “‘ฉัน ประสบกับ “การเปลี่ยนแปลงในใจ” มากเพียงใดในหกเดือนที่ผ่านมา’ … ‘ฉัน“เกิดใหม่” แล้วหรือ’” (อ้างใน คีธ เค. ฮิลบิก, “ประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจ,” หน้า 41)
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 27:24, 28 โดยมองหาสิ่งที่แอลมาทำและสิ่งที่พระเจ้าทรงทำอันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวแอลมา ขอให้นักเรียนอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงเชื่อว่าทั้งตัวบุคคลและพระเจ้าต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ
เตือนความจำของนักเรียนว่าพวกเขาได้เติมวลีในแผนภูมิที่แสดงความแตกต่างในตัวแอลมาก่อนและหลังจากเขาเปลี่ยนแปลงในใจ (ในบทเรียนวัน 2) ในงานมอบหมาย 2 สำหรับวัน 2 นักเรียนเขียนหนึ่งวลีจากคอลัมน์ “หลัง” ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ที่พวกเขาหวังจะให้ตนเองเป็นแบบนั้นตลอดชีวิตและอธิบายว่าเพราะเหตุใด เชิญนักเรียนหลายคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน เป็นพยานว่าการเปลี่ยนแปลงในใจเกิดขึ้นกับเราได้โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาเคยเปลี่ยนแปลงผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์อย่างไร เชื้อเชิญพวกเขาให้แบ่งปันความคิดถ้าพวกเขาปรารถนา ท่านอาจต้องการแบ่งปันว่าท่านเคยเปลี่ยนแปลงผ่านการชดใช้อย่างไร
กระตุ้นนักเรียนให้ทำจนประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจเพื่อพวกเขาจะใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นและยอมให้การชดใช้สร้างความแตกต่างในชีวิตพวกเขา
ลอกแผนภูมิต่อไปนี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียนเริ่ม หรือทำสำเนาแจกให้นักเรียนแต่ละคน:
แอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์เปลี่ยนแปลงอย่างไร ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้ ท่านคิดว่าเหตุใดการชดใช้ความเสียหายจึงเป็นส่วนสำคัญของการกลับใจ |
พวกบุตรของโมไซยาห์เปลี่ยนแปลงอย่างไร ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้ ประสบการณ์ใดบ้างในชีวิตท่านที่นำท่านให้ต้องการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น |
ขอให้นักเรียนครึ่งห้องตอบคำถามในคอลัมน์แรกของแผนภูมิและอีกครึ่งห้องตอบคำถามในคอลัมน์ที่สอง ให้นักเรียนต่างคนต่างทำ เชิญนักเรียนสองสามคนจากแต่ละกลุ่มรายงานคำตอบของพวกเขา
เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำการชดใช้บาปของตนและเพิ่มความปรารถนาในการแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นได้อย่างไร
โมไซยาห์ 29–แอลมา 4
พระผู้เป็นเจ้าประทานพรชาวนีไฟที่ยังคงชอบธรรมในช่วงเวลาของการข่มเหง
เตือนความจำของนักเรียนว่าบทแรกของแอลมาพูดถึงช่วงเวลาของความยุ่งยากและการข่มเหงชาวนีไฟที่ชอบธรรม เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอล-มา 1:25, 27 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุว่าชาวนีไฟเหล่านี้ทำอะไรในช่วงเกิดการข่มเหง
ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าประทานพรชาวนีไฟที่ชอบธรรมเพื่อให้พวกเขารุ่งเรืองมากกว่าคนชั่วร้าย (ดู แอลมา 1:29–32) ขอให้นักเรียนพยายามทำตามแบบอย่างของชาวนีไฟที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ขณะพวกเขาเผชิญความยากลำบากในชีวิต
หน่วยต่อไป (แอลมา 5–10)
ท่านรู้ได้อย่างไรว่าท่านเกิดใหม่แล้ว การเกิดใหม่หมายความว่าอย่างไร ขณะที่นักเรียนศึกษา แอลมา 5–10 พวกเขาจะพบคำถามบางข้อที่สามารถถามตนเองได้เพื่อประเมินว่าพวกเขาเกิดใหม่และประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจแล้วหรือไม่ นอกจากนี้พวกเขาจะเข้าใจความลึกซึ้งและเดชานุภาพของการชดใช้มากขึ้นด้วย