คลังค้นคว้า
การศึกษาที่บ้านหน่วย 16


บทเรียนการศึกษาที่บ้าน

แอลมา 11–16 (หน่วย 16)

การเตรียมเนื้อหาสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ต่อไปนี้เป็นใจความสรุปหลักคำสอนและหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา แอลมา 11–16 (หน่วย 16) ไม่ได้ตั้งใจจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน บทที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมบางประการเหล่านี้ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะท่านพิจารณาสิ่งที่นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้

วัน 1 (แอลมา 11)

โดยผ่านตัวอย่างการโต้เถียงของอมิวเล็คกับซีเอสรอม นักเรียนเรียนรู้ว่าเมื่อเราวางใจพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราย่อมสามารถเอาชนะการล่อลวงได้ ในการสอนซีเอสรอมและผู้คนในแอมัน-ไนฮาห์ อมิวเล็คเน้นหลักคำสอนต่อไปนี้เกี่ยวกับบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอด: ศรัทธาแท้จริงในพระเยซูคริสต์เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการไถ่จากบาปของเรา โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ทุกคนจะฟื้นคืนชีวิตและได้รับการพิพากษาตามงานของพวกเขา

วัน 2 (แอลมา 12)

เช่นเดียวกับอมิวเล็ค แอลมาสอนซีเอสรอมและผู้คนในแอมัน-ไนฮาห์ เขาอธิบายเจตนาของมารและประกาศว่าซีเอสรอมอยู่ในอำนาจของมาร แอลมากับอมิวเล็คแสดงตัวอย่างให้เห็นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถช่วยให้เรารู้ทันการล่อลวงของปฏิปักษ์ แอลมาช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงทางวิญญาณต่อเราตามความเอาใจใส่และความขยันหมั่นเพียรที่เราให้แก่พระวจนะของพระองค์ เขาสอนเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้ายด้วยโดยอธิบายว่าเราจะต้องรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับคำพูด งาน และความนึกคิดของเรา เขาเน้นว่าความเป็นมรรตัยเป็นเวลาให้เราเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า

วัน 3 (แอลมา 13)

แอลมาเตือนซีเอสรอมกับผู้คนว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งผู้ดำรงฐานะปุโรหิตนับจากการวางรากฐานของโลก ชายที่ใช้ศรัทธาอันยิ่งใหญ่และเลือกความชอบธรรมจะได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมล-คีเซเดคเพื่อนำผู้อื่นมาหาพระผู้เป็นเจ้า นักเรียนเรียนเรื่องเมล-คีเซเดคกับผู้คนของเขาและใคร่ครวญความจริงนี้ นั่นคือ เมื่อเราตอบรับคำเชื้อเชิญให้กลับใจด้วยความนอบน้อมถ่อมตน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนำเราเข้าในสถานพักผ่อนของพระเจ้า

วัน 4 (แอลมา 14–16)

นักเรียนอ่านเรื่องสตรีผู้บริสุทธิ์และเด็กๆ กำลังตายด้วยน้ำมือคนชั่ว พวกเขาไตร่ตรองคำพยากรณ์ที่สอนว่าพระเจ้าทรงยอมให้คนชอบธรรมทนทุกข์ด้วยน้ำมือคนชั่วเพื่อให้การพิพากษาของพระองค์เที่ยงธรรม นักเรียนสังเกตในชีวิตของแอลมาและอมิวเล็คว่าเมื่อเราวางใจในพระเจ้า พระองค์ทรงเพิ่มพละกำลังให้เราในช่วงการทดลองของเรา หากเราร้องทูลพระเจ้าด้วยศรัทธา พระองค์จะทรงเพิ่มพละกำลังให้เราในความทุกข์และทรงปลดปล่อยเราในวิธีและเวลาของพระองค์เอง

คำนำ

ขณะที่แอลมาและอมิวเล็คเริ่มสอนผู้คนในแอมันไนฮาห์ พวกเขาพบกับการต่อต้าน หลังจากพวกเขาอธิบายความจริงนิรันดร์หลายประการแล้ว คนจำนวนมาก “เริ่มกลับใจ, และค้นคว้าพระคัมภีร์” (แอลมา 14:1) เรื่องราวใน แอลมา 11–16 แสดงให้เห็นการเสียสละที่ผู้คนเต็มใจทำเพื่อประจักษ์พยานของพวกเขาในความจริง บทเหล่านี้ให้หลักฐานเช่นกันว่าเมื่อคนชั่ว “ขับคนชอบธรรม” พระเจ้าจะทรงลงทัณฑ์พวกเขา “โดยความอดอยาก, และโดยโรคระบาด, และดาบ” (แอลมา 10:23) แอลมาและอมิวเล็คเตือนผู้คนในแอมันไนฮาห์ว่าถ้าพวกเขาไม่กลับใจ การพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้าจะเกิดกับพวกเขา โดยปฏิเสธการเรียกให้กลับใจ ผู้คนในแอมันไนฮาห์จึงถูกกองทัพชาวเลมันทำลายในเวลาต่อมา

บทนี้จะเน้น แอลมา 14–15 นอกจากนี้ท่านอาจต้องการสอนหรือทบทวนความจริงจากบทอื่นที่มอบหมายในสัปดาห์นี้

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 14–15

พระผู้เป็นเจ้าประทานพรคนที่ไว้วางใจพระองค์ในความทุกข์ของพวกเขา

ท่านอาจจะเริ่มบทเรียนวันนี้โดยพูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งผู้บริสุทธิ์ทนทุกข์เพราะการเลือกของผู้อื่น หรือท่านอาจจะขอให้นักเรียนยกตัวอย่างคนชอบธรรมจากพระคัมภีร์ผู้ถูกข่มเหงเพราะประจักษ์พยานของพวกเขาในพระกิตติคุณ หลังจากสนทนาสองสามตัวอย่างแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก แอลมา 14:7–11 และ แอลมา 60:13

ถามว่า: ข้อเหล่านี้ให้เหตุผลอะไรบ้างว่าทำไมบางครั้งพระเจ้าทรงยอมให้คนชอบธรรมทนทุกข์ด้วยน้ำมือคนชั่วร้าย (ความจริงประการหนึ่งที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษาส่วนนี้ของ แอลมา 14 คือ พระเจ้าทรงยอมให้คนชอบธรรมทนทุกข์ด้วยน้ำมือคนชั่วร้ายเพื่อให้การพิพากษาของพระองค์เที่ยงธรรม)

อธิบายว่าความยุติธรรมและความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าขยายเลยความตายออกไปเพื่อรับผิดชอบคนที่ทำบาปและเผื่อแผ่พระเมตตาไปยังคนชอบธรรม จากนั้นให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด

“การทนทุกข์ทั้งหมดนั้นจะไม่เป็นธรรมเลยหากทุกอย่างสิ้นสุดที่ความตาย แต่ไม่ใช่เช่นนั้น ชีวิตไม่เหมือนละครฉากเดียว ชีวิตมีถึงสามฉาก เรามีฉากอดีตเมื่อเราดำรงอยู่ก่อนเกิด และขณะนี้เรามีฉากปัจจุบันซึ่งคือความเป็นมรรตัย และเราจะมีฉากอนาคตเมื่อเรากลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า … เราถูกส่งมาสู่ความเป็นมรรตัยเพื่อรับการทดสอบและการทดลอง [ดู อับราฮัม 3:25] …

“เปาโลกล่าวว่า ความทุกข์ในอดีตและปัจจุบันของเราไม่อาจ ‘เปรียบกับศักดิ์ศรีซึ่งจะเผยให้แก่เรา [โรม 8:18] ในนิรันดร “เพราะหลังจากความยากลำบากมากมายจึงบังเกิดพร. ดังนั้นจึงมีวันที่เราจะสวมมงกุฎเจ้าด้วยรัศมีภาพยิ่ง’ [คพ. 58:4] ดังนั้นความยากลำบากจึงมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยให้เราได้เข้าในอาณาจักรซีเลสเชียล …

“สิ่งที่เกิดกับเราไม่สำคัญเท่าวิธีที่เรารับมือกับสิ่งที่เกิดกับเรา” (ดู “จุดยืนของข้าพเจ้าอยู่ที่ใด” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, หน้า 24–25)

อธิบายว่าความทุกข์ทรมานและความยากลำบากสามารถช่วยให้เราบรรลุความสูงส่งโดยทำให้ศรัทธาของเรามั่นคง การจรรโลงศรัทธาในช่วงการทดลองและความยุ่งยากแสดงให้เห็นความไว้วางใจในพระผู้เป็นเจ้าและแผนของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศรัทธาของเราแข็งแกร่งและสามารถอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ถามคำถามต่อไปนี้

  • การมีประจักษ์พยานในแผนแห่งความรอด รวมถึงชีวิตก่อนเกิดและชีวิตหลังความตาย สามารถบรรเทาทุกข์ที่เราประสบในความเป็นมรรตัยได้อย่างไร

  • โดยพิจารณาสิ่งที่ท่านศึกษาสัปดาห์นี้ใน แอลมา 14–15 คนชอบธรรมได้รับพรด้านใดบ้างในความทุกข์ของพวกเขา

  • ในช่วงเวลาของความทุกข์ เราสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเราวางใจพระผู้เป็นเจ้า

ให้นักเรียนเปรียบเทียบคำถามที่แอลมาถามใน แอลมา 14:26 กับคำถามที่โจเซฟ สมิธถามใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:3 จากนั้นให้ถามว่า ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 14:26 แอลมาและอมิวเล็คสามารถเอาชนะความทุกข์ของพวกเขาได้อย่างไร

อธิบายว่าเมื่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมในมิสซูรี เขาถามคำถามที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:3 ไม่เหมือนแอลมากับอมิวเล็ค เขาไม่ได้รับการปลดปล่อยจากคุกทันที เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเขา (ดู คพ. 121:7–9; 122:4–9) เราเน้นความจริงต่อไปนี้ในการศึกษาส่วนตัวของนักเรียนสัปดาห์นี้: หากเราเรียกหาพระเจ้าด้วยศรัทธา พระองค์จะทรงเพิ่มพละกำลังให้เราในความทุกข์ของเราและทรงปลดปล่อยเราในวิธีของพระองค์และในเวลาของพระองค์เอง

ถามคำถามต่อไปนี้

  • พระเจ้าทรงช่วยท่านอย่างไรเมื่อท่านประสบการทดลอง

  • อะไรช่วยให้ท่านยอมตามพระประสงค์ของพระองค์และยอมรับจังหวะเวลาของพระองค์

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าทั้งซีเอสรอมและอมิวเล็ควางใจพระผู้เป็นเจ้าในความทุกข์ของพวกเขาและได้รับรางวัลตามพระประสงค์ของพระองค์และในเวลาของพระองค์เอง

แนะนำนักเรียนครึ่งห้องให้อ่าน แอลมา 15:5–12 และระบุข้อมูลเกี่ยวกับซีเอสรอมที่แสดงให้เห็นว่าเขาวางใจพระเจ้ามากขึ้น แนะนำให้อีกครึ่งห้องศึกษา แอลมา 15:16, 18 และระบุข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่อมิวเล็คเสียสละเพื่อรับใช้พระเจ้า

กระตุ้นนักเรียนให้วางใจในพระเจ้าและยอมรับพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระองค์เมื่อความลำบากและความทุกข์เกิดกับพวกเขา รับรองกับพวกเขาว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงขยายเดชานุภาพและอิทธิพลของพระองค์ในวิธีที่น่าอัศจรรย์และเป็นส่วนตัว

การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

บทเรียนนี้ถือเป็นจุดกึ่งกลางในหลักสูตรเซมินารีวิชาพระคัมภีร์มอรมอน เพื่อเสริมความพยายามของนักเรียนในการเรียนรู้และเข้าใจข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจจะแจกแบบสอบถามเพื่อประเมินว่าพวกเขารู้จักข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ 13 ข้อที่ศึกษามาจนถึงเดี๋ยวนี้ดีเพียงใด อาจทำแบบทดสอบง่ายๆ ด้วยการสอบปากเปล่าหรือเขียน โดยแจกคำไขจากที่คั่นหนังสือและให้นักเรียนจดข้ออ้างอิง หรือท่านอาจจะทบทวนบางข้อที่นักเรียนท่องไว้แล้ว ความยาวของบทนี้อาจมีเวลาให้ทำแบบสอบถามของสัปดาห์นี้ หรือท่านอาจจะประกาศว่าครั้งหน้าจะมีแบบทดสอบเพื่อพวกเขาจะได้เตรียมตัว

หน่วยต่อไป (แอลมา 17–24)

พวกบุตรของโมไซยาห์ไปสั่งสอนคนชั่วและคนดุร้าย ตอนแรกพวกเขาประสบความทุกข์มากมาย แต่เมื่อพวกเขาสั่งสอนพระกิตติคุณให้ชาวเลมัน ปาฏิหาริย์จึงเกิดขึ้น จงสังเกตว่าความจงรักภักดีที่แอมันมีต่อพระผู้เป็นเจ้าและกษัตริย์ทำให้เกิดความชอบธรรมมากอย่างไร