คลังค้นคว้า
แอลมา


คำนำหนังสือของแอลมา

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

โดยศึกษาหนังสือของแอลมานักเรียนจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และความจำเป็นของการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ในแผนแห่งความรอด พวกเขาจะเรียนรู้เช่นกันเกี่ยวกับเดชานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเอาชนะการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิต หลักคำสอนเท็จ บาป ความเกลียดชัง การละทิ้งความเชื่อ และนำแต่ละบุคคลให้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ นักเรียนจะได้รับการจรรโลงใจและแรงบันดาลใจขณะอ่านเรื่องราวงานเผยแผ่ศาสนาของแอลมา อมิวเล็ค และพวกบุตรของโมไซยาห์ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสและความซื่อสัตย์ของชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ (ผู้คนของแอมัน) ขณะพวกเขาศึกษาบทต่างๆ เกี่ยวกับสงครามระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน พวกเขาจะได้เรียนรู้หลักธรรมอันจะนำทางพวกเขาในช่วงเวลาสับสนวุ่นวายที่พวกเขามีชีวิตอยู่และช่วยให้พวกเขามีชัยชนะในการสู้รบกับปฏิปักษ์

ใครเขียนหนังสือนี้

มอรมอนรวบรวมและย่อบันทึกจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟเพื่อทำเป็นหนังสือของแอลมา หนังสือนี้ตั้งชื่อตามแอลมาผู้เป็นบุตรของแอลมาและมักเรียกกันว่าแอลมาผู้บุตร เมื่อกษัตริย์โมไซยาห์ตั้งการปกครองของเหล่าผู้พิพากษาในบรรดาชาวนีไฟ แอลมาผู้บุตรได้เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาคนแรกและสืบทอดตำแหน่งมหาปุโรหิตดูแลศาสนจักรต่อจากบิดา (ดู โมไซยาห์ 29:42) ในที่สุดเขาลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาเพื่ออุทิศตน “เฉพาะฐานะปุโรหิตระดับสูง” และ “ประกาศพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าแก่ผู้คน” ทั่วแผ่นดินแห่งนีไฟ (แอลมา 4:20; 5:1) มอรมอนใช้บันทึกการปฏิบัติศาสนกิจของแอลมา (ดู แอลมา 1–44) และงานเขียนของบุตรแอลมา ได้แก่ฮีลามัน (ดู แอลมา 45–62) และชิบลัน (ดู แอลมา 63) เพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือของแอลมา

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

มอรมอนไม่ได้เขียนหนังสือของแอลมาถึงผู้อ่านเฉพาะกลุ่มหรือบอกว่าเหตุใดจึงเขียนหนังสือนี้ แต่คำสอนมากมายของหนังสือดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพระพันธกิจการไถ่ของพระเยซูคริสต์เอื้อต่อจุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์มอรมอนซึ่งคือการเป็นพยาน “ว่าพระเยซูคือพระคริสต์, พระผู้เป็นเจ้านิรันดร์” (ปกในของพระคัมภีร์มอรมอน; ดู แอลมา 5; 7; 13; 32–34; 36; 39–42 ด้วย)

เขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ใด

บันทึกดั้งเดิมที่ใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับหนังสือของแอลมาน่าจะเขียนระหว่าง 91 ปี ก่อนคริสตกาล และ 52 ปี ก่อนคริสตกาล มอรมอนย่อบันทึกเหล่านั้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 345 และ ค.ศ. 385 มอรมอนไม่ได้บันทึกว่าเขาเขียนที่ใดเมื่อรวมรวมหนังสือนี้

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

ถึงแม้หนังสือของแอลมาเป็นหนังสือยาวที่สุดในพระคัมภีร์มอรมอน แต่ครอบคลุมช่วงเวลาเพียง 29 ปีเท่านั้น—ประมาณ 91 ปี ก่อนคริสตกาล ถึง 52 ปี ก่อนคริสตกาล หนังสือบอกเล่าการทำงานเผยแผ่ศาสนาที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกในบรรดาชาวเลมัน อีกทั้งเน้นความซื่อสัตย์ของชาวเลมันที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสในการรักษาพันธสัญญาของพวกเขาด้วย (ดู แอลมา 23:6–7; 24) นอกจากนี้ หนังสือของแอลมายังรวมถึงคำสอนเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องการแต่งตั้งล่วงหน้าและการปฏิบัติศาสนกิจของเมลคีเซเดค (ดู แอลมา 13); เดชานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 31); วิธีพัฒนาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ (ดู แอลมา 32–34); ความร้ายแรงของการทำผิดกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ (ดู แอลมา 39); สภาพของวิญญาณเราหลังจากสิ้นชีวิต (ดู แอลมา 40); หลักคำสอนเรื่องการฟื้นคืนชีวิตและการนำกลับคืน (ดู แอลมา 40–41); บทบาทของความยุติธรรมกับความเมตตาในแผนแห่งการไถ่ของพระบิดาบนสวรรค์ (ดู แอลมา 42) หนังสือนี้มีคำแนะนำของพระเจ้าเกี่ยวกับการป้องกันตนเองและเหตุอันควรให้ทำสงครามเช่นกัน (ดู แอลมา 43:45–47)

สรุปย่อ

แอลมา 1–3 นีฮอร์แนะนำให้รู้จักการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตในบรรดาชาวนีไฟ แอลมานำชาวนีไฟที่ชอบธรรมปกป้องตนเองจากแอมลิไซและผู้ติดตามเขา ซึ่งรวมกำลังกับกองทัพชาวเลมัน หลังจากขัดขวางแอมลิไซจากการพยายามเป็นกษัตริย์และทำลายศาสนจักร ชาวนีไฟรบชนะกองทัพชาวเลมันอีกกองหนึ่ง

แอลมา 4–16 แอลมาลาออกจากการเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา เขาเดินทางไปทั่วแผ่นดินของชาวนีไฟเพื่อต่อกรกับความจองหองและความชั่วร้ายโดยการสั่งสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า อมิวเล็คสมทบกับแอลมา พวกเขาสั่งสอนเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ การฟื้นคืนพระชนม์ และความจำเป็นของการมีศรัทธาในพระเจ้าและการกลับใจ ซี-เอสรอมเปลี่ยนใจเลื่อมใสและรับบัพติศมา

แอลมา 17–28 พวกบุตรของโมไซยาห์และคนอื่นๆ สั่งสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในบรรดาชาวเลมันในแผ่นดินแห่งนีไฟ หลายพันคนเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสทิ้งอาวุธสงครามและไปอยู่ท่ามกลางชาวนีไฟ คนมากมายเสียชีวิตในการสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน

แอลมา 29–42 แอลมาปรารถนาจะนำจิตวิญญาณมาสู่การกลับใจ เขาทำให้คอริฮอร์ผู้ต่อต้านพระคริสต์จำนน ขณะสอนชาวโซรัมซึ่งเป็นชาวนีไฟกลุ่มหนึ่งที่แตกแยกออกมา แอลมาเปรียบเทียบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับเมล็ดพืชที่ต้องบำรุงเลี้ยงด้วยศรัทธา อมิวเล็คเป็นพยานถึงการชดใช้และสอนชาวโซรัมให้ใช้ศรัทธาจนถึงการกลับใจ แอลมาให้คำแนะนำและประจักษ์พยานส่วนตัวแก่ฮีลามัน ชิบลัน และโคริแอนทอนบุตรของเขา แอลมาฝากฝังบันทึกศักดิ์สิทธิ์ไว้กับฮีลามัน เขาสอนเกี่ยวกับโลกวิญญาณหลังความตาย การฟื้นคืนชีวิต บทบาทของความยุติธรรมและความเมตตาในแผนของพระผู้เป็นเจ้า

แอลมา 43–45 โดยถูกพวกที่แตกแยกจากชาวนีไฟยั่วยุให้โกรธ ชาวเลมันจึงมาทำสงครามกับชาวนีไฟ โมโรไนนำชาวนีไฟไปสู่ชัยชนะเหนือกองทัพของเซราเฮ็มนาห์ แอลมาสัมภาษณ์และให้พรฮีลามัน พยากรณ์เรื่องความพินาศของชาวนีไฟ และออกไปจากแผ่นดิน

แอลมา 46–63 โมโรไน ลีไฮ ทีแอนคัม ฮี-ลามัน และเพโฮรันนำชาวนีไฟไปสู่ชัยชนะเหนือกองทัพชาวเลมันที่ควบคุมโดยอแมลิ-ไคยาห์และแอโมรอน โมโรไนกับเพโฮรันปราบกบฏชาวนีไฟที่แตกแยกออกมาในชื่อว่าผู้ชื่นชอบราชาธิปไตย ชิบลันได้รับบันทึกชาวนีไฟและต่อมามอบให้ฮีลามันบุตรของฮีลามัน กองทัพของโมโรไนฮาห์ทำให้ชาวเลมันพ่ายแพ้ในการสู้รบอีกครั้ง