คลังค้นคว้า
บทที่ 144: อีเธอร์ 2


บทที่ 144

อีเธอร์ 2

คำนำ

หลังออกจากหอบาเบล พระเจ้าทรงนำเจเร็ดและพี่ชายกับครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขาผ่านแดนทุรกันดาร พระเจ้าทรงแนะนำพี่ชายของเจเร็ดให้สร้างเรือแปดลำเพื่อพาผู้คนของเขาข้ามทะเลไปแผ่นดินแห่งคำสัญญา เมื่อพี่ชายของเจเร็ดและผู้คนของเขาเชื่อฟังพระเจ้าด้วยศรัทธา พระเจ้าจึงประทานการนำทางและการชี้นำที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการเดินทางของพวกเขา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

อีเธอร์ 2:1–12

ชาวเจเร็ดเริ่มเดินทางไปแผ่นดินที่สัญญาไว้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าการทำตามคำแนะนำที่เราได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าสามารถเตรียมเราให้พร้อมรับการนำทางและการชี้นำจากพระองค์เพิ่มมากขึ้น จงดำเนิน กิจกรรมต่อไปนี้

ก่อนชั้นเรียนให้ซ่อนของบางอย่างแทนสมบัติชิ้นหนึ่งไว้ในห้องเรียน เตรียมชุดคำไขสามถึงสี่ชุดเพื่อนำทางนักเรียนไปหาสมบัติชิ้นนั้น ท่านจะให้คำไขข้อแรกแก่นักเรียน คำไขนั้นจะนำไปสู่คำไขอีกข้อหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่คำไขอีกข้อหนึ่ง เป็นเช่นนี้จนนักเรียนพบสมบัติ หลังจากพบแล้วให้ถามนักเรียนดังนี้

  • จะเกิดอะไรขึ้นถ้าท่านไม่สนใจคำไขข้อแรก (พวกเขาจะไม่พบคำไขข้อที่สอง)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน อีเธอร์ 1:41–42 ในใจโดยมองหาคำแนะนำชุดแรกของพระเจ้าเพื่อนำทางชาวเจเร็ดไปแผ่นดินที่สัญญาไว้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าชาวเจเร็ดตอบสนองคำแนะนำเหล่านี้อย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 2:1–3

  • ชาวเจเร็ดตอบสนองคำแนะนำชุดแรกของพระเจ้าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 2:4–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่ชาวเจเร็ดได้รับหลังจากพวกเขาทำตามคำแนะนำชุดแรก

  • เกิดอะไรขึ้นหลังจากชาวเจเร็ดทำตามคำแนะนำชุดแรกของพระเจ้า (พระเจ้าประทานคำแนะนำเพิ่มเติมแก่พวกเขาผ่านพี่ชายของเจเร็ด)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องนี้เกี่ยวกับวิธีได้รับการนำทางจากพระเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรากระทำด้วยศรัทธาตามการชี้นำที่พระเจ้าประทานแก่เรา เราจะได้รับการนำทางเพิ่มมากขึ้นจากพระองค์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียนความจริงนี้ไว้ในพระคัมภีร์ใกล้กับ อีเธอร์ 2:6)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจและประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ดีขึ้น เชื้อเชิญพวกเขาให้นึกถึงความประทับใจหรือการกระตุ้นเตือนที่ได้รับเมื่อเร็วๆ นี้จากพระเจ้า จากนั้นให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเกี่ยวกับวิธีที่เราได้รับการเปิดเผยบ่อยๆ

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“คำตอบการสวดอ้อนวอนจะมาทีละส่วน ทั้งนี้เพื่อท่านจะสามารถรับได้มากขึ้น ถ้าท่านปฏิบัติตามแต่ละส่วนด้วยศรัทธา ท่านจะได้รับการนำไปสู่ส่วนอื่นๆ จนกระทั่งท่านได้รับคำตอบทั้งหมด แบบแผนนั้นเรียกร้องให้ท่านใช้ศรัทธาในความสามารถตอบรับของพระบิดา แม้บางครั้งจะยากมาก แต่ผลที่ได้คือท่านจะเติบโตอย่างมาก” (ดู “การใช้ของประทานอันสูงส่งแห่งการสวดอ้อนวอน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 10)

เชื้อเชิญนักเรียนให้ตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการให้พวกเขาเขียนบนกระดานหรืออ่านช้าๆ ให้นักเรียนจดตาม

  • ท่านทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณแล้ว จากนั้นท่านได้รับการชี้นำเพิ่มมากขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด

  • ท่านคิดว่าเหตุใดบางครั้งเราจึงต้องตอบรับการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณก่อนจึงจะได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติม

สรุป อีเธอร์ 2:8–12 โดยอธิบายว่าพระเจ้ารับสั่งกับพี่ชายของเจเร็ดว่าเมื่อชาวเจเร็ดมาถึงแผ่นดินที่สัญญาไว้ พวกเขาจะต้อง “รับใช้พระองค์, พระผู้เป็นเจ้าองค์จริงและองค์เดียว” (อีเธอร์ 2:8) ถ้าพวกเขาต้องการเป็นประชาชาติยิ่งใหญ่ตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ว่าพวกเขาจะได้เป็น ถ้าพวกเขาไม่รับใช้พระองค์ พวกเขาจะถูก “กำจัดออกไป” จากแผ่นดิน (อีเธอร์ 2:8–10) โมโรไนกล่าวว่านี่เป็น “ประกาศิตอันเป็นนิจ” (อีเธอร์ 2:10) โดยหมายความว่าสิ่งนี้จะประยุกต์ใช้กับทุกคนที่จะอยู่ในแผ่นดินนั้น

อีเธอร์ 2:13–15

พระเจ้าทรงตีสอนพี่ชายของเจเร็ดเพราะไม่เรียกหาพระองค์ในการสวดอ้อนวอน

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 2:13–15 ในใจโดยมองหาสิ่งที่ชาวเจเร็ดทำเมื่อพวกเขามาถึงฝั่งทะเล

  • ชาวเจเร็ดทำอะไร (พวกเขาตั้งกระโจมและอยู่ที่ฝั่งทะเลเป็นเวลาสี่ปี)

  • เหตุใดพระเจ้าทรงตีสอนพี่ชายของเจเร็ด

  • เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจาก อีเธอร์ 2:14 (นักเรียนอาจระบุความจริงต่างกัน รวมถึงความจริงต่อไปนี้: พระเจ้าทรงต้องการให้เราเรียกหาพระองค์เป็นประจำในการสวดอ้อนวอน พระเจ้าไม่พอพระทัยเมื่อเราไม่เรียกหาพระองค์ในการสวดอ้อนวอน และ พระวิญญาณจะไม่พากเพียรกับเราถ้าเราทำบาป)

ขอให้นักเรียนนึกถึงการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของพวกเขาเองขณะที่ท่านอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ล-เดอร์โดนัลด์ แอล. สตาเฮลีแห่งสาวกเจ็ดสิบ

“การสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าทุกวันเพื่อทูลขออภัย ความช่วยเหลือพิเศษ และการนำทางมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตเราและต่อการบำรุงเลี้ยงประจักษ์พยานของเรา เมื่อเราเร่งรีบ พูดซ้ำๆ ไม่ตั้งใจ หรือลืมสวดอ้อนวอน ย่อมมีแนวโน้มว่าเราจะสูญเสียความใกล้ชิดของพระวิญญาณซึ่งจะขาดไม่ได้เลยในการนำทางอย่างต่อเนื่องที่เราต้องการเพื่อจะจัดการกับการท้าทายของชีวิตประจำวันได้สำเร็จ” (“ทำให้ประจักษ์พยานของเรามั่นคง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 48)

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานก่อนชั้นเรียน (หรือท่านอาจต้องการเตรียมเป็นเอกสารแจกหรืออ่านช้าๆ ให้นักเรียนจดตาม) ให้เวลานักเรียนสองหรือสามนาทีเขียนคำตอบสั้นๆ ของคำถามเหล่านี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความถี่ของการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่าน

ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความจริงใจของการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่าน

ในการสวดอ้อนวอนส่วนตัว ท่านรู้สึกหรือไม่ว่าท่านสื่อสารกับพระบิดาบนสวรรค์อย่างแท้จริง เหตุใดจึงรู้สึกเช่นนั้น หรือเหตุใดจึงไม่รู้สึกเช่นนั้น

ถ้าท่านจะเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเพื่อปรับปรุงการสวดอ้อนวอนส่วนตัวของท่าน ท่านจะเปลี่ยนแปลงอะไร

อีเธอร์ 2:16–25 (ดู อีเธอร์ 3:1–6; 6:4–9 ด้วย)

ชาวเจเร็ดสร้างเรือเพื่อข้ามมหาสมุทรไปแผ่นดินที่สัญญาไว้

ขอให้นักเรียนนึกถึงการท้าทายที่พวกเขาอาจมีหรือการตัดสินใจครั้งสำคัญที่พวกเขาอาจต้องทำเวลานี้หรือในอนาคต ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจนึกถึงสถานการณ์ยากลำบากของครอบครัว การท้าทายในโรงเรียน การตัดสินใจว่าจะแต่งงานกับใคร หรือการเลือกอาชีพ เชื้อเชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองว่าพระเจ้าจะประทานการชี้นำหรือความช่วยเหลือแก่พวกเขาได้อย่างไร ขณะพวกเขาศึกษาส่วนที่เหลือของ อีเธอร์ 2 กระตุ้นให้พวกเขามองหาหลักธรรมอันจะช่วยให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อจะตัดสินใจได้ดี

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 2:16–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งให้ชาวเจเร็ดทำเพื่อก้าวหน้าไปสู่แผ่นดินที่สัญญาไว้ เมื่อนักเรียนอ่านจบแล้ว ถามว่ามีใครอยากมาที่กระดานและวาดรูปที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเหมือนเรือของชาวเจเร็ด

ลอกแผนภูมิต่อไปนี้บนกระดานโดยไม่ต้องเขียนคำตอบในสามแถวล่าง จัดทำแผนภูมิเป็นเอกสารแจกหรือขอให้นักเรียนลอกลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

อีเธอร์ 2:18–19

อีเธอร์ 2:20–25; 3:1–6; 6:4–9

ปัญหากับเรือ

วิธีแก้ปัญหา

สิ่งที่พระเจ้าทรงทำ

สิ่งที่พี่ชายของเจเร็ดทำ

ไม่มีอากาศ

เจาะช่องที่เปิดปิดได้ทั้งด้านบนและด้านล่างของเรือ

ประทานคำแนะนำแก่เจเร็ด

เจาะช่อง

ไม่มีคันบังคับ

ลมจะพัดเรือไปแผ่นดินที่สัญญาไว้

ทรงทำให้ลมพัด

วางใจพระเจ้า

ไม่มีแสงสว่าง

เตรียมก้อนหินพิเศษและทูลขอพระเจ้าให้ทรงแตะก้อนหินเหล่านั้นเพื่อมันจะส่องสว่าง

ทรงแนะนำพี่ชายของเจเร็ดเกี่ยวกับสิ่งที่จะไม่ได้ผลและทรงแนะนำเขาให้หาวิธีแก้ไขที่จะได้ผล

ทรงแตะก้อนหินหลังจากพี่ชายของเจเร็ดเตรียมไว้

เตรียมก้อนหินและทูลขอพระเจ้าให้ทรงแตะก้อนหินเพื่อมันจะส่องสว่างในความมืด

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า อีเธอร์ 2:18–19 ด้วยตนเองเพื่อให้พบปัญหาสามอย่างที่พี่ชายของเจเร็ดสังเกตเห็นในเรือ

  • พี่ชายของเจเร็ดสังเกตเห็นปัญหาอะไร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้ในคอลัมน์แรกของแผนภูมิตามตัวอย่าง กระตุ้นพวกเขาให้ทำแบบเดียวกันในแผนภูมิที่พวกเขาคัดลอก)

หลังจากนักเรียนระบุปัญหาแล้ว เชื้อเชิญพวกเขาให้ศึกษา อีเธอร์ 2:20–25; 3:1–6; 6:4–9. (หมายเหตุ: ข้อความใน อีเธอร์ 3 และ 6 จะมีรายละเอียดมากขึ้นในบทที่ 145 และ 147) ให้เวลาแต่ละคนทำส่วนที่เหลือของแผนภูมิ

เมื่อนักเรียนมีเวลาทำแผนภูมิมากพอแล้ว ถามคำถามต่อไปนี้เพื่อช่วยพวกเขาระบุหลักธรรมจากประสบการณ์ของพี่ชายเจเร็ด

  • จากการแก้ไขข้อกังวลเรื่องอากาศ บางครั้งพระเจ้าทรงช่วยเราแก้ปัญหาหรือตอบคำถามของเราอย่างไร (บางครั้งพระเจ้าทรงบอกวิธีแก้ปัญหาและทรงคาดหวังให้เราทำตามคำแนะนำของพระองค์)

  • จากการแก้ไขข้อกังวลเรื่องคันบังคับเรือ บางครั้งพระเจ้าทรงช่วยเราแก้ปัญหาหรือตอบคำถามของเราอย่างไร (บางครั้งพระเจ้าทรงดูแลการแก้ไขด้วยพระองค์เอง)

  • จากการแก้ไขข้อกังวลเรื่องแสงสว่าง บางครั้งพระเจ้าทรงช่วยเราแก้ปัญหาหรือตอบคำถามของเราอย่างไร (บางครั้งพระเจ้าทรงเรียกร้องให้เรามาพร้อมวิธีแก้ไขปัญหาและทูลขอความเห็นชอบและความช่วยเหลือจากพระองค์ในการลงมือแก้ไขปัญหา)

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเราเรียกหาพระเจ้าและทำส่วนของเราเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง เราจะได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า เพื่อช่วยนักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ ขอให้พวกเขาพิจารณาการตัดสินใจครั้งสำคัญที่พวกเขานึกถึงเมื่อสองสามนาทีก่อน จากนั้นขอให้พวกเขาไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านคิดว่าพระเจ้าอาจทรงคาดหวังให้ท่านทำอะไรในการตัดสินใจครั้งนี้

  • พระเจ้าอาจจะทรงทำอะไรเพื่อช่วยท่าน

  • ท่านจะแสดงความวางใจในพระเจ้าได้อย่างไรขณะตรึกตรองการตัดสินใจครั้งนี้

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในวันนี้ แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเมื่อเราเรียกหาพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์และทำส่วนของเราเพื่อแก้ปัญหา พระองค์จะทรงชี้นำและทรงช่วยเหลือเราตามพระปรีชาญาณและเดชานุภาพของพระองค์

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

อีเธอร์ 2:4–5 คำตอบการสวดอ้อนวอน

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องยอมรับว่าพระเจ้าทรงใช้วิธีที่สามตอบคำสวดอ้อนวอนเช่นกันโดย ทรงยั้งคำตอบไว้ เมื่อเรากล่าวคำสวดอ้อนวอน เหตุใดพระองค์ทรงทำเช่นนั้น

“พระองค์ทรงเป็นพระบิดาที่สมบูรณ์แบบของเรา พระองค์ทรงรักเราเกินกว่าเราจะสามารถเข้าใจได้ พระองค์ทรงทราบว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา พระองค์ทรงเห็นจุดสุดท้ายจากจุดเริ่มต้น พระองค์ทรงต้องการให้เราได้รับประสบการณ์ที่จำเป็น

“เมื่อพระองค์ทรงตอบ ใช่ นั่นคือเพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่เรา

“เมื่อพระองค์ทรงตอบ ไม่ นั่นคือเพื่อป้องกันความผิดพลาด

“เมื่อพระองค์ทรง ยั้งคำตอบ นั่นคือเพื่อให้เราเติบโตผ่านศรัทธาในพระองค์ การเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ และเต็มใจกระทำตามความจริง พระองค์ทรงคาดหวังให้เรารับภาระรับผิดชอบโดยทำตามการตัดสินใจให้สอดคล้องกับคำสอนของพระองค์โดยไม่ต้องยืนยันก่อน เราต้องไม่นั่งรอเฉยๆ หรือพร่ำบ่นเพราะพระเจ้าไม่ตรัส เราต้องลงมือทำ

“ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เราเลือกทำมักจะถูกต้อง พระองค์จะทรงยืนยันความถูกต้องของการเลือกนั้นตามวิธีของพระองค์ โดยทั่วไปการยืนยันเช่นนั้นผ่านทางความช่วยเหลือจำนวนมากที่เราพบระหว่างทาง เราค้นพบความช่วยเหลือโดยการเป็นคนละเอียดอ่อนทางวิญญาณ ความช่วยเหลือเป็นเหมือนข้อความจากพระบิดาผู้ทรงรักเรายืนยันความเห็นชอบของพระองค์” (“Learning to Recognize Answers to Prayer,Ensign, Nov. 1989, 31–32)

อีเธอร์ 2:14–15 การตีสอนของพระเจ้าเป็นการแสดงความรัก

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอัศจรรย์ใจกับพลังแห่งอุปนิสัยของพี่ชายเจเร็ดและการให้อภัยอันเปี่ยมด้วยรักของพระผู้เป็นเจ้า โดยอ้างถึง อีเธอร์ 2:14–15 ดังนี้

“เราแทบนึกภาพไม่ออกว่าการว่ากล่าวสามชั่วโมงจากพระเจ้านั้นเป็นอย่างไร แต่พี่ชายของเจเร็ดอดทนต่อการว่ากล่าว ด้วยการกลับใจทันทีและการสวดอ้อนวอน ศาสดาพยากรณ์ท่านนี้จึงแสวงหาการนำทางอีกครั้งสำหรับการเดินทางที่ทรงกำหนดให้พวกเขาและคนเหล่านั้นที่ต้องเดินทางไปด้วย พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมรับการกลับใจของเขาและประทานการชี้นำเพิ่มมากขึ้นด้วยความรักสำหรับพันธกิจอันสำคัญยิ่งของพวกเขา” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 15)

โดยผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ พระเจ้าทรงสอนว่า “ผู้ที่เรารักเราตีสอนด้วยเพื่อบาปของพวกเขาจะได้รับการให้อภัย, เพราะด้วยการตีสอน เราเตรียมทางเพื่อการปลดปล่อยของพวกเขาในสิ่งทั้งปวงออกจากการล่อลวง, และเรารักเจ้าตลอดมา” (คพ. 95:1)

อีเธอร์ 2:22–23 การสวดอ้อนวอนต้องผนวกกับความพยายาม

คนจำนวนมากกล่าวว่าเราควรสวดอ้อนวอนประหนึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับพระเจ้าและทำงานประหนึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรา เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่าท่านมักได้ยินประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์พูดว่า “ผมไม่ทราบจะทำให้เรื่องนั้นเสร็จสิ้นได้อย่างไรเว้นแต่จะคุกเข่าลงวิงวอนขอความช่วยเหลือแล้วลุกขึ้นยืนและไปทำงาน” (ดู “ความสามารถทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 19)