คลังค้นคว้า
บทที่ 146: อีเธอร์ 4–5


บทที่ 146

อีเธอร์ 4–5

คำนำ

พระเจ้าทรงบัญชาโมโรไนให้ผนึกนิมิตที่บันทึกไว้ของพี่ชายเจเร็ดและอธิบายว่าพระองค์จะทรงเปิดเผยงานเขียนเหล่านี้เมื่อผู้คนมีศรัทธาเช่นเดียวกับพี่ชายของเจเร็ด โมโรไนพยากรณ์ว่าพยานสามคนจะแสดงประจักษ์พยานถึงความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนในยุคสุดท้าย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

อีเธอร์ 4:1–7

โมโรไนบันทึกและผนึกเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับนิมิตของพี่ชายเจเร็ด

เชื้อเชิญนักเรียนให้นึกถึงของชิ้นหนึ่งที่มีค่าต่อพวกเขาหรือครอบครัวเป็นพิเศษ และพวกเขาต้องการเก็บไว้ให้พ้นมือเด็ก ท่านอาจต้องการให้ดูหรือพูดถึงของบางอย่างที่มีค่าต่อท่าน

  • เหตุใดท่านจึงไม่ยอมให้เด็กจับต้องของชิ้นนั้น

  • เด็กจะต้องเรียนรู้หรือทำอะไรก่อนท่านจึงจะไว้ใจเขาให้จับต้องของชิ้นนั้น

อธิบายว่าความจริงของพระกิตติคุณมีค่าต่อพระเจ้า พระองค์ทรงต้องการแบ่งปันทั้งหมดกับเรา แต่พระองค์ทรงรอจนกว่าเราจะพร้อมรับ ขณะที่นักเรียนศึกษา อีเธอร์ 4 ระหว่างบทเรียนนี้ จงกระตุ้นพวกเขาให้มองหาหลักธรรมที่สามารถช่วยพวกเขาเตรียมรับความจริงจากพระเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่าน อีเธอร์ 4:1–5 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาโมโรไนให้บันทึกและผนึกไว้

  • โมโรไนได้รับบัญชาให้ “ผนึก” อะไร

อธิบายว่าโมโรไนรวมบันทึกของพี่ชายของเจเร็ดไว้ในสิ่งที่มักเรียกว่าส่วนที่ผนึกไว้ของพระคัมภีร์มอรมอน (ท่านอาจต้องการให้ดูแผนภูมิชื่อที่มาของพระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งอยู่ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้)

  • โมโรไนพูดถึงสิ่งที่พี่ชายของเจเร็ดเห็นว่าอย่างไร (ดู อีเธอร์ 4:4)

เพื่อช่วยนักเรียนเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทรงแสดงต่อพี่ชายของเจเร็ด เชื้อเชิญพวกเขาให้อ่าน อีเธอร์ 3:25–26 และ 2 นีไฟ 27:8–10 ในใจ แล้วถามคำถามต่อไปนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 3:25–26 พระเจ้าทรงแสดงให้พี่ชายของเจเร็ดเห็นอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน 2 นีไฟ 27:10 ส่วนที่ผนึกไว้ของพระคัมภีร์มอรมอนมีอะไรบ้าง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 4:6–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุเงื่อนไขที่ต้องมีก่อนจะรู้การเปิดเผยที่ประทานแก่พี่ชายของเจเร็ด ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาระบุในพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • ท่านระบุเงื่อนไขอะไรบ้าง

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างเกี่ยวกับการได้รับการเปิดเผยจากข้อนี้ (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่า เมื่อเรากลับใจและใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติม)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องกลับใจและสะอาดเพื่อให้ได้รับการเปิดเผยเพิ่มเติม

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่า “ใช้ศรัทธา … แม้ดังที่พี่ชายของเจเร็ดทำ” (อีเธอร์ 4:7) หมายความว่าอย่างไร จงเชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนวิธีที่พี่ชายของเจเร็ดแสดงศรัทธาในพระเจ้าให้ได้มากเท่าที่พวกเขานึกออกลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทบทวน อีเธอร์ 1–3 ขณะรวบรวมวิธีเหล่านั้น เมื่อพวกเขามีเวลาไตร่ตรองและเขียนมากพอแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนอ่านตัวอย่างบางวิธีที่พวกเขาเขียนไว้และอธิบายว่าเหตุใดตัวอย่างเหล่านั้นจึงทำให้พวกเขาประทับใจ

เตือนนักเรียนให้นึกถึงของมีค่าที่คิดไว้ตอนต้นบทเรียนและเงื่อนไขที่พวกเขาจะวางใจให้เด็กคนหนึ่งจับของชิ้นนั้น เป็นพยานว่าในทำนองเดียวกัน พระเจ้าทรงเรียกร้องให้ลูกๆ ของพระองค์ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดก่อนจะทรงเปิดเผยความจริงทั้งหมดต่อพวกเขา พระองค์ทรงเรียกร้องให้เราแสดงความพร้อมทางวิญญาณและศรัทธาของเรา

อีเธอร์ 4:8–19

พระเจ้าทรงสอนสิ่งที่เราต้องทำเพื่อรับการเปิดเผยเพิ่มมากขึ้น

ชูผ้าชิ้นหนึ่ง อธิบายว่าพระเจ้าทรงสอนหลักธรรมที่สามารถช่วยให้เราได้รับการเปิดเผย เมื่อพระองค์ทรงสอนหลักธรรมเหล่านี้ พระองค์ทรงกล่าวถึงม่าน ม่านคือผืนผ้าที่ใช้บังหรือกั้นบางอย่าง

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน อีเธอร์ 4:15 ในใจและหาข้อความที่มีคำว่า ม่าน

  • พระเจ้ารับสั่งถึงม่านแบบใด (“ม่านความไม่เชื่อ”) ความไม่เชื่อเหมือนม่านอย่างไร

  • คำว่า ฉีก หมายถึงทำให้ขาดหรือแยกออก ท่านคิดว่า “ฉีกม่านความไม่เชื่อ” หมายความว่าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 4:8 นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 4:11 และอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 4:15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่สามารถกันเราไม่ให้รับการเปิดเผยหรือสิ่งที่สามารถช่วยเรา “ฉีกม่านความไม่เชื่อ” และได้รับการเปิดเผยมากขึ้น

  • ท่านคิดว่า “ต่อต้านพระวจนะของพระเจ้า” (อีเธอร์ 4:8) หมายความว่าอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 4:8 เราประสบผลอะไรบ้างเมื่อเราต่อต้านพระวจนะของพระเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 4:11 พรประการหนึ่งที่เราได้รับเมื่อเราเชื่อพระวจนะของพระเจ้าคืออะไร

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

เมื่อเราเชื่อพระวจนะของพระเจ้า …

ขอให้นักเรียนเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในข้อเหล่านี้ ถึงแม้คำตอบของนักเรียนอาจหลากหลาย แต่พวกเขาพึงระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเราเชื่อพระวจนะของพระเจ้า พระเจ้าจะประทานพรเราด้วยการเปิดเผยเพิ่มมากขึ้น เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการกระตุ้นนักเรียนให้เขียนหลักธรรมดังกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ อีเธอร์ 4:11

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ ให้ถามว่า

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องเชื่อความจริงที่เราได้รับอยู่แล้วก่อนพระเจ้าจะประทานให้เรามากขึ้น

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนตัวอย่างต่อไปนี้ของการใช้ศรัทธาในพระวจนะของพระเจ้าไว้บนกระดาน: การศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว การทำตามการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ การทำตามผู้นำศาสนจักรในท้องที่ การศึกษาพระคัมภีร์ในศาสนจักรและเซมินารี การทำตามถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย

เชื้อเชิญนักเรียนให้ไตร่ตรองว่าการแสดงความเชื่อในพระวจนะของพระเจ้าด้วยวิธีหนึ่งจากวิธีเหล่านี้ได้นำพวกเขาให้ได้รับการเปิดเผยเพิ่มมากขึ้นอย่างไร กระตุ้นนักเรียนสองสามคนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาประสบ

กล่าวถึงตัวอย่างที่เขียนไว้บนกระดานอีกครั้ง ขอให้นักเรียนพิจารณาตัวอย่างเหล่านั้นขณะพวกเขาไตร่ตรองในใจว่าตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นความเชื่อของพวกเขาในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าดีเพียงใด เสนอแนะให้พวกเขาประเมินตนเองตามระดับ 1 ถึง 10 สำหรับแต่ละตัวอย่าง โดยระดับ 10 หมายความว่าตัวอย่างนั้นกล่าวถึงบางอย่างที่พวกเขาทำได้ดี เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนหนึ่งวิธีลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ที่พวกเขาสามารถแสดงศรัทธามากขึ้นในการชี้นำที่พวกเขาได้รับจากพระเจ้าแล้ว แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน และกระตุ้นนักเรียนให้ทำตามเป้าหมายที่เขียนไว้

ลบวลี “เชื่อพระวจนะของพระเจ้า” ออกจากกระดาน ชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงสอนหลักธรรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับการได้รับการเปิดเผย ขอให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 4:13–15 ในใจ โดยค้นหาสิ่งอื่นที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อรับการเปิดเผยจากพระเจ้า

เมื่อนักเรียนมีเวลาอ่านแล้ว ขอให้พวกเขาเสนอแนะวิธีเติมข้อความให้ครบถ้วน คำตอบอาจได้แก่หลักธรรมต่อไปนี้: เมื่อเรามาหาพระเจ้า พระเจ้าจะประทานพรเราด้วยการเปิดเผยเพิ่มมากขึ้น เมื่อเราสวดอ้อนวอนอย่างนอบน้อม พระเจ้าจะประทานพรเราด้วยการเปิดเผยเพิ่มมากขึ้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมเหล่านี้ดีขึ้น ท่านอาจจะถามคำถามต่อไปนี้

  • การมาหาพระเจ้ามีความหมายต่อท่านว่าอย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ การศึกษาพระวจนะของพระองค์ การหันใจเราไปหาพระองค์ การกลับใจ การทำตามและเชื่อฟังพระองค์)

  • การมีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดหมายความว่าอย่างไร (การถ่อมตน กลับใจ และยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้า) เหตุใดคุณลักษณะเหล่านี้จึงจำเป็นเมื่อเราสวดอ้อนวอนขอการเปิดเผยต่อเนื่องจากพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนให้ตรึกตรองว่าพวกเขาจะรวมหลักธรรมเหล่านี้ไว้ในความพยายามรับการเปิดเผยของพวกเขาอย่างไร

สรุป อีเธอร์ 4:17–19 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงประกาศว่าการปรากฏออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนจะเป็นเครื่องหมายว่างานยุคสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้าเริ่มต้นแล้ว พระองค์ทรงกระตุ้นทุกคนให้กลับใจและมาหาพระองค์เช่นกัน

อีเธอร์ 5

โมโรไนประกาศว่าพยานสามคนจะเห็นและแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับแผ่นจารึก

ชูรูปภาพโจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์มอรมอน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 92) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 5:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและจินตนาการว่าการแปลพระคัมภีร์มอรมอนของโจเซฟน่าจะเป็นอย่างไรและตระหนักว่าโมโรไนเขียนคำแนะนำนี้รถึงเขาโดยตรงเมื่อ 1,400 กว่าปีก่อน

โจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์มอรมอน
  • โมโรไนกล่าวอะไรเกี่ยวกับแผ่นจารึกที่เขา “ผนึก” ไว้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน อีเธอร์ 5:2–3 โจเซฟจะได้รับเอกสิทธิ์ให้ทำอะไรกับแผ่นจารึก

ถามนักเรียนว่าพวกเขาสามารถบอกชื่อพยานสามคนของพระคัมภีร์มอรมอนและเล่าสิ่งที่พยานทั้งสามประสบมาได้หรือไม่ (หากนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ ให้พวกเขาอ่าน “ประจักษ์พยานของพยานสามคน” ที่อยู่ด้านหน้าพระคัมภีร์มอรมอน) ท่านอาจจะอธิบายว่านอกจากพยานสามคนแล้ว คนอื่นๆ ได้เป็นพยานถึงความจริงของแผ่นจารึกทองคำเช่นกัน รวมทั้งสมาชิกในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ (ดู อีเธอร์ 5:4) โมโรไน (ดู อีเธอร์ 5:6) โจเซฟ สมิธ และพยานแปดคน

  • ท่านสามารถเป็นพยานของพระคัมภีร์มอรมอนในทางใดบ้าง แม้ไม่ได้เห็นแผ่นจารึก พยานของท่านเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนจะมีอิทธิพลต่อผู้อื่นได้อย่างไร

เพื่อสรุปบทเรียนนี้ ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันพยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

อีเธอร์ 5 ประจักษ์พยานของพยานสามคน

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวดังนี้

“สมัยข้าพเจ้าเป็นเด็กหนุ่มฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ข้าพเจ้าได้รับการยืนยันโดยตรงถึงประจักษ์พยานอันน่าอัศจรรย์ของพยานสามคนเกี่ยวกับความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน ประธานสเตคของข้าพเจ้าคือประธานเฮนรีย์ ดี. มอยล์และบิดาของท่านเจมส์ เอช. มอยล์ ในช่วงฤดูร้อน บราเดอร์เจมส์ เอช. มอยล์จะมาเยี่ยมครอบครัวของท่าน และนมัสการร่วมกับเราในวอร์ดเล็กๆ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหุบเขาซอลท์เลค

“วันอาทิตย์วันหนึ่ง บราเดอร์เจมส์ เอช. มอยล์เล่าประสบการณ์เรื่องหนึ่งให้เราฟัง ขณะเป็นหนุ่ม ท่านไปศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน เมื่อจบการศึกษา บิดาของท่านบอกว่าเดวิด วิตเมอร์ พยานคนหนึ่งของพระคัมภีร์มอรมอนยังมีชีวิตอยู่ พร้อมทั้งแนะนำให้บุตรชายกลับไปที่ซอลท์เลคซิตี้เพื่อสนทนากับเดวิด วิตเมอร์โดยตรง จุดประสงค์ของบราเดอร์มอยล์คือเพื่อถามท่านถึงประจักษ์พยานเกี่ยวกับแผ่นจารึกทองคำและพระคัมภีร์มอรมอน

“ระหว่างสนทนากัน บราเดอร์มอยล์พูดกับเดวิด วิตเมอร์ว่า ‘ท่านครับ ท่านเป็นผู้สูงวัย ส่วนผมเป็นคนหนุ่ม ผมศึกษามาตลอดเกี่ยวกับพยานและประจักษ์พยาน ได้โปรดบอกความจริงแก่ผมเถอะครับเกี่ยวกับประจักษ์พยานของท่านในฐานะพยานคนหนึ่งของพระคัมภีร์มอรมอน’ เดวิด วิตเมอร์บอกชายหนุ่มผู้นี้ว่า ‘ใช่ ผมจับแผ่นจารึกทองคำ และเทพแสดงแก่เรา ประจักษ์พยานของผมเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง’ เดวิด วิตเมอร์ออกจากศาสนจักร แต่เขาไม่เคยปฏิเสธประจักษ์พยานเกี่ยวกับการมาเยือนของเทพ การจับแผ่นจารึกทองคำ หรือความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน การได้ยินประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์ด้วยหูของตนเองจากปากของบราเดอร์มอยล์มีผลอันทรงพลังและหนักแน่นต่อประจักษ์พยานที่กำลังเติบโตของข้าพเจ้า เมื่อได้ยินเช่นนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองต้องเชื่อ” (“ประจักษ์พยานที่เติบโต,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 80–81)

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวดังนี้

“พยานสามคนไม่เคยปฏิเสธประจักษ์พยานของตนในพระคัมภีร์มอรมอน พวกเขาปฏิเสธไม่ได้เพราะรู้ว่าจริง พวกเขาเสียสละและเผชิญกับความยากลำบากเกินกว่าผู้คนส่วนใหญ่เคยรู้ ขณะใกล้สิ้นชีวิตออลิเวอร์ คาวเดอรีให้ประจักษ์พยานเดียวกันเกี่ยวกับที่มาอันศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์มอรมอน … การที่พวกเขายังคงรับรองในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินในประสบการณ์อันน่าพิศวงนั้น แม้ในช่วงเวลาอันยาวนานของการออกห่างจากศาสนจักรและจากโจเซฟ ทำให้ประจักษ์พยานของพวกเขาทรงพลังยิ่งขึ้น” (“ประจักษ์พยานอันยืนนานในพันธกิจของศาสดาโจเซฟ สมิธ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 107)