คลังค้นคว้า
บทที่ 139: มอรมอน 5–6


บทที่ 139

มอรมอน 5–6

คำนำ

มอรมอนพยากรณ์ว่าบันทึกนี้จะออกมาในวันเวลาสุดท้ายเพื่อชักชวนคนที่อ่านให้เชื่อว่าพระเยซูคือพระคริสต์ เขากระตุ้นคนที่จะอ่านบันทึกให้กลับใจและเตรียมรับการพิพากษาต่อหน้าพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ในบรรดาผู้คนของเขามอรมอนพิจารณาทบทวนเรื่องการลาออกจากผู้บัญชาการกองทัพของชาวนีไฟ โดยตกลงจะนำพวกเขาในการสู้รบอีกครั้ง แต่ผู้คนก็ยังไม่ยอมกลับใจ ชาวเลมันตามล่าพวกเขาจนประชาชาติชาวนีไฟถูกทำลายสิ้น ขณะมอรมอนมองดูภาพของความตายและความพินาศ เขาคร่ำครวญถึงการล้มตายของผู้คนและการไม่เต็มใจกลับมาหาพระเยซูคริสต์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มอรมอน 5:1–9

มอรมอนตัดสินใจนำกองทัพชาวนีไฟอีกครั้ง แต่ชาวเลมันชนะ

กล่าวถึงภัยธรรมชาติที่อาจจะเป็นภัยคุกคามในพื้นที่ของท่าน—ตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด หรือเฮอริเคน ขอให้นักเรียนนึกภาพพวกเขาได้รับการเตือนว่าจะเกิดภัยธรรมชาติครั้งนี้ในชุมชนของพวกเขาเป็นเวลาหลายวัน

  • ท่านจะหันไปขอความช่วยเหลือจากที่ใด

เตือนนักเรียนว่าชาวนีไฟเผชิญอันตรายระดับเดียวกัน แต่ภัยที่จะเกิดขึ้นเป็นภัยทางวิญญาณ เตือนนักเรียนเช่นกันว่าชาวนีไฟกำลังทำสงครามและเพราะความชั่วร้ายของพวกเขา มอรมอนจึงปฏิเสธไม่ยอมนำทัพของพวกเขา (ดู มอรมอน 3:16)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 5:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าชาวนีไฟเชื่อว่าใครจะปลดปล่อยพวกเขาจากความทุกข์ได้

  • แม้มอรมอนจะนำชาวนีไฟในการรบทางทหารได้ แต่เหตุใดมอรมอนจึงเชื่อว่าผู้คนจะไม่ได้รับการปลดปล่อยจากความทุกข์ของพวกเขา

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจาก มอรมอน 5:1–2 ว่าเราควรหันไปขอความช่วยเหลือจากใครเป็นอันดับแรกเมื่อเรามีความทุกข์ (เราควรหันไปพึ่งพระผู้เป็นเจ้าเป็นอันดับแรก พระองค์จะทรงตอบรับคนที่กลับใจและทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์เมื่อพวกเขามีความทุกข์)

สรุป มอรมอน 5:3–7 โดยอธิบายว่าภายใต้การนำของมอรมอน ชาวนีไฟตีโต้การบุกของชาวเลมันจนพวกเขาถอยร่นไปสองสามครั้ง แต่ในที่สุด ชาวเลมันก็ “เหยียบย่ำผู้คนของชาวนีไฟไว้ใต้เท้าพวกเขา” (มอรมอน 5:6) ขณะที่ชาวนีไฟล่าถอย คนที่หนีไม่ทันก็ถูกทำลาย

เชิญนักศึกษาคนหนึ่งอ่าน มอรมอน 5:8–9 ขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลที่มอรมอนไม่เขียนเรื่องราวครบถ้วนเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเห็น

  • เหตุใดมอรมอนจึงไม่ให้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเห็น

มอรมอน 5:10–24

มอรมอนอธิบายว่าเจตนาของบันทึกพระคัมภีร์มอรมอนคือชักชวนผู้คนให้เชื่อในพระเยซูคริสต์

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 5:10–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุคำที่มอรมอนใช้สามครั้งเพื่อบอกว่าผู้คนในวันเวลาสุดท้ายจะรู้สึกอย่างไรขณะเรียนรู้เกี่ยวกับการล่มสลายของประชาชาตินีไฟ (เขากล่าวว่าเราจะ “โทมนัส”)

  • ท่านพบอะไรน่าเศร้าเกี่ยวกับเรื่องนี้

ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่คำกล่าวของมอรมอนใน มอรมอน 5:11 ว่าหากผู้คนของเขากลับใจ “พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัด” พวกเขา

  • ท่านคิดว่า “พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัด” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าคำว่า กอดรัด หมายถึงกอดแน่นๆ หรือโอบกอด)

  • วลีนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับผลสืบเนื่องจากการกลับใจของเราเอง (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: โดยผ่านการกลับใจ “พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัด” เรา เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ดีขึ้น เชิญคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เคนท์ เอฟ. ริชาร์ดส์แห่งสาวกเจ็ดสิบ

“ทุกคนที่มา ‘พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัดพวกเขา’ [มอรมอน 5:11] จิตวิญญาณทั้งปวงสามารถรักษาหายได้ด้วยเดชานุภาพของพระองค์ ความเจ็บปวดทั้งปวงจะบรรเทาลงได้ ในพระองค์ ‘จิตใจ [ของเรา] จะได้หยุดพัก’ [มัทธิว 11:29] สภาพการณ์แห่งมรรตัยของเราอาจไม่ได้เปลี่ยนโดยฉับพลันแต่ความเจ็บปวด ความกังวล ความทุกข์ทรมาน และความกลัวจะถูกกลืนในสันติสุขของพระองค์และน้ำมันที่รักษา” (“การชดใช้ครอบคลุมความเจ็บปวดทั้งปวง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, หน้า 18)

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามหนึ่งข้อต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้ไว้บนกระดานหรืออ่านช้าๆ เพื่อให้นักเรียนเขียนตาม)

  • ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่า “พาหุของพระเยซูได้กอดรัด” ท่าน

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อได้รับการปลอบโยน ความคุ้มครอง และการให้อภัยจากพระเจ้าโดยสมบูรณ์มากขึ้น

อธิบายว่า มอรมอน 5:12–13 ประกอบด้วยคำพยากรณ์ของมอรมอนว่างานเขียนของเขาจะถูกซ่อนไว้และมีคนนำออกมาให้คนทั้งปวงได้อ่าน เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน มอรมอน 5:14–15 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้งานเขียนของมอรมอนทำเพื่อผู้คนในวันเวลาสุดท้าย ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีที่สำคัญต่อพวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน มอรมอน 5:14–15 อะไรคือจุดประสงค์ของพระคัมภีร์มอรมอน (นักเรียนพึงบอกว่า พระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้เพื่อชักชวนคนทั้งปวงให้เชื่อว่าพระเยซูคือพระคริสต์ ช่วยพระผู้เป็นเจ้าทำให้พันธสัญญาของพระองค์กับเชื้อสายแห่งอิสราเอลเกิดสัมฤทธิผล และช่วยให้ผู้สืบตระกูลของชาวเลมันเชื่อพระกิตติคุณอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น)

ขณะที่นักเรียนตอบว่างานเขียนของมอรมอนมุ่งหมายจะชักชวนผู้คนให้เชื่อว่าพระเยซูคือพระคริสต์ ให้แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่านี่คือจุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์มอรมอน

  • จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพรแก่ผู้อ่านพระคัมภีร์เล่มนี้ในด้านใด

  • การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้ท่านเชื่อในพระเยซูคริสต์และรักพระองค์อย่างแท้จริงยิ่งขึ้นอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าพระคัมภีร์มอรมอนกำลังช่วยให้คนมากมายกลับใจและ “พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัด” พวกเขา แต่ยังมีคนอีกมากที่ไม่ยอมเชื่อในพระคริสต์

เขียนบนกระดานติดกับหลักธรรมเกี่ยวกับการกลับใจที่ท่านเขียนตอนต้นบทเรียนว่า หากเราไม่ยอมกลับใจ … เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 5:16–19 และขอให้ชั้นเรียนมองหาผลจากการที่ชาวนีไฟไม่ยอมกลับใจ ขอให้นักเรียนใช้สิ่งที่ค้นพบในข้อเหล่านี้เติมประโยคบนกระดานให้ครบถ้วน ขณะที่พวกเขาตอบ ท่านอาจจะถามคำถามบางข้อต่อไปนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจคำและวลีในข้อเหล่านั้น

  • ท่านคิดว่า “ปราศจากพระคริสต์และพระผู้เป็นเจ้าในโลก” หมายความว่าอย่างไร (มอรมอน 5:16) (คำตอบอาจได้แก่ การมีชีวิตโดยปราศจากศรัทธาในพระเยซูคริสต์หรือพระบิดาบนสวรรค์หรือปราศจากอิทธิพลและการนำทางจากเบื้องบน)

  • แกลบคือเปลือกนอกของเมล็ดข้าว เมื่อเกี่ยวข้าว จะต้องเอาแกลบทิ้ง ท่านคิดว่าอะไรคือความหมายของวลี “ถูกต้อนไปมาดังแกลบต้องลม” (มอรมอน 5:16)

  • การอยู่บนเรือโดยไม่รู้วิธีแล่นเรือหรือคัดท้ายหรือไม่มีสมอเรือจะเป็นอย่างไร (ดู มอรมอน 5:18) สถานการณ์นี้คล้ายกับสถานการณ์ของชาวนีไฟอย่างไร

  • ถ้อยคำของมอรมอนสอนอะไรเราเกี่ยวกับคนที่ไม่ยอมกลับใจ (คำตอบของนักเรียนควรแสดงให้เห็นว่าการไม่ยอมกลับใจส่งผลให้สูญเสียการนำทางจากพระเจ้า เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนโดยเขียนความจริงต่อไปนี้: หากเราไม่ยอมกลับใจ พระวิญญาณจะทรงถอนตัวและเราจะสูญเสียการนำทางของพระเจ้า

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองในใจว่าพวกเขาเคยเห็นหลักธรรมธรรมนี้ในชีวิตพวกเขาหรือในชีวิตผู้อื่นอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวน มอรมอน 5:11, 16–18 อย่างรวดเร็วและหลักธรรมสองข้อที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน

  • ท่านจะพูดถึงความแตกต่างระหว่างผลของการกลับใจอย่างจริงใจกับผลของการไม่ยอมกลับใจด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน มอรมอน 5:22–24 ในใจโดยมองหาสิ่งที่มอรมอนชักชวนผู้คนในยุคสุดท้ายให้ทำ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ

เป็นพยานถึงความจริงของหลักธรรมตรงกันข้ามทั้งสองหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดาน

มอรมอน 6

มอรมอนเล่าเรื่องการสู้รบครั้งสุดท้ายของชาวนีไฟและโศกเศร้าเพราะความพินาศของผู้คนของเขา

ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อการสิ้นชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รักผู้ซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าตลอดชีวิต

  • ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อการสิ้นชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รักผู้ไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าตลอดชีวิต

อธิบายว่ามอรมอนเสียใจมากต่อการสิ้นชีวิตของผู้คนทั้งหมดเพราะเขารู้ว่าคนเหล่านั้นไม่พร้อมพบพระผู้เป็นเจ้า สรุป มอรมอน 6:1–6 โดยอธิบายว่าชาวเลมันยอมให้ชาวนีไฟไปรวมกันในแผ่นดินคาโมราห์เพื่อการสู้รบ มอรมอนเริ่มชรา และรู้ว่านี่จะเป็น “การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของผู้คน [ของเขา]” (มอรมอน 6:6) เขาฝากฝังบันทึกศักดิ์สิทธิ์บางส่วนให้โมโรไนบุตรชายและซ่อนบันทึกที่เหลือไว้ในเนินเขาคาโมราห์ เขาบันทึกสิ่งที่เขาเห็นเกี่ยวกับความพินาศครั้งสุดท้ายของผู้คนของเขา ขอให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 6:7–15 ในใจโดยตรึกตรองว่ามอรมอนจะรู้สึกอย่างไรขณะเขียนถ้อยคำเหล่านี้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดชาวนีไฟจึงรอคอยความตายด้วย “ความกลัวอันน่าพรั่นพรึง” (มอรมอน 6:7)

อ่านออกเสียง มอรมอน 6:16–22 ให้นักเรียนฟังขณะพวกเขาดูพระคัมภีร์ตาม จากนั้นขอให้พวกเขาเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับความคิดและความประทับใจที่เกิดขึ้นขณะอ่านและฟังข้อเหล่านี้ หลังจากให้เวลามากพอแล้ว ท่านอาจต้องการเปิดโอกาสให้พวกเขาแบ่งปันความคิดบางอย่างที่เขียนไว้

เป็นพยานต่อนักเรียนถึงความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ ศาสดาพยากรณ์ ผู้นำ และบิดามารดามีต่อพวกเขา กระตุ้นพวกเขาให้ใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และกลับใจจากบาปเพื่อ “พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัด” พวกเขา (มอรมอน 5:11)

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

มอรมอน 5:11 “พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัด”

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า การชดใช้ กับวลี “พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัด”

“ความหมายอันลึกซึ้งพบในการศึกษาคำว่า การชดใช้ ในภาษาเซมิติคของสมัยพันธสัญญาเดิม ในภาษาฮีบรู คำพื้นฐานของการชดใช้คือ kaphar คำกิริยาที่หมายถึง ‘ครอบคลุม’ หรือ ‘ให้อภัย’ คำที่สัมพันธ์ใกล้ชิดคือคำว่า kafat ในภาษาอาราเมอิคและภาษาอาหรับ หมายถึง ‘การกอดรัด’—สัมพันธ์แน่นอนกับการโอบกอดตามพิธีกรรมทางศาสนาของชาวอียิปต์ พระคัมภีร์มอรมอนกล่าวถึงการโอบกอดนั้น มีข้อหนึ่งกล่าวว่า ‘พระเจ้าทรงไถ่จิตวิญญาณของพ่อ … ; พ่อเห็นรัศมีภาพของพระองค์, และพระเจ้าทรงโอบพ่อไว้ในพาหุแห่งความรักของพระองค์ชั่วนิรันดร์’ [2 นีไฟ 1:15] อีกข้อหนึ่งให้ความหวังอันรุ่งโรจน์ว่า ‘พาหุของพระเยซูจะได้กอดรัด’ เรา [มอรมอน 5:11]” (ดู “การชดใช้,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 38)

มอรมอน 5:16 เมื่อพระวิญญาณของพระเจ้าทรงจากไป

ประธานฮาโรลด์ บี. ลีสอนดังนี้

“มอรมอนอธิบายว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงไปจากคนบางคนของเขา [ดู 2 นีไฟ 26:11] … ดูเหมือนชัดเจนสำหรับข้าพเจ้าว่าสิ่งที่เขากำลังพูดถึงมิได้เป็นเพียงการไม่สามารถมีความเป็นเพื่อนหรือของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น แต่เขากำลังพูดถึงแสงสว่างของความจริงด้วย [แสงสว่างของพระคริสต์] ซึ่งทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีสิทธิ์ได้รับและจะไม่มีวันละความเพียรกับบุคคลใดเว้นแต่บุคคลนั้นจะสูญเสียสิ่งนี้ผ่านการทำบาปของตนเอง” (ใน Conference Report, Apr. 1956, 108)

มอรมอน 6:16–22 อย่าปฏิเสธพาหุที่กางออกของพระคริสต์

มอรมอนโศกเศร้าเพราะความตายของผู้คนของเขาและโทมนัสที่คนเหล่านั้นไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตของตน เขากล่าวว่าหากคนเหล่านั้นละทิ้งความจองหองและกลับใจจากบาป การได้พบกับพระผู้ช่วยให้รอดอีกครั้งจะเปี่ยมด้วยปีติ (ดู มอรมอน 6:17) ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ แห่งฝ่ายประธานสูงสุดพูดถึงปีติที่เราจะรู้สึกหากเราเตรียมตนเองให้พร้อมยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้าที่การพิพากษา

“เราปรารถนาพรสูงสุดของการชดใช้—เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ อยู่ในที่ประทับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ได้รับการขานชื่อขณะทรงต้อนรับเรากลับบ้านอย่างอบอุ่นด้วยรอยแย้มพระสรวล โดยทรงกางพระพาหุเรียกเราเข้าสู่อ้อมกอดอันเต็มไปด้วยความรักล้นเหลือของพระองค์ ประสบการณ์นี้จะสูงค่าน่ายินดีเพียงใดหากเรารู้สึกมีค่าควรมากพอจะอยู่ในที่ประทับของพระองค์! ของประทานได้เปล่าจากการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์สำหรับเราแต่ละคนเป็นเพียงทางเดียวที่จะทำให้เราสูงส่งมากพอจะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระองค์และเห็นพระองค์ตรงหน้า ข่าวสารอันท่วมท้นของการชดใช้คือความรักอันสมบูรณ์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีให้เราแต่ละคนและทุกคน คือความรักที่เต็มไปด้วยความเมตตา ความอดทน พระคุณ ความเที่ยงธรรม ความอดกลั้น และเหนือสิ่งอื่นใด การให้อภัย

“อิทธิพลอันเลวร้ายของซาตานจะทำลายความหวังทั้งมวลที่เรามีในการเอาชนะความผิดพลาดของเรา เขาจะทำให้เรารู้สึกสูญเสีย และหมดหวัง ในทางตรงกันข้าม พระเยซูทรงเอื้อมพระหัตถ์ลงมายกเราขึ้น โดยผ่านการกลับใจและของประทานแห่งการชดใช้เราสามารถเตรียมตัวให้มีค่าควรแก่การยืนอยู่ในที่ประทับของพระองค์” (ดู “การชดใช้: ความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2001, 25)

พิมพ์