คลังค้นคว้า
บทที่ 140: มอรมอน 7:1–8:11


บทที่ 140

มอรมอน 7–8:11

คำนำ

หลังจากการรบครั้งสุดท้ายระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน มอรมอนเขียนถึงผู้สืบตระกูลในอนาคตของผู้คนในพระคัมภีร์มอรมอนเกี่ยวกับความสำคัญของการรู้ว่าพวกเขาเป็นใครและพวกเขาต้องทำอะไรจึงจะได้รับการช่วยให้รอด เนื่องด้วยความรักมากมายที่มีต่อผู้สืบตระกูลในอนาคตของศัตรู มอรมอนจึงสอนความสำคัญของการทำตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทั้งนี้เพื่อจะ “ดีกับ [พวกเขา] ในวันแห่งการพิพากษา” (มอรมอน 7:10) หลังจากมอรมอนสิ้นชีวิต โม-โรไนบุตรชายคงเหลืออยู่แต่เพียงผู้เดียวเพื่อเขียนเกี่ยวกับความพินาศของผู้คน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มอรมอน 7

ในประจักษ์พยานสุดท้ายของมอรมอน เขากระตุ้นผู้สืบตระกูลของชาวเลมันให้เชื่อในพระเยซูคริสต์และทำตามพระกิตติคุณของพระองค์

เขียนเลข 230,000 บนกระดาน ถามนักเรียนว่าพวกเขาจำได้หรือไม่ว่าจำนวนนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับความพินาศของชาวนีไฟ (คือจำนวนทหารชาวนีไฟที่เสียชีวิตในการสู้รบครั้งสุดท้าย บันทึกไว้ใน มอร-มอน 6 ท่านอาจต้องการเน้นว่าจำนวนใน มอรมอน 6:10–15 ปรากฏเพียงเพื่ออ้างถึงคนที่ต่อสู้ในการรบเท่านั้น ไม่ใช่คนอีกมากมายที่เสียชีวิตเนื่องจากการรบ) ให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขารอดชีวิตจากการรบครั้งใหญ่ซึ่งสมาชิกครอบครัวกับเพื่อนๆ ของพวกเขาเสียชีวิตและประเทศชาติของพวกเขาพ่ายแพ้ ให้เวลาพวกเขาตรึกตรองสักครู่ว่าพวกเขาจะพูดอะไรถ้าเขียนข่าวสารถึงผู้สืบตระกูลของคนที่ฆ่าบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาและรบชนะประเทศชาติของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน มอรมอน 7:1–4 ในใจ โดยมองหาถ้อยคำสุดท้ายบางถ้อยคำที่มอรมอนเขียนถึงผู้สืบตระกูลของชาวเลมัน

  • มอรมอนต้องการให้ผู้สืบตระกูลของชาวเลมันรู้อะไร

  • ท่านเห็นคุณลักษณะอะไรบ้างของพระผู้ช่วยให้รอดในถ้อยคำที่มอรมอนเขียนถึงศัตรูของเขา

ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่ามอรมอนสอนผู้สืบตระกูลของชาวเลมันถึงสิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อจะรับการช่วยให้รอด เขามีจิตกุศลต่อคนทั้งปวง แม้แต่ศัตรูของเขา

ขอให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 7:5, 8, 10 ในใจโดยระบุสิ่งที่มอรมอนสอนว่าผู้อ่านของเขาต้องทำ ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ และเขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดาน ท่านอาจต้องการกล่าวว่าคำสอนของมอรมอนเป็นหลักธรรมพระกิตติคุณเดียวกันที่จะช่วยให้ชาวนีไฟรอดจากความพินาศ (ดู มอรมอน 3:2)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 7:6–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงเสนอให้ทุกคนที่จะเชื่อในพระองค์และยอมรับพระกิตติคุณของพระองค์ หลังจากนักเรียนรายงานสิ่งที่พบแล้ว กระตุ้นพวกเขาให้เขียนความจริงต่อไปนี้ใกล้กับ มอรมอน 7:6–7: พระเจ้าทรงเสนอความรอดให้ทุกคน พระองค์จะทรงไถ่คนที่ยอมรับหลักธรรมและศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณของพระองค์

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

ตามที่กล่าวไว้ใน มอรมอน 7:7 อะไรคือพรสำหรับคนที่พบว่า “ไม่มีความผิด” ต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน

มอรมอน 8:1–11

หลังจากมอรมอนสิ้นชีวิต โมโรไนบุตรชายของเขายังคงอยู่แต่เพียงผู้เดียวเพื่อเขียนเกี่ยวกับความพินาศของผู้คน

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาอยู่คนเดียวในสถานการณ์ที่ท้าทายศรัทธาของพวกเขา—อาจจะในสถานการณ์ซึ่งพวกเขาจะทำสิ่งผิดได้ง่ายโดยไม่มีใครมองเห็น เชื้อเชิญพวกเขาให้พิจารณาว่าความมุ่งมั่นทำตามพระผู้ช่วยให้รอดและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ในช่วงเวลานั้นเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง

  • เหตุใดบางคนจึงไม่เลือกรักษาศรัทธาไว้เมื่ออยู่คนเดียวในสถานการณ์ที่ท้าทายศรัทธาของพวกเขา

  • เหตุใดบางคนจึงเลือกรักษาศรัทธาในสถานการณ์เดียวกัน

อธิบายว่ามอรมอนเสียชีวิตหลังจากการสู้รบครั้งสุดท้ายระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมัน และเหลือโมโร-ไนบุตรชายของเขาเพียงคนเดียว ไม่เหลือสมาชิกครอบครัวหรือคนอื่นเลย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำพูดของโมโรไนใน มอรมอน 8:1–9 ขอให้ชั้นเรียนหาคำอธิบายสภาวการณ์ของโมโรไน ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าท่านอยู่ในสภาวการณ์ของโมโรไน

ใช้วันเดือนปีที่อยู่ด้านล่างของหน้าหรือในสรุปบทช่วยให้นักเรียนเห็นว่า 16 ปีผ่านไปโดยประมาณระหว่างคำเขียนครั้งสุดท้ายของมอรมอนกับเวลาที่โมโรไนเริ่มเขียนบนแผ่นจารึก จากนั้นให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 8:1–4 อีกครั้งเพื่อดูว่าโมโรไนถูกกำหนดให้ทำอะไรแม้จะอยู่คนเดียวเป็นเวลานาน ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ (พวกเขาควรเห็นว่าโมโรไนถูกกำหนดให้เชื่อฟังบิดาและเขียนบนแผ่นจารึก)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรได้บ้างจากการเชื่อฟังของโมโรไนทั้งที่เขาอยู่ในสภาวการณ์เช่นนั้น (ขณะที่นักเรียนแบ่งปันแนวคิด ให้เน้นความจริงต่อไปนี้: แม้เมื่อเราอยู่คนเดียว เราสามารถเลือกรักษาศรัทธาได้ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนความจริงนี้ลงในพระคัมภีร์ของพวกเขาใกล้กับ มอรมอน 8:1–4)

ชี้ให้เห็นว่าโมโรไนมีพันธกิจพิเศษ เขา “คงอยู่ผู้เดียวเพื่อเขียนเรื่องเศร้าของความพินาศแห่งผู้คน [ของเขา]” (มอรมอน 8:3) ถึงแม้นักเรียนจะไม่เผชิญสภาวการณ์แบบนั้น แต่พวกเขาอาจเผชิญสถานการณ์ซึ่งพวกเขาอยู่คนเดียวและต้องรักษาศรัทธา พวกเขาอาจเผชิญสถานการณ์เมื่อพวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวเช่นกันแม้เมื่ออยู่กับคนอื่นๆ—เช่นเวลาที่พวกเขาอยู่กับผู้คนที่ไม่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานที่พระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์กำหนดไว้

  • ท่านรู้จักใครบ้างที่มีศรัทธาแม้เมื่อพวกเขาอยู่คนเดียวในสภาวการณ์ท้าทาย

เมื่อนักเรียนตอบคำถามนี้ ให้ถาม คำถามติดตามผลเหล่านี้บางข้อหรือทั้งหมด

  • บุคคลนี้ทำอย่างไรในสภาวการณ์เหล่านั้น

  • บุคคลนั้นได้รับพรอย่างไรในท้ายที่สุดเพราะทำสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้เขาทำ

  • แบบอย่างเหล่านี้ช่วยท่านอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 8:10–11 ในใจ ขอให้พวกเขาระบุวิธีหนึ่งที่พระเจ้าทรงสนับสนุนโมโรไนและมอรมอนในสภาวการณ์ยุ่งยากที่พวกเขาเผชิญ (พระเจ้าทรงส่งชาวนีไฟสามคนมาปฏิบัติต่อมอรมอนและโมโรไน; ดู 3 นีไฟ 28:25–26 ด้วย) เน้นว่า หากเราซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าในสภาวการณ์ยุ่งยากหรือโดดเดี่ยว พระองค์จะทรงช่วยเรารักษาศรัทธา ใช้คำถามต่อไปนี้สนทนาความจริงดังกล่าว

  • ท่านเคยเชื่อฟังพระบัญญัติข้อหนึ่งของพระบิดาบนสวรรค์ในสภาวการณ์ที่ยากเป็นพิเศษเมื่อใด ท่านรู้สึกว่าท่านได้รับพรอย่างไรในการทำเช่นนั้น

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเตรียมเดี๋ยวนี้เพื่อให้มีศรัทธาในสภาวการณ์ยุ่งยากในอนาคต

เพื่อกระตุ้นนักเรียนให้รักษาศรัทธาแม้ในสภาวการณ์ที่พวกเขาต้องยืนคนเดียว ให้แบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ขณะที่เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แทบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ศรัทธาของเราจะถูกทดสอบ บางครั้งเราอาจรู้สึกตัวว่ามีใครต่อใครแวดล้อมเราอยู่ แต่เรายังเป็นคนกลุ่มน้อยหรือแม้เป็นคนเดียวที่ยืนยันว่าอะไรยอมรับได้และอะไรยอมรับไม่ได้ เรามีความกล้าหาญทางศีลธรรมเพื่อยืนหยัดตามความเชื่อของเราหรือไม่ แม้ต้องยืนหยัดคนเดียวขณะทำเช่นนั้น … ขอให้เรากล้าหาญและพร้อมจะยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อ และถ้าเราต้องยืนคนเดียวในระหว่างนั้น ขอให้เรายืนอย่างกล้าหาญ ได้รับพลังจากความรู้ที่ว่าแท้จริงแล้วเราไม่มีวันโดดเดี่ยวเมื่อเรายืนกับพระบิดาในสวรรค์ของเรา” (“กล้ายืนคนเดียว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 77, 85)

สรุปโดยแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพระเจ้าประทานพรท่านเพราะท่านมีศรัทธาในสภาวการณ์ที่ยากหรือโดดเดี่ยว

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

เขียนบนกระดานว่า กระตุ้น อธิบายว่าคำ กระตุ้น หมายถึงคะยั้นคะยอผู้อื่นให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายว่าถ้อยคำสุดท้ายของมอรมอนใน มอรมอน 7 เป็นตัวอย่างที่ดีของการกระตุ้น แจกกระดาษให้นักเรียนและบอกพวกเขาให้เขียนคำพูดซึ่งเป็นการกระตุ้นโดยใช้ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ชื่นชอบหนึ่งข้อในพระคัมภีร์มอรมอน ให้นักเรียนเขียนไว้ที่ด้านบนสุดของแผ่นกระดาษว่า “ฉันจะพูดบางอย่างกับเยาวชนในวันเวลาสุดท้าย” เชิญนักเรียนแต่ละคนเลือกผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ชื่นชอบหนึ่งข้อแล้วเขียนถ้อยคำกระตุ้นเยาวชนในวันเวลาสุดท้ายโดยใช้ข้อที่พวกเขาเลือกไว้ ถ้อยคำกระตุ้นอาจจะรวมถึงการสรุปความจริงหลักๆ ที่พบในข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ การอธิบายว่าเหตุใดความจริงเหล่านี้จึงสำคัญต่อเยาวชนทุกวันนี้ และการเชื้อเชิญให้กระทำตามความจริงเหล่านี้ ถ้อยคำกระตุ้นอาจสรุปด้วยคำสัญญาเช่นที่พบใน มอรมอน 7:7 หรือ มอรมอน 7:10 ท่านอาจจะขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันถ้อยคำกระตุ้นที่เขียนเสร็จแล้วกับชั้นเรียน ท่านอาจจะเก็บรวบรวมถ้อยคำเหล่านี้ไว้ใช้เป็นคำใบ้สำหรับกิจกรรมผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ครั้งหน้าหรือติดไว้ในห้องเรียน

หมายเหตุ: ท่านอาจจะใช้กิจกรรมนี้ในเวลาใดก็ได้ระหว่างบทเรียน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะใช้ตอนจบบทเรียนหรือใช้หลังจากสนทนา มอรมอน 7

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

มอรมอน 7 คำวิงวอนครั้งสุดท้ายของมอรมอนให้เชื่อในพระคริสต์

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายคำวิงวอนครั้งสุดท้ายของมอรมอนให้เชื่อในพระคริสต์ คำวิงวอนที่เขาเขียนถึงผู้คนในสมัยของเราหลังจากเห็นความพินาศของทั้งประชาชาติ

“ในการรำพึงกับตนเองเกี่ยวกับความตาย มอรมอนได้แสดงความเห็นข้ามยุคสมัยมาถึงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถึง ‘ผู้ที่เหลืออยู่ของเชื้อสายแห่งอิสราเอล’ ผู้ซึ่งวันหนึ่งจะอ่านบันทึกอันสูงค่าของเขา คนในอีกสมัยหนึ่งและอีกสถานที่หนึ่งต้องเรียนรู้สิ่งที่คนอยู่ก่อนเขาลืมไปแล้ว—นั่นคือคนทั้งปวงต้อง ‘เชื่อในพระเยซูคริสต์, ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า’ ว่าหลังจากการตรึงกางเขนพระองค์ในเยรูซาเล็ม ‘โดยเดชานุภาพของพระบิดา … [พระองค์] ทรงลุกขึ้นอีก, ซึ่งโดยการนั้นพระองค์ทรงได้ชัยชนะเหนือหลุมศพ; ในพระองค์ความเจ็บแปลบแห่งความตายถูกกลืนไว้ด้วย

“‘และพระองค์ทรงทำให้เกิดการฟื้นคืนชีวิตของคนตาย … [และ] การไถ่ของโลก’ ต่อจากนั้นคนที่ได้รับการไถ่เนื่องด้วยพระคริสต์จะชื่นชมกับ ‘สภาพของความสุขอันหาได้สิ้นสุดไม่’ [มอรมอน 7:2, 5–7] …

“ ‘เชื่อในพระคริสต์’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผลลัพธ์อันน่าโศกสลดแต่หลีกเลี่ยงได้เช่นนั้น เป็นคำวิงวอนครั้งสุดท้ายของมอรมอนและความหวังเดียวของเขา นี่คือจุดประสงค์สุดท้ายของหนังสือทั้งเล่มที่จะมาถึงชาวโลกยุคสุดท้ายที่รับพระนามของพระองค์” (Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon [1997], 321–22)