คลังค้นคว้า
บทที่ 141: มอรมอน 8:12–41


บทที่ 141

มอรมอน 8:12–41

คำนำ

หลังจากเขียนเกี่ยวกับความพินาศของผู้คนและความตายของบิดาแล้ว โมโรไนได้พยากรณ์เรื่องการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนและเตือนเรื่องผลของการไม่ยอมรับพระคัมภีร์มอรมอน โมโรไนเห็นว่าบันทึกชาวนีไฟจะออกมาในวันแห่งความชั่วร้ายใหญ่หลวง เมื่อคนเป็นมากจะรักทรัพย์สมบัติทางโลกมากกว่าพระผู้เป็นเจ้า เขาเป็นพยานว่าพระคัมภีร์มอรมอนจะมีค่าอย่างยิ่งท่ามกลางสภาพอันตรายทางวิญญาณที่จะมีอยู่ในวันเวลาสุดท้าย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มอรมอน 8:12–32

โมโรไนพยากรณ์เรื่องการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน

ก่อนชั้นเรียน ให้เตรียมแสดงสิ่งของหรือรูปภาพแทนความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เมื่อเริ่มชั้นเรียนให้ดึงความสนใจของนักเรียนมาที่สิ่งของเหล่านั้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“ข้าพเจ้าประสงค์จะพูดเกี่ยวกับของขวัญที่มีความหมายมากที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งให้แก่ชาวโลกในยุคปัจจุบัน ของขวัญที่ข้าพเจ้านึกถึงสำคัญกว่าสิ่งประดิษฐ์ใดๆ อันเกิดจากการปฏิวัติเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ของขวัญชิ้นนี้มีคุณค่าต่อมนุษยชาติยิ่งกว่าความก้าวหน้าอันน่าพิศวงมากมายที่เราเห็นในการแพทย์ปัจจุบัน มีค่าต่อมนุษยชาติยิ่งกว่าพัฒนาการของการบินหรือการเดินทางในอวกาศ ข้าพเจ้าพูดถึงของขวัญ …” (“The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,” Ensign, Nov. 1986, 4)

  • ท่านอยากมีของขวัญที่ประธานเบ็นสันพูดถึงหรือไม่ เพราะเหตุใด

  • ท่านคิดว่าของขวัญชิ้นนั้นน่าจะเป็นอะไร

อธิบายว่าโมโรไนสอนเกี่ยวกับของขวัญชิ้นนี้ ขอให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 8:12 เพื่อดูว่าของขวัญชิ้นนี้คืออะไร ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าวลี “บันทึกนี้” หมายถึงพระคัมภีร์มอรมอน อธิบายว่าประธานเบ็นสันพูดถึงของขวัญเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจคุณค่าของพระคัมภีร์มอรมอน เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน มอรมอน 8:13–16 ในใจ ก่อนอ่านขอให้พวกเขามองหาสิ่งที่โมโรไสอนเกี่ยวกับคุณค่าของพระคัมภีร์มอรมอน จากนั้นให้ถามคำถามบางข้อต่อไปนี้หรือทั้งหมดเพื่อช่วยพวกเขาสนทนาและวิเคราะห์สิ่งที่พบ

  • บางคนอาจนึกถึงคุณค่าเป็นตัวเงินของแผ่นจารึกทองคำ ตามที่กล่าวไว้ใน มอรมอน 8:14 แผ่นจารึก “มีค่าใหญ่หลวง” ในแง่ใด (ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าเพราะพระเจ้าจะไม่ทรงยอมให้ใคร “หาผลประโยชน์” จากแผ่นจารึกทองคำ ตัวแผ่นจารึกจึง “ไม่มีค่า” อย่างไรก็ดี บันทึกที่เขียนอยู่บนแผ่นจารึก “มีค่าใหญ่หลวง”)

  • โมโรไนกล่าวว่าผู้มี “ดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของ [พระผู้เป็นเจ้า] อย่างเดียว” (มอรมอน 8:15) เท่านั้นจึงจะนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมาได้ ท่านคิดว่านี่หมายความว่าอย่างไร (ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:46 ซึ่งมีคำแนะนำที่โมโรไนให้โจเซฟ สมิธก่อนเขานำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา)

  • ใน มอรมอน 8:16 คำบรรยายของโมโรไนเกี่ยวกับการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนช่วยอธิบายคุณค่าอันใหญ่หลวงของพระคัมภีร์เล่มนี้อย่างไร

ดังบันทึกไว้ใน มอรมอน 8:17–21 โมโรไนเตือนคนที่จะประณามหรือต่อต้านพระคัมภีร์มอรมอน เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่านข้อเหล่านี้และมองหาคำเตือนของโมโรไน

  • โมโรไนเตือนคนที่ปฏิเสธหรือประณามพระคัมภีร์มอรมอนว่าอย่างไร

  • ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรจาก มอรมอน 8:22 การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนในวันเวลาสุดท้ายช่วยให้จุดประสงค์นิรันดร์ของพระเจ้าเกิดสัมฤทธิผลอย่างไร

อธิบายว่า มอรมอน 8:23–25 ประกอบด้วยถ้อยคำของโมโรไนเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนของวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ผู้มีชีวิตก่อนเวลาของเขา เขากล่าวว่าคนเหล่านั้นร้องทูลพระเจ้า “จากภัสมธุลี” ขอให้นักเรียนอ่านข้อความนี้ในใจโดยมองหาสิ่งที่วิสุทธิชนในพื้นที่ของทวีปอเมริกาสมัยโบราณสวดอ้อนวอนขอเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

  • วิสุทธิชนสมัยโบราณสวดอ้อนวอนให้ใคร (พวกเขาสวดอ้อนวอนให้พี่น้องของเขา—หมายถึงชาวเล-มันกับผู้สืบตระกูลของคนเหล่านั้น—และให้คนที่จะนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา—หมายถึงศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ)

อธิบายว่าโมโรไนพูดถึงสภาพที่จะดำรงอยู่เมื่อพระคัมภีร์มอรมอนจะออกมา จากนั้นขอให้พวกเขาจินตนาการว่าตนเองเป็นโมโรไน มีชีวิตเมื่อ 1,600 กว่าปีก่อนและได้รับนิมิตเกี่ยวกับยุคสมัยของเรา

เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนข้อความหนึ่งย่อหน้าลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์บรรยายสภาพทางวิญญาณในสมัยของเรา เมื่อนักเรียนมีเวลาเขียนมากพอแล้ว เชิญหลายๆ คน แบ่งปัน สิ่งที่พวกเขาเขียนไว้ จากนั้นขอให้นักเรียนอ่าน มอรมอน 8:26–32 ในใจและเปรียบเทียบกับข้อความหนึ่งย่อหน้าของพวกเขากับคำบรรยายเชิงพยากรณ์ของโมโรไนเกี่ยวกับยุคสมัยของเรา แบ่งชั้นเรียนเป็นคู่ ขอให้แต่ละคู่แบ่งปันความคล้ายคลึงและความแตกต่างบางอย่างระหว่างคำบรรยายของเขากับคำบรรยายของโมโรไน

  • ท่านพบอะไรถูกต้องเกี่ยวกับคำบรรยายของโมโรไนเกี่ยวกับยุคสมัยของเรา

เขียนสรุปคำพยากรณ์ของโมโรไนไว้บนกระดานดังนี้ พระคัมภีร์มอรมอนจะออกมาโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในช่วงเวลาของความชั่วร้ายใหญ่หลวง หากท่านให้ดูสิ่งของหรือรูปภาพแทนสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีหรือการแพทย์ ท่านอาจจะวางพระคัมภีร์มอรมอนไว้ข้างๆ สิ่งของนั้น เพื่อช่วยให้นักเรียนไตร่ตรองและเป็นพยานถึงคุณค่าของพระคัมภีร์มอรมอนในชีวิตพวกเขา ถามคำถามต่อไปนี้

  • พระคัมภีร์มอรมอนสามารถช่วยเราต้านทานความชั่วร้ายในสมัยของเราได้อย่างไร

  • พระคัมภีร์มอรมอนมีค่ามากกว่าสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์หรือเทคโนโลยีในด้านใด

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระคัมภีร์มอรมอนจึงเป็น “ของขวัญที่มีความหมายมากที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งให้แก่ชาวโลกในยุคปัจจุบัน” ดังที่ประธานเบ็นสันกล่าวไว้

  • หากเพื่อนคนหนึ่งถามท่านว่าเหตุใดพระคัมภีร์มอรมอนจึงมีคุณค่าต่อท่าน ท่านจะตอบว่าอะไร

มอรมอน 8:33–41

โมโรไนเห็นวันเวลาสุดท้ายและประณามความชั่วร้ายทางวิญญาณในสมัยของเรา

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มอรมอน 8:35 ก่อนจะอ่าน จงชี้ให้เห็นว่าในข้อนี้โมโรไนกำลังพูดกับเราโดยตรง

  • ข้อนี้จะมีอิทธิพลต่อวิธีที่เราอ่านพระคัมภีร์มอรมอนได้อย่างไร

เมื่อนักเรียนสนทนาคำถามนี้แล้ว ให้อ่านคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันซึ่งท่านพูดถึงศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอน

“หากท่านเหล่านั้นเห็นวันเวลาของเราและเลือกสิ่งเหล่านั้นซึ่งจะมีคุณค่าใหญ่หลวงที่สุดต่อเรา เราไม่ควรศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนหรอกหรือ เราควรถามตัวเราเองอยู่เสมอว่า ‘เหตุใดพระเจ้าทรงดลใจมอรมอน (หรือโมโรไนหรือแอลมา) ให้รวมเรื่องนั้นไว้ในบันทึกของท่าน ฉันสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรจากเรื่องนั้นเพื่อช่วยฉันดำเนินชีวิตในยุคสมัยนี้’” (“The Book of Mormon—Keystone of Our Religion,” 6)

กระตุ้นนักเรียนให้ทำตามคำแนะนำนี้ขณะพวกเขาศึกษาถ้อยคำที่เหลือของโมโรไนใน มอรมอน 8

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาสังเกตเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก—ทางโลก ทางอารมณ์ สังคม หรือวิญญาณ— เชื้อเชิญพวกเขาให้พิจารณาว่าพวกเขาทำอะไรเพื่อช่วยบุคคลนั้น หรือหากพวกเขาไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ พวกเขาน่าจะทำอะไรได้บ้าง เชื้อเชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองว่าเหตุใดพวกเขาจึงเลือกช่วยหรือไม่ช่วย

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มอรมอน 8:33–41 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาเหตุผลที่คนบางคนในวันเวลาสุดท้ายจะไม่ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก

  • เหตุใดคนบางคนในวันเวลาสุดท้ายจึงไม่ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก (คำตอบอาจได้แก่ ความจองหอง ความชั่วช้าสามานย์ รักเงินทองและเสื้อผ้าสวยงามมากกว่ารักคนตกทุกข์ได้ยาก และปรารถนาคำสรรเสริญของโลก)

  • ใน มอรมอน 8:38 มอรมอนใช้คำว่า สกปรก อะไรคืออิทธิพลบางอย่างในโลกทุกวันนี้ที่อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งสกปรก (คำตอบอาจได้แก่ ความจองหอง สื่อลามก และความรักเงินทอง)

ขอให้นักเรียนเขียนหนึ่งประโยคสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก มอรมอน 8:36–41 เกี่ยวกับความรับผิดชอบของเราในการดูแลคนยากจนและคนตกทุกข์ได้ยาก เชิญนักเรียนสองหรือสามคนอ่านประโยคของพวกเขาให้ชั้นเรียนฟัง แม้คำพูดของนักเรียนจะต่างกัน แต่ควรสามารถระบุความจริงต่อไปนี้: พระผู้เป็นเจ้าจะทรงถือว่าเราต้องรับผิดชอบวิธีที่เราปฏิบัติต่อคนยากจนและคนตกทุกข์ได้ยาก

  • ท่านคิดว่าอะไรคือความต้องการบางอย่างที่พบเห็นมากที่สุดในโรงเรียนหรือชุมชนของท่าน เยาวชนของศาสนจักรจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยดูแลคนที่มีความต้องการเหล่านี้ (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องให้เงินและเวลาแก่อุดมการณ์ที่มีคุณค่าทุกอย่างหรือแก่ทุกคนที่ขอความช่วยเหลือ ในครอบครัวและในศาสนจักรเยาวชนได้รับโอกาสมากมายให้ช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก นอกจากนี้พวกเขายังสามารถทำตามการนำทางของพระวิญญาณได้ด้วยเพื่อให้การรับใช้ด้วยตนเอง)

  • ท่านคิดว่าเยาวชนในศาสนจักรสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อดูแลคนยากจน (หากนักเรียนไม่ได้กล่าวถึงเงินบริจาคอดอาหาร ท่านอาจต้องการเน้นเรื่องการจ่ายเงินบริจาคอดอาหารโดยอ่านย่อหน้าใต้หัวข้อ “วันอาทิตย์อดอาหาร” ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], หน้า–92)

หลังจากสนทนาเรื่องนี้ ให้เชื้อเชิญนักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับสิ่งหนึ่งหรือสองสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อดูแลคนยากจนและคนตกทุกข์ได้ยาก พวกเขาอาจจะเขียนข้อเสนอแนะที่เคยได้ยินในระหว่างชั้นเรียนหรือแนวคิดของพวกเขาเอง เชื้อเชิญพวกเขาให้เขียนเป้าหมายเพื่อทำสิ่งหนึ่งเหล่านี้ในสัปดาห์ที่จะมาถึง กระตุ้นพวกเขาให้ทำตามเป้าหมายเหล่านั้น

ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง

มอรมอน 8:14–18 “คนที่จะนำสิ่งนี้สู่ความสว่างย่อมเป็นสุข”

โมโรไนพยากรณ์เรื่องศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธผู้ได้รับเลือกให้นำพระคัมภีร์มอรมอนออกมาสู่โลก (ดู มอรมอน 8:15–16) ศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณอีกหลายท่านรู้เรื่องโจเซฟ สมิธเช่นกันและสวดอ้อนวอนให้ท่านประสบความสำเร็จในการแปลและจัดพิมพ์แผ่นจารึกทองคำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเกิดสัมฤทธิผล (ดู มอรมอน 8:23–25; คพ. 10:46) ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงบทบาทของโจเซฟ สมิธในการนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา ดังนี้

“ความจริงคือท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า—ไม่มีอะไรมากกว่านั้นและไม่มีอะไรน้อยกว่านั้น!

“พระคัมภีร์ไม่ได้มาจากโจเซฟ สมิธมากเท่าที่มาโดยผ่านท่าน ท่านเป็นช่องทางให้พระเจ้าประทานการเปิดเผย …

“ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นเด็กชาวไร่ด้อยการศึกษา เมื่ออ่านต้นร่างเดิมของจดหมายบางฉบับที่ท่านเขียนตอนแรกจะเห็นว่าท่านไม่เชี่ยวชาญการสะกดคำ ไวยากรณ์ และสำนวนภาษา

“การเปิดเผยที่ผ่านมาทางท่านในรูปแบบของความสละสลวยด้านภาษานับว่าเป็นปาฏิหาริย์อย่างแท้จริง” (“We Believe All That God Has Revealed,Ensign, May 1974, 94)

มอรมอน 8:37–38 การดูแลคนยากจนและคนขัดสนเกี่ยวข้องกับความสุขนิรันดร์อย่างไร

อธิการเอช. เดวิด เบอร์ตัน อธิการควบคุมเป็นพยานถึงผลนิรันดร์ของการดูแลคนยากจนและคนขัดสน ดังนี้

“จุดประสงค์ คำสัญญา และหลักธรรมที่เสริมงานของเราในการดูแลคนจนและคนขัดสนขยายเลยขอบเขตของความเป็นมรรตัย งานศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่เพียงเกิดประโยชน์และเป็นพรแก่ผู้ทุกข์ยากหรือขัดสนเท่านั้น ในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเราไม่สามารถรับชีวิตนิรันดร์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหากเราไม่ทุ่มเทเต็มที่ในการดูแลกันและกันขณะอยู่บนโลกนี้ เพราะการปฏิบัติด้วยความเมตตาในการเสียสละและการอุทิศตนเพื่อผู้อื่นทำให้เราเรียนรู้หลักธรรมซีเลสเชียลของการเสียสละและการอุทิศถวาย” (ดู “งานที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ของสวัสดิการ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 102)

พิมพ์