บทที่ 64
โมไซยาห์ 23–24
คำนำ
หลังจากแอลมาและผู้คนของเขาหลบหนีจากกองทัพของกษัตริย์โนอาห์แล้ว พวกเขาสถาปนาเมืองที่ชอบธรรมเมืองหนึ่ง แม้พวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณแต่ก็ประสบความทุกข์และการท้าทาย ชาวเลมันนำพวกเขามาเป็นทาส เมื่อแอลมาและผู้คนของเขาใช้ศรัทธาและความอดทน พระเจ้าทรงผ่อนปรนภาระของพวกเขาและทรงปลดปล่อยพวกเขาจากความเป็นทาสในท้ายที่สุด (สังเกตว่า โมไซยาห์ 23–24 ครอบคลุมประมาณช่วงเวลาเดียวกับ โมไซยาห์ 19–22)
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
โมไซยาห์ 23:1–20
พระเจ้าทรงช่วยแอลมากับผู้คนของเขาให้หนีรอดจากกองทัพของกษัตริย์โนอาห์และสถาปนาเมืองที่ชอบธรรมเมืองหนึ่ง
ให้นักเรียนดูภาพแอลมาให้บัพติศมาในผืนน้ำแห่งมอรมอน (62332; หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 76) เชิญนักเรียนคนหนึ่งบอกชั้นเรียนว่าเขารู้อะไรเกี่ยวกับชายคนที่กำลังให้บัพติศมาคนอื่นๆ ในภาพ (ถ้านักเรียนตอบไม่ได้ ท่านอาจเสนอแนะให้พวกเขาอ่านสรุปบทสำหรับ โมไซยาห์ 18 เพื่อเตือนพวกเขาให้นึกถึงเรื่องราวของแอลมากับผู้คนของเขาที่ผืนน้ำแห่งมอรมอน)
แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญแต่ละคู่ให้ผลัดกันอ่านจาก โมไซยาห์ 23:1–5, 19 ให้กันฟัง ขอให้พวกเขามองหาวลีที่แสดงว่าพระเจ้าประทานพรแอลมากับผู้คนของเขาอย่างไรเมื่อพวกเขากลับใจและเลือกดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายวลีเหล่านี้) ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ
เชื้อเชิญนักเรียนให้ดูแผนภาพแสดงคำอธิบายพอสังเขปของการเดินทางใน โมไซยาห์ 7–24 แนะนำพวกเขาให้วาดแผ่นดินแห่งฮีลัมลงในแผนภาพของพวกเขาตรงตำแหน่งที่เหมาะสม และให้พวกเขาวาดลูกศรจากผืนน้ำแห่งมอรมอนไปยังแผ่นดินแห่งฮีลัม แล้วเขียนตรงลูกศรว่า “แอลมากับผู้คนของเขาออกเดินทาง” (ดูแผนภาพที่สมบูรณ์ในภาคผนวกท้ายคู่มือเล่มนี้)
อธิบายพอสังเขปว่าใน โมไซยาห์ 23:6–14 เราอ่านว่าแอลมาปฏิเสธคำขอร้องของผู้คนให้เขาเป็นกษัตริย์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 23:9–10, 12 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำอธิบายของแอลมาเกี่ยวกับผลกระทบที่กษัตริย์โนอาห์มีต่อเขาและผู้คนของเขา ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ
-
วลี “ติดกับดัก” และ “ถูกมัดไว้ด้วยสายรัดแห่งความชั่วช้าสามานย์” สอนอะไรเกี่ยวกับผลของบาป
-
เหตุใดการรู้จักอิทธิพลที่ชักนำเราให้ทำบาปในอดีตจึงเป็นประโยชน์ต่อเรา
-
หลังจากเรากลับใจ เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องจดจำว่าการกลับใจ “ชอกช้ำ” เพียงใด
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 23:13 ชี้ให้เห็นคำแนะนำของแอลมาให้ “ยืนหยัดอยู่ในเสรีภาพนี้ซึ่งโดยการนี้พระองค์ทรงทำให้ท่านเป็นอิสระ”
-
คำแนะนำนี้ประยุกต์ใช้กับกระบวนการกลับใจอย่างไร (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเมื่อพระเจ้าทรงปลดปล่อยเราจากบาปและเราประสบอิสรภาพของการให้อภัย เราต้องทำการเลือกที่ชอบธรรมเพื่อรักษาเสรีภาพนั้นไว้)
เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า โมไซยาห์ 23:14–18 ในใจ โดยมองหาบางสิ่งที่แอลมาสอนผู้คนให้ทำเพื่อรักษาเสรีภาพของพวกเขาไว้ ขอให้นักเรียนสองสามคนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 23:19–20 ขอให้ชั้นเรียนระบุวลีที่บ่งบอกว่าพระเจ้าทรงอวยพรผู้คนเมื่อพวกเขาเลือกดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม (“รุ่งเรืองอย่างยิ่ง”)
-
ท่านจะสรุปสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของแอลมากับผู้คนของเขาอย่างไร (ในบรรดาความจริงอื่นๆ นักเรียนอาจพูดว่า เมื่อเรากลับใจและเลือกดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม พระเจ้าจะทรงอวยพรเราและทำให้เราเป็นอิสระจากพันธนาการของความชั่วช้าสามานย์
-
ท่านเห็นหลักธรรมนี้เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตท่านหรือในชีวิตของเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวอย่างไร (เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเล่าประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)
โมไซยาห์ 23:21–29
กองทัพของชาวเลมันและปุโรหิตชั่วร้ายของโนอาห์นำแอลมากับผู้คนมาอยู่ในความเป็นทาส
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าคนชอบธรรมยังต้องประสบการทดลอง ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาในชีวิตพวกเขาเมื่อพวกเขาสามารถเชื่อมโยงกับคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“การทดสอบ … จะต้องมีแม้เมื่อท่านดำเนินชีวิตมีค่าควรและชอบธรรม และเชื่อฟังพระบัญญัติ [ของพระผู้เป็นเจ้า] เมื่อทุกอย่างดูเหมือนราบรื่นการท้าทายมักถาโถมเข้ามาพร้อมกัน” (ดู “จงวางใจในพระเจ้า,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, หน้า 15)
ขอให้นักเรียนค้นคว้า โมไซยาห์ 23:21–22 เพื่อดูว่าเหตุใดพระเจ้าจึงทรงยอมให้คนที่เลือกดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมประสบการทดลองและความยากลำบาก ขณะที่นักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่า พระเจ้าจะทรงทดสอบความอดทนและศรัทธาของเราเพื่อช่วยเราเพิ่มความไว้วางใจในพระองค์
เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนของพวกเขา ขอให้พวกเขาไตร่ตรองคำถามเหล่านี้ขณะศึกษา โมไซยาห์ 23 ที่เหลือ พวกเขาไม่ควรเขียนคำตอบจนกว่าท่านจะบอกให้เขียนในช่วงหลังของบทเรียน
-
ปัจจุบันท่านกำลังประสบการทดลองอะไรบ้าง
-
ท่านจะใช้ศรัทธาและความวางไว้วางใจในพระผู้เป็นเจ้าในช่วงการทดลองได้อย่างไร
ขอให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 23:23–29 เชื้อเชิญพวกเขาให้มองหาด้านต่างๆ ที่แอลมากับผู้คนของเขาถูกทดสอบและสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อแสดงความไว้วางใจในพระผู้เป็นเจ้า
-
การสวดอ้อนวอนและการทำตามคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์จะช่วยเราในช่วงของการทดลองได้อย่างไร (สามารถช่วยเราเพิ่มพูนความอดทนและศรัทธา อีกทั้งช่วยให้เราได้รับพลัง การเปิดเผยส่วนตัว สันติสุข และความมั่นใจทั้งนี้เพื่อเราจะสามารถอดทนต่อการทดลองหรือพบการปลดปล่อยจากการทดลองเหล่านั้นได้)
โมไซยาห์ 23:30–24:25
แอลมากับผู้คนของเขาทนทุกข์กับการข่มเหง แต่พระเจ้าทรงผ่อนปรนภาระและปลดปล่อยพวกเขาอย่างน่าอัศจรรย์
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของอมิวลอนกับชาวเลมันและกษัตริย์ของพวกเขา ให้สรุป โมไซยาห์ 23:30–39 และ 24:1–7 อธิบายว่าอมิวลอนเป็นผู้นำของพวกปุโรหิตชั่วร้ายของกษัตริย์โนอาห์ผู้ขับไล่แอลมาเพราะสนับสนุนอบินาได อมิวลอนกับพวกปุโรหิตชั่วร้ายคนอื่นๆ และภรรยาชาวเลมันของพวกเขาเข้าสมทบกับชาวเลมัน อมิวลอนเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ชาวเลมันผู้ซึ่งแต่งตั้งเขาให้ปกครองชาวนีไฟทั้งหมดในแผ่นดินแห่งฮีลัม รวมทั้งผู้คนของแอลมาด้วย
เชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าชั้น และขอให้เขาสะพายเป้เปล่า (นักเรียนจะต้องใช้พระคัมภีร์ของตนเอง) ถามนักเรียนว่าการแบกเป้เปล่าในช่วงที่เหลือของวันนั้นจะง่ายเพียงใด เชิญนักเรียนคนนี้อ่านออกเสียง โมไซยาห์ 24:8–11 ทุกครั้งที่นักเรียนคนดังกล่าวอ่านบางอย่างที่จะเป็นการทดลองสำหรับแอลมาและผู้คนของเขา ให้ใส่ก้อนหินหรือของหนักชิ้นหนึ่งลงในเป้ เมื่อนักเรียนอ่านจบ ให้ถามเขาว่าการแบกเป้หนักในช่วงที่เหลือของวันนั้นจะง่ายเพียงใด (ให้นักเรียนยืนอยู่หน้าชั้นและแบกเป้าหนักจนกว่าจะสั่งให้ไปนั่ง) ถามนักเรียนดังนี้
-
ก้อนหินหรือของหนักในเป้อาจจะเป็นตัวแทนของอะไรได้บ้างในชีวิตเรา
-
ภาระแบบนี้ส่งผลต่อเราอย่างไร
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 24:10–12 เชื้อเชิญชั้นเรียนทั้งชั้นให้มองหาสิ่งที่ผู้คนของแอลมาทำเพื่อรับความช่วยเหลือเกี่ยวกับภาระของพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนให้อธิบายสิ่งที่พวกเขาพบ
-
การสวดอ้อนวอนสามารถช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเรามีภาระยุ่งยาก
-
เมื่อเราประสบการทดลอง เหตุใดการรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบ “ความนึกคิดในใจ [เรา]” จึงปลอบโยนเรา
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 24:13–15 เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนของแอลมาเมื่อพวกเขายังคงสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือต่อไป
-
พระเจ้าทรงสัญญาจะทำอะไรเพื่อผู้คนของแอลมา (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจจะขอให้นักเรียนอีกหนึ่งหรือสองคนประคองเป้ด้านล่างเพื่อผ่อนภาระของนักเรียนที่แบกเป้—เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระเจ้าทรงสามารถแบ่งเบาภาระของเราได้อย่างไร) คำสัญญาดังกล่าวสัมพันธ์อย่างไรกับพันธสัญญาที่พวกเขาทำ ณ ผืนน้ำแห่งมอรมอน (ดู โมไซยาห์ 18: 8–10)
-
เหตุใดการรู้ว่าพระเจ้าไม่ทรงนำเอาภาระหรือการท้าทายของเราออกไปทันทีจึงเป็นประโยชน์
-
เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากวิธีที่แอลมากับผู้คนตอบสนองการทดลองของพวกเขา
-
เมื่อใดที่ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าประทานพลังให้ท่านอดทนต่อการทดลองหรือทรงแบกภาระของท่าน
เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน โมไซยาห์ 24:16–17, 21 ในใจ ขอให้พวกเขาหาคำและวลีที่อธิบายเพิ่มเติมว่าผู้คนตอบสนองต่อการทดลองอย่างไรและพระเจ้าทรงช่วยพวกเขาอย่างไร เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนอธิบายด้วยคำพูดของตนเองเกี่ยวกับความเชื่อมโยงที่พวกเขาเห็นระหว่างการกระทำของผู้คนกับการกระทำของพระเจ้า เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: เมื่อเรายอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างอดทน พระองค์จะทรงเพิ่มพลังและทรงปลดปล่อยเราจากการทดลองในเวลาของพระองค์
เชิญนักเรียนคนนั้นมาหน้าชั้นเพื่อปลดเป้ออก ขอให้เขาอธิบายว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อไม่มีภาระ เชิญนักเรียนคนเดียวกันอ่าน โมไซยาห์ 24:21–22 ท่านอาจขอให้นักเรียนคนนั้นแบ่งปันว่าเขาจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผู้คนทำในข้อเหล่านี้อย่างไร
สรุป โมไซยาห์ 24:18–25 โดยอธิบายว่าแอลมากับผู้คนของเขาสามารถหนีรอดเพราะพระเจ้าทรงทำให้ชาวเลมันหลับสนิท จากนั้นพระเจ้าทรงพาแอลมากับผู้คนของเขาไปเซราเฮ็มลาซึ่งกษัตริย์โมไซยาห์ต้อนรับพวกเขาด้วยปีติ แอลมากับผู้คนของเขา “ทุ่มเทใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้า” โดยรู้ว่า “ไม่มีใครปลดปล่อยพวกเขาได้นอกจากพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา” (โมไซยาห์ 24:21; ดู โมไซยาห์ 25:16 ด้วย)
บนแผนภาพแสดงคำอธิบายพอสังเขปของการเดินทางใน โมไซยาห์ 7–24 ให้นักเรียนวาดลูกศรจากแผ่นดินแห่งฮีลัมไปแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา แนะนำพวกเขาให้เขียนการเดินทางครั้งนี้ว่า “ผู้คนของแอลมาหนีรอด”
เพิ่มสรุป เชื้อเชิญนักเรียนให้เขียนคำตอบของคำถามสองข้อที่พวกเขาเขียนไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ช่วงต้นบทเรียน ขอให้พวกเขาใคร่ครวญการทดลองของตนและพวกเขาจะสามารถใช้ศรัทธาและความไว้วางใจในพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้พวกเขาอดทนได้อย่างไร แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าถ้าเรายอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างอดทน พระองค์จะทรงเพิ่มพลังและปลดปล่อยเราจากการทดลองของเราในเวลาของพระองค์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญนักเรียนให้ยกตัวอย่างด้วยว่าพระเจ้าทรงเพิ่มพลังให้พวกเขาในการทดลองอย่างไร
ข้อคิดเห็นและข้อมูลภูมิหลัง
โมไซยาห์ 21–24 เปรียบเทียบความเป็นทาสของผู้คนของลิมไฮกับความเป็นทาสของผู้คนของแอลมา
ผู้คนของลิมไฮ |
ผู้คนของแอลมา |
---|---|
พวกเขาอยู่ในความเป็นทาสหลังจากการนองเลือดมาก (ดู โมไซยาห์ 21:5–13) |
พวกเขาอยู่ในความเป็นทาสโดยไม่มีการนองเลือดเลย (ดู โมไซยาห์ 23:35–38) |
พระเจ้าทรงเชื่องช้าที่จะฟังเสียงร้องของพวกเขาเพราะความชั่วช้าสามานย์ของพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 21:15) |
พระเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาอย่างรวดเร็ว (ดู โมไซยาห์ 23:10–13) |
ภาระของพวกเขาผ่อนปรนเพราะพระเจ้าทรงทำให้ใจของชาวเลมันอ่อนลง (ดู โมไซยาห์ 21:15) |
พระเจ้าทรงเพิ่มพลังให้พวกเขาเพื่อพวกเขาจะสามารถแบกภาระได้ด้วยความง่ายดาย (ดู โมไซยาห์ 24:14–15) |
กิเดียนคิดแผนหลบหนี (ดู โมไซยาห์ 21:36; 22:1–9) |
พระเจ้าทรงบอกพวกเขาว่า “จงสบายใจเถิด, เพราะในวันพรุ่งเราจะปลดปล่อยเจ้าออกจากความเป็นทาส” (โมไซยาห์ 24:16) |
พวกเขามอมเหล้าทหารยาม (ดู โมไซยาห์ 22:10) |
พระเจ้าทรงทำให้ทหารยามหลับ (ดู โมไซยาห์ 24:19) |
โมไซยาห์ 23:21 การทดลองของเราจะเป็นประโยชน์สำหรับเราได้อย่างไร
ถึงแม้คนที่ติดตามแอลมากลับใจแล้วและซื่อสัตย์ แต่พระเจ้าทรงยอมให้พวกเขาถูกชาวเลมันกดขี่ชั่วคราวเพื่อทดลองความอดทนและศรัทธาของพวกเขา
เอ็ลเดอร์ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าทุกอย่างที่เราประสบสอนบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่เรา
“ไม่มีความเจ็บปวดใดที่เราทนทุกข์ การทดลองใดที่เราประสบจะสูญเปล่า ทั้งหมดล้วนเอื้อต่อการได้ความรู้ ต่อการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความอดทน ศรัทธา ความทรหด และความอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งหมดที่เราทนทุกข์และทั้งหมดที่เราอดทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรายืนหยัดอดทน ล้วนเสริมสร้างอุปนิสัย ทำให้ใจเราบริสุทธิ์ ขยายจิตวิญญาณ ทำให้เราอ่อนโยนและมีจิตกุศลมากขึ้น มีค่าควรแก่การเรียกว่าเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น … โดยผ่านโทมนัสและความทุกขเวทนา ความตรากตรำลำบาก เราจะได้ความรู้ซึ่งเรามาที่นี่เพื่อจะรับความรู้นั้นและจะทำให้เราเป็นเหมือนพระบิดาและพระมารดาในสวรรค์ของเรามากขึ้น” (ใน สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, Faith Precedes the Miracle [1972], 98)
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณค่าและจุดประสงค์ของการทดลองดังนี้
“หากการทดลองเหล่านั้นไม่ได้เป็นผลจากการไม่เชื่อฟังของท่าน มันก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงรู้สึกว่าท่านพร้อมแล้วที่จะเติบโตมากขึ้น (ดู สุภาษิต 3:11–12) ดังนั้นพระองค์จึงประทานประสบการณ์ที่จะทำให้ท่านเจริญเติบโต มีความเข้าใจ และมีเมตตากรุณาซึ่งจะชำระท่านให้บริสุทธิ์เพื่อประโยชน์อันถาวรของท่าน การดึงท่านออกจากจุดที่ท่านอยู่ไปยังจุดที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้ท่านอยู่จำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างมากและโดยทั่วไปแล้วท่านจะต้องแบกรับความทุกข์ยากและความเจ็บปวดด้วย” (“จงวางใจในพระเจ้า,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 15)
โมไซยาห์ 24:15–16 เจตคติของเราสามารถส่งผลต่อการเติบโตของตัวเราผ่านการทดลองได้อย่างไร
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกระตุ้นเราให้พึ่งพาพระเจ้าเมื่อเราเผชิญการท้าทายดังนี้
“พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ในการพัฒนาและการเจริญขึ้นของตัวท่านเอง ความก้าวหน้านั้นจะเพิ่มขึ้นเมื่อท่านเต็มใจให้พระองค์นำท่านผ่านประสบการณ์เพื่อการเติบโตที่ท่านต้องเผชิญทุกอย่าง ไม่ว่าในตอนแรกท่านจะชอบหรือไม่ก็ตาม เมื่อท่านเต็มใจยอมให้จิตใจและความคิดของท่านมีศูนย์กลางอยู่ที่พระประสงค์ของพระองค์ เมื่อท่านทูลขอที่จะได้รับการนำโดยพระวิญญาณเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ท่านจะแน่ใจได้ถึงความสุขอันยิ่งใหญ่ตลอดการดำเนินชีวิต และจะบรรลุความสำเร็จสูงสุดจากประสบการณ์มรรตัยนี้ หากท่านสงสัยในทุกสิ่งที่ท่านได้รับการขอร้องให้ทำ หรือต่อต้านอย่างแข็งกร้าวในการท้าทายอันไม่น่ารื่นรมย์ทุกอย่าง ท่านได้ทำให้ยากขึ้นสำหรับพระเจ้าที่จะประทานพรท่าน” (“การค้นพบความสุขในชีวิต,” เลียโฮนา, ก.ค. 1996, 31)