จงตามเรามา
3–9 มีนาคม: “เรียนรู้จากเรา”: หลักคําสอนและพันธสัญญา 19


“3–9 มีนาคม: ‘เรียนรู้จากเรา’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 19” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)

“หลักคําสอนและพันธสัญญา 19” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2025

พระเยซูทรงเดินไปตามทางใกล้ต้นไม้

ส่วนหนึ่งจากภาพ Gethsemane’s Path [เส้นทางเกทเสมนี] โดย สตีฟ แม็คจินตี

3–9 มีนาคม: “เรียนรู้จากเรา”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19

มาร์ตินกับลูซี แฮร์ริสใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ฟาร์มสวยที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองพอลไมรา นิวยอร์ก แต่ในปี 1829 ปรากฏว่าจะจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนได้ต่อเมื่อมาร์ตินจำนองฟาร์มเพื่อนำเงินมาจ่ายให้ผู้พิมพ์ มาร์ตินมีประจักษ์พยานในพระคัมภีร์มอรมอน แต่ลูซีไม่มี ถ้ามาร์ตินจำนองฟาร์มและพระคัมภีร์มอรมอนขายไม่ดี เขาจะสูญเสียฟาร์มและทำให้ชีวิตแต่งงานสั่นคลอน ตลอดจนเขาจะเสียชื่อเสียงในชุมชน แม้สภาวการณ์ของเราแตกต่างจากของมาร์ติน แต่บางครั้งเราทุกคนล้วนประสบคำถามยากๆ เหมือนที่เขาเผชิญ นั่นคือ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีค่าต่อฉันอย่างไร? ฉันยินดีเสียสละอะไรเพื่อช่วยสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า? ท้ายที่สุดมาร์ติน แฮร์ริสตัดสินใจจํานองฟาร์มของเขาเพื่อจะจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอน 5,000 เล่มแรกได้ แต่แม้การเสียสละนี้—และการเสียสละใดก็ตามที่เราจะทํา—เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการพลีพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ “ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสิ่งทั้งปวง” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 19:18) ผู้หลั่งพระโลหิตออกจากทุกรูขุมขนเพื่อช่วยคนกลับใจให้รอด

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนได้จาก วิสุทธิชน, 1:76–84

ไอคอนศึกษา

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:1–12

“เรา, พระผู้เป็นเจ้า, หาได้สิ้นสุดไม่”

โจเซฟ สมิธอธิบายว่าการเปิดเผยใน ภาค 19 เป็น “พระบัญญัติ … ให้แก่มาร์ติน แฮร์ริส, ประทานโดยพระองค์ผู้ทรงเป็นนิรันดร์” (หัวบทของภาค) มองหาที่ต่างๆ ใน ข้อ 1–12 ที่พระเจ้าทรงเน้นพระลักษณะนิรันดร์ของพระองค์ ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสําคัญที่มาร์ติน แฮร์ริสต้องรู้เรื่องนี้เกี่ยวกับพระเจ้า? เหตุใดการรู้เรื่องนี้จึงสำคัญสำหรับท่าน?

ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเรียกพระเยซูคริสต์ว่า “ปฐมและอวสาน” (ข้อ 1)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:15–20

ไอคอนเซมินารี
พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อฉันจะได้กลับใจและมาหาพระองค์

พันธสัญญาใหม่บรรยายการทนทุกข์ของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีจากมุมมองของคนที่สังเกตเห็นเหตุการณ์นี้ ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:15–20 พระเยซูคริสต์ทรงรับสั่งเรื่องการทนทุกข์จากมุมมองของพระองค์เอง ขณะที่ท่านอ่านเรื่องราวส่วนพระองค์อันศักดิ์สิทธิ์นี้ ให้มองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงการทนทุกข์ของพระองค์ว่าอย่างไร พิจารณาว่าแต่ละคำหรือแต่ละวลีสอนอะไรท่าน เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยทนทุกข์? ท่านสามารถดูเพิ่มเติมได้ใน ยอห์น 15:13; โมไซยาห์ 3:7; แอลมา 7:11–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–13

ความรู้สึกที่ท่านมีขณะศึกษาการทนทุกข์ของพระผู้ช่วยให้รอดอาจกระตุ้นให้เกิดคําถามทํานองนี้: เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องทนทุกข์เพื่อบาปของฉัน? เหตุใดฉันจึงต้องกลับใจเพื่อรับพรอันสมบูรณ์ของการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์? ท่านอาจจะหาข้อคิดเกี่ยวกับคําถามเหล่านี้และคําถามอื่นๆ ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรสเรื่อง “พระเยซูคริสต์: พระผู้ทรงดูแลจิตวิญญาณเรา” (เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 82–84) ขณะที่ท่านศึกษา ท่านเกิดความประทับใจอะไรบ้าง? ท่านอาจจะบันทึกความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อท่าน

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและการนมัสการ ท่านอาจมองหาเพลงสวดที่ท่านสามารถฟังหรือร้องที่แสดงความสํานึกคุณของท่านต่อพระผู้ช่วยให้รอดสําหรับการทนทุกข์ของพระองค์เพื่อท่าน “ฉันเฝ้าพิศวง” (เพลงสวด บทเพลงที่ 89) เป็นตัวอย่างที่ดี

ท่านรู้สึกว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงประสงค์ให้ท่านทําอะไรอันเป็นผลมาจากสิ่งที่ท่านรู้สึกและศึกษา?

ดู “พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยเหลือท่าน,” เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก (2022), 6–9; ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 47–51; “พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ

2:3

พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี

พระเยซู เปโตร ยากอบ และยอห์นไปยังสวนเกทเสมนี พระเยซูทรงยอมรับพระประสงค์ของพระบิดาและเริ่มทน​ทุกข์​ทรมานเพื่อบาปและความทุกข์ของมนุษยชาติ จากนั้น พระองค์ถูกทรยศและจับกุม มัทธิว 26:36-57

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23

สันติสุขมาจากการเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์และติดตามพระองค์

พิจารณาพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอด “จงเรียนรู้จากเรา” ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19? บันทึกความคิดของท่าน และไตร่ตรองว่าความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้ท่านพบสันติสุขอย่างไร “เดินด้วยความสุภาพอ่อนน้อมแห่งพระวิญญาณ [ของพระองค์]” มีความหมายต่อท่านอย่างไร?

ดู เฮนรีย์ บี.อายริงก์, “ค้นพบสันติสุขส่วนตัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2023, 29–31

4:9

Peace in Christ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:26–41

พรของพระผู้เป็นเจ้าสำคัญยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติของแผ่นดินโลก

พระคัมภีร์มอรมอนขายไม่ดีนักในพอลไมรา ด้วยเหตุนี้ มาร์ติน แฮร์ริสจึงต้องขายฟาร์มส่วนใหญ่ของเขาเพื่อชําระหนี้ให้ผู้พิมพ์ (ดู “The Contributions of Martin Harris,” ใน Revelations in Context, 7–8) ไตร่ตรองการเสียสละของมาร์ติน—และพรที่ท่านได้รับเพราะการเสียสละนั้น—ขณะที่ท่านอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 19:26–41 ท่านอาจจะคิดถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงขอให้ท่านเสียสละด้วย ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านเสียสละด้วยความ “ชื่นชมยินดี” และ “ความยินดี”? (ดู ข้อ 15–20 ด้วย)

ภาพวาดฟาร์มในเมืองพอลไมรา

ส่วนหนึ่งจากภาพ ฟาร์มมาร์ติน แฮร์ริส โดย อัล ราวด์ส

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

ไอคอนหมวดเด็ก 01

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19

พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อฉัน

  • ท่านสามารถช่วยให้เด็กรู้สึกคารวะและสํานึกคุณต่อพระผู้ช่วยให้รอดโดยอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 19:16–19 หรือ “บทที่ 51: พระเยซูทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 129–132 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ท่านอาจหยุดครู่หนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กเข้าใจและให้พวกเขาแสดงความรู้สึก ตัวอย่างเช่น ใน ข้อ 16 อะไรคือ “สิ่งเหล่านี้” ที่พระเยซูทรงทนทุกข์เพื่อเรา? (ดู โมไซยาห์ 3:7; แอลมา 7:11–12) เราเรียนรู้อะไรจากคำบรรยายถึงการทนทุกข์ของพระองค์? เราจะแสดงความสำนึกคุณต่อสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อเราได้อย่างไร?

1:46

Chapter 51: Jesus Suffers in the Garden of Gethsemane

ช่วยให้เด็กเรียนรู้จากพระคัมภีร์ เด็กบางคนอ่านพระคัมภีร์ไม่คล่อง การเน้นข้อเดียวหรือวลีเดียวอาจช่วยพวกเขาได้

  • ท่านและเด็กอาจดูเพลงใน เพลงสวด หรือ หนังสือเพลงสำหรับเด็ก ที่ช่วยให้ท่านแสดงความรู้สึกของตนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ (ดูดัชนีหัวข้อในหนังสือสองเล่มนี้)

พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนในเกทเสมนี

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:18–19, 24

พระเยซูคริสต์ทรงเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์แม้ในเวลาที่ยาก

  • การทนทุกข์เพราะบาปของเราเป็นเรื่องยากมาก แต่พระเยซูคริสต์เต็มพระทัยที่จะทำเพื่อเชื่อฟังพระบิดาของพระองค์และเพื่อแสดงความรักต่อพระองค์และต่อเรา ท่านอาจดูภาพพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี (เหมือนภาพในโครงร่างนี้) ด้วยกันและขอให้เด็กบอกท่านว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพ ท่านอาจอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 19:18–19, 24 ด้วยกันเพื่อเน้นว่าการทนทุกข์เพราะบาปของเราเป็นเรื่องยากที่สุดที่ใครเคยทํา แต่เพราะพระเยซูทรงรักพระบิดาและเรา พระองค์จึงทรงเชื่อฟังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู โมไซยาห์ 3:7 ด้วย) สิ่งที่ยากที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำคืออะไร? เราจะพบความกล้าหาญที่จะเชื่อฟังพระองค์ได้อย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23

“จงเรียนรู้จากเรา, และฟังถ้อยคำของเรา”

  • ท่านอาจช่วยเด็กคิดท่าง่ายๆ ที่สอดคล้องกับวลีต่างๆ ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23 อ่านข้อนี้หลายๆ ครั้งขณะพวกเขาทำท่า เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพระคริสต์และฟังพระวจนะของพระองค์ด้วยวิธีใดบ้าง?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:38

พรของพระผู้เป็นเจ้าสำคัญยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติของแผ่นดินโลก

  • ท่านและเด็กอาจผลัดกันถือพระคัมภีร์มอรมอนและแบ่งปันสิ่งที่ท่านรักเกี่ยวกับพระคัมภีร์เล่มนี้ สนทนาพอสังเขปเกี่ยวกับการเสียสละของมาร์ติน แฮร์ริสเพื่อจะพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนได้ (เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา หน้า 33) พระเจ้าตรัสอะไรกับมาร์ตินใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:38 ที่อาจจะช่วยให้เขาเปี่ยมด้วยศรัทธาและเชื่อฟัง? ช่วยให้เด็กคิดถึงสิ่งที่พวกเขาเสียสละได้เพื่อเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าหรือช่วยงานของพระองค์

    2:7

    Chapter 7: Witnesses See the Gold Plates: 1829–1830

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพวาดพระเยซูในเกทเสมนี

พระคริสต์ทรงสวดอ้อนวอนในสวนเกทเสมนี โดย เฮอร์แมนน์ คลีเมนซ์

หน้ากิจกรรมสําหรับเด็ก