“7–13 เมษายน: ‘เปล่งเสียงของเจ้า … เพื่อประกาศกิตติคุณของเรา’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 30–36 จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคำสอนและพันธสัญญา 30–36” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
7–13 เมษายน: “เปล่งเสียงของเจ้า … เพื่อประกาศกิตติคุณของเรา”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 30–36
พาร์ลีย์ พี. แพรทท์เป็นสมาชิกศาสนจักรมาได้ประมาณหนึ่งเดือนเมื่อเขาได้รับเรียกไปสั่งสอนพระกิตติคุณ “ในแดนทุรกันดาร” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 32:2) โธมัส บี. มาร์ชเป็นสมาชิกไม่ถึงเดือนเมื่อพระเจ้ารับสั่งกับเขาว่า “โมงแห่งภารกิจของเจ้ามาถึงแล้ว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:3) ออร์สัน แพรทท์, เอดเวิร์ด พาร์ทริจ และอีกหลายคนรับบัพติศมาได้ไม่นานเช่นกันเมื่อเรียกพวกเขาให้ทำงานเผยแผ่ บางทีมีบทเรียนในแบบแผนนี้สำหรับเราในปัจจุบัน นั่นคือ ถ้าท่านรู้มากพอจะยอมรับพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูโดยบัพติศมา ท่านย่อมรู้มากพอจะแบ่งปันให้กับผู้อื่น แน่นอนว่าเราต้องเพิ่มความรู้ในพระกิตติคุณเสมอ แต่พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงลังเลที่จะขอให้คน “ไม่มีการศึกษา” สั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:13) อันที่จริง พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้เราทุกคน “อ้าปากของเจ้าเพื่อประกาศกิตติคุณของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 30:5) เราทำเช่นนั้นได้ดีที่สุดไม่ใช่ผ่านสติปัญญาและประสบการณ์ของเราเองแต่ “โดยอำนาจแห่งพระวิญญาณ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:13)
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
ฉันได้รับเรียกให้เป็นพยานของพระเยซูคริสต์
ไม่ว่าท่านจะได้รับการเรียกอย่างเป็นทางการให้เป็นผู้สอนศาสนาหรือไม่ ท่านสามารถเป็นพยานของพระเยซูคริสต์ได้ “ทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่ง” (โมไซยาห์ 18:9) ขณะที่ท่านศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 30–36 ให้บันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับโอกาสในการแบ่งปันพระกิตติคุณ ท่านอาจเขียนสิ่งที่พระเจ้าทรงขอจากท่านและคำสัญญาอีกรายการที่พระเจ้าทรงทำเมื่อท่านแบ่งปันพระกิตติคุณ (ดูตัวอย่างใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 30:8; 31:3–5; 32:1, 5; 35:13–15,24) ท่านอาจมองหาหลักธรรมที่สามารถช่วยท่านแบ่งปันพระกิตติคุณได้เช่นกัน ท่านพบอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่าน “ประกาศข่าวอันน่ายินดีแห่งความปรีดียิ่ง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:3)
เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันสอนว่าการประกาศพระกิตติคุณ “สำเร็จได้ผ่านหลักธรรมอันเรียบง่ายและเข้าใจไม่ยากที่สอนเรามาตั้งแต่เด็ก: รัก แบ่งปัน และเชื้อเชิญ” (“รัก แบ่งปัน เชื้อเชิญ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 85) ท่านอาจศึกษาข่าวสารของเอ็ลเดอร์สตีเวนสันขณะนึกถึงคนรู้จัก มิตรสหาย และครอบครัวของท่าน ท่านมีแนวคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับวิธีที่ท่านสามารถแบ่งปัน “สิ่งที่ [ท่าน] รักเกี่ยวกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” กับพวกเขา? ท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขา “มาดู” “มารับใช้” และ “มาเป็นส่วนหนึ่ง” ด้วยวิธีใดบ้าง? ขณะที่ท่านร้องหรือฟังเพลง “ข้าจะไปที่พระองค์บัญชา” (เพลงสวด บทเพลงที่ 136) หรือเพลงสวดที่เกี่ยวข้อง ท่านอาจถามตนเองว่า “พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันพูดและเป็นเช่นไรเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณของพระองค์?”
ดู มาร์คอส เอ. ไอดูไคทิส, “จงรื่นเริงใจและชื่นชมยินดีเถิด,”เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 40–43; “Inviting All to Come unto Christ: Sharing the Gospel” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:1–2, 5–6, 9, 13
พระเจ้าทรงสามารถช่วยฉันเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวฉัน
ครอบครัวในทศวรรษ 1830 ต่อสู้กับปัญหามากมายเหมือนกับครอบครัวทุกวันนี้ พระเจ้าประทานการนําทางและสัญญาอะไรแก่โธมัส บี. มาร์ชเกี่ยวกับครอบครัวของเขาใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 31? (ดู ข้อ 1–2, 5–6, 9, 13 เป็นพิเศษ) พระดำรัสของพระองค์จะช่วยท่านในความสัมพันธ์กับครอบครัวท่านได้อย่างไร?
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโธมัส บี. มาร์ชได้จาก วิสุทธิชน, 1:79–80, 119–120
หลักคำสอนและพันธสัญญา 32–33; 35
พระเจ้าทรงเตรียมฉันให้พร้อมทำงานที่พระองค์ทรงต้องการให้ทำ
การศึกษาชีวิตผู้คนที่กล่าวไว้ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 32–33; 35 จะช่วยให้ท่านรับรู้ว่าพระเจ้าทรงเตรียมท่านให้พร้อมทํางานของพระองค์อย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจอ่านเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพาร์ลีย์ พี. แพรทท์กับซิดนีย์ ริกดันใน “เสียงของการฟื้นฟู: ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสยุคแรก” ความสัมพันธ์นี้เป็นพรแก่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 35)
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง: เอซรา เธเยอร์เขียนว่าครั้งหนึ่งก่อนเขารับบัพติศมา เขาเห็นนิมิตซึ่ง “ชายคนหนึ่งนำกระดาษม้วนหนึ่งมามอบให้ผมพร้อมแตรและบอกให้ผม [เป่า] แตร ผมบอกเขาว่าผมไม่เคย [เป่า] มาก่อนในชีวิต เขาพูดว่าคุณ [เป่า] ได้ ลองดูสิ … นั่นทำให้เกิดเสียงไพเราะที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา” (“Revelation, October 1830–B, Revelation Book 1,” historical introduction, josephsmithpapers.org) ต่อมาเมื่อโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยสำหรับเอซรา เธเยอร์และนอร์ธรอพ สวีท ซึ่งเวลานี้บันทึกเป็น หลักคำสอนและพันธสัญญา 33 เอซรา เธเยอร์ตีความการเปิดเผยว่าเป็นม้วนกระดาษในนิมิตของเขา พระเจ้าทรงเตรียมเอซราให้พร้อมทำงานเผยแผ่ที่พระองค์ประทานแก่เขาใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 33:1–13 อย่างไร?
ท่านเห็นหลักฐานอะไรยืนยันว่าพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่ในชีวิตของสมาชิกศาสนจักรยุคแรกเหล่านี้หรือไม่? พระเจ้าทรงวางใครไว้ในชีวิตของท่านเพื่อช่วยให้ท่านมาหาพระคริสต์? พระองค์ทรงเตรียมท่านให้เป็นพรแก่ผู้อื่นผ่านความซื่อสัตย์ ความรัก หรือการเชื้อเชิญของท่านอย่างไร?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:12–18
ถ้าฉันสร้างชีวิตบนพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด ฉันจะไม่ตก
หลักคำสอนและพันธสัญญา 33 กล่าวกับนอร์ธรอพ สวีทและเอซรา เธเยอร์สมาชิกใหม่สองคนของศาสนจักร นอร์ธรอพทิ้งศาสนจักรหลังจากได้รับการเปิดเผยนี้ไม่นาน เอซรารับใช้อย่างซื่อสัตย์ระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ตกไปด้วย การอ่านเรื่องเหล่านี้ในภาคนี้อาจกระตุ้นเตือนให้พิจารณาว่าท่านได้รับการสร้างไว้ “บนศิลา” (ข้อ 13) ของพระกิตติคุณอย่างมั่นคงเพียงใด ความจริงใดในข้อเหล่านี้จะช่วยให้ท่านยังคงซื่อสัตย์ต่อพระผู้ช่วยให้รอด?
ดู ฮีลามัน 5:12 ด้วย
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
ฉันควรจดจ่อกับเรื่องของพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าเรื่องของแผ่นดินโลก
-
อาจเป็นเรื่องสนุกที่เด็กจะพยายามทํางานสองอย่างในคราวเดียว เช่น ท่องคําร้องเพลงโปรดขณะจดชื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวของพวกเขา เหตุใดจึงเป็นเรื่องยากที่จะทําสองสิ่งในคราวเดียวกัน? จากนั้นท่านอาจอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 30:1–2 ด้วยกัน “เรื่องของแผ่นดินโลก” อะไรบ้างที่สามารถทำให้เราเขวจากการระลึกถึงพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์? เราจะมุ่งความสนใจไปที่พระองค์ได้อย่างไร?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:2–3, 6–10
ฉันสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
-
เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:8–10 ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาพยายามพูดวลีหนึ่งโดยปิดปากขณะที่ท่านหรือเด็กคนอื่นทายว่าพวกเขากําลังพูดอะไร อ่าน ข้อ 8–10 และขอให้พวกเขาอ้าปากทุกครั้งที่พูดซ้ำวลี “จงอ้าปากของเจ้า” เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราอ้าปากแบ่งปันพระกิตติคุณให้กับผู้อื่น? เราจะบอกอะไรกับครอบครัวและเพื่อนๆ ของเราเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดหรือพระกิตติคุณของพระองค์ได้บ้าง? ท่านอาจร้องเพลงเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณด้วย เช่น “เราจะนำความจริงไปทั่วหล้า” (หนังสือเพลงสําหรับเด็ก, 92–93)
-
ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีเกี่ยวกับหลักธรรมหรือคําสัญญาใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 30–34 ท่านเรียนรู้หรือรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและงานของพระองค์เมื่อท่านรับใช้พระองค์?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:12–13
ฉันสามารถสร้างชีวิตบนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
-
ท่านอาจพาเด็กออกไปข้างนอกเพื่อดูรากฐานของบ้านหรืออาคารศาสนจักรของพวกเขาและขอให้พวกเขาบรรยายให้ฟัง เหตุใดตึกต้องมีรากฐานมั่นคงแข็งแรง? อ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 33:12–13 กับพวกเขา และแบ่งปันความรู้สึกของท่านให้กันฟังว่าเหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้เราสร้างชีวิตเราบนพระกิตติคุณของพระองค์ เหตุใด “ศิลา” จึงเป็นคำที่ใช้บรรยายลักษณะพระกิตติคุณได้ดี? เราจะสร้างชีวิตเราบนศิลาของพระกิตติคุณได้อย่างไร? (ดู มัทธิว 7:24–29 ด้วย)