“6–12 ตุลาคม: ‘เราจะสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเจ้า’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 111–114” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคําสอนและพันธสัญญา 111–114” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
6–12 ตุลาคม: “เราจะสั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเจ้า”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 111–114
ท่านเคยมีประสบการณ์ทางวิญญาณที่ทำให้ท่านรู้สึกมั่นใจและมั่นคงในศรัทธาของท่านในพระคริสต์—แต่แล้วความทุกข์ของชีวิตก็ทดลองศรัทธาท่าน และท่านพบว่าตนเองกำลังพยายามรู้สึกถึงสันติสุขเหมือนเดิมหรือไม่? เหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดกับวิสุทธิชนในเคิร์ทแลนด์ เกิดความทุกข์ยากหลังจากการหลั่งเททางวิญญาณต่อเนื่องกับการอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ไม่ถึงปี วิกฤติการเงิน ความไม่ลงรอยกันในโควรัมอัครสาวกสิบสอง และการทดลองอื่นๆ เกิดขึ้นกับวิสุทธิชนบางคนจนทำให้พวกเขาหวั่นไหวในศรัทธาแม้จะมีประสบการณ์ก่อนหน้านี้ก็ตาม
เราหนีการทดลองไม่พ้น แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้การทดลองเหล่านั้นคุกคามศรัทธาและประจักษ์พยานของเรา? คำตอบส่วนหนึ่งอาจจะอยู่ในพระดำรัสแนะนำของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 112 ที่ประทานให้ขณะความยากลำบากในเคิร์ทแลนด์เพิ่มขึ้น พระเจ้าตรัสว่า “จงทำให้ใจของเจ้าบริสุทธิ์ต่อหน้าเรา” (ข้อ 28) “อย่ากบฏ” (ข้อ 15) “จงคาดเอวเจ้าเพื่องานนั้น” (ข้อ 7) และ “เจ้าจงอ่อนน้อมถ่อมตน” (ข้อ 10) เมื่อเราทำตามพระดำรัสแนะนำดังกล่าว พระเจ้าจะทรง “จูงมือนำ [เรา]” ผ่านความยากลำบากเข้าสู่การรักษาและสันติสุข (ดู ข้อ 10, 13)
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
พระเจ้าทรงสามารถ “สั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ [ของฉัน]”
ราวปี 1836 ศาสนจักรมีหนี้สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการทำงานของพระเจ้า โจเซฟ สมิธกับคนอื่นๆ กังวลเรื่องหนี้เหล่านี้และคิดหาวิธีชำระหนี้ (ดู หัวบทของ หลักคําสอนและพันธสัญญาภาค 111)
ขณะที่ท่านอ่าน ภาค 111 ให้พิจารณาว่าพระดํารัสของพระเจ้าต่อโจเซฟจะประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร—และสิ่งที่ท่านกังวล ตัวอย่างเช่น เมื่อใดที่ท่านเคยรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า “ถึงแม้จะเป็นความเบาปัญญาของเจ้าก็ตาม” (ข้อ 1)? พระเจ้าทรงช่วยให้ท่านพบ “ทรัพย์สมบัติ” ที่คาดไม่ถึงอย่างไร (ข้อ 10)? พระองค์ทรงทำอะไรเพื่อ “สั่งสิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของเจ้า” (ข้อ 11)? วลี “ให้เร็วเท่าที่เจ้าสามารถรับมันได้” สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์?
ดู มัทธิว 6:19–21, 33; “More Treasures Than One” ใน Revelations in Context, 229–234 ด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:3–15, 22
พระเจ้าจะทรงนำฉันเมื่อฉันแสวงหาพระประสงค์ของพระองค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน
โธมัส บี. มาร์ช ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองไม่พอใจที่โจเซฟ สมิธเรียกสมาชิกสองคนในโควรัมให้ไปสั่งสอนพระกิตติคุณในอังกฤษโดยไม่ปรึกษาเขา เขาพบกับท่านศาสดาพยากรณ์ผู้ได้รับการเปิดเผยที่ช่วยโธมัสขจัดความรู้สึกเจ็บปวดของเขา การเปิดเผยนั้นบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 112
นึกถึงบริบทนี้ขณะที่ท่านศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 112 ท่านพบอะไรที่อาจเยียวยาความรู้สึกเจ็บปวดของโธมัสได้? ใน ข้อ 3–15 และ 22 ท่านอาจมองหาคําตอบของคําถามทํานองนี้: ความอ่อนน้อมถ่อมตนคืออะไร? พระเจ้าทรง “จูงมือ” นำท่านหมายความว่าอย่างไร? ท่านคิดว่าเหตุใดความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงช่วยให้ท่านได้รับการนำทางจากพระเจ้า? ท่านอาจหาคําตอบเพิ่มเติมใน “แบบฉบับของความอ่อนน้อมถ่อมตน” ในข่าวสารของเอ็ลเดอร์โจเซฟ ดับเบิลยู. ซิตาติเรื่อง “แบบฉบับการเป็นสานุศิษย์” (เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 87–88)
นึกถึงคนที่ท่านรู้จักที่อ่อนน้อมถ่อมตน บุคคลผู้นี้ทำอะไรเพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน? ท่านเรียนรู้อะไรจากพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน? ท่านอาจหาภาพช่วงเวลาในพระชนม์ชีพของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน
เมื่อใดที่ท่านเคยรู้สึกได้รับการนำทางจากพระเจ้าเมื่อท่านอ่อนน้อมถ่อมตน?
ดู ยูลิซีส ซวาเรส, “จงมีความอ่อนโยนและใจนอบน้อม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 9–11; “The Faith and Fall of Thomas Marsh” ใน Revelations in Context, 54–60; “ท่านจงถ่อมใจ” เพลงสวด บทเพลงที่ 55
หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:12–26, 28, 33–34
คนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสจริงๆ จะรู้จักพระเยซูคริสต์
ข้อเท็จจริงที่ว่าอัครสาวกบางคนในปี 1837 หันมาต่อต้านท่านศาสดาพยากรณ์เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่าไม่ว่าเราจะมีการเรียกอะไรหรือเรารู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณมากน้อยเพียงใด เราแต่ละคนต้องแน่ใจว่าเราหล่อเลี้ยงการกลับใจใหม่ของเราสู่พระเยซูคริสต์ ท่านอาจอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 112:12–26, 28, 33–34 และมองหาความจริงที่จะช่วยท่านเอาชนะการทดลองศรัทธาหรือเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้าอย่างเต็มที่มากขึ้น ท่านอาจรู้สึกได้รับการดลใจให้แบ่งปันสิ่งที่ท่านพบเพื่อช่วยผู้อื่นเสริมสร้างการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระคริสต์
โจเซฟ สมิธเป็น “ผู้รับใช้คนหนึ่งในพระหัตถ์ของพระคริสต์”
ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์กล่าวถึงผู้สืบตระกูลคนหนึ่งของเจสซีว่าเป็น “หน่อ” และ “ราก” (อิสยาห์ 11:1, 10) ใน ภาค 113 พระเจ้าทรงอธิบายว่าผู้สืบตระกูลคนนี้ ผู้รับใช้ของพระคริสต์ จะเป็นเครื่องมือในการรวบรวมผู้คนของพระเจ้าในวันเวลาสุดท้าย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 113:4, 6) คำพยากรณ์นี้พูดถึงศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธดีทีเดียว ความจริงนี้และความจริงอื่นๆ ใน ภาค 113 น่าจะเป็นกำลังใจให้วิสุทธิชนในช่วงความสับสนวุ่นวายที่พวกเขาประสบในเคิร์ทแลนด์อย่างไร? ท่านพบอะไรในการเปิดเผยนี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านเข้มแข็งและมีส่วนร่วมต่อไปในงานของพระเจ้าในปัจจุบัน?
ดู คู่มือพระคัมภีร์, “เจสซี,” คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ; 2 นีไฟ 21:10–12; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:40 ด้วย
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
หลักคำสอนและพันธสัญญา 111:2, 10–11
เรื่องของพระผู้เป็นเจ้าสามารถเป็นทรัพย์สมบัติมีค่าต่อเรา
-
ท่านและเด็กอาจวาดสิ่งที่เข้ามาในความคิดเมื่อท่านได้ยินคำว่า ทรัพย์สมบัติ จากนั้นท่านอาจอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 111:2, 10–11 ด้วยกันและเปรียบเทียบทรัพย์สมบัติทางโลกกับสิ่งที่พระเจ้าทรงสะสมไว้ (ดู หน้ากิจกรรม ของสัปดาห์นี้) เราจะเห็นคุณค่าเรื่องของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นได้อย่างไร?
พระเจ้าจะทรงจูงมือนำฉันไปและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของฉัน
-
หลังจากอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 112:10 ด้วยกัน ท่านและเด็กอาจร้องเพลง “ท่านจงถ่อมใจ” ด้วยกัน (เพลงสวด บทเพลงที่ 55) ท่านอาจเล่นเกมที่เกี่ยวข้องกับการ “จูงมือ” นําทางกัน (เช่น เส้นทางสิ่งกีดขวาง) พระเจ้าทรง “จูงมือ” นำเราอย่างไรแม้พระองค์ไม่ได้ทรงอยู่กับเรา? เหตุใดเราจึงต้องการให้พระเจ้าทรงนําเรา? ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระเจ้าทรงนำเรา?
-
ท่านหรือเด็กอาจเขียนถ้อยคําของ หลักคําสอนและพันธสัญญา 112:10 และขีดเส้นใต้พรที่พระเจ้าประทานแก่เราเมื่อเราหันไปหาพระองค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน กระตุ้นให้เด็กเล่าถึงเวลาที่พวกเขาทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาได้รับคำตอบหรือได้รับการนำให้ทําดีบางอย่าง (ดู โมโรไน 7:13, 16)
พระเยซูทรงต้องการให้ฉันรักทุกคน
-
ท่านและเด็กอาจผลัดกันอ่านจาก “บทที่ 41: ความลำบากในเคิร์ทแลนด์” (ใน เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 158–160) ใครในเรื่องทำให้ปัญหาในเคิร์ทแลนด์แย่ลง? ใครพยายามทำให้ปัญหาดีขึ้น? จากนั้นท่านอาจอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 112:11 และพูดคุยกันว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้เรารักทุกคน พระองค์ทรงแสดงความรักต่อคนที่ใจร้ายต่อพระองค์เมื่อใด? (ดูตัวอย่างใน ลูกา 23:34) ท่านอาจร้องเพลงๆ หนึ่งกับเด็กเกี่ยวกับการรักผู้อื่น เช่น “ฉันเดินกับเธอ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 78–79)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:11–14, 24–26
คนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสจริงๆ จะรู้จักพระเยซูคริสต์
-
หลังจากอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 112:24–26 ท่านและเด็กอาจพูดถึงความแตกต่างระหว่างการรู้จักชื่อบางคนกับการรู้จักพวกเขา คําสอนใดจาก ข้อ 11–14 ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของการรู้จักพระเจ้า?