หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
31 พฤษภาคม–6 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62: “เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา”


“31 พฤษภาคม–6 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62: ‘เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“31 พฤษภาคม–6 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2021

แม่น้ำมิสซูรี

แคมป์ไฟที่มิสซูรี โดย ไบรอัน มาร์ค เทย์เลอร์

31 พฤษภาคม–6 มิถุนายน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62

“เนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา”

เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์กล่าวว่า “เราแต่ละคนต้องทำให้ตนเองเข้มแข็งทางวิญญาณก่อนแล้วจึงทำให้คนรอบข้างเข้มแข็ง ไตร่ตรองพระคัมภีร์เป็นประจำ และจดจำความคิดและความรู้สึกที่ท่านประสบขณะอ่าน” (“เกรงว่าท่านจะลืม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 114)

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ท่านสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสนทนาที่มีความหมายโดยเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนตอบคำถามหรือแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับพระคัมภีร์ที่พวกเขาอ่านมาจากบ้าน ตัวอย่างเช่น ท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันบางอย่างที่พวกเขาเรียนรู้สัปดาห์นี้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์หรือพระเยซูคริสต์

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:2–3, 7, 13–14; 62:3, 9

พระเจ้าพอพระทัยเมื่อเราอ้าปากแบ่งปันพระกิตติคุณ

  • ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เรารู้ว่าพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูเป็นสมบัติล้ำค่าที่เป็นพรแก่ชีวิตบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า แล้วเหตุใดบางครั้งเราจึงลังเลไม่กล้าแบ่งปันประจักษ์พยานกับผู้อื่น? ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนสาเหตุบางประการที่เราไม่เปิดปากแบ่งปันพระกิตติคุณไว้บนกระดาน จากนั้นให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:2–3, 7, 13–14; 62:39 โดยมองหาคำหรือวลีที่ดลใจให้พวกเขาแบ่งปันพระกิตติคุณ พวกเขาจะเขียนสิ่งที่พบไว้บนกระดานเป็นข้อๆ สมาชิกชั้นเรียนบางคนอาจจะเล่าประสบการณ์เมื่อพวกเขาเอาชนะความกลัวและแบ่งปันพระกิตติคุณกับบางคน

  • ตลอด หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62 มีคำสอนทั้งที่ระบุชัดและบอกเป็นนัยเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนค้นพบคำสอนเหล่านี้ ท่านจะขอให้ทบทวนคนละภาคและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบซึ่งสอนพวกเขาเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณ การอ่านเกี่ยวกับผู้สอนศาสนาซึ่งเป็นแบบอย่างจากข้ออื่นๆ ในพระคัมภีร์ (ดูตัวอย่างใน กิจการของอัครทูต 8:27–40; แอลมา 19:16–17) และสนทนาสิ่งที่เราเรียนรู้จะช่วยยกระดับการสนทนา เราจะยกตัวอย่างอะไรได้บ้างจากชีวิตเราเอง? มีสมาชิกชั้นเรียนคนใดแบ่งปันได้บ้างว่าพวกเขารู้จักพระกิตติคุณอย่างไรและพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคนที่สอนพวกเขา? ชั้นเรียนอาจได้ประโยชน์จากการแสดงบทบาทสมมติซึ่งเรา “อ้าปาก” แบ่งปันพระกิตติคุณ

    ผู้สอนศาสนาบนรถโดยสาร

    พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราแบ่งปันพระกิตติคุณให้กับผู้อื่น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:2–4; 61:1–2, 20, 36–38; 62:1, 6

พระคัมภีร์สอนเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

  • เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนเขียนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดสัปดาห์นี้จากการศึกษา ภาค 60–62 ไว้บนกระดานตามด้วยข้อที่เกี่ยวข้อง หรือพวกเขาจะค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:2–4; 61:1–2, 20, 36–38; 62:1, 6 เพื่อหาสิ่งที่สอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เรื่องใดจากพระคัมภีร์หรือชีวิตเราเองที่แสดงให้เห็นบทบาทและคุณลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอดที่เราได้เรียนรู้? (ตัวอย่างเช่น ยอห์น 8:1–11; อีเธอร์ 2:14–15) ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาในพระเยซูคริสต์หรือใคร่ครวญเป็นส่วนตัวว่าพระองค์ทรงมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:5; 61:22; 62:5–8

พระเจ้าทรงต้องการให้เราตัดสินใจ “ดังที่ [เรา] เห็นว่าดี”

  • ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:5; 61:22; 62:5–8 เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็กและแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกว่าอะไรน่าจะเป็นข่าวสารที่พระเจ้าประทานแก่เรา พวกเขารู้สึกเมื่อใดว่าพวกเขาควรใช้ดุลพินิจของตนในการตัดสินใจ ท่านอาจจะแบ่งปันคำพูดของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา บิดามารดาจะช่วยให้บุตรธิดาเรียนรู้หลักธรรมสำคัญข้อนี้ได้อย่างไร?

ไอคอนแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

การทำตามดุลพินิจที่ดีที่สุดของเรา

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า

“ความปรารถนาจะให้พระเจ้าทรงนำเป็นข้อดี แต่ต้องควบคู่กับการเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงปล่อยให้เราเลือกตัดสินใจหลายเรื่องด้วยตนเอง การตัดสินใจด้วยตนเองเป็นเหตุหนึ่งของการเติบโตที่มุ่งหมายให้เราประสบในความเป็นมรรตัย บุคคลที่พยายามปัดการตัดสินใจทั้งหมดให้พระเจ้าและทูลขอการเปิดเผยในการเลือกทุกอย่างไม่นานจะพบสถานการณ์ซึ่งพวกเขาสวดอ้อนวอนขอการนำทางและไม่ได้รับ ตัวอย่างเช่น เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์จำนวนมากซึ่งการเลือกหลายอย่างไม่สำคัญหรือไม่เป็นที่ยอมรับ

“เราควรศึกษาไตร่ตรองในใจเรา โดยใช้พลังความสามารถในการใช้เหตุผลที่พระผู้สร้างประทานไว้ในเรา จากนั้นเราควรสวดอ้อนวอนทูลขอการนำทางและทำตามนั้นหากเราได้รับ หากเราไม่ได้รับการนำทาง เราควรทำตามดุลพินิจที่ดีที่สุดของเรา” (“Our Strengths Can Become Our Downfall,” Ensign, Oct. 1994, 13–14)

ปรับปรุงการสอนของเรา

รู้จักคนที่ลำบาก ความลำบากของคนที่ท่านสอนอาจมองออกยาก แต่ด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณและผู้นำของท่าน ท่านจะรู้วิธียื่นมือช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ดีที่สุด (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 8–9)