“14–20 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66: ‘พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“14–20 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2021
14–20 มิถุนายน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66
“พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ”
ระหว่างศึกษาสัปดาห์นี้ ให้พิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าหลักธรรมใดจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66 จะเพิ่มพูนศรัทธาและความรู้ของสมาชิกในชั้นเรียน
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เพื่อกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางอย่างที่พวกเขาพบว่ามีความหมายในการศึกษาพระคัมภีร์สัปดาห์นี้ ท่านจะขอให้พวกเขาไตร่ตรองความท้าทายต่างๆ ที่เราประสบในปัจจุบัน จากนั้นให้พวกเขาแบ่งปันข้อหนึ่งจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66 ที่รู้สึกว่าจะช่วยเรื่องความท้าทายหนึ่งในนั้น
สอนหลักคำสอน
เราต้องให้อภัยทุกคน
-
สมาชิกชั้นเรียนอาจจะได้ประโยชน์จากการพูดคุยกันว่าเหตุใดการให้อภัยผู้อื่นจึงยากมาก—และพวกเขาเอาชนะความยากเหล่านั้นอย่างไร พวกเขาจะค้นคว้า หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–11 เพื่อหาหลักธรรมและความจริงที่ดลใจให้พวกเขาให้อภัยมากขึ้น เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อเหล่านี้? เพื่อช่วยให้เห็นพรของการให้อภัย ท่านจะเล่าเรื่องของมอร์เรลล์ โบเว็นจากข่าวสารของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เรื่อง “พันธกิจในเรื่องการคืนดี,” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 77–79) หรือวีดิทัศน์เรื่อง “Forgiveness: My Burden Was Made Light” (ChurchofJesusChrist.org) หรือสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งอาจยินดีเล่าเรื่องส่วนตัวของการให้อภัยหรือการขออภัย บุคคลในตัวอย่างเหล่านี้ได้รับพรอย่างไรจากพลังของการให้อภัย?
8:24
หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:31–34
พระเจ้าทรงขอ “ใจและความคิดที่เต็มใจ” ของเรา
-
พระเจ้าไม่ทรงต้องการให้เรา “เบื่อหน่าย” แต่เป็นธรรมดาที่ผู้กำลังพยายามสุดความสามารถ—รวมทั้งบางคนในชั้นเรียนของท่าน—จะ “เบื่อหน่ายในการทำดี” เหตุใดจึงเกิดความเบื่อหน่ายดังกล่าว? เราพบคำแนะนำอะไรใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:31–34 ที่น่าจะช่วยเราได้เมื่อเราต่อสู้กับความรู้สึกเช่นนั้น?
-
เพื่อยกระดับการสนทนา ท่านอาจจะให้ดูรูปภาพสิ่งที่มีขนาดใหญ่และน่าทึ่งที่ใช้เวลาสร้างยาวนานจาก “สิ่งเล็กน้อย”—เช่นอาคารที่ทำจากอิฐหรือกระเบื้องโมเสก มีตัวอย่างอะไรบ้างของ “งานอันสำคัญยิ่ง” ที่พระเจ้าประทานแก่เรา? เราจะทำสิ่งเล็กน้อยอะไรได้บ้างตอนนี้เพื่อวางรากฐานให้กับงานนั้น?
-
เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนไตร่ตรองลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:34 ท่านจะเขียนคำว่า ใจ และ ความคิดที่เต็มใจ ไว้บนกระดาน สมาชิกชั้นเรียนจะเขียนสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าหมายถึงการถวายใจและความคิดที่เต็มใจแด่พระเจ้าไว้ใต้หัวข้อเหล่านี้ ดูตัวอย่างคำอธิบายศัพท์เหล่านี้จากคำพูดของเอ็ลเดอร์โดนัลด์ แอล. ฮอลล์สตรอมใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” พระคัมภีร์ดังต่อไปนี้จะให้ข้อคิดบางอย่างเช่นกัน: โมไซยาห์ 7:33; อีเธอร์ 4:15; หลักคำสอนและพันธสัญญา 43:34; โมเสส 7:18; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:19
อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จกลับของพระผู้ช่วยให้รอด
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 65 ให้คำอธิบายที่สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับพันธกิจของศาสนจักรของพระเจ้าในยุคสุดท้าย เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเห็นบทบาทของตนในพันธกิจนี้ ท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นคว้า ภาค 65 โดยหาคำตอบของคำถามต่อไปนี้: พระเจ้าทรงต้องการให้อาณาจักรของพระองค์ทำอะไรสำเร็จบนแผ่นดินโลก? พระองค์ทรงต้องการให้ฉันช่วยทำอะไร? ท่านจะให้ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Prepare Today for the Second Coming” (ChurchofJesusChrist.org) หรืออ้างข่าวสารของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ได้เช่นกัน สมาชิกชั้นเรียนจะแบ่งปันว่าพวกเขาจะตอบคำถามของประธานโอ๊คส์อย่างไร
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
“ใจและความคิดที่เต็มใจ”
เอ็ลเดอร์โดนัลด์ แอล. ฮอลล์สตรอมเสนอความหมายที่เป็นไปได้นี้สำหรับวลี “ใจและความคิดที่เต็มใจ”
“ใจเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความมุ่งมั่น เราเสียสละและแบกภาระเพื่อคนที่เรารักซึ่งเราจะไม่ทนทำเพื่อเหตุผลอื่น ถ้าไม่มีความรัก ความมุ่งมั่นของเราจะค่อยๆ ลดลง …
“การมี ‘ความคิดที่เต็มใจ’ หมายถึงการที่เราพยายามสุดความสามารถ คิดให้ดีที่สุด และแสวงหาปัญญาจากพระผู้เป็นเจ้า นั่นบ่งบอกว่าสิ่งที่เราควรทุ่มเทศึกษาชั่วชีวิตควรเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ หมายความว่าจะต้องมีความสัมพันธ์ที่แยกจากกันไม่ได้ระหว่างการฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับการเชื่อฟัง” (“The Heart and a Willing Mind,” Ensign, June 2011, 31–32)
การเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง
“เราจะทำอย่างไรถ้าวันแห่งการเสด็จมา [ของพระเยซูคริสต์] คือพรุ่งนี้? ถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้เราจะพบพระเจ้า—ผ่านการสิ้นชีวิตก่อนเวลาอันควรหรือการเสด็จมาอย่างไม่คาดฝันของพระองค์—วันนี้เราจะทำอะไร? เราจะสารภาพอะไร? เราจะเลิกทำสิ่งใด? เราจะสะสางเรื่องใด? เราจะให้อภัยใคร? เราจะแสดงประจักษ์พยานเรื่องอะไร? (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาครั้งที่สอง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 11)