“1–7 พฤษภาคม ลูกา 12–17; ยอห์น 11: ‘มาร่วมยินดีกับข้า เพราะข้าพบแกะของข้าที่หายไปนั้นแล้ว,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“1–7 พฤษภาคม ลูกา 12–17; ยอห์น 11,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
1–7 พฤษภาคม
ลูกา 12–17; ยอห์น 11
“มาร่วมยินดีกับข้า เพราะข้าพบแกะของข้าที่หายไปนั้นแล้ว”
เริ่มการเตรียมของท่านโดยศึกษา ลูกา 12–17 และ ยอห์น 11 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ท่านนึกถึง “แกะหาย” ตัวใดในชั้นเรียนของท่าน? ใช้ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และโครงร่างนี้ขณะท่านแสวงหาการนำทางของพระเจ้าเกี่ยวกับวิธีตอบรับความต้องการของสมาชิกชั้นเรียนให้ดีที่สุดแม้พวกเขาไม่เข้าชั้นเรียน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
การประยุกต์ใช้เป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ จงเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาเลือกดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์สัปดาห์นี้อย่างไร
สอนหลักคำสอน
ไม่มีข้ออ้างใดฟังขึ้นสำหรับการปฏิเสธพระกิตติคุณ
-
เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาอุปมาเรื่องงานเลี้ยงใหญ่ ท่านอาจจะเชิญพวกเขามางานเลี้ยงสมมติที่ท่านจะเป็นเจ้าภาพ ให้พวกเขาบอกเหตุผลบางประการที่พวกเขาจะมาหรือไม่มาร่วมงาน อ่าน ลูกา 14:15–24 ด้วยกันและสนทนาข้ออ้างของคนในอุปมาเมื่อพวกเขาได้รับเชิญมางานเลี้ยงที่หมายถึงพรของพระกิตติคุณ คนทุกวันนี้มีข้ออ้างอะไรสำหรับการไม่ยอมรับพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้มารับพรของพระบิดาบนสวรรค์? บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจจะบอกพรที่พวกเขาได้รับเมื่อพวกเขาทำการเสียสละที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณข้อใดข้อหนึ่ง
เราสามารถเสาะหาคนที่หายไปและชื่นชมยินดีกับพระบิดาเมื่อพวกเขากลับมา
-
ท่านจะเปิดโอกาสให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับอุปมาทั้งสามใน ลูกา 15 อย่างไร? ท่านอาจมอบหมายอุปมาหนึ่งเรื่องให้สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนทบทวน พวกเขาสามารถค้นหาและแบ่งปันคำตอบของคำถามในทำนองนี้: คำใดในอุปมานี้เปิดเผยว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้สึกอย่างไรกับคนเหล่านั้นที่หลงหาย? อุปมาแนะนำอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรเอื้อมไปหาบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า? สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพบพวกเขาอย่างไรเมื่อพวกเขารู้สึกหลงทาง
-
การร้องเพลง “ของรักจากใจพระผู้เลี้ยงแกะ” (เพลงสวด บทเพลงที่ 107) ด้วยกันอาจจะเสริมคำสอนของอุปมานี้ได้อย่างมีความหมาย
-
ขณะทบทวนอุปมาเรื่องบุตรที่หายไปด้วยกัน สมาชิกชั้นเรียนอาจได้รับประโยชน์จากการเน้นที่คำพูด การกระทำ และความเชื่อของแต่ละคนในอุปมา เราเรียนรู้อะไรจากแต่ละคนบ้าง? สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเขียนตอนจบของอุปมาอีกแบบหนึ่งซึ่งท่าทีของบุตรคนโตต่อน้องชายของเขาต่างจากเดิม คำแนะนำของบิดาในอุปมาสอนอะไรเราว่าเราควรรู้สึกอย่างไรต่อคนที่หายไปและคนที่หวนคืนสู่พระกิตติคุณ? (ดูคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วย) หรือท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนสมมติว่าพวกเขาเป็นบิดาในอุปมาเรื่องนี้ พวกเขาจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมอะไรแก่บุตรคนโตเพื่อช่วยให้เขาชื่นชมยินดีในความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของผู้อื่น?
ความสำนึกคุณต่อพรของฉันจะนำฉันเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น
-
เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับความกตัญญูจากการศึกษา ลูกา 17:11–19 คนโรคเรื้อนที่ขอบพระทัยได้รับพรจากความสำนึกคุณของเขาอย่างไร? เราได้รับพรอย่างไรเมื่อเราแสดงความสำนึกคุณ? สมาชิกชั้นเรียนสามารถแนะนำวิธีที่เราสามารถแสดงความกตัญญูต่อพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นได้
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นชีวิตและการฟื้นคืนชีวิต
-
วิธีหนึ่งที่จะวิเคราะห์ ยอห์น 11:1–46 คือขอให้สมาชิกชั้นเรียนผลัดกันอ่านและให้พวกเขาหยุดและพูดคุยกันทุกครั้งที่พบหลักฐานของศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนพิจารณามุมมองของผู้คนที่เกี่ยวข้อง—รวมถึงพระผู้ช่วยให้รอด อัครสาวก มารธา มารีย์ และลาซารัส เราเรียนรู้อะไรจากบุคคลเหล่านี้บ้าง? บางทีสมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์เข้มแข็งขึ้นระหว่างการทดลอง
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
เรียนรู้จากบุตรหายไปอีกคนหนึ่ง
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพี่ชายของบุตรที่หายไปไว้ดังนี้ “บุตรคนนี้โกรธที่น้องกลับมาบ้านแต่ก็ไม่มากเท่าความโกรธที่บิดามารดามีความสุขกับเรื่องนั้น … เขายังไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีเมตตา ไม่มีสายตากว้างไกลและความใจกว้าง เขาไม่เห็นว่า คนที่กลับมาไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นน้องชายของเขาเอง ดังที่บิดาขอให้เขาเข้าใจว่าน้องคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก น้องที่หายไปแล้วแต่ได้พบกันอีก” (“บุตรหายไปอีกคนหนึ่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2002)