“27 ธันวาคม–3 ธันวาคม 1–3 ยอห์น; ยูดา: ‘พระเจ้าทรงเป็นความรัก,’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2021)
“27 ธันวาคม–3 ธันวาคม 1–3 ยอห์น; ยูดา,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2023
27 พฤศจิกายน–3 ธันวาคม
1–3 ยอห์น; ยูดา
“พระเจ้าทรงเป็นความรัก”
หัวข้อหรือหลักธรรมใดที่โดดเด่นสำหรับท่านเมื่อท่านอ่าน 1–3 ยอห์น และ ยูดา ท่านจะใช้สิ่งเหล่านี้ช่วยสมาชิกชั้นเรียนของท่านอย่างไร?
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันหัวข้อหรือความจริงเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นสำหรับพวกเขาเมื่อพวกเขาศึกษา สาส์นของยอห์น และ ยูดา ข่าวสารใดจากสาส์นเหล่านี้ที่สำคัญที่สุดต่อพวกเขาและครอบครัว?
สอนหลักคำสอน
1 ยอห์น 1:5–10; 2:3–11; 3:1–3; 4:7–21; 5:1–3
พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของความสว่างและความรัก
-
ท่านจะช่วยให้คนที่ท่านสอนรับรู้ถึงความสว่างและความรักของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร? ท่านอาจต้องการเริ่มโดยเขียนคำว่า ความสว่าง และ ความรัก ไว้บนกระดาน ขอให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันคำอื่นๆ ที่เข้ามาสู่ความคิดของพวกเขาเมื่อพวกเขานึกถึงสองคำนี้ สมาชิกชั้นเรียนแต่ละคนสามารถศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้หนึ่งข้อ โดยมองหาบางสิ่งที่ข้อนี้สอนเกี่ยวกับความสว่างหรือความรัก: 1 ยอห์น 1:5–10; 2:3–11; 3:1–3; 4:7–12; 4:16–21; 5:1–3 ขอให้พวกเขาสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบกับชั้นเรียน ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขารู้สึกถึงความสว่างและความรักของพระผู้เป็นเจ้า
-
ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนมองที่ไฟบนเพดานหรือแสงสว่างที่ผ่านหน้าต่างเข้ามาและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับความสว่างทางกายภาพ ความสว่างทางกายภาพเป็นเหมือนกับความสว่างทางวิญญาณอย่างไร? สมาชิกชั้นเรียนสามารถศึกษาสิ่งต่อไปนี้เพื่อค้นหาข้อคิดเพิ่มเติมว่าพระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรของพระองค์ประทานความสว่างในชีวิตเราอย่างไร: สดุดี 27:1; ยอห์น 1:4–5; 1 ยอห์น 1:5–7; 3 นีไฟ 11:11; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:6–13; และเพลงสวดเกี่ยวกับแสงสว่าง เช่น “พระเจ้าเป็นแสงฉัน” (เพลงสวด บทเพลงที่ 37) สมาชิกชั้นเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์เช่นกันเมื่อพวกเขาแสวงหาและได้รับความสว่างทางวิญญาณในชีวิตของพวกเขา
1 ยอห์น 2:18–28; 4:3; 2 ยอห์น 1:7–11; 3 ยอห์น 1:9–11; ยูดา
เราต้อง “[อยู่] ในคำสั่งสอนของพระคริสต์”
-
คำสอนของยอห์นและยูดาเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อสามารถช่วยสมาชิกชั้นเรียนพิจารณาวิธีรักษาศรัทธาในพระเยซูคริสต์ให้เข้มแข็งได้ ท่านอาจเชื้อเชิญครึ่งหนึ่งของชั้นเรียนให้ค้นดูคำอธิบายเกี่ยวกับคำสอนเท็จหรือการละทิ้งความเชื่อใน 1 ยอห์น 2:18–23, 26–28; 4:3; 2 ยอห์น 1:7–11; 3 ยอห์น 1:9–11 และอีกครึ่งหนึ่งค้นหาคำอธิบายนั้นใน ยูดา หรือพวกเขาอาจมองหาคำตอบสำหรับคำถามเช่นนี้ ยอห์นและยูดานิยามการต่อต้านพระคริสต์อย่างไร (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ผู้ต่อต้านพระคริสต์” ด้วย) มีอะไรในข้อเหล่านี้หรือไม่ที่ดูเหมือนจะประยุกต์ใช้ได้เป็นพิเศษกับความท้าทายที่เราเผชิญในปัจจุบัน? การดำเนินชีวิต “[อยู่] ในคำสั่งสอนของพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร? (2 ยอห์น 1:9)
-
ยูดาใช้จินตภาพที่น่าสนใจเพื่อบรรยายถึงผู้สอนเท็จ หรือคนที่ “พูดลบหลู่สิ่งที่เขาเองไม่เข้าใจ” (ยูดา 1:10) ท่านอาจเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสองสามคนวาดภาพบางภาพที่บรรยายใน ยูดา 1:12–13 บนกระดานขณะที่สมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ ทายว่าวลีใดที่คนนั้นกำลังวาด ภาพเหล่านี้หมายถึงผู้สอนเท็จและผู้ต่อต้านพระคริสต์อย่างไร? ตัวอย่างเช่น การกระทำอันเสื่อมทรามทำให้ “งานเลี้ยงเชื่อมความรักสามัคคี [ของเรา] เสื่อมเสียไป” อย่างไร? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันตัวเราจาก “คนที่ชอบเยาะเย้ย”? (ดู ยูดา 1:18–21) เหตุใดยูดาจึงแนะนำให้เรา “มีใจเมตตา” (ยูดา 1:22) ต่อคนที่เยาะเย้ยพระกิตติคุณ?
ปีติมาสู่เราเมื่อเราช่วยผู้อื่น “ประพฤติตามความจริง”
-
น่าจะมีคนในชั้นเรียนท่านเข้าใจว่ายอห์นกำลังรู้สึกอย่างไรเมื่อเขาบอกว่าเขา “ไม่มีความยินดียิ่งไปกว่า” การได้ยินว่ากายอัส ( “ลูก” คนหนึ่งของเขา) กำลังประพฤติตามความจริง สมาชิกชั้นเรียนอาจได้รับประโยชน์จากการได้ยินประสบการณ์ของกันและกัน บางทีท่านอาจเริ่มโดยการอ่าน 3 ยอห์น 1:1–4 และพระคัมภีร์ใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ด้วยกัน พระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับแหล่งที่มาของปีติที่แท้จริง? สมาชิกชั้นเรียนอาจพูดว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรในฐานะบิดามารดา ผู้สอนศาสนา ผู้นำศาสนจักร หรือครูเมื่อพวกเขารู้ว่าคนที่พวกเขาสอนกำลังประพฤติตามความจริง ท่านอาจติดต่อสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนล่วงหน้าและขอให้พวกเขานำภาพของคนที่พวกเขาช่วยพามาหาพระคริสต์และเล่าประสบการณ์ของพวกเขา