เซมินารีและสถาบัน
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–64 (หน่วย 14)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–64 (หน่วย 14)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–64 (หน่วย 14) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–62)

โดยศึกษาสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำเหล่าเอ็ลเดอร์ผู้กำลังเดินทางจากมิสซูรีไปโอไฮโอ นักเรียนเรียนรู้ว่าเราสูญเสียประจักษ์พยานของเราได้หากเราไม่แบ่งปัน นักเรียนค้นพบด้วยว่าพระเจ้าทรงมีเดชานุภาพทั้งมวลและทรงปกปักรักษาเราได้ เราต้องพึ่งพาวิจารณญาณของเราและการนำทางจากพระวิญญาณเมื่อเราตัดสินใจ

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 63)

ในการศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 63นักเรียนเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงตำหนิคนที่ไม่รักษาพระบัญญัติและทรงปลอบโยนคนซื่อสัตย์ นักเรียนเรียนรู้ว่าศรัทธาไม่ได้มาโดยเครื่องหมายแต่เครื่องหมายมาโดยศรัทธา ตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ด้วย: หากเรามองผู้อื่นด้วยตัณหาราคะ เราจะไม่มีพระวิญญาณและเราจะปฏิเสธศรัทธา หากเราซื่อสัตย์และอดทน เมื่อนั้นเราจะเอาชนะโลก พระนามของพระเยซูคริสต์ศักดิ์สิทธิ์และต้องพูดถึงด้วยความระมัดระวัง

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:1–19)

ขณะที่นักเรียนศึกษาพระดำรัสของพระเจ้าต่อสมาชิกศาสนจักรผู้ทำบาป พวกเขาเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงสงสาร ให้อภัย และเมตตา พวกเขาเรียนรู้เช่นกันว่าหากเราไม่ให้อภัยผู้อื่น เราย่อมถูกกล่าวโทษต่อพระพักตร์พระเจ้าและพระเจ้าทรงบัญชาเราให้อภัยทุกคน

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:20–43)

ในบทนี้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับการเสียสละที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากวิสุทธิชนเมื่อพวกเขาเริ่มสร้างไซอัน บทนี้เน้นความจริงต่อไปนี้: หากเราทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าเราจะไม่ถูกล่อลวงเกินกว่าที่เราจะทนได้ เราได้รับพรเมื่อเราเชื่อฟังพระเจ้าและเสียสละสิ่งที่พระองค์ทรงขอจากเรา หากเราขยันหมั่นเพียรในการทำดี เมื่อนั้นเราจะบรรลุสิ่งสำคัญยิ่ง เราต้องเชื่อฟังพระเจ้าด้วยใจและความคิดที่เต็มใจ

คำนำ

ในฤดูร้อน ปี 1831 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกำลังควบคุมดูแลการอุทิศแผ่นดินที่วิสุทธิชนต้องสร้างไซอันในเมืองอินดิเพนเดนซ์ รัฐมิสซูรี ระหว่างท่านศาสดาพยากรณ์ไม่อยู่ สมาชิกศาสนจักรบางคนในโอไฮโอหันหลังให้พระบัญญัติของพระเจ้าและทำบาปร้ายแรง บทนี้เน้นพระบัญญัติบางข้อที่พระเจ้าทรงเน้นหลังจากโจเซฟ สมิธกลับไปโอไฮโอ—รวมทั้งพระบัญญัติให้หลีกเลี่ยงตัณหาราคะและให้อภัยผู้อื่น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:1–21

พระเจ้าทรงเตือนวิสุทธิชนเกี่ยวกับผลของความชั่วร้ายและการกบฏ

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ท่านคิดว่าเหตุใดการดำเนินชีวิตตามความเชื่อของเราจึงสำคัญ เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

อธิบายว่าในฤดูร้อน ปี 1831 ขณะโจเซฟ สมิธและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นอยู่ในมิสซูรีเพื่ออุทิศแผ่นดินและสถานที่ก่อสร้างพระวิหารในไซอัน สมาชิกศาสนจักรบางคนในโอไฮโอแอบทำบาปร้ายแรง หลังจากท่านศาสดาพยากรณ์กลับไปโอไฮโอ ท่านได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 63

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าพระเจ้าเรียกสมาชิกศาสนจักรว่าอย่างไรในข้อนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • การเรียก ตัวเราเป็นผู้คนของพระเจ้าจะต่างจาก การเป็น ผู้คนของพระเจ้าได้อย่างไร (ขณะที่นักเรียนสนทนาคำถามนี้ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าวิสุทธิชนจำนวนมากทำมากกว่าเพียงเรียกตนเองว่าผู้คนของพระเจ้า พวกเขาซื่อสัตย์เสมอ)

ขอให้นักเรียนอ่าน ข้อ 1 อีกครั้งและมองหาพระบัญชาของพระเจ้าต่อคนที่เรียกตนเองเป็นผู้คนของพระองค์

  • พระเจ้าทรงต้องการให้เราทำอะไรในฐานะผู้คนของพระองค์ (สรุปคำตอบของนักเรียนโดยเขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ในฐานะผู้คนของพระเจ้า เราต้องเปิดใจฟังพระคำและพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับเรา)

  • ท่านคิดว่าเปิดใจเราหมายความว่าอย่างไร

  • การเปิดใจเราเตรียมเราให้ได้ยินสุรเสียงของพระเจ้าอย่างไร

  • ท่านทำอะไรที่ช่วยให้ท่านเปิดใจ

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:2–21 โดยอธิบายว่าพระเจ้าทรงตำหนิคนที่ไม่เชื่อ แสวงหาเครื่องหมาย ทำการล่วงประเวณีและบาปร้ายแรงอื่นๆ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงเตือน

  • พระเจ้าประทานคำเตือนอะไรแก่วิสุทธิชนใน ข้อ 16

  • มองดูผู้อื่นด้วยตัณหาราคะหมายความว่าอย่างไร (คำว่า ตัณหาราคะ หมายถึง “การมีความปรารถนาแรงกล้าในบางสิ่งบางอย่าง [หรือบางคน] โดยไม่เหมาะสม” [คู่มือพระคัมภีร์, “ตัณหาราคะ” scriptures.lds.org] การมองผู้อื่นด้วยตัณหาราคะหมายถึงมองดูร่างกายของคนนั้นอย่างไม่สมควรหรือในลักษณะที่ปลุกเร้าความรู้สึกทางเพศ ซึ่งรวมถึงการดูสื่อลามกด้วย)

  • ท่านเห็นหลักธรรมอะไรในพระดำรัสเตือนจากพระเจ้าใน ข้อ 16 (นักเรียนอาจใช้คำพูดอื่น แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรามองดูผู้อื่นด้วยตัณหาราคะ เราจะไม่มีพระวิญญาณและเราปฏิเสธศรัทธา ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการเกิดตัณหาราคะในผู้อื่นจึงทำให้คนนั้นสูญเสียพระวิญญาณ

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเอาชนะการล่อลวงให้เกิดตัณหาราคะในผู้อื่น

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องการหลีกเลี่ยงตัณหาราคะ ท่านอาจต้องการแจกสำเนาคำแนะนำต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นักเรียนแต่ละคน เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงย่อหน้าเหล่านี้ หลังจากอ่านแต่ละย่อหน้าขอให้ชั้นเรียนอธิบายว่าการทำตามคำแนะนำนี้จะช่วยให้เราเอาชนะการล่อลวงให้เกิดตัณหาราคะได้อย่างไร

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“อันดับแรก เริ่มโดยแยกตัวเราจากผู้คน เนื้อหาข้อมูล และสภาวการณ์ที่จะเป็นภัยต่อท่าน …

“… ถ้ารายการโทรทัศน์หยาบโลนไม่เหมาะสม จงปิดโทรทัศน์ ถ้าภาพยนตร์หยาบคาย จงเดินออกไป ถ้ากำลังพัฒนาความสัมพันธ์ไม่เหมาะสม จงตัดขาดความสัมพันธ์นั้น อิทธิพลมากมายเหล่านี้อย่างน้อยในตอนแรกอาจดูไม่ชั่วร้าย แต่สามารถทำให้วิจารณญาณของเราไม่เฉียบคม ทำให้จิตวิญญาณของเรามัวหมอง และนำไปสู่สิ่งที่อาจเป็นความชั่วร้าย

“นำภาพแห่งความหวังและความทรงจำอันเปี่ยมปีติเข้ามาแทนความคิดหมกมุ่นในเรื่องเพศ นึกถึงหน้าคนที่ท่านรัก และใจพวกเขาจะแหลกสลายเพียงใดถ้าท่านทำให้พวกเขาผิดหวัง … ไม่ว่าท่านจะคิดอะไร พึงแน่ใจว่าความคิดเหล่านั้นเข้ามาในใจท่านโดยการเชื้อเชิญเท่านั้น

ปลูกฝังและอยู่ในที่ซึ่งพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ จงแน่ใจว่าสถานที่เหล่านั้นรวมถึงบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ของท่าน โดยควบคุมประเภทของงานศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรมที่ท่านเก็บไว้ที่นั่น” (“ไม่มีที่แก่ศัตรูของจิตวิญญาณข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 56, 57)

ถามว่านักเรียนคนใดยินดีแบ่งปันประจักษ์พยานว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรเมื่อพยายามดำเนินชีวิตตามกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:8–19

พระเจ้าทรงบัญชาให้ผู้รับใช้ของพระองค์ให้อภัยกัน

เตือนนักเรียนให้นึกถึงงานมอบหมายจากวันที่ 3 ของหน่วยนี้เพื่อพยายามท่องจำ หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11 ซึ่งเป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนท่องข้อเหล่านี้พร้อมกัน (นักเรียนอาจใช้พระคัมภีร์ช่วยท่อง) ถามว่านักเรียนคนใดต้องการท่องออกเสียงข้อเหล่านี้ให้ชั้นเรียนฟังบ้าง เขียนพระบัญญัติต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเจ้าทรงบัญชาเราให้อภัยทุกคน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการให้อภัยทุกคนจึงสำคัญ ไม่ว่าพวกเขาจะขอโทษที่ทำผิดหรือไม่ก็ตาม

  • การทำเช่นนั้นช่วยให้เราปล่อยให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้ตัดสินคนที่ทำร้ายเราอย่างไร

  • ท่านเคยรู้สึกได้รับพรเพราะให้อภัยคนบางคนเมื่อใด

ชี้ให้เห็นว่าบางครั้งเราเต็มใจให้อภัยผู้อื่น แต่เราให้อภัยตนเองได้ยาก

  • เหตุใดเราจึงต้องให้อภัยตนเอง

ชี้ให้ดูหลักธรรมข้อแรกที่ท่านเขียนไว้บนกระดานเมื่อเริ่มชั้นเรียน: ในฐานะผู้คนของพระเจ้า เราต้องเปิดใจฟังพระคำและพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับเรา เชื้อเชิญให้นักเรียนตรึกตรองว่าใจพวกเขาเปิดรับการกระตุ้นเตือนหรือความประทับใจระหว่างศึกษาพระคัมภีร์วันนี้หรือไม่ กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนและความประทับใจที่ได้รับจากพระเจ้า เป็นพยานว่าเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้นพวกเขาจะเป็นผู้คนของพระเจ้า

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 65–71)

เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมศึกษาระหว่างสัปดาห์ที่จะมาถึง ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาว่า ศิลาจะกลิ้งออกไปจนเต็มแผ่นดินโลกได้อย่างไร พระเจ้าทรงรู้จักเราเป็นส่วนตัวดีเพียงใด เหตุใดบิดามารดาจึงรู้สึกว่าตนมีภาระหน้าที่ต้องสอนพระกิตติคุณให้บุตรธิดาของตน เกิดผลอะไรบ้างหากบิดามารดาไม่ทำเช่นนั้น บอกนักเรียนว่าระหว่างศึกษาพระคัมภีร์สัปดาห์นี้ พวกเขาจะค้นพบคำตอบของคำถามเหล่านี้