“17. การสอนพระกิตติคุณ” คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (2020)
“17. การสอนพระกิตติคุณ” คู่มือทั่วไป
17.
การสอนพระกิตติคุณ
เราสอนพระกิตติคุณเพื่อช่วยให้ผู้คนเพิ่มพลังศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เราพยายามช่วยให้ผู้คนเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น รับเดชานุภาพของพระองค์ในชีวิตพวกเขา และได้รับชีวิตนิรันดร์ในท้ายที่สุด เมื่อสอนและรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าโดยพระวิญญาณ พระวจนะย่อมมีพลังเปลี่ยนใจและดลบันดาลให้เกิดการเปลี่ยนใจเลื่อมใส พระวจนะมี “ผลอันมีพลังแก่จิตใจผู้คนยิ่งกว่า … สิ่งใด” (แอลมา 31:5)
17.1
หลักธรรมของการสอนเหมือนพระคริสต์
เมื่อสอนพระกิตติคุณ บิดามารดา ครู และผู้นำทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นองค์ปรมาจารย์ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นความไว้วางใจและความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์
ผู้นำแบ่งปันหลักธรรมต่อไปนี้ของการสอนเหมือนพระคริสต์ให้กับครูในองค์การของตน หลักธรรมเหล่านี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมอธิบายไว้ใน การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
17.1.1
รักคนที่ท่านสอน
ทุกอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเป็นการแสดงความรักของพระองค์ (ดู 2 นีไฟ 26:24) ผู้นำและครูทำตามแบบอย่างของพระองค์โดยแสดงความรักต่อคนที่พวกเขาสอน พวกเขาสวดอ้อนวอนให้คนที่พวกเขาสอนโดยเอ่ยชื่อ พยายามเชื่อมความสัมพันธ์และเข้าใจคนเหล่านั้น มุ่งเน้นความต้องการเป็นรายบุคคล พวกเขาติดต่อสมาชิกของชั้นเรียนหรือโควรัมที่ไม่ได้เข้าร่วม
17.1.2
สอนโดยพระวิญญาณ
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ครูต้องสอนโดยพระวิญญาณ ครูแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณขณะเตรียมและสอน และพยายามดำเนินชีวิตให้มีค่าควรแก่การรับอิทธิพลของพระองค์ทุกวัน
17.1.3
สอนหลักคำสอน
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักคำสอนของพระบิดา ครูทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยมุ่งเน้นความจริงที่จำเป็นและช่วยให้รอดของพระกิตติคุณ ครูสอนโดยใช้พระคัมภีร์ คำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย และสื่อการเรียนการสอนหลักสูตรที่อนุมัติ ครูนำการสนทนาด้วยการดลใจ ทำให้แน่ใจว่าการสอนของพวกเขาจรรโลงใจและถูกต้องตามหลักคำสอน สื่อการเรียนการสอนที่อนุมัติระบุไว้ใน คำแนะนำสำหรับหลักสูตร บน ChurchofJesusChrist.org.
17.1.4
เชื้อเชิญให้เรียนรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
ครูส่งเสริมให้สมาชิกรับผิดชอบการเรียนรู้ของตน พวกเขาสนับสนุนสมาชิกในการพยายามเรียนรู้พระกิตติคุณด้วยตนเองและกับครอบครัว พวกเขาเชื้อเชิญให้สมาชิกแบ่งปันสิ่งที่กำลังเรียนรู้และปฏิบัติตาม ศรัทธาของบุคคลเติบโตเมื่อเขามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการเรียนรู้พระกิตติคุณและประยุกต์ใช้หลักธรรมพระกิตติคุณในชีวิตประจำวัน
17.2
การเรียนรู้และการสอนพระกิตติคุณที่ให้บ้านเป็นศูนย์กลาง
เพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเจ้าพระเยซูคริสต์ สมาชิกแต่ละคนของศาสนจักรมีหน้าที่เรียนรู้พระกิตติคุณด้วยตนเอง นอกจากนี้บิดามารดามีหน้าที่สอนพระกิตติคุณให้บุตรธิดาด้วย การเรียนรู้และการสอนพระกิตติคุณควรมีศูนย์กลางในบ้าน ผู้นำและครูในศาสนจักรส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้และการสอนพระกิตติคุณที่ให้บ้านเป็นศูนย์กลาง
ผู้นำและครูส่งเสริมให้สมาชิกแสวงหาการดลใจของตนเกี่ยวกับวิธีศึกษาและสอนพระกิตติคุณ แหล่งข้อมูลหลักของพวกเขาควรเป็นพระคัมภีร์และข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญ แหล่งข้อมูลสนับสนุนได้แก่ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว และ นิตยสารศาสนจักร
17.3
หน้าที่รับผิดชอบของผู้นำ
ผู้นำรับผิดชอบเรื่องการสอนและการเรียนรู้ในองค์การของตน บางวิธีที่พวกเขาทำหน้าที่รับผิดชอบนี้ให้ลุล่วงมีระบุไว้ด้านล่าง
-
เป็นแบบอย่างโดยเรียนรู้พระกิตติคุณและสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ทำให้การสอนในองค์การของตนสร้างศรัทธาและถูกต้องตามหลักคำสอน
-
หากผู้นำเป็นสมาชิกของสภาวอร์ด ให้สนทนากับสมาชิกสภาคนอื่นๆ เกี่ยวกับวิธีปรับปรุงการเรียนรู้และการสอนพระกิตติคุณในวอร์ด อธิการอาจเชิญประธานโรงเรียนวันอาทิตย์มานำการสนทนาเหล่านี้
-
เสนอชื่อสมาชิกวอร์ดให้อธิการเรียกเป็นครูในองค์การของพวกเขาเมื่อต้องการ โดยทำตามแนวทางใน 30.1
-
ประชุมกับครูที่ได้รับเรียกใหม่และช่วยครูเตรียมทำการเรียกของตน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 38)
-
ให้การสนับสนุนครูในองค์การอย่างต่อเนื่อง พูดคุยกับครูเป็นประจำเกี่ยวกับการพยายามสร้างศรัทธาในคนที่พวกเขาสอน หากจำเป็นให้ขอความช่วยเหลือจากประธานโรงเรียนวันอาทิตย์
17.4
การประชุมสภาครู
ในการประชุมสภาครู ครูหารือกันเกี่ยวกับหลักธรรมของการสอนเหมือนพระคริสต์ หารือกันเกี่ยวกับวิธีปรับปรุงการเรียนรู้และการสอนพระกิตติคุณ พวกเขาใช้ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด เป็นแหล่งข้อมูล
การประชุมสภาครูจัดทุกไตรมาสในช่วงชั้นเรียน 50 นาทีวันอาทิตย์
-
การประชุมสำหรับครูของฐานะปุโรหิต สมาคมสงเคราะห์ และเยาวชนหญิงจะจัดในวันอาทิตย์ที่หนึ่งหรือสาม
-
การประชุมของครูโรงเรียนวันอาทิตย์จะจัดในวันอาทิตย์ที่สองหรือสี่
ฝ่ายประธานปฐมวัยหารือกับสมาชิกในฝ่ายอธิการเพื่อคิดหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการสอนในปฐมวัย ประธานโรงเรียนวันอาทิตย์ช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ทางเลือกบางอย่างระบุไว้ด้านล่าง:
-
ครูปฐมวัยอาจเข้าร่วมการประชุมสภาครูกับครูจากองค์การอื่น
-
อาจจัดการประชุมสภาครูแยกต่างหากสำหรับครูปฐมวัย อาจจัดประชุมเหล่านี้ในช่วงเวลาร้องเพลงปฐมวัย 20 นาที หรือจะเลือกจัดก่อนหรือหลังการประชุมวันอาทิตย์ตามปกติหรือวันอื่นในระหว่างสัปดาห์ก็ได้
-
สมาชิกในฝ่ายประธานปฐมวัยจะไปเยี่ยมชั้นเรียนปฐมวัยและหารือกับครูหลังจากนั้นเกี่ยวกับการสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด
สภาวอร์ดอาจจัดการประชุมสภาครูสำหรับบิดามารดาเพื่อช่วยพวกเขาปรับปรุงการสอนพระกิตติคุณในบ้าน โดยจัดในช่วงชั้นเรียน 50 นาทีวันอาทิตย์เหมือนการประชุมสภาครูอื่นๆ
สภาวอร์ดสอดส่องดูแลและกำหนดเวลาจัดการประชุมสภาครู โดยปกติประธานโรงเรียนวันอาทิตย์นำการประชุม แต่ฝ่ายอธิการอาจขอให้สมาชิกอีกคนหนึ่งนำ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 3 หรือ teaching.ChurchofJesusChrist.org.